ความสำเร็จในธุรกิจบางคนบอกต้องใช้ฝีมือล้วนๆ บางคนว่าสำคัญที่โอกาส และบางคนเชื่อว่าต้องอาศัยโชคช่วย แต่ไม่ว่าจะใช้อะไรนำทาง “ความพยายาม” คือ วัตถุดิบหลักที่เจ้าของธุรกิจพึงมี
ถามว่ามีช่วงที่ท้อแท้บ้างไหม “ช่วงที่รู้สึกท้อก็คือช่วงที่ไม่มีวัตถุดิบช่วงแบบนั้นมันมาทุกปีเลย” และถ้าถามว่ากลางสถานการณ์ไวรัสระบาดธุรกิจเป็นอย่างไร “ยอดขายบางเจ้าหายไปเลยนะเคยส่งเดือนละประมาณ 4-5 หมื่นซอง ช่วงโควิด 2 ปีมานี้คือเป็นศูนย์เลย” คุณแอม-ศรีภา แสงฟ้าสุวรรณ ผู้ที่ทำให้ชื่อ กล้วยอบเล็บมือนาง “ศรีภา” ผลิตภัณฑ์จากจังหวัดชุมพรโดดเด่นเป็นที่เลื่องลือ ก็ยังประสบภาวะวิกฤตดังเช่นคนอื่นๆ เพราะตลาดการค้าตอนนี้ผันผวนแบบต้องใช้พลังการจัดการเยอะ
แต่เธอลุกได้!! และเดินต่อแบบมั่นคงเสียด้วย…เพราะอะไร
“ธุรกิจจะสำเร็จต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า มีความจริงใจ และรักษามาตรฐาน”
ศรีภา แสงฟ้าสุวรรณ เจ้าของธุรกิจ กล้วยอบเล็บมือนาง “ศรีภา”
ท้อรายปี…แต่ไม่มีวันยอมแพ้
ปัญหาหลักที่มารบกวนใจและพาให้คุณแอมท้อใจจะมาทุกๆฤดูร้อน
“กล้วยมันตายค่ะ ฤดูร้อนทีไรกล้วยจะมีน้อย พยายามติดต่อให้เกษตรกรเอามาขายให้เราทั้งจังหวัดเลย” แต่คนต้องการกล้วยเล็บมือนางก็มีหลายเจ้า เกิดการให้ราคาเกษตรกรแบบตัดหน้ากันบ่อย “ขนาดคนที่เคยขายให้เราประจำนะ พอช่วงกล้วยขาดแคลนมีคนมาให้ราคามากกว่าห้าสิบสตางค์หรือบาทหนึ่ง เขาก็จะขายให้แล้ว พี่ต้องเรียกมาคุยเลยว่าเขาให้กี่บาทฉันก็จะเพิ่มให้”
จนต้องตัดสินใจสร้างห้องเย็นเพื่อเก็บวัตถุดิบในฤดูที่มีเยอะไว้ใช้ในยามขาดแคลน พร้อมทั้งทำสวนกล้วยเล็บมือนางปลอดสารพิษอีก 9 ไร่ ด้วยมาตรฐาน Good Agricultural Practices (GAP) ให้ได้ของที่ดีและปลอดภัย “แต่ก็ยังต้องซื้อจากเกษตรกรถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนของเราผลิตเองได้ก็แค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง”
ทั้งมีสวนกล้วยเอง ทั้งมีห้องเย็น แต่วัตถุดิบก็ยังไม่พอ ต้องใช้เยอะขนาดไหนกัน “วันหนึ่งเราซื้อกล้วยดิบประมาณ 3-4 ตัน ค่ะ”
คุณแอมพูดด้วยน้ำเสียงธรรมดา ทั้งๆ ที่คนได้ยินรู้สึกว่าจำนวนมันมากมายเหลือเกิน
“เขาบอกว่ามันอร่อย”
ย้อนไปประมาณ 20 ปีก่อนกล้วยเล็บมือนางยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไรแต่คนชุมพรจะรู้จักกันดีมันเป็นกล้วยลูกเล็กเรียวคล้ายนิ้วของสาวๆดูเผินๆก็คล้ายกับกล้วยหอมลูกเล็กๆด้วยสภาพพื้นที่และภูมิอากาศของจังหวัดชุมพรทำให้รสชาติของกล้วยพันธุ์นี้อร่อยชาวบ้านมักถนอมไว้กินนานๆด้วยการนำไปตากแดดให้แห้งออกมาเป็นกล้วยตากเนื้อหนึบและหวานนวลๆได้ชิมแล้วจะหยุดไม่อยู่
“เวลากลับไปบ้านทีไรก็เอากล้วยเล็บมือนางมาฝากคนนู้นคนนี้หลายคนได้ลิ้มลองรสชาติเขาก็บอกว่ามันอร่อย” ตั้งแต่เรียนจบคุณแอมทำงานเป็นเลขาฯของบริษัทชื่อดังมานานถึง 11 ปีใครจะรู้ว่าการนำกล้วยมาฝากเพื่อนจะเป็น ‘โชคชะตา’ ที่จะได้เปลี่ยนอาชีพ “พอมีคนว่าอร่อยก็ได้ไอเดียด้วยอาชีพพี่ต้องเจอกับพนักงานขายเยอะๆก็ลองเอากล้วยตากไปฝากจำหน่ายตามร้านขายของฝากปรากฏว่ามันขายได้ก็เลยลองเอาไปนำเสนอเดินไปในตลาดเลยช่วงเสาร์อาทิตย์หลายร้านก็ไม่รู้จักบางร้านก็รับฝากขาย”
แต่ความใจถึงของเธอ…เดินไปถามพนักงานร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ว่า “ถ้าพี่จะขายกล้วยเล็บมือนางในเซเว่นเราต้องทำยังไง” พนักงานคงงง แต่ก็บอกให้ลองไปติดต่อฝ่ายจัดซื้อที่สีลม คุณแอมก็ไปจริงๆ เอากล้วยเล็บมือนางอบแห้งไปฝากไว้ให้เขาชิม ผ่านไปเป็นสัปดาห์ประตู ‘โอกาส’ ก็เปิด ฝ่ายจัดซื้อเรียกหาบอกว่ากล้วยอร่อยและกำลังจะเปิดชั้นขนมไทยในร้านสะดวกซื้อพอดี ให้ทำไปวางขายได้
✓ อย่ารอคอยโชคชะตา ต้องเดินหน้าหาโอกาส
“กำลังการผลิตก็ไม่มีผลิตได้ทีละน้อยเลยส่งได้แค่ไม่กี่สาขาแถวปริมณฑลเช่นราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์เท่านั้นเองมันก็ขายได้นะแต่เราก็ยังผลิตได้ไม่เยอะ”
ตัดสินใจกู้เงินลงทุน 50,000 บาทเพื่อจะซื้อของสำหรับใช้ในการดำเนินการแล้วค่อยๆขยายการผลิตมีคำแนะนำจากเซเว่นอีเลฟเว่นให้ปรับสินค้าจากเดิมทำซองละ 200 กรัมให้เหลือซองละ 40 กรัมจะสามารถกระจายสินค้าไปได้กว้างขึ้น “ฝ่ายจัดซื้อลงไปที่พื้นที่เพื่อดูการผลิตของเราและการันตีกับชาวสวนว่าแอมขายของให้กับเขาจริงๆให้เกษตรกรกล้าปลูกกล้วยเพื่อมาขายให้เรา”
ทำให้เพิ่มสาขาวางขายมาถึงในกรุงเทพฯและในที่สุดก็สามารถวางขายได้ทั่วประเทศ
กล้วยหลังสวนมาตรฐานสากล
ตอนนั้นคุณแอมสร้างโรงงานขึ้นที่บ้านตั้งเป็น “กลุ่มแปรรูปกล้วยเล็บมือนางบ้านท่ามะปริง” อำเภอหลังสวนจังหวัดชุมพรชวนคนใกล้ชิด 4-5 คนมาลงมือทำด้วยกันนำกล้วยดิบมาบ่มให้สุกก่อนปอกเปลือกเรียงใส่ถาดเข้าตู้อบใช้ไฟอ่อนอบไปถึง 2 วัน
“แรกๆถึงขั้นต้องนั่งเฝ้าเลยนะเพราะกว่าจะได้อุณหภูมิที่เหมาะสมกว่าจะรู้เวลาอบที่แน่นอนใช้ไฟแรงกล้วยก็จะแข็งเหมือนเราปิ้งปลาน่ะถ้าไฟแรงมันก็ไหม้ต้องทดลองทำแล้วเปิดดูทุกๆ 4 ชั่วโมงเสียก็ทิ้งตู้หนึ่ง 300 กิโลกรัมเราทิ้งไปหลายตันเหมือนกันเพราะมันไม่ได้มาตรฐาน”
จากตู้อบ 1 ตู้กับคน 4-5 คนตอนนี้กลุ่มของคุณแอมมีคนราวๆ 20 คนใช้ตู้อบกล้วยถึง 7 ตู้
“เริ่มต้นจากการเอาของดีที่บ้านไปเป็นของฝากกลายเป็นธุรกิจที่เลี้ยงคนในชุมชนได้บางคนที่เขาต้องการรายได้ส่งลูกเรียนก็มาทำกับเราบางคนอยู่กันนานตอนนี้เลิกทำอายุ 70-80 กลับไปอยู่บ้านแล้วให้ลูกมาทำต่อตอนนี้วิทยาลัยการอาชีพที่หลังสวนก็ส่งมานักศึกษาฝึกงานทุกปี”
เกษตรกรในชุมพรปกติจะทำสวนผลไม้ พวกมังคุด ทุเรียน มักปลูกกล้วยแซมอยู่แล้ว ก็ปลูกกล้วยมากขึ้น มีเจ้าประจำที่ส่งขายรายใหญ่ประมาณ 14-15 ราย และมีรายเล็กๆ อีกมาก “บางคนทำสวนปาล์มเป็น 10 ไร่ เขาก็ล้มสวนปาล์มเพื่อมาปลูกกล้วยเลยก็มี” ก็ซื้อกล้วยวันละ 3-4 ตัน นี่แทบจะมาทั้งจังหวัดแล้วกระมัง
✓ ระหว่างแก้ปัญหา ต้องมองไปข้างหน้า
แล้วเตรียมการเพื่อรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
“ตอนปี 2559 เข้าไปคัดสรรเป็น OTOP เราก็ได้เป็น 5 ดาวเลยทันทีทางหน่วยงานของรัฐก็เข้ามาช่วยเยอะค่ะเขาเข้ามาสนับสนุนให้เราพัฒนามาสอนเรื่องการสร้างแบรนด์มาพัฒนาบรรจุภัณฑ์จนกลุ่มเราเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ”
แม้คุณแอมจะบอกว่าที่นี่เป็นเพียงโรงงานเล็กๆ แต่ก็ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากหลายสถาบัน เช่น อย. GMP (การปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร) HACCP (มาตรฐานการผลิตที่มีมาตรการป้องกันอันตรายสำหรับผู้บริโภค) Green Industry (กิจการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) การมีการรับรองมากมายถือโอกาสที่ดีอีกอย่างหนึ่ง “รัฐสนับสนุนให้ SME ไปงานที่เมืองทอง เราได้ matching ธุรกิจกับ คิง เพาเวอร์ เขาก็ดูหลายๆ เรื่อง ทั้งกำลังการผลิต บรรจุภัณฑ์ และเรื่องราคา ในที่สุดเราก็ได้ขายกับ คิง เพาเวอร์ มา 5-6 ปีแล้ว”
การได้ขายกับร้านที่เป็นแบรนด์ใหญ่ทำให้โปรไฟล์กล้วยเล็บมือนางของคุณแอมก้าวต่อไปได้ง่ายขึ้นไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือแม้แต่การบินไทยที่ได้ส่งขายเดือนละ 4-5 หมื่นซอง
ฝ่าด่าน Covid แบบกล้วยๆ
แบรนด์กล้วยอบเล็บมือนาง “ศรีภา” มีกล้วยเล็บมือนางอบแบบดั้งเดิมเป็นพระเอก กล้วยแท้ๆ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ใส่อะไรเลย แล้วมีการแปรรูปเพิ่มเป็นกล้วยอบเล็บมือนางชุบช็อกโกแลต มีทั้งรสชาเขียว สตรอว์เบอร์รี ไวท์ช็อกโกแลต ดาร์กช็อกโกแลต นอกจากนั้นยังเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 1-2 ชนิด ร่วมกับสถาบันการศึกษาในภาคใต้ แต่ยังอยู่ในขั้นออกแบบบรรจุภัณฑ์และทดสอบอายุของการเก็บรักษา “เราทดสอบทุกตัว อย่างกล้วยอบเราก็ทดสอบโดยส่งไปที่ Lab ของสถาบันอาหาร เพื่อดูว่ากล้วยเราสามารถอยู่ได้กี่เดือน ไม่ว่าเราจะต้องใช้เวลาทดลองเป็นปีๆ ก็ต้องยอม เพราะว่าผลที่ออกมามันจะยั่งยืน”
✓ ค้นคว้าและพัฒนาให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน
✓ ทำธุรกิจต้องตามเทรนด์ของโลกให้ทัน
ที่สำคัญคุณแอมตามเทรนด์ของโลกอยู่เสมอสังเกตจากการนำกล้วยอบที่เกิดจากของกินพื้นบ้านมาชุบช็อกโกแลตให้ดูทันสมัยขึ้นแต่ในรายละเอียดมีมากกว่านั้น “สมมติว่าบรรจุภัณฑ์แบบนี้เด็กวัยรุ่นเอาไปวิจัยเด็กเขาไม่ค่อยชอบแล้วก็ต้องไปหาว่าต้องใช้ซองแบบไหนสำหรับวัยรุ่นขนาดบรรจุเท่าไรถ้าเป็นบรรจุภัณฑ์ของฝากต้องเป็นแบบไหนเมื่อโลกเปลี่ยนไปเราก็ต้องปรับตัวตามคนซื้อ”
แต่ภาวะวิกฤตโควิดก็มาทดสอบกำลังใจกันอีกแล้ว “ยอดขายบางเจ้าหายไปเลยนะ ของการบินไทยเคยส่งเดือนละประมาณ 4-5 หมื่นซอง ช่วงโควิด 2 ปีมานี้ คือ เป็นศูนย์ ที่เคยส่งขายตามฟิตเนสมียอดขายที่ดีด้วย ฟิตเนสก็ปิด กล้วยสดที่เคยซื้อประจำ ช่วงโควิดยิ่งต้องซื้อหนักกว่าเดิม เพราะเกษตรกรไม่รู้จะไปขายที่ไหน ก็จะมาหาเราที่เดียวเลย เราก็ช่วยเกษตรกรเจ้าประจำที่เคยส่ง บางทีซื้อมาเก็บไว้จนเสียต้องทิ้ง…แต่ก็ต้องซื้อ” ยังโชคดีที่คู่ค้ารายหลักมีการเปิดโอกาสให้ SME ให้เพิ่มยอดขายอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับเริ่มมองตลาดออนไลน์ จึงสามารถประคองธุรกิจไปได้
“เราก็ต้องมองไปข้างหน้า เพราะโควิดวันหนึ่งก็ต้องซา จากประสบการณ์แล้วเชื่อว่าหลังจากสถานการณ์นี้ คนก็จะออกเที่ยว จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เราเตรียมวัตถุดิบและทีมงานให้พร้อมเพิ่มกำลังผลิตแล้ว”
แม้คุณแอมจะทิ้งท้ายไว้ว่า “ธุรกิจจะสำเร็จต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า มีความจริงใจ และรักษามาตรฐาน” แต่เราเชื่อเหลือเกินว่า ทุกสิ่งขึ้นตั้งแต่หยิบกล้วยเล็บมือนางมาฝากเพื่อนร่วมงาน จนวิ่งฝากขายตามตลาดต่างๆ สร้างงานให้กับผู้คนในชุมชน ผลักดันแบรนด์ให้ได้การรับรอง และขยายตลาดได้จนมาถึงวันที่สำเร็จขนาดนี้ได้
ต้องให้ค่ากับ “ความพยายาม” ของพี่เขาอีกอย่างหนึ่งด้วย
ถอดรหัสธุรกิจ “ศรีภา”
✓ อย่ารอคอยโชคชะตา ต้องเดินหน้าหาโอกาส
✓ ค้นคว้าและพัฒนาให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน
✓ ทำธุรกิจต้องตามเทรนด์ของโลกให้ทัน
✓ ระหว่างแก้ปัญหา ต้องมองไปข้างหน้า แล้วเตรียมการเพื่อรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
SRIPA
ที่ตั้ง : 66/36 ม.4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล นครปฐม 73170 (ที่อยู่โรงงาน13 ม. 3 ต.แหลมทราย อ.หลังสวน จ.ชุมพร 86110)
Facebook: SRIPA
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: SRIPA
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา