ที่ห้องประชุมใหญ่ของ “ย.บ.” โรงเรียนโยธินบูรณะ มีเด็กนักเรียนหญิงนักเรียนชายนั่งประจำที่อยู่กับเครื่องดนตรีซึ่งแต่ละคนรับผิดชอบ ครูผู้คุมวงยืนกำกับอยู่ที่ด้านหน้าวง เตรียมให้สัญญาณในการเริ่มต้นบรรเลง
วันนี้เป็นวันซ้อมวันหนึ่งในหลายๆ วันของ “เด็กวงฯ” เด็กๆ ที่นั่นเรียกตัวเองกันแบบนี้
อยู่วงโยธวาธิต พวกเขาซ้อมหนัก…เป็นพิเศษในช่วงที่จะมีการประกวด เล่นเครื่องดนตรีที่พวกเขารักอย่างพร้อมเพรียง แบ่งปันตัวโน้ตชุดเดียวกัน ร่วมบรรเลงออกมาเป็นเพลงเดียวกัน และเป็นหนึ่งเดียว ถ้าเป็นการซ้อมของวงดนตรีสากล ก็จะมีรายละเอียดต่างกันไป แต่ความรักในเสียงดนตรีที่พวกเขาเล่นและร้อง…มีมากมายไม่ต่างกัน
โรงเรียนโยธินบูรณะ เป็นโรงเรียนเก่าแก่สังกัดกระทรวงศึกษา มีประวัติยาวนานแปดสิบกว่าปี นอกจากด้านวิชาการที่เข้มข้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราอาจไม่ค่อยรู้คือที่นี่ยัง “มีชื่อ” ด้านดนตรีด้วย…ไม่ว่าจะเป็นวงดนตรีสากลอย่างวง “I Love Wednesday Gen.1” (ทายจากชื่อวงหน่อยซิว่าทำไมวันพุธถึงพิเศษ) ล่าสุดผ่านเข้ารอบการประกวด The Power Band รอบรองชนะเลิศสำหรับ Class F รุ่นระดับมัธยมศึกษา กับวงโยธวาทิต วง Yothinburana Marching&Concert Band ซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากถึงเกือบ 60 คน ผลงานสำคัญล่าสุดของพวกเขาคือผ่านเข้ารอบการประกวด King’s Cup TIWSC (Thailand International Wind Symphony Competition) … ทั้งสองวงยังคงรอลงสนามรอบต่อจากที่พวกเขาผ่านมาได้ เพื่อหวังเป้าหมายสู่ชัยชนะต่อไป
ที่นี่คือพื้นที่รวมพี่ๆ น้องๆ หลากหลายชั้นเรียนมารวมตัวกันด้วยความรักในการเล่นดนตรีชนิดต่างๆ กัน
…การแข่งขัน ทำให้การฝึกฝนมีเป้าหมาย…
การประกวดทั้งสองเวทีดังกล่าวนี้ เป็นการจัดร่วมกันของ คิง เพาเวอร์ ไทยเพาเวอร์ กับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล…ถ้าไม่ติดปัญหาโควิดระบาด ป่านนี้พวกเขาคงได้เดินหน้าแข่งขันต่อจนได้รู้ผลสุดท้ายไปแล้ว
“การประกวดเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้มีเวทีแสดงออก สำหรับสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่…” ครูแอ๊นท์-ณัฐวุฒิ มังกรกิ่ง ครูผู้ควบคุมวงโยธวาทิตของโรงเรียนเล่าถึงสิ่งสำคัญที่วงได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในการได้รับประสบการณ์ชีวิตจากการแข่งขัน เมื่อการประกวดสำคัญนี้มีส่วนช่วยผลักดันให้เด็กสร้างวินัย ฝึกฝนด้วยตัวเองอย่างเข้มข้น ฝึกซ้อมด้วยกันกับเพื่อนๆ ในกลุ่มเครื่องดนตรีหรือในวงด้วยกันอย่างเต็มที่ และมีความสุขกับเครื่องดนตรีที่เล่นนอกเวลาเรียน
สิ่งสำคัญหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเล่นดนตรีคือความสนุก ถ้าใครได้ไปสังเกตการณ์เด็กๆ ตอนซ้อมกัน จะเห็นว่ายังมีทั้งช่วงที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ความสนุกสนาน ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องที่ต่างได้ชื่อว่าเป็น “สมาชิก” ของวง…เป็น “เด็กวงฯ” ซึ่งเต็มไปด้วยความอบอุ่นและความผูกพันที่เชื่อมโยงคนต่างรุ่นเข้าไว้ด้วยกัน
…พื้นที่รวมพี่รวมน้อง…
ไม่ว่าจะเป็นวงสตริง “I Love Wednesday Gen.1” หรือวงโยฯ อย่าง Yothinburana Marching&Concert Band มีสมาชิกจากหลากหลายชั้นเรียน ทั้งประถมและมัธยม เมื่อพวกเขารวมวงซ้อมกัน “การเล่น” ต้องเป็นไปอย่างสามัคคี ทั้งโน้ต…ทั้งจังหวะ ต้องเป๊ะ! นอกห้องซ้อมรวม จึงเป็นพื้นที่ที่สมาชิกของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดจะจับกลุ่มกันแยกซ้อม
ที่กลุ่มเฟรนช์ฮอร์น…เพชร ขนม แพรว ณปาย อะแตมป์ เปียโน และกาย ตั้งวงซ้อมเป่าด้วยกันอยู่อย่างสนุกสนาน แต่จริงจัง
“เฟรนช์ฮอร์น” หรือ “ฮอร์น” …เครื่องดนตรีฝรั่งเศส ให้เสียงนุ่มในเสียงเบาและส่งเสียงค่อนข้างกว้างนั้น เป่ายากอยู่พอสมควร ถ้าเริ่มต้นจากเป่าไม่เป็นเลยจะใช้เวลานานเป็นเดือนๆ โดยต้องหัดเป่าเมาท์พีซซึ่งเป็นตัวออกเสียงโดยใช้หนึ่งมือจับให้ถูกแล้วประกบปากลงเมาท์ให้ได้เสียก่อน ถ้าเป่าได้ถูกท่าถึงจะมีเสียงออกมา…นี่ยังไม่ถึงการเล่นโน้ต ต้องใช้ความทุ่มเทขนาดไหน
สำหรับกลุ่มแคลริเน็ต ซึ่งเป็นเครื่องเป่าลมไม้ มีเสียงด้วยลิ้นเดี่ยว…พี่ปอ แซมเปิ้ล เชว่า ตูน เตย บีม และน้องปอ ช่วยกันซ้อมเอาความพร้อมเพรียง
ส่วนกลุ่มเพอร์คัสชัน-สแนร์ มาร์ชชิง มีแบงค์ แบม และเท็น ช่วยกันซ้อมเคาะจังหวะ…ช่วยกันฟัง “ความเป๊ะ” ที่ได้ออกมาจากการซ้อม แม้ว่าจะเป็นจังหวะง่ายสุดอย่าง “Eight on a hand” ที่เคาะจังหวะลงกลองแบบใช้มือขวา 8 ที…ซ้าย 8 ทีให้เสียงและจังหวะออกมาได้อย่างสม่ำเสมอ
…อยู่กับดนตรี ด้วยใจ…
“ผมชอบเล่นดนตรีเพราะสนุก” เท็น-ปวรุตม์ บุญเส็ง หนุ่มมัธยม 3 สมาชิกคนหนึ่งของวงโยฯ ที่ยังเป็นสมาชิกวงสตริงของโรงเรียนด้วยเอ่ยถึงความรู้สึกของตัวเอง
หนุ่มมัธยมคนนี้ไม่ธรรมดาเพราะเขาเล่นเครื่องดนตรีได้หลากหลาย “ตอนเข้า ม. 1 ผมเริ่มเล่นชิ้นแรกคือสแนร์มาร์ชชิง เคยอยู่วงดุริยางค์ตั้งแต่ชั้นประถม 4 จากโรงเรียนเก่ามาก่อน แล้วเริ่มมาเล่นดนตรีวงสตริงช่วงมัธยม 1 หัดคีย์บอร์ดเองโดยให้รุ่นพี่ช่วยสอนเล่นให้ สอนอยู่ประมาณเดือนหนึ่งก็เล่นได้…” เขามีความสามารถมากถึงขนาดที่คนเดียวเล่นดนตรีได้มากถึง 11 ชนิด! ทั้งกลองชุด เบส กีตาร์ เปียโน เบสดรัมคอนเสิร์ต สแนร์คอนเสิร์ต สแนร์มาร์ชชิง มาริมบา ไวบาร์ ไซโลโฟน และกลองทิมปานี แต่เขาชอบเล่นกีตาร์…เพราะชอบช่วงโซโลที่เท่ดี และมีพี่ตูน บอดีสแลมเป็นไอดอล
“ตอนครูอยู่มัธยมต้นยังเป่าไม่เป็นเสียง…ตีไม่เป็นจังหวะ สำหรับเท็นถือว่าเป็นเด็กยอดเยี่ยมมาก” ครูแอ๊นท์ในฐานะผู้ควบคุมวงพูดถึงเท็นว่าถือเป็นนักดนตรีที่เก่งระดับอัจฉริยะเพราะเล่นเครื่องดนตรีได้ทุกอย่าง ในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ในวงก็ต่างทุ่มเทเครื่องดนตรีที่แต่ละคนเล่นกันอย่างเต็มที่
“พวกหนูซ้อมอย่างเต็มที่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้ถึงการประกวดสำคัญ ปิ๊งปิ๊ง-รัสริณณ์ พัฒนพลวิชญ์ …นักร้องตัวเล็กที่เคยเข้าประกวดแข่งขันร้องเพลงระดับประเทศมาแล้วเล่าให้ฟัง ก่อนแยกไปส่งเสียงซ้อมร้องเพลงในฐานะนักร้องนำของวง “I Love Wednesday Gen.1” (ที่ว่ากันว่าที่มาของชื่อเกี่ยวข้องกับวันหยุดพักที่วงไม่มีซ้อม) ในขณะที่เมื่ออยู่ในวงโยฯ เธอจะสลับไปทำหน้าที่ประจำในตำแหน่งไซโลโฟน…
“ทั้งสนุกและเหนื่อย…เหนื่อยแต่สนุกด้วย” ใครไม่ได้เป็นเด็กวงโยฯ ไม่มีทางรู้ว่าโอกาสที่ได้รับนอกห้องเรียน…จากห้องซ้อมนี้มีค่าขนาดไหน แน่นอนว่าเมื่อเป็น “เด็กกิจกรรม” จะได้ผ่านทั้งความลำบากในการซ้อมอย่างหนัก ได้ฝึกตัวเองให้เป็นผู้ใหญ่ในหลายๆ เรื่อง ไหนยังจะต้องรู้จักแบ่งเวลาให้ดี รักษาการเรียนไว้ให้ได้ พื้นที่แห่งเสียงดนตรีนี้จึงยังนับเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ทำให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดด้วย