People

บท/ ละคร/ ชีวิต ของ
“ครูหนิง-พันพัสสา” อดีตเด็กขี้อาย
ที่กลายเป็นผู้กำกับแถวหน้าของวงการ

อลิษา รุจิวิพัฒน์ 5 Jun 2023
Views: 1,303

ถ้าคุณเป็นแฟน AF2 อาจจะพอจำชื่อของ ครูหนิง-พันพัสสา ธูปเทียน ในฐานะครูสอนการแสดงบ้าน AF ได้ แต่ถ้าคุยกับคนในแวดวงละครเวทีก็ดี หรือวงการบันเทิงก็ตาม ‘ครูหนิง’ คือผู้กำกับละครเวที เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ บางครั้งก็ชิมลางทำหน้าที่ Acting Coach …ขึ้นอยู่กับวันเวลาและวาระงานที่ทำ

แต่สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยนานาชาติ สาขาวิชาสื่อและการสื่อสาร Media and Communication ‘ครูหนิง’ คือครูประจำภาควิชากลุ่มสาขาจิตรกรรมและศิลปกรรม หลักสูตรสื่อและการสื่อสาร เช่นเดียวกับภาพจำของศิษย์เก่าจุฬาฯ ครูหนิง คืออดีตอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แฟนคลับมาย-อาโป ที่กำลังรอชมภาพยนตร์เรื่อง ‘แมนสรวง’ FYI ให้รู้ก่อนว่า ครูหนิง คือในผู้กำกับ เช่นเดียวกับซีรีส์  ‘Kinn Porsche The series’ ซีรีส์วายแนวแอ็คชันสุดฮิต เธอคือหนึ่งในผู้ร่วมเขียนบทและรับหน้าที่ Acting Coach

“คุณแค่ต้องกล้าจริงใจกับตัวเอง
อนุญาตให้คนอื่นเห็นเราในแบบที่เราเป็น”

ครูหนิง-พันพัสสา ธูปเทียน

 

ฟังดูไม่สมเหตุสมผลที่เด็กขี้อายจะกลายมาครูสอนการแสดง แม้แต่ตัวเธอเองก็เคยเชื่อเช่นนั้น “เป็นเด็กขี้อาย เงียบๆ ไม่กล้าแสดงออก จึงตัดสินใจเลือกเรียนศิลปศาสตร์ สาขาวรรณคดีอังกฤษ ที่ธรรมศาสตร์ สุดท้ายมันฝืน ปี 2 ก็ตัดสินใจย้ายมาเรียนศิลปะการละคร”

“จุดเปลี่ยนคือตอนเรียนวิชาการละคร ท่านสอนให้เราเข้าใจความหมายของการแสดงจริงๆ ผ่านแบบฝึกหัด ไม่ใช่การกดดันให้เราก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง การเป็นนักแสดงไม่จำเป็นต้องกล้าแสดงออก แค่ต้องกล้าจริงใจกับตัวเอง อนุญาตให้คนอื่นเห็นเราในแบบที่เราเป็น นั่นเป็นก้าวแรกที่เราได้ก้าวข้ามข้อจำกัด”

บทเรียนที่ 1: การแสดงคือการเรียนรู้
เรียนรู้ที่จะทำความรู้จักจิตใจ ร่างกาย เสียง และใช้ประโยชน์จากมัน
เรียนรู้ที่จะจริงใจกับสถานการณ์ตรงหน้า
เรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในตัวเอง

 

คนไทยเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นสมาชิกของ The Actors Studio

หลังจบปริญญาตรี ครูหนิง ใช้เวลา 1 ปี  สร้างพอร์ตเพื่อยื่นสมัครเข้าเรียนที่ The Actors Studio Drama School ในสาขา Master of Fine Arts (MFA), Directing and Theatrical Production โรงเรียนการแสดงที่พาร์ทเนอร์กันระหว่าง The New School University  และสถาบัน The Actors Studio

“สมัครที่นี่ที่เดียวเพราะชอบหลักสูตรของเขามากๆ ตอนสมัครคิดว่าต้องทำอะไรพิเศษๆ หรือมีความ
ยูนีค หรืออะไรที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและรากเหง้าของไทย เลยเลือกทำละคร ร.6 ซึ่งเขาก็สนใจ”

ข้อดีของการเรียนที่ The Actors Studio Drama School คือจะได้สิทธิพิเศษข้ามการออดิชันรอบ 1 และ 2  ไปออดิชันรอบสุดท้ายได้เลย “จริงๆ แล้ว The Actors Studio เป็นองค์กรที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงเรียนหรือมหาลัยฯ ใดๆ คนทั่วโลกสามารถสมัครเข้ามาออดิชันได้ทุกปี โดยจะคัดเลือก 3 รอบ ปีหนึ่งรับไม่ถึง 10 คน เราสมัครเข้าไปในพาร์ทของผู้กำกับ โจทย์คือต้องกำกับงานหนึ่งชิ้นและจะมี Board Member มาดู จนถึงตอนนี้ก็ยังเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรนี้”

 

“ในเมื่อช้ากว่าคนอื่นก็ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น”

 

ความพยายามอยู่ที่ ‘ใจ’ บทเรียนที่ใช้ได้กับทุกเรื่องของชีวิต

“เป็น 3 ปีที่โหดและหนักมาก บินไปถึงก็ต้องลงเรียนภาษาก่อน ระหว่างนั้นตั้งใจว่าจะหางานพิเศษทำแบ่งเบาค่าใช้จ่ายทางบ้าน และต้องเอาทุนการศึกษาให้ได้เพื่อมาช่วยค่าเรียน ช่วงแรกเลยค่อนข้างหนักมากๆ เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย สุดท้ายก็ได้ทุนมาช่วยค่าเรียนได้ประมาณ 80%”

ครูหนิงบอกว่ายังจำความรู้สึกตอนที่เดินสมัครงานร้านอาหารไทยตั้งแต่เช้าถึงค่ำทั่วแมนฮัดตันไปจนถึงบรูคลินได้ “ไม่มีที่ไหนรับเพราะเราไม่มีประสบการณ์ สุดท้ายมีร้านหนึ่งให้โอกาสรับมาเป็น bus girl เรียนเสร็จก็ไปทำงาน ทำแบบนี้ทุกวัน จาก bus girl ก็ได้มาเป็นเด็กเสิร์ฟ ประสบการณ์มากขึ้นก็เปลี่ยนร้านที่ใหญ่ขึ้น สุดท้ายก็ได้ขึ้นมาเป็นผู้จัดการร้านอาหารไทยที่ใหญ่ที่สุดในนิวยอร์ก”

บทพนักงานพาร์ทไทม์ร้านอาหารว่าหนักและเหนื่อยแล้ว บทนักศึกษาหญิงเอเชียอายุน้อยที่ไม่เก่งภาษาสำหรับเธอในตอนนั้นสาหัสกว่า

“ภาษาเป็นอุปสรรคมากในช่วงแรก เพราะฟังอาจารย์ในคลาสไม่ทัน เพื่อนในคลาสก็พูดกันเร็วมาก จะค้นคว้าอะไรก็ต้องเข้าห้องสมุด และพอเรียนเป็นผู้กำกับก็จะเน้นเรียนแบบปฎิบัติ แต่ไม่มีใครให้เรากำกับเลย คงเพราะภาษาก็ไม่ได้ สื่อสารยาก แถมยังดูไม่น่าเชื่อถือเพราะตอนนั้นเด็กสุดในรุ่น ในคลาสอายุ 40 กว่าๆ ก็มี เกือบทั้งหมดคือคนที่มีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว”

“เมื่อช้ากว่าคนอื่นก็ต้องพยายามมากกว่า พัฒนาฝีมือตัวเองให้เก่งให้เร็วที่สุด ผ่านไปสักระยะ ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น พอได้พรีเซนต์งานเพื่อนก็เห็นว่างานเราดี ทุกคนก็ยอมรับและชวนเราไปกำกับ”

 

“บางเรื่องเราก็แค่ต้องลองเซอร์ไพรส์ตัวเอง ลองสนุกกับมัน”

 

บทเรียน(จากนิวยอร์ก) ที่ไม่เคยคืนครู

หนึ่งในหลายบทเรียนที่เธอได้รับตลอดระยะเวลาที่อยู่นิวยอร์กและยังคงหยิบมาใช้เสมอคือ ‘Don’t Think, Just Jump’

“มีคลาสหนึ่งต้อง Acting ส่ง เรายืนอยู่บนเวทีสร้างสมาธิไปเรื่อยๆ กว่าจะยอมเล่นนานมากๆ จนครูดุ บอกให้เรากระโดดเข้าไปเลยแล้วดูซิว่าจะเจอเซอร์ไพรส์อะไร แค่เชื่อมั่นในตัวเองและลองสนุกกับมัน จำได้ว่าเล่นเสร็จร้องไห้หนักเพราะอินไปกับตัวละคร ไม่เคยรู้สึกแบบนี้ โห มันเหมือนปลดล็อกอะไรบางอย่างไม่ใช่แค่เรื่องการแสดงแต่มันปลดล็อกบางเรื่องในใจ”

“สุดท้ายแล้วไม่ว่าการแสดงหรือการใช้ชีวิตมันคือการมีสติ ต้องควบคุมตัวเองให้ได้ อย่าคิดเยอะ บางเรื่องเราก็แค่ต้องลองเซอร์ไพรส์ตัวเอง ลองสนุกกับมัน มันคือการเชื่อตัวเองให้มากขึ้น ความเป็นคน Introvert ยังอยู่แหละไม่ได้หายไปไหน แต่ความกังวลว่าใครจะมองเราอย่างไรมันหายไป นี่คือบทเรียนสำคัญที่เราได้มา มันเป็นจุดเปลี่ยนที่เอามาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จนถึงตอนนี้”

ส่งต่อโอกาส

หลังสั่งสมประสบการณ์การทำงานที่นิวยอร์กสักระยะ ครูหนิงตัดสินใจกลับเมืองไทยใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาส่งต่อให้คนรุ่นหลัง “กลับมาเป็นอาจารย์พิเศษที่ธรรมศาสตร์และ ม.กรุงเทพฯ ก่อน แล้วพอดีที่จุฬาฯ มีตำแหน่งว่างเลยตัดสินใจมาเป็นอาจารย์ประจำที่จุฬาฯ ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยนานาชาติ ตอนนี้การเป็นอาจารย์ถือเป็นอาชีพหลัก แต่ก็อดไม่ได้ที่จะทำงานสายอาชีพที่จบมา ช่วงที่กลับมาก็มีโอกาสเข้าไปเป็นครูสอนการแสดงให้กับ AF2 เป็นก้าวแรกที่ได้ลองทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิง พอมีคนเริ่มเห็นงานเรามากขึ้นก็ชวนไปกำกับ ได้ลองทำงาน Acting Coach และเปิดคลาสอบรมสอนการแสดงควบคู่ไปด้วย”

 

สิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตและแนวคิดการทำงาน

ความโชคดีของคนทำหนัง ทำละครคือ ได้เข้าไปทำความเข้าใจชีวิตจิตใจของมนุษย์ผ่านเรื่องราวของตัวละคร และสิ่งเหล่านั้นมันย้อนกลับมาสอนเรา พอถามว่างานชิ้นไหนที่มีผลต่อแนวคิดการทำงานของเรา ตอบได้เลยว่าทุกงาน”

“เราค่อนข้างสนใจเรื่องคนชายขอบที่คนส่วนใหญ่มองข้าม ที่ชอบอาจเพราะเราเคยเป็นคนที่อยู่ตรงนั้นมาก่อน หลายเหตุการณ์เราอยู่ในตำแหน่งที่รู้สึกแตกต่าง การที่เราก้าวข้ามการถูกตัดสินมาได้และสามารถใช้ชีวิตแบบที่เราอยากเป็นและภูมิใจกับสิ่งที่เราทำมา เลยอยากเล่าสิ่งเหล่านี้ให้คนได้เห็นว่า ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง เช่น LGBTQ+ โสเภณี คนคุก ถ้ามี empathy ให้กันก็จะทำให้ความขัดแย้งลดลง เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเขา แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปลงโทษหรือเกลียดเขา”

ครูหนิงบอกว่าความคิดนี้อาจมีอิทธิพลมาจากครอบครัว สิ่งแวดล้อมที่เธอโตมา “คุณพ่อเป็นนายอำเภอและมักจะได้ไปอยู่ตามชายแดน การเดินทางบ่อยทำให้ต้องเปลี่ยนเพื่อน เปลี่ยนสังคม ทำให้รู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของที่ไหนซะทีเดียว ทุกที่ที่ไปเราในอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ไปเห็นและสัมผัสความแตกต่าง คิดว่าตัวเองโชคดีที่ถูกสร้างมาเป็นแบบนี้ พอไปเรียนการแสดงหรือเรียกกำกับกลายเป็นเราเข้าใจมันได้ไม่ยาก รู้สึกว่าคิดถูกที่เลือกทำงานสายอาชีพนี้”

 

“จงรักศิลปะที่อยู่ในตัวเรา ไม่ใช่รักตัวเราที่อยู่ในงานศิลปะ”

 

บทเรียนที่ 2: ผู้กำกับที่ดีคืออะไร?
– ทำงานเพื่องาน
– บาลานซ์ระหว่าง ‘ผู้นำ’ กับการเป็น ‘ซัพพอร์ตเตอร์’
– ชัดเจนในสิ่งที่เลือก
– ทำทุกวิถีทางเพื่อให้งานออกมาดีที่สุดไม่ใช่ให้เรามีชื่อเสียงที่สุด

กำกับได้แต่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นผู้กำกับที่ดี สิ่งสำคัญคือต้องบาลานซ์ให้ได้ระหว่างภาวะผู้นำกับการเป็นซัพพอร์ตเตอร์ “ในฐานะผู้กำกับมันมีจุดหนึ่งที่เราต้องตัดสินใจเลือก ขณะเดียวกันต้องมีวิธีสื่อสาร ให้คิดเสมอว่า ทำงานเพื่องาน ต้องทำให้งานออกมาดีที่สุดไม่ใช่ให้เรามีชื่อเสียงที่สุด คนจะชอบหรือไม่ชอบงานเราบังคับไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำและเรียนรู้จากมัน พอถูกสอนให้ละอัตตา ละอีโก้ ทำให้ตอนนี้เวลาทำงานจะไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปเกี่ยว งานที่ดีก็คืองานที่ดีไม่ว่าจะเป็นไอเดียของเราหรือไม่ สิ่งที่ครูของเราบอกเสมอคือ จงรักศิลปะที่อยู่ในตัวเรา ไม่ใช่รักตัวเราที่อยู่ในงานศิลปะ”

ทุกงานนับศูนย์ใหม่เสมอ

ศิลปินมักจะพูดกันว่า ทุกงานเริ่มจากศูนย์เสมอ เพราะเราต้องเข้าไปทำความเข้าใจเรื่องราวใหม่หมดทั้งหมด ถ้าถามว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมางานไหนท้าทายที่สุด ตอนกำกับละครเวที “หลายชีวิต The Concept Musical” ซึ่งเป็นวรรณกรรมอมตะ ของหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ถือว่าท้าทายเพราะต้องกำกับนักแสดงกว่า 40 ชีวิต และทำทั้งเวอร์ชันละครพูดและละครเพลง เป็นงานที่ทำให้ได้รับ ‘รางวัลคึกฤทธิ์’ สาขาศิลปะการแสดง”

“อีกชิ้นที่ชอบคือ ‘Closer’ บทละครที่นำไปทำเป็นหนังตอนปี 2004 เล่าถึงความสัมพันธ์สลับซับซ้อนของตัวละคร 4 ตัว การตกหลุมรัก การนอกใจ และการแก้แค้น งานนี้เราทำ 3 แคส เลยท้าทายมากๆ นอกจากจะได้ทำงานกับนักแสดงที่เก่งมากๆ ยังเป็นโมเดลที่สามารถผสมผสานระหว่าง Art กับ Commercial ได้”

“แต่ชิ้นที่ดึงศักยภาพเราออกมาได้มากที่สุดคือ โชว์เปิดตึกมหานคร ‘It’s All Possible, Futurverse Music Performance’ ให้กับ คิง เพาเวอร์ มหานคร อย่างแรกคือเราไม่ค่อยได้ทำงานกับองค์กรใหญ่ๆ เท่าไร ก็อยากเห็นว่า Key Success ขององค์กรที่ใหญ่ขนาดนี้คืออะไร”

“โจทย์ของงานนี้คือถ่ายทอดแนวคิด The Power of Possibilities ซึ่งเป็นความเชื่อขององค์กร และตึกมหานครซึ่งเป็นพระเอกของงานนี้สร้าง The Power of Possibilities อะไรบ้าง เรามองเห็นความเป็นสังคมในอนาคต บางทีสิ่งที่คนเมืองโหยหาไม่ใช่ความเป็นธรรมชาติ เขาโหยหาความหลากหลาย ความมีชีวิตชีวาของกรุงเทพฯ ซึ่งตึกมหานครตอบโจทย์นั้น สิ่งที่เขาเลือกเข้าไปอยู่ในตึกมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร สถานที่ออกกำลังกาย โรงแรม ทุกอย่างมีความยูนีคและตอบโจทย์คนเมืองหลากหลายรูปแบบ”

“คิง เพาเวอร์ อยากได้ความแตกต่างและเขาก็เปิดโอกาสให้เราเต็มที่ เลยต่อยอดคอนเซปต์ความเป็น Futurverse และทำโชว์ให้สอดคล้องไปกับความเป็นตึกมหานคร แต่ต้องเข้าถึงง่ายเพราะเป็นงานเอาท์ดอร์และผู้ชมหลากหลาย ช้อยส์ที่เลือกต้องไม่ยากเกินไปแต่ยังต้องมีความลึกซึ่งในสิ่งที่อยากจะบอก จึงเลือกใช้ Modern Musical กึ่งคอนเสิร์ต เล่าเรื่องมนุษย์เมือง 4 คนที่มีคาแรกเตอร์ต่างกัน (ส่งมอบ 4 ประสบการณ์ผ่าน Eat Play Stay Shop โดย นาย-ณภัทร, จูเน่-เพลินพิชญา, ซิลวี่-ภาวิดา และเจฟ ซาเตอร์) โหยหาความมีชีวิตชีวา แรงบันดาลใจและแพสชันที่ทำให้พวกเขาหลุดจากกรอบมาอยู่ในที่ที่เขาแตกต่างแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งได้ ถือเป็นงานที่ทำให้เห็นเลยว่าตัวเรามีศักยภาพมากกว่าที่คิด”

 

“มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราสู้คนเดียวและเชื่อมั่นตัวเองไปเรื่อยๆ
โดยไม่ได้รับการหยิบยื่นโอกาสจากคนอื่น“

 

 

ทุกความเป็นไปได้ต้องได้รับ ‘โอกาส’

โอกาสคือองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เรามีวันนี้ มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราสู้คนเดียวและเชื่อมั่นตัวเองไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้รับการหยิบยื่นโอกาสจากคนอื่น มันต้องมาจากทั้งสองด้าน เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ขณะเดียวกันก็ต้องได้รับโอกาสที่จะทำให้มันเป็นจริงได้”

“อย่างวงการละครเวทีของไทย โอกาสที่อยากให้เกิดขึ้นคือ อยากให้คนดูให้โอกาส คือการจะไปดูละครเวทีมันต้องใช้ความตั้งใจจริง ต้องเดินทางเพื่อมาดูที่โรงละคร เข้าไปนั่งแล้วก็ลุกออกมาไม่ได้ จึงต้องเป็นคนที่เปิดใจและเชื่อในงานนั้นๆ เขาถึงไปดู มันจึงเป็นเรื่องของโอกาสที่จากคนดู เชื่อว่าถ้าคนดูให้โอกาสละครเวทีมากขึ้น จะทำให้ละครเวทีพัฒนาต่อไปได้อีก”

Author

อลิษา รุจิวิพัฒน์

Author

มนุษย์ที่ชอบทำงานตามโจทย์แต่ชอบใช้ชีวิตตามใจ หวั่นไหวกับของเล่น การ์ตูน ร้านหนังสือ ดิสนีย์แลนด์ และฝันว่าสักวันจะได้ไปเยือนสวนสนุกทั่วโลก