Product

กระเป๋าป่านสารพัดสี
จากวิถีชาวบ้านสู่ผลิตภัณฑ์อินเทรนด์

วันเสาร์ มณฑาจันทร์ 17 Sep 2021
Views: 3,619

ทำมาจากป่านศรนารายณ์ค่ะเหมือนเสียงลอยผ่านหูไป เพราะสายตาเรายังจับจ้องที่กระเป๋าหลากสีสัน เชื่อเลยว่าคนรักงานคราฟต์มาเห็นมีบ้ากันไปข้างหนึ่งล่ะ และต่อให้บอกแล้วก็ว่าทำจากอะไรก็ยังนึกไม่ออกอยู่ดีว่าเจ้าต้นที่ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

เดินตามเขาไปดูในทุ่งกว้างเห็นพืชใบแหลมๆ เรียงราย ดูไปก็คล้ายๆ สับปะรดบวกกับว่านหางจระเข้ แต่ขนาดใหญ่กว่าเยอะนี่เหรอ! ป่านศรนารายณ์ ช่างเสาะหามาทำกันนะ ว่าแต่มันเอามาทำเป็นกระเป๋าได้ยังไงกัน

คนหุบกะพงมองหน้าเรายิ้มๆ ก่อนเล่าอย่างฉะฉาน ราวกับตอบคำถามนี้มาจนแทบจะท่องได้แล้ว

 

ของดีจากแดนไกล 

“ป่านศรนารายณ์เป็นพืชที่เรามักนำประดับแนวรั้วตามบ้านหรือไม่ก็เอามาดึงเป็นเส้นทำเป็นเชือกดึงสมอเรือตอนหลังเลยใส่ไอเดียเป็นผลิตภัณฑ์ให้กับชาวบ้านให้เป็นอาชีพเสริม” ณัฐระวี เดื่อมขันธ์มณี ประธานกลุ่มอาชีพสตรีจักสานป่านศรนารายณ์ เล่าให้ฟังพลางตัดใบป่านศรนารายณ์ไปเรื่อยๆ

ที่จริงแล้ว “ป่านศรนารายณ์” เป็นพืชพื้นถิ่นของเม็กซิโกทนแล้งทนแดดดี มีผู้นำเข้ามาในเมืองไทยนานละ เริ่มแรกอยู่ในพื้นที่แถวประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรีนี่ล่ะ 

ประโยชน์ข้อแรกที่เห็นได้ชัด คือเอามาปลูกตามรั้ว เพราะใบเขาจะแหลมๆ เรียวยาวเหมือนหอก มีหนามที่ปลายใบและขอบใบ กันผู้บุกรุกได้ในระดับหนึ่ง และคนแถวนั้นทำอาชีพประมงกันเยอะ จะนำเส้นใยของป่านศรนารายณ์มาฟั่นเกลียวเป็นเชือกที่ใช้ผูกสมอเรือ ว่ากันว่าเหนียว ทนทาน โดนน้ำแล้วจะยิ่งเหนียวกว่าเดิม ไม่เปื่อยและผุง่าย

“กระเป๋าในหนึ่ง ใช้ใบแบบนี้ประมาณ 120 ใบ” มองดูใบป่านศรนารายณ์ที่ตัดมา มีความกว้างประมาณ 5-13 เซนติเมตร แต่ยาวร่วมเมตรได้เลย  คนไทยเรานี่ช่างคิดนะ นำสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะสร้างเป็นของใช้ได้มาประดิษฐ์เป็นชิ้นงานที่มีมูลค่าจนได้

ฝีมือไทยไปทั่วโลก 

“เราจะใช้ค้อนทุบใบป่านศรนารายณ์ให้นิ่ม ก่อนที่จะเอาไปขูดหรือดึงด้วยไม้ไผ่ให้เป็นเส้นด้าย” เขาจะผ่าปลายไม้ไผ่ แล้วนำใบป่านที่ทุบจนนิ่มมาหนีบในร่องที่ผ่าไว้ แล้วออกแรงดึงให้เนื้อของใบหลุดออก เหลือแต่เส้นใยสีขาวๆ ฟังดูเหมือนง่ายแต่อุปสรรคคือความลื่นของใบป่าน กว่าจะได้เส้นใยครบ 120 ใบ เรี่ยวแรงจะหมดไปเสียก่อน

นึกย้อนไปปี 2517 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชกระแสรับสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมส่งเจ้าหน้าที่เข้าสอนงานหัตถกรรมจากป่านศรนารายณ์แก่ชาวบ้านหุบกะพง อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เขาก็เริ่มต้นทำเส้นใยจากป่านศรนารายณ์กันแบบนี้

“ได้ใยแล้วก็นำไปตากแดดผึ่งลมให้แห้ง แล้วก็นำมาถักเป็นเปีย” ถักเปียสาม คือ แบ่งป่านเป็น 3 ส่วนแล้วถักไขว้ไปมาเหมือนเวลาถักผมเปีย พูดง่ายๆ อีกแล้ว แต่คราวนี้ต้องใช้ฝืมือมนุษย์ล่ะ และการจะให้ได้เปียที่แน่นพอเหมาะ ไม่หลวมเกินไป ไม่แน่นเกินไป ต้องอาศัยการฝึกฝนมิใช่น้อย

ก็ถ้าใครๆ ก็ทำได้ มันจะเรียกงานฝีมือเหรอ!?!

หลังจากได้เปียเยอะพอแล้ว เขาจะนำไปย้อมสีตามแบบที่ได้ดีไซน์ไว้ เห็นว่าเป็นงานหัตถกรรมอย่าเพิ่งคิดว่าจะทำออกมาย้อนยุคตกเทรนด์ ช่างฝีมือชุมชนสมัยนี้มีการออกแบบได้สวยงามทันสมัย จนส่งออกไปไกลถึงเมืองนอกเมืองนาเลยล่ะ

พอย้อมสีและตากแดดให้แห้งแล้ว ก็จะนำไปเย็บให้เส้นเปียต่อกันเป็นผืน ขึ้นรูปมาเป็นกระเป๋า ลวดลายของกระเป๋าก็เกิดตอนนี้ล่ะ ว่าคนเย็บจะหยิบป่านสีอะไรมาเย็นต่อกับสีอะไร วางแบบให้เป็นลวดลายไหน กว่าจะเสร็จแต่ละใบอาศัยความอดทนพยายามสูงมาก

จากเสริมกลายเป็นหลัก

“พี่มีความรู้สึกภูมิใจที่ได้มาทำงานสานต่อผลงานของชาวบ้าน” พูดจากใจในฐานะคนที่ต้องแจกจ่ายงานไปสู่ชาวบ้านก่อนจะนำมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์และไม่ลืมที่จะขอบคุณโอกาสในการสนับสนุนจากคิงเพาเวอร์ที่ช่วยให้ไอเดียเพื่อที่ชุมชนจะต่อยอดผลงานเพื่อให้มีรายได้มากขึ้นชาวบ้านได้มีงานทำ 

“ชุมชนเราจากเล็กๆ ตอนนี้เติบโตขึ้นมาก” เธอกล่าวด้วยความยินดี

จากงานฝีมือที่ใช้วัสดุพื้นถิ่นที่มีความแข็งแรงทนทาน สามารถซักทำความสะอาดได้ สีไม่ตก ไม่ขึ้นรา ดีไซน์ร่วมสมัย เมื่อได้มีโอกาสไปอวดโฉมให้ชาวโลกได้รู้จัก ก็เริ่มจะฉุดไม่อยู่  จากอาชีพเสริมก็พัฒนามาเป็นอาชีพหลัก เริ่มมีเครื่องจักรมาช่วยดึงเส้นใยกันแล้ว

ถ้าย้อนกลับตอนที่พี่เขาตอบคำถามแรกว่า “ทำมาจากป่านศรนารายณ์ค่ะ” คำตอบนั้นมีน้ำเสียงภูมิใจเจืออยู่ ที่คนไม่เคยรู้เรื่องรู้ราวอย่างเรา จะเข้าใจก็ต่อเมื่อได้ลองใช้ผลิตภัณฑ์นี้แล้วเท่านั้น

 

ผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ (กลุ่มอาชีพสตรีจักสานป่านศรนารายณ์)

ที่ตั้ง : 25 หมู่8 ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี 76120

 

Facebook: ARAYA 

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: ARAYA

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็คอินแชะรูปท่องเที่ยวใกล้เคียง 

• ศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกระพง แหล่งศึกษาเพื่อนำกลับไปพัฒนาอาชีพ ทั้งในด้านการเกษตร การประยุกต์ใช้เครื่องจักรเพื่อการเกษตร การเลี้ยงโคนม รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์

• Street Art เพชรบุรี ในชุมชนซิยตลาดริมน้ำเพชรบุรี ที่ส่วนใหญ่เป็นตึกแถวโบราณ เป็นชุมชนการค้าดั้งเดิม เขาได้จัดให้เป็นพื้นที่ศึกษาเรื่องราวชุมชน สัมผัสวิถีชีวิตชาวตลาดเมืองเพชร และมีภาพวาด Street Art สวย ๆ .ให้ได้บันทึกความทรงจำกันอีกด้วย

• ป่าชายเลนแหลมผักเบี้ย มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติในป่าชายเลนที่ยังอุดมสมบูรณ์ เส้นทางยาว 850 เมตร จากชายป่าไปจนถึงปากอ่าว ที่สำคัญ คนชอบดูนกไม่ควรพลาด

Author

วันเสาร์ มณฑาจันทร์

Author

นักเขียนอิสระ แม้จะร่ำเรียนมาทางด้านภาพยนตร์แต่นอกจากถ่ายภาพและเขียนหนังสือแล้ว ยังสนใจเรื่องการทำอาหารและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากเป็นพิเศษ

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก