“เราเปิดหมวกข้างโรงเรียน เพราะอยากเล่นแบบสตรีท แบนด์ มีกัน 5-6 คน เล่นอยู่ในรั้วโรงเรียนยุพราชนะครับ แล้วเอาหมวกยื่นออกไปนอกรั้ว…มีฝรั่งมาดูแล้วก็ให้ตังค์ด้วย!!” มันนี่-อัครนิติ เพ็ชรเจริญ มือทรอมโบน ที่เหมือนพ่วงตำแหน่งหัวหน้าวง ภาฬ (Paraa) ไปกลายๆ เล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจ เมื่อเราถามถึงงานแรกๆ ที่วงเขาได้มีโอกาสแสดง
จากเปิดหมวกครั้งนั้นในช่วงมัธยมปลาย ถึงวันนี้ทุกคนยังไม่ทันเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็พาวงดนตรีที่ชอบเล่นเพลงแนวสนุกสนานมีสีสันเข้ามาเติมดีกรี รองชนะเลิศอันดับ 1 (ประเภทบุคคลทั่วไป) เวที THE POWER BAND การประกวดดนตรีสากลสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 จัดโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย
รางวัลนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยและวงนี้ก็ไม่ได้เก่งเพราะบังเอิญ “เรียกว่าคลั่งไคล้แบบจริงจัง เหมือนตอนจีบสาวล่ะครับ เพราะว่าแรกๆ เราก็แค่แอบชอบ แต่พอเราถลำลึกจนกลายเป็นความรัก ก็อยากจะเล่นทุกวัน…” แฟรงค์-ศิวกร กาวิเต เพอร์คัชชันอารมณ์ดีพูดความในใจ
“…แต่ดนตรีไม่เหมือนสาวๆ เพราะดนตรีไม่ทิ้งเรา” แหม…ช่างเปรียบเปรย
บนเวทีประกวด THE POWER BAND เราเห็นสมาชิกวงที่วาดลวดลายอยู่บนนั้น 11 คน แต่เราได้มีโอกาสได้คุยกับน้องๆ เพียง 5 คนที่มาเป็นตัวแทนวง ซึ่งพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในกลางยุคที่เชียงใหม่มีความตื่นตัวเรื่องดนตรีเป็นอย่างมาก นอกจาก มันนี่ ผู้เล่นทรอมโบน และแฟรงค์ มือเพอร์คัชชัน ก็ยังมี ดาต้า-วรนันท์ ดวงงาม เทนเนอร์ แซกโซโฟน วีร์-วรวีร์ ทรายคำ นักร้องชาย และว่าน-นันทิยา รินคำ นักร้องสาวเสียงหวาน
ภาฬ อ่านว่า พา-ระ…เหรอ!?!
“ภาฬ” เกิดมาจากเด็กมัธยมกลุ่มเล็กๆ ในโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีแพสชันอย่างแรงกล้ากับการเล่นดนตรี “แรกสุดเลยคือผมเห็นจากอินเทอร์เน็ต มีวงหนึ่งที่นิวยอร์กเขาเล่นเครื่องเป่าในซับเวย์ รู้สึกว่า…โอ้ย มันเท่จัง ก็เลยรวมเพื่อนที่อยู่วงโยธวาทิตด้วยกันมา 5-6 คน ตอนนั้นเล่น บาริโทน แซกโซโฟน เทนเนอร์ แซกโซโฟน ทรอมโบน ทรัมเป็ต ซูซาโฟน และกลอง ตั้งเป็นวงชื่อ ‘ภาฬ’”
คงเพราะความเท่นั่นล่ะ ถึงได้อยากเขียนชื่อวงว่า ภาฬ (ซึ่งออกเสียงเหมือน พาล) แต่ให้อ่านว่า พา-ระ แล้วใช้ภาษาอังกฤษกำกับลงไปเป็น ภาฬ (Paraa) “ถ้าเราไปเติมอะไรตรง ฬ จุฬา พวกสระอะ ไม้หันอากาศ หรืออะไรอื่นๆ มันไม่สวย” มันนี่หนึ่งในผู้ก่อตั้งวงเอ่ยถึงความตั้งใจ
ครั้งนั้นสนุกกับการเล่นดนตรีถึงขั้นเปิดหมวกจากในรั้วโรงเรียน “ตอนนั้นเพิ่งซ้อมวงโยธวาทิตเสร็จ เล่นอยู่ 2 เพลง มีฝรั่งมาหยุดดู แถมได้เงินด้วยนะ ประมาณ 300 บาท เราก็…เฮ้ย!! อีกรอบไหม แล้วก็ยื่นหมวกออกไปวางอีกรอบ”
นักดนตรีวงโยธวาทิตของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยมักจะต้องพ่วงการเล่นในวงลูกทุ่งเข้าไปด้วย เวลาหลังเลิกเรียนต้องล็อกไว้ให้วงโยธวาทิตก่อน จากนั้น 6 โมงเย็น ต้องไปซ้อมลูกทุ่ง “วงใหญ่มากครับ แบบรายการชิงช้าสวรรค์เลยนะ ถ้าเราอยากเล่นวงสตริง ก็ต้องหาเวลาซ้อมของเราเองหลังจากนั้น”
ฟังดูเหนื่อย แต่คนมันรักก็ต้องอดทน วงภาฬ (Paraa) เริ่มออกแข่งขันตามภาคเหนือบ้าง รับเล่นงานตามโรงเรียน ทั้งของโรงเรียนตัวเองและโรงเรียนอื่นๆ สมาชิกหลักมีอยู่ 5 คน บางงานก็มีการยืมตัวนักร้องยืมตัวคีย์บอร์ดจากวงอื่นๆ ตามความจำเป็น เล่นตั้งแต่งานรื่นเริงเรื่อยไปจนถึงงานศพ
“เคยไปเล่นงานแต่งงาน เริ่มตั้งแต่เช้าแห่ขันหมาก แล้วก็เล่นดนตรีในงาน เลยจนถึงงานเลี้ยง 3-4 ทุ่ม จบงานปุ๊บ วงเราสลบกันหมดเลย”
เชียงใหม่ มหานครแห่งเสียงเพลง
ก่อนหน้าที่จะมีการรวมตัวกันของวงภาฬ (Paraa) วงการดนตรีของเชียงใหม่ค่อนข้างเฟื่องฟู “ยุคก่อนน้ำท่วมใหญ่ปี 54…” ไม่อยากเชื่อว่าจะต้องอ้างอิงยุคสมัยความสุขของดนตรีกับมหาอุทกภัย “…โรงเรียนยุพราชมีวงดนตรีที่ดังมากๆ หลายวง เข้าแข่งระดับจังหวัด แข่งตามงานที่คลื่นวิทยุจัดชนะหมดเลย” คำยืนยันจากแฟรงค์ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ เขาเล่นดนตรีในโรงเรียนก่อนที่สมาชิกวงภาฬจะเข้ามาเรียนเสียอีก สิ่งที่เป็นแรงกระตุ้นและบ่งบอกยุคสมัย คือ วงดนตรีแนวดิสโกอย่าง Groove Riders ที่มีเครื่องเป่าและเพอร์คัชชันประกอบเป็นวงใหญ่ และภาพยนตร์ “Suck Seed ห่วยขั้นเทพ” ที่มีเรื่องราวความรักในเสียงดนตรีของวัยรุ่น หรือ “Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” (ซึ่งมีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นฉากของเรื่องและถ่ายทำที่นั่น) เรื่องราวของวัยรุ่นในโรงเรียนดนตรี ทำให้เด็กนักเรียนหันมาสนใจดนตรีมากขึ้น
“ช่วงนั้นมีวงดนตรีในโรงเรียนเยอะมาก เชื่อไหมว่า เคยมีงานประกวดดนตรีของโรงเรียนงานหนึ่ง มีวงเข้าแข่งร้อยกว่าวง แข่งกันตั้งแต่ 10 โมง จนถึง 4 ทุ่มเลย”
แต่หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 54 วงการดนตรีเชียงใหม่ก็ซบเซาลงพักหนึ่ง “ตอนนั้นไม่มีงานดนตรีติดกันประมาณ 2 ปี คือ วงโยธวาทิตจะมีเป็นปกติอยู่แล้ว แต่วงสตริงเนี่ยมันหายไป เราก็เลยมารวมตัวกันใหม่ได้ประมาณ 4-5 วงก็เลยขอครูจัดงาน เป็นคล้ายๆ งาน open house ขอให้โรงเรียนหาเครื่องเสียงให้ ที่เหลือเราจะจัดการเอง ก็ชวนทั้งวงในโรงเรียนและต่างโรงเรียนมาเล่น จากนั้นดนตรีก็เริ่มกลับมา”
ช่วงเวลานั้นสมาชิกวงภาฬ (Paraa) เริ่มเข้ามาในโรงเรียนแล้ว เป็นการสานต่อประวัติศาสตร์ดนตรีกันพอดี “ผมเห็นพี่แฟรงค์ตั้งแต่ผมเข้าเรียนที่ยุพราชเลยนะ พี่เขาอยู่วงสตริง ซึ่งมันแยกห้องซ้อมออกไปจากวงโยธวาทิตและวงลูกทุ่ง จะดูไฮโซกว่ามากจนเรารู้สึกว่าอยากเล่นจังเลย”
มันนี่และดาต้าดูจะอยากเล่นทุกสไตล์ดนตรีเลยนะ
Don’t worry กว่าเพลงนี้จะอร่อย
ความคลั่งดนตรีของเด็กยุพราชทำให้สงสัยว่าเอาเวลาไหนไปเรียนกันนะ แต่แม้บางคนจะบอกว่าเคยสอบได้คะแนนติดศูนย์ ติด ร. มาก่อนบ้าง แต่ทุกวันนี้ก็ร่ำเรียนในมหาวิทยาลัย บางคนเรียนในสาขาดนตรีเสียด้วย อย่างเกื้อที่เป็นมือกีตาร์ก็เป็นคนที่เขียนโน้ตแต่งทำนองเพลงให้วงมาตลอด
“คือเกื้อนี่ชอบเสพเพลงแบบหนักๆ ฟังก็เยอะ พอเขียนโน้ตเพลงออกมามันยากเกินคนเล่นได้ขนาดนั้นเลย” เพื่อนคู่หูเครื่องเป่าแอบบ่น ถึงโน้ตเพลง ‘รางวัลแด่คนช่างฝัน’ ที่วงภาฬ (Paraa) ใช้แข่งครั้งนี้ “โน้ตมันถี่เกินและเล่นยาวกว่าการหายใจของมนุษย์ ต้องลองเป่าให้ดู แล้วบอกว่าเป่าไม่ได้ ต้องไปแก้มาใหม่” เขาอยากนำเสนอเพลงของจรัล มโนเพ็ชร ในสไตล์ New Orleans Jazz จะได้เล่นกันหลายๆ เครื่องดนตรี เป็นวงใหญ่ๆ และออกมาสนุกสนาน งานนี้ต้องใช้นักร้องถึงสองคนซึ่งรู้จักกันมานานแต่เพิ่งร่วมงานใหญ่ด้วยกันครั้งแรก
“ผมร้องเพลงมา 7-8 ปีแล้ว ตั้งแต่อยู่ ม. 3 อยู่ในวงร้องเพลงประสานเสียงด้วย แต่เคยลงแข่งโฟล์กซองกับเกื้อแค่ครั้งเดียว ไม่คิดว่าเขาจะชวนมาประกวดงานนี้ ซึ่งผมก็อยากมาร่วมร้องกับวงภาฬมานานแล้วครับ” วีร์เอ่ยเสียงหล่อๆ ส่วนว่านักร้องสาวออกตัว “ว่านชอบร้องเพลงค่ะ ในมหาวิทยาลัยก็ร้องตามงานบ้าง แต่ว่างานประกวดที่นี่ที่แรกเลย” ด้วยเนื้อเสียงและคาแรคเตอร์ของนักร้องทั้งคู่เป็นส่วนที่เติมให้เพลงสมบูรณ์
“คนดูจะได้เห็นความสนุกและแปลกใหม่
ผมมั่นใจว่าเพลงเรา catchy และน่าสนใจ”
วีร์-วรวีร์ ทรายคำ
วงภาฬ (Paraa) (ร้องนำ)
เพลงที่วงภาฬแต่งขึ้นมาใหม่สำหรับใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ ชื่อเพลง “Don’t Worry” ซึ่งทำออกมาเป็นแนว city pop ให้อารมณ์นิวยอร์กแบบที่วงเขาชื่นชอบ ดาต้าเป็นคนแรกที่ต้องรับบทบาทคนเขียนเนื้อเพลง
“นึกถึงแร็ปเปอร์ผิวสี เป็นเพลงสนุกๆ เต้นๆ เหมือนเดินชิลๆ อยู่ในเมืองที่มีตึกมีรถไฟใต้ดิน มีความวุ่นวายนิดๆ ตอนแรกเกื้อทำทำนองเพลงออกมาเป็น R&B ที่ดาร์กมากๆ อกหักมาเลยครับ ปรึกษากับคิวที่เป็นเหมือนโปรดิวเซอร์ของวง คิดว่าน่าจะเปลี่ยนใหม่ ผมนึกภาพเป็น MV เลยนะครับ เรื่องราวหนุ่มคนหนึ่งที่รีบตื่นเช้ารีบไปสถานีรถไฟ เพื่อไปแอบดูผู้หญิงคนหนึ่งที่เดินทางมาที่สถานีนั้นทุกวัน ผมก็เขียนเนื้อเพลงแล้วส่งให้น้องนักร้องช่วยเกลาภาษา” วีร์นักร้องนำค่อนข้างชำนาญภาษาอังกฤษก็จัดการเนื้อเพลงต่อ
Jump out of my bed
And the first thing that I think of every morning.
You’re running through my head.
You must be tired baby can I get you something?
Every morning I just wanna see your face
Girl, please let me closer. And I hope you’ll be my future.
And hope to be together
“เปลี่ยนอารมณ์เป็นไม่เศร้าละครับ เป็นเรื่องของคนสองคนที่พอจะรู้ว่าต่างคนต่างชอบกันอยู่ แล้วจบแบบแฮปปี้ Don’t you worry baby, don’t you worry baby. Don’t you worry girl, I’ll be right here always. Just for you.” วีร์เล่ายิ้มๆ
ฝ่ายเพอร์คัชชัน แฟรงค์พยายามใส่เข้าไปให้พอดี ไม่มากไม่น้อย พอสร้างสีสัน “แม้ไม่ต้องโซโลโชว์ลีลามากเหมือนเพลงละติน แต่เวลาไม่มีเพอร์คัชชันก็เหมือนกินหมูกระทะไม่จิ้มซอส ลองแล้วใส่เข้าไปเพลงก็จะกลมกล่อมขึ้น สร้างอารมณ์ได้มากขึ้น”
เห็นได้ชัดว่าสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมให้ภาฬมีความโดดเด่น
“ขาดเพอร์คัชชัน
ก็เหมือนกินหมูกระทะไม่จิ้มซอส
ลองแล้วใส่เข้าไปเพลงก็จะกลมกล่อมขึ้น”
แฟรงค์-ศิวกร กาวิเต
วงภาฬ (Paraa) (เพอร์คัชชัน)
“ครั้งนี้เหมือนการทำลายกำแพงตัวเอง
เพราะไม่เคยกล้าประกวดมาก่อนเลย”
ว่าน-นันทิยา รินคำ
วงภาฬ (Paraa) (ร้องนำ)
Suggestion
ไม่ว่าอย่างไร…ให้แค่ 3 วัน!!
ปกติแล้วแนวเพลงที่ภาฬชอบเล่นจะเป็นแนวซิตี้ป็อปบ้าง อินดี้บ้าง อาจมีกลิ่นอายกอสเพลและเพลงโซล ถามถึงไอดอลที่เป็นแรงบันดาลใจเขาเอ่ยชื่อวง Earth Wind and Fire วง Kool & the Gang และ สตีวี วันเดอร์ ศิลปินผู้มองไม่เห็นโลกแต่สามารถแต่งเพลงและร้องเพลงให้โลกสดใสได้ ลีลาบนเวทีของภาฬจึงเน้นสร้างความสุขให้ผู้คนเป็นหลัก
“มาร้องเพลงประกวดครั้งนี้เหมือนการทำลายกำแพงตัวเองเลยค่ะ เพราะไม่เคยกล้าประกวดมาก่อนเลย ถ้าเกิดชนะในเวทีนี้จะช่วยเป็นกำลังใจให้กับนักดนตรีและนักร้องมากๆ เลย ทำให้มั่นใจที่จะเดินทางสายนี้ต่อ” ว่านนักร้องสาวเผยความรู้สึก
“วงภาฬจะทำตามฝันไปต่อเรื่อยๆ
ไปจนกว่าพวกเราจะทำไม่ไหว”
มันนี่-อัครนิติ เพ็ชรเจริญ
วงภาฬ (Paraa) (ทรอมโบน)
ทางด้านมันนี่รู้สึกดีใจมากๆ ถ้าเกิดชนะการประกวด “แต่ก็แค่ 3 วันนะครับ แล้วเราก็จะต้องไปต่อ เราเคยแยกย้ายกันตอนจบมัธยมไปเดินทางของใครของมัน ถ้าเรากลับมาครั้งนี้แล้วชนะรางวัล เราก็จะลุยในชื่อวงภาฬ (Paraa) ต่อไป ทำตามฝันไปต่อเรื่อยๆ ไปจนกว่าพวกเราจะทำไม่ไหว”
“ชนะก็ต้องเล่นต่อ…แพ้ก็ต้องเล่นต่อ” ดาต้าเอ่ยนิ่งๆ
“เราต้องทำต่อไปเรื่อยๆ เพราะยังมีความสุขเวลาเล่นดนตรีด้วยกัน แล้วตอนนี้เราได้เล่นด้วยกันแล้วก็เลยต้องฝันให้ไกลกว่านั้น ถ้าไปแตะคำว่าศิลปินได้ ไปเล่นต่างประเทศได้จะดีต่อใจมาก” ดาต้ายังบอกกับเราอีกว่า เพื่อนๆ ในวงอยากไปเล่นดนตรีในงาน Fuji Rock Festival เทศกาลดนตรีกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น อยากไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ยังต่างประเทศให้มากที่สุด
“ชนะก็ต้องเล่นต่อ…แพ้ก็ต้องเล่นต่อ
เพราะเรามีความสุข
เวลาเล่นดนตรีด้วยกัน”
ดาต้า-วรนันท์ ดวงงาม
วงภาฬ (Paraa) (เทนเนอร์ แซกโซโฟน)
จากกลุ่มนักเรียนมัธยมที่คลั่งไคล้ในเสียงเพลง นึกสนุกเปิดเล่นดนตรีเปิดหมวกให้เขตโรงเรียน ปล่อยให้เสียงเพลงลอดรั้วมาจับใจคนฟังข้างนอก แล้วค่อยๆ ขยับโอกาสให้เสียงเพลงของตนเข้าใกล้คนฟังมากขึ้นเรื่อยๆ ค่อยๆ กลุ่มใหญ่ขึ้นจนมาถึงระดับประเทศในเวที THE POWER BAND
เสียงดนตรีของ “ภาฬ” จะไปถึงผู้ชมในระดับโลกหรือไม่…ควรติดตาม!!!
ตีสนิท “ภาฬ” กันอีกนิด
90 เปอร์เซ็นต์ของ “ภาฬ” ยังเรียนในระดับมหาวิทยาลัย
• มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
เรียนอยู่สถาบันนี้ 3 คน เริ่มจากหัวหน้าวงภาฬ มันนี่-อัครนิติ เพ็ชรเจริญ (ทรอมโบน) และเกียร์-กฤษ หน่อจีนา (เบส) เรียนคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาดนตรีสากล ส่วน ปอน-สุภกิจ ประทุม (ทรัมเป็ต) คณะครุศาสตร์ สาขาดนตรีศึกษา
• มหาวิทยาลัยพายัพ
มี 3 คนเรียนคณะเดียวกัน คือ เกื้อ-พศิน นันสว่าง (กีตาร์ไฟฟ้า) คิว-เดชาพล มิ่งขวัญ (คีย์บอร์ด) และ โฟล์ค-ภาณุพงศ์ ดวงทิพย์ (กลอง) เรียนวิทยาลัยดุริยศิลป์ สาขาดุริยางคศาสตร์
• มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นักร้องสองคนเรียนที่นี่ วีร์-วรวีร์ ทรายคำ (ร้องนำชาย) คณะการสื่อสารมวลชน สาขาวารสารศาสตร์บูรณาการ และ ว่าน-นันทิยา รินคำ (ร้องนำหญิง) คณะมนุษยศาสตร์ สาขาการท่องเที่ยว พร้อมทั้ง ดาต้า-วรนันท์ ดวงงาม (เทนเนอร์ แซกโซโฟน) คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ
• มหาวิทยาลัยศิลปากร
คนนี้มาไกลบ้านที่สุด นนท์-ชญานนท์ สิงหธนากร (อัลโต แซกโซโฟน) คณะดุริยางคศาสตร์ สาขาดนตรีแจ๊ส
• ศิลปินสังกัดวงดนตรีอิสระ
พี่ใหญ่ของวง แฟรงค์-ศิวกร กาวิเต (เพอร์คัชชัน) จบการศึกษาแล้วและเป็นศิลปินในวงดนตรีอิสระ ชื่อ Hairwair จังหวัดเชียงใหม่
• ผู้ก่อตั้ง “ภาฬ”
วงเครื่องเป่าที่เล่นแบบ สตรีท แบนด์ เปิดหมวกในยุคแรก คือ มันนี่ ดาต้า เกื้อ ปอน และ นนท์
ตามติดผลงานเพลงพิเศษ Don’t Worry ของวงภาฬ (Paraa)
สำหรับเวที THE POWER BAND โดยเฉพาะได้แล้วที่ YouTube : Kingpower Thaipower พลังคนไทย