“ตำแหน่งอยู่กับเราไม่นาน แต่ตำนานจะอยู่กับเราตลอดไป… ผมอยากสอนเด็กให้เป็นคนดีครับ” – อุดม กูลดี ผู้อำนวยการโรงเรียนอ่าวกะพ้อ จังหวัดพังงา
จะเรียกว่าเป็นเพราะอาจารย์ท่านนี้ที่ทำให้โรงเรียนบนเกาะยาวใหญ่ มีสนามฟุตบอลมาตรฐานแห่งแรกของเกาะเลยคงไม่ผิดนัก อาจารย์…ผู้เป็นทั้ง “ครู” และเป็นทั้งผู้นำ ในการบริหารจัดการระบบในโรงเรียนสำคัญของชุมชนแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านต่างๆ ของโรงเรียน เพื่อที่เด็กจะได้เข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตัวเองต่อไป
“ผมฝันว่าอยากจะได้สนามฟุตบอลหญ้าเทียม ที่มีมาตรฐานบนเกาะแห่งนี้สักสนามหนึ่ง” อาจารย์เล่าถึงความตั้งใจ “ผมเชื่อมั่นว่าสนามฟุตบอลหญ้าเทียมที่เกาะยาวฯ ได้รับมา จะสร้างเด็กเกาะยาวฯ ให้ก้าวขึ้นสู่ทีมชาติไทยในอนาคตข้างหน้าได้อย่างแน่นอนครับ” ความเชื่อมั่นของ อาจารย์อุดม กูลดี ผู้อำนวยการโรงเรียนอ่าวกะพ้อ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ผลักดันให้เกาะยาวใหญ่ มีสนามฟุตบอลหญ้าเทียมมาตรฐานแห่งแรกที่อยู่บนเกาะ… เป็นจริงแล้ว!
ความฝันของอาจารย์อุดมบ่มเพาะมาอย่างยาวนาน ทั้งในฐานะอดีตดาวซัลโว (ฟุตบอล 7 คน) พรุในมุสลิมสัมพันธ์คัพ ครั้งที่ 1, อดีตนักฟุตบอลยอดเยี่ยม กิจประสานพรุในคัพ (ฟุตบอล 11 คน) แถมยังเคยเป็น คณะกรรมการชมรมผู้ตัดสินกีฬาฟุตบอลตำบลพรุใน อีกด้วย
นอกจากเป็นที่รักของศิษย์ บรรดาครูอาจารย์ของโรงเรียน และผู้คนในชุมชนแล้ว ด้านการสอนอาจารย์ยังเคยได้รับเกียรติบัตร 1 แสนครูดี สายผู้บริหารสถานศึกษา เมื่อปีพ.ศ. 2554 รวมทั้งเกียรติบัตร “ครูดีไม่มีอบายมุข” ถึง 3 ปีด้วยกัน (ปี 58,62,64) อีกทั้งยังเคยได้รับรางวัล ศิษย์เก่า กศน.ดีเด่น และนายกสโมสรคณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏภูเก็ต ด้วย
มาถึงในปัจจุบันจึงถึงเวลา หาโอกาสสนับสนุนเยาวชนและคนในชุมชนอย่างมีที่มาที่ไป อาจารย์อุดม “จรดปากกา” เขียนความมุ่งมั่นถึงโครงการ “100 สนามฟุตบอล สร้างพลังชาวไทย” ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มโครงการโดยตั้งใจจะ “สมัคร” ทุกปีตลอดระยะเวลา 5 ปีของโครงการ แม้จะไม่สำเร็จในปีแรกนั้น แต่ก็ด้วยหวังว่าในสักปีหนึ่ง…โรงเรียนอ่าวกะพ้อจะได้รับคัดเลือก และเกาะยาวใหญ่จะได้มีสนามฟุตบอลหญ้าเทียมมาตรฐานเป็นแห่งแรก
พังงามีเกาะน้อยใหญ่อยู่มากถึง 155 เกาะด้วยกัน มีเกาะตะปู หรือ “เกาะเจมส์บอนด์” เป็นแลนด์มาร์คที่ทั่วโลกรู้จักดี แต่ก็มีอีกหลายเกาะที่มีความงดงามของธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นชุมชนเต็มไปด้วยวิถีพื้นบ้าน หนึ่งในจำนวนนั้นมีเกาะยาวอยู่ด้วย เกาะที่ล้อมรอบด้วยทะเลแห่งนี้ มีชุมชนเก่าแก่ที่มีวิถีชีวิตดำเนินไปด้วยตัวเองมาอย่างยั่งยืนยาวนาน
เกาะยาวยังเป็นชื่ออำเภอหนึ่ง โดยเกาะยาวใหญ่เป็นหนึ่งในสองเกาะของอำเภอเกาะยาว ที่มีพื้นที่เกือบ 50 ตารางกิโลเมตร และที่เกาะยาวนี่เองที่เป็น 1 ใน 14 เกาะที่น่าอยู่ที่สุดของโลก ชุมชนของเกาะยาวประกอบอาชีพประมงชายฝั่งเป็นส่วนใหญ่ แต่ชาวบ้านบางส่วนก็ยังทำสวนยาง สวนมะม่วงหิมพานต์และสวนมะพร้าว ชีวิตในอีกด้านหนึ่งซึ่งคนนอกเกาะอาจไม่เคยรู้ คือฟุตบอลเป็นกีฬาที่มอบความสุขและความภูมิใจให้กับพวกเขา
Suggestion
… เป็นคนเกาะยาวแท้ๆ …
ในแต่ละวัน วิถีชีวิตของชาวเกาะยาวเรียบง่ายและอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ…ผู้ใหญ่บ้างก็ออกเรือไปหาปลา บ้างก็เข้าสวนกรีดยาง ส่วนเด็กๆ ไปเข้าโรงเรียน ชีวิตของอาจารย์อุดมในวัยเด็กก็เช่นกัน
“ผมเป็นคนที่นี่ เกิดที่นี่ ผมเป็นนักเรียนที่โรงเรียนนี้มาตั้งแต่วัยเด็ก ผมจำความได้ว่าผมเข้ามาเป็นนักเรียนของโรงเรียนนี้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ คนที่นี่เขาก็ชอบเล่นฟุตบอลแล้วครับ” ไม่เพียงแต่จะเป็นคนที่นี่ เป็นอาจารย์ที่นี่… อาจารย์ของเด็กนักเรียนที่เกาะยาวฯ ซึ่งต่างก็เป็นลูกน้ำเค็ม ผู้รักการเล่นฟุตบอลเข้าสายเลือดด้วย
“คนที่นี่ ถ้ามีการแข่งขันกีฬาอื่นก็จะแค่ปกติ แต่ถ้ามีการแข่งขันฟุตบอลเมื่อไหร่ คนดูจะเต็มสนามครับ… นักเรียนโรงเรียนอ่าวกะพ้อ ชอบเล่นฟุตบอลมาก เด็กๆ เคยได้รับถ้วยรางวัลต่างๆ เยอะแยะมากมายนับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน” อาจารย์ฉายภาพความรักชอบในกีฬาฟุตบอลของคนเกาะยาวฯ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เด็กนักเรียน ลูกศิษย์ของอาจารย์อุดมไม่เพียงแต่จะรักการเรียน แต่ยังมีผลงานกีฬาเด่น พวกเขาภูมิใจกับถ้วยรางวัลที่ได้มาด้วยความพยายามและตั้งใจฝึกซ้อม สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งยังสนับสนุนกันอย่างต่อเนื่อง
… เป็นแชมป์สมัยแรก ให้กับโรงเรียน …
“ถ้วยนี้คือถ้วยที่ผมภูมิใจที่สุดในชีวิต ได้ถ้วยมาเมื่อประมาณ 28 ปีที่แล้ว และผมยังได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมด้วย…คนส่วนใหญ่ในเกาะยาว เขาจะพูดกันว่าที่นี่ ที่โรงเรียนอ่าวกะพ้อนี้เป็น ‘แหล่งของฟุตบอล’ เวลาจัดกีฬากลุ่ม ซึ่งมีโรงเรียนขยายโอกาสเข้าร่วมกว่า 30 โรงเรียน โรงเรียนอ่าวกะพ้อมักได้แชมป์เสมอ “
ย้อนกลับไปในสมัยนั้น อาจารย์อุดมเป็นผู้เล่นในตำแหน่งกองหน้า หนุ่มน้อยวัย 11…12 วิ่งและวิ่ง อยู่ในสนาม มองหาโอกาสทำประตูให้กับทีมโรงเรียน ความทุ่มเทของอาจารย์กับเพื่อนๆ ในทีมเมื่อครั้งอดีต คือการซ้อมหนัก…ตั้งแต่ตอนตีห้า มีชัยชนะเป็นเป้าหมาย
“เล่นบอล” ในสมัยเกือบสามสิบปีที่แล้ว แน่นอนว่าที่นี่ยังไม่มีสนามบอลมาตรฐาน แต่จะเป็นฟุตบอลเล่นกันในสนามโคลน สนามหญ้า สนามดินลูกรัง…แต่ความสนุกของกีฬาที่ยังเป็นเกมสำหรับลูกกลมๆ นี้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง คำกล่าวของวิทูล บุญสพ กำนันตำบลพรุในและประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนอ่าวกะพ้อ เพื่อนร่วมรุ่นที่ช่วยกันทำถ้วยแชมป์ครั้งนั้นให้กับโรงเรียนในตำแหน่งผู้เล่นปีกขวา ยังช่วยเล่าถึงอาจารย์อุดมและความสนุกในสนาม
Suggestion
… เป็นเวลาที่เกาะยาว ต้องมีสนามบอลมาตรฐาน …
หรือเรียกว่านี่คืออีกหนึ่งคุณสมบัติของชาวเกาะยาวใหญ่ นักเรียนโรงเรียนอ่าวกะพ้อ ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ถ้าเป็นสนามเขาก็เล่นกัน เดาะบอลกัน… นี่ไง ความรักในกีฬาฟุตบอลที่พยายามจะอธิบายถึง
เมื่อได้เวลาความฝันสุกงอม โครงการสร้างสนามฟุตบอลหญ้าเทียมให้กับโรงเรียนและชุมชนทั่วประเทศไทยให้ครบ 100 สนามภายในปี 2565 ประกาศเปิดรับสมัคร อาจารย์อุดมปัดฝุ่นสิ่งที่เคยฝัน โดยไม่รอช้า ลงมือเขียนสิ่งที่ต้องการสมัครไปตั้งแต่โครงการเริ่มต้น แต่ในปีแรก โรงเรียนอ่าวกะพ้อยังไม่ได้รับคัดเลือก อาจารย์อุดมก็ยังคงมุ่งมั่นไม่ทิ้งฝันที่มี จึงยื่นเรื่องไปสมัครกับโครงการซ้ำอีกครั้งในปีต่อมา
Suggestion
… เป็นสองปี ของการรอคอย …
การมีสนามฟุตบอลบนเกาะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่การมีฝันที่ลงมือทำให้สำเร็จของอาจารย์อุดม…เพื่อโรงเรียน เพื่อเด็กนักเรียนและเพื่อชุมชนเกาะยาว เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่กว่า
การสมัครเพื่อผ่านการคัดเลือกจากโครงการสำเร็จในที่สุด ใช้เวลาถึงสองปี… และการรอคอยอีกสองเดือนครึ่ง ในการสร้างสนาม
“สมัยก่อนตอนเล่นบอลกัน พอกลับบ้านเท้าก็ติดโคลน แต่เวลานั้นพวกเราก็ตั้งใจเล่นเพราะว่าเราชอบ สมัยนี้มีสนามก็ถือว่าโชคดี สนามแห่งนี้กลายเป็นที่รวมผู้คน ทั้งเยาวชนและผู้อาวุโสให้มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ”
เมื่อวันที่สนามสร้างเสร็จ ผู้คนบนเกาะยาวจึงต่างตื่นเต้น…ภูมิใจกับสนามฟุตบอลหญ้าเทียมแห่งนี้ไม่น้อย ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นสนามฟุตบอลที่มอบโอกาสดีให้กับเยาวชนแล้ว ยังเป็นพื้นที่ออกกำลังกายเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพดีให้กับชุมชนอีกด้วย ใครจะรู้ว่าสนามแห่งนี้อาจสร้างนักเตะอนาคตไกลให้กับประเทศไทยในเร็ววันนี้ก็เป็นได้
หากถามอาจารย์ว่าทำไมถึงเลือกเป็น “ครู” …อาจารย์ถ่ายทอดว่าเพราะมีความตั้งใจตั้งแต่ครั้งอดีตและเคยพูดไว้กับครอบครัวว่า วันหนึ่งมีโอกาสอยากจะมาพัฒนาบ้านเกิด กับอยาก “สร้างคน” “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่งครับ ผมอยากสอนเด็กให้เป็นคนดี…ความภาคภูมิใจที่ได้ทำเพื่อแผ่นดินเกิดและสังคม ตำแหน่งอยู่กับเราไม่นาน แต่ตำนานจะอยู่กับเราตลอดไปครับ” …
“รางวัล” สำหรับอาจารย์อุดมคือสิ่งนี้ และนี่ยังเป็นความภูมิใจที่เราสัมผัสได้ทุกครั้งผ่านน้ำเสียงและสายตาที่อาจารย์เล่าถึงความฝันซึ่งผ่านสองมือในการสมัครโครงการ จนกลายเป็นจริงได้ในวันนี้นั่นเอง
Suggestion
เรื่องราวชีวิตของ นายอุดม กูลดี
ผู้อำนวยการโรงเรียนอ่าวกะพ้อ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา
เป็นคนเกาะยาวโดยกำเนิด อนุบาล-ป.6 เรียนจบจาก รร.อ่าวกะพ้อ เพราะสมัยนั้นมีสอนแค่ระดับประถม อาจารย์จึงไปเรียนต่อมัธยมที่รร.เกาะยาววิทยา ก่อนพักเรียนศาสนา 1 ปี
ม.ปลาย เรียนจบ กศน.เกาะยาว ระหว่างการทำงานหลากหลาย ทั้งประมง, ก่อสร้าง, รับจ้าง แล้วเรียนต่อ ป.ตรี ที่ ม.ราชภัฏภูเก็ต(ภาคเสาร์-อาทิตย์) โดยจบด้วยรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 แล้วมาเป็นครูอัตราจ้าง รร.วิชิตสงคราม จ.ภูเก็ต (ปี 2547-48)
ระหว่างนั้นมีโอกาสสมัครเป็นนายก อบต. ด้วย แต่ได้คะแนนลำดับที่ 2 จึงไม่ได้รับตำแหน่ง อาจารย์ยังเคยสอบข้าราชการ 3 แห่งด้วยกัน ติดครบทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ 1.เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนที่ จ.สุราษฎร์ฯ 2.ครูที่พังงา 3.นักวิชาการศึกษา อบจ.กระบี่ แต่มาเป็นครูที่รร.บ้านสวนใหม่ อ.คุระบุรี จ.พังงา (6 ม.ค.49) เนื่องจากที่นี่เรียกบรรจุก่อน
อาจาย์ยังคงเพิ่มความรู้ด้านการศึกษา โดยเรียนต่อ ป.โท สาขาการบริหารการศึกษา ม.รามฯ ที่ภูเก็ต (โครงการพิเศษจังหวัดภูเก็ต) (ปี 50) จากนั้นจึงย้ายกลับมาเป็นครู รร.อ่าวกะพ้อ (27 พ.ค.51) ก่อนจะสอบรอง ผอ.ได้ที่ 2 ของพังงา (ปี 52) แล้วบรรจุเป็นรอง ผอ.รร.อ่าวกะพ้อ (3 พ.ย.52) ในที่สุด โดยสอบ ผอ.รร.ของ สพฐ.ที่กรุงเทพ บัญชีประเทศ (ปี 55) ได้ลำดับที่ 200 ของประเทศ ได้บรรจุบัญชีเขตลำดับที่ 1 กลุ่มทั่วไปที่ จ.ภูเก็ต กับบรรจุเป็น ผอ.รร.บ้านโคกวัดใหม่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นรร.ขนาดเล็ก ( 1 ก.พ.56)
ปี 58 ย้ายมาเป็น ผอ.รร.บ้านกู้กู อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นรร.ประถมขนาดกลาง (ก.พ. 58) ก่อนย้ายกลับบ้านเกิด มาเป็นครูที่ รร.อ่าวกะพ้อ ตั้งแต่ 21 พ.ย.59 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน โดยเป็น ผอ.รร.วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ (ค.ศ.3) และยังเป็นแอดมินเพจ เฟซบุ๊กกลุ่มรักษ์เกาะยาว ซึ่งมีสมาชิกเป็นคนเกาะยาวกว่า 7,000 คนอีกด้วย (ประชากรเกาะยาวทั้งอำเภอประมาณ 14,000 คน)