กระดาษ A4 เหลือใช้แผ่นบาง โปสเตอร์ที่หมดอายุการใช้งาน กากกาแฟถูกตากแดด และดอกไม้ไหว้พระที่ถูกทิ้งไว้จนแห้งถูกนำมาผสมรวมกันได้เป็นวัสดุเนื้อคล้ายดินเหนียว ขึ้นรูปเป็นของตกแต่งรูปทรงแปลกตา ชุบชีวิตให้ของหมดอายุไร้คุณค่ากลับมาเริงร่าได้อีกครั้ง
ด้วยความหลงใหลในงานศิลปะของ อู๋-วิทยา ชัยมงคล อาร์ตไดเรกเตอร์ภาพยนตร์และโฆษณาที่มีงานอดิเรกเป็นการทำงานศิลปะ ความชอบของเขานำไปสู่การทดลองเอาวัสดุเหลือใช้รอบตัวมาดัดแปลงใหม่ จนเกิดเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีแค่อู๋และน้อย-อัจฉรา ตันนี คนรัก จับมือร่วมทางกันมาตั้งแต่ต้น เกิดเป็นแบรนด์ที่บรรเลงเพลงรักในงานศิลป์ เคล้าคลึงดินจากกระดาษสรรค์สร้างของแต่งบ้านน้อยแต่มาก แปะป้ายชื่อแบรนด์ตัวเองใน คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี อวดฝีมือและแนวคิดรักษ์โลกให้กับคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เห็นเป็นขวัญตา
A Next Life คอนเซ็ปต์ชุบชีวิต
“มันเป็นแนวคิดเชื่อมโยงระหว่างชิ้นงาน ที่มาของตัววัสดุ กระดาษเราก็ใช้งานจนหมดหน้าที่ของมันไปแล้ว เราก็เอากลับมาทำให้เขามีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง เพียงแต่ว่าหน้าตาของเขาเปลี่ยนไป” A Next Life คอนเซ็ปต์ของแบรนด์ที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากความชื่นชอบในงานศิลปะ ด้วยสองมือของศิษย์จากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะมัณฑนศิลป์ เอกประยุกต์
แม้ว่าจะไม่ได้จับงานศิลปะจริงจังมาตั้งแต่เรียนจบ แต่ในวันที่เติบโตขึ้นมาเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ทำภาพยนตร์และโฆษณา ชีวิตที่วุ่นวายกลับยังไม่ทำให้เขาหลงลืมความสวยงามของงานศิลปะ อารมณ์ศิลปินจึงถูกนำมาจัดแสดงในรูปของงานปั้นที่ก่อนหน้านั้นเป็นเพียงงานอดิเรก “เราก็อยากจะมีพื้นที่ในการแสดงออก ช่วงนั้นก็มีความสนใจในการทำงานปั้น ผมรู้สึกว่าการทำงานปั้นมันคือสุดยอดของการทำศิลปะ งานปั้นเนี่ยมันต้องดูได้รอบตัว รอบด้าน”
ผลงานชิ้นแรกคือ นกฮูกที่นำกระดาษเหลือใช้มาเป็นวัสดุหลัก เขายังเล่าว่าทุกวันนี้นกฮูกตัวนั้นยังตั้งอยู่ที่เดิม “มันก็ถือเป็นงานต้นแบบอันหนึ่ง และเป็นชิ้นงานที่ทำให้ค้นพบอะไรบางอย่างได้” จากนกฮูกตัวแรกในวันนั้น คลอดออกมาเป็นของตกแต่งบ้านอย่างแจกันและงานปั้นอีกหลายร้อยชิ้น
Paper Sculpture…
งานปั้นจากกระดาษ
ด้วยความที่รู้จักตัวเองและยอมรับในจุดอ่อนจุดแข็ง ทำให้แนวคิดริเริ่มสร้างผลงานเป็นผลพวงมาจากทั้งแพสชันแรงกล้าผนวกกับความสามารถที่มี โดยหลักการแล้วเขาไม่ได้มีทักษะพอในกระบวนการที่จะทำงานปั้นได้ด้วยตัวเองทั้งหมด เลยมองหาว่ามันมีวัสดุอื่นไหมที่ไม่ต้องไปผ่านกระบวนการหล่อหรือถอดพิมพ์ พอขึ้นรูปแล้วสามารถใช้ได้เลย
เมื่อมองไปรอบตัว เขาจึงพบว่าวัสดุที่เหมาะสมและสามารถใช้ได้ดีก็คือ กระดาษที่มีคุณสมบัติสามารถใช้ขึ้นรูป เซ็ตตัวได้โดยที่ไม่ต้องผ่านกรรมวิธีอะไรมากมาย
หากพูดถึงงานศิลปะที่ทำจากกระดาษ หลายคนคงมีชื่อเปเปอร์มาเช่ผุดขึ้นในหัวเป็นชื่อแรก หากแต่วิธีการของ “103 เปเปอร์” กลับไม่ใช่วิธีดั้งเดิมตามที่เคยถูกสอนมาในรั้วโรงเรียน เพราะชิ้นงานของเขานั้น มีคนส่วนหนึ่งเรียกว่า “เปเปอร์มาเช่” อยู่เหมือนกัน แต่เขามักจะปฏิเสธ โดยเรียกผลงานที่สร้างสรรค์ในนาม “103 เปเปอร์” ว่าเป็น “Paper Sculpture” แทน เพราะมีบางอย่างคล้ายกันโดยหลักการ และทางแบรนด์ได้เอามาดัดแปลงให้มีความแตกต่างในกระบวนการทำ ซึ่งทุกขั้นตอนนั้นมีอู๋เป็นคนคิดค้นขึ้นมาเอง จนได้ชิ้นงานที่มีคาแรคเตอร์ชัด “เรารู้สึกโชคดีมากที่เจอความรู้สึกนี้ของกระดาษ พอเราทำงานกับกระดาษ เราก็ให้เกียรติเขาด้วยการให้เขาได้โชว์เนื้อ โดยที่ไม่ต้องเอาสีมากลบ มันมีความแตกต่างจากเปเปอร์มาเช่ทั่วไป”
เมื่อได้เนื้อดินกระดาษที่เกิดจากการนำเอาเศษกระดาษมาผสมกับส่วนผสมแล้ว จะถูกนำมาผ่านกรรมวิธี ตบ นวด คลึง ขึ้นรูปด้วยฝีมือการปั้นประณีตของอู๋ที่ดูแลงานปั้นเพียงผู้เดียว จากนั้นปล่อยให้ดินกระดาษแห้งแล้วนำมาผ่านกระบวนการขัด เคลือบเพื่อนำไปใช้งานต่อไป แต่ด้วยความที่ชิ้นงานสร้างจากกระดาษ จึงถูกออกแบบให้สามารถทนน้ำได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
Suggestion
ลวดลายหินแร่ กลิ่นอายความเป็นไทย
แม้รูปร่างภายนอกจะเกิดขึ้นจากฝีมือการปั้นของอู๋ แต่ลวดลายบนของตกแต่งแต่ละชิ้น ล้วนเป็นฝีมือของกระดาษที่ใช้แล้วถูกผสมอย่างลงตัว ละเมียดละไม
“สิ่งที่เกิดขึ้นในชิ้นงานเราไม่ได้เกิดจากการเพนต์” เขาบอก แต่นั่นเป็นสีของตัวเนื้อกระดาษ ซึ่งถูกค้นพบว่าตัวกระดาษเองมีคุณสมบัติในการให้สี ให้เท็กซ์เจอร์ เขาเลยปล่อยให้มันทำหน้าที่ของมันเองไป ทั้งนี้ลวดลายที่มีลักษณะคล้ายหินแร่ตามธรรมชาตินั้นต้องยกความดีความชอบให้กับคุณสมบัติของกระดาษที่ทำได้ไม่เหมือนใคร
นอกจากลายหินพื้นผิวเรียบแล้ว ยังต่อยอดออกมาเป็นชิ้นงานที่มีเลเยอร์ มีชั้นต่างระดับ เล่นกับแสงเงาบนตัวชิ้นงาน เกิดเป็นแนวคิดการปั๊มลายที่พัฒนาต่อมาอีกทีหนึ่ง ซึ่งอู๋เลือกหยิบลวดลายไทยมาปั๊มลงบนชิ้นงาน เหตุผลก็เพราะโดยส่วนตัวแล้วเขามีความชอบลายกระเบื้องโบราณ พื้นกระเบื้องตามวัด… เขาประทับใจตรงนั้นแล้วนำมาลดทอนรายละเอียดให้มันกราฟิกขึ้น ดูง่ายขึ้น…
ผลงานแต่ละชิ้นจึงไม่เพียงเป็นเครื่องโชว์ทั้งความสามารถของผู้ปั้น แต่ยังแฝงไว้ซึ่งคุณสมบัติพิเศษของกระดาษที่ไม่เหมือนใครไปด้วยพร้อมกัน ซึ่งผลงานแต่ละชิ้นล้วนผ่านมือของอู๋เป็นคนปั้นแต่เพียงผู้เดียว จึงทำให้ “103 เปเปอร์” มีข้อจำกัดเรื่องปริมาณการผลิต แต่ทุกชิ้นล้วนมีพลัง มีความผูกพันและตั้งใจส่งต่อมาถึงมือผู้ซื้อจนสัมผัสได้
มากกว่ารีไซเคิล คือ แนวคิดรักษ์โลก
“มันสนุกอะ” คือความรู้สึกที่เขามีต่องานที่ทำอยู่ แม้จะเกิดขึ้นจากกระดาษเหลือใช้ที่ไม่มีใครเห็นคุณค่า แต่เมื่อถูกส่งต่อมายังมือคนที่ใช่ กลับสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นได้มากกว่าของรีไซเคิล
กระดาษเหลือใช้ที่ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบนั้น แรกเริ่มอู๋ได้แนวคิดมาจากการทำงานในกองถ่ายที่เห็นพร็อพประกอบฉาก กระดาษที่ใช้ครั้งเดียว ต่อมาจึงนำมาต่อยอดเป็นกระดาษเหลือใช้จากสำนักงานซึ่งได้มาจากคนรู้จักที่ทำงานในออฟฟิศ และโรงงานอื่นๆ “กระดาษทั่วไปที่เราใช้มันเป็นรีไซเคิล ผ่านการใช้งานมาทั้งหมด กระดาษสี กระดาษโปสเตอร์ แต่ละชนิดก็จะให้คุณสมบัติคนละแบบ”
จากแนวคิดการใช้วัสดุที่เข้าใกล้คำว่า Eco Friendly “103 เปเปอร์” จึงตัดสินใจตบผลงานให้เข้ามาอยู่ในธีมเดียวกัน ด้วยการเลือกวัสดุหมดอายุประเภทอื่นมาใช้ด้วย ผลงานจึงมีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น “นอกจากกระดาษแล้วยังมีวัสดุอื่นๆ ที่เราเสริมเข้าไปในชิ้นงาน พวกกากกาแฟ ดอกไม้แห้งที่ได้จากการไหว้พระทุกอาทิตย์ กลายเป็นเท็กซ์เจอร์อย่างหนึ่งที่อยู่บนตัวชิ้นงานด้วย มันก็สร้างมิติขึ้นในตัวชิ้นงานแต่ก็ยังอยู่ในกรอบของการใช้ของเหลือใช้อยู่” ส่วนสีสันที่ได้นั้น หากไม่ได้มาจากกระดาษหรือวัสดุอื่นก็ยังมีสีจากธรรมชาติปรุงแต่งให้สวยงามยิ่งขึ้น อย่างสีคราม สีขมิ้น และสีจากกระเจี๊ยบ เกิดเป็นชิ้นงานทรงคุณค่าที่มองเท่าไรก็ไม่เบื่อ เพราะรังสรรค์และให้ความรู้สึกเหมือนเราเข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้นอีกหน่อย
แม้ว่า 103 Paper จะเพิ่งได้เข้ามาวางขายใน คิง เพาเวอร์ เป็นปีแรก แต่กระแสตอบรับกลับดีเกินคาด “เริ่มแรกเราก็ยังไม่แน่ใจว่าจะขายได้ไหม เพราะงานของเราเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าอาจจะตัดสินใจด้วยการเห็นของจริงถึงจะสั่งซื้อ เนื่องจากเป็นงานที่เกิดจากวัสดุทางเลือกและค่อนข้างมีราคา” จนถึงตอนนี้ทางแบรนด์สามารถปล่อยของไปได้เรื่อยๆ เริ่มจากยอดสั่งซื้อเล็กๆ ค่อยๆ เติบโต นับว่าเป็นเส้นทางที่จะทำให้แบรนด์แข็งแรงและปล่อยของในตลาดโลกได้มากขึ้น
ย้อนกลับไปในวันที่ผลงานของ “103 เปเปอร์” เริ่มขายได้ชิ้นแรก เจ้าของก็น้ำตาไหลในตลาดหัวมุมเลียบทางด่วน สู่วันที่มีอาณาจักรของแต่งบ้านจากกระดาษที่ทุกชิ้นถูกผลิตจากความประณีตและความรักในผลงานอย่างแท้จริง เจ้าของแบรนด์ทั้งคู่ต่างพากันจูงมือมาไกลและยังคงไปต่อ พัฒนาเป็นผลงานล้ำๆ จากของเหลือใช้ แฝงความรักษ์โลก อนุรักษ์ธรรมชาติไว้ในโลกโมเดิร์นได้อย่างแยบยล โลกสมัยใหม่ซึ่งใช้ชีวิตรวดเร็วและทิ้งขว้างของเก่าอย่างง่ายดาย..
103PAPER
ที่ตั้ง : ถนนลาดปลาเค้า แขวงจรเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230
Facebook: 103PAPER
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: 103PAPER
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา
ปักหมุดจุดเช็กอิน–แชะรูป–ท่องเที่ยวใกล้เคียง
• วัดลาดปลาเค้า เข้าวัดทำบุญเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตในวัดเก่าแก่ของชุมชนลาดปลาเค้า อายุกว่า 150 ปี
• ตลาดบัวพัฒนา ตามหาของอร่อยในราคาถูกได้ในตลาดบัวพัฒนา แหล่งรวมอาหารละลานตาในย่านลาดพร้าว
• Museum of TEEs Thailand T-Shirt Museum แห่งแรกของประเทศไทย แหล่งรวมเสื้อหายากจากทั่วโลก คนรักเสื้อยืดพลาดไม่ได้