People

ชัยวัฒน์ ศรีเทศ
ต่อให้ยืนเป็นคนสุดท้าย
ก็จะทำให้มะขามหวานไทย
เป็นที่ยอมรับทั่วโลกให้ได้

โยธิน อยู่จงดี 9 May 2022
Views: 575

มะขามแบบแกะเปลือกพร้อมรับประทาน ที่วางจำหน่ายอยู่ในชั้นวางสินค้าของ คิง เพาเวอร์ เป็นผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ ไนน์ แทมมะรินด์ ภายใต้การนำของผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง ชัยวัฒน์ ศรีเทศ ที่มีเป้าหมายในการทำให้มะขามหวานเพชรบูรณ์ของประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับจากทั่วโลก

มะขามหวานอาจเป็นผลไม้ไทยที่เรารู้จักกันดี สำหรับต่างชาติแล้ว มะขามอาจเป็นผลไม้ไม่คุ้นชินแต่หากได้ลองลิ้มรสหวานอมเปรี้ยวแบบไม่เหมือนรสชาติจากผลไม้ชนิดไหนแค่สักครั้ง อาจได้ติดใจ…มีซื้อหาติดมือกลับประเทศกันไปแทบทุกราย

“ผมอยากให้มะขามหวานเพชรบูรณ์ เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก…ให้พวกเขาหลงรักมะขามหวาน

แบบที่พวกเรายอมรับผลไม้เมืองหนาว อย่างสตรอว์เบอร์รีหรือแอปเปิล…”

ชัยวัฒน์ ศรีเทศ – ไนน์ แทมมะรินด์

 

จากนักการเงิน สู่ผู้บริหารธุรกิจมะขามแปรรูป

ชัยวัฒน์ เป็นชาวเพชรบูรณ์โดยกำเนิด ครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของไร่มะขามหวานพันธุ์สีชมพู พันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมที่ปลูกได้เฉพาะที่จังหวัดนี้เท่านั้น ในฤดูหนาวของทุกปีมะขามหวานจากสวนศรีเทศจะถูกส่งขายไปทั่วประเทศผ่านพ่อค้าคนกลาง

ความฝันแรกของเขาคือการทำงานด้านการเงิน เขาเรียนจบหลักสูตรบริหารธุรกิจ การเงิน การธนาคาร จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เข้าทำงานในธนาคารกสิกรไทย (สำนักงานใหญ่) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย

เรียกได้ว่าเป็นนักบริหารการเงินที่มีโอกาสเติบโตเป็นผู้บริหารในองค์กร แต่สุดท้ายในปี พ.ศ. 2548 เขาก็ลาออกมาก่อตั้ง บริษัท ไนน์ แทมมะรินด์ จำกัด เพื่อทำการแปรรูปมะขามสดและส่งขายไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ เพราะพบเห็นปัญหาหลายอย่างที่เขาคิดว่าด้วยความรู้ความสามารถที่เขามีจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ครอบครัวและพี่น้องชาวสวนมะขามหวานในละแวกชุมชนได้

“หลังจากที่ผมตัดสินใจลาออกมาทำอย่างเต็มตัว เป้าหมายของผมไม่ใช่เพียงแค่ช่วยเหลือเกษตรกรให้หลุดพ้นจากการกดราคาผลผลิตเท่านั้น แต่อยากให้มะขามหวานเพชรบูรณ์ของดีบ้านเกิดของผม เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกว่ามะขามหวานพันธุ์สีชมพูของเรานั้นอร่อยแค่ไหน ให้พวกเขารู้จักและหลงรักมะขามหวาน แบบที่พวกเรายอมรับผลไม้เมืองหนาวอย่างสตรอว์เบอร์รีหรือแอปเปิล…”

ชัยวัฒน์เล่าถึงเป้าหมายระยะยาวในเส้นทางที่ชีวิตที่ตัวเขาเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้มาทำธุรกิจมะขามรับช่วงต่อจากคุณพ่อ หลังจากที่เขาเบนเข็มชีวิตไปเป็นนักการเงินที่สถาบันการเงินที่มีอนาคตที่ดีไม่แพ้กัน

 

✔ เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ แต่เดินอย่างต่อเนื่อง
จะไม่มีคำว่าไกลหากเราเริ่มก้าวเดิน

เริ่มจากแก้ปัญหาเล็กๆ ไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า

ย้อนกลับไปประมาณปี พ.ศ. 2535 สมัยนั้นการซื้อขายมะขามยังอยู่เป็นแบบซื้อขายกันทั้งฝัก และใช้ระบบพ่อค้าคนกลาง เกษตรกรยังไม่มีการลงทุนเรื่องการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า มะขามจะมีช่วงฤดูกาลออกผลผลิตในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเดียวที่มะขามพันธุ์สีชมพูจะมีผลผลิตออกมา ทำให้ผลผลิตออกมามากในช่วงเดียวกันทั้งจังหวัด และเป็นส่วนหนึ่งที่มะขามหวานราคาตก

วิธีหนึ่งที่นิยมกันมากที่สุดในการตกลงซื้อขายมะขามกับพ่อค้าคนกลางคือการถูกขอซื้อในราคา 2 แสนบาท (ราคาสมมติ) โดยจ่ายมัดจำให้เกษตรกรก่อน 5 หมื่นบาท เงินที่เหลือจะมาจ่ายให้เมื่อขายของได้ แต่เมื่อพ่อค้าเอาไปขายไม่ได้ เกษตรกรเลยจะไม่ได้รับการจ่ายเงินส่วนที่เหลือ เพราะพ่อค้าจะยอมให้เจ้าของสวนยึดเงินมัดจำก้อนนั้นไว้แล้วทิ้งภาระผลผลิตส่วนที่เหลือไว้กับสวน ซึ่งปัญหาใหญ่คือเกษตรกรไม่รู้แหล่งปล่อยสินค้า ไม่มีกำลังคนหรือเครื่องจักรที่จะแปรรูปสินค้า เพราะไม่มีความรู้หรือความพร้อมในการเก็บผลผลิตด้วย

“ตอนนั้นผมยังทำงานในสถาบันการเงินเป็นพนักงานบริษัท สิ่งที่ผมคิดช่วยเหลือสวนของคุณพ่อและเพื่อนบ้านในชุมชนช่วงเวลานั้น คือการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาราคาสินค้า โดยการสร้างห้องเย็นสำหรับเก็บผลผลิตที่ยังขายออกไม่ได้ และด้วยความที่ผมยังมีงานประจำที่ต้องรับผิดชอบ จึงยังไม่ได้คิดต่อยอดมาถึงการนำมาแปรรูป หรือเปลี่ยนให้เป็นสินค้าอื่น ใช้วิธีการเก็บสินค้าและทยอยปล่อยขายเมื่อได้ราคาที่ต้องการ แบบนี้ชาวสวนมะขามหวานก็ไม่ขาดทุน ผู้บริโภคก็สามารถหาซื้อมะขามหวานคุณภาพมารับประทานได้ตลอดทั้งปี”

 

เรียนรู้จากปัญหา…แก้ไขและพัฒนาให้ดีกว่าเดิม

ในช่วงแรกของการเริ่มสร้างห้องเย็นเพื่อเก็บผลผลิต ชัยวัฒน์ ใช้วิธีการปล่อยสินค้าด้วยการนำมะขามจากสวนมาขายที่กรุงเทพฯ ในย่านสำนักงานใจกลางเมือง ขายให้กับเพื่อนร่วมงานหรือคนรู้จัก ใช้การสั่งซื้อรวมเป็นออร์เดอร์แล้วเอาลงมาจำหน่าย เพราะช่วงแรกยังไม่รู้ว่าเก็บแล้วจะเอาไปปล่อยขายที่ตลาดไหน พอใกล้ครบปีที่ผลผลิตรอบใหม่จะออกมา ผลผลิตเก่ายังเก็บอยู่ในห้องเย็นก็ต้องรีบปล่อยขายด้วยวิธีง่ายๆ คือการขายจากเจ้าของสวนถึงมือผู้บริโภคโดยตรง จนกระทั่งวันที่แม่บ้านสำนักงานเดินมาบอกสิ่งหนึ่งกับเขา

 

✔ การรับฟังความเห็นจากลูกค้า
จะช่วยให้เรามีไอเดียปรับปรุงสินค้าได้

 

“ช่วงที่ผมนำลงมาขายให้กับเพื่อนพนักงานก็ได้รับการตอบรับที่ดี แต่ภาพหลังการขายหลังจากนั้นคือมีเปลือกและเมล็ดร่วงหล่นเต็มพื้นไปหมด คุณป้าแม่บ้านเดินมาบอกกับผมว่า อยากให้ผมเอามะขามหวานแบบแกะเปลือกมาขายมากกว่า คุณป้าไม่ไหวกับการเก็บกวาดขยะหลังรับประทานมะขาม ช่วยบอกให้คุณแม่ทำแบบแกะเปลือกมาขายได้ไหม จะสะดวกทั้งคนซื้อและคนเก็บกวาดด้วย เวลากินก็ดูดี ไม่เลอะมือ ไม่เสียเวลาเก็บกวาด นั่นเลยเป็นที่มาของการแปรรูปเป็นมะขามแบบแกะเปลือกแกะเมล็ด และเป็นจุดเริ่มต้นของการทำแบรนด์ ไนน์ แทมมะรินด์ ในเวลาต่อมา”

หลังจาก ชัยวัฒน์ ได้รับคอมเมนต์จากลูกค้าเขากลับไปปรึกษากับครอบครัว และเริ่มจ้างชาวสวนในละแวกบ้านเกษตรกร ลุง ป้า น้า อา…มาแกะเปลือกมะขาม ทำกันเป็นอาชีพเสริมอย่างจริงจัง นอกจากจะทำให้ชาวบ้านได้มีรายได้เสริมด้วยแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ระบายมะขามหวานออกจาก
สต๊อกได้ง่ายขึ้น และกลายเป็นสินค้ายอดนิยมของ ไนน์ แทมมะรินด์

“ตอนที่เราตั้งชื่อ ไนน์ แทมมะรินด์ ที่จริงเราพยายามตั้งชื่อว่า นายมะขาม แต่พอจดทะเบียนการค้าเป็นภาษา อังกฤษ คำว่า “นาย” จะสะกดคล้ายคำว่า “Nine” ที่แปลว่าเลข 9 ชื่อ นายมะขาม เลยกลายเป็น ‘Nine Tamarind’ เป็นชื่อที่จดจำได้ง่าย ประกอบกับเป้าหมายใหม่ของผมในช่วงเวลานั้นคือ อยากทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักจากมะขามหวานของดีจากจังหวัดเพชรบูรณ์มากขึ้น จึงมองหาช่องทางจำหน่ายสินค้า ด้วยการฝากวางจำหน่ายสินค้าในศูนย์การค้าต่างๆ มีออกงานแสดงสินค้า และเราก็โชคดีที่ทาง คิง เพาเวอร์ ให้โอกาสนำสินค้าของเราไปวางจำหน่าย ทำให้เป้าหมายของเราชัดเจนและมีความหวังมากขึ้น”

 

✔ ทุกวิกฤตสร้างโอกาส…
ให้เราพัฒนาสิ่งที่เรามีไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ

 

ความสุขที่ได้เห็นทุกคนมีความสุขในบ้านเกิด

หลังจากเปิดตัว ไนน์ แทมมะรินด์ มะขามหวานแบบแกะเปลือก ยอดการสั่งซื้อสินค้ามีเข้ามาจนผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ พนักงานซึ่งเป็นชาวบ้านในชุมชนกว่า 100 ชีวิตต้องแกะมะขามให้ได้เดือนละ 1 ตัน การแกะเปลือกมะขามจะต้องใช้มือคนแกะ เพื่อให้ได้เนื้อมะขามที่มีความสวยงาม ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ดังนั้นพวกเขาคือบุคลากรที่หายาก และเรียกว่ายังต้องแกะมะขามจนลายนิ้วมือหายหมด!

แม้จะเคยพยายามหาเครื่องจักรมาช่วยงานแกะเปลือกมะขาม เพื่อช่วยผ่อนแรงให้กับพนักงาน แต่ไม่มีสถาบันเทคโนโลยีที่ไหนสามารถทำได้สำเร็จ เพราะการแกะเปลือกมะขามเป็นงานที่หาเครื่องจักรมาทำแทนได้ยาก ไม่เหมือนกับผลไม้อื่นที่เป็นลูกกลม เปลือกบาง สามารถใส่เครื่องปอกเปลือกได้ง่าย ดังนั้นการใช้แรงคนในการทำงานตรงนี้จึงมีความสำคัญอยู่มาก ไนน์ แทมมะรินด์ จึงไม่เพียงแต่เป็นแบรนด์ที่ใช้นวัตกรรมมาผนวกเข้ากับวิถีเกษตร แต่ยัง “สร้าง” ผลิตภัณฑ์ด้วยความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนด้วย

“ผมต้องวางแผนทำสต๊อกสินค้าเผื่อไว้ให้พนักงานไปงานบุญ ซึ่งวัฒนธรรมของชาวบ้านจะค่อนข้างน่ารักเวลามีงานบุญ งานบวช งานศพ ก็จะพร้อมใจกันไปช่วยงานกันทั้งหมู่บ้าน ถึงจะมีออร์เดอร์สินค้าค้างอยู่ งานสำคัญก็ยังสำคัญไม่เท่ามิตรภาพของคนในชุมชน ลักษณะการทำงานของเราจะเป็นแบบนั้น เวลามีออร์เดอร์ลูกค้าเข้ามาในช่วงที่มีงานบุญก็ต้องบอกให้ลูกค้าเข้าใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะหัวเราะชอบใจมองเป็นเรื่องน่ารักมากกว่า”

 

✔ หากท้อ ให้มองที่เป้าหมายไว้
จะมีแรงใจกลับมาสู้ต่อได้เสมอ

 

วิกฤตนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

เหตุการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 และการมาของทุนต่างชาติที่เข้ามากว้านซื้อมะขามถึงหน้าสวนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ ชัยวัฒน์ ต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอันนำไปสู่การก้าวกระโดดของ ไนน์ แทมมะรินด์ ด้วยการออกไลน์สินค้าและพัฒนาหน้าร้านให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อความอยู่รอดของคนในชุมชนและอนาคตของมะขามหวาน เพราะยังมีปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นคือการที่นายทุนต่างชาติเข้ามาจ้างคนไทยซื้อมะขามหน้าสวนไปขายทั่วโลก ไนน์ แทมมะรินด์ เริ่มประสบความยากลำบากในการหามะขามหวานมาแปรรูปเป็นสินค้าส่งออก ถึงขั้นที่บางครั้งต้องไปขอซื้อมะขามหวานต่อจากต่างชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยคาดคิด

“โควิด-19 ทำให้เราต้องปรับตัวหลายอย่าง ตั้งแต่คิดหาไลน์สินค้าใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมะขาม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค การทำมะขามหวานอบแห้ง มะขามวีนีก้าผสมน้ำผึ้ง ลูกอมแทมมะรินด์ วีนีก้า กาแฟคั่วเมล็ดมะขาม และสินค้าอื่นๆ เข้ามาเสริมทัพเพิ่มความหลากหลายเป็นทางเลือกใหม่ให้ลูกค้าเพราะช่วงโควิดเราเปิดขายหน้าร้านก็ไม่ได้ จะเอาสินค้าไปส่งขายตามออร์เดอร์ก็กลัวการแพร่ระบาด

แต่การปรับตัวในช่วงวิกฤตแบบนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะอย่างน้อยเราถือเป็นโอกาสที่จะคิดค้นสินค้าใหม่ ให้มะขามหวานของไทยเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกมากขึ้นอีก ผ่านช่องทางการขายออนไลน์และโซเซียลมีเดีย ซึ่งของเราใช้ Nine Phetchabun Farm เป็นทั้งหน้าร้านขายสินค้าและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เราภูมิใจนำเสนออย่างมาก”

 

✔ การปรับตัวคือสิ่งสำคัญ
และวิกฤตยังช่วยสร้างโอกาสให้เกิดสินค้าใหม่ๆ

ท้อได้ แต่อย่าถอย

จากที่ไทยเรามีมะขามหวานเจ้าเดียวในโลกที่ผลิตได้จากพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ กลับกลายเป็นว่าเราต้องทำมะขามหวานไปแข่งกับประเทศจีน เวียดนาม อินเดีย และประเทศอื่นที่เดินทางเข้ามาขนผลผลิตในบ้านเราออกนอกประเทศ ไปประทับตราว่าเป็นสินค้าของประเทศนั้น ทั้งที่มะขามหวานพันธุ์สีชมพู ผลิตได้แค่ที่ประเทศไทยเท่านั้น

แม้จะพยายามพูดคุยปัญหานี้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบหรือแนวทางที่สามารถช่วยเหลือในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“บางทีผมก็รู้สึกถอดใจไม่อยากจะทำต่อแล้ว หลายครั้งที่ผมมานั่งคิดว่า หรือเราจะไปต่อ หรือพอแค่นี้ ทำต่อไปก็ขาดทุน ล่าสุดผมยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อมะขามเข้ามาอยู่ในสต๊อกของเราเลยแม้แต่ฝักเดียว ไม่ใช่เพราะเราไม่ซื้อแต่ไม่มีสวนไหนขายให้เรา เพราะถูกกว้านซื้อไปหมดแล้ว เราสู้เขาได้แค่เรื่องของคุณภาพจากการคัดสรรมะขามหวานให้มีรสชาติที่ได้มาตรฐาน แต่เรื่องราคากับเงินทุนเราสู้เขาไม่ได้เลย มองไปที่ห้องแช่เย็นมะขาม แทบไม่เหลือมะขามให้เอามาผลิต แถมเรายังต้องร้องขอซื้อต่อจากนายทุนจีนอีก เราจะไปสู้อะไรกับนายทุนต่างชาติได้ขนาดนั้น

 

✔ เหนื่อยก็หยุดพัก…วันนี้ทำไม่สำเร็จ ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำไม่ได้

 

“สุดท้ายผมก็ต้องกัดฟันสู้ต่อ ปีนี้ยังไม่สำเร็จไม่เป็นไรปีหน้า และปีต่อไปยังมี ถ้าคนเพชรบูรณ์ไม่ทำมะขามหวานขายแล้วใครจะทำ ต่อให้เหลือผมยืนเป็นคนสุดท้ายก็ตาม เมื่อมะขามหวานยังหาซื้อยาก ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นมะขามแปรรูปอื่นๆ แล้วขายในจำนวนที่พอหาได้

แต่ถึงสินค้าจะเปลี่ยน เป้าหมายเดิมที่ผมเคยคิดไว้คือการทำให้มะขามหวานของดีเพชรบูรณ์ เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกจะไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอันขาด ยิ่งหันกลับมามองคนที่อยู่ข้างหลัง เรามีพนักงานซึ่งเป็นชาวบ้านที่ทำงานร่วมกันมาตลอด เรามีครอบครัวญาติพี่น้อง มิตรสหาย เป็นชาวสวนมะขามหวานมาทั้งชีวิต เรายิ่งทิ้งไม่ได้เด็ดขาด

ประเทศไทยเราเป็นผู้นำเทคโนโลยีไม่ได้ แต่ไทยเราเป็นผู้นำด้านอาหารของโลกได้ อย่างไรก็ตามวันหนึ่งมะขามหวานของไทยก็ต้องเป็นที่รู้จักและยอมรับจากคนทั่วโลกได้แน่นอน” ชัยวัฒน์ ตอบทิ้งท้ายด้วยความมั่นใจ
แม้ความจริงในทางลึก เราต่างรู้กันดีว่าเป็นเรื่องที่ยากและสาหัสแค่ไหน ในการต่อสู้กับโลกที่แข่งขันกันด้วยระบบทุนนิยมเพียงลำพัง ผู้ชายคนนี้ยังคงไม่หยุดนิ่ง…เดินหน้าต่อและต่อยอดผลผลิตของไนน์ แทมมะรินด์ไปยังเรื่องของท่องเที่ยวและสปาด้วย เพื่อเป้าหมายและความฝันที่เขาเล่าไว้ในตอนต้น

ถอดบทเรียนจากชีวิต สู่ธุรกิจภาคปฏิบัติของ ชัยวัฒน์ ศรีเทศ ไนน์ แทมมะรินด์

✔ เริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ แต่เดินอย่างต่อเนื่อง…จะไม่มีคำว่าไกลหากเราเริ่มก้าวเดิน
✔ ทุกวิกฤตสร้างโอกาส…ให้เราพัฒนาสิ่งที่เรามีไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ
✔ การรับฟังความเห็นจากลูกค้า จะช่วยให้เรามีไอเดียปรับปรุงสินค้าได้
✔ การปรับตัวคือสิ่งสำคัญ และวิกฤตยังช่วยสร้างโอกาสให้เกิดสินค้าใหม่ๆ
✔ เหนื่อยก็หยุดพัก…วันนี้ทำไม่สำเร็จ ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำไม่ได้
✔ หากท้อ ให้มองที่เป้าหมายไว้ จะมีแรงใจกลับมาสู้ต่อได้เสมอ

 

NINE TAMARIND

ที่ตั้ง: 23/5 หมู่2 ต.ป่าเลา อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ 67000

 

Facebook: NINE TAMARIND

 

Website: NINE TAMARIND

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: NINE TAMARIND

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

Author

โยธิน อยู่จงดี

Author

อ่านความรู้ทุกอย่างในโลกใบนี้ ชอบการสัมภาษณ์และขีดเขียนเรื่องราวชีวิต ในอีกมุมหนึ่งก็มองชีวิตผ่านรูปแบบดวงชะตาของผู้คนที่เข้ามาปรึกษาด้วยเช่นกัน