บ้านไม้เก่าแก่ที่บ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ เมื่อ 50 ปีก่อน เด็กสามคนลูกของป้าเหลืองต้องแบ่งเวลาจากการวิ่งเล่นมาช่วยทำงานรีดผ้าบ้าง พับผ้าบ้าง บางครั้งก็ต้องเย็บกระดุม บ้านป้าเหลืองทำผ้าย้อมห้อมมาตั้งแต่รุ่นยายตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวไทยพวน “คนแถวนี้อพยพมาจากลาว ผู้ชายจะใส่ขาก๊วย เสื้อกุยเฮง มีผ้าขาวม้าคาดเอว ส่วนผู้หญิงจะนุ่งซิ่นคาดแดง ตัวซิ่นย้อมจากหม้อห้อมแล้วทับด้วยมะเกลือ เขาเรียกว่า ‘ซิ่นแล่’ เสื้อก็เป็นเสื้อหม้อห้อมนี่ล่ะ เป็นชุดประจำหมู่บ้าน”
พรรณี ทองสุข ลูกสาวคนเล็กของป้าเหลือง เล่าเรื่องราวของผ้าผืนสวยที่สืบทอดกันมาถึงรุ่นหลานแล้ว หลังจากเรียนจบพี่พรรณีไปทำงานในกรุงเทพฯ อยู่พักหนึ่งตามเจตนารมณ์ของพ่อแม่ แต่ด้วยวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ก็ตัดสินใจกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของครอบครัวที่ทำกันมายาวนานอย่างจริงจัง ด้วยรู้ใจตนเองดีว่าชอบงานอิสระแบบนี้
พี่พรรณีนำลวดลายที่แสดงออกถึงความเป็นไทยมาใส่ในผืนผ้าหม้อห้อม ซึ่งเดิมทีจะย้อมเป็นสีพื้นน้ำเงินเข้ม “เป็นลายไทยลายกนกในวัดนำมาประยุกต์ ที่ขายดีที่สุดคือ ลายช้าง แล้วก็หาลายอื่นๆ มาผสมกับช้างไปค่ะ พี่ดูรอบๆ ตัวใช้ลวดลายธรรมชาติบริเวณบ้านนี่ล่ะค่ะ พวกใบไม้ ดอกไม้ ที่ดูแล้วรู้ว่ามาจากเมืองไทย”
จากดั้งเดิม “หม้อห้อมบ้านป้าเหลือง” ก็เพิ่ม “INDIGO HOME” เข้าไปอีกหนึ่งแบรนด์ให้ดูร่วมสมัยจดจำง่าย
หม้อห้อมสุดคลาสสิก
การย้อมผ้าหม้อห้อมจะใช้ต้นห้อมที่ได้จากบนภูเขาหรือต้นครามที่มีตามพื้นราบ นำมาแช่น้ำใส่ปูนขาวตามลงไป แล้ว “ซวก” หรือตีให้เป็นฟอง ปูนขาวจะจับเม็ดสีให้ตกตะกอน แล้วนำไปใส่ในหม้อย้อมเติมน้ำขี้เถ้า น้ำตาล ปูนขาว น้ำซาวข้าว น้ำมะขามส้ม สัดส่วนตามสูตรของแต่ละบ้าน นำผ้าใยธรรมชาติลงย้อมในหม้อ เมื่อยกขึ้นมาสีจะทำปฏิกิริยากับอากาศออกมาเป็นผ้าสีโทนฟ้า-น้ำเงิน นิยมใช้ผ้าฝ้าย ผ้าดิบ ที่เนื้อหนา เมื่อย้อมแล้วจะมีความทนทาน ทว่านิ่มและนุ่มนวลต่อผิวผู้สวมใส่
“สมัยยายกับแม่จะย้อมสีพื้นอย่างเดียว เพราะลูกค้าจะเป็นคนทางภาคเหนือ เขาใส่ทำงานจึงอยากได้ผ้าหนาทนทานเหมือนผ้ายีนส์ หม้อย้อมก็อยู่ใต้ถุนบ้านมาตั้งแต่ยุคแรกๆ เลย มีอยู่เกือบ 20 หม้อ บางหม้อนี่อายุ 50 ปีได้เลยนะคะ บางหม้อก็เก่า หมดสภาพไปบ้างแล้ว แต่ละหม้อให้โทนสีไม่เหมือนกัน เคยมีนักวิชาการมาทดลองส่งเสริมวิธีย้อมที่ได้มีคงที่เหมือนกัน แต่เราก็ยังเลือกงานมือที่แต่ละผืนไม่เท่ากันเป๊ะ เป็นเสน่ห์ของผ้าแต่ละผืน”
พี่คนกลางของพี่พรรณีร่ำเรียนทางด้านภาษาและประกอบอาชีพมัคคุเทศก์นำเที่ยว ได้พานักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาชมกรรมวิธีย้อมหม้อห้อม ที่นี่จึงเริ่มเป็นที่รู้จักของบริษัททัวร์ต่างๆ “หม้อห้อมบ้านป้าเหลือง” จึงต้องเปิดประตูก้าวไปสู่โลกที่กว้างขึ้นกว่าเดิม
Suggestion
สตูดิโอใต้ถุนบ้าน
พี่พรรณีลาออกจากงานในกรุงมาจับงานย้อมผ้าที่อิสระกว่า นำความชอบส่วนตัวมาผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิม เพิ่มโปรดักต์เป็นผ้าพันคอ เสื้อคลุม เสื้อกันหนาว ผ้าปูโต๊ะ ปลอกหมอน กระเป๋าใส่ของกระจุกกระจิกและของที่ระลึก “มองในแง่การตลาดเลย เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาชมกรรมวิธีย้อมผ้า เขาคงไม่ใส่เสื้อหม้อห้อมแบบเราๆ สังเกตดูผู้มาเยือนส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปหนีหนาวมาเที่ยวไทย พี่เลยคิดทำเป็นของฝาก เน้นไปทางผ้าพันคอและผ้าคลุมไหล่ชิ้นไม่ใหญ่ เลือกผ้าที่เบาสามารถซื้อกลับไปได้โดยไม่เปลืองเนื้อที่และน้ำหนักกระเป๋า”
คิดจากประสบการณ์ง่ายๆ แต่ทำให้ขายดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
ที่สำคัญ พี่พรรณีนำเทคนิคบาติกมาใช้ร่วมกับการย้อมปกติ จากที่เคยเห็นชาวม้งและทางอินเดียทำบล็อกไม้มาพิมพ์ลายผ้า “พี่จะสเก็ตช์ลายขึ้นมาแล้วให้ช่างไม้ของจังหวัดแพร่ที่ทำไม้สักอยู่แล้วแกะเป็นบล็อกสำหรับพิมพ์ผ้า นำลายกนกจากที่เคยเห็นในวัดมาดัดแปลงเป็นลายขดเหมือนเลขหนึ่งไทย รวมทั้งลายจากธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ดอกไม้ เห็นชาวอินเดียเขาพิมพ์สีให้เป็นลายลงบนผ้า พี่ประยุกต์ใช้บล็อกไม้มาพิมพ์เทียนแบบเทคนิคบาติก เทียนจะกั้นสีไม่ให้ย้อมติด ก็จะได้ผ้าบาติกสีน้ำเงินลวดลายเป็นสีขาว”
ในผ้าหนึ่งผืนบางครั้งต้องใช้หลายบล็อกแบบมาผสมกัน มีลายขอบ ลายเชิง หรือนำ 2-3 ลายมาผสมกันเป็นลายพื้นผ้า เมื่อพิมพ์เทียนเสร็จก็นำไปตากในร่มหรือใต้ถุนบ้านเพื่อไม่ให้เทียนถูกความร้อนจากดวงอาทิตย์ ก่อนจะนำมาย้อมในหม้อห้อมตามกรรมวิธีของที่บ้าน
เมื่อย้อมเสร็จจะได้ผ้าสีน้ำเงินพร้อมลายสวย นำกลับไปตากใต้ถุนบ้านเช่นเดิม รอให้สีย้อมแห้งสนิทจึงจะนำไปต้มในน้ำเดือดเพื่อลอกเทียนที่พิมพ์กั้นสีเป็นลวดลายออก คราวนี้จะนำผ้าออกไปตากกลางแจ้งก่อนนำมารีดให้เรียบสวย
“พอดีบ้านติดคลอง ตอนน้ำท่วมใหญ่ๆ 2 ครั้ง เมื่อปี 2544 กับ 2547 บล็อกไม้หลายอันหายไปกับสายน้ำ แต่ตอนนี้ก็มีหลายพันลายอยู่นะคะ”
นึกภาพในวันที่บ้านป้าเหลืองตากผ้าผืนสวยหลากหลายลวดลายอยู่ทั่วพื้นที่ ทั้งใต้ถุนและลานบ้าน คงเป็นนิทรรศการศิลปะกลายๆ อวดศิลปะบนผืนผ้าในประจักษ์ต่อสายตาผู้มาเยือน
ถึงเวลา INDIGO HOME
ราวๆ ปี 2544-2546 “หม้อห้อมบ้านป้าเหลือง” เข้าคัดสรรเป็นสินค้า OTOP ได้ออกสู่สายตาผู้คนมากขึ้น “ฝรั่งที่ซื้อของไปออกเสียงชื่อแบรนด์ยาก บางทีก็จำไม่ได้ พอไกด์พูดว่า INDIGO HOME เขาก็เข้าใจทันที เพราะจำบ้านไม้ของเราได้ด้วย” งานที่ส่งขายชาวต่างชาติโดยเฉพาะผ้าพันคอจึงใช้ชื่อแบรนด์ว่า INDIGO HOME
“ผ้าพันคอแฮนด์เมดของ INDIGO HOME เราจะเลือกผ้าที่นิ่มน้ำหนักเบา เช่น ผ้าสาลู ผ้าฝ้าย ประกอบกับราคาไม่สูงเกินไป จึงถูกใจตลาดต่างชาติ อย่างที่ คิง เพาเวอร์ ก็ขายได้เรื่อยๆ ช่วงที่ยังไม่มีโควิด-19 ระบาด มีออร์เดอร์เข้ามาทุกเดือน เขาบอกมาว่าขายดีมากค่ะ”
แล้วช่วงโควิด-19 ระบาดนี้ล่ะ?!?
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลายผ้าพระราชทานช่างทอผ้า ชื่อ “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” กรมพัฒนาชุมชนนำมาสนับสนุนให้ช่างทอผ้าทอกัน พี่พรรณีจึงนำมาทำเป็นลายพิมพ์เทียนด้วย เพราะช่วงนี้คนไทยนิยมผ้าลายนี้กัน เป็นรายได้ที่พออยู่ได้ แม้จะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเลยก็ตาม
Suggestion
…วันนี้ที่บ้านป้าเหลือง…
แม้ว่าหลายบ้านจะปรับเปลี่ยนการย้อมผ้าเข้าสู่ระบบโรงงานมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและมีปริมาณที่มากขึ้น แต่พี่พรรณีก็ยังยืนหยัดกับงานทำมือ ให้งานแต่ละผืนสวยงามไม่ซ้ำกัน
“คนทุ่งโฮ้งจะทำงานกันตามบ้านจึงต้องกระจายงานไปให้แต่ละบ้านช่วยกันทำ เราใช้ผ้าฝ้ายเป็นม้วนใหญ่ ส่งไปตามบ้าน บ้านช่างตัดก็ตัดอย่างเดียว บ้านช่างเย็บก็เย็บอย่างเดียว แล้วก็ส่งกลับมาที่บ้านเราเพื่อย้อม ซึ่งมีทีมพิมพ์เทียน 3 คน ทีมย้อมผ้า 4-5 คน”
ตอนนี้มาถึงรุ่นลูกพี่พรรณีที่เรียนสาขาถ่ายภาพ ก็มาเป็นช่างภาพรังสรรค์ภาพสวย ๆ เพื่อใช้ในการขายออนไลน์ และคิดว่าอนาคตคงจะเป็นผู้สืบทอด “หม้อห้อมบ้านป้าเหลือง” และ “INDIGO HOME” ต่อไป
ในวันที่โลกเชื่อมต่อกันได้ง่ายดาย งานฝีมือที่มีเอกลักษณ์และโดดเด่นคงจะเข้าถึงผู้คนบนพื้นที่ห่างไกลได้ไม่ยากนัก ผ้าย้อมห้อมจากใต้ถุนบ้านไม้หลังเล็กๆ ในจังหวัดแพร่ ที่ครั้งหนึ่งนิยมกันเพียงในภาคเหนือของไทย วันข้างหน้าอาจเป็นที่นิยมกันทั่วโลกก็เป็นได้…ใครจะรู้
INDIGO HOME (หม้อห้อมบ้านป้าเหลือง)
ที่อยู่: 277 ม.6 ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง จ.แพร่ 54000
Facebook: INDIGO HOME
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: INDIGO HOME
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา
ปักหมุดจุดเช็กอิน–แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง
• กาดกองเก่า อ.เมือง เป็นถนนคนเดินของเมืองแพร่ ที่อยู่ในย่านบ้านเรือนเก่าๆ มีสินค้าในท้องถิ่น เสื้อผ้าหม้อห้อมชื่อดังของเมืองแพร่ คุณแม่คุณป้าทำอาหารพื้นเมืองมาให้ลิ้มลอง เก็บผักในบ้านมาขาย เป็นกิจกรรมสันทนาการของคนในชุมชน เป็นแหล่งพบปะของชาวแพร่ ในวันเสาร์เวลาประมาณ 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม
• พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ อ.ลอง ตั้งขึ้นโดย โกมล พานิชพันธ์ นักสะสมผ้าโบราณชาวอำเภอลอง นำผ้าโบราณของเมืองลอง ผ้าซิ่นตีนจกไทยโยนกเมืองลองและผ้าเก่าจากแหล่งต่างๆ เช่น ตีนจกแม่แจ่ม ตีนจกไหล่หิน ตีนจกนาน้อย ตีนจกหาดเสี้ยว ตีนจกราชบุรี ตีนจกลาว มาจัดแสดง บางผืนอายุมากกว่า 100 ปี และยังเป็นศูนย์เทคโนโลยีพื้นบ้าน สาขาสิ่งทอ ของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดแพร่ อีกด้วย
• ม่อนแม่ถาง อ.ร้องกวาง จุดชมวิวแบบ 360 องศา มองเห็นภูเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อนและทะเลสาบระหว่างหุบเขาของอ่างเก็บน้ำแม่ถาง สามารถตั้งเต็นท์พักแรมเพื่อรอชมทะเลหมอกยามเช้าได้