People

นิตยา ราชรักษ์…ศรัทธาและเสียสละ
เพราะชีวิตถูกขีดให้เป็นครู

กองทรัพย์ ชาตินาเสียว 25 Oct 2021
Views: 487

ความฝันแรกของเราก็คือ การเป็นครู

และเป้าหมายก็คือ การได้กลับมาเป็นครูที่บ้านเกิด

ครูแวว นิตยา ราชรักษ์
คุณครูโรงเรียนวัดมังคลาราม อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช 

 

ครั้งหนึ่งเธอลาออกจากเป็นครูเพราะป่วย และเกือบจะหันหลังให้นักเรียนอีกครั้ง เมื่อล้มป่วยครั้งที่สอง แต่เพราะพลังความรัก ทำให้เธอตัดสินใจและยืนหยัดที่จะสู้ต่อเพื่อต่อยอดความฝันด้านกีฬาของเด็กๆ พิปูน

 

เส้นทางกว่าจะถึงพิปูน

เราเดินทางไปเจอครูแววที่ ‘พิปูน’ อำเภอเล็กๆที่อยู่ห่างจากตัวเมืองนครฯราว 90 กิโลเมตรเส้นทางสัญจรคดเคี้ยวตามแนวเขาเพื่อไปถึงพื้นที่ไข่แดงที่ล้อมรอบด้วยภูเขาแม้ไม่ถึงกับยากลำบากแต่ก็ไปถึงไม่ง่ายนักเปรียบเหมือนเส้นทางแม่พิมพ์ของครูแวว หรือครูนิตยา ราชรักษ์ที่โรงเรียนวัดมังคลาราม นครศรีธรรมราช ที่กว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ชีวิตก็เจอจุดหักเลี้ยวตกหลุมบ่อให้ต้องสะดุดและหยุดพักมาไม่น้อยแต่ด้วยหัวใจของผู้ให้และเกิดมาเพื่อเป็นครูโดยเนื้อแท้จึงผ่านอุปสรรคต่างๆมาได้

ย้อนจุดเริ่มต้นความฝันสุดคลาสสิกของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งซึ่งเติบโตในครอบครัวชาวสวนอำเภอท่าศาลาจังหวัดนครศรีธรรมราชเกิดขึ้นราว 10 ขวบเด็กหญิงแววในวันนั้นสวมบทบาทสมมติจับลุงป้าน้าอามานั่งหน้ากระดานเพื่อเรียนหนังสือโดยมีเธอยืนหน้าชั้นในฐานะคุณครู…เป็นเช่นนี้ทุกวันหยุดจนแน่ใจว่าอะไรคือสิ่งที่เธออยากเป็น

เมื่ออาชีพครูคือจุดมุ่งหมาย “ครูแวว “จึงไม่ลังเลที่จะเลือกเส้นทางของตัวเอง ด้วยการเข้าเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นครูทันทีที่เรียนจบ และปัจจุบันเธอเป็นคุณครูภาษาไทย โรงเรียนวัดมังคลาราม ในจังหวัดบ้านเกิดอย่างที่ตั้งใจ

“หลังเรียนจบช่วงแรกเราก็ไปเป็นครูอัตราจ้างเพื่อหาประสบการณ์ที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยได้ประมาณหนึ่งเทอมจากนั้นไปเป็นครูพิเศษที่วิทยาลัยทุ่งสงได้อีกเทอมกว่าๆตระเวนสอบมาหลายที่ทั้งโรงเรียนเทศบาลโรงเรียนสพฐ. ไม่นานหลังจากนั้นก็ได้บรรจุเป็นข้าราชการครูของโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเริ่มบรรจุเป็นครูปี 2548 ชีวิตช่วงนั้นก็ค่อนข้างแฮปปี้เลยล่ะเหมือนความฝันของเราของครอบครัวเป็นจริงขั้นหนึ่ง

“แต่เหมือนเรามีความสุขได้แวบเดียวเป็นครูได้แค่ปีกว่าๆก็เริ่มป่วยด้วยอาการเกี่ยวกับระบบประสาทเราเริ่มสูญเสียการทรงตัวมีอุบัติเหตุหกล้มบ่อยๆเริ่มเดินช้าขาอ่อนแรงเวียนศีรษะมองเห็นภาพซ้อนชีวิตเริ่มท้อปี 2550 ตัดสินใจลาออกจากครูเพื่อมารักษาตัวให้หายแต่ในใจก็คือคิดว่ายังไงก็ต้องกลับมาเป็นครูอีกให้ได้”

ใช้เวลานานร่วมปี รักษาตัวจนหายดี เพื่อกลับไปสอบเพื่อบรรจุเป็นครูอีกครั้ง

✓ แม้จะเจอเหตุการณ์ที่ต้องเสียศูนย์ทางจิตใจ แต่อย่าหมดความหวัง

เหมือนชีวิตถูกกำหนดให้เป็นครู

สอบบรรจุกี่ครั้ง ก็ติดทุกครั้ง

หลังจากหายป่วยรอบแรกสอบบรรจุสอนที่จังหวัดภูเก็ตอยู่หลายปีก่อนจะแต่งงานมาเป็นสะใภ้พิปูนครูแววคิดว่าเธอคงจะเป็นครูจนเกษียณอายุชีวิตได้อยู่ใกล้บ้านดูแลลูกพร้อมกับสอนหนังสือที่รักเป็นชีวิตบั้นปลายที่ชัดเจนและดูมีความสุขแสนเรียบง่ายหลังจากที่ได้ย้ายมาที่โรงเรียนวัดมังคลารามในปี 2560 

“เมื่อมีโอกาสได้มาอยู่ที่นี่ในฐานะสะใภ้พิปูนก็มีความตั้งใจที่จะทำงานตอบแทนให้กับคนที่นี่อย่างเต็มที่ถ้ามองพื้นที่นี้ในฐานะครูที่มีลูกเล็กด้วยทำให้เห็นความจริงที่ว่าพื้นที่ตรงนี้เต็มไปด้วยปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมเราคิดมาตลอดว่าถ้าเราลดปัญหายาเสพติดได้ตั้งแต่วันนี้ลูกเราจะได้เติบโตไปในสิ่งแวดล้อมที่ดีเมืองพิปูนก็จะเป็นพื้นที่ส่งเสริมให้เด็กๆเติบโตไปอย่างคุณภาพและเป็นเด็กที่มีความกล้าหาญที่จะฝันมากขึ้น

“นักเรียนและชุมชนยังขาดโอกาสด้านกีฬาก็อยากส่งเสริมสนับสนุนให้เขาแข็งแกร่งและคิดว่าการมีพื้นที่ปลอดภัยอย่างสนามฟุตบอลที่ดีๆจะช่วยทำให้เด็กๆการมีสนามที่ดีจึงเป็นสิ่งที่เราอยากจะมอบให้เขาเราก็ปรึกษากับอาจารย์วันเพ็ญชูโชติผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่ตลอดว่าอยากให้เด็กๆมีพื้นที่เล่นกีฬาพยายามหาทุนเพื่อสร้างสนามกีฬามาโดยตลอด”

ราวปี 2561 ขณะที่ลูกคนโตของเธออยู่ชั้นป.2 คนรองกำลังจะขึ้นป.1 และคนเล็กเพิ่งจะเข้าหนึ่งขวบครูแววล้มป่วยด้วยอาการเดิมอีกครั้งและดูเหมือนครั้งนี้เป็นครั้งที่หนักและยาวนานที่สุดเธอต่อสู้กับการทรงตัวไม่อยู่การเดินการยืนการนั่งแทบไม่ได้อาการทรงๆทรุดๆอยู่ร่วม 4 ปีจนถึงปัจจุบันซึ่งอาการดีขึ้นจนเกือบหายเป็นปกติสามารถเดินโดยไม่ต้องใช้ไม้ค้ำได้แล้ว

เหนื่อย ท้อ การตัดสินใจ (เกือบ)

จบเส้นทางครูอีกครั้ง! 

กว่าจะผ่านมาถึงจุดนี้ก็มีท้อเหมือนกัน

“ตอนที่เราอาการหนักต้องนอนนิ่งอยู่กับที่มีปัญหาแม้กระทั่งจะพลิกตัวก็ต้องมีคนช่วยเพราะสมองไม่สั่งงานร่างกายไม่มีปฏิกิริยาแต่เรายังพูดได้ความจำไม่ได้เสื่อมตอนนั้นที่ป่วยต้องหยุดพักรักษาตัวที่บ้านสลับกับการขึ้นลงระหว่างกรุงเทพฯกับนครฯเพื่อไปหาหมอ 

คำตอบจากหมอที่บอกว่า… “ไม่แน่ใจว่าจะหายได้ไหมต้องลองรักษาไปก่อนเพื่อหาจุดที่ผิดปกติเพื่อรักษาให้ถูกทางกินยาฝึกทรงตัวทำกายภาพสลับกันไปยอมรับว่าช่วงนั้นเครียดมากเกรงใจทุกคนคิดมากรู้สึกผิดกับลูกที่ไม่สามารถทำหน้าที่แม่ได้ในวัยที่เขาต้องการเราที่สุดเขาเสียอีกที่คอยป้อนยาเช็ดตัวให้”

ร่างกายที่สูญเสียการทรงตัวหัวใจก็เสียศูนย์ไปเช่นกันเมื่อคิดว่าตัวเองสร้างความลำบากให้คนรอบข้าง 

“ตอนนั้นเราคิดลบอยู่ในช่วงซึมเศร้าร่างจดหมายลาออกอยู่ 3 วันและตัดสินใจยื่นให้ผู้ใหญ่แต่ได้หลายท่านให้สติมอบกำลังใจให้เราเชื่อและศรัทธาในงานที่เราทำเพื่อนครูและนักเรียนที่โรงเรียนก็เป็นอีกหนึ่งพลังที่ทำให้เรากลับมาทำหน้าที่ครูอีกครั้ง”

 

✓ งมองเห็นคุณค่าของตัวเอง

 

“พอจิตใจตั้งหลักได้ว่าจะกลับมาสอนเราก็เริ่มฝึกนั่งฝึกทรงตัวครั้งละหนึ่งชั่วโมงพอนั่งได้นานขึ้นก็นั่งรถเข็นมาสอนที่โรงเรียนความประทับใจคือนักเรียนดีใจที่เห็นคุณครูเขาน่ารักกับเรามากเพราะโรคที่ครูเป็นจะเจอภาพเคลื่อนไหวมากไม่ได้เสียงดังมากไม่ได้นักเรียนรู้ว่าคุณครูป่วยเขาก็เงียบเรียบร้อยน่ารักตั้งใจเรียนไม่ดื้อไม่ซนช่วยเหลือคุณครูทุกอย่าง”

ความป่วยไข้ พรากบางอย่างไป

แต่ก็ให้บางอย่างกลับมา

ในบ่ายวันหนึ่งก่อนวันสุดท้ายของเดือนมีนาคมหลังจากครูแววรักษาตัวได้หนึ่งปี 

“ครูได้รับข้อความจากผู้อำนวยการวันเพ็ญชูโชติซึ่งขณะนั้นท่านไปราชการที่ต่างจังหวัดว่าให้เขียนโครงการเพื่อขอสนามฟุตบอลซึ่งตอนนั้นเกือบจะถึงวันสุดท้ายของการยื่นขอโครงการแล้วแต่เราก็ต้องทำข้อมูลเพื่อยื่นให้ทัน 

“อันที่จริงโรงเรียนเราศึกษาโครงการ 100 สนามฟุตบอลสร้างพลังเยาวชนไทยโดยคิงเพาเวอร์มาทุกปีแต่ด้วยเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียน 280 คนไม่ถึงเกณฑ์ 500 คนตามที่โครงการกำหนดในปีแรกๆจึงพลาดโอกาสจนกระทั่งโอกาสมาถึงในปีที่ 4 ที่ได้คำแนะนำจากอาจารย์อุดมกูลดีผู้อำนวยการโรงเรียนอ่าวกะพ้อจังหวัดพังงาเรื่องการยื่นขอสนามฟุตบอลในนามของชุมชน”

เปิดใจพูดคุยกับคนใกล้ชิด
เพื่อถ่ายเทความทุกข์ในใจ
และรับกำลังใจดีๆ กลับมา

 

“อาการป่วยตอนนั้นพอเริ่มลุกนั่งได้บ้างแต่ยังมีอาการเวียนหัวเมื่อมองหรืออ่านหนังสือนานๆเราจึงทำงานเน้นประสานขอความช่วยเหลือจากผู้นำชุมชนกำนันให้แฟนช่วยประคองมาที่โรงเรียนเพื่อรวบรวมข้อมูลส่วนที่จำเป็นขอข้อมูลอาชญากรรมและยาเสพติดจากสถานีตำรวจและอำเภอเพื่อชี้เห็นว่ามีปัญหาที่ต้องแก้ไขและการมีสนามฟุตบอลมาตรฐานมีความสำคัญต่อการลดปัญหาชุมชนได้จริงเมื่อเราช่วยกันทุกฝ่ายสุดท้ายก็ส่งอีเมลทันในวันที่ 31 มีนาคม 2562” 

ครูแววเล่าย้อนถึงวันที่เหน็ดเหนื่อยแต่ก็อิ่มใจที่มาของสนามฟุตบอลหญ้าเทียมในโครงการ 100 สนามฟุตบอลสร้างพลังเยาวชนไทยในโรงเรียนวัดมังคลาราม

“การให้มีสนามฟุตบอลทำให้เด็กเยาวชนมีกิจกรรมทำร่วมกันหลังเลิกเรียนการมีพื้นที่ปลอดภัยใจกลางชุมชนจะจูงใจที่จะให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรมเมื่อก่อนเด็กที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งกีฬาก็จะไม่กล้าเล่นไม่ออกกำลังกายแต่พอมีสนามเขารู้สึกว่าการมีส่วนร่วมสำคัญขึ้นแม้จะไม่เก่งแต่เขามาเล่นกับเพื่อน 

“เมื่อสนามฟุตบอลมาถึงเด็กหลายคนบอกเสียงดังว่าอยากเป็นนักฟุตบอลระดับโลกไม่รู้เขาจะทำได้ไหมแต่ความฝันของเขามันเติบโตขึ้นเราในฐานะครูก็ดีใจที่ได้ยิน”

 

อย่าลืมขอบคุณตัวเองที่อดทนต่อความยากลำบากทุกรูปแบบ

 

 

หัวใจของครู คือ

รับผิดชอบและเสียสละ

“อาชีพครู” เป็นอาชีพที่ครูแววรักและศรัทธามากแม้จะท้อและเกือบถอดใจแต่ก็คิดว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเราทำหน้าที่ครูอย่างเต็มที่เต็มความสามารถและทำให้ดีที่สุด 

“ต้องรับผิดชอบและเสียสละ” นี่คือคติที่ยึดมั่นแม้จะท้อและเกือบจะเคยถอดใจแต่ก็คิดว่าต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่และทำอย่างดีที่สุด 

การได้รับสนามฟุตบอลหญ้าเทียมมาตรฐานมาให้กับเด็กๆและคนในชุมชนเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าครูแววสู้ไม่ถอยและทำหน้าที่แม่พิมพ์ของชาติได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว

 

วิธีเพิ่มพลังบวกจากครูแวว

แม้จะเจอเหตุการณ์ที่ต้องเสียศูนย์ทางจิตใจ แต่อย่าหมดความหวัง

จงมองเห็นคุณค่าของตัวเอง 

เปิดใจพูดคุย กับคนใกล้ชิด เพื่อถ่ายเทความทุกข์ในใจ และรับกำลังใจดีๆ กลับมา

อย่าลืมขอบคุณตัวเองที่อดทนต่อความยากลำบากทุกรูปแบบ

Author

กองทรัพย์ ชาตินาเสียว

Author

อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ ที่ชอบบันทึกเรื่องราวระหว่างทางด้วยการเขียน แสงอาทิตย์ ต้นไม้ ลำธาร คือจักรวาลความสุข ปัจจุบันยังสนุกกับการค้นหาจักรวาลใหม่ๆ ในฐานะนักเขียนอิสระ