People

จุฑาทิพ ไชยสุระ
ยกระดับภูมิปัญญาฝ้ายไทย
สู่โลกแฟชั่นสิ่งทอสร้างสรรค์

เพ็ญแข สร้อยทอง 2 May 2022
Views: 2,490

ด้วยความหลงใหลในผ้าฝ้ายทอมือและการย้อมสีธรรมชาติทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งกลายมาเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องแต่งกายและสิ่งทอ ที่ตั้งใจนำภูมิปัญญาซึ่งถ่ายทอดจากคนรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ มาพัฒนาให้เป็นสินค้ามีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล โดยมีหลายรางวัลสำคัญการันตี ที่สำคัญคือ งานของเธอทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของหลายคนดีขึ้น   

คุณจุฑาทิพ ไชยสุระ หรือ เพ็ญ วัย 51 ปี ลูกสาวชาวโคราช เธอเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ ก่อนจะแต่งงานและย้ายไปใช้ชีวิตที่ขอนแก่นมานานกว่า 20 ปี

“คนที่เป็นแรงบันดาลใจและผลักดันให้เราก้าวต่อไปก็คือ ชุมชน

เช่นคนในเมืองขอนแก่นที่ป่วยติดเตียงเดินไม่ได้แต่นั่งได้ เขาก็ใช้มือปั่นฝ้ายให้ JUTATIP ได้… เราส่งต่ออาชีพให้กับหลายๆ กลุ่มคน”

คุณจุฑาทิพ ไชยสุระ แห่งแบรนด์ JUTATIP

 

เธอสร้างแบรนด์ JUTATIP ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องเส้นด้ายปั่นด้วยมือ กระบวนการทอมือ และเทคนิคการย้อมธรรมชาติ รวมทั้งมีสินค้าผ้าฝ้ายออร์แกนิก ปลอดสารเคมี ซึ่งมาพร้อมกับคุณประโยชน์ที่ดีอ่อนโยนต่อผิว สวมใส่สะดวกสบาย โดยเป็นการทำงานร่วมกับชุมชมและช่างฝีมือท้องถิ่น ไม่ว่าจะชาวไร่ฝ้าย คนปั่นฝ้าย หรือช่างทอผ้า เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผสมผสานอย่างลงตัวของวิถีชีวิตร่วมสมัยและภูมิปัญญาดั้งเดิม

ครอบครัวของคุณจุฑาทิพนั้นทำธุรกิจจิวเวลรี่ แต่ตัวเธอเองมีด้วยความสนใจในเรื่อง “ฝ้าย” ซึ่งได้ออกเดินทางไปใช้ชีวิตและศึกษาเรียนรู้การผลิตฝ้ายตั้งแต่นับหนึ่งจากชาวบ้านในสกลนคร พร้อมกันนั้นเองก็ได้เรียนรู้การย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ ก่อนจะนำสิ่งที่ชื่นชอบมาสร้างเป็นธุรกิจใหม่ของตัวเอง พร้อมไปกับการส่งเสริมสนับสนุนช่างทอผ้าให้ได้ค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อกับความเหนื่อยยากในการสร้างสรรค์ผลงาน

เริ่มต้นด้วยการ “สร้างดีเอ็นเอ”

เวลาต่อมา คุณเพ็ญมีโอกาสได้เดินทางไปญี่ปุ่น เธอจึงถือโอกาสใช้เวลาสำหรับศึกษากลุ่มลูกค้าที่คิดไว้ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายในธุรกิจใหม่ และ 15 วันในประเทศญี่ปุ่นก็ทำให้ได้เธอได้แนวทางในการดำเนินธุรกิจสิ่งทอในแบบของตัวเอง

“ถ้าจะรอดต้องทำแบรนดิ้งเท่านั้น เราตั้งเป้าหมายว่าจะขายส่งออกและวางในห้างสรรพสินค้า เพราะว่ากระบวนการทำงานของเรามันยาก จะขายปลีกทั่วไป (core retail sales) ไม่ได้”

“ในตอนแรกเราก็ไม่ได้ชอบสไตล์ญี่ปุ่นมาก แค่วางเป้าหมายว่าจะทำสินค้าส่งไปต่างประเทศ แต่ตอนที่ไปญี่ปุ่นก็รู้ว่า ใช่เลย ดีเอ็นเอของเราเป็นญี่ปุ่นมากๆ”

จากที่ไม่มีความรู้เรื่องการทำสิ่งทอเลย เธอจึงเข้าร่วมอบรมในโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาตัวเองและผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกแบบ เทคนิคการทอ การย้อมสี การบริหารธุรกิจ ฯลฯ เธอทำธุรกิจนี้ด้วยตัวเองเกือบทุกขั้นตอน แต่บางอย่างก็มีผู้ชำนาญเฉพาะทางมาช่วย “เราพยายามทำตัวเองไม่ให้เป็นน้ำเต็มแก้ว” นวัตกรรมบางอย่างถูกนำมาใช้ “แต่เราไม่ทิ้งภูมิปัญญาเดิม

✓ ก่อนจะลงมือทำธุรกิจ สิ่งสำคัญคือต้องรู้จริงในสิ่งที่จะทำ

ถักทอย้อมสีเพื่อ (หลาย) ชีวิตที่ดีกว่า  

ในช่วงเวลาหลายเดือนที่คุณจุฑาทิพย์ได้เข้าไปเรียนรู้เรื่องการทอผ้าฝ้ายและการย้อมสี เธอได้คลุกคลีกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนเหล่านั้น ก่อนจะพบว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านหลายอย่างกำลังจะถูกทอดทิ้ง กว่าจะได้ฝ้ายแต่ละเส้น กว่าจะเป็นผ้าแต่ละผืน ล้วนต้องใช้เวลาและฝีมือ แต่ค่าตอบแทนกลับไม่สมน้ำสมเนื้อ

“โดยส่วนตัวเป็นคนที่ไม่ชอบเห็นคนโดนเอาเปรียบ พอไปเจอมันก็เป็นเหมือนแรงฮึดว่า เราจะทำยังไงให้ผ้าของคุณยายขายได้ราคา จังหวะนั้นธุรกิจจิวเวลรี่ของครอบครัวเราที่ทำอยู่เดิมมีสินค้าจีนเข้ามาถล่ม สมมติว่าเราทำส่งสำเพ็งราคาส่ง 100 บาท แต่จีนส่ง 10 บาท ทำให้เราควรจะมีธุรกิจที่ 2 มารองรับ”

เส้นใยฝ้ายและผ้าฝ้ายที่ทำมาออกแบบตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่มและของใช้ต่างๆ ของแบรนด์ JUTATIP เป็นการสร้างงานให้กับคนในชุมชนหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เธอช่วยไม่ให้คนในชุมชนทิ้งบ้านเกิดไปทำงานต่างถิ่น

“ตอนแรกก็ถามช่างทอผ้าว่า ถ้าทอผ้าให้กับ JUTATIP เดือนละเท่าไรถึงจะไปรอด เขาก็บอกว่า เดือนละ 6,000-7,000 บาท ซึ่งเราก็รับได้ ทำให้เขาไม่ต้องไปทำงานโรงงาน พ่อแม่เขาก็อายุเยอะแล้ว เขาก็ได้อยู่ดูแลพ่อแม่ ถ้าเขามีหลานตัวเล็ก เขาก็ได้ดูแลหลาน

“เราไม่อยากไปกดราคาชาวบ้าน  ก็มาตกลงกันว่า ราคานี้เป็นไปได้นะ แต่ว่าถ้าวันหนึ่งหนูไปไม่ได้ แม่ต้องถอยให้หนูหน่อยนะ แต่พอไปนั่งดูเขาทำงาน ไม่กล้าไปพูดว่าถอยให้หน่อย เราเลยไปคิดว่า เราจะทำยังไงที่ทำให้สินค้าของเรา ทำให้มันรู้สึกดูแพงแล้วคนซื้อ โดยที่ไม่ต้องมากดราคาเรามากกว่า เลยมาคิดเอาฝั่งนี้

 

✓ เลือกทำธุรกิจกับงานฝีมือ

ควรลงลึกให้ถึงแก่นและแหล่งช่างฝีมือ

ทำผ้าทอกับคนในชุมชน

“ช่างทอผ้ากลุ่มของ JUTATIP มีอายุแต่ 19 ปี จนสูงสุด 55 ปี ยังเป็นกลุ่มหนุ่มสาว ในชุมชน 6 จังหวัดภาคอีสานตอนบน วัตถุดิบประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์จากภาคอีสาน อีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นนวัตกรรมเสริมเข้าไป แรกๆ ทอกันไม่เป็น ให้คุณยายคุณแม่ที่หมู่บ้านสอนให้ ทุกวันนี้เรามีช่างทอที่ทำให้ของแบรนด์โดยเฉพาะ เรามีงานให้ทำตลอด”

“คนที่เป็นแรงบันดาลใจและผลักดันให้เราก้าวต่อไปก็คือ ชุมชน เช่น คนในเมืองขอนแก่นที่ป่วยติดเตียงเดินไม่ได้แต่นั่งได้ เขาก็ใช้มือปั่นฝ้ายให้ JUTATIP ได้ หรือแม่บ้านที่ไม่มีอาชีพเลยเดือนหนึ่งเขาได้จากเรา 4,000-5,000 ก็เป็นค่าใช้จ่ายในบ้านได้  เราส่งต่ออาชีพให้กับหลายๆ กลุ่มคน”

การกระทำแทนคำขอบคุณจากคนเหล่านั้นทำให้คุณจุฑาทิพอิ่มอกอิ่มใจ “เราได้รับคำอวยพรจากพวกเขาตลอด ตั้งแต่ทำผ้ามาตั้งแต่ปี 2557 เราไม่เคยซื้อข้าวกินเองเลยนะ พอไปเข้าชุมชนเขาก็จะเอามาให้ จัดขึ้นรถให้เลย เราไม่ได้อยากได้หรือจะเอาของเขา แต่มันเป็นน้ำใจของเขา เป็นสิ่งที่เขาหยิบยื่นให้”

ภูมิปัญญาเกี่ยวกับผ้าฝ้ายทอมือที่ไม่ได้รับความสนใจนักเมื่อ 10 ปีก่อน ตอนนี้ก็กลับมาได้รับความสำคัญอีกครั้ง “ตอนนี้คือคนเขาก็กลับมาอนุรักษ์กันแล้ว และผ้าทอก็ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง

ไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

คุณจุฑาทิพที่จบการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมปลาย เริ่มต้นสร้างแบรนด์ JUTATIP ขึ้นมาจากไม่มีความรู้เรื่องสิ่งทอ ไม่มีพื้นฐานเรื่องงานออกแบบ รวมทั้งการดำเนินธุรกิจเพื่อส่งออกต่างประเทศ แต่สิ่งที่เธอมีอย่างเต็มเปี่ยม คือความตั้งใจที่จะหาความรู้และพัฒนาตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

“แรกเริ่มเดิมที เราไม่ใช่นักออกแบบหรือนักทอผ้า แต่ก็พยายามจะสื่อสารเรื่องลายทอผ้ากับชาวบ้าน ต้องลงทุนไปซื้อกี่ญี่ปุ่นมาไว้ที่บ้าน พอเห็นลายที่เราต้องการก็จะเอาไปให้คุณแม่ๆ (ช่างทอผ้า) ถึงบ้านว่าเอาแบบนี้ ตอนหลังคุณแม่ก็เริ่มเข้าใจ เราเข้าอบรมโครงการต่างๆ ได้รู้จักอาจารย์ที่เก่งเฉพาะด้านหลายๆ ท่าน เวลาเกิดปัญหาก็ขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยแนะนำหน่อย ช่วงหลังพอเริ่มมีรายได้ระดับหนึ่ง ก็จ้างที่ปรึกษาเกี่ยวกับการทำธุรกิจเล็กๆ”

 

✓ เรียนรู้ “งาน” ให้ถึงแหล่ง และไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้

 

 

ทำงานฝีมือ อย่าหยุดนิ่งที่จะเรียนรู้โลก

เธอเชื่อว่า ผู้ประกอบการควรต้องมีความสามารถหลายด้านทั้งภาษา เทคโนโลยี อุปกรณ์ทำงานที่เกี่ยวข้อง “ต้องรู้จักอุปกรณ์ทอผ้าทั้งหมด พอต้องส่งโรงงานแปรรูปก็ต้องรู้จักคำว่า แพตเทิร์น ตะเข็บ เย็บโพ้ง ฯลฯ ไม่ควรหยุดเรียนรู้ เพราะว่าโลกมันวิ่งเร็ว เทคโนโลยีหรือว่าอุปกรณ์เราก็ต้องเรียนรู้ไปด้วย ถ้าเราวางเป้าหมายว่าจะส่งออกแล้วก็ควรเรียนรู้เรื่องเอกสารการส่งออก เรื่องอุปนิสัยวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเลยก็คือเรื่องนวัตกรรม”

สินค้าของเธอยังใส่ใจผู้ใช้ผู้ซื้อรวมทั้งสิ่งแวดล้อมและโลกทำให้สินค้าและกระบวนการผลิตของ JUTATIP ปลอดสารเคมีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจนได้รับมาตรฐาน Green Production ระดับดีเยี่ยม (ทอง) จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม “เราเรียกตัวเองว่าเป็นโรงงาน เหมือนญี่ปุ่น แม้ว่าจะเป็นธุรกิจในบ้านหลังเล็ก ๆ เหมือนเรานี่แหละ เขาก็ทำเป็นอุตสาหกรรมครอบครัว แล้วก็ใช้คำว่า โรงงาน หรือ ไมโครเอสเอ็มอี”

หัวใจของสินค้า JUTATIP คือการดีไซน์ คุณจุฑาทิพซึ่งไม่ได้เป็นนักออกแบบมาตั้งแต่ต้น เรียนรู้ด้วยตัวเองรวมถึงการเข้าร่วมฝึกอบรมต่างๆ ทั้งยังดึงผู้เชี่ยวชาญมาช่วย จนสามารถส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวดรางวัล Design Excellence Award (DEmark) กลุ่มความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แฟชั่นเครื่องแต่งกาย

ต่อมาจึงเข้าประกวดและรับรางวัล G-mark (Good Design Award) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการออกแบบของญี่ปุ่น (Japan Institute of Design Promotion) ซึ่งมอบให้กับการออกแบบที่ยอดเยี่ยมในปี 2564 ซึ่งเป็นความสำเร็จและความภูมิใจทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

“คอนเซปต์งานพูดถึงเรื่องของกระบวนการสิ่งที่ได้ในแต่ละฤดู สมมติว่าผ้าหนึ่งผืนมี 4 สี มาจาก 4 ฤดู เล่าถึงกระบวนการว่าสีได้มายังไง คนทั่วไปอาจจะคิดว่า คราม คือสีน้ำเงิน แต่จริง ๆ แล้วมันมีทั้ง สีฟ้าอ่อน ซึ่งเป็นครามฤดูฝน ครามสีเทา คือครามฤดูร้อน เล่าเรื่องสีธรรมชาติว่ามันมีความเปลี่ยนแปลง แม้แต่ต้นไม้ต้นเดียวกัน พอเปลี่ยนฤดูสีก็เปลี่ยน”

นอกจากนี้ JUTATIP ยังร่วมออกงานแสดงสินค้าในตลาดต่างประเทศแบรนด์ เข้าโครงการต่างๆ เช่น OTOP Go Inter Go Japan หรือโครงการ Innovation ที่เกี่ยวกับผ้าต่างๆ

บุคลิกเรียบง่าย เริ่มเปล่งประกายความสนุก

สินค้าของ JUTATIP ในช่วงแรกจะเน้นความเรียบง่าย ก่อนจะเริ่มสอดแทรกความสนุกเข้ามาในรายละเอียดต่างๆ “ผ้าของเราต่างจากคนอื่น คือไม่เรียบร้อย ทอไม่สวย เราเลยใช้ความไม่สวยนี่มาสร้างเอกลักษณ์ให้ดูสนุก ดูน่ารัก เรายอมรับจุดด้อยของเราแล้วเอามาสร้างให้เป็นจุดแข็ง​ แล้วก็มาเสริมเรื่องเทคนิคทอสไตล์ญี่ปุ่น ลายผ้าเราออกแบบเอง วางโทนสีเอง ตามกลุ่มเป้าหมายตามสไตล์ที่ลูกค้าต้องการ บางทีเราก็คิดนอกกรอบไปว่าแฟชั่นนี้ลูกค้าต้องโหยหา”

ในเรื่องการย้อมสีทำให้ทุกวันนี้ JUTATIP กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสกัดสีจากธรรมชาติอันแสนพิเศษ “ทั่วไปอาจจะได้สีดำจากลูกมะเกลือ แต่ของเราได้สีดำจากยูคาลิปตัส สีน้ำตาลจากเปลือกยูคา สีโอลด์โรสได้มาจากดินแดงในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้น”

ตั้งแต่เริ่มต้นสร้างแบรนด์ คุณจุฑาทิพต้องการนำสินค้าไปวางจำหน่ายในห้างชั้นนำโดยเฉพาะคิง เพาเวอร์ “เป้าหมายแรกของเราเลยคือ คิง เพาเวอร์ แต่ในช่วงแรก เราไม่เก่งเรื่องของการทำเสื้อผ้า”

ด้วยข้อมูลความคิดเห็นจาก คิง เพาเวอร์ ที่มีต่อสินค้าทำให้ JUTATIP นำมาปรับปรุงปรับเปลี่ยนรวมทั้งพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ นำเสนอไม่หยุด

“ตอนแรกทำผ้าพันคอ คิง เพาเวอร์ ก็ช่วยให้ความเห็นที่มีประโยชน์ เราจึงเริ่มผลิตสินค้าอื่นๆ จากที่เคยใช้ซิปพลาสติก ซึ่งทาง คิง เพาเวอร์ ก็มีคอมเมนต์มา เราก็พยายามไปหาซิปแบบอื่นมาใช้แทน เป็นการให้โอกาสที่ดีมาก เขาก็รู้ว่าเราใหม่ในวงการก็พยายามแนะนำ”

 

✓ งานฝีมือไทย นำมาใช้เป็นจุดขาย

และต่อยอดไปให้ไกลถึงต่างประเทศ

 

เมื่อแรกเริ่มคุณจุฑาทิพตั้งเป้าหมายกลุ่มลูกค้าเป็นต่างชาติ พอมาพบกับการระบาดของโควิดจึงหันมาทำตลาดในประเทศมากขึ้นซึ่งได้การตอบรับอย่างดี “ลูกค้าต่างชาติเป็นลูกค้าจีนมากที่สุด ตอนแรกคิดไว้เป็นกลุ่มญี่ปุ่น แต่กลายเป็นซื้อของจริงจังคือจีน

“กลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้น คือคนกลุ่ม 20-35 ปี แต่คนกรุงเทพฯ ไม่แก่ยังดูเด็กมีคนอายุ 40 ถึง 60 ปีที่ใส่เสื้อผ้าเรา เป็นความน่ารักของเขา ยิ่งเขาชอบเราก็จะได้ลูกค้า เพราะคนหนึ่งซื้อไปแล้วใส่ดีก็จูงมือเพื่อนมาร้านเรา แล้วเราไม่ทรยศต่อลูกค้าด้วย” ไม่ว่าจะสีธรรมชาติหรือผ้าทอมือ หากเป็นงานของ JUTATIP แล้ว “ไม่มีการสอดไส้หรือหลอก”

 

ภารกิจส่งต่อ

 

แรงบันดาลใจ

ทุกวันนี้สินค้าของ JUTATIP ทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ของใช้ รวมทั้งเส้นใยฝ้ายสำหรับทำงานปักถักทอมีจำหน่ายที่ คิง เพาเวอร์ รวมทั้งช่องทางออนไลน์ facebook.com/jutatip4u และ http://jutatip.com ซึ่งจุฑาทิพกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาหาช่องทางและความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาขายผ่านออนไลน์ ส่วนช็อปซึ่งเปิดอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น นอกจากจะจำหน่ายสินค้าแล้ว ยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ ซึ่งคุณจุฑาทิพได้ถ่ายทอดสูตรย้อมผ้าให้กับผู้ประกอบการและนักศึกษาที่สนใจ

“ถ้าไม่มีโควิด 19 ตอนนี้สินค้าของเราจะมีไปวางขายที่ห้างในโอซาก้าและมีการแสดงแฟชั่นโชว์ที่ฟุกุโอะกะ ประเทศญี่ปุ่น”

แผนอันใกล้ของคุณจุฑาทิพ คือการพัฒนาเรื่องการทอและการแปรรูปสินค้า “ถ้าญี่ปุ่นเปิดประเทศก็จะกลับไปหาลูกค้า ก่อนโควิดมาเราเคยคุยกับบริษัททำหมวกไว้ เขาให้เราย้อมเส้นใยดิบธรรมชาติให้เขา ต้องกลับไปคุยกันก่อน”

 

✓ เผชิญหน้ากับอุปสรรค เพื่อจะได้พบกับความสำเร็จ

 

8 ปีของการก่อร่างสร้างแบรนด์ของตัวเองให้แข็งแกร่ง หญิงเก่งคนนี้พบกับอุปสรรคปัญหาหลากหลาย แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยทัศนคติที่ดี

“ให้นึกถึงตอนเราเป็นเด็กว่า กว่าเราจะยืนหรือเดินได้ เราล้มตั้งกี่ครั้ง แค่อย่าท้อแท้เป็นพอ”

ในทุกๆ วันทำงานของเจ้าของและผู้ก่อตั้ง JUTATIP เต็มไปด้วยรายละเอียดซับซ้อนมากมาย ด้วยขั้นตอนการทำงาน ทั้งยังต้องประสานร่วมกับคนหลากหลาย และต้องลงมือทำเองเกือบทุกอย่าง

“งานเราปัญหาจุกจิกมันมากอยู่แล้ว เวลามีปัญหาเราพยายามใช้ความเงียบ ใช้ความสงบนั่งพิจารณากลับไปกลับมาว่า มันเกิดเพราะอะไร เราไม่ไปกล่าวโทษใครว่าทำให้เกิดปัญหา ต้องยอมรับว่าเขาเป็นคนอย่างนั้น แล้วเราจะมีวิธีการปรับแก้อย่างไร ไม่ให้ปัญหานี้เกิดซ้ำซ้อน”

การสร้างธุรกิจจากสิ่งที่ชื่นชอบหลงใหล รวมกับความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ กำเป้าหมายชัดเจนและการทุ่มเททำงานหนัก ทำให้เธอพาแบรนด์ประสบความสำเร็จอย่างน่าพึงพอใจ ด้วยการนำภูมิปัญญาจากคนรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่มาพัฒนาให้ได้รับการยอมรับและช่วยเหลือคนในชุมชนให้มีรายได้ แน่นอนว่า บนถนนสายนี้ยังมีเรื่องท้าทายรอคอยอยู่ข้างหน้ามากมาย

และถ้าหากจะมีบางช่วงเวลาซึ่งเธอสามารถละวางหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของกิจการลงได้ โดยไม่ต้องพูดถึงการทำแบรนด์หรือวางแผนธุรกิจ ทุกวันนี้ คุณจุฑาทิพ ไชยสุระ ยังมีความสุขเมื่อได้ลงมือย้อมผ้าฝ้ายและทำสีครามเช่นที่เคยเป็นเสมอมา

 

ธุรกิจงานฝีมือ สู่ความสำเร็จได้ในแบบของ JUTATIP

✓ ก่อนจะลงมือทำธุรกิจ สิ่งสำคัญคือต้องรู้จริงในสิ่งที่จะทำ

✓ เลือกทำธุรกิจกับงานฝีมือ ควรลงลึกให้ถึงแก่นและแหล่งช่างฝีมือ

✓ เรียนรู้ “งาน” ให้ถึงแหล่ง และไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้

✓ งานฝีมือไทย นำมาใช้เป็นจุดขาย และต่อยอดไปให้ไกลถึงต่างประเทศ

✓ เผชิญหน้ากับอุปสรรค เพื่อจะได้พบกับความสำเร็จ

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: JUTATIP

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

Author

เพ็ญแข สร้อยทอง

Author

เชื่อในพลังของตัวอักษรและการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากบ้านแล้ว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ ชอบเที่ยว ชิมอาหาร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง แคคตัส และแมว