Product

‘นิตดา’ ผ้าไหมแต้มหมี่โมเดิร์น
สร้างชื่อของจังหวัดขอนแก่น

วรากร เพชรเยียน 11 Feb 2022
Views: 2,878

จากผ้าไหมลายดั้งเดิมที่หลายคนคุ้นเคยเห็นคนรุ่นทวด รุ่นยายสวมใส่ หยิบมานุ่งทำเป็นอาภรณ์ชุดสวย วันนี้เวลาผันผ่าน ‘นิตดา’ เปลี่ยนผ้าไหมมัดหมี่ลายเดิมให้เป็นผ้าไหมแต้มหมี่ที่มีลวดลายโมเดิร์นแปลกตาเข้ายุคเข้าสมัยด้วยวิธีการแต้มสีลงบนเส้นไหม แต่ถึงแม้ลวดลายจะเปลี่ยนแปลงไป เนื้อสัมผัสอันอ่อนนุ่มของผ้าไหมยังคงอยู่ บอกเล่าภูมิปัญญาผ่านเส้นไหมที่ถูกถักทอรวมกันดังเดิม

ผ้าไหมแต้มหมี่ที่ถูกบรรจงถักทอ ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการผลิตเพียงเล็กน้อยก็ได้ผ้าไหมแต้มหมี่ที่สวยงามจากนิตดา ที่ปัจจุบันได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร้านค้าใน คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ทั้งออนไลน์และหน้าร้านนี้ มีคุณจุ๋ม นิตดา ภูแล่นกี่ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง สืบต่อภูมิปัญญาจากรุ่นคุณยาย ดัดแปลงสร้างความแปลกใหม่จนกลายมาเป็นแบรนด์ผ้าไหมแต้มหมี่ที่สวยงามตรึงตาตรึงใจ ลวดลายสวยงามโกอินเทอร์จนห้องเสื้อแบรนด์ดังไว้วางใจเลือกใช้ผ้าไหมจากแบรนด์นิตดา

 

สืบสานภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยเป็นรุ่นที่สาม

ก่อนที่จะมาเป็นผ้าไหมแต้มหมี่ที่มีลวดลายโมเดิร์นสวยงามอย่างวันนี้ ก่อนหน้านี้นิตดาเป็นธุรกิจผ้าไหมมัดหมี่ที่คุณจุ๋มสืบสานงานต่อจากรุ่นคุณแม่ ซึ่งได้สืบสานต่อมาจากรุ่นคุณยายอีกทีหนึ่ง คุณจุ๋มจึงนับเป็นคนรุ่นที่สามที่ได้สานต่องานหัตถกรรมผ้าไหม “เป็นธุรกิจครอบครัวแต่ว่าเป็นในนามของกลุ่มวิสาหกิจของชุมชน เพราะคุณแม่เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจ คุณแม่ก็มีการพัฒนาและตั้งกลุ่มขึ้นมาเป็นกลุ่มชาวบ้าน”

จากการสืบทอดมาอย่างยาวนาน ในที่สุดงานหัตถกรรมอย่างการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ก็ถึงคราวเปลี่ยนเมื่อมาถึงมือของคุณจุ๋มจนเกิดเป็นผ้าไหมแต้มหมี่ที่มีความแตกต่างจากผ้าไหมมัดหมี่แบบดั้งเดิม “มีการพัฒนาในปี พ.ศ. 2555 ตอนนั้นมีการประกวดผลงานเครือข่ายองค์ความรู้ KBO (Knowledge – Based OTOP) เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เปลี่ยนยังไงให้ต่างจากเดิม จากที่ใช้เชือกฟางมัดย้อมมาเป็นเทคนิคการแต้มหมี่ ซึ่งเป็นการใช้พู่กันแต้มสีลงบนเส้นไหมแล้วสร้างสรรค์ลวดลาย”

ในการประกวดครั้งนี้มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นผู้คิดเพื่อพัฒนาต่อยอดงานหัตถกรรมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “จริงๆ การแต้มหมี่มีมาตั้งแต่อดีตนะ เพียงแต่ว่าเป็นการแต้มหลังจากที่เขามัดแล้ว แล้วเขาแต้มเพิ่ม อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นท่านก็คิดว่าถ้าเราทำผ้าไหมมัดหมี่อยู่แล้วเราจะทำอะไรได้อีก ให้เกิดลวดลายที่ต่างจากเดิม ก็เลยมาใช้เทคนิคการแต้มสี” การเปลี่ยนแปลงพัฒนาในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนรู้จักผ้าไหมแต้มหมี่มากยิ่งขึ้น ด้วยลวดลายที่แปลกใหม่แต่ยังคงเค้าความงามอย่างผ้าไหมไทยดั้งเดิมไว้ได้อย่างครบถ้วน

เปลี่ยนจากมัด เป็นแต้ม

แม้จะมีชื่อเรียกต่างกัน แต่กรรมวิธีการผลิตผ้าไหมมัดหมี่และแต้มหมี่มีความเหมือนกันอยู่มาก ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม จนมาถึงการสาวไหมทอเส้นนั้นมีความเหมือนกัน ต่างกันเพียงแค่ขั้นตอนการมัดและแต้ม

“ยกออกเฉพาะขั้นตอนการมัดแล้วก็เอาแต้มหมี่ลงไปแทนแล้วก็ไปทอสุดท้ายเหมือนกัน เป็นการแต้มสีบนเส้นไหม พี่ไม่มัดแต่พี่ระบาย ก็จะทำให้เกิดลวดลาย จะลงสีอะไรก็ลงไปเลย สิบสีก็ลงได้ไม่ต้องมานั่งมัด” หากจะให้อธิบายคงคล้ายกับการทำผ้าบาติกที่ลงสีบนผืนผ้า แต่การแต้มหมี่เป็นการลงบนเส้นไหมแล้วจากนั้นจึงไปสู่กระบวนการทอผ้าต่อไป

การเปลี่ยนแปลงเพียงเพียงเล็กน้อยนี้ให้ผลที่แตกต่างกันจนสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน “ลวดลายที่ได้จะต่างกัน มัดหมี่จะละเอียดมากกว่า ลวดลายก็จะมีความคมชัดมากกว่า แต่แต้มหมี่เราเน้นลายใหญ่ๆ ลวดลายโมเดิร์น แล้วก็แต้มได้ทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง ให้มันทับกันได้เหมือนกัน ก็จะเกิดเป็นมิติบนผ้า” ส่วนสีที่ใช้ในการแต้มหมี่นั้นมีทั้งสีสังเคราะห์ที่ผ่านการรับรองว่าปลอดภัย ซึ่งจะได้ผ้าที่มีสีฉูดฉาดสดใส และสีจากธรรมชาติซึ่งได้จากเปลือก ต้น ดอกใบจากพืชที่มีอยู่ในชุมชน ให้สีอ่อน ให้ความรู้สึกนุ่มนวล

ความแตกต่างนี้ทำให้ผ้าไหมมัดหมี่และผ้าไหมแต้มหมี่มีลักษณะที่โดดเด่นในแบบของตัวเอง เส้นไหมที่ผ่านกระบวนการแต้มหมี่เมื่อนำมาถักทอเป็นผ้าไหม ร่วมกับการออกแบบลายผ้าแล้วจึงได้ออกมาเป็นผ้าที่มีลวดลายโมเดิร์นเหมือนงานศิลปะ เข้ากับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น

ผ้าไหมโมเดิร์น ที่ยังคงสัมผัสเดิม

ผ้าไหมมัดหมี่ที่เราคุ้นเคยนั้น เมื่อเห็นลวดลายดั้งเดิมแล้วชวนให้นึกถึงคนรุ่นปู่รุ่นย่าที่มักนำมาตัดเป็นเสื้อผ้า จึงอาจมีความเก่าคร่ำครึแฝงอยู่ได้หากมองด้วยสายตาของสมัยใหม่ แต่ผ้าไหมแต้มหมี่ที่ได้นี้ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน มีสีสันสวยงามและดูเหมือนงานศิลปะ

“มันเป็นเรื่องของงานแต้มหมี่ที่มีความเป็นโมเดิร์น ส่งต่อความเชื่อ ผ่านคุณค่าของงานหัตถกรรมที่เราถ่ายทอดผ่านภูมิปัญญา ผ่านจินตนาการ เป็นการออกแบบลวดลาย การให้สีสันที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว” ซึ่งลวดลายที่มีชื่อเสียงและสวยงามของผ้าไหมแต้มหมี่ของนิตดา ก็เป็นลายมาราเคซที่ได้มาจากการเข้าร่วมโครงการโอทอป พรีเมียม โกอินเทอร์ของกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยมีอาจารย์ดีไซน์เนอร์ออกแบบลายให้

“มาราเคซเป็นอีกหนึ่งชิ้นงานชิ้นเอก” ทางแบรนด์เล่าถึงลายสร้างสรรค์ใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมแต้มหมี่จากแบรนด์นิตดา “มาราเคซนี่มาเป็นสิบแผ่นกระดาษเลย อาจารย์บอกว่าเอาไปทำ เราก็ต้องมาวางลาย หยิบกระดาษมาวางแล้วก็แต้มเลย มาราเคซเป็นประติมากรรมแสงเงาของเมืองมาราเคซ มันก็จะเกิดความหลากหลายของรูปทรงและสีสัน ทำให้เกิดความสนุกสนานและเป็นศิลปะ”

ลวดลายมาราเคซได้รับความสนใจและเป็นสินค้าขายดีมากในช่วงที่ทำออกมาใหม่ๆ จากนั้นนิตดาจึงได้พัฒนาลวดลายโมเดิร์นออกมาอีกมากเพื่อให้มีความแตกต่าง

“เราก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะถ้าอยู่นิ่งก็อาจจะไม่มีการเคลื่อนไหวในส่วนของรายได้เข้ามาในชุมชน” ลวดลายผ้าแบบโมเดิร์นซึ่งพัฒนาออกมาใหม่จึงเข้าตา ถูกจริตกับดีไซน์เนอร์ห้องเสื้อชื่อดังของไทยอย่าง ASAVA และ Theatre นอกจากนี้ยังดึงดูดลูกค้าคนอายุน้อยให้หันมาสนใจผ้าไหมแต้มหมี่มากยิ่งขึ้นด้วย

ผ้าไหมเลี้ยงชีพของชุมชนบ้านหัวฝาย

ความสวยงามของผ้าไหมมัดหมี่และผ้าไหมแต้มหมี่ที่ได้เห็นมีเบื้องหลังมาจากสองมือของชาวบ้านในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นต้นทางความสำเร็จ “สมาชิกก็จะมีการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้าครบวงจร สมาชิกผลิต ทางเราก็รับซื้อไว้ ก็ทำให้เกิดการหมุนเวียน การสร้างงานและทำให้สมาชิกมีรายได้” เป็นช่องทางการกระจายรายได้ให้แก่คนในชุมชนให้พวกเขามีงานทำ ไม่เพียงเท่านั้น การริเริ่มทำผ้าไหมแต้มหมี่ที่จากเดิมคนในชุมชนทำกัน แต่ผ้าไหมมัดหมี่ยังเป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้แก่ชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย

“นับเป็นอะไรที่แปลกใหม่ที่เขาก็สนใจจะทดลอง พี่เคยไปเป็นวิทยากรแล้วเขาให้ช่วยสอนแต้มหมี่ คุณป้าที่มีอายุหน่อยเขาจะไม่ชอบ เขาชอบลายดั้งเดิมอยู่ แต่ที่นี่เราค่อนข้างจะรับอะไรที่เราสามารถพัฒนาชีวิตของเราและพัฒนาให้มีความแตกต่างแล้วก็ในกระบวนการผลิต”

การยอมรับและปรับเปลี่ยนของคนในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนให้สินค้ามีความแตกต่างจากท้องตลาดเท่านั้น หากแต่ยังเป็นช่องทางให้คนเข้าถึงและให้ผลิตภัณฑ์มีความสอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ได้ด้วย “เป็นช่องทางหนึ่งที่เราจะสามารถอนุรักษ์งานของเราไว้ได้ มัดหมี่คนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยอยากจะมานั่งมัดแล้ว”

แม้ในปัจจุบันนิตดา ผ้าไหมแต้มหมี่ สุภาณีไหมไทย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝายจะไม่ได้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ช่วยสืบสานอนุรักษ์งานฝีมือไทยไว้ได้ นอกจากนี้ยังได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะสามารถช่วยให้ชาวต่างชาติได้เห็น และทำความรู้จักกับงานหัตถกรรมไทยที่ประณีตบรรจง ซึ่งแบรนด์นิตดาก็ได้นำเอาผ้าไหมมาผลิตดัดแปลงเป็นกระเป๋าใส่เหรียญ และจำหน่ายผ้าไหมที่สวยงามควบคู่ไปด้วย

นับจากวันนี้ทุกครั้งที่ได้เห็นผ้าไหมแต้มหมี่หนึ่งผืน นอกจากความสวยงาม ลวดลายโมเดิร์นที่ปรากฏแล้ว ยังแฝงไปด้วยภูมิปัญญาที่สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น ฝีมือ ความประณีต หยาดเหงื่อของคนในชุมชน รวมไปถึงเบื้องหลังของลวดลายแปลกใหม่ที่ถูกถักทอรวมกันจนเป็นผ้าไหมหนึ่งผืน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้บอกเล่าเรื่องราวที่สวยงามเกินกว่าลวดลายที่มองเห็นได้เสียด้วยซ้ำ เป็นผ้าไหมที่ไม่เพียงสวย แต่ยังมีเรื่องราวลึกซึ้งในทุกแง่มุม

 

NITDA

ที่ตั้ง: กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย 46 หมู่ 2 ต.ปอแดง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น 40180

 

Facebook: NITDA

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: NITDA

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน–แชะรูป–ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• สวนสนดงลาน เหมาะสำหรับคนรักธรรมชาติ ต้องการสัมผัสพื้นที่สีเขียว ป่าสน​เป็นแปลงงานวิจัยของสำนักวิจัยและนักพัฒนาป่าไม้​ ของกรมป่าไม้​จึงมีการทดลองปลูกต้นสน สถานที่แห่งนี้จึงเต็มไปด้วยความเขียวขจี ร่มรื่น ชวนให้ผ่อนคลาย

• ศาลหลักเมือง จังหวัดขอนแก่น แวะมาสักการะศาลหลักเมืองเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต ชื่นชมสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ที่สวยงาม

• พระธาตุขามแก่น ปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมือง เป็นเจดีย์ที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ