“อยู่บ้านพี่ทำนาด้วยนะ ก็ต้องช่วยพ่อน่ะ สมัยก่อนที่เราออกไปขายผ้าตามตลาดจะจ้างคนช่วยทำนา แต่ว่าพอต้องกลับมาอยู่บ้านก็ต้องทำเอง” ฟังแล้วนึกภาพอำเภอปัว จังหวัดน่าน ก็จะคิดถึงภาพที่เห็นตามสื่อโซเชียลทั้งหลาย ทั้งที่พักริมทุ่งนา ตื่นมาเห็นวิวทุ่งนา ภูเขา สายหมอก กว้างสุดลูกหูลูกตา หรือไม่ก็เป็นภาพคาเฟ่ที่ทำสะพานทอดยาวไปกลางทุ่งนา บางร้านนำผ้าทอไทลื้อมาพาดเป็นทิวแถวให้นักเดินทางได้ชื่นชมและเช็กอินกับภาพผ้าทอผืนสวยล้อสายลมเล่นอยู่กลางทุ่ง
วิถีไทลื้อของคนยูนนานกับผู้คนน่านผูกพันกันเพราะความใกล้ชิดและเชื่อมโยงกันของพื้นที่ ผู้คนที่ตำบลศิลาแลงยังคงยึดวิถีเกษตรเป็นอาชีพหลัก ปลูกข้าวกันมาหลายชั่วอายุคน อาชีพรอง คือ การทอผ้า ยามว่างจากการทำนาเขาก็ขึ้นกี่ทอผ้า “ผ้าลายน้ำไหลไทลื้อ” ดูโดดเด่นที่สุด แม้จะมีมาราวร้อยปีแล้ว แต่สามารถถ่ายทอดความสมบูรณ์ของพื้นที่ด้วยศิลปินผ้าทอพำนักอยู่ริมน้ำจึงสะท้อนความเป็นอยู่ออกมาเป็นลวดลายที่มองคล้ายสายน้ำกำลังไหลบนผืนผ้า
“ผ้าลายน้ำไหลในสมัยหนึ่ง ต่างแข่งกันทำออกมาเหมือนกันหมด สุดท้ายก็ต้องแข่งกันด้วยราคา” พี่แจ๋ว รพินพร หาญยุทธ เจ้าของร้าน RAPINPORN เล่าถึงผ้าไทลื้อด้วยน้ำเสียงระคนความหนักใจอยู่ไม่น้อย “จากนั้นผ้าลายน้ำไหลตายไปนานเลยนะ กว่าจะฟื้นกลับมาใหม่ได้ คนทอต้องกลับไปคิดใหม่ทำใหม่ว่าจะทำยังไงให้งานเราดูแตกต่าง เพราะว่าถ้ายังเป็นเหมือนเดิมคงตายกันอีกรอบแน่นอน”
แต่เชื่อเถอะ…ศิลปวัฒนธรรมที่ยังคงมีชีวิต เขาจะปรับตัวให้มีลมหายใจต่อไปได้แน่ๆ ไม่ว่าจะยุคสมัยใด
ทอผ้า…ใช่ว่าใครก็ทำได้
ผ้าเกี่ยวพันกับชีวิตคนเราตลอดชีวิต ถ้าเป็นกลุ่มคนที่มีฝีมืออย่างชาวไทลื้อก็จะมีความสามารถพิเศษเรื่องการทอผ้า เขาจะปลูกฝ้ายเอง นำมาผ่านกรรมวิธีจนออกมาเป็นเส้นด้าย ย้อมสีสันด้วยสีธรรมชาติแล้วนำไปทอเป็นผืนสวยๆ
“เมื่อก่อนทุกบ้านจะทอผ้าเป็น เราปลูกฝ้ายทอเป็นผ้าสีครีมแล้วก็เอาไปย้อมสี เช่น ย้อมด้วยห้อมด้วยครามแล้วค่อยตัดเป็นเสื้อเพื่อใส่ทำงาน ผ้าอ้อมเราก็นำผ้าซิ่นเก่ามาฉีกมาตัดเอา ผ้าปูที่นอนนอกจากที่ปูที่นอนแล้วก็เอามาโพกหัวได้ด้วย” พี่แจ๋วเล่าเรื่องราวสมัยชั้นประถมให้ฟัง สมัยนั้นพี่เขาแอบไปทอผ้าที่คุณย่าทอค้างไว้ ใช้ฟืมที่มีลักษณะเหมือนหวีซี่ถี่ๆ สำหรับกระแทกให้ด้ายเส้นพุ่งเรียงตัวชิดและทำให้ผืนผ้าแน่นขึ้น “พี่ทำซี่ฟืมของย่าหักไป 3 ซี่ เพราะเรากระแทกแรงเกินไป ซึ่งหักกลางคันแบบนั้นมันซ่อมยาก พี่เลยถูกห้ามทอผ้ามาตั้งแต่ตอนนั้น”
พี่แจ๋วจึงได้เบนเข็มมาตั้งใจเรียนและได้ทำงานในสายส่งเสริมการตลาดในบริษัทเอกชนที่กรุงเทพฯ ช่วงที่เริ่มมี OTOP น้องสาวพี่แจ๋วก็เข้าโครงการ และถ้าวันไหนที่ไม่ว่างก็จะฝากให้พี่สาวไปออกตลาดแทน พี่แจ๋วจึงคุ้นเคยการขายและตลาดต่างๆ ดี
จนถึงปี 2550 จึงได้มีโอกาสกลับบ้านและเปิดร้าน “ผ้าทอไทลื้อรพินพร” อย่างเต็มตัว
Suggestion
เมื่อดิ้นได้ ก็ยังมีลมหายใจ
ผ้าทอที่ไทลื้อนิยมทำกัน คือ ลายมัดก่าน เป็นการมัดเส้นฝ้ายให้เป็นลายก่อนนำไปย้อมแล้วค่อยทอเป็นผืน ลักษณะคล้ายกับลายมัดหมี่ของทางอีสาน ต่างกันที่อีสานจะมัดที่เส้นยืน ของไทลื้อจะมัดที่เส้นพุ่ง เวลาทอจะต้องเรียงด้ายเส้นพุ่งให้ลวดลายตรงกับที่ต้องการแล้วค่อยใช้ฟืมตีให้ผ้าแน่น…ทำกันทีละเส้น ทีละเส้น คนที่ทำได้สวยจะเป็นแม่ครู เทียบเท่าศิลปินเลยล่ะ และราคาผ้าจึงค่อนข้างแพง
“สังเกตได้ว่าคนสมัยนั้นจะทอผ้าเป็นผืน เป็นผ้าซิ่นลายสวยๆ ซึ่งมันขายได้ยาก แล้วคนที่ซื้อไปใช้ก็มีอยู่คนเดียวเท่านั้น จึงมาคิดหาวิธีขายให้ได้มากยิ่งขึ้น”
ระยะเวลาในการทอ ถ้าตั้งหน้าตั้งตาทอจริงๆ ก็ใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน แต่เขายังมองว่าเป็นงานเสริมในเวลาว่าง จึงใช้เวลานานกว่านั้น ยิ่งถ้าบ้านไหนยังทำเส้นฝ้ายเอง ย้อมสีเอง รับรองว่านานแน่
“แต่ละบ้านเขาก็มีการขายอยู่แล้วนะ แต่เขาเห็นพี่เดินทางไปขายตามที่ต่างๆ บ่อยๆ ก็มีเอามาฝากขายบ้าง สมัยก่อนนี่พี่รับซื้อเลย แต่ยุคโควิดนี่ไม่ไหวแล้ว สต็อกกองเต็มบ้าน พี่จะใช้วิธีการให้เขาถ่ายรูปมาให้ดูก่อน เราเห็นลายผ้าเราจะรู้ว่าลูกค้าคนไหนชอบลายแบบนี้ แล้วก็จะส่งรูปไปให้ลูกค้าดู ถ้าเกิดว่าลูกค้าโอเคแล้วเราก็จะไปรับผ้ามาส่งให้”
คนทอผ้าในชุมชนก็ไม่ได้นิ่งเฉย ต้องร่วมใจกันปรับตัว จากผ้าทอไทลื้อดั้งเดิมสีเข้ม เช่น สีน้ำเงิน แดง ชมพู ดำ ก็ทำให้สีอ่อนลงหรือให้สีหวานเป็นแนวพาสเทล สาวออฟฟิศที่ไม่ค่อยนุ่งซิ่นก็สามารถนำผ้าไปตัดชุดทำงานได้ ผ้าจกแบบโบราณ ซึ่งนิยมทอเป็นผ้าปูที่นอนหรือผ้าคลุมไหล่ เป็นลวดลายที่สวยงามมากบางผืนเป็นลายยกมุกทั้งผืน ราคาสูงไปตามระดับฝีมือ เขาก็จะทอให้ลายโดดเด่นแล้วนำไปตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อประดับตามเสื้อคลุม เดรส หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อให้ขายได้ง่ายขึ้น
ผ้าขาวม้าไทลื้อที่ทอด้วยฝ้ายแท้เนื้อนุ่ม ลายตารางเล็กๆ ต้องใช้ความแม่นยำของการทอมากกว่าผ้าขาวม้าลายตารางใหญ่ๆ แต่ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองลูกค้าเลือกซื้อของราคาถูกก่อน ก็เป็นเรื่องที่ต้องกลับมาพิจารณา “ผ้าขาวม้าเราขาย 250 บาท ตั้งแต่ปี 2539 แล้วนะ ไม่ว่าเส้นฝ้ายราคาขึ้น ค่าแรงคนทอราคาขึ้น เราก็ยังคิดผ้าไทลื้อราคาเดิมอยู่ แต่ตอนหลังเราก็เริ่มนำผ้ามาทำมาเป็นกระเป๋าดินสอ กระเป๋าโทรศัพท์ ทำเป็นหลายขนาดขายเป็นของฝาก จัดโปรโมชั่น 3 ใบ 100 บาท มันก็ซื้อง่ายขายคล่องขึ้น”
ณ เวลานี้ คงไม่มีใครเถียงว่า “การปรับตัว” คือ สิ่งจำเป็นที่สุดต่อชีวิต
Suggestion
“คนทอผ้าอารมณ์ศิลปิน”
ย้อนกลับไปตอนที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ตก ภาวะโรคระบาดยังไม่อาละวาด ผ้าทอไทลื้อของชุมชนนี้ขายดีมาก ถึงขั้นพี่แจ๋วนักขายเบอร์ต้นๆ ของชุมชนต้องเอ่ยเลยว่า “อะไรก็ขายได้หมดค่ะ” แต่ถามว่าอาชีพอะไรเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน เขายังคงตอบว่า “ทำนา” เสมอมา
“คนทอผ้าที่นี่อารมณ์ศิลปินมากนะ เราจะไปให้เขาทำแบบนั้นแบบนี้ไม่ได้ง่ายๆ นะ ถ้าเขาจะไปทำสวนทำนา รอไปก่อนนะกว่าจะได้ผ้าสักผืน ขนาดอธิบายว่าถ้าเราทอผ้าตามออร์เดอร์ คนที่มีตังค์พร้อมจ่ายเขาอยากได้แบบนี้ เราแค่ทำให้ตรงโจทย์เท่านั้น เขาก็ไม่ทำ…การทอผ้า…เป็นอาชีพเสริมค่ะ”
ตอนที่ยังไม่ปิดด่านชายแดน มีคนจากฝั่งลาวเดินทางมารับฝ้ายไปทอมาส่งรพินพรด้วย แต่ภาวะโควิดพาให้ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปจนสิ้น
“เขาไม่ให้เราออกจากบ้าน เราก็อยู่ที่บ้าน อย่างมากก็ออกไปซื้อไข่ซื้อหมูแล้วรีบกลับ เพราะผักที่บ้านก็ปลูกเอง ปลาก็เลี้ยงไว้หลังบ้าน เมื่อว่างพี่ก็ขึ้นกี่ทอผ้า ทอลายอะไรก็ได้เพื่อเอาผ้าไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของฝาก”
ทุกคนต้องพร้อมใจกันดูแลตนเอง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเชื้อโรคร้าย และยังคงทำนาทำไร่แบบที่เคยทำเสมอมา พอว่างก็ทอผ้าผืนสวย ทางพี่แจ๋วต้องเริ่มออกสู่สายตาประชาชน เปิด LIVE ขายผ้าในเพจ: ผ้าทอไทลื้อรพินพร
พี่เขาสู้ทุกทางจริงๆ มิน่าล่ะ ถึงมีคนอยากนำผ้ามาฝากให้พี่แจ๋ว(คนขวาสุดในรูปต่อไป)ขายตลอดเลย
RAPINPORN 2022
เมื่อปี 2550 ที่พี่แจ๋วตัดสินใจออกจากงาน แล้วไปเปิดร้าน “ผ้าทอไทลื้อรพินพร” อย่างจริงจัง เขาได้ไปออกตลาดกับหน่วยงานภาครัฐครั้งแรกเลยที่ ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ครั้งนั้นทาง คิง เพาเวอร์ ได้พบกับผ้าสวยๆ ฝีมือชาวไทยลื้อจากตำบลศิลาแลง อำเภอปัว จังหวัดน่าน
“เขามาคัดเลือกสินค้าบอกว่าอยากให้นำไปส่งเพื่อฝากขายใน คิง เพาเวอร์ แรกๆ จะเป็นผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ไทลื้อ ที่ไปได้ดีเห็นจะเป็นผ้าคลุมไหล่มัดย้อมคราม อาจเป็นเพราะพกพาสะดวก ชาวต่างชาติจึงนิยม”
แต่หลังจากการปิดประเทศเนื่องจากภาวะโรคระบาด สินค้าที่ตลาดต้องการก็เปลี่ยนไป เป็นสินค้าที่มุ่งขายคนไทยมากขึ้น เป็นจำพวกเสื้อ กางเกง แนวลำลอง ที่ราคาไม่สูงมากให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจ ถึงจะมีปริมาณสินค้าน้อยลง แต่แบรนด์รพินพรไม่เคยย่อท้อ “ไม่ว่ายังไง พี่แจ๋วก็ยังรักที่จะทำตรงนี้อยู่ค่ะ”
ถ้าถามว่า หากโลกพ้นภาวะวิกฤต covid-19 พี่แจ๋วจะกลับมาสนุกกับงานขายอีกไหม พี่แจ๋วบอกเสียงเบาๆ “ก็คงต้องคิดใหม่อีกทีหนึ่งนะ เพราะว่ามันก็ใกล้ถึงเวลาที่จะเกษียณ กลับมาอยู่บ้านเนี่ยพี่ทำนาด้วยนะเพราะอยากช่วยพ่อ” ก็พอเข้าใจได้ เพราะงานผ้าบางแบบ เช่น ผ้ามัดย้อม ช่วงนี้ออร์เดอร์เป็นศูนย์ กำลังใจคนทำงานก็อาจตกลงไปบ้าง แต่พอกลับไปดูพี่แจ๋ว LIVE ขายผ้าในเพจอีกที รู้สึกได้ว่าพี่เขาสนุกกับงานขาย
แอบคิดในใจ…พี่เขาไม่เลิกง่ายๆ แน่!!!
RAPINPORN ผ้าทอไทลื้อรพินพร
ที่ตั้ง : 156 ม.6 บ้านหัวดอย ต.ศิลาแลง อ.ปัว จ.น่าน 55120
Facebook: RAPINPORN
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: RAPINPORN
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา
ปักหมุดจุดเช็กอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง
• วังศิลาแลง แกรนด์แคนยอนเมืองปัว ที่เที่ยวเปิดใหม่น่าไปเยือนนัก “วังศิลาแลง” เป็นพื้นที่รอยเลื่อนของพื้นดินในอำเภอปัว มีน้ำไหลตามซอกผาหินตลอดปี เกิดการกัดเซาะจนลวดลายสวยงามแปลกตาบนผาหิน มีวังน้ำเป็นแอ่งให้เล่นน้ำได้ ฤดูแล้งน้ำจะใสเย็นน่าลงไปนอนแช่แต่ในฤดูฝนน้ำหลากสีขุ่นและเป็นฤดูที่ไม่แนะนำเพราะอาจอันตราย
• โรงเรียนชาวนา เป็นฟาร์มสเตย์แบบชาวไทลื้อที่อำเภอปัว กลางทุ่งนาวิวสวยๆ สัมผัสธรรมชาติกันเต็มๆ นอกจากพักสบายๆ แล้วยังมีกิจกรรมเรียนรู้การทำนาแบบปลอดสารเคมี ลองไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว ฟาดข้าว ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชน พร้อมกับปลูกฝังเยาวชนให้มีจิตสำนึกรักถิ่นฐานไปในตัว บอกเลย…ไม่ควรพลาด
• วัดร้องแง วัดโบราณของปัว โดดเด่นที่วิหารเก่าแก่ศิลปะไทยลื้อ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะ สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม ใครสนใจงานสถาปัตยกรรม โครงสร้างอาคารน่าสนใจมาก และไม่อยากให้พลาดจิตรกรรมฝาผนังหลังองค์พระประธาน เป็นเรื่องราวพุทธประวัติฝีมือของช่างพื้นถิ่น