“คำชมคือคำฆ่าคน” บทเรียนที่เกือบทำให้วันนี้ไม่มี ก็อปปี้ จักรกฤษณ์ วิเศษรัตน์ ผู้รักษาประตูของสโมสรฟุตบอลคัสตอม ลาดกระบัง ยูไนเต็ด แห่งไทยลีก 2 …ถ้าไม่ได้ Fox Hunt มาพลิกวิกฤตกู้ชีพนักเตะอนาคตไกลให้รอดพ้นจากการจมดิ่งในวังวนของกระแสแห่งคำเยินยอ หรือใช้คำเข้าใจง่ายว่า “เหลิง” นั่นแหละ! …แบบเกือบจะไม่ได้ไปต่อแล้ว แต่ที่สุดเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นนักเตะผู้รอดตายจากการจมหายไปในคำชมได้สำเร็จ
“จังหวะที่ได้ขึ้นไปฝึกซ้อมกับ แคสเปอร์ ชไมเคิล คือช่วงที่หาไม่มีอีกแล้ว ไม่รู้ว่ามีเงินสัก 10 ล้านจะซื้อกลับมาได้หรือเปล่า…ผมตั้งเป้าหมายเล็กไว้ว่า อยากอัพตัวเองขึ้นไปอีกระดับเพื่อช่วยทีมให้ดีที่สุด และยังอยากกลับไปเล่นลีกใหญ่ในต่างประเทศอีกครั้ง…” – จักรกฤษณ์ วิเศษรัตน์ กับ “เป้าหมายจากความรักในกีฬาฟุตบอล”
เราเห็นเขาจาก “บุกสนาม” รายการยอดนิยมทางช่องยูทูบ หนุ่มนักบอลมาดกวน อารมณ์ดี ช่างคุย และทำให้คนดูอมยิ้มได้ แน่นอนว่าเขามีออร่าแห่งความเป็นนักกีฬาอาชีพที่ถ้าใครได้ชมลีลาจากในสนามแข่งของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเซฟลูกอยู่หน้าประตูในการแข่งขันครั้งต่างๆ คือความจริงจังในบอลสายอาชีพขั้นสุดของหนุ่มคนนี้
Thaipower.co อยากพาไปทำความรู้จักกับนายทวารหนุ่มอนาคตดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสจากการได้เป็น “Fox Hunt รุ่น 1” ที่ได้เปลี่ยนชีวิตด้วยการไปเทรนถึงอังกฤษ ซึ่งไม่ใช่แค่ “รัก” ในการเล่นบอล แต่ฟุตบอลเปลี่ยนชีวิตของเขา ความรักและหลงใหลในการเป็นนักกีฬาฟุตบอลในตำแหน่งนายทวารจาก “เด็กติดเกม” ของเขา…ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
จากเกมเลิฟเวอร์ สู่ฟุตบอลเพลเยอร์
ถ้าสูตรสำเร็จของนักฟุตบอลมากความสามารถ = แฟนบอลตัวยง + พรสวรรค์ + การฝึกฝน สารตั้งต้นของ ก็อปปี้ จักรกฤษณ์ วิเศษรัตน์ เรียกได้ว่าแตกต่างจากสูตรยอดนิยมนี้นิดหน่อย
เขาไม่ใช่เด็กชายผู้คลั่งไคล้ในเกมลูกหนัง แต่ในวัยเดียวกันกับเพื่อนร่วมรุ่นที่ใฝ่ฝันเป็นนักฟุตบอลนั้น เขากำลังสนุกกับเกมหน้าจออย่างเต็มที่ “ช่วงเด็กๆ ผมติดเกม พอเลิกเรียนจะกลับบ้านเลย เพื่อไปเล่นเกม ไม่ลุกไปไหน แม่ก็บ่นว่าผมไม่ค่อยมีสังคมกับเพื่อนเลย พอดีว่ามีเพื่อนที่เขาเตะฟุตบอลตอนเย็นกัน เพื่อนก็ชวนไปทุกวันนะ แต่ผมไม่ไปเพราะติดเกม จนถึงจุดที่เล่นเกมจนเบื่อแล้ว อยากเอาตัวเองออกจากสังคมที่ติดเกมด้วย ทำให้อยากเปลี่ยนบรรยากาศไปเล่นบอลกับเพื่อน พอไปเตะก็รู้ว่ามันก็สนุกดีนะ อาจจะเพราะได้เจอเพื่อน ได้เล่นด้วยกัน ผมว่าจุดเริ่มต้นของการเล่นฟุตบอลมาจากตรงนั้นแหละ จากเลิกเรียนกลับบ้านเล่นเกม กลายเป็นเลิกเรียนไปสนามบอล ชุดนักเรียนยังไม่เปลี่ยนเลย ถอดรองเท้าเตะบอลกับเพื่อน จน 5-6 โมงค่อยกลับบ้าน ตอนนั้นมันสนุกมากกว่า…ไม่ได้คิดอะไรว่าจะเป็นนักบอลหรืออะไร”
จากความสนุกสู่การเป็นตัวจริง
ก็อปปี้เล่นฟุตบอลด้วยความสนุก หากแต่ความสามารถที่มีอยู่ในตัว ส่งให้เขาเลื่อนขั้นมาเป็นนักเตะที่โรงเรียนในเวลาอันรวดเร็ว “ผมเริ่มจริงจังกับฟุตบอลหลังจากติดทีมโรงเรียน เป็นตัวแทนเขต แล้วก็เป็นตัวแทนจังหวัดยโสธร ทำให้มีโอกาสได้ซ้อมกับทีมโรงเรียนบ้านกุดแห จังหวัดยโสธร ซึ่งมีการฝึกซ้อมเป็นระบบขึ้น มีเทคนิคมากขึ้น สอนในชั้นเชิงของฟุตบอลมากขึ้น ผมก็รู้สึกว่ามันสนุกท้าทายดี ตรงนั้นคือจุดเปลี่ยนที่ว่าผมอยากไปต่ออย่างจริงจัง และเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมอยากเป็นนักฟุตบอลตัวจริง ถึงขั้นอยากไปค้าแข้งที่ต่างประเทศเลย”
หลังจากนั้นชีวิตของเขาจึงทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมและการลงแข่ง จนคว้าโอกาสแรกสู่เส้นทางนักฟุตบอลตัวจริง
“ตอนนั้นเริ่มมีหลายโรงเรียนจะให้ทุนนักกีฬา ผมอยากลองออกจากจังหวัดดู เลยคุยกับโค้ชว่ามีทุนให้ไปเรียนในกรุงเทพฯ บ้างไหม โค้ชถามว่าไปจริงไหม ผมบอกว่าถ้ามีโอกาส ผมไปนะ โค้ชว่าพรุ่งนี้ให้รอรับโทรศัพท์ พอประมาณ 10 โมงกว่าเขาโทรมาบอกให้ผมเตรียมของ…เข้ากรุงเทพฯ วันนี้เลย เป็นสถานการณ์ที่ปุบปับมาก จนผมไม่กล้าคุยกับพ่อแม่เอง โค้ชเลยโทรไปคุยให้ สัก 10-15 นาที พ่อก็โทรกลับมา ให้เตรียมของจะไปส่งที่บขส. ผมเก็บกระเป๋าขึ้นรถไปคนเดียวเลย”
การตัดสินใจอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดในวันเดียวของเด็กชายวัย 13 ปี เปลี่ยนสถานะจากเด็กยโสธรสู่การเป็นนักเรียนทุนในกรุงเทพฯ “ผมมาเป็นนักเรียนทุนของโรงเรียนประเทืองทิพย์ ชีวิตเปลี่ยนไปคนละเรื่องเลย ได้เจอความเข้มข้นของการฝึกซ้อม การแข่งขัน และความเข้มข้นของนักกีฬาที่แตกต่างจากยโสธร ที่นี่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เป้าหมายของแต่ละคนคือ ปีนี้ต้องเป็นแชมป์ ซ้อมวันนี้ต้องดีที่สุด วันนี้ต้องชนะ โรงเรียนนี้แพ้ไม่ได้ ต้องพุ่งชนทุกเป้าหมาย ผมเลยรู้สึกว่ามันต้องมุ่งมั่น”
“ตอนมาแรกๆ ผมยังอ้วน น้ำหนัก 85-86 กิโล โดนจับวิ่งทุกวันตั้งแต่ตี 5 คนอื่นซ้อมบอลแต่ผมต้องวิ่งให้ครบ ช่วงนั้นเหนื่อยมาก ซ้อมหนักมาก หนักจนคิดอยากกลับบ้าน ผมไม่เคยมาอยู่ไกลขนาดนี้ด้วย เป็นท้อแบบเหนื่อย อยากขอพัก ผมใช้เวลา 3 เดือน วิ่ง ซ้อม และวิ่ง กว่าจะผ่านมาได้ และได้เป็นหนึ่งในทีม ต่อจากนั้นก็ยังคงซ้อมอย่างเดียวและอย่างหนัก จนในที่สุดก็สร้างความภูมิใจ เราได้แชมป์ พาทีมขึ้นมาเล่นถ้วย ก.”
Suggestion
ประตูสู่อนาคตที่เปิดเองกับมือ และเกือบจะปิดลงด้วยมือตัวเอง
จากความสำเร็จก้าวแรก เปิดทางให้ก็อปปี้เข้าสู่รั้วสู่สถาบันการศึกษาที่เข้มข้นยิ่งกว่าเดิม
“ตอนนั้นผมอยากท้าทายตัวเองไปในที่ที่ใหญ่ขึ้น ผมรู้ข่าวว่าจากพี่สาวที่สอนอยู่กรุงเทพคริสเตียนว่าเขาจะเปิดคัดตัว เลยไปลองดู ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปคัดตัวหลายๆ ที่ แต่พอได้กรุงเทพคริสเตียนที่แรกผมก็ไม่ไปไหนเลย ก็ย้ายมาเป็นนักเรียนทุนของกรุงเทพคริสเตียนตอนอายุ 15”
ก็อปปี้ย้ายมาเพื่อเจอกับความท้าทายที่ว่าไว้อย่างแท้จริง ในโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าเป็นแถวหน้าของวงการลูกหนังขาสั้น “วันแรกที่เข้าไปก็รู้สึกว่าโรงเรียนใหญ่มาก บรรยากาศดี น่าอยู่ ทุกอย่างดูดีหมด แต่ไปซ้อมวันแรกก็โดนเด็กอายุ 14 ที่เด็กกว่าเราตอนนั้น ยิงลอดแขนลอดขาเข้าไปง่ายๆ เพื่อนร่วมทีมเลยหาว่าผมเป็นเด็กเส้นเพราะพี่สาวเป็นครูอยู่ที่นี่ ผมเป็นคนใจร้อน แต่ต้องเก็บอารมณ์ เพราะผมจะทำให้พี่ซึ่งสอนอยู่ที่นี่…ขายหน้าไม่ได้ ถ้าเกิดเรื่องแล้วผมโดนไล่ออก จะเสียโอกาสสำคัญ นั่นคือแรงผลักดันที่ดีที่สุด ณ ตอนนั้นเลย ผมก็ใช้แนวคิดเดิมคือซ้อมอย่างเดียว ไม่สนคำพูดของใคร ใครให้ทำอะไรก็ทำ ไม่ตอแย”
ในที่สุดการเป็นนักสู้ที่ไม่เคยถอย ก็ทำให้ผลงานของก็อปปี้เข้าตาโค้ช
“ตอนนั้นที่โรงเรียนมีผู้รักษาประตูเพียงคนเดียว โค้ชเลยใส่รายชื่อผมไปเป็นสำรอง ผมก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เล่นหรอก บังเอิญนายประตูคนนั้นเขาพลาดบ่อย โค้ชเลยลองใช้ผมดู ผมก็ใช้มาตรฐานเดิมของผมที่ผ่านมา จนได้ลงเล่นสลับกับผู้รักษาประตูอีกคน ผมเริ่มมีโอกาสมากขึ้นจนคิดว่ายึด 11 ตัวจริงได้แล้ว”
ทุกอย่างที่ดูเหมือนกำลังจะเริ่มเข้าที่ กลับแฉลบไปลงข้างทาง “ตอนรอบ 4 ทีม เราเจอกับทีมโรงเรียนสตรีวิทย์ แมตช์ที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมเริ่มมีอีโก้ เริ่มเหลิง เพราะคิดว่าตัวเองทำผลงานดี วันนั้นจบ 90 นาทีที่เสมอกัน ต้องดวลจุดโทษเพื่อหาทีมเข้ารอบชิง ผมเซฟไป 3 ลูก…พาทีมเข้ารอบชิงได้ มีข่าวของผมคนเดียวลงหนังสือพิมพ์ คนเริ่มรู้จักมากขึ้น คนเริ่มทัก ได้รับคำชม ทำให้ผมรู้สึกภูมิใจกับมันมากเกินไป จนทำให้แนวความคิดที่ผมเคยมีมา…มันหายไป”
ที่ผมคิดตอนนั้นคือ โอ๊ยวิ่งอีกแล้ว เบื่อ เริ่มมีความคิดลบๆ เวลามีคนเตือนก็ว่าคนอื่นไม่ต้องมายุ่ง ผมมีนิสัยแย่ลง รู้ตัวอีกทีก็คือนั่งสำรองไป 6 เดือน ตอนที่นั่งสำรองก็ยังคิดว่า โค้ชเขาให้พัก เดี๋ยวแมตช์หน้าเขาก็ใช้ ตอนนั้นยังไม่รู้ตัว
ผมยอมรับว่าตอนนั้นผมมีแนวคิดที่แย่มาก กว่าผมจะนึกถึงคำสอนของปู่ที่บอกผมว่า “เป็นนักกีฬาจำไว้นะ อย่าเหลิงกับคำชม” ก็สายไปแล้ว ที่โรงเรียนไม่มีที่ให้ผมอีกแล้ว สถานการณ์ของผมตอนนั้นคือ หนึ่งคือโค้ชไม่ชอบ สองคือคนมาใหม่ดีกว่าผม สามคือไม่มีโอกาสแล้ว อยู่ต่อก็คงยาก ผมตัดสินใจย้ายโรงเรียน”
หน่วยกู้ชีพเยาวชนจิ้งจอกสยาม
เมื่อก็อปปี้รู้ตัวว่าโอกาสที่เคยจับไว้กำลังจะหลุดมือ เขาตัดสินใจไขว่คว้าหาโอกาสใหม่
“สถานการณ์ที่ผมอยากย้ายทีม บังเอิญกับที่ผมไปเจอโครงการ Fox Hunt โดยกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ผมเป็นคนเด็ดขาดกับการตัดสินใจของตัวเอง เลยขอออกจากแคมป์เก็บตัวของโรงเรียน ผมไปบอกโค้ชว่าจะไปคัดตัวโครงการนี้ เขาก็ให้ผมมา พี่สาวผมก็พาไปคัดตัวที่สนาม SCG เมืองทอง ผลรอบแรกได้รู้วันนั้นเลย ว่าผมเป็นตัวแทน 1 ใน 50 ของสนามนั้น เป็นตัวแทนในโซนกทม. ตอนนั้นก็ยังไม่รู้สึกว่าจะรอด เพราะติดแค่ 1 ใน 50 ของเขตกทม. แต่โครงการนี้คัดทั่วประเทศ ตัวผมไม่มีเป้าหมายเลย คิดแค่ว่ามาลองดู แต่ทำอย่างเต็มที่กับมัน ได้หรือไม่ได้ก็จะไม่เสียใจ”
“โครงการจะคัดเอา 16 คน พอประกาศรายชื่อแล้วตำแหน่งผู้รักษาประตูออกไปแล้ว ผมก็ถอดใจ…คงไม่ได้ไปแล้ว ผมไม่คิดว่าเขาจะเลือกผู้รักษาประตูไป 2 คนหรอก แต่จนถึงรายชื่อสุดท้ายพิธีกรประกาศเป็นผมซึ่งยังกำมือลุ้นอยู่เลย จนเพื่อนสะกิดว่าเป็นชื่อผม ผมนี่ลุกขึ้นไหว้ 8 ทิศเลย ดีใจมาก จากที่เหนื่อยมาก ความเหนื่อยนั้นหายไปหมดเลยตอนได้ยินชื่อที่ถูกประกาศ ดีใจจนน้ำตาไหล คืนนั้นก็โทรบอกทางบ้านเลยว่า ผมได้ไปอังกฤษนะ ที่บ้านยังไม่เชื่อเลย”
อังกฤษพิชิตฝัน
“ตั้งแต่วันแรกที่ลงเครื่องที่อังกฤษ ก็ปรับตัวลำบากหน่อย ทั้งอากาศ อาหาร ที่หนักก็คือภาษา ผมไปจากศูนย์เลย สำหรับคนอย่างผม เรื่องภาษาก็คือหนักสำหรับตอนนั้น มันยากคนละอย่างกับวิธีการเล่นฟุตบอล ถ้าเป็นฟุตบอลเราก็แค่ทำงานหนัก ทำผลงานให้โค้ชเห็น แต่ว่าเรื่องอากาศ อาหาร ภาษา คือการต้องปรับตัวให้ได้
สิ่งที่ผมทำตอนนั้นคือ เอาความกล้ามาใช้ ผมต้องกล้าพูด ไม่กลัวที่จะพูดผิด ขอครูฝึกย้ายหอมาอยู่ตึกนักเรียนต่างชาติเลย เพื่อนที่โน่นก็คอยช่วยด้วย เพื่อนต่างชาติช่วยเรื่องภาษา สำคัญคือเราอย่าไปกลัวผิดพลาด ทำให้เต็มที่”
ใช่แล้ว “เต็มที่” คำที่เขาใช้กับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการฝึกฟุตบอลด้วยเช่นกัน
“ที่โน่นสอนความเป็นมืออาชีพ คุณต้องรู้ว่าจะทำอย่างไร ต้องมีความรับผิดชอบ มีวินัย มีอะไรบ้างที่ต้องรับผิดชอบ วินัยที่ควรมีคืออะไร ที่ยากที่สุดคือ จะทำได้หรือเปล่า” Fox Hunt ไม่เพียงให้โอกาส แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้นักเตะผู้นี้
“จังหวะที่ได้ขึ้นไปฝึกซ้อมกับ แคสเปอร์ ชไมเคิล คือช่วงที่ว้าวมาก เซอร์ไพรส์มาก และหาไม่มีอีกแล้ว ไม่รู้ว่ามีเงินสัก 10 ล้านจะซื้อกลับมาได้หรือเปล่า
ตอนนั้นผมกำลังได้ไปซ้อมกับรุ่น U-18 ได้ไปลงแข่ง ได้ขึ้นไปซ้อมกับ U-23 โค้ชในสโมสรอาจจะเห็นว่าเด็กคนนี้มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท กล้าเล่น กล้าทำ เลยลองให้ขึ้นไปซ้อมกับทีมเลสเตอร์ทีมใหญ่ดู เป็นการซ้อมในส่วนผู้รักษาประตูนะ
ตอนที่โค้ชทีมเดินมาบอกว่าให้ผมไปซ้อมประตูกับ First Team ผมยังไม่เชื่อเลย ให้ไปตอนนี้เลย ผมตื่นเต้นมาก สมาธิหลุด นี่เรายืนอยู่ข้างๆ แคสเปอร์เลยนะ พอได้ไปสัมผัสความเป็นแคสเปอร์ เขาเลยเป็นหนึ่งในไอดอลของผม ผมชอบเขาจากที่ได้เห็นจากการซ้อม จากการแข่ง เขาจะทำลูกยากๆ ให้เป็นลูกง่ายๆ อาจจะเพราะประสบการณ์สูงแล้ว การซ้อมของเขาเลยดูเนียน ผมเลยรู้สึกว่าสุดยอดเลย ระดับนี้เขาถึงเรียกว่าระดับโลก”
สองปีครึ่งในอังกฤษ ก็อปปี้กลับบ้านมาพร้อมกับความภูมิใจ นอกจากการเรียนรู้ในอะคาเดมี่ของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ชุด U-19 เขายังได้ลงแข่งในนาม เลสเตอร์ ซิตี้ U-19 กับ แมนฯ ซิตี้ U-19 ได้ไปซ้อมกับทีมชุด U-21 และ U-25 ได้ฝึกซ้อมกับทีมชุดใหญ่ ได้ไปยืนอยู่ระหว่าง แคสเปอร์ ชไมเคิล และ มาร์ค ซวาร์เซอร์ แล้วก็มี เบน ฮาเมอร์ สามผู้รักษาประตูของทีมดังแห่งพรีเมียร์ลีก
สู่เป้าหมายนักบอลอาชีพ
หลังจากกลับมาเมืองไทยพร้อมพลังใจที่ชาร์จมาเต็มพิกัด ก็อปปี้ ก็ได้เริ่มต้นฐานะการเป็นนักฟุตบอลอาชีพอย่างเต็มตัว จนถึงวันนี้ที่เขากำลังสู้อย่างเต็มที่อีกครั้งกับเพื่อนร่วมที่สโมสรคัสตอม ลาดกระบัง ยูไนเต็ด แห่งไทยลีก 2
“ผมตั้งเป้าหมายเล็กไว้ว่า ฤดูกาลนี้ผมอยากทำให้ดีที่สุด จากการเป็นผู้รักษาประตูมือ 3 ของทีม เป้าหมายก็คือต้องแข่งกับมือ 2 เพื่อแย่งชิงตำแหน่งกันลงไปเล่นในสนาม ดังนั้นเป้าหมายเล็กแรกของผมก็คืออัพตัวเองขึ้นไปอีกระดับ ช่วยทีมให้ดีที่สุด แต่ถ้าถามถึงเป้าหมายใหญ่ ผมก็อยากกลับไปเล่นลีกใหญ่ในต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เป้าหมายต่อไปคืออยากติดทีมชาติ ผมก็คิดว่าถ้าอะไรทุกอย่างมันดีไปหมด ผลงานดีในไทยลีก ได้เล่นต่างประเทศ เรื่องทีมชาติผมก็คงมีโอกาส”
นาทีนี้นับได้ว่า ก็อปปี้ คือรุ่นพี่ Fox Hunt ที่พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า การฟันฝ่าทุกอุปสรรคเพื่อทะยานสู่เป้าหมายหลักของชีวิตเป็นอย่างไร
“มีเป้าหมายนั้นดี แต่อย่าลืมความสนุกระหว่างทางที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น สนุกไปกับฟุตบอล อย่าท้อ ต้องตั้งใจ ผมคิดว่าทุกคนคงรู้แล้ว อีกคำแนะนำที่อยากฝากไว้เลยคือ “คำชมคือคำฆ่าคน” ผมโดนมาแล้ว คำชมมันดี เราทุกคนอยากได้คำชม แต่อย่าเอามาทำให้เราภูมิใจมากเกินไป จนทำให้เราลืมตัวจนหยิ่งผยอง ทุกคนมั่นใจได้ แต่ไม่ใช่หลงระเริง”
ผลงานฟุตบอลของจักรกฤษณ์ วิเศษรัตน์
2021
สโมสรคัสตอม ลาดกระบัง ยูไนเต็ด
2020
สโมสรสุราษฎร์ธานี ซิตี้
2019
สโมสรสุราษฎร์ธานี ซิตี้
ไทยลีก
– ลงสนาม 19 นัด
– สำรอง 3 นัด
รวมเวลา 1,799 นาที
เก็บได้ 10 คลีนชีท
ลีก คัพ
– ลงสนาม 1 นัด
– สำรอง 4 นัด
รวมเวลา 90 นาที
เอฟเอ คัพ
– สำรอง 1 นัด
2018
สโมสรโปลิศ เทโร เอฟซี
2015 – 2017
ฝึกกับสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ประเทศอังกฤษ