Playground

‘ผ้าซิ่นตีนจก&ผ้าขาวม้าลายช้าง’ 
อัตลักษณ์คู่บ้านหาดเสี้ยว 

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 4 May 2023
Views: 776

ผืนผ้าแต่ละท้องถิ่นย่อมบ่งบอกที่มาและการดำรงชีวิตของคนรุ่นก่อนที่พยายามส่งให้รุ่นต่อๆ ไปให้ได้มากที่สุด หนึ่งในนั้นคือผ้า 2 แบบ “ผ้าซิ่นตีนจก” และ “ผ้าขาวม้า” ของชุมชนบ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยด้านหนึ่งต้องยอมลดความเป็นตัวเองและเพิ่มความต้องการของลูกค้าเป็นเครื่องนำทางว่า ผ้าไทยควรปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับวิถีหรือไลฟ์สไตล์ประจำวันด้วย

นั่นคือสิ่งที่ คุณสุจินต์ โพธิวิจิตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าและตัดเย็บบ้านหาดเสี้ยว พยายามทำต่อเนื่องมาตลอด 19 ปีที่ผ่านมาเพื่อให้ลมหายใจของผ้าตามอัตลักษณ์ของบ้านหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย ยังคงไปต่อได้

 

เลี้ยงชีพ…สู่การสืบสาน

จุดเริ่มต้นอาจเป็นเรื่องบังเอิญที่ผลงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าและตัดเย็บบ้านหาดเสี้ยวที่ยังไม่รวมตัวเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชม” อย่างทุกวันนี้ ด้วยความที่คุณสุจินต์ต้องเปลี่ยนอาชีพจากพนักงานแบงก์แห่งหนึ่งที่บ้านเกิดในอำเภอศรีสัชนาลัย เข้าเมืองหลวงอีกครั้งหลังเรียนจบจากตั้งตรงจิตรพณิชยการ เพราะต้องย้ายไปอยู่กับสามีที่งานประจำอยู่กรุงเทพฯ

เธอได้รับคำแนะนำจากคนรู้จักว่า ในเมื่อเธอเป็นคนที่รู้จักที่ทางในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว น่าจะลองนำผ้าเก่าของศรีสัชนาลัยไปขายดู เพราะตอนนั้นยังไม่มีโครงการ OTOP เธอจึงรับผ้าของคนในชุมชนไปวิ่งขายเอง และหลังจากนั้นได้จนท้ายสุดร่วมกับเพื่อนอีก 2 จังหวัด เปิดร้ายขายผ้าที่จตุจักร เธอนำผ้าเก่า ผ้าซิ่นตีนจกและผ้าขาวม้าไปขาย และเพื่อนเอาผ้าไหมของขอนแก่นและสุรินทร์ไปขาย แล้วคอยหาผ้าต่างๆ ตามออร์เดอร์ของลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติ

เมื่อเริ่มมีสมาชิกออกไปทำเอง ก็เริ่มคุยกับเพื่อนสนิทที่ทอผ้าได้ แต่ไม่ถนัดขายหรือการตลาด จึงมาร่วมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มอาชีพได้ 7-8 คน โดยคุณสุจินต์เป็นคนวิ่งขายผ้าตามที่ต่างๆ ตั้งแต่ปี 2547 และปัจจุบันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าและตัดเย็บบ้านหาดเสี้ยว มีสมาชิกทั้งหมด 20 คน ซึ่งคนทอส่วนใหญ่ทำเป็นอาชีพเสริม เพราะอาชีพหลักของคนในชุมชนยังทำการเกษตรทำนาทำไร่ พอว่างจึงมาทอผ้า แบ่งเป็นช่างตัดเย็บ 9 คน ตลอด 19 ปีที่ผ่านมาสามารถมีรายได้จากการทอและตัดเย็บผ้าซิ่นจีนจกและผ้าขาวม้าบ้านหาดเสี้ยวจนส่งลูกเรียน ซื้อกี่ทอผ้าใหม่ หรือผ่อนรถได้

 

เอกลักษณ์ของผ้าบ้านหาดเสี้ยว

ชุมชนบ้านหาดเสี้ยวเดิมเป็นชาวไทพวน ที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว แล้วมาตั้งรกรากในไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 3 และนำวิถีชีวิตและวิชาทอผ้าติดตัวมาด้วย เพราะต้องทอใช้ภายในครัวเรือน ซึ่งมี 2 ประเภท คือ ผ้าซิ่นตีนจก ที่ปกติผ้า 1 ผืนจะประกอบไปด้วยหัวซิ่น กลางตัว และตีน ที่ปกติจะแยกกันทำ 3 ส่วน แล้วค่อยมาประกอบกับเป็น 1 ผืน

อัตลักษณ์ของตัวตีนจกแบบบ้านหาดเสี้ยวมีลายดั้งเดิมทั้งหมด 9 ลาย ที่มีทั้งรายละเอียดและความยากง่ายแตกต่างกัน ส่วนลายที่ทำยากนั้น จะมีกรรมวิธีที่ละเอียดและเครื่องประกอบเยอะ ใช้เวลาทำนานหรือใช้ขนเม่นควักเส้นด้ายทีละเส้น เป็นที่นิยมของคนเล่นผ้าสวยงามแต่ราคาจะสูง เช่น ลายเครือกลาง เครือใหญ่ ส่วนลายที่เป็นที่นิยม คือ ลายน้ำอ่าง และลายที่ทำง่าย เช่น ลาย 12 หน่วยตัด

นอกจากนั้นยังมีผ้าขาวม้าที่เป็นผ้าใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวไทพวนจะขี่ช้างไปค้าขี่ม้าไปขายของ ผู้หญิงไทพวนจะทอผ้าขาวม้าให้สามีและลูกๆ ใช้กันเพื่อใช้ห่อใส่ของหรือเป็นส่วนหนึ่งในการใช้งานในชีวิตแต่ละวัน และยังเป็นการสะท้อนวิถีชีวิตที่นี่ได้เป็นอย่างดี จากเทศกาลขี่ช้าง บวชพระ แห่นาค นอกจากใช้ผ้าขาวม้าเวลาโกนผมนาค ผู้ชายส่วนใหญ่ที่มางานจะเชนหรือคาดเอวด้วยผ้าขาวม้า และผ้าขาวม้าของบ้านหาดเสี้ยวจะมีเอกลักษณ์ตรงที่จะมีรูปช้างอยู่บนลายผ้า และเป็นช้างที่มีแหย่งหรือที่นั่งของกษัตริย์บนช้างให้เห็นอยู่เสมอ หรือบางทีก็มีรูปม้าที่กว่าจะได้ผ้าขาวม้าแต่ละผืนใช้เวลามากกว่า 4-5 วัน

ลูกค้าคือคนที่สอนเราให้รู้จักปรับตัว

เป็นเรื่องปกติที่คนทอหรือตัดเย็บจะคิดต่างกันกับคนที่นำไปขาย ดังนั้นวิธีการปรับคนภายในกลุ่มให้ยอมรับในการผลิตที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการลูกค้า คือต้องค่อยเป็นค่อยไป “แต่เราจะให้ลูกค้าเป็นคนสอน แล้วค่อยไปสอนเพื่อนว่า แบบใด สีไหนที่ลูกค้าต้องการ เช่น ขอลดโทนสีสดและใช้สีที่ดูอ่อนหวานลง”

ตอนแรกๆ ก็ไม่มีคนยอมเปลี่ยน แต่พอเห็นว่าคนที่ยอมปรับใช้โทนสีดูอ่อนหวานหรือพาสเทลกลับขายออกได้ไว แล้วก็ขายได้ในราคาที่ดีกว่าทำแบบเดิม จึงค่อยๆ เริ่มปรับตัวกันมา จนมีโอกาสส่งผ้าให้กับทาง คิง เพาเวอร์ มา 6-7 ปี ส่วนใหญ่เป็นผ้าคลุมไหล่หมักโคลนและเป็นการยกขิดลายพิกุลเล็กที่มีความละเอียดในลวดลายและสวยงาม ซึ่งเป็นการคัดงานฝีมือที่มีความพิเศษนำไปขยายให้คุณค่ายิ่งปรากฎ

 

เปิดประตูบานใหม่ให้ตัวเองและคนข้างนอกเสมอ

ก่อนหน้านี้ใช้วิธีเดินหาแบบชุดต่างๆ ชอบอันไหนจะซื้อมาจ้างคนทำเป็นแพตเทิร์นและปรับให้เข้ากับผ้าต่างๆของบ้านหาดเสี้ยว เพราะจุดประสงค์ของการตั้งชื่อกลุ่มไม่ได้เน้นการทอผ้าอย่างเดียว แต่เน้นการตัดเย็บด้วย โดยปัจจุบันมีช่างทั้งหมด 9 คน และมีโครงการเข้าประกวดที่ไหนถ้าสะดวกก็พร้อมทำ แต่จะไม่เน้นทำพื้น อย่างโครงการของไทยเบฟเวอเรจ เน้นการทำผ้าขาวม้า แต่ลองปรับแบบและตัดเป็นกระเป๋าลายผ้าขาวม้าใบใหญ่เลยก็ได้รางวัล รวมถึงโครงการที่อาจารย์พานักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มาแลกเปลี่ยนในสิ่งที่ตัวเองมีกับชุมชน

“นักศึกษามาช่วยแนะนำเรื่องการออกแบบดีไซน์ ทำแพตเทิร์นเป็นกระดาษให้ทางกลุ่ม แล้วก็ให้
แพตเทิร์นไว้เลย ทำให้สมาชิกทุกคนได้ฟังไอเดียว่า ปัจจุบันเขานิยมใส่เสื้อผ้าสไตล์ไหน โทนสีแบบไหน ขณะที่นักศึกษาก็ได้มาเรียนรู้และฝึกการทอผ้าด้วย ตอนนี้ใครเข้ามาเราพร้อมเปิดประตูบ้าน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่พร้อมมาแลกเปลี่ยนหรือแนะนำกลุ่ม ที่ผ่านมาเวลาหน่วยงานราชการหรือองค์กรไหนชวนไปเรียนออกแบบและสอนการทำแพตเทิร์นก็จะให้ช่างตัดเย็บไปเรียนพร้อมกันเลย เพราะเราวางแพตเทิร์นไม่เก่ง หรือบางครั้งก็ปรึกษาลูกบ้าง เพราะเขาเรียนการออกแบบมา”

 

อนาคตวิสาหกิจชุมชนทอผ้าและตัดเย็บบ้านหาดเสี้ยว

อำเภอศรีสัชนาลัยมีกลุ่มทอผ้าหลายกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างและเอกลักษณ์ของตัวเอง กลุ่มเราโดดเด่นเรื่องการตัดเย็บที่เอาผ้ามาแปรรูปจะเน้นใส่หรือใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทำให้มีลูกค้าหลายกลุ่ม ทั้งข้าราชการและคนทั่วไปที่หลายคนก็กลายเป็นลูกค้าประจำไปแล้ว

แม้ทางกลุ่มอยู่ร่วมกันมา 19 ปีแล้ว ถึงตอนนี้มีอีกหลายอย่างที่อยากพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อต้องการส่งต่อการทำผ้าซิ่นตีนจกกับผ้าขาวม้าบ้านหาดเสี้ยวแบบดั้งเดิมที่พร้อมประยุกต์กับการใส่ในชีวิตประจำวันได้ด้วย โดยพยายามสร้างแรงจูงใจจากเด็กๆ ที่ตามพ่อแม่เข้ามาเย็บผ้าทอผ้า

“ตอนนี้ป้าอายุ 67 ปีแล้ว แม้ยังสนุกกับการหาตลาดขายผ้าที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ แต่ก็อยากให้มีสมาชิกที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาในกลุ่มมากขึ้น และอยากพัฒนาเรื่องการย้อมผ้าเพราะจะช่วยบริหารต้นทุนได้ดีกว่า จากตอนนี้ไม่ได้ย้อมเส้นด้ายเอง สั่งซื้อจากชุมชนที่อื่นมาแล้วมาทอกัน เนื่องจากสมาชิกยังไม่พร้อมที่จะลงมือย้อมเอง แต่ก็พยายามเชิญชวนและสร้างแรงบันดาลใจต่อไป เพราะถ้าสามารถย้อม ทอ และตัดเย็บเองได้ ตั้งแต่ต้นน้ำไปปลายน้ำจะทำให้บริหารต้นทุนได้ดี พร้อมกับพยายามสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ หรือคนรุ่นใหม่ในชุมชนเข้ามาเรียนรู้ว่า การทอผ้าและตัดเย็บที่นี่สามารถสร้างอาชีพได้เหมือนคนรุ่นแม่ที่สามารถส่งลูกๆ เรียนหนังสือ โดยไม่ต้องออกไปหางานทำข้างนอกซึ่งมีต้นทุนชีวิตที่สูงกว่า”

ออนไลน์เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้

คุณสุจินต์ยอมรับว่าช่วงแรกมองว่าออนไลน์ทำให้เกิดการก๊อบปี้ลวดลายจากคู่แข่ง เพราะเคยลงผลงานชิ้นใหม่ไปทางเฟซบุ๊ก ไม่นานคนที่มีกำลังการผลิตเข้มแข็งและมีเงินทุนกว่าก็ผลิตตามเราทันที

จากนั้นจึงไม่ค่อยลงอัปเดตอะไรทางออนไลน์ ประกอบกับที่ผ่านมาสามารถขายหน้าร้านที่ของศูนย์วิสาหกิจชุมชนเองก็มีคนมาเยี่ยมเยือนเสมอ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเวลาไปงานแฟร์ขายของตามที่ต่างๆ โดยทุกครั้งที่ออกงานโชว์ยังยืนยันที่จะโชว์ผ้าซิ่นตีนจกและผ้าขาวม้าในรูปแบบดั้งเดิมอยู่หน้าร้านเสมอ เพื่อให้รู้ว่านี่คือเอกลักษณ์ของกลุ่มเราที่พร้อมประยุกต์ให้เข้ากับการสวมใส่หรือใช้สอยในชีวิตประจำวัน

แต่โควิด – 19 ทำให้เกิดความคิดใหม่เพราะทุกอย่างหยุดชะงักหมด ขายไม่ได้ เดินทางเข้าออกแต่ละจังหวัดไม่สะดวกเหมือนเมื่อก่อน และต้องดูแลช่างตัดเย็บคอยป้อนงานให้เขาตลอด เพราะเข้าใจว่าทุกคนทุกบ้านยังต้องกินต้องใช้ คอยหมั่นถามหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอนำสินค้าไปจำหน่าย และกว่าจะผ่านช่วงนั้นมาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย จนตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น แม้ยังไม่กลับมาเท่าเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เห็นถึงพลังของโซเชียลมีเดียและออนไลน์ หลังโพสต์ขายมาออกบูทที่เมืองทองฯ ล่าสุด ปรากฏว่ามีลูกค้าขับรถมาจากลพบุรี เพื่อมาเหมาเสื้อผ้าและกระเป๋าจากเราไป 8 ชุด เพราะเห็นว่ามาออกงาน

“ยอมรับว่าจุดอ่อนของทางกลุ่มตอนนี้คือ ยังไม่ได้ทำเรื่องออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียอย่างเป็นทางการ แม้เห็นพลังของโซเชียลมีเดียว่ามีส่วนต่อวอลุ่มการขายจริง และลูกค้าหลายคนก็แนะนำให้ป้าทำ แต่ป้าขอเวลาศึกษาพร้อมหาคนมาช่วยด้านนี้ก่อน เพราะตอนนี้วิ่งออกไปขายสินค้ายังไม่ทัน และลูกค้าก็เริ่มกลับเข้ามาสั่งออร์เดอร์ให้ช่วยผลิตเข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า ย่าม ชุดทันสมัยต่างๆ เพราะอยากทำให้ผ้าของบ้านหาดเสี้ยวอยู่คู่กับคนศรีสัชนาลัยและเมืองไทยตราบนานเท่านาน” นี่คือคำมุ่งมั่นที่ป้าสุจินต์บอกทิ้งท้ายกับเราไว้

มาเอาใจช่วยสินค้าพลังคนไทยที่พยายามจะทำให้ผ้าท้องถิ่นของตัวเองได้อยู่คู่กับเมืองไทย และเชื่อว่าได้ความตั้งใจของคนชุมชนบ้านหาดเสี้ยวยังคงผลิตสินค้าดีๆ ออกมาให้พวกเราได้เห็นและได้ใช้กันอย่างต่อเนื่องแน่นอน

 

บ้านหาดเสี้ยว (BAAN HAADSEAW)

ที่ตั้ง: 434 หมู่2 ต.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย 64130

 

Facebook: BAAN HAADSEAW

 

สนใจสินค้าพลังคนไทยสามารถซื้อได้ที่ คิง เพาเวอร์ ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน – แชะรูป – ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• ร้านข้าวเปิ๊บยายเครื่อง ที่ใครมาถึงเมืองศรีสัชนาลัยแล้วไม่ได้กินข้าวเปิ๊บเหมือนมาไม่ถึง เพราะเป็นอาหารโบราณของที่นี่ และว่ากันว่าเป็นอาหารหรือก๋วยเตี๋ยวของพระร่วงอีกด้วย
• บ่อน้ำร้อนบ้านโป่งลำปาง แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติแห่งใหม่ของ ต.แม่สิน อ.ศรีสัชนาลัย
• คาเฟ่อาเมทิสท์ ที่สามารถทำกิจกรรมได้ทั้งครอบครัว เพราะนอกจากมีเครื่องดื่มและมุมถ่ายรูปรอบๆ ร้านแล้ว ยังมีโกคาร์ทให้ขับเล่นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง