เด็กหนุ่มที่บ้าฟุตบอลเข้าเส้น เขาเริ่มเล่นบอลด้วยตัวเองตั้งแต่วัยเยาว์ ฝึกฝนและเฝ้าฝันตั้งแต่เล็กว่าอยากเป็นนักเตะอาชีพ แม้ความตั้งใจจะเซไปจนเกือบล้มเพราะแม่ป่วยหนัก แต่เมื่อเขากลับมาตั้งเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจน ผนวกการเอาสิ่งที่รักและทำได้ดีที่สุดอย่างการเล่นฟุตบอลนั้นใส่ลงไป อาการป่วยของแม่ที่กังวลใจกลับกลายแรงผลักดันสำคัญที่พาเขาเดินทางตามความฝันอย่างไม่ย่อท้อ สู่การเป็นนักเตะอาชีพ
“ตอนเด็กๆ ผมเตะฟุตบอล เพราะความสนุก แต่มาถึงตอนนี้ผมรู้แล้วว่า ผมไม่ได้เล่นฟุตบอลเพื่อความฝันเล็กๆ ของผมคนเดียวอีกต่อไป ผมอยากเล่นบอลอาชีพ อยากนำเงินมาเลี้ยงพ่อแม่ครับผม”
บ้านไม้หลังกะทัดรัด กลางขุนเขาที่ผู้คนนิยมทำนาขั้นบันไดในอำเภอแม่แจ่ม ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 3 ชั่วโมง คือบ้านเกิดกับวิถีชีวิตที่อยู่บนยอดดอย ที่ที่เป็นศูนย์รวมพลังและแรงใจของ แฟร้ง–สุวิจักขณ์ มูลแก้ว นักเตะอนาคตไกลที่โลดแล่นอยู่บนสนามของการแข่งขัน ผู้เริ่มต้นจากเด็กชายผู้มีความฝัน ฝันจะเป็นนักเตะอาชีพ “ผมก็เหมือนเด็กไทยทุกคน ชอบเล่นบอล เริ่มเล่นบอลมาตั้งแต่เท้าเปล่า ว่างๆ ก็ไปเล่นบอลกับเพื่อน และผมมีความฝันอยากจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ” พ่อของแฟร้งบอกว่าตอนเด็กๆ แฟร้งอยากจะเล่นแต่บอล ไม่อยากเรียนหนังสือ เด็กน้อยในสายตาของผู้ใหญ่มีแต่ความน่าเป็นห่วง แต่ครอบครัวก็สนับสนุน ไม่ได้ห้ามเมื่อเป็นสิ่งที่ลูกชายรักที่จะทำ
ฟุตบอลความฝันของเด็กชายแฟร้ง
แฟร้งเป็นเด็กชาย “ชอบเตะ” ภาพชินตาของคนในครอบครัวและผู้คนในหมู่บ้าน คือภาพที่เด็กชายแฟร้งชอบวาดขาใช้เท้าเตะสิ่งต่างๆ ที่น่าจะเตะได้ และเขายังออกสเต็ปเตะไปเสียทุกที่ ทั้งในบ้าน ทุ่งนาที่ต้นข้าวเขียวขจีทอดตัวยาว หรือพื้นดินที่ชุ่มฉ่ำหลังฝนเพิ่งกระหน่ำเทลงมาก็ตาม
“เมื่อก่อนผมชอบเตะเสาบ้าน ชอบเตะกระป๋อง เท้าหนักก็เลยคิดเอาว่าเดี๋ยวไปเล่นบอลก็แล้วกัน ตั้งแต่วันนั้นมาผมเลยชอบเตะบอล ชอบถึงขั้นบ้าเลยก็ว่าได้ครับ อยากเล่นบอลอาชีพ ผมเตะฟุตบอลเพราะความสนุก แต่คิดว่าวันนึงอยากเป็นนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียง”
บันไดขั้นแรกที่ทอดไปสู่ความฝันที่เป็นจริงเริ่มต้นเมื่อแฟร้งได้รับคัดเลือกให้เป็นเป็นนักฟุตบอลทีมโรงเรียนวชิราลัย จากพื้นฐานการฝึกวิ่งบนภูเขาภูมิลำเนาของบ้านเกิด สร้างให้เขาเป็นคนมีฝีเท้าที่มีความเร็ว ยิงหนัก และมีระเบียบวินัย คนที่เห็นคุณสมบัติสำคัญนี้ในตัวนักเตะหนุ่มและยังเป็นผู้ที่เห็นแววตำแหน่งใหม่ที่เหมาะกับเขาในสนามคือโค้ชที่โรงเรียนของเขาเอง
แฟร้งจึงเริ่มต้นเล่นฟุตบอลในทีมด้วยตำแหน่งปีกซ้าย แต่จับพลัดจับผลูที่ครั้งหนึ่งต้องไปเล่นแทนเพื่อนร่วมทีมที่บาดเจ็บ จึงได้กลายเป็น “เซ็นเตอร์” คนสำคัญของทีม พร้อมกับมีฉายาชวนสงสัยว่า “นักเตะขี้แย”
Suggestion
นักเตะขี้แยผู้ไม่เคยยอมแพ้
โค้ชและเพื่อนร่วมทีมที่ฝึกซ้อมมาด้วยกัน ไม่เคยมีใครไม่เห็นน้ำตาลูกผู้ชายของแฟร้ง ทั้งหมดรู้ดีว่านั่นเป็นเพราะจิตใจของเขามีเรื่องรบกวนอยู่ภายใน เจ็บ? ท้อ? ไม่ใช่หรอก แต่เรื่องที่หนักอึ้งในใจของแฟร้ง เป็นเพราะแม่ของเขาเคยป่วยเป็นเนื้องอกในสมอง ต้องผ่าตัดถึงสองครั้งจนอาการทรุดต่างหาก “มีวันนึงแม่ผมความดันต่ำ เดินเซ แล้วก็ปวดหัว” เขาย้อนรำลึกสิ่งที่ไม่เคยลืม เหตุการณ์ที่ติดอยู่ในใจของเขาเสมอคืออาการของแม่ที่ทรุดหนัก ทำให้ทางบ้านต้องตัดสินใจพาไปเอ็กซเรย์ และผลออกมาว่าแม่เป็นเนื้องอกในสมอง
“เมื่อก่อนแม่ของผมสวยมากเลยครับ แม่ขยันทำงาน ทำงานหนักเพื่อผม ตอนนี้ร่างกายข้างขวาของแม่ผมขยับไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็นตลอด ต้องคอยป้อนข้าวป้อนน้ำตลอด ต้องล้างหน้าแปรงฟันให้ ผมชอบคิดเรื่องแม่ แล้วผมก็ร้องไห้ ท้อนิดหน่อย จนผมเคยคิดว่าจะไม่เล่นบอลแล้ว อยากจะไปดูแลแม่แทน”
ในทางหนึ่งความเจ็บป่วยของแม่อาจเป็นจุดอ่อนของแฟร้ง แต่ในอีกทางกลับกันเรื่องนี้ก็สร้างพลังใจอันแข็งแกร่งให้เขาสู้สุดตัวเพื่อไปต่อให้สุดทาง “ผมอยากให้แม่หายไวๆ ครับ” แฟร้งยังฉายภาพในวัยเด็กที่นับเป็นความอบอุ่นในครอบครัวที่มีกันสามคน แม่เป็นแม่บ้าน พ่อทำสวนทำไร่ทำนา จึงอาจยังไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นลูกชายเจิดจรัสในสนามบอล “พ่อกับแม่ไม่เคยมีเวลาไปดูผมแข่งบอล ผมอยากให้พ่อแม่ไปดูผมแข่งสักครั้งหนึ่ง อยากให้เขาเห็น ว่าผมเล่นบอลเก่งแค่ไหน”
อุปสรรคไหนก็ไม่สำคัญ
เมื่อพลังใจเต็มเปี่ยม พลังกายเต็มขีด แฟร้งกวาดทุกอุปสรรคลงข้างทาง แล้วมุ่งหน้าตามหาความฝันสู่การเป็นนักเตะมืออาชีพ เขาและเพื่อนๆ ทีมวชิราลัย และคว้าแชมป์รายการ King’s Power Cup ในปี 2016 มาครองได้สำเร็จ…ในตอนที่เขาอายุ 15 ความพยายามและความมุ่งมั่นของแฟร้ง ส่องประกายเจิดจ้าในการแข่งขันครั้งนี้ จนเขาได้รับการคัดเลือกเป็นนักฟุตบอลเยาวชนในโครงการ Fox Hunt รุ่นที่ 2 ของ คิง เพาเวอร์ เพื่อไปศึกษาต่อและฝึกทักษะลูกหนังกับทีมที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอย่าง เลสเตอร์ ซิตี้ ที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาสองปีครึ่ง
King’s Power Cup ครั้งนั้นเปิดโอกาสให้ทีมโรงเรียนเข้ามาแข่งกัน และทีมของแฟร้งก็เป็นโรงเรียนที่ชนะเลิศ เขาก็มีกรรมการมาดูว่าใครคือนักเตะที่มีแววได้ไปเล่นบอลที่ประเทศอังกฤษ
“สุดท้ายทีมผม ก็มีแค่ผมได้ไปเรียนที่อังกฤษคนเดียว” นับได้ว่าโอกาสสำคัญนี้คืออีกหนึ่งจุดเริ่มต้น ที่จะทำให้ความใฝ่ฝันของการเป็นนักเตะอาชีพอย่างที่เขารัก และเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวเป็นจริง ดังสัญญาที่เจ้าตัวให้ไว้กับบุพการีในตอนที่ต้องเดินทางไกล “ลูกไปอยู่อังกฤษ สัญญาว่าจะตั้งใจขยัน ตั้งใจซ้อม ตั้งใจแข่ง จะอดทน จะมีวินัย จะเชื่อฟังโค้ช จะขยันเรียน เพื่อเอาเงินมาให้แม่ อยากให้แม่หายไวๆ จะกลับมารักษานะ มาดูแล เหมือนตอนเด็ก จะไม่ทำให้แม่ผิดหวัง ผมมองหน้าแม่ ผมรู้เลยว่าแม่เข้าใจผมทุกอย่าง รู้ว่าแม่ผมอยากพูดอะไรเยอะแยะ แต่แม่ผมพูดไม่ได้ พ่อบอกว่าทำอนาคต ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ต้องห่วงทางบ้าน เดี๋ยวพ่อจะดูแลแม่เอง ให้ตั้งใจฝึกซ้อม เอาเงินมารักษาแม่”
ลีลาพลิ้วบนสนามของการแข่งขันอย่างนักเตะอาชีพในตำแหน่งกองกลาง แฟร้งกลับมาจากการเรียน ฝึกฝนกับมืออาชีพและสะสมประสบการณ์ที่อังกฤษแล้ว เป็นดาวรุ่ง Fox Hunt ได้และเขามี “ลูกแรก” ในการเล่นลีกอาชีพได้ดังตั้งใจ อีกทั้งในวันนี้แฟร้งยังเก็บเงินจากน้ำพักน้ำแรงของการเป็นนักบอลอาชีพ ซื้อบ้านและดูแลครอบครัวที่เขารักได้อย่างที่ฝัน
แม้ว่าต่อจากนี้อาจจะยังคงมีอุปสรรคข้างหน้าอีกมากมาย ให้แฟร้งฟันฝ่าหลังจากคว้าความฝันที่จะได้เป็นนักเตะอาชีพและเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติไทยมาได้ เรามั่นใจได้เลยว่าเขาคนนี้จะผ่านไปสู่ความสำเร็จได้โดยไม่ถอยแม้ก้าวเดียว
ผลงานฟุตบอลของแฟร้ง Fox Hunt รุ่น 2
ปี 2020 สยาม เอฟซี
ปี 2019 เชียงใหม่ เอฟซี / ทีมชาติไทย
– เข้าแคมป์ทีมชาติไทยชุดทำศึกชิงแชมป์อาเซียน รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี 2019 (AFF U19 Championship 2019) ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 4-20 สิงหาคม
– โค้กคัพ ลงเล่น 4 นัด รวมเวลา 360 นาที ได้แชมป์ตัวแทนภาคเหนือ
สถิติตอนฝึกกับ เลสเตอร์ ซิตี้ ประเทศอังกฤษ
2018/19
– มีการแข่งขัน 59 นัด ลงเล่นไป 20 นัด คิดเป็น 34%
2017/18
– มีการแข่งขัน 44 นัด ลงเล่นไป 37 นัด คิดเป็น 84%
2016/17
– มีการแข่งขัน 27 นัด ลงสนามไป 7 นัด คิดเป็น 26%