Passion

VEMUS
รวมตัวท็อปแห่งสารคามพิทยาคม

กฤษณา คชธรรมรัตน์ 23 May 2023
Views: 613

VEMUS วงดนตรีที่จุดระเบิดความสนุกให้ผู้ชมลุกขึ้นมาโยกหัวสุดมัน ใน THE POWER BAND 2022 SEASON 2 สนามขอนแก่น พร้อมกวาดคำชม “เพอร์เฟกต์!” จากคณะกรรมการ พวกเขาทั้ง 6 ฝากความประทับใจไว้ จนเราอยากชวนคุยและอยากชวนให้พวกเขาทำหน้าที่พาพวกเรากลับไปยังบรรยากาศการประกวดล่าสุด จากวงที่เรียกได้ว่าเป็นการรวมตัวท็อปแห่งสารคามพิทยาคมเอาไว้ที่เดียว

เดียร์ – เอกราช พรหมนอก นักร้องนำที่มีผลงานเพลงทำเองเป็นของตัวเองแล้ว เอมมี่ – พิมพ์มาดา ประสานธนทรัพย์ มือกลองหญิง ที่วิ่งลงสนามแข่ง 2 รอบในฐานะสมาชิกของ 2 วง 2 รุ่น ชีตาห์ – ธีรินทร์ เรืองศรีมั่น มือกีตาร์ ผู้เคยคว้ารางวัลมือกีตาร์ยอดเยี่ยมจากการประกวดมือกีตาร์โซโลของเวทียามาฮ่า ในขณะที่ ฟิล์ม – ธนภูมิ บุญฉ่ำ มือเบส กับ  มอส – พิชญุตม์ เกียสุวรรณศิลป์ มือกีตาร์ ได้รางวัลจากงานประกวดเวทีงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนของจังหวัด และมี แอลมา – วีรบุรุษ
ชนะบูรณ์ มือคียบอร์ด
ผู้หัดเล่นจากคีย์บอร์ดทิพย์บน ‘โต๊ะ’ และ YouTube

“พวกเราดีใจมากที่ได้เล่นบนเวที THE POWER BAND

รู้สึกว่าเวทีนี้ให้ประสบการณ์ที่ดีที่ให้เราได้เจนสนามมากขึ้น

เพราะว่าพวกเรายังอยากจะไปต่ออีก”

วง VEMUS โรงเรียนสารคามพิทยาคม

 

เด็กทั้งหกต่างเป็น “เด็กมีของ”! ไม่ได้เรียนสายดนตรี แต่เรียนรู้เองจาก YouTube! ฝึกฝนด้วยการเล่นดนตรีเปิดหมวก! มีมือกลองของวงเป็นผู้หญิงและลงแข่งในฐานะสมาชิก 2 วงในสนามเดียว! และทั้ง 6 คน เดิมต่างอยู่กันคนละวง แต่ฝีมือเด็ดจนคุณครูขอดึงตัวมารวมกันเฉพาะกิจ เพื่อแข่งเวที THE POWER BAND โดยเฉพาะ!!…แค่เรื่องราวของการรวมวง VEMUS ก็ไม่ธรรมดาแล้ว

 

วีมัส…ขอแค่เป็นแชมป์สักรายการ!

เดียร์: วีมัส มาจากคำผสมของ วีนัส กับ มิวสิก ครับ วีนัสเป็นชื่อของดาวศุกร์ครับ แปลว่าสวยงาม แล้วมัสเป็นคำตัดที่มาจากมิวสิก เพราะเราอยากจะสื่อถึงดนตรีที่สวยงามครับ

แต่ละคนมีวงของตัวเองมาก่อนครับ แต่คุณครูบัณฑิต  ทาชารี (ผู้คุมวง) จับพวกเรามารวมกัน เลือกคนที่เขาคิดว่าดีที่สุดในโรงเรียนจากแต่ละตำแหน่งเครื่องดนตรีกัน เรารวมตัวกันราวๆ 2 เดือนก่อนมาประกวด แรกๆ ก็ยากๆ หน่อยครับ ไม่ค่อยกล้าคุยกัน แต่เราละลายพฤติกรรมด้วยดนตรีนี่แหละครับ เล่นดนตรีด้วยกันไปๆ มาๆ ก็สนิทกันเอง จากนั้นก็เริ่มตั้งเป้าหมายว่าขอเป็นแชมป์สักรายการหนึ่ง

 

ทุกคนไม่ได้เรียนสายดนตรี แต่ฝีมือมาจากการฝึกฝน ความสนใจ และจะไปจีบหญิง!

ฟิล์ม: แต่ก่อนเล่นกีตาร์ ตอน ม.1 ครูให้มาเล่นเบส ตั้งแต่ประมาณจบ ป.6 เลย เห็นเพื่อนเรียนแล้วน่าสนใจดีครับ ก็เลยไปสมัคร

ชีตาห์: ผมเรียนกีตาร์ที่โรงเรียนดนตรียามาฮ่าครับ แม่ส่งไปเรียน เริ่มเรียนตอน ป.3 ป. 4 มาตั้งใจเล่นจริงๆ ตอน ม.2 เพราะจะเอาไปจีบหญิงครับ (ฮา)

เดียร์: ผมไม่ได้เริ่มจากร้องเพลง เพิ่งร้องเพลงปีแรก แต่ก่อนผมเล่นกีตาร์แบบเล่นๆ ตั้งแต่ ป.2 คือทั้งโรงเรียนมีกีตาร์ตัวเดียวเพราะเป็นโรงเรียนประถมที่ไม่ใหญ่ ก็หัดเล่นกันคนละคอร์ดๆ แล้วก็เปลี่ยนกับเพื่อน มาเริ่มจริงจังตอน ม.1 เพราะครูมาดึงไปแข่งครับ ผมเลยเริ่มซึมซับตรงนี้

ส่วนเรื่องร้องเพลง ตอนแรกร้องลูกทุ่งครับ โตขึ้นมาได้มาเล่นกีตาร์ถึงรู้ว่าเรายังร้องไม่ตรงคีย์นะ ยังร้องไม่ถูกแต่จังหวะอะไรได้หมดเลยครับ ปีที่แล้วจู่ๆ ก็ร้องตรงคีย์ได้เองขึ้นมา

เอมมี่: เรียนกลองจากคุณพ่อค่ะ คุณพ่อเป็นมือกลอง สมัยหนุ่มๆ ก็ลงประกวดแบบนี้ค่ะ หนูโตมากับกลอง

มอส: ผมเล่นกีตาร์เพราะพี่ชายครับ ผมลืมตามาก็เห็นพี่ชายผมเล่นกีตาร์เลย น้าผมเขาเล่นกีตาร์ด้วยครับ ที่บ้านมีกีตาร์อยู่ เด็กๆ เห็นก็ไปรูดเล่นครับ แล้วรู้สึกชอบเสียง ก็เลยตัดสินใจเล่นเลย

แอลมา: ผมเริ่มเล่นคีย์บอร์ด ตอนอนุบาล 3 ได้แรงบันดาลใจมาจากที่โบสถ์ครับ ที่โบสถ์มีเครื่องดนตรีแค่ตัวเดียวเป็นเปียโนคลาสสิก ผมก็ไปกดเล่นแล้วเสียงมันเพราะดี เลยชอบ

 

มีอาจารย์พิเศษคือ YouTube!

แอลมา: ตอนอยากหัดเล่นคีย์บอร์ด เวลานั้นผมไม่มีใครสอนเลยครับ มีพี่ที่เขาเล่นประจำอยู่แต่เขาสอนไม่เป็น บอกแค่ว่าอันนี้ตัวนี้นะๆ ผมก็ไม่รู้ว่าทำยังไงให้เราเล่นให้ได้แบบพี่เขา ที่บ้านก็ไม่มีเปียโนด้วย ตอนนั้นกลับบ้านมาเปิด YouTube ดูเลยครับ หัดเล่นเปียโนแล้วก็กดนิ้วเอากับโต๊ะ สมมติว่าเป็นคีย์เปียโน พอไปโบสถ์ก็ไปเล่นไปฝึกเอาที่โบสถ์ พี่ในโบสถ์คนหนึ่งเห็นว่าเราพอเล่นได้ก็เลยเอาคีย์บอร์ดให้ครับ

 

นอกจากวงจะมีมือกลองหญิงแล้ว เธอยังลงแข่งให้กับ 2 วงดนตรี ในสนามเดียวกัน

เอมี่: ตอนแรกจริงๆ หนูเล่นอยู่กับวงรียูเนียน (ที่เข้าแข่งขันด้วยใน Class B) อยู่แล้ว และวงรียูเนียนก็เข้าประกวดรายการนี้ด้วย แล้วพอคุณครูเขาเลือกเอาคนที่เก่งที่สุดของแต่ละวงมา ก็เลยกลายเป็นว่าหนูได้ลงแข่งสองวง ครูเขาก็ทักไปถามข้อมูลให้ทางผู้จัด ก็ได้รับคำตอบว่าลงได้ ก็เลยลงเล่นสองวงซะเลย

 

ดนตรีเปิดหมวก คือสนามซ้อมของจริง

เดียร์: ผมเล่นดนตรีเปิดหมวกอยู่ตลาดนัดแถวบ้านช่วงเสาร์อาทิตย์ครับ ร้องอยู่วันละ 5 ชั่วโมง ตลาดไม่ได้ใหญ่เหมือนขอนแก่น ร้อยเอ็ดหรือบางที่ รายได้นำมาให้พ่อแม่ส่วนหนึ่ง แล้วก็เก็บไว้เรียนต่ออีกส่วนครับ

เอมมี่: เล่นเปิดหมวกเหมือนกันตามเทศกาล หนูเคยไปเล่นที่ตลาดต้นตาลอยู่สองสามครั้ง เปิดเพลงแล้ว ก็ตีกลอง ใส่หูฟัง ส่วนมากจะเป็นเพลงของวงไททศมิตรค่ะ

 

ที่ร้องนำเสียงไม่ตก…เพราะเทคนิคนี้

เดียร์: ผมชอบดูแสดงสดของวงทรีแมนดาวน์ เขามีเพอร์ฟอร์แมนดี แล้วผมสังเกตเวลาร้องตอนเขากระโดดหรือตะเบ็งเสียง ทำให้ผมคิดว่าอยากแก้ไขเรื่องร้องเพลงเสียงสั่นเวลาร้องและเพอร์ฟอร์มไปด้วย ผมฝึกเวลาอยู่ในห้องน้ำ…ลองกระโดดด้วยร้องไปด้วยจนชิน เสียงร้องเพลงไม่สั่นอีกเลย ก็ค่อยๆ พัฒนามาเอง

72 ชั่วโมง คือการระดมทุกสิ่งสรรพ

เพื่อโชว์ที่ THE POWER BAND 2022 SEASON 2

VEMUS: ก่อนหน้ามีงานแข่ง แล้วก็ตอนนั้นเป็นช่วงหยุดยาว บางคนต้องเดินทางไปธุระทางบ้าน สองคนนี้ไปแข่งอีกรายการ แล้วพอหลังจากกลับมาก็มีคนป่วยอีก ทุกอย่างที่ได้เห็นบนเวที THE POWER BAND เกิดขึ้นจากการเตรียมตัวภายในสองวัน ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก วันแรกเลือกเพลง วันที่สองนั่งทำเพลงแล้วก็ซ้อมเพลงแรกนิดหน่อย วันที่สามใส่ทุกเพลงรวมกันเลย แล้วก็มาประกวดกันเลย

มีคุณครูหลายๆ ท่านช่วยกัน พวกเราเสนอด้วยบ้าง ให้เหมือนกับสโลแกนของวงที่ว่า “แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร” เลยไม่อยากให้เพลงที่ใช้ประกวดเหมือนต้นฉบับแม้แต่เพลงเดียว อยากให้มันเป็นเวอร์ชันของพวกเรา

 

“เพอร์เฟกต์”

คือคอมเมนต์ที่ได้รับจากกรรมการ

เดียร์: ผมดีใจมาก ตอนฟังกรรมการพูดผมโคตรดีใจเลย คิดไม่ถึงว่ากรรมการจะพูดคำว่าเพอร์เฟกต์ออกมา วีมัสเลือกใช้เพลง “มันเป็นใคร” ของวง POLYCAT และ เพลง “เผด็จเกิร์ล” ของ TATTOO COLOUR บนเวทีประกวด THE POWER BAND

 

บทเรียนใหม่ สนามใหญ่ ใจต้องนิ่งกว่าเดิม

เดียร์: จริงๆ เพลงแรกที่โดนติมาในเรื่องข้อผิดพลาดนั้น เรารู้หมดเลย แต่บนเวทีมันเหมือนมีคลื่นแล้วเรานั่งอยู่บนเรือครับ เราไม่รู้ว่าต้องเจออะไรบ้าง เพราะว่าหน้าตู้แต่ละที่มันไม่เหมือนกัน การที่เสียงลำโพงหอนมันเกิดขึ้นได้ตลอดครับ ไม่ได้โทษใคร แล้วพอเป็นแบบนั้น สมาธิเราก็หลุดไปด้วยครับ…ครั้งนี้ก็เลยเป็นบทเรียน

พวกเราดีใจมากที่ได้เล่นบนเวที THE POWER BAND เพราะเวทีนี้ใหญ่มาก ตัวผมฝันอยากเป็นศิลปินอยู่แล้ว แล้วผมก็อยากจะเล่นเวทีที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากเวทีแรกของผมที่แทบไม่เรียกเวทีด้วยซ้ำครับ เพราะเล่นในโดมโรงเรียนเล็กๆ  เวทีต่อมาคนก็เยอะขึ้น แล้วจากนั้นก็มีงานแข่งที่โรงเรียนที่คนดูก็เยอะขึ้นอีก แล้วพอมาที่เวทีครั้งนี้ ก็ดีใจที่เป็นการประกวดที่ใหญ่ขึ้นมาอีก ใหญ่มากๆ ก็รู้สึกว่าเวทีนี้ให้ประสบการณ์ที่ดีที่ให้เราได้เจนสนามมากขึ้น เพราะว่าเรายังอยากจะไปต่ออีกครับ

 

ปีนี้พวกเขาจะกลับมาสร้างความเป็นไปได้

บนเวที THE POWER BAND 2023 SEASON 3 อย่างแน่นอน

VEMUS:  ไม่มีอะไรต้องกลัว นี่เป็นการท้าทายว่ามีอะไรให้รีบลอง รีบใส่เลย และเราเล่นได้จะเล่นไปให้สุด

 

แม้ว่าสมาชิกในวงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามกติกาของการประกวด เพราะในปีนี้หลายคนเรียนจบ ม.6 แล้ว วง VEMUS ในรุ่นถัดไปกำลังรวมตัวกันอีกครั้ง ในขณะที่สมาชิกดั้งเดิมที่เคยได้รับประสบการณ์จากการประกวดที่ผ่านมา ก็เตรียมขยับขยายไปลงแข่งในการประกวดในอีกรุ่นหนึ่งด้วย เพราะเป้าหมายที่พวกเขามียังคงชัดเจนและต้องการทำให้มันเป็นไปได้ นั่นเอง!

 

• การแข่งขันในปีนี้สำหรับ Class A (รุ่นมัธยมศึกษา) ไม่จำเป็นต้องมาจากสถาบันเดียวกันเท่านั้น และ Class B (รุ่นบุคคลทั่วไป)

• “It’s Possible, Music Makes Life Possible” พลังแห่งดนตรี พลังแห่งทุกความเป็นไปได้ THE POWER BAND 2023 SEASON 3 กำลังเปิดรับสมัครสนามขอนแก่นถึง 26 พฤษภาคม 2566 และสนามเชียงใหม่เปิดรับสมัครจนถึง 16 มิถุนายน 2566 ติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ที่ www.music.mahidol.ac.th/thepowerband / Facebook: thepowerband.mahidol

Author

กฤษณา คชธรรมรัตน์

Author

นักเขียนที่ให้ความสนใจกับทุกเรื่องบนโลก อย่างละนิดอย่างละหน่อย บ่อยครั้งจึงวาร์ปไปเขียนเรื่องโน้นเรื่องนี้อย่างสนุกสนาน

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ