“ล้านนา” เป็นอาณาจักรทางตอนเหนือของประเทศไทยที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีตกาล ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ มีศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ เห็นได้จากงานฝีมือที่เกิดจากความภาคภูมิใจของลูกหลานล้านนาที่ยังคงรังสรรค์และสืบทอดกันมาจวบจนปัจจุบัน
“เราเอาความเป็นไทยแบบล้านนามาลดทอนรายละเอียดให้ดูโมเดิร์นให้สามารถเข้าถึงคนสมัยใหม่ได้ง่ายขึ้น” ป้าติ่ง–ณัชรัตน์ ชุมพานิชวศุตม์ เจ้าของแบรนด์ “รักษ์บาติก” (RUKBATIK) ผู้สร้างสรรค์งานผ้าจากภูมิปัญญาไทยโบราณผสานนวัตกรรมใหม่ๆ ถอดรหัสความเป็นล้านนาออกมาเป็นผืนผ้าย้อมสีธรรมชาติที่สื่อถึงเรื่องราวของชาวล้านนา มีกลิ่นหอม อีกทั้งยังป้องกันแบคทีเรียและไวรัส
ทั้งวิทย์และศิลป์สอดร้อยกันเป็นงานศิลปะร่วมสมัยที่สามารถสวมใส่ได้
เริ่มต้นด้วยความเจ็บป่วย!!
“รักษ์บาติก” เกิดจากประสบการณ์ของป้าติ่งที่เคยเป็นผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ ได้ดูแลกลุ่มสตรีที่ทำงานด้านหัตถกรรมในจังหวัดลำพูนมากกว่าร้อยกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่โดดเด่นเรื่องการทอผ้า ชื่อ ผ้าไหมยกดอกลำพูน หรือ ผ้าฝ้ายป่าซาง คงจะเป็นที่คุ้นหูกันดี
“ชาวบ้านเขาใช้สีเคมีกันค่อนข้างเยอะจนส่งผลเสียกับตัวเองเคยนำกลุ่มทอผ้าไปออกงานแสดงสินค้าตามจังหวัดต่างๆหรือที่กรุงเทพฯ บางทียังเดินทางกลับไม่ถึงบ้านต้องแวะโรงพยาบาลกันก่อนก็มี” นั่นคือแรงบันดาลใจแรก
บางครั้งก็เคยพาผู้ประกอบการไปดูงานยังประเทศเพื่อนบ้านได้เห็นว่าหลายแห่งเขาสามารถทำงานในระบบโรงงานได้ดีกว่าคนไทยค่าแรงก็ถูกกว่ามีแบรนด์ระดับโลกไปใช้บริการเป็นประจำเราคงไปต่อกรในเรื่อง Mass production ผลิตทีละเยอะๆคงไม่ได้ต้องพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ในรูปงานฝีมือที่เลียนแบบไม่ได้นั่นคือแรงบันดาลใจที่สอง
ปี 2555 ป้าติ่งก็เลือกเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด เพื่อนำแรงบันดาลใจเหล่านั้นมาเริ่มต้นสร้างสรรค์งานฝีมือ
Suggestion
สีธรรมชาติดีต่อใจ สมุนไพรดีต่อกาย
สิ่งแรกเลย…ป้าติ่งนำภูมิปัญญาไทยเรื่องการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติเข้ามาทดแทนสีเคมี “เป็นคนแรกเลยที่นำใบลำไยมาย้อมผ้านำมาต้มให้ได้สีย้อมสีเหลืองทอง-น้ำตาลยิ่งต้มนานสียิ่งเข้มซึ่งสีจากลำไยจะมีคุณสมบัติช่วยคลายกล้ามเนื้อได้ก็เลยไปค้นคว้าต่อว่ามีสมุนไพรไทยอะไรบ้างที่สามารถนำมาทำสีย้อมผ้าได้”
อีกสีหนึ่งนับเป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่ไทยมานานคือสีฟ้า-น้ำเงินจากต้นห้อม (ฮ่อม) ซึ่งป้าติ่งสังเกตได้ว่าเวลาหน้าหนาวใส่เสื้อหม้อห้อม (ฮ่อม)จะอุ่นแต่ถ้าใส่ตอนร้อนจะรู้สึกเย็นพร้อมทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และยังได้สมุนไพรอีกหลายชนิด เช่น สีแดงจากฝาง ครั่ง สีเหลืองจากขนุน เพกา สีน้ำเงินจากคราม ผ้าที่ย้อมด้วยสมุนไพรเหล่านี้ถ้ามีการสัมผัสกับผิวแทนที่จะระคายเคือง กลับช่วยให้เกิดผลดีต่อสุขภาพนั่นเอง
ไม่ได้จบแค่การนำผ้ามาย้อมสีจากสมุนไพรธรรมชาติเท่านั้นเขายังสกัดสีจากสมุนไพรให้เข้มข้นจนใช้เป็นสีวาดลวดลายบนผืนผ้าได้
จากภูมิปัญญาสู่ล้านนาร่วมสมัย
ผ้าบาติกของ “รักษ์บาติก” จะใช้พู่กันจุ่มสีจากสมุนไพรในการเพนต์แทนการใช้เทียนวาดลายบนผ้าบาติกทั่วไปผืนผ้าจึงกลายร่างเป็นเฟรมวาดรูปช่วงแรกคุณป้ามอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญการวาดและย้อมผ้าของชุมชนเป็นผู้ทำให้แต่เมื่อเริ่มมีออร์เดอร์มากขึ้นเรื่อยๆทางผู้ผลิตก็เริ่มปฏิเสธงานเพราะงานที่เขามีอยู่เดิมก็ล้นมืออยู่แล้ว
“เลือกได้แค่ เลิก หรือ ทำต่อ” ป้าติ่งและสามีเลือกทำต่อ จึงต้องเริ่มต้นฝึกปรือการตวัดพู่กันเพื่อแสดงฝีมือบนผืนผ้าด้วยตนเอง
“ไม่อยากให้เป็นแค่ผ้าที่เปื้อนสีเท่านั้น อยากสอดแทรกเรื่องราวสื่อสารความเป็นล้านนาลงไปด้วย เป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไปพร้อมกับการสร้างเอกลักษณ์ให้กับผ้า” จึงนำลวดลายโบราณจากสถาปัตยกรรม งานช่าง วิถีชีวิตล้านนามาประยุกต์เป็นลวดลาย
ลายที่เป็นที่นิยม เช่น “ลายน้ำไหลไทลื้อ” ดัดแปลงมาจากลายผ้าของชาวไทลื้อที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ลดทอนรายละเอียดเป็นเส้นโค้งพลิ้วไหวไปทั้งผืนผ้าดูทันสมัยเป็นสากล บางผืนผสาน “ลายหญ้าคา” ลงไป เพื่อเล่าถึงวิถีชีวิตล้านนาที่มักปลูกบ้านอยู่ริมน้ำ ซึ่งหญ้าคาเป็นวัสดุที่หาง่าย ใช้ง่าย และบางครั้งชาวบ้านก็มาร่วมแรงร่วมใจกันตัดหญ้าคามุงหลังคาบ้านอีกด้วย
“ลายเครือเถา” มาจากศิลปะล้านนาโบราณที่นำลักษณะของเถาวัลย์มาดัดแปลงเป็นลวดลายปูนปั้นหรือแกะสลักประดับวัดวาอารามและบ้านเรือน ประยุกต์ให้เส้นสายเกี่ยวพันกันไปมาบนผืนผ้าดูร่วมสมัย
ยามมีเทศกาลหรือประเพณีมักมีการปล่อยโคมลอยขจัดทุกข์โศกหยิบโคมมาสร้างสรรค์เป็น“ลายโคมลอย” ประกอบกับชาวล้านนานิยมจุดพลุในงานต่าง ๆ ด้วยความเชื่อถึงความสว่างไสวให้โชคเข้ามาสู่ชีวิต ก็ดัดแปลงเป็น “ลายพลุ” แม้แต่เครื่องรางของขลังอย่าง บ่าปล่อย หรือ ปรอทกรอ ก็นำมาดัดแปลงเป็น “ลายบ่าปล่อย” ที่ทันสมัยน่าใช้ น่าเรียนรู้ถึงที่มาของลวดลาย
Suggestion
ผ้าดีต้องมี “กลิ่น”
ใช้สีย้อมสมุนไพรธรรมชาติวาดลวดลายแสดงความเป็นไทยล้านนาแบบโมเดิร์นเท่านั้นยังไม่พอป้าติ่งพยายามเพิ่มคุณค่าของผ้ารักษ์บาติกให้มากยิ่งขึ้นโดยนำนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาช่วย “ได้ทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้และสวทช. เราต้องการนำสมุนไพรกำยานสยาม (Siam Benzoin) ที่สมัยก่อนเขาใช้เป็นเครื่องหอมมีคุณสมบัติแก้โรคหืดหอบมาใส่ในผ้า” ใช้เทคโนโลยีนาโนเก็บกลิ่นกำยานสยามเข้าในแคปซูลขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่ามาเคลือบให้ซึมเข้าสู่ผืนผ้าทุกครั้งที่ใช้ผ้าคลุมไหล่หรือผ้าเช็ดหน้าจะได้กลิ่นหอมอ่อนๆเป็นการบำบัดด้วยกลิ่นไปในตัว
พร้อมทั้งศึกษาเรื่องการป้องกันแบคทีเรียและไวรัสของผ้าจากเดิมที่มักใช้สารเคมีเป็นตัวออกฤทธิ์ก็ปรับเปลี่ยนให้เป็นสารอินทรีย์เคลือบบนผืนผ้าให้สามารถป้องกันเชื้อโรคดังกล่าวได้ซึ่งผ่านการทดสอบเรื่องแบคทีเรียมาแล้วแต่การป้องกันไวรัสต้องส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศ
อีกไม่นานนัก “รักษ์บาติก” ก็จะมีผ้าที่เกิดจากภูมิปัญญาโบราณผสานกับนวัตกรรมสมัยใหม่ เป็นการย้อมและสร้างลวดลายด้วยสมุนไพรที่ มีกลิ่นหอมที่บำบัดระหว่างใช้งาน แถมยังป้องกันแบคทีเรียและไวรัสได้อีกต่างหาก ถือว่าไม่ธรรมดาเชียวล่ะ
รักษ์บาติก–รักษ์โลก
เริ่มต้นจริงจังประมาณปี 2556 ด้วยวิธีคิดของป้าติ่งผ่านไปไม่กี่ปีก็สามารถคัดสรรเป็น OTOP 5 ดาวสร้างผลิตภัณฑ์ให้ประจักษ์สู่ตาชาวโลก“ทราบจากการขายที่ คิง เพาเวอร์ ทั้งที่สนามบินและซอยรางน้ำนี่ล่ะค่ะ ว่าชาวต่างชาติชอบงานของรักษ์บาติก” ด้วยคุณสมบัติครบเครื่องขนาดนี้ ควรค่าแก่การขายดีเป็นอย่างยิ่ง
ในช่วงเวลา 8 ปี รักษ์บาติกสามารถสร้างงานให้ชุมชนหลายคลัสเตอร์ ทั้งคลัสเตอร์สมุนไพร ย้อมผ้า เย็บผ้า แม้กระทั่งเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บก็มีกลุ่มชาวบ้านที่นำไปต่อและปั่นเป็นเส้นด้ายเพื่อทอเป็นผืนผ้าขึ้นมาใหม่ไม่ให้เหลือขยะ ตามเจตนารมณ์ว่า “รักษ์” ไม่ใช่แค่รักษาศิลปวัฒนธรรมและสุขภาพผู้คน แต่รวมไปถึงการอนุรักษ์โลกใบนี้กันเลย
“หลายคนบอกว่าสีธรรมชาติมันไม่ง่ายทำไปแล้วท้อบ่อยแต่เรากลับรู้สึกว่าท้าทายอยู่ตลอดเวลาแม้จะอายุ 65 แล้วก็อยากทำงานอยู่ตลอดอยากค้นคว้าไปเรื่อยๆ”
สำหรับป้าติ่งอายุคงเป็นเพียงตัวเลขยังคงเปี่ยมพลังพร้อมสร้างสรรค์สิ่งดีๆได้อีกมากมายแน่นอน
RUKBATIK
ที่ตั้ง : 238/30 หมู่บ้านศิริวัฒนานิเวศน์ หมู่ 6 ซอย 1 ถ.มหิดล ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50000
Website: RUKBATIK
Facebook: RUKBATIK
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: RUKBATIK
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา
ปักหมุดจุดเช็คอิน–แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง
• พิพิธภัณฑ์ผ้าทอมือหริภุญชัย…เรียนรู้ความเป็นมาในการทอผ้าของคนลำพูน โดยเฉพาะ “ผ้าไหมยกดอกลำพูน” ราชินีแห่งผ้าไหมอันลือเลื่อง ซึ่งมีที่เดียวในประเทศไทย และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI (Geographical Indication ) ไปเรียบร้อย
• ชุมชนบ้านหนองเงือก…สัมผัสชุมชนไทนยองของลำพูน แหล่งทอผ้าฝ้ายที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน เรียนรู้กระบวนการทอผ้าฝ้ายหรือลองทอ “ทอหูกคู่รัก” ที่สามารถทอได้พร้อมกันสองคนเพิ่มความโรแมนติก
• โฮมสเตย์ชุมชนพระบาทห้วยต้ม…วิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอที่ยังรักษาขนมธรรมเนียมไว้อย่างเหนียวแน่น รวมถึงการทอผ้าแบบโบราณใช้กี่เอวและวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น