Playground

วิถีธรรมชาติสู่แบรนด์นานาชาติ
อนาคตอันสดใสของชุมชนรุ่นใหม่

วันเสาร์ มณฑาจันทร์ 11 Aug 2021
Views: 647

พี่เป็นคนอยู่ป่าอยู่ดอย วัตถุดิบธรรมชาติมันจะเยอะอยู่แล้ว เราสามารถเอาเปลือก เอาใบ เอาเมล็ดมาย้อมผ้าได้คำบอกเล่าเรียบง่ายของพี่ที่ทำงานย้อมผ้าจากสีย้อมธรรมชาติในชุมชนชาวบ้าน ทำให้เรารู้สึกดีใจและสงสัยไปพร้อมๆ กัน 

ผ้าที่ขึ้นมาจากหม้อย้อมจะสีเขียวเหลือง แต่พอเจออากาศจะกลายเป็นสีน้ำเงินเหรอออ?…เราถึงกับอดประหลาดใจในความมหัศจรรย์ของเคมีในธรรมชาติไม่ได้ 

มีแบรนด์เสื้อผ้าของสโมสรฟุตบอลดัง LCFC เลสเตอร์ ซิตี้ ฟุตบอลคลับ คอลแลปส์กับ atmos แบรนด์ญี่ปุ่นที่วัยรุ่นชื่นชอบ เขาเอาเสื้อย้อมครามไปออกเป็นคอลเลคชั่นด้วยนะ 

หือออลำพูนxสกลนคร กลายเป็นผลงานสร้างสรรค์บนผลิตภัณฑ์ LCFCxatmos อย่างนั้นเหรอ? ยิ่งพาให้เราอยากรู้มากขึ้นและยิ่งอยากรู้จักชุมชนที่เป็นแหล่งย้อมผ้าสีธรรมชาติ…3 สไตล์สีย้อมจากธรรมชาติที่เป็นภูมิปัญญาไทยจาก 3 แหล่งชุมชนใน 2 จังหวัด ต้นทางของผลิตภัณฑ์รุ่นพิเศษนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก

 

คราม ความภูมิใจของชาวสกล

กลางทุ่งต้นครามใกล้เทือกเขาภูพาน ชาวบ้านหมู่บ้านอูนดง อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ค่อยๆ ใช้เคียวเกี่ยวต้นครามที่อายุได้ที่แล้ว…เพื่อนำไปหมักทำน้ำย้อมสีผ้า แม้พวกเขาจะรู้ดีว่า ตอนนี้ผ้าย้อมครามฝีมือของที่บ้านโด่งดังไกลไปเมืองนอกเมืองนา แต่ก็ยังยึดถือวิถีปฏิบัติแบบเดิมๆ เสมอมา

“ผ้าย้อมครามถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวบ้านหรือชีวิตประจำวันของเรา เราอยู่กับภูมิปัญญานี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น” เจษเจษฎา กัลยาบาล ผู้ควบคุมการย้อมครามของชุมชนนี้พูดพลางตักน้ำจากถัง ซึ่งเอาต้นครามที่แม่ๆ เกี่ยวมานั้นลงแช่น้ำไว้ได้ 2 วันแล้ว 

น้ำที่ตักขึ้นมาเป็นสีฟ้าอ่อนๆ นั่นคือเม็ดสีของคราม การจะนำไปใช้ต้องนำปูนแดงหรือปูนขาวมาตีผสมกับน้ำเปล่า แล้วเทลงไปในถังแช่คราม ปูนจะไปจับกับเม็ดสีในน้ำให้กลายเป็นเนื้อครามเนียนๆ เหมือนครีมเค้กตกตะกอนอยู่ก้นถัง

ได้เนื้อครามแล้วต้องมา ‘ปลูกหม้อ’ หรือ ‘ก่อหม้อคราม’ “เทส่วนผสมลงไปในหม้อ มีน้ำขี้เถ้า น้ำตาลทราย น้ำมะขามเปียก และมีกล้วยน้ำว้าเป็นตัวทำให้หม้อครามดูดความหวาน” แล้วจึงทิ้งหม้อครามบ่มไว้อย่างนั้นอีก 3-5 วัน ช้า-เร็วแล้วแต่อุณหภูมิของอากาศ ก่อนจะนำมาใช้ย้อมผ้าได้

งานศิลป์บนอาภรณ์ที่ไม่เคยซ้ำใคร

โรงย้อมผ้าของบ้านอูนดงจะมีหม้อครามตั้งเรียงเป็นแถวยาว ในหม้อที่ตอนแรกน้ำเป็นสีครามจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มันเปลี่ยนสีไปได้เพราะจุลินทรีย์ในหม้อเจริญเติบโตนั่นเอง เวลาย้อมก็แค่นำผ้าลงไปจุ่มในหม้อ ใช้มือบีบอยู่ใต้น้ำประมาณ 100 ครั้ง ให้น้ำครามซึมเข้าไปในผ้า เมื่อยกผ้าขึ้นมาจะเห็นเป็นสีเหลืองๆ เขียวๆ แล้วจะค่อยๆ เปลี่ยนสีเป็นสีน้ำเงิน 

  

“พอมันเจออากาศ เจอออกซิเจนก็จะแปลงร่างเป็นสีน้ำเงิน  หม้อที่ตั้งเรียงกันไว้เพื่อย้อมสีให้เข้มขึ้น อยากได้สีฟ้าก็ย้อมที่หม้อแรก ถ้าอยากได้สีฟ้าเข้มขึ้นก็ย้อมต่ออีกเรื่อยๆ จนเป็นสีน้ำเงินเข้ม” เมื่อย้อมเสร็จแล้ว ก็ทำการซักล้างอีกประมาณ 20 ครั้ง ล้างไปเรื่อยๆ จนกว่าน้ำจะสะอาดไม่มีสีครามตกออกมาแล้ว

แน่นอนที่สุด…ว่าผลที่ออกมาบนผ้าหรือเสื้อแต่ละตัวจะไม่เหมือนกัน

 

สีย้อมผ้า สรรหาได้รอบตัว

ชาวบ้านปลูกข้าวมารวมตัวช่วยกันลงแรงเกี่ยวข้าว กลางวันก็ล้อมวงกับพื้นกินข้าวด้วยกัน ชีวิตแสนเรียบง่ายยังมีอยู่จริง ที่ตำบลตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน และนอกจากปลูกข้าวปลูกผักแล้ว วัตถุดิบธรรมชาติที่นำมาทำเป็นสีย้อมผ้าสำหรับชุมชนนี้ก็มีตั้งมากมาย 

สีผ้าที่โดดเด่นของที่นี่ก็คือสีเหลืองอมส้ม สีย้อมก็ได้มาจากสิ่งที่เขาเดินผ่านไปผ่านมากันทุกวันนั่นล่ะ

รัตนา หล้าคำ ผู้เชี่ยวชาญการย้อมผ้าของกลุ่มทอผ้าสีธรรมชาติตะเคียนปมคอตตอน ใช้ไม้ส้าวหรือไม้สอยลำยาวๆ เกี่ยวเอาใบเพกาจากต้นที่ขึ้นอยู่ริมคันนา แล้วเลยไปขุดดินแดงในสวนมาด้วยอีกนิดหน่อย “คนรุ่นแม่ รุ่นยายเขาใส่เสื้อสีขาว เวลาเข้าป่า พื้นที่มันเป็นน้ำโคลนตอนหน้าฝน เดินไปดินมันก็กระเด็นติดเสื้อ เขาก็เห็นว่า…เอ้อ!..สีมันสวยดีนะ ซักก็ไม่ออก ก็เลยคิดว่าเอาไปย้อมเสื้อน่าจะดี” นี่ล่ะวัตถุดิบย้อมผ้า!!!

“พี่เป็นคนอยู่ป่าอยู่ดอย วัตถุดิบธรรมชาติมันจะเยอะอยู่แล้ว” แต่ใครจะคิดว่าหาง่ายใกล้ตัวขนาดนี้

 

เพกาดินแดง เสน่ห์แห่งเมืองลำพูน

ใบเพกาที่เก็บมาจะนำไปต้มในหม้อขนาดใหญ่กลิ่นหอมเหมือนผักต้มที่ชาวบ้านในชุมชน พวกเขากินกับน้ำพริก “เพกานี่กินได้นะ ดอกยอด ฝักมันก็กินได้หมดเลย” รัตนาเล่าไปมือก็คนไปด้วย สีน้ำต้มใบเพกาออกมาเป็นสีเขียว…อ้าว ไหนบอกว่าผ้าที่โด่งดังสีเหลืองไง

เธอตักผงสารส้มใส่ลงไปในหม้อ พลันน้ำสีเขียวก็เปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง “สารส้มเป็น mordant หรือสารช่วยย้อมชนิดหนึ่ง ที่ช่วยทำให้สีเปลี่ยน” นอกจากเปลี่ยนสีแล้วสารส้มยังช่วยให้สีติดในเนื้อผ้าดีขึ้นด้วย

ผ้าที่ย้อมครั้งนี้จะใช้เทคนิคย้อม 2 ครั้ง ให้ผ้าดูมีมิติ เธอจะขยุ้มผ้าให้เป็นก้อนๆ คล้ายก้อนเมฆ ใช้หนังยางรัดให้แน่น แล้วจึงนำไปแช่ในน้ำต้มเพกาผสมสารส้มที่กรองกากออกไปแล้ว นวดผ้าในน้ำสีไปสัก 1-2 นาทีให้สีซึมเข้าในเนื้อผ้า จะได้สีพื้นสีแรกเป็นสีเหลือง

“เดี๋ยวเราจะละลายดินแดงในน้ำเปล่า คนให้ดินมันละลาย” จากนั้นจึงนำผ้าก้อนเดิมที่เพิ่งย้อมสีเหลืองเสร็จมาใส่ลงในถังดินแดง “ขั้นตอนนี้ไม่ต้องบีบมากหรือบีบเบาๆ ก็พอ เพราะว่าสีจะติดเร็ว ติดง่าย” เสร็จแล้วก็นำไปล้างดินออกจนสะอาด ก่อนตากให้แห้ง “ธรรมชาติจะให้สีไม่เหมือนกัน  ผ้าย้อมก็จะมีเสน่ห์ของมัน ตรงที่จะให้ทำออกมาเหมือนกันเป๊ะทุกตัวคงไม่ได้” สีผ้าที่ย้อมด้วยใบเพกาและดินแดงออกมาดูละมุนน่าสัมผัส ดูมีเอกลักษณ์…มีความเฉพาะตัวของมันเอง

 “สีธรรมชาติบางสีเป็นสมุนไพร ถ้าเราไปใช้เคมีมันก็จะไม่ดีกับสุขภาพร่างกายเรา” รัตนาทิ้งท้ายไว้ให้คิด

ฮ่อมมะเกลือ คู่เข้มที่ลงตัว

หากมีโอกาสเดินทางไปยังชุมชนชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่แสม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เราจะยังคงพบเห็นบ้านใต้ถุนสูง มีคุณแม่ คุณยาย… ยังมานั่งทอผ้ากันอยู่ และหลายๆ บ้านก็ยังมีการย้อมผ้ากันเป็นปกติ 

วัตถุดิบที่มีเยอะในชุมชน คือต้นฮ่อมและมะเกลือ ฮ่อมเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งถ้าเอาใบไปย้อมผ้าจะได้สีน้ำเงิน คนที่นี่เขาปลูกไว้เป็นแปลงเลย ส่วนมะเกลือใช้ส่วนผลมาย้อมผ้า จะได้ผ้าสีดำ

ใบฮ่อมเอามาล้างน้ำ แล้วแช่น้ำไว้ประมาณ 2 วัน สีจะออกมาในน้ำเป็นสีเขียวอมฟ้า ก็ให้ตักใบฮ่อมออก จากนั้นเอาเนื้อปูนขาวมาเทใส่ ปูนขาวจะทำให้สีมันจับตัวกัน ใช้ไผ่สานกวนหรือตีให้เข้ากันดี แล้วทิ้งไว้ข้ามคืนจะได้เนื้อฮ่อมตกตะกอนอยู่ข้างใต้ จากนั้นก็ทำการ “ก่อหม้อ” โดยผสม 3 อย่างมารวมกันก็ คือ น้ำขี้เถ้า มะขามเปียก และเนื้อฮ่อม ผสมทิ้งไว้ 3-4 วันจึงจะสามารถใช้ย้อมผ้าได้ อารมณ์คล้ายๆ กับการย้อมครามนั่นล่ะ

ย้อมผ้า ปกาเกอะญอสไตล์

“วิธีย้อมก็ง่ายมาก จุ่มเสื้อผ้าทั้งตัวหรือทั้งผืนลงไปแช่อยู่ใต้น้ำ แล้วก็ขยำๆ ๆ ๆ” วิวิโรจน์ คำธิยะ ชาวปกาเกอะญอ หมู่บ้านแม่แสม ลองทำให้ดู ย้อมอยู่ประมาณ 1-2 นาที ยกขึ้นมาจะเห็นผ้าเป็นสีเขียวอมเหลือง แต่พอทิ้งไว้สักพักสีเหลืองก็จะกลายเป็นสีน้ำเงิน แบบเดียวกับย้อมครามอีกเช่นกัน 

หลังจากที่ย้อมสีพื้นเสร็จแล้วต่อไปก็จะทำลายเสื้อ โดยใช้มือขยุ้มผ้าเสื้อผ้าให้เป็นก้อนๆ แล้วนำหนังยางมัดให้แน่น ก่อนจะนำไปย้อมด้วยมะเกลือ

มะเกลือที่ใช้ย้อมผ้าเราทำการดองไว้แล้ว เพื่อจะเก็บไว้ใช้นานๆ ดองทีนึงอยู่ได้เป็นปีๆ “ตักลูกมะเกลือดองใส่ถังแล้วตำให้ละเอียด เสร็จแล้วใส่น้ำด่างตามลงไป เพื่อจะทำให้นำมาย้อมผ้าได้ ก่อนใช้ก็กรองเอาแต่น้ำสีดำมาย้อม” สีที่ได้จากมะเกลือจะติดทน ทนนานขนาดต้องใส่ถุงมือ เพราะไม่อย่างนั้นสีจะติดมือติดเล็บล้างไม่ออกแบบจริงจัง 

 

นำผ้าแช่ลงไปในน้ำมะเกลือเพียงไม่นาน แค่พอให้น้ำสีมันซึมเข้าไปข้างใน แล้วนำไปตากโดยยังไม่ต้องแกะนานสักครึ่งชั่วโมง ผ้าจะกลายก็เป็นสีดำเข้มขึ้น ตอนนั้นแหละค่อยแกะและซักตาก

เสื้อที่ออกมาสีน้ำเงินเข้มมีลวดลายสีดำ ดูเท่ และหนักแน่น

LEICESTER, ENGLAND – OCTOBER 15: Atmos Shoot on October 15th, 2020 in Leicester, United Kingdom. (Photo by Plumb Images/Leicester City FC via Getty Images)
LEICESTER, ENGLAND – OCTOBER 15: Atmos Shoot on October 15th, 2020 in Leicester, United Kingdom. (Photo by Plumb Images/Leicester City FC via Getty Images)
LEICESTER, ENGLAND – OCTOBER 15: Atmos Shoot on October 15th, 2020 in Leicester, United Kingdom. (Photo by Plumb Images/Leicester City FC via Getty Images)

แค่เพียงสีผ้าจาก 3 สีย้อมธรรมชาติ สีขาวฟ้า แบบผ้าครามของบ้านอูนดง จังหวัดสกลนคร ผ้าสีเหลืองอบอุ่นของบ้านตะเคียนปม จังหวัดลำพูน และผ้าสีน้ำเงินดำเข้ม สไตล์ปกาเกอะญอ บ้านแม่แสม จังหวัดลำพูน ก็สามารถดึงดูดใจชาวต่างชาติและแบรนด์ดังระดับนานาชาติ ให้หันมาสนใจผลงานจากภูมิปัญญาไทยได้

แต่รู้ไหมว่าผ้าย้อมสีธรรมชาติของไทยยังมีอีกหลายแหล่ง อีกหลายวัตถุดิบ ที่เชื่อว่าน่าตื่นตาไม่แพ้กัน

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: LCFC x atmos

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็คอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• อุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติ-สกลนคร ชมวิวธรรมชาติที่เป็นฉากหลังให้สะพานไม้สีแดงทอดยาวกลางบึงบัวใหญ่นับร้อยสายพันธุ์

• สะพานขาวทาชมภู-ลำพูน สะพานรถไฟสายประวัติศาสตร์อายุนับร้อยปี ดีไซน์คลาสสิก เป็นแลนด์มาร์คของเมืองอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ

• หมู่บ้านโฮมสเตย์ชุมชนพระบาทห้วยต้ม-ลำพูน ชิม “น้ำพริกดำ” กับขันโตกมังสวิรัติ อาหารพื้นถิ่นชาวปกาเกอะญอ

 

Author

วันเสาร์ มณฑาจันทร์

Author

นักเขียนอิสระ แม้จะร่ำเรียนมาทางด้านภาพยนตร์แต่นอกจากถ่ายภาพและเขียนหนังสือแล้ว ยังสนใจเรื่องการทำอาหารและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากเป็นพิเศษ

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก