นับเป็นวงจิ๋วแต่แจ๋ว…แบบว่าวงมีสมาชิกตัวเล็กๆ แต่เล็กพริกขี้หนู ที่ “แสบ” แบบข้ามเข้ามาประกวดใน “รุ่นมัธยมศึกษา” ทั้งที่แต่ละคนยังเรียนอยู่กันชั้นประถมศึกษา!! มีคำนำหน้าชื่อเป็น “เด็กชาย” แบบยกวงกันเลยเป็นครั้งแรก!!
ถ้าจะมีอะไรที่ชวนให้น่าจับตาบนเวทีการแข่งขัน THE POWER BAND 2023 SEASON 3 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ในปีนี้ คงเป็นวงดนตรีชื่อแปลกของวัยรุ่นฟันน้ำนมหนุ่มน้อยนักดนตรีทั้ง 6 คนนี้ จากโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม ที่ฝ่าด่านคัดเลือกโดยคลิปวิดีโอจนได้ขึ้นมาแสดงสดบนเวทีของสนามแรกที่กรุงเทพฯ แล้ว
ลีลาของพวกเขาวันนั้น ยังประทับใจทุกคนจนวันนี้ (คลิกฟังและชมลีลาโชว์เพลง มันเป็นใคร ของ Polycat บนเวที THE POWER BAND ของวงโปเตเต่าได้ที่ TikTok)
เพลงท้าทายที่โปเตเต่าอยากเล่นให้ได้
1. Highway Star ของวง Deep Purple
2. Californication ของวง Red Hot Chili Peppers
‘โปเตเต่า’ วงดนตรีชื่อชวนให้สงสัยนี้ นำทัพมาโดยคุณครูผู้คุมวง คือ มาสเตอร์ต่อ – วงศกร ธีรภัทรวรกุล และ ณณ – ด.ช. กิจปณัฎฐ์ ชำนาญเวช (ร้องนำ) คนที่ถือไมค์ใช้พื้นที่มากที่สุดบนเวที และทำให้สายตาของคนดูทุกคู่จับจ้องอยู่ที่เขาคนนี้ ตามมาด้วยเพื่อนๆ อีกห้าคน โชกุน – ด.ช. นิปุณ นวสิริพงศ์พันธุ์ (เบส) ฟีฟี – ด.ช. ศศิวัฒน์ เทพเพชรรัตน์ (กีตาร์) มะขาม – ด.ช. ณัฐธวัศ สองสี (กีตาร์) ชิริว – ด.ช. พสิษฐ์ โพธิรักษ์วุฒิกุล (คีย์บอร์ด) และ ไทม์ – ด.ช. ชญานนท์ วรวรรษนันท์ (กลอง)
ถึงจะประสบการณ์น้อยด้วยอายุสิบขวบต้นๆ แต่บนเวทีทุกคน “ไม่น้อย” และก็สู้ไม่ถอย เอาจริงๆ โปเตเต่าเคยเอาชนะวงรุ่นพี่ที่เป็นวงคู่แข่งสมาชิกรุ่นมัธยมปลายที่เวียนมาเจอกันในรอบนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง และถ้าให้พูดถึงความหลงใหลในเสียงดนตรี ความรู้สึกที่ทั้งหกคนมีก็น่าจะจริงแท้ไม่ต่างจากคนอื่น ไม่อย่างนั้นพวกเขาคงไม่ทุ่มเทอยู่ซ้อมทิ้งทวนกันจนดึก เพื่อเตรียมความพร้อมขึ้นประกวดเวที THE POWER BAND ในวันรุ่งขึ้น
“เวลาเล่นดีเด็กเขาไม่สนหรอกว่าจะแพ้หรือชนะ แต่ถ้าเขาเล่นไม่ดีอันนี้จะงอแง
สิ่งที่เขาคุยกันตอนลงจากเวทีคือ ผมเล่นผิดตรงนี้ บางคนก็ โอย… เมื่อกี้อย่างมัน…”
วงโปเตเต่า โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกประถม
THE POWER BAND 2023 SEASON 3 สนามกทม.
Suggestion
โปเตเต่า ชื่อนี้มีที่มา
คำถามนี้ทุกคนมีอยู่ในใจ เมื่อเราถามก็ได้ความว่าเป็น…โปเตโต้ที่ผันผวนและเพี้ยนมา
โปเตเต่า ชื่อนี้มาได้ยังไงครับ?
“มาจากโปเตโต้ เพราะตอนนั้นเล่นเพลงขอบคุณที่รักกัน ของวงโปเตโต้”
“เราเคยไปประกวดเวทีหนึ่งมา ใช้ชื่อนี้แล้วจากนั้นก็เลยใช้ชื่อนี้เป็นชื่อวง” ชิริวและเพื่อนๆ ช่วยกันพูดถึงจุดเริ่มต้นของชื่อวงดนตรี นาทีนั้นเราแยกเสียงใครเป็นคนพูดไม่ออกอีกแล้ว เพราะทั้ง 5 คนช่วยกันพูดถึงชื่อวง เว้นแค่คนเดียวคือไทม์ มือกลองที่ดูเหมือนจะแบตหมดไปแล้ว
“มาจากที่เด็กๆ พูดไปเรื่อยๆ ครับ” เสียงครูต่อ (หรือ “มาสเตอร์” ของเด็กๆ) คุณครูผู้คุมวงช่วยไขปริศนา โปเตเต่าเลยเป็นชื่อที่เพี้ยนมาจากวงโปเตโต้ แต่แอบแฝงไว้ด้วยแนวเพลงร็อกที่ชอบเพิ่มเติมความสนุกสดใสในแบบเด็กๆ ที่เป็นตัวเองลงไป
กว่าจะมาถึงชื่อวง จุดเริ่มต้นของการตั้งวงดนตรีมาจากการที่มาสเตอร์ฟอร์มวงดนตรีขึ้นทุกๆ สองปีเป็นวงดนตรีของโรงเรียนที่ทำเป็นรุ่นๆ
“มาสเตอร์เขาตั้งวงดนตรีก็เลยเปิดออดิชันมือกีตาร์” โชกุน มือเบสเป็นคนเล่าให้เราฟัง “วงได้ณณมาจากสอบร้องเพลง ไทม์กับชิริวเรียนเปียโนอยู่แล้วเลยมาเล่นคีย์บอร์ด แล้วผมเรียนอยู่มาสเตอร์ก็มาถามว่าจะออดิชันเบสไหม” และแม้ว่าหลายๆ คนจะไม่ชินกับการเล่นเป็นวงเพราะที่ผ่านมาเล่นดนตรีเดี่ยวๆ แต่เมื่อได้ลงมือเล่น ได้เจอเพื่อนๆ ความสนุกก็ตามมา
ภาพโดย Expert Kits
ไอดอลของใครกันบ้าง
พี่รัฐ Tattoo Colour…ไอดอลของฟีฟี
พี่เบิร์ด ธงไชย…ไอดอลของณณ
และใคร? มีไอดอลเป็น Kurt Cobain
ดนตรีกับหนุ่มน้อยทั้งหก
ถ้านับแค่อายุของสมาชิกในวงโปเตเต่า วงนี้ถือว่าอายุน้อยมาก อาจจะน้อยที่สุดในการประกวดในแต่ละครั้งที่ผ่านมาด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือนว่าสำหรับทั้งหกคน อายุเป็นแค่ตัวเลข เพราะต่อให้เพิ่งเล่นดนตรีได้ไม่นานพวกเขาก็มีสปิริตกันสุดๆ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของนักดนตรีที่เก่งสุดๆ ในอนาคตก็ได้
เริ่มด้วยณณ เด็กน่ารักที่มาสเตอร์เล่าว่า เขามีความนุ่มนวลในกลุ่มและมีความพยายาม “เริ่มจากสอบร้องเพลงแล้วมาสเตอร์ก็เรียกให้มาครับ ผมชอบร้องเพลงด้วย อยากเป็นนักร้อง” ไอดอลของณณคือ พี่เบิร์ด – ธงไชย แมคอินไตย์ กับเพลงที่ชอบที่สุดคือ Too Much So Much Very Much เอาจริงๆ หลายคนคงอยากเห็นลีลาร้องเพลงนี้ของณณอยู่เหมือนกัน
ณณ
โชกุน มือเบส เป็นอีกคนที่ตอบคำถามเก่งสุดในกลุ่ม กับคาแรกเตอร์ที่มาสเตอร์บอกว่ามีความเป็นผู้ใหญ่ สามารถดูแลสมาชิกในวงได้ เหมือนเป็นหัวหน้าห้อง “ผมไม่เคยเล่นเบสเลย แล้วมาสเตอร์ก็มาถามว่าจะออดิชันไหม ผมก็เลยมาออดิชัน เริ่มเล่นเบสตอน 10 ขวบ เล่นแล้วมันสนุกดีครับ” ไม่แปลกที่โชกุนมีไอดอลทางดนตรีเป็นมือเบส ของ Silly Fools อย่างพี่หรั่ง
คนที่สามเป็นทีของมือกีตาร์อย่าง ฟีฟี เด็กสดใส อารมณ์ดี ที่เวลาเล่นก็เล่น เวลาต้องจริงจังก็ทำได้ “ผมบอกแม่ว่าอยากเล่นกีตาร์ พ่อแม่ก็เลยหาโรงเรียนสอนให้ไปเรียน พอได้เล่นแล้วก็ชอบครับ ก็เลยเห็นว่าที่โรงเรียนมีวงดนตรีก็มาเข้าวง” ไอดอลของฟีฟี คือ พี่รัฐ Tattoo Colour
ฟีฟี – โชกุน – ชิริว
มือกีตาร์อีกคนของวงคือ มะขาม เด็กอารมณ์ดีที่สนุกสนาน เฮฮาได้ตลอดเวลาที่เริ่มต้นการเล่นกีตาร์จากพ่อสอน “ตอนแรกพ่อก็สอนเล่นกีตาร์ครอบ ตอนแรกก็เล่นคนเดียว แต่พอได้เข้าวงก็ชอบ อยากเล่นตลอดเลย อยากเล่นกับเพื่อนๆ ผมชอบ Kurt Cobain”
มือคีย์บอร์ด ชิริว เป็นอีกหนึ่งคนที่เพื่อนๆ ในวงลงความเห็นว่าเป็นหัวโจก แต่คุณครูต่อก็เสริมด้วยว่า ชิริวเป็นคนหัวไว คล่องแคล่ว พูดเก่ง ถ้าจะให้เปรียบชิริวเหมือนเด็กเก่งที่ตัวตึง ซ่าๆ หน่อย “ตอนแรกผมเริ่มเล่นเปียโน แล้วก็มาลองเล่นคีย์บอร์ด มาสเตอร์ก็ให้เข้ามาในวง” ความสนุกอีกอย่างหนึ่งของคีย์บอร์ดคือเปลี่ยนเสียงได้ นี่เองที่เป็นเรื่องสนุกของชิริว
คนสุดท้ายคือ ไทม์ มือกลองที่แม้ว่าตลอดการนั่งคุยจะนิ่งๆ แต่ก็ดูออกว่าน่าจะตึงไม่เบา “แม่ผมอยากให้ผมตีกลอง บอกว่ามันเข้ากับผม” หลังจากนั้นไทม์ก็ฝึกกลองมาเรื่อยๆ แพสชันของไทม์ชัดเจนจนมาสเตอร์บอกว่า ไทม์เป็นเด็กที่มีแพสชัน มุ่งมั่นในการตีกลองมากๆ และที่สำคัญชอบเวลามีอะไรใหม่ๆ มาให้ลอง
ไทม์ – มะขาม
ความท้าทายของการทำวงดนตรีหนุ่มน้อยสิบกว่าขวบ
การทำวงนี้มีความท้าทายยังไงบ้างคะมาสเตอร์?
“เราต้องทำให้เขาเข้าใจ ถ้าร้องเพลงรัก อกหัก เป็นไปไม่ได้ที่เด็ก ป.4 ป.5 จะเข้าใจ เราต้องอธิบายความรู้สึกเพลง พยายามยกตัวอย่าง คิดซะว่าเราดูภาพวาดภาพหนึ่ง เห็นภาพนี้สื่อถึงความโกรธรึเปล่า ดนตรีมันก็เหมือนสีนั่นแหละแต่มันลอยอยู่ในอากาศ ต้องหาอะไรมาเปรียบเทียบเพราะเขาจะไม่เหมือนผู้ใหญ่” มาสเตอร์เล่าให้เราฟัง
การทำวงเริ่มต้นมาตั้งแต่การออดิชัน เด็กที่ใช้เวลานานเพราะต้องการเด็กที่มีความสนใจจริงๆ นอกจากนี้การพยายามทำให้สมาชิกในวงเข้าใจก็เป็นเรื่องท้าทายเช่นกัน ไม่ใช่แค่การสร้างอารมณ์ แต่การทำดนตรีก็ท้าทายด้วย
“บางทีไอเดียเรามีร้อย แต่เราต้องทำร้อยนั้นให้เหลือ 40 – 50 แมกซ์สุดเท่าที่เด็กเราทำได้ ต้องคิดถึงแต่ละคนว่าสกิลนี้ทำได้รึเปล่า เกินตัวไปไหม” ถึงการทำเพลงจะท้าทายกว่าเด็กโต แต่การเป็นเด็กที่มีความพยายาม สนุกสนานซึ่งเป็นจุดร่วมของสมาชิกทุกคนในวงก็ทำให้เพลงกระเป๋าแบนแฟนยิ้มและพบกันใหม่ (ผลงานของวง The Richman Toy และวง Polycat ในคลิปสมัครเข้ามา) ผ่านไปด้วยดี
Suggestion
ธงที่ตั้งด้วยกัน
หลังโปเตเต่าแสดงจบ เหมือนกรรมการจะคอมเมนต์ชมว่า ‘แทบไม่มีที่ติ’ สำหรับพวกเขา แต่กว่าจะได้รับคอมเมนต์ดีๆ อย่างนั้น ทั้งหกคนก็ต้องแลกมาด้วยการฝึกซ้อมหนักหน่วงกันมาก่อน บางวันซ้อมถึงสี่ทุ่ม บางวันซ้อมเช้า กลางวัน เย็น นานเป็นอาทิตย์กว่าๆ ก่อนจะถึงวันประกวด ซึ่งมาสเตอร์พยายามจัดเวลาไม่ให้แต่ละคนล้าจนเกินไป
ที่สมาชิกทุกคนพยายามสู้กันมาถึงขนาดนี้ เพราะทั้งหมดดูจะมีเป้าหมายเดียวกัน “ทุกคนเห็นธงเดียวกันที่ปักอยู่ ทำอะไร ปักธงอะไรไว้ อย่างมาประกวดรายการนี้เราจะเล่นสองเพลงนี้นะ ไม่ว่าแต่ละคนจะมีคาแรกเตอร์ยังไงเขาจะมุ่งไปทางเดียวกัน ตานิ่งๆ เริ่มจะงอแงแต่ก็สู้”
นี่คือความสู้ในแบบของเด็กอายุสิบกว่าขวบ และถ้าถามถึงความคาดหวังกับการแข่งขันในรายการนี้ มาสเตอร์ยังเสริมท้ายให้เราเข้าใจว่า สำหรับโปเตเต่าแพ้หรือชนะไม่สำคัญขนาดนั้น การมาถึงจุดนี้จะเป็นประสบการณ์สำคัญของชีวิต ซึ่งผู้ปกครองทุกคนเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ช่วยสนับสนุนและสำหรับเด็กๆ พวกเขาจะเล่นได้ดีหรือเปล่า นี่ต่างหากที่สำคัญ
“เวลาเด็กเขาเล่นดีเขาไม่สนหรอกว่าจะแพ้หรือชนะ แต่ถ้าเขาเล่นไม่ดีอันนี้จะงอแง สิ่งที่คุยกันตอนลงจากเวทีเมื่อกี้คือ ผมเล่นผิดตรงนี้ บางคนก็โอย… เมื่อกี้อย่างมัน เขาจะเป็นกันอย่างนี้”
แม้ว่าเวลาที่ได้พูดคุยกับหนุ่มน้อยทั้งหกจะแสนสั้นเพราะแบตแต่ละคนเริ่มหมดจากที่ต้องตื่นกันมาตั้งแต่เช้า ใส่พลังบนเวทีจนหมดแมกซ์ แต่แค่ได้เห็นการแสดงก็พอจะเดาได้ว่าเวลานี้ดนตรีน่าจะเป็นหนึ่งในความสุขที่ทั้งหกคนมี และบางทีความกล้าที่ทุกคนมีกับการขึ้นมาแสดงบนเวทีในครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความฝันยิ่งใหญ่ของทั้งหกคนให้เป็นไปได้ก็ได้
จะว่าไปแล้ว บางทีนี่ก็อาจเป็นบทสัมภาษณ์แรกๆ ของว่าที่ศิลปินในอนาคตก็เป็นได้…
ภาพโดย Expert Kits
ติดตามชมเรื่องราวของ THE POWER BAND 2023 THE SERIES EP. 1