Playground

“ซัน-สยามนาฬิกา”
โรงเรียนนอกเวลา
ของคนชุมชนวัดจันทร์ฯ

กองทรัพย์ ชาตินาเสียว 21 Oct 2021
Views: 649

ย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ชาวสยามรู้จักเครื่องบอกเวลาหรือนาฬิกาเป็นครั้งแรกนาฬิกาแดดที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่ลานหน้าพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติฯ บางปะอิน พระนครศรีอยุธยา ยังคงเป็นเครื่องบอกเวลาที่ทำงานได้ดีจนถึงปัจจุบัน 

จากนั้นเพียงไม่นาน จึงเริ่มมีการนำเข้านาฬิกาตั้งพื้น หรือนาฬิกาตุ้มถ่วงจากประเทศแถบตะวันตกเข้ามาใช้ในหมู่ข้าราชการและประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา ซึ่งเอกลักษณ์พิเศษสำหรับสยาม ณ เวลานั้น…ไม่ว่านาฬิกาจะมาจากปารีส ลอนดอน หรือเวียนนา ก็จะมีการดัดแปลงหน้าปัดให้ใช้ตัวเลขไทยสำหรับบอกชั่วโมงแทนเลขโรมันหรืออารบิก…

นาฬิกา เลขไทย งานไม้แรงบันดาลใจของเด็กหญิง

ที่…ริมคลองบางไผ่ ชุมชนฝั่งธนใต้ เขตภาษีเจริญ ในความเบียดเสียดของบ้านเรือนขนาดกะทัดรัดหลังวัดจันทร์ประดิษฐาราม ซึ่งย้อนเท้าความเกินกว่า 20 ปีไปเล็กน้อย กลุ่มนาฬิกาไม้สักของไทยในชื่อ “สยามนาฬิกา” เริ่มต้นขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ…โดย เอิง-ศิริวรรณ เหรียญทองชัย ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Xun… “ซัน” ชื่อที่ใช้เรียกแทนกลุ่มชุมชน เป็นหญิงสาวที่หลงรักนาฬิกา เลขไทย และงานไม้

แต่ทันทีที่ผลงานการออกแบบและสร้างสรรค์นาฬิกาทรงเรือนไทยจากไม้สัก งานลงรักปิดทอง ฝีมือของเธอคว้ารางวัล OTOP ห้าดาวระดับประเทศในปี 2546 ตั้งแต่วันนั้น ชุมชนวัดจันทร์ฯ ก็กลายเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งผลิตนาฬิกาไม้สัก…และการนำเศษไม้และหนังมาทำเป็นนาฬิกาข้อมือเลขไทย โดยผลงานของเธอในนามกลุ่มยังคว้ารางวัลเรื่อยมาจนถึงปี 2561

“ถ้านับอายุการตั้งกลุ่มก็นานกว่า 20 ปี แต่ความรักและความชอบของเรามันเกิดขึ้นมานานแล้ว”

เอิงเล่าว่าเธอเป็นเด็กผู้หญิงที่หลงใหลงานไม้และกลไกนาฬิกาโบราณมาตั้งแต่เด็ก ออกตระเวน เก็บเศษไม้ รวมเศษขี้เลื่อยไม้สักจากร้านไม้ย่านวัดสระเกศ ลักจำวิชาจากร้านซ่อมนาฬิกาไขลานย่านเวิ้งนครเกษม เริ่มซ่อมและประดิษฐ์นาฬิกาจากไม้ตัวแรกเมื่ออายุ 16 ปี ที่จุดเริ่มต้นนั้นเธอทำเป็นงานอดิเรกก่อนเพราะชอบและใจรัก ลองผิดลองถูก เพราะชอบเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ พอทำแล้วชอบ จึงจะเรียนรู้ให้ลึกในภายหลัง เธอเริ่มทำนาฬิกาใช้เองและมอบเป็นของขวัญกับญาติและเพื่อนตั้งแต่อยู่ม.ปลาย ถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัยจะเรียนที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนจบและทำงานประจำก็ยังฝึกฝนงานนาฬิกาและงานไม้อยู่เรื่อยๆ 

จนกระทั่งวันหนึ่งที่ “สยามนาฬิกา” ส่งผลงานการออกแบบนาฬิกาไม้สักในนามชุมชนวัดจันทร์ประดิษฐาราม ซึ่งมีสมาชิกตั้งแต่พี่วินมอเตอร์ไซค์ไปจนถึงกลุ่มแม่บ้าน เข้าประกวด OTOP จนได้รับรางวัลห้าดาว และยังเป็นสินค้าผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ด้วย โดยตลาดแรกในเวลานั้นคือทำส่งร้านขายคือร้านขายของที่ระลึกย่านสุขุมวิท ลูกค้าหลักคือชาวญี่ปุ่น แล้วจากนั้นงานก็เริ่มทยอยเข้ามา ไม่ขาดสาย มีงานท้าทายใหม่ๆ ให้ได้คิด ได้ออกแบบอยู่เสมอ


งานของ “สยามนาฬิกา” แบ่งเป็นสองประเภทคือ งานไม้สักเก่า กับงานจากขี้เลื่อยไม้สัก โดยมีแนวคิดไม่ทิ้งขยะไว้ให้โลกและไม่สร้างมลพิษให้ชุมชน

“รูปแบบนาฬิกาของเราก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แรกเริ่มเราเลียนแบบการใช้เครื่องจากนาฬิกาตัวใหญ่แบบโบราณ สร้างโครงไม้เอง เริ่มพัฒนาต่อจากนั้น จนสามารถทำเครื่องเลขไทยเป็นของเราเอง”

นอกจากจะเป็นช่างนาฬิกา แต่ศิริวรรณบอกว่าเธอยังเป็นช่างไม้ด้วย จึงตั้งใจจะไม่ทิ้งไม้เหลือเศษ จึงได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากเศษไม้อยู่เสมอ “จากการเจาะฉลุไม้เพื่อที่จะใส่เครื่องนาฬิกาทำให้มีเศษไม้ เศษขี้เลื่อยที่เหลือ จึงเกิดไอเดียนำเศษไม้มาประดิษฐ์เป็นนาฬิกาข้อมือ สร้อยคอ สร้อยข้อมือไม้ ขี้เลื่อยก็นำมาผสมกาวปั้นเป็นตุ๊กตา ดัดแปลงผสมเป็นของตกแต่ง ของใช้ ของที่ระลึก ได้รับความนิยม และที่โดดเด่นจนได้วางขายใน คิง เพาเวอร์ ก็คือรูปช้างลากซุง ช้างไชโย รถตุ๊กตุ๊ก และตลอดเวลาที่งานของเราวางขายใน คิง เพาเวอร์ ก็มีโอกาสได้เสนอไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ” 

ร้านนาฬิกาไม้สักในฐานะโรงเรียนนอกเวลา

ถ้าให้บรรยายบรรยากาศของชุมชนหลังวัดจันทร์ประดิษฐาราม หลังจาก “สยามนาฬิกา” คว้า OTOP ห้าดาว ก็คงไม่ต่างจากหญิงสาวเนื้อหอม ที่ไม่เพียงต้องโชว์ตัวออกสื่อทีวีหลายช่องเท่านั้น แต่ยังคึกคักด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาแวะเวียนมาสานสัมพันธ์แบบหัวกระไดบ้านไม่แห้ง

แม้ชุมชนจะต้องลัดเลาะข้ามคลองมาเพื่อให้ถึงแหล่ง แต่ทุกคนต่างตั้งใจและเต็มใจมาเพื่อซื้อหานาฬิกา ของที่ระลึก รวมทั้งเพื่อขอร่ำเรียนวิชาช่างจากประธานกลุ่ม …ช่วงนาทีทองของ “สยามนาฬิกา” กินเวลาเกือบยี่สิบปี จึงช่วยเกื้อหนุนและหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในชุมชนได้ดีมาเสมอ

“บ้านเราอยู่ริมน้ำคลองเล็กๆ เดินทางลำบาก แต่คนก็ดั้นด้นมาหา งานเยอะจนแทบไม่ได้นอน เรียกว่าทำกันทั้งวันทั้งคืน พองานเริ่มเยอะ เราก็ต้องออกจากงานประจำ และสอนให้ชาวบ้านที่อยู่ละแวกนั้นทำงานช่างให้เป็น ให้เขาทำเป็นอาชีพเสริม มีรายได้เพิ่มเติมจากงานที่เขาทำอยู่ ซึ่งชุมชนของเรามีหลากหลายอาชีพ  เราเติบโตมาด้วยกัน ทุกคนจึงเต็มใจและยินดีที่จะมาช่วยเราทำงาน ทั้งพี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ฝึกขึ้นรูปไม้ ลงสี และส่งของ กลุ่มแม่บ้านก็มาช่วยกันตัดไม้ พับกล่องกระดาษ บางคนเป็นลิเก บางคนเป็นคุณครู ก็ใช้เวลาว่างมาทำนาฬิกาด้วยกัน

 “ส่วนคนที่อยากทำนาฬิกาเป็นอาชีพหลัก เราก็ช่วยสอน สอนให้ฟรีๆ แบบไม่คิดเงิน แบ่งเครื่องมือส่วนหนึ่งให้เขาเอาไปทำงาน  ซึ่งก็จะมีทั้งผู้ใหญ่และเด็กนักเรียนในชุมชนมาเรียน ซึ่งงานที่เราให้เขาทำก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน กลุ่มลูกค้าหลักของเราจะเป็นดีลเลอร์ต่างประเทศ องค์กรบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการทำของที่ระลึก รวมถึงการออกงานแฟร์ประจำปีอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง”

จนประมาณ 7-8 ปีแล้ว…เมื่อต้องสูญเสียคุณพ่อ และคุณแม่อยู่ในวัยชรา แม้งานของ “สยามนาฬิกา” ยังมีอยู่ แต่ศิริวรรณจำเป็นต้องหยุดสอน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับการตัดสินใจย้ายหน้าร้านออกมาจากฝั่งธน มาปักหลักที่สตูดิโอแห่งใหม่ย่านบางนา

สำเร็จการศึกษา ก็ถึงเวลาแยกย้ายกันเติบโต

สำหรับชุมชนวัดจันทร์ฯ เหมือนเป็นโรงเรียนสำหรับใครหลายๆ คน สำหรับศิริวรรณนอกจากจะเป็นบ้านที่เติบโต ที่นี่ก็คือโรงเรียนที่สอนเรื่องการทำงาน ซึ่ง “สยามนาฬิกา” ยังสอนวิชาช่างให้กับคนอื่นๆ ด้วย ให้แต่ละคนค้นพบแนวทางของตัวเองในวันที่แยกย้ายกันเติบโต 

“พอเราย้ายมาตั้งสตูดิโอใหม่ มีครอบครัว ก็จะเหลือตัวเองเป็นหลัก พี่ๆ ในชุมชนคนอื่นๆ ก็ต่างคนต่างเติบโตกระจัดกระจายไป บางคนกลับต่างจังหวัด บางคนยังอยู่ที่เดิม มีหลายคิดติดเครื่องไม้เครื่องมือไปด้วย ถ้าเกิดมีงานจากเราเขาก็พร้อมสร้างสรรค์ทันที หรืออย่างบางคนเราสอนงานทองเหลืองให้ เขาก็เก่งและชำนาญด้านนั้นไป ตอนนี้เขาก็เปิดร้านทำถ้วยรางวัล ทำเหรียญรางวัลของตัวเอง บางคนเก่งใช้เครื่องเลเซอร์ เครื่องกลึง เขาก็ขยายไปทำกิจการลูกบิดประตู เหมือนต่อยอดอาชีพของเขาไปได้”

และสำหรับช่วงปีสองปีมานี้ ….ที่โควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตหลายๆ คน “สยามนาฬิกา” ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

สยามนาฬิกากับวิกฤติโควิด

ผ่านมาได้ เพราะมี คิง เพาเวอร์ เป็นช่องทางขาย

เราทำสินค้าส่งให้ คิง เพาเวอร์ มา 7 ปีแล้ว 

แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี อย่างเช่นช่วงนี้ 

เราก็ยังมี คิง เพาเวอร์ เป็นช่องทางการขายหลักของเรา

ซึ่งรูปแบบของนาฬิกาหรือสินค้าจากไม้ก็จะค่อยๆ 

เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

“เราเป็นคนชอบทำงานใหม่ๆ แต่ละปีก็จะเห็นงานใหม่ออกมาเรื่อยๆ แม้ออเดอร์หลักของเราจะไม่ได้มาจากสนามบินหรือร้านขายของที่ระลึกในเมืองท่องเที่ยวเหมือนแต่ก่อน แต่เราก็ยังคงพัฒนารูปแบบและเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานให้กับผลงานอย่างต่อเนื่อง ไปเรียนไปอบรม สัมมนา มันก็ทำให้เรามีไอเดียใหม่ๆ 

“งานที่เน้นทำตอนนี้จะเพิ่มเทคนิคการลงสีแนวอื่นๆ การขยายรูปแบบการใช้งาน ไปในไลน์เครื่องประดับ หรือตู้พระ ของตกแต่งบ้านขนาดเล็ก หรือเป็นของตกแต่งบนโต๊ะทำงาน ฯลฯ โดยยังคงตั้งใจในแนวคิดเดิม คือลดการใช้สีสังเคราะห์  ใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติก และไม่ทิ้งไม้ให้กลายเป็นขยะ เพื่อช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ”

“นอกจากทำงานของหลักเพื่อเลี้ยงชีพแล้ว เราก็อยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์หัตถศิลป์สยาม มีสมาชิก 39 คน เหมือนเป็นอาสาสมัคร ถ้ามีงานเวิร์กชอป หรืองานช่วยสอนนอกสถานที่ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับงานศิลปะของไทย สอนงานศิลปะตามความถนัด เช่น งานฉลุ งานแกะสลัก งานเครื่องประดับ”

ทั้งหมดเป็นเครื่องยืนยันว่า…แม้บานประตูหน้าบ้านย่านวัดจันทร์ประดิษฐารามจะปิดมานานหลายปี แต่สิ่งที่ทางสยามนาฬิกาตั้งใจต่อไปก็คือการเผยแพร่งานศิลปะไทยให้กับผู้ที่สนใจ…โรงเรียนหยุดแต่คนเป็นครู ไม่เคยหยุด

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: SIAM CLOCK

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ซอกแซกสำรวจกรุงธนฝั่งใต้ 

ย่านที่ผสมผสานทั้งความเก่าและใหม่ได้อย่างลงตัว 

นอกจากเขตภาษีเจริญจะมี “ซันสยามนาฬิกา” เขตอื่นๆ มีของดีอะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง

• ของดีจากบางแค โถมะยมเบญจรงค์ลายทองนูน งานหัตถกรรมเขียนลวดลายด้วยน้ำทอง 

• ของเด็ดบางขุนเทียน หุ่นกระบอกไทย ก่อตั้งโดยกลุ่มแม่บ้านที่มองหาอาชีพเสริม ความสวยงามตระการตานี้เคยแสดงผลงานให้นานาประเทศรับชมมาแล้ว

• ของดังของหนองแขม ขลุ่ยเพียงออไม้พญางิ้วดำ และ ซอด้วง ที่คนในชุมชนสืบสานภูมิปัญญาเครื่องดนตรีไทย คงความขลังผ่านเสียงอันไพเราะไว้ไม่เสื่อมคลาย    

• ของโดนในเขตทุ่งครุ เรียนรู้งานสุดวิจิตร กับศิลปะหล่อเรซิ่นพระพุทธชินราชจำลอง พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย

ยังมีของดีและภูมิปัญญาอีกมากมายที่ซ่อนตัวอยู่ทั่วทุกมุมของเมืองไทย หากลองมองหาดีๆ อาจมีอยู่ในชุมชนของคุณ!

 

 

Author

กองทรัพย์ ชาตินาเสียว

Author

อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ ที่ชอบบันทึกเรื่องราวระหว่างทางด้วยการเขียน แสงอาทิตย์ ต้นไม้ ลำธาร คือจักรวาลความสุข ปัจจุบันยังสนุกกับการค้นหาจักรวาลใหม่ๆ ในฐานะนักเขียนอิสระ