Product

ตุ๊กตาไม้สัญชาติไทย
ก้าวจากชุมชนสู่อินเตอร์

กฤษณา คชธรรมรัตน์ 22 Jul 2021
Views: 3,758

ใครจะคิดว่าเราจะได้เห็นไม้แกะสลักเป็นตุ๊กตาคาแรกเตอร์ไทยๆ ที่รู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีนี้ กลายเป็นความตื่นตาตื่นใจในมุมมองของชาวต่างชาติ อย่างตัวละครหลักจากโขนรามเกียรติ์ เช่น หนุมาน ทศกัณฑ์ ฯลฯ ตุ๊กตาชาวเขาที่สะท้อนความเป็นไทยด้วยความโดดเด่นเรื่องการแต่งกายกับความเป็นอยู่พื้นบ้าน หรือแม้แต่นำเสนอตุ๊กตาพญาลวงที่เป็นสัตว์นำโชคตามความเชื่อพื้นบ้านของชาวไทลื้อ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชิ้นงานงดงามเหล่านี้ 

นอกจากความงดงามของงานศิลป์ที่ใช้ฝีมือในการสลักเสลา ตุ๊กตาไม้เหล่านี้ยังทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ความเป็นไทยให้ชาวโลกรู้จักอีกด้วย

 

ไม้พญาสัตยาบรรณ + ไอเดียสร้างสรรค์  = ตุ๊กตาไม้นายโถ

งานศิลปะประดิษฐ์จากชุมชนเล็กๆ ในเชียงใหม่ โกอินเตอร์ไปไกลระดับโลกแล้ว ด้วยการเนรมิตรไม้ท่อนให้มีลมหายใจผ่านใบหน้า … ท่าทาง …และรอยยิ้มของ “ตุ๊กตา” สารพัดรูปแบบโดย พีระพงค์ บุญจันทร์ต๊ะ ผู้ก่อตั้งตุ๊กตาไม้นายโถ กลุ่มตุ๊กตาไม้บ้านลวงเหนือ .ดอยสะเก็ด .เชียงใหม่

“ไม้หนึ่งท่อน ผมจะเปลี่ยนให้เป็นอะไรก็ได้  เปลี่ยนได้หมดตามแต่ใจเราต้องการ” พีระพงค์หรือ “นายโถ” บอกเช่นนั้น และตุ๊กตานายโถ ก็ใช้ชื่อเรียกของเขาเองเป็นที่ระลึกสำหรับความรักในการถ่ายทอดไม้แกะสลักตั้งแต่ริเริ่มโครงการนี้ ส่งความเป็นไทยในแบบฉบับที่ไม่เหมือนใคร อวดสู่สายตาผู้คนทั่วโลกมาอย่างยาวนาน  

 

พระเอกของงานฝีมือตุ๊กตาไม้

“ไม้ที่เลือกใช้คือไม้พญาสัตบรรณอายุ 10 ปี จะกำลังดี แล้วพอเราเอาไม้มาจากธรรมชาติ เราก็ปลูกทดแทนไปด้วย” วิถีแห่งชุมชนบ้านลวงเหนือไม่เคยลืมที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน 

ไม้ที่นำมาใช้ทำตุ๊กตานี้ ไม่เพียงแต่เป็นไม้ที่หาได้ง่ายในหมู่บ้าน แต่ยังเป็นชนิดไม้ที่สะท้อนความเป็นพื้นถิ่นของภาคเหนือด้วย 

“ไม้ชนิดนี้พบมากในแถบเมืองร้อนอย่างในทวีปเอเชีย แน่นอนว่าทางภาคเหนือของเราก็พบมากเช่นกัน” พีระพงค์ถ่ายทอดถึงที่มา ตัวเลือกที่ดีที่สุดคือไม้พญาสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ด หนึ่งในไม้มงคล ที่เชื่อกันว่าเป็นไม้แห่งเกียติยศ เป็นตัวแทนแห่งการรู้แจ้งทางปัญญา ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา เชื่อว่านี่คือต้นไม้ตรัสรู้ของพระตัณหังกรพุทธเจ้าที่เป็นพระพุทธเจ้าองค์แรกในสารมณฑกัป จึงนิยมปลูกต้นพญาสัตบรรณกันตามสถานศึกษา สถานที่ราชการ หรือวัดวาอารามต่างๆ นัยเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย

ความที่ไม้เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ นอกจากมีหลากหลายสรรพคุณทางยาแล้ว ยังมีคุณสมบัติที่เหมาะในการนำมาทำไม้แกะสลักอย่างยิ่ง “ด้วยเนื้อไม้สีขาวอมเหลืองอ่อน เนื้อไม้หยาบ อ่อนแต่เหนียว ตกแต่งง่าย จึงเป็นไม้ชาวบ้านมักนำมาทำหีบหรือกล่องใส่ของ ทุ่นอวน รองเท้าไม้ ของเล่นเด็ก ไปจนถึงไม้จิ้มฟัน” 

เราจึงเห็นตุ๊กตาไม้นายโถถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ ทั้งมนุษย์และสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นของตกแต่งหรือของใช้ก็ตาม

ความรักจุดประกายแรงบันดาลใจ

ตุ๊กตาไม้นายโถ เกิดจากความรักก่อนจะส่งต่อความหมายจากหัวใจไปทั่วโลก ด้วยความที่พีระพงค์ บัณฑิตจากสาขาประติมากรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีใจรักในงานศิลป์ แต่รู้ดีว่าเส้นทางสายนี้ไม่ได้ราบรื่นงดงามราวภาพวาด เขาจึงเริ่มมองหาสิ่งที่ตอบโจทย์ทั้งความเป็นศิลปะและงานพาณิชย์ 

“ตอนผมเริ่มต้นเรียนศิลปะมาก็อยากจะกลับมาที่บ้าน มามองว่าเราจะเริ่มต้นทำอะไรได้บ้าง โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ ก็เริ่มต้นคิดมาเรื่อยๆ และเริ่มต้นดีไซน์ หาคาแรกเตอร์ที่เป็นของตัวเอง” และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นในการผลิตงานแฮนด์เมดที่แตกต่างจากท้องตลาด รังสรรค์เป็นตุ๊กตาไม้ใส่จินตนาการ เป็นบรรดาสัตว์ตัวอ้วนกลม ยิ้มแย้มแจ่มใส หน้าตาน่าเอ็นดู  

“ความรู้สึกที่ผมถ่ายทอดลงไปในชิ้นงาน เราทำเพื่อไม่อยากจะลืมอะไรบางอย่าง ผมเอาความทรงจำเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงของตัวเอง หมาของผมที่ผมรักตายไป ผมก็เอาความรู้สึกนี้ลองเอามาแกะเป็นตุ๊กตาไม้ และความรู้สึกแบบนี้ก็ยังคงอยู่ ผมคิดอยู่เสมอว่าเหมือนเราทำตุ๊กตาให้กับคนที่เรารัก พอคนอื่นที่เห็นเขานะครับก็มีความรู้สึก มีความคิดถึง เขาก็เอาตุ๊กตานี้เป็นสื่อแทนใจ สื่อแทนความรู้สึกดีๆ ส่งต่อความรู้สึกดีๆ ต่อๆ กันไปเรื่อยๆ” 

จากสองมือสู่การร่วมใจกันทั้งชุมชน

เมื่อตุ๊กตาไม้นายโถ เริ่มก้าวเดินได้อย่างมั่นคง พีระพงค์ไม่รีรอที่จะจับมือครอบครัวและผนึกกำลังกับพี่ป้าน้าอาในชุมชน ให้ร่วมออกเดินทางไปด้วยกัน 

การลงมือทำทุกขั้นตอนการผลิตที่แสนประณีตไปพร้อมๆ กันจึงเริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่ร่างแบบ ฉลุไม้ เลื่อยไม้ เจียรตกแต่ง ขัดกระดาษทรายด้วยมือ ทำสีพื้น เพนต์สี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพนต์แววตา ให้มีไฮไลต์มีความลึก ที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ 

“ผมเริ่มทำงานในลักษณะเช่นนี้กับพ่อแม่ก่อน แล้วถึงค่อยชักชวน ลุงๆ ป้าๆ ในชุมชนมาช่วยกันทำ เล่าให้คุณลุงคุณป้าเขาฟังว่า ตุ๊กตาที่ทำ เป็นตุ๊กตาที่มีความหมาย เป็นบุคลิกแบบยิ้มร่าเริง มีความรู้สึกปรารถนาดีต่อกัน ก็เลยมาตั้งกลุ่มตุ๊กตาไม้บ้านลวงเหนือ” 

“ตุ๊กตาไม้นายโถ” นำทัพทักทายผู้คนทั่วโลกด้วยเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ ทั้งช้าง วัว แมว คิงคอง ม้าลาย กระต่าย และกระรอก “อย่างกระรอกมีความสดใสร่าเริง เราก็เอาคาแรกเตอร์ของกระรอก มาสร้างเป็นตุ๊กตาไม้ เม่นนี่ก็ทำมาจากกิ่งมะขาม คือการใช้วัสดุให้มันคุ้มค่า นอกจากตั้งโชว์แล้ว ยังใช้เสียบการ์ด เสียบนามบัตรได้ด้วย” นอกจากนี้ยังบอกเล่าอัตลักษณ์พื้นถิ่นผ่านชิ้นงานได้อย่างน่าสนใจไปด้วยในเวลาเดียวกัน 

พีระพงค์บรรยายถึงตุ๊กตาไม้ดีไซน์พิเศษตัวหนึ่งที่ถูกแกะออกมาให้มีลักษณะไม่เหมือนใคร “ตัวนี้นะครับถ้าเป็นคนไทลื้อหรือว่าคนทางเหนือต้องรู้จัก เขาเรียกว่า “พญาลวง” คือสัตว์นำโชค เป็นการรวมกันของสัตว์ 5 อย่าง มีงวงเหมือนช้าง มีเขาเหมือนกวาง ปีกเป็นนก หางเป็นปลา ช่วงลำตัวหรือขาบ้างก็ว่าเป็นม้าหรือวัว ยังมีชุดตุ๊กตาไม้ไทลื้อที่ผสมผสานฟังก์ชั่นเข้าไปด้วย ทำออกมาเป็นที่ใส่ของ ตุ๊กตานี้ก็เหมือนเป็นนักประชาสัมพันธ์ให้คนได้รู้จักบ้านลวงเหนือนั่นเอง”

ออกเดินทางสู่โลกกว้าง

เส้นทางที่เปิดกว้าง นำตุ๊กตาไม้นายโถ ออกเดินทางอีกครั้งและครั้งนี้ไปไกลทั่วโลกด้วยรูปแบบของ “ความเป็นไทย” …  “แนวคิดของงานชิ้นนี้ก็คือเอกลักษณ์ไทย แคบลงมาหน่อยก็คือเรื่องรัตนโกสินทร์ แคบลงมาอีกนิดก็คือเรื่องเกี่ยวกับรามเกียรติ์ เรื่องโขน…” 

ตุ๊กตาไม้รูปตัวยักษ์ รูปตัวลิงแบบโขนไทย ที่มีรูปร่างหน้าตาเข้ากับยุคสมัย แต่โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ความเป็นไทย จึงสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติจนต้องหยิบกลับไปเป็นของที่ระลึก เป็นของฝากแทนความรักความคิดถึง เป็นของขวัญ หรือของแต่งบ้านของเหล่านักเดินทางระดับโลก 

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ยังเป็นความภาคภูมิใจของคนทำเป็นที่สุด

 “ผมจะรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เห็นงานของตัวเอง ทำงานอย่างมีความสุข แค่ได้ทำก็มีความสุขแล้ว เมื่อซื้อไปแล้วเขาก็เอาไปส่งต่อ ไปที่ไหนก็ไม่รู้ที่เราไม่เคยไปด้วย เรายังไม่รู้เลยว่างานของเราไปถึงไหน จากจุดเริ่มต้นมาถึงจุดนี้ เราก็รู้สึกว่าเราก้าวหน้ามาก เราก็ดีใจด้วยที่ฝีมือของเราสามารถไปอยู่บนชั้นวาง ที่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเขาได้เห็นผลงานของเรา” 

“รู้สึกขอบคุณที่เขามองเห็นงานศิลปะประดิษฐ์ที่อยู่ในชุมชนเล็กๆ และให้โอกาสให้ชุมชนของเราได้พัฒนาเติบโตไป”     

ถึงวันนี้ ตุ๊กตาไม้นายโถ ยังคงก้าวเดินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เชื่อมั่นว่าจะมีผลงานรูปแบบใหม่ๆ ที่สะท้อนความเป็นไทยพื้นบ้านออกมาอย่างสร้างสรรค์ ด้วยแรงพลังของทั้งชุมชน ที่พร้อมจะสร้างงาน สร้างอาชีพที่ยั่งยืน และสร้างความภาคภูมิใจไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง 

 

MR.THOW WOOD CRAFT DOLLS

ที่ตั้ง : 83 หมู่ 4 บ้านลวงเหนือ ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ 50220
เปิดบริการทุกวัน เวลา : 09.00 – 17.00 น.

 

Facebook : MR.THOW WOOD CRAFT DOLLS 

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: MR.THOW WOOD CRAFT DOLLS

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็คอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง อ.ดอยสะเก็ด

• สะพานแขวนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา แลนด์มาร์คน่าทึ่งที่เชื่อมสองฝั่งของช่องแคบเขื่อนแม่กวงที่มีธรรมชาติโอบล้อมทั้งตัวเขื่อนอันกว้างใหญ่และขุนเขาโดยรอบ

• น้ำพุร้อนดอยสะเก็ด แวะผ่อนคลายด้วยการแช่น้ำร้อนแบบออนเซ็น สครับผิวนวดตัวด้วยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติพื้นบ้าน

• หมู่บ้านเชิงวัฒนธรรมไทลื้อ สัมผัสเสน่ห์ชุมชน ชื่นชมความงดงามของศิลปะและสถาปัตยกรรมของวัดศรีมุงเมือง

Author

กฤษณา คชธรรมรัตน์

Author

นักเขียนที่ให้ความสนใจกับทุกเรื่องบนโลก อย่างละนิดอย่างละหน่อย บ่อยครั้งจึงวาร์ปไปเขียนเรื่องโน้นเรื่องนี้อย่างสนุกสนาน

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก