วงโนบิร็อง : เพราะดนตรีคือความสุข
เรื่อง กฤษณา คชธรรมรัตน์ / ภาพ The Expert Kits
สำหรับนักเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา โนบิร็อง คือ ชื่ออาคารเรียนที่พวกเขาคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่สำหรับสมาชิกวง โนบิร็อง ชื่อนี้มีความพิเศษมากกว่านั้น เพราะนี่คือจุดรวมพลของนักเรียน “หัวใจเดียวกัน” ตั้งแต่รุ่นน้องเล็กไปจนถึงรุ่นพี่ใหญ่ ผู้รักการเล่นดนตรี และผสานทุกความสามารถที่มีเพื่อโชว์แรกบนเวที ‘THE POWER BAND’ การประกวดวงดนตรีสากลสมัยนิยม ผสมเครื่องเป่าประจำปี 2564 ครั้งแรกที่ผ่านมา
แก้มใส-มิณปภัต เรืองชัย (ร้องนำ) โอบ-โอบนิธิ ดำริห์ชอบ (เบส) พอส-ภัทรวรรธน์ พงษ์สีชมพู (กีตาร์) เฟิร์ม-ธนัชชา ผาสุข (แซกโซโฟน) และ เอ็กซ์-พรวิวัฒน์ เนื้อลออ (กีตาร์) 5 ตัวแทนของ วงโนบิร็อง หนึ่งในวงดนตรีที่ทะลุเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศในการประกวดครั้งนี้ ขออาสามาเล่าทุกเรื่องราวตั้งแต่นับหนึ่งจนถึงการแสดงบนเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของพวกเขาเป็นครั้งแรกด้วยความภาคภูมิใจ
เมื่อตำแหน่งไม่สำคัญเท่าโอกาส
การแข่งขั้นครั้งนี้ คือโอกาสแรกของวงโนบิร็องที่ได้เข้ามาเปิดการแสดงบนเวทีใหญ่ในกรุงเทพฯ นี่จึงเป็นการเดินทางไกลที่ทำให้พวกเขาตื่นเต้นมากที่สุดในชีวิต
“การได้ออกมาแข่งขันใน THE POWER BAND คือเปิดประสบการณ์ทางดนตรีของหนูทำให้ได้เห็นความสามารถของเพื่อนๆ จากทั่วประเทศ ได้เห็นว่าเขาเก่งกันมาก และเราต้องพัฒนาตรงไหนบ้าง โชว์ของพวกเรามันไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้หมด จะมีรั่วๆ ไหลๆ ผิดพลาดบ้าง ได้แค่นี้ถือว่าดีที่สุดแล้วในระยะเวลาเท่านี้ แค่ได้เข้ามาแสดงให้ทุกคนได้เห็นก็ดีใจแล้ว เพราะเราก็ยังอ่อนประสบการณ์กว่าวงอื่นเขาเยอะ อันนี้ถือว่าเป็นเวทีใหญ่เวทีแรกของพวกเราที่ได้มาแข่งในกทม. ปกติแข่งแต่งานเล็กๆ ก็ไม่ได้คาดหวังลำดับหรือรางวัลใหญ่ มาได้แค่นี้ก็ดีใจมากแล้วจริงๆ ค่ะ” แก้มใสเริ่มต้นเล่าด้วยความดีใจที่ยังคงฉายชัดในรอยยิ้มของเจ้าตัว
“พวกเราแค่คาดหวังประสบการณ์ ไม่ได้คิดว่าเราจะเข้ารอบมา พอเราได้เข้ารอบมาเราก็ตั้งใจซ้อม ก็ดีใจที่มาถึงรอบนี้ และคิดว่าเรามาเอาประสบการณ์ดีกว่า” เฟิร์ม คอนเฟิร์มถึงจุดยืนของวง
“ตอนที่ได้รู้ว่าได้เข้ารอบมาแข่งที่นี่ กระโดดเลย ทุกคนดีใจไม่คิดว่าจะติด คุยกันในกลุ่มก็ตกใจ เรามีเวลาซ้อมน้อยมากตั้งแต่รอบคัดเลือก แต่วันนั้นเราก็เล่นตามที่ซ้อมมา ตอนแรกก็ตื่นเต้นครับ แต่พอไปกลางเพลงก็เริ่มผ่อนคลาย เป็นธรรมชาติ เราก็ได้มาเล่นกันได้ทำตามที่ซ้อม ปล่อยไปตามบทเพลง” โอบเพิ่มเติมถึงการแสดงครั้งแรกของพวกเขาบนเวที THE POWER BAND
สามัคคีคือความสนุก
เมื่อนักเรียนศิลป์-ดนตรี + วงโยธวาทิตประจำโรงเรียน ผลลัพธ์คือโนบิร็อง วงที่เล่นดนตรีด้วยความสนุกทุกเวที
“สิ่งสำคัญคือฟังแล้วเพราะหรือเปล่า เอาว่าเล่นแล้วเราสนุกไหม
ถ้าเราสนุก คนฟังก็น่าจะสนุก”
โอบ-โอบนิธิ ดำริห์ชอบ วงโนบิร็อง (เบส)
“จุดเด่นของพวกเราคือความบ้าคลั่ง…ส่งพลังไปหาคนดู
ความเฮฮาที่เราเข้าถึงกัน ทำให้เรามารวมตัวกันได้และมีความสุข”
เอ็กซ์-พรวิวัฒน์ เนื้อลออ วงโนบิร็อง (กีตาร์)
“เมื่อเอา 2 วง (วงโยธวาทิตและศิลป์-ดนตรี) มารวมกัน สิ่งที่เราได้คือความสนุก แต่ละคนเก่งไม่เหมือนกัน แล้วก็มาสร้างกรอบของแต่ละเพลงว่า เพลงนี้ต้องใช้อะไรบ้าง แล้วเราก็จะเอาความเก่งของแต่ละคนมาใส่ในบทเพลง เอาความรู้ของแต่ละคนมา แต่ละคนจะถนัดด้านที่ไม่เหมือนกัน เอามารวมกันแล้วแต่ละคนจะดึงประสิทธิภาพของแต่ละคนออกมาด้วย
คิดกันว่าการเอาเพลงท่อนนี้มาใส่ได้หรือเปล่า ตรงนี้เครื่องเป่าเหมาะไหม เท่ไหม แล้วก็การหาจุดเด่นในแต่ละเครื่อง ให้แต่ละเครื่องได้โชว์ ได้ซัปพอร์ตแบนด์ ให้สลับหน้าที่กันบ้าง ให้เพลงมันฟังดูเจ๋งขึ้น และสิ่งที่สำคัญคือฟังแล้วเพราะหรือเปล่า เอาว่าเล่นแล้วเราสนุกไหม ถ้าเราสนุก คนฟังก็น่าจะสนุก” โอบให้คำจำกัดความวงโนบิร็องในแบบของพวกเขา
“จุดเด่นของพวกเรา คือความบ้าคลั่ง ความดุดัน ส่งพลังไปหาคนดู ให้เขารับรู้ได้ เป็นความเฮฮาที่ทำให้เราเข้าถึงกันได้ ในกลุ่มเพื่อนและพี่น้อง มันเลยทำให้เรามารวมตัวกันได้และมีความสุข” เอ็กซ์ขยายภาพที่ชัดเจนของพวกเขามากขึ้น
“แต่ละคนความสามารถไม่เหมือนกัน ก็มาแชร์กันจนเกิดเป็นการรวมแนวคิดของแต่ละคนไว้ในเพลงเดียว บางคนถนัดแจ๊สก็อาจจะไปทำท่อนหนึ่ง บางคนถนัดฟังก์ก็อีกท่อนหนึ่ง ตอนเอามารวมกันก็คิดคำนวณตามบาร์ไป เอาท่อนนี้มาต่อท่อนนี้ได้หรือเปล่า พอลงล็อกก็ลองเอามาเล่นทั้งเพลง” พอสช่วยอธิบายถึงจิ๊กซอว์ของการทำงานเพิ่มเติม
เมื่อครั้งเจออุปสรรคที่ชื่อโควิด
การแข่งขันในครั้งนั้นแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา เพราะดำเนินไปในช่วงโควิด-19 การซ้อมดนตรีในวิถีนิวนอร์มอลจึงเกิดขึ้น
“เราต้องต่างคนต่างซ้อม ข้อดีในการแยกกันซ้อม คือเราต้องมั่นใจจริง ๆ ว่าท่อนนี้ในความรับผิดชอบของเรา เราเล่นได้ เล่นถูก มั่นใจที่สุดว่านี่คือท่อนของตัวเอง แต่ละคอร์ดต้องแม่นมาก แต่ละคนต้องทำการบ้านและมั่นใจด้วย แต่เวลาที่ออกมาไม่ใช่ ก็คุยและปรับกัน ในรอบคัดเลือกมารวมกันซ้อมได้ 2 วัน ซ้อมทั้งเพลง Leave The Door Open ซ้อมทั้งเพลงใหม่ที่อาจารย์เลือกให้ เพลงแบบที่พวกเราไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ก็ท้าทายดี เป็นแนวดนตรีที่เราไม่รู้จัก เป็นเหมือนเส้นทางใหม่ ได้เรียนบทเรียนใหม่ๆ
ส่วนรอบรองชนะเลิศ ตอนแรกเราเตรียมเพลงเจ้าช่อมาลีมาแต่เปลี่ยนใจ เพราะมาหารือกันว่า พวกเราน่าจะถนัดเพลงสุดฤทธิ์สุดเดชมากกว่า ก็เลยเลือกเปลี่ยนเพลงประกวด และเราเคยเล่นเพลงนี้มาก่อน เพลงนี้เหมือนเป็นเพลงประจำตัวของวง เพลงที่เรามั่นใจ” โอบย้อนเล่าถึงการซ้อมฉบับเร่งรัด ที่แน่นอนว่าไม่มีทางจะราบรื่นไร้ปัญหา
“แต่ละคนความสามารถไม่เหมือนกัน
ก็มาแชร์กันจนเกิดเป็นการรวมแนวคิดของแต่ละคนไว้ในเพลงเดียว”
พอส-ภัทรวรรธน์ พงษ์สีชมพู วงโนบิร็อง (กีตาร์)
ถ้าซ้อมมากและเรารู้สึกเหนื่อย เราจะหยุดก่อน เพราะว่าถึงจะซ้อมต่อไปก็ใจมันไม่จอยแล้ว อารมณ์ร่วมหายไป มันจะเครียด เราเลยจะหยุดมานั่งคุยกัน นั่งฟังเพลงกัน เหมือนที่เราส่งสัญญาณแบบนี้กับบนเวที พอส่งสัญญาณไป ใจก็มา ความสามัคคีแบบนี้จะทำให้เราชนะ เราคอยปรึกษากันตลอดว่าอะไรดีอะไรไม่ดี และช่วยกันปรับ การซ้อมแบบออนไลน์เราก็อัดคลิปส่งให้กันว่าแบบนี้ดีไหม หรือแก้ตรงไหน ก่อนจะซ้อมร่วมกันอีกครั้ง” นี่คือเสียงประสานของวงโนบิร็องที่ยังคงช่วยกันตอบคำถาม
การแข่งขันจบลงแต่การเรียนรู้เพิ่งเริ่มต้น
เมื่อถามวงโนบิร็อง ถึงสิ่งที่พวกเขาได้เก็บเกี่ยวมากที่สุดจากการแข่งขันครั้งนี้ พวกเขายังคงช่วยกันเสริม ช่วยกันเติม ทุกคำตอบจากหัวใจ
“ต้องขอบคุณเพื่อนร่วมทีม อาจารย์ สปอนเซอร์ที่ให้โอกาสเรา ขอบคุณที่บ้านที่ซัปพอร์ต ครูอาจารย์ที่พยายามดันเราอย่างเต็มที่ และขอบคุณพวกเรา ที่คอยช่วยเหลือกันเองด้วย การได้มาแข่งครั้งนี้เป็นการเก็บประสบการณ์ให้เราเติบโต เราอยากให้คนจดจำความบ้า ความมัน แบบมีอารมณ์ร่วม ให้เขารับรู้ถึงแพสชันของพวกเรา ว่าพวกเราสุดยอด
และการแข่งครั้งนี้เราก็ได้รู้หลายอย่าง ถ้าเราเล่นเป็นวงเราก็ต้องรู้จักเพื่อนร่วมทีมให้ดี ต้องมองคนให้ออก การทำงานกับคนมันยากที่จะหาคนที่ใช่จริง ๆ ที่ทำงานร่วมกันโดยไม่มีปัญหา ได้ความรู้ว่าการจัดงานเราควรอยู่ตรงไหน ควรทำอะไรบนเวที หน้างานเราต้องทำอะไรบ้าง เราก็ไม่ได้คิดไปไกลมากกว่าปัจจุบัน ประสบการณ์เราน้อยมาก การแข่งครั้งนี้คือการเปิดโลกกว้าง”
“ได้ออกมาแข่งขันใน THE POWER BAND คือเปิดประสบการณ์ทางดนตรีของหนูทำให้ได้เห็นความสามารถของเพื่อนๆ จากทั่วประเทศ และเราต้องพัฒนาตรงไหนบ้าง”
แก้มใส-มิณปภัต เรืองชัย วงโนบิร็อง (ร้องนำ)
“พวกเราแค่คาดหวังประสบการณ์
พอเราได้เข้ารอบมาเราก็ตั้งใจซ้อม ก็ดีใจที่มาถึงรอบนี้”
เฟิร์ม-ธนัชชา ผาสุข วงโนบิร็อง (แซกโซโฟน)
การแข่งขันในซีซันใหม่กำลังจะเริ่มขึ้น ในฐานะผู้มาแข่งก่อน โนบิร็องเลยขอฝากกำลังใจมาให้
“อยากบอกวงที่จะมาแข่งว่า เป็นกำลังใจให้ ไม่ต้องเครียด ให้เล่นไปเลย พลาดก็ไม่เป็นไร The Show Must Go On มีอารมณ์ร่วมในบรรยากาศกับเพลง ณ ตอนนั้น จะทำให้การแสดงออกมาดีและคนดูรู้สึกได้ ทำทุกโชว์ให้มันดีขึ้น และถ้านักดนตรีสนุก คนดูก็สนุกด้วย”
การแข่งขัน THE POWER BAND ซีซัน 2 เริ่มออกสตาร์ตแล้วในปีนี้ คนกล้าฝัน กล้าทำ อย่ารอช้า รีบสมัครกันเข้ามาวัด “พลัง” ใจกันได้ที่คลิก THE POWER BAND
Facebook : THE POWER BAND
เรื่องเล่า(เบื้อง)หลังตึก
• สมาชิกของวงมีทั้งที่นักเรียนอยู่ในวงโยธวาทิต นักเรียนสหศิลป์-ดนตรี และคนสำคัญอย่าง นักเรียนที่เป็นเด็กพิเศษ
• เทคนิคการร้องเพลงให้ทรงพลังและมั่นใจของนักร้องนำประจำวง อย่างแก้มใส คือการร้องเพลงเปิดหมวกตามตลาดนัดในจังหวัดนั่นเอง
• พวกเขามาจากหลายชั้นปี บางคนอยู่หอ บางคนต้องเรียนพิเศษ ทำให้มีเวลาซ้อมจริงจังแค่ 3 วัน และแต่ละวันไม่ถึงชั่วโมง!