Passion

ยุทธศักดิ์ ชัยแก้ว
ครูภาษาไทย ผู้เป็นโค้ชบอลมีฝัน

พงษ์ฉัตร อินทรานุปกรณ์ 25 Apr 2022
Views: 550

เรียกว่า “ฟุตบอล” คือสิ่งที่รักและเป็นยิ่งกว่าชีวิตสำหรับครูผู้ทุ่มเทเวลาให้กับนักเรียนของเขาที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ไปกว่า 800 กิโลเมตรคนนี้ ครูผู้เคยต้องทุ่มเทการเรียน กีฬาเด่น…ฝันนักบอลอาชีพ และ…สอนภาษาไทยในเวลาต่อมา

ยุทธศักดิ์ ชัยแก้ว หรือ “ครูเมย์” แห่งโรงเรียนเทศบาล 1 สังขวิทย์ จังหวัดตรัง เป็นชาวจังหวัดตรัง ปัจจุบันเป็นคุณครูสอนวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่นั่น ครูเมย์เป็นผู้รักและหลงใหลในกีฬาฟุตบอลถึงขั้นตั้งชื่อลูกคนที่สองว่า “แมนยู” เขามี “เทพบุตรเปียทองคำ” หรือ “โรแบร์โต บัจโจ” ดาวเด่นของทีมชาติอิตาลีเป็นไอดอล นักเตะที่ทำให้เด็กชายเมย์เมื่ออดีตยอมตื่นเช้าตรู่ตอนตี 3 เพื่อมารอดูฝีมือฟาดแข้งมืออาชีพขั้นเทพในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี ’94

และหลังจากนั้น “ฟุตบอล” ก็กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของครูผู้นี้มาโดยตลอด เรียกว่า 10 ปีที่ไม่เคยหยุดฝัน จากรุ่นสู่รุ่น ครูเมย์และเพื่อนอาจารย์พร้อมสานต่อความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่า

“ตอนเด็กไม่เคยได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนนครตรัง ผมไม่เคยได้เป็นตัวแทนของภาคใต้ แต่วันนี้ผมได้ทำสิ่งนี้ให้เด็กๆ มันเหมือนการชดเชยความฝันที่ผมไปไม่ถึง”

ครูเมย์ ยุทธศักดิ์ ชัยแก้ว
ครูภาษาไทยและโค้ชบอล โรงเรียนเทศบาล 1 สังขวิทย์ จังหวัดตรัง

ถ้าอนาคตเลือกได้ แล้วฝันละใครกำหนด?

การที่เกิดมาในครอบครัวที่ทั้งพ่อแม่เป็นครู ทำให้เส้นชีวิตของเด็กชายยุทธศักดิ์ได้ถูกขีดเส้นวางกรอบไว้แล้วโดยไม่รู้ตัว ทั้งความคาดหวังที่พ่อแม่อยากให้ลูกมีอนาคตดีๆ ร่ำเรียนสูงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เรียนในโรงเรียนชั้นประถมชื่อดังประจำจังหวัด อย่างโรงเรียนบูรณะรำลึก ที่เด็กชายได้รับคัดเลือกให้ติด 1 ใน 20 โรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทดสอบระดับชาติ (ผลคะแนน O-Net) สูงสุดของประเทศไทย

“พูดภาษาบ้านๆ คือเป็นโรงเรียนที่เน้นเรียนลูกเดียวฟุตบอลที่จะเล่นได้ก็มีเพียงฟุตบอลพลาสติก การที่จะได้เล่นฟุตบอลลูกหนัง พูดได้เลยว่าหมดสิทธิ์”

ถึงกระนั้นทุกช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลพลาสติก ในวันคริสต์มาสที่มีการมอบถ้วยรางวัลนักเตะยอดเยี่ยม ก็จะต้องมีชื่อของเด็กชายยุทธศักดิ์ขึ้นแท่นรับรางวัลเสมอ รวมไปถึงการคว้าแชมป์การแข่งขันต่างๆ ตั้งแต่ ป.6 ม.1 ม.2 ม.3 ตลอดมา จนพูดได้ว่าเป็นการได้ทำสิ่งเดียวที่เขารักอย่างเต็มตัว และกลายเป็น “นักฟุตบอลพลาสติก” ตัวท็อปในสายตาของทุกคนในโรงเรียน

“แต่ในความรู้สึกลึกๆ แล้ว ผมว่ามันยังไม่สุด ผมอาจจะเก่งแค่ฟุตบอลพลาสติกในโรงเรียน ใจจริงแล้วผมอยากเป็นนักกีฬาจังหวัด แต่ว่าผมก็ทำไม่ได้ เพราะโรงเรียนที่ผมอยู่ตอนนั้นไม่ได้เน้นไปที่เรื่องกีฬาเลย ทุกๆ 7โมงเช้า ผมจะต้องตื่นมาท่องศัพท์ เขียนศัพท์ เรียนทั้งวัน เวลาที่ผมจะได้เล่นฟุตบอลน้อยมาก ตอนเย็นก็ต้องไปเรียนพิเศษ”

หมุนเวียนเป็นวัฏจักรชีวิตที่เขาต้องเผชิญตลอด 7 วัน จนกระทั่งจะจบ ม.3 จึงมีความคิดที่อยากจะออกจากกรอบวิถีเดิมๆ

“เลยปรึกษาคุณแม่ซึ่งท่านแนะว่ามีอีกโรงเรียนหนึ่งในภาคใต้ คือโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งอยู่ที่จังหวัดปัตตานี ที่เหมาะกับผม เวลานั้นผมมีเป้าหมายที่จะออกไปสู่โลกกว้าง…ได้เล่นฟุตบอลบ้าง แต่สุดท้ายก็หนีเรื่องการแข่งขันด้านการเรียนไม่พ้น”

 

แม้ไม่ได้ทำความฝันหรือสิ่งที่ตนรักแต่แรก จงอย่าลดความพยายาม

 

นับว่าคุ้มค่า เพราะสิ่งที่ได้มาในระหว่างที่อยู่ในรั้วสาธิตมอ. มีหลายอย่างที่ไม่เคยได้รับตอนเรียนม.ต้น นั่นคือ มิตรภาพ อิสรภาพเสรี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เล่นฟุตบอล ซึ่งแม้ว่าจะไม่เต็มที่ แต่ก็ได้เป็นตัวแทนโรงเรียน ได้ใช้ชีวิตการเป็นเด็กหอ กลางวันเรียน ตอนเย็นได้ซ้อมฟุตบอล ชีวิตมีความสุข ได้มีโค้ชคนแรกในชีวิตที่เขาไม่เคยลืม คือ อาจารย์สุรชัย อุเลา

เด็กชายเมย์เวลานั้นได้เป็นนักกีฬาโรงเรียน ได้แข่งกีฬาสาธิตสามัคคี ได้มีโอกาสซ้อมกับทีมฟุตบอลมหาวิทยาลัย จนได้รับการทาบทามจากโค้ชกีฬามหาวิทยาลัย ว่าหากได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี ก็จะได้เล่นฟุตบอลต่อ

แลกฝันจากฟุตบอลที่รัก มาเป็นครูภาษาไทย

หลังจากคุยกับโค้ช ดูเหมือนเขาจะเห็นแสงสว่างรำไรของอนาคตสำหรับตัวเองอยู่ตรงหน้า พอถึงเวลาเอนทรานซ์ที่มีเป้าหมายเป็นคณะศึกษาศาสตร์ เอกพลศึกษา น่าจะเป็นปลายทางแห่งฝันที่จะส่งต่อให้เขาได้เข้าเรียนที่ดีๆ พร้อมกับได้เล่นกีฬาที่รัก แต่แล้วเขาก็ต้องอกหักอีกครั้งเมื่อปรึกษาคุณพ่อคุณแม่แล้วถูกปฏิเสธ เพราะท่านเป็นครูจึงทราบดีว่า อาชีพครูพละมีอัตราเกษียณงานกันน้อย ครูส่วนใหญ่จะอยู่กันยาวๆ จึงมีอัตราตำแหน่งเปิดรับน้อย ทำให้สุดท้ายเขาต้องเบนเข็มไปเรียนเอกภาษาไทยแทน

ถึงจะเป็นอย่างนั้น ชีวิตในช่วงมหาวิทยาลัยของครูเมย์ก็ยังไม่ทิ้งฝันสำคัญของตัวเอง นอกจากเล่นฟุตบอลให้กับคณะศึกษาศาสตร์ และพยายามไปร่วมคัดตัวเพื่อเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัยทุกปี จนฝันเป็นจริงตอนปี 4 เมื่อสามารถพาคณะศึกษาศาสตร์ไปชนะเอกพลศึกษา ด้วยสกอร์ 3-1 จนไปเข้าตาโค้ชสมัยที่เคยทาบทามตอนเรียนมัธยมอีกครั้ง

ครูเมย์มีโอกาสเป็นตัวแทนนักกีฬาของทีมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ออกไปตะลุยแข่งในสนามต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกีฬาในระดับมหาวิทยาลัยทั้งที่หาดใหญ่กับสงขลา

จนเรียนจบก็ยังเล่นกีฬาฟุตบอลที่รักมาโดยตลอดเมื่อถูกทาบทามให้ไปเล่นในที่ต่างๆ จนได้มาเป็นครูอาชีพ อัตราจ้างโดยสอบบรรจุครูได้ที่วิทยาลัยการอาชีพกันตัง ได้สอนวิชาภาษาไทย และต่อมายังประจำที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่เป็นตลอด 2 ปีที่แทบไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอลเลย จนชีวิตเกิดความพลิกผันอีกครั้งเมื่อน้องชายที่รักฟุตบอลด้วยกันมาเสียชีวิต ครูเมย์จึงตัดสินใจลาออก กลับมาที่จังหวัดตรังบ้านเกิด ก่อนจะตัดสินใจสอบบรรจุครูอีกครั้งโดยเลือกโรงเรียนเทศบาล 1 สังขวิทย์ เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้ชิดพ่อแม่

 

ครูพละ ครูสังคม และโค้ชจิตอาสา

และที่โรงเรียนเทศบาล 1 สังขวิทย์นี่เองที่ครูภาษาไทยประจำชั้น ป.6 ผู้รักและหลงใหลในเกมกีฬาฟุตบอลได้ลุกขึ้นมาแก้เงื่อนปมที่ผูกติดตัวมาทั้งชีวิตได้สำเร็จ และส่งต่อความฝันไปยังน้องๆ ลูกๆ รุ่นหลัง ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาร่วมทศวรรษ โดยเริ่มต้นจากการสร้างทีมฟุตบอลและเพิ่มบทบาทของตัวเองในตำแหน่งโค้ชฟุตบอล…เพื่อให้เข้าใกล้ฝันที่ยังไม่ได้สาน

 

 ความรักในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะกลายเป็นฝันที่สำเร็จได้ ยังต้องลงมือทำด้วย

“เป็นสิ่งที่ผมอยากทำมากเลย คือใจผมผูกผันกับฟุตบอลมาตลอดเวลา เลยไปขอโอกาสกับท่านผอ.ไสว ตรังคประสิทธิ์ ผมเป็นครูภาษาไทยก็จริง แต่ผมยังเคยเป็นนักกีฬาฟุตบอลมาก่อน เลยขอท่านตรงๆ ว่าผมอยากเป็นโค้ชฟุตบอล ซึ่งท่านก็เข้าใจเพราะท่านเคยเป็นโค้ชทีมฟุตบอลจังหวัดตรังมาก่อนที่จะมาเป็นผอ. ผมก็เลยได้ทำ”

ครูเมย์ทำหน้าที่ครูภาษาไทยควบรวมกับฝันในความรักฟุตบอลโดยการรวมตัวกับเพื่อนครูอีก 3 ท่าน…ครูพละ ครูสังคม และโค้ชจิตอาสา ทั้งหมดสี่คนร่วมกันสร้างทีมฟุตบอลโรงเรียนเทศบาล 1 สังขวิทย์ขึ้น ใช้เวลาตลอดเกือบ 10 ปีฟูมฟักสร้างทีมมาเดินสายแข่งขันทั้งประเภทฟุตซอล หรือฟุตบอล 11 คนในสนามต่างๆ

ทั้งหมดเริ่มต้นสร้างทีมในปี 2554-2556 โดยในปี 2555 ซึ่งนับเป็นช่วงแรกของทีมที่ถือว่าเป็นช่วงล้มลุกคลุกคลาน แต่ได้เปิดโอกาสให้เด็กๆ ออกไปสู่โลกกว้าง มาปีที่ 2 ของการทำทีมก็เฉียดใกล้ความฝันที่สำเร็จไปอีกขั้น เมื่อทีมเริ่มฉายแววสามารถเข้าสู่อันดับ 4 ของภาคใต้ในการแข่งขันกีฬานักเรียนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะทำการคัดเลือกทีมอันดับ 1-3 ไปแข่งขันในระดับประเทศ

จนกระทั่งในปี 2557 จึงมีการดึงตัวเหล่านักกีฬาฟุตบอลเก่งๆ จากโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ในสังกัดเทศบาลตรังทั้ง 8 โรงเรียนมาสร้างเป็น “ทีมรวมโรงเรียน” เพื่อมุ่งไปสู่ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ถึงขั้นมีการบ่มเพาะเด็กๆ ที่มีอายุเพียง 9 ปี 11 ปี เพื่อสร้างทีมเพื่อนำไปสู่การแข่งขันในสนามที่ใหญ่ขึ้น

ครูเมย์ เป็น “โค้ชเมย์”

แล้วผลสำเร็จที่ใหญ่ขึ้นตามมาก็เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแชมป์กีฬาฟุตบอลจังหวัดสำหรับนักเรียนอายุ 12 ปี (ตั้งแต่ปี 2558-2562 เรียกว่า 5 ปีซ้อน) รวมไปถึงการไปคว้าแชมป์ภาคใต้กีฬาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จังหวัดชุมพร และเป็นตัวแทนของภาคใต้ไปแข่งกีฬานักเรียนองค์กรปกครองสวนท้องถิ่นในกรุงเทพฯ ที่สนามไทย-ญี่ปุ่นดินแดง กรุงเทพฯ ในปี 2558

ทีมชุดปี 2558 นี่เองถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของ วาริส ชูทอง นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทย อายุไม่เกิน 23 ปี ที่มีอายุเพียง 11 ปีในขณะนั้น โดยในปีถัดมาปี 2559 ครูเมย์หนึ่งในโค้ชที่ดูแลทีม ซึ่งมีวาริสในฐานะกัปตันทีม ได้พาทีมชนะเลิศในอันดับ 3 ของภาคใต้ของการแข่งขันกีฬาฟุตบอลส่วนท้องถิ่น

จากวันนั้นในอดีตของเด็กชายยุทธศักดิ์ที่พ่อแม่อยากให้ทุ่มเทชีวิตกับการเรียนเป็นหลัก แต่ด้วยความรักและลุ่มหลงในเกมกีฬาฟุตบอลจนกลายมาเป็นโค้ชครูเมย์ในวันนี้และสานต่อความฝันของตัวเองที่ไม่เคยเกิดขึ้น พร้อมหลักและแนวทางที่ถ่ายทอดไปยังเด็กรุ่นหลัง

“ยังมีอีกหลายอย่างที่ผมไม่ได้ทำ ผมได้เป็นแค่นักกีฬาโรงเรียน ตอนเด็กไม่เคยได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนนครตรัง ผมไม่เคยได้เป็นตัวแทนของภาคใต้ แต่วันนี้ผมได้ทำสิ่งนี้ให้เด็กๆ มันเหมือนการชดเชยความฝันที่ผมไปไม่ถึงของตัวเอง เหมือนกับที่ วาริส ชูทอง (“ศิษย์” ของทีมบอลที่ครูเมย์และบรรดาเพื่อนโค้ชร่วมสร้าง) เขาประสบผลสำเร็จ ปัจจุบันเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย และเคยติดโครงการ Fox Hunt โดยคิง เพาเวอร์ ไทยเพาเวอร์ พลังคนไทย ซึ่งเราโค้ชทั้ง 4 คนมีความภาคภูมิใจกับเขามากเลย

เราเน้นย้ำสอนเด็กของเราอยู่ประจำว่า ข้อ 1 ต้องมีวินัย…รับผิดชอบทั้งตัวเองและครอบครัว ต้องฝึกซ้อมไม่ขี้เกียจ ข้อ 2 มีสัมมาคาราวะ… บางทีเราบังเอิญไปเตะเพื่อนเข้า เราก็ต้องยกมือไหว้ (ขอโทษ) เขา จนกรรมการงง อีกข้อเป็นเรื่องจิตใจ…ผมมักพูดกับเด็กๆ เสมอว่ากีฬาฟุตบอลจะมีการปะทะกัน ถ้าเราคิดว่าแพ้ตั้งแต่แรกแล้วเราไม่สู้ เราก็แพ้ ผมยังบอกกับเด็กเสมอว่าเราต่างมีสองขาเท่ากันกับเพื่อน ตราบใดที่เวลา (ในการแข่งขัน) ยังไม่หมด อย่าเพิ่งคิดว่าจะแพ้ เราต้องสู้จนหยดสุดท้าย”

สนามมาตรฐาน…โอกาสฝึกเพื่อให้เยาวชนไปต่อ

สิ่งที่ครูเมย์ได้มุ่งมั่นตั้งใจมาตลอดระยะเวลาเกือบทศวรรษในการสร้างทีมฟุตบอลขึ้นมา ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เขาเพียรพยายามมาโดยตลอด จนวันนี้สัมฤทธิ์ผลแล้ว นั่นคือการผลักดันให้ที่นี่มีสนามฟุตบอลมาตรฐาน “ให้เป็นที่เล่น…ที่ฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาเยาวชนเหล่านี้” ซึ่งโอกาสที่ครูเมย์มองเห็น คือการสมัครร่วมโครงการ “100 สนามฟุตบอลสร้างพลังเยาวชนไทย” ในปีที่ 4 ของคิง เพาเวอร์

“เพราะเราเชื่อว่าสนามฟุตบอลที่ดีก็จะช่วยเพิ่มพัฒนาศักยภาพให้กับเด็กๆ และทีม ถ้าเราไม่มีสนามฟุตบอล เราก็จะไม่มีที่เล่นฟุตบอล ไม่มีที่ฝึกซ้อม

 

 การส่งต่อความฝันเพื่อสานฝันส่วนตัวเพื่อส่วนรวมนั้น…มีพลังจริงๆ

 

ย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา ลองนึกภาพสนามฟุตบอล 7 คนที่เด็กๆ ของเราซ้อมกัน มันเป็นสนามพื้นหญ้าและอย่างที่รู้กันว่าภาคใต้ฝนจะตกเยอะมาก และถ้าช่วงไหนฝนตกชุก ช่วงฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งส่วนมากการแข่งกีฬาจะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม

เมื่อไรที่ฝนตก สนามก็จะพังก่อนที่เราจะไปแข่งขันกีฬาไปทุกครั้ง แต่นับจากนี้ไปเราจะไม่เห็นสนามดินหรือสนามหญ้าที่พังเวลาฝนตก จนต้องวิ่งออกไปหาสนามที่อื่นเพื่อซ้อมหรือเก็บตัวนักฟุตบอลก่อนลงแข่งอีกต่อไป เพราะปีนี้จะเป็นปีแรกที่เราจะได้เห็นการเก็บตัวในสนามที่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐานของฟีฟ่าเลย

“ผมเชื่อว่าสิ่งที่ได้รับไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผมเท่านั้น แต่มันจะสะท้อนไปที่เด็กด้วย เด็กก็ได้รับสิ่งดีๆ ไปด้วย เหมือนที่ คิง เพาเวอร์ เคยบอกว่าอยากให้เด็กได้เล่นฟุตบอล อยากให้ชุมชนได้เล่นฟุตบอล ให้เด็กห่างไกลยาเสพติดเป็นปัจจัยหลักเลย แต่ว่าสิ่งที่ตามมามันมากกว่านั้น…”

เพราะสนามหญ้าเทียมสีน้ำเงินเพิ่งสร้างเสร็จแบบสดๆ ร้อนๆ ปีนี้จึงจะเป็นปีแรกที่โรงเรียนเทศบาล 1 สังขวิทย์ จังหวัดตรัง และทุกคนในชุมชนละแวกใกล้เคียง จะได้ใช้สนามจาก คิง เพาเวอร์ แห่งนี้ในการเก็บตัวนักกีฬาที่เป็นตัวแทนของเทศบาลนครตรังไปแข่งกีฬานักเรียนปกครองส่วนท้องถิ่นระดับภาคใต้

ครูเมย์และคนในชุมชนเชื่อมั่นว่านี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ไม่เฉพาะเพียงแต่ด้านกีฬาแต่ยังเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาศักยภาพโดยตรงกับผลงาน “ลูกกลมๆ” ที่จะเกิดขึ้นสมกับความตั้งใจของความรักในกีฬาฟุตบอลของทั้งตัวครูเมย์เอง…ส่งต่อไปยังเด็กและเยาวชนของทั้งชุมชนต่อไป

 

ถอดรหัสความรักฟุตบอล

สานต่อฝันที่เป็นจริงให้ศิษย์ของครูเมย์

✓  แม้ไม่ได้ทำความฝันหรือสิ่งที่ตนรักแต่แรก จงอย่าลดความพยายาม

✓  ความรักในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะกลายเป็นฝันที่สำเร็จได้ ยังต้องลงมือทำด้วย

✓  การส่งต่อความฝันเพื่อสานฝันส่วนตัวเพื่อส่วนรวมนั้น…มีพลังจริงๆ

 

Author

พงษ์ฉัตร อินทรานุปกรณ์

Author

จบเศรษฐศาสตร์แต่ชอบแมว เป็นคนรักภาพยนตร์ เริ่มต้นอาชีพ “Filmcooking” กับค่ายใบโพธิ์ที่ต่อมา เสี่ยเจียง เจ้าสำนักชวนให้ย้ายมาอยู่แผนกโปรโมทหนัง ชีวิตเลยนัวเนียติดหนุบหนับทั้งหนังไทย จีน ฝรั่ง จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมาถึงบัด now เคยเขียนคำโปรยให้โปสเตอร์หนัง Before Sunrise เมื่อนานแล้วแต่จำแม่นจนวันนี้ว่า "ความโรแมนติกไม่จำกัดเวลาและสถานที่ เพียงสบตาเธอในอ้อมกอดของฉันก็อยากหยุดเวลาและตะวันไว้ที่เธอ" ตอนนี้สนใจเป็นพิเศษในเรื่องมนุษย์และก้อนพลังบวกๆ แห่งความสัมพันธ์

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ