“ลำพูนก็คือลำไย ลำไยก็คือลำพูน”
ได้ยินแล้วต้องหยุดฟังพี่เขาพูดต่อ…“ที่ไหนก็ปลูกลำไยได้ไม่อร่อยเท่าที่ลำพูน พูดได้เลยว่า ลำไยคือชีวิตของคนที่นี่” ว่าแล้วก็อยากแกะกล่องฉีกซองลำไยอบแห้งเนื้อสีทองชิมกันทันทีเลยทีเดียว เนื้อสัมผัสนุ่ม เคี้ยวง่าย รสชาติหวานแต่ไม่หวานมากจนเกินไป พลิกดูชื่อผู้ผลิต “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านริมร่อง” อืม…หมู่บ้านนี้ไม่ธรรมดา
…วิกฤติสร้างผลิตภัณฑ์…
ที่จริงแล้วเรื่องลำไยกับลำพูนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีการเอ่ยถึงกันมานานนมแล้ว ถ้าชี้ต้นไม้ถามคนลำพูนแล้วบอกไม่ได้ว่าต้นไหนคือลำไย คงต้องตั้งข้อสงสัยว่าเป็นคนลำพูนจริงๆ หรือเปล่า
“เราเกิดและเติบโตที่จังหวัดลำพูน ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ก็เห็นว่าพ่อแม่ทำอาชีพสวนลำไย เรียนมหาวิทยาลัยจนมีงานทำได้ก็เพราะรายได้ที่มาจากการทำสวนลำไย ที่ปู่ย่าตายายพ่อแม่เราทำมานี่ล่ะค่ะ” หลิน–ธณภร ปราณธีรภาพ จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านริมร่องลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เล่าให้ฟัง เป็นการยืนยันว่าทุกหมู่บ้านในลำพูนต้องมีคนทำสวนลำไยแน่นอน
“ปี 2549 เกิดวิกฤตลำไยสดล้นตลาด จากกิโลกรัมละ 22 บาท ราคาตกเหลือ 3 บาท ตอนนั้นเราขาดทุนย่อยยับ มันท้อแท้ไปหมด” จะดึงดันขายลำไยสดต่อไปคงจะไม่รอด เขาเลยหันมามองวิถีดั้งเดิมของคนรุ่นก่อนที่ทำการแปรรูปผลผลิตเป็นลำไยอบแห้งไว้กินเองในครัวเรือน “มีคุณป้าบอกว่าทางเหนือเรามีภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการอบแห้งด้วยเตาฟืน เมื่อก่อนเขาจะใช้กระด้งแล้วก็เอาลำไยมาเรียงที่ด้านใน” เขาเริ่มทดลองปอกเปลือกลำไยคว้านเม็ดให้เรียบร้อย แล้ววางเรียงบนกระด้งหรือตะแกรงไม้ไผ่ ก่อนนำไปย่างบนเตาฟืนให้แห้ง
Suggestion
…ถึงเวลาเอ่ยคำว่า “สวัสดี”…
ฟังจากที่พูดถึงวิธีการทำลำไยอบแห้งวิถีท้องถิ่นเหมือนจะง่าย แต่ผลที่ได้ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด…“มีไหม้บ้าง มีแฉะบ้าง ได้ลำไยแห้งมาครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งก็ต้องทิ้ง” ไม่มีสิ่งใดได้มาโดยง่ายดาย ต้องลองผิด 2 ปี ลองถูก 2 ปี กว่าสูตรของพี่ๆ แม่ๆ จะลงตัว
“เราใช้ลำไยพันธุ์อีดอ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เหมาะกับการอบแห้งมากที่สุด เนื้อสัมผัสเวลาเคี้ยวจะอร่อยกว่าสายพันธุ์อื่น สีสันก็สวย” ลำไยพันธุ์อีดอเป็นลำไยกะโหลกที่ลูกใหญ่ มีเนื้อหนา เม็ดเล็กและยังเนื้อล่อนเม็ด น้ำน้อย อบแห้งแล้วสีสวย คัดขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เกรด AAA แหม…แค่เกรดมาตรฐาน AA ก็มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 27 มิลลิเมตรไปแล้ว ถ้ามาถึง AAA เรียกว่าต้องตัดยอดผลผลิตมาก่อนใครเลยล่ะ ที่สำคัญเขาไม่ใช้ลำไยนอกฤดูกาลเลย เนื่องจากความสมบูรณ์ไม่เท่ากับลำไยที่ออกผลตามฤดูกาลปกติ
ความมหัศจรรย์ในรสชาติของลำไยขึ้นชื่อเฉพาะที่นี่ ซึ่งถูกหยิบมาทำลำไยอบแห้ง ยังอยู่ที่รสหวาน…เนื้อสัมผัสกรอบ
ช่วงที่เปิดไลน์ผลิตมีแรงงานในหมู่บ้านมาลงแรงทำงานกันเต็มไปหมด ทำงานกันตั้งแต่ตี 5 เลิก 5 โมงเย็น ทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน สมาชิกในชุมชนมีครบทุกหน้าที่ตั้งแต่ขึ้นต้นเก็บลำไยไปจนถึงแพคลำไยอบแห้งใส่ถุง
ลำไยที่นำมาอบต้องล้างน้ำหลายครั้งเพื่อความสะอาดและลดความหวานลงบ้าง เวลาที่อบแห้งแล้วน้ำระเหยออกไปจะได้ไม่หวานแสบคอ ตอนเรียงลำไยบนตะแกรงก็ต้องคว่ำหน้าเนื้อส่วนที่ถูกคว้านลง ลำไยอบแห้งจะออกมาเป็นทรงกลมสวย ใช้เวลาอบไปราว 8-10 ชั่วโมง ก่อนจะเก็บเข้าห้องเย็นเพื่อรอแพคใส่บรรจุภัณฑ์ต่อไป
เมื่อทุกอย่างลงตัวก็นำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ตั้งชื่อแบรนด์ว่า “สวัสดี”
ผลลัพธ์ที่ได้คือมีคนให้ความสนใจและซื้อไปบริโภคมากมาย มากกว่าตอนเป็นลำไยสดเสียอีก “จากลำไยสดมาเป็นลำไยอบแห้ง จากกิโลกรัมละ 3 บาท มาเป็นกิโลกรัมละ 150 บาท มันเกิดขึ้นได้จริงๆ นะ” นับเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้เกษตรกรในชุมชนเลยก็ว่าได้
Suggestion
…ภูมิปัญญา+ภูมิศาสตร์=ตลาดก้าวไกล…
“คิง เพาเวอร์ คือเจ้าแรกที่เอาลำไยอบแห้งของเราไปวางขายในซุ้ม OTOP ที่สนามบินสุวรรณภูมิ พวกเราตื่นเต้นกันมาก ถ่ายรูปมาแล้วก็ส่งไลน์กลับมาให้คนที่บ้านดู พอมีชาวต่างชาติก็มาซื้อของเรา เราภูมิใจมาก…ดีใจมาก ที่ผลิตภัณฑ์ชุมชนมายืนอยู่ตรงจุดนี้ได้” สีหน้าหลินออกจะภูมิใจมากกว่าคำพูดเสียอีก เพราะสิ่งที่เธอตั้งใจทำมาหลายปีออกดอกออกผลน่าชื่นใจ
ด้วยความมุ่งมั่น จริงจัง ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองของลำพูนจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” (Geographical Indications) โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อปีพ.ศ. 2559 เป็นการรับรองผลผลิตที่เกิดจากที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงแหล่งภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้สินค้านั้นแตกต่างจากที่อื่น เรียกว่า “ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน” รสชาติแบบนี้ ได้มาตรฐานแบบนี้…มีที่เดียวในโลก!
…ลำไย ไม่ได้อร่อยแค่ที่ลำพูน…
“สิ่งที่ผลักดันให้เรามีแรงต่อสู้กับความท้อถอยก็คือ ความเชื่อมั่นที่ คิง เพาเวอร์ เขามอบให้เรา จึงได้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและนำไปเสนอให้กับตลาดสากล”
ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง 1 กิโลกรัม ทำจากลำไยสด 10 กิโลกรัม ปีหนึ่งๆ แบรนด์สวัสดีผลิตลำไยอบแห่งอร่อยๆ ส่งตรงจากชุมชนได้มากกว่า 30 ตัน ซึ่งต้องใช้ลำไยปริมาณมหาศาล ชาวบ้านลำพูนยังคงดำรงอาชีพด้วยการเป็นชาวสวนลำไยไปได้อีกนานแสนนาน…
และในวันนี้มีการสร้างสรรค์สินค้าในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นอีก เช่น ลำไยอบแห้งเคลือบช็อคโกแลต น้ำลำไยผง ลำไยสีทองในน้ำเชื่อม น้ำตาลกรวดจากลำไยอบแห้งสีทอง ลำไยไฟเบอร์… เพื่อขยายตลาดความอร่อยของลำไยลำพูนให้กว้างไกลสู่สากล
“เราทำด้วยความรักจากใจจริงๆ รักในอาชีพของพ่อแม่เราและเรารักชาวบ้านที่นี่ อยากเป็นส่วนหนึ่งในรอยยิ้มของเขา และสิ่งนั้นมันทำให้เรารู้สึกอิ่มใจมาก” ให้ทาย…ว่าคราวนี้ระหว่างสีหน้าหรือคำพูดของหลินที่จะภูมิใจมากกว่ากัน
Suggestion
ประโยชน์ของลำไยอบแห้ง
• มีน้ำตาลซูโครสและกลูโคสสูง ช่วยให้ร่างกายสดชื่น กระตุ้นการทำงานของลำไส้ ให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น
• มีวิตามิน B12 และโซเดียม ช่วยบำรุงประสาท สมองและกล้ามเนื้อให้ทำงานปกติ มีแคลเซียมสูง บำรุงฟันและกระดูกให้แข็งแรง
• บำรุงเลือด ลดความดันโลหิตสูง ช่วยสลายคอเลสเตอรอลในเลือด ยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลที่ผ่านผนังลำไส้
• ทำอาหารและเครื่องดื่มได้หลายชนิด เพราะใช้ทดแทนน้ำตาลทรายได้ เช่น ต้มเป็นน้ำลำไย ใส่ในหมูตุ๋น หรือน้ำก๋วยเตี๋ยว ใส่ในเมนูปลานึ่ง จะเพิ่มรสชาติลดการใช้น้ำตาลทราย
• หรือทำขนม เช่น วุ้นลำไย ข้าวเหนียวเปียกลำไย ฟรุตเค้กลำไย และคุกกี้ลำไย รวมทั้งเป็นส่วนผสมของ Energy Bar เพิ่มพลังงานสำหรับนักกีฬาอีกด้วย
ลำไยอบแห้ง ตราสวัสดี
ที่ตั้ง: วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านริมร่อง 228 ม.7 ต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน 51000
Facebook: SAWASDEELONGAN
ปักหมุดจุดเช็คอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง
• วัดพระธาตุหริภุญชัยฯ สักการะพระบรมธาตุเพื่อความเป็นสิริมงคล ชมความงามขององค์พระธาติและรอบบริเวณวัด แวะซื้อชุดพื้นเมืองที่ตลาดขัวมุงท่าสิงห์ฝั่งตรงข้ามวัด แล้วไปเก็บภาพที่ “ซุ้มประตูโขงท่าสิงห์”
• ประตูท่านาง ประตูเมืองโบราณที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นของทางลำพูน ที่นี่มีแนวกำแพงก่ออิฐถือปูนขนาดไปกับแม่น้ำกวงซึ่งเป็นวิวเก็บภาพคูลๆ พร้อมเก็บความสวยงามของประวัติศาสตร์สมัยห้าร้อยกว่าปีในอดีต
• พระพุทธบาทพระธาตุอินทร์แขวน สัมผัสความมหัศจรรย์แห่งความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อองค์พระธาตุบนหินใหญ่สองก้อนต่อกันริมผา ด้วยตาของตัวเอง บนยอดดอยถ้ำหิน