People

พลังแห่งการไม่ยอมแพ้
ประครอง บัวใหญ่
นักฟุตบอลตาบอดทีมชาติไทย

เพ็ญแข สร้อยทอง 8 Jan 2024
Views: 677

Summary

ประครอง บัวใหญ่ เกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางการมองเห็น แต่ใจรักฟุตบอลลึกซึ้งตั้งแต่เด็ก ทุ่มเทฝึกฝนจนทำฝันให้เป็นไปได้ ก้าวเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นและเป็นกัปตันทีมฟุตบอลคนตาบอดทีมชาติไทยต่อเนื่องกว่าทศวรรษ เขาเป็นครู โค้ช และผู้ให้คำแนะนำเยาวชน ด้วยหวังจะมอบโอกาสให้ทุกคนเช่นที่เขาเคยได้รับ

บอลไทยไปบอลโลกเป็นความจริง เมื่อนักฟุตบอลคนตาบอดทีมชาติไทยสามารถตีตั๋วเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ถึงสองครั้ง!

และหนึ่งในผู้เล่นที่โดดเด่นของทีมฟุตบอลชุดนี้คือ “ประครอง บัวใหญ่”

เรื่องราวของประครองในการทลายกำแพงอุปสรรคและพิสูจน์ให้เห็นว่า ใครๆ ก็พัฒนาได้ด้วยการฝึกฝน มุ่งมั่น ตั้งใจ และพยายาม​ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนอย่างทรงพลัง

13 ปีที่โลดแล่นในสนามแข่งภายใต้ชุดทีมชาติไทย ประครองได้พิสูจน์ถึงจิตวิญญาณของมนุษย์ผู้ไม่ยอมแพ้ เขาไม่เพียงแต่เอาชนะอุปสรรคทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นบุคคลผู้ส่องสว่างในโลกแห่งฟุตบอล ทั้งในฐานะผู้เล่นและกัปตันทีมชาติไทย รวมถึงเป็นรุ่นพี่ที่ให้คำปรึกษากับนักกีฬารุ่นเยาว์

เรื่องราวของความหลงใหล ความมุ่งมั่นพยายาม การต่อสู้เพื่อฝัน การเปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นโอกาส…สร้างความเป็นไปได้ ในการคว้าชัยชนะของเขายังเป็นเรื่องราวที่ปลุกพลังใจให้กับทุกๆ คนได้

 

 “อยากติดทีมชาติ เพราะเราไม่ได้เรียนเก่งมาก หนทางก้าวหน้าคงมีแค่การเป็นนักกีฬา

ผมอยู่กับฟุตบอลมาเกือบทั้งชีวิต ถ้าไม่มีฟุตบอลก็คงจะไม่มีวันนี้

ประครอง บัวใหญ่
ผู้เล่นและกัปตันฟุตบอลคนตาบอดทีมชาติไทย

 

เกียรติยศและชัยชนะใต้เสื้อทีมชาติไทย

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ประครอง บัวใหญ่ หลังทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองแดงประวัติศาสตร์ ในศึกเอเชียนพาราเกมส์ 2022 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยประครองเป็นผู้ทำประตูชัย ชนะจุดโทษญี่ปุ่น 1-0

“ถือเป็นความทรงจำที่ดี เหรียญนี้มีค่ามาก เพราะเราเล่นมากี่ครั้งก็ไม่เคยได้เหรียญ ได้ที่สุดท้ายของเอเชียนพาราเกมส์มาตลอด ครั้งนี้ได้ที่ 3 ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ทางสมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย หรือผู้สนับสนุนไม่รู้สึกเสียเปล่าที่ทุ่มเทสนับสนุนเรามา” ประครองบอก

แมตช์ประทับใจของประครองยังรวมถึงเกมที่ทีมชาติไทยคว้าชัยชนะ ผ่านไปเล่นในศึกฟุตบอลคนตาบอดชิงแชมป์โลก (IBSA Blind Football World Championship 2018) ครั้งแรก ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน (และครั้งที่ 2 ในปี 2023 ที่ประเทศอังกฤษ)

“อีกแมตช์ถึงจะเป็นความทรงจำที่ไม่ดีนักแต่ประทับใจ คือ ทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์เอเชีย ที่อินเดีย (IBSA Blind Football Asian Championships 2022) เราชนะญี่ปุ่นในรอบรองชนะเลิศ ในรอบชิงชนะเลิศเราแพ้จุดโทษจีน แต่ถือว่าทุกคนทำเต็มที่”

 

วินัยจากตัวเองคือสิ่งสำคัญที่สุด

 

ทีมชาติไทยชุดนี้ เก็บตัวฝึกซ้อมและเล่นร่วมกันมานาน “ตั้งแต่ก่อนไปเอเชียนพาราเกมส์ ที่กัมพูชา เวิลด์กรังด์ปรีซ์ ที่บราซิล และไปฟุตบอลโลก ที่อังกฤษ ต่อเนื่องมาถึงประเทศจีน เรามีโค้ชต่างชาติ (เจอร์มัน อัลแบร์โต มาร์เกวซ ชาวอาร์เจนตินา) ซึ่งเคยพาอาร์เจนตินาคว้าแชมป์บอลโลก ได้ไปโอลิมปิก ทางสมาคมฯ หาโค้ชที่มีประสบการณ์และมีคุณภาพทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้านการฝึกซ้อมก็เข้มข้นมาก”

ชายผู้สวมเสื้อหมายเลข 10 พบว่า การติดทีมชาติ การได้รับเหรียญรางวัล การได้รับเกียรติ เสียงปรบมือ คำชื่นชม รวมไปถึงประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งประเมินค่าไม่ได้ เช่น การเดินทางไปหลายๆ ประเทศเพื่อแข่งขัน เป็นต้น ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะฟุตบอล ซึ่งพาเขาไปไกลเกินกว่าที่จินตนาการไว้

 

เคล็ดลับ สร้างพลังใจก่อนแข่ง สไตล์ประครอง

• ทำสมาธิอยู่กับตัวเอง

• ถ้าตื่นเต้นก็พยายามรีแลกซ์แล้วไปยืดเหยียดเตรียมร่างกาย

• ฟังเพลงปลุกใจ! ช่วยสร้างความพร้อมให้จิตใจ

ด้วยอาทิ เพลงพระเจ้าตาก (คาราบาว)

ผู้ชนะ (เสก โลโซ), แสงสุดท้าย (บอดี้สแลม) … เป็นต้น

ความหลงใหลที่จุดประกาย

ประครอง บัวใหญ่ วัย 35 ปี เป็นชาวอุบลราชธานี เขามีความบกพร่องทางการมองเห็นมาตั้งแต่เกิด เริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่สมัยประถม หลังจากได้ยินเสียงเพื่อนๆ เล่นฟุตบอลกันสนุกสนาน จึงอยากลองเล่นดูบ้าง แม้มองไม่เห็นแต่ใช้หูฟังเพื่อคำนวณตำแหน่งทิศทางและวิถีการเคลื่อนที่ของลูกบอลซึ่งจะมีกระดิ่งใส่ไว้ในถุงพลาสติก

ประครองฝึกเล่นฟุตบอลคนเดียวจนชำนาญ ก่อนจะมาขอเล่นกับกลุ่มเพื่อน ซึ่งเขาก็ได้แสดงพรสวรรค์ออกมา เขาชื่นชอบฟุตบอลมาตลอด จนย้ายไปเรียนมัธยมที่โรงเรียนคนตาบอดที่ร้อยเอ็ด และได้พบกับโค้ชคนแรกของเขา

“ครูไก่ (ดรัณภพ นันตาเรือน) เป็นครูตาบอดที่เคยสอนผมสมัยมัธยมที่ร้อยเอ็ด ครูเคยเป็นนักกีฬาทีมชาติ เป็นโค้ชคนแรกของผม เขารู้ว่าเราตัวเล็ก ต้องสร้างความแข็งแรง”

จากนั้นฟุตบอลกลายเป็นเป้าหมายในชีวิต “เราอยากติดทีมชาติ อยากเป็นนักกีฬาสักประเภท เพราะเราไม่ได้เรียนเก่งมาก หนทางที่จะก้าวหน้าหรือได้ไปต่างประเทศ คงจะมีแค่การเป็นนักกีฬา ถ้าไปเล่นกีฬาอื่นเราก็ตัวเล็ก แต่ถ้าเป็นฟุตบอล ทุกคนยอมรับในทักษะของเราอยู่แล้ว”

 

เลือกทำอะไรที่มีความสุข
เราจะทุ่มเทให้กับมัน

 

ขณะเรียนปี 2 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ฝันของประครองก็เป็นจริง เมื่อเขาผ่านการคัดเลือกเป็นนักกีฬาฟุตบอลคนตาบอดทีมชาติไทย และความสามารถของเขาก็เปล่งประกาย

“เมื่อก่อนผมเป็นนักฟุตบอลที่มีความเร็ว…คล่องตัวสูง สามารถเลี้ยงบอล เก็บบอลได้ดี” ประครองพูดถึงสไตล์การเล่นของตัวเอง “แต่พออายุเยอะขึ้นก็จะมีความเข้าใจเกม อ่านเกมดี ครองบอลเหนียวแน่น นิ่ง วางบอลแม่น เป็นคนที่คอยครีเอตเกม”

ประครองเล่นให้ทีมชาติต่อเนื่องมากว่า 10 ปี เขาได้การยอมรับในความมุ่งมั่นและความทุ่มเททั้งในการซ้อมและแข่งขัน “บวกกับเราใจสู้ ทำให้เราสามารถยืนหยัดอยู่ได้”

เพื่อฟุตบอลเขายอมแลกหลายๆ อย่าง รวมถึงลาออกจากครูที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน

“ผมอยู่กับฟุตบอลมาเกือบทั้งชีวิต ถ้าไม่มีฟุตบอลก็คงจะไม่มีวันนี้”

 

ก้าว … ต่อไป

หลังจบการแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ ที่จีน เมื่อตุลาคม 2566 ประครอง บัวใหญ่ ใช้เวลาช่วงพักอยู่ที่บ้านในจังหวัดนครราชสีมาเพื่อรอทีมชาติเรียกเก็บตัวฝึกซ้อม โดยเป้าหมายต่อไปของกีฬาแข้งคนตาบอดไทย คือการเป็นแชมป์อาเซียนพาราเกมส์ และเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลกให้ได้

“ตอนนี้ผมทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ช่วยงานโครงการที่หานักกีฬาไปเก็บตัวไปแข่ง แล้วก็ช่วยงานในกกท.ที่เขามอบหมายให้”

ประครองยังช่วยงานสมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย “โค้ชให้ไปเป็นผู้ช่วยฝึกสอนเด็กตาบอดตามโรงเรียนต่างๆ ไปดูเด็กด้วยว่าคนไหนมีแวว พอที่จะเอามาฝึกซ้อม เอามาเก็บตัวได้”

ในวัย 35 ประครอง บัวใหญ่ หวังจะได้เป็น “ข้าราชการครู” ตามสายวิชาที่ได้เรียนมา และเขา “คาดว่า”​ น่าจะเล่นฟุตบอลได้อีกราว 4 ปี ก่อนที่จะแขวนสตั้ด

“หลังจากนั้นผมก็ยังอยากอยู่กับฟุตบอล ถ้าสมาคมฯ เห็นว่าเราสามารถช่วยได้ก็ยินดีที่จะมาสอนรุ่นน้องต่อ อยากให้ทีมชาติไทยพัฒนาเยาวชนขึ้นมาเรื่อยๆ มีผู้สนับสนุนมากขึ้น เพื่อจะได้มีโอกาสไปแข่งทัวร์นาเมนต์ต่างๆ

“ผมอยากให้ภาครัฐและภาคเอกชนมาสนับสนุนกีฬาฟุตบอลคนตาบอด รวมทั้งสนับสนุนเรื่องการจ้างงาน นักฟุตบอลหลายคนยังไม่มีงานทำ แล้วเราก็ต้องการศูนย์ฝึกกีฬาสำหรับคนตาบอดโดยเฉพาะ เราได้รับบริจาคที่ดินมาแล้ว แต่ยังขาดงบประมาณที่จะมาสร้างอาคาร”

 

สิ่งสำคัญสำหรับผู้ขาดโอกาส

คือให้โอกาสเขาดูแลช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด

ส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกัน

เมื่อมีโอกาส ประครองมักแบ่งปันคำแนะนำอันล้ำค่าสำหรับนักกีฬารุ่นเยาว์ที่ปรารถนาจะก้าวเดินบนเส้นทางคล้ายกับเขาว่า “การมีวินัยกับตัวเองสำคัญที่สุด ไม่จำเป็นต้องมีคนมาบอกให้ซ้อม ถ้ารู้ว่าวันไหนจะเริ่มเก็บตัว ผมจะเก็บตัวล่วงหน้าไปก่อนแล้วเดือนหรือสองเดือน นอกจากมีวินัยกับตัวเองแล้วก็มีความสุขกับฟุตบอล ถ้ามันมีความสุขแล้ว เราจะทุ่มเทให้กับมัน”

นอกจากเรื่องฟุตบอล ประครองยังอยากแนะนำให้ครอบครัว พ่อแม่ และผู้ปกครองมองเห็นว่า การศึกษาเป็นกุญแจสำคัญในการไขประตูและทำลายอุปสรรคต่างๆ

“ครอบครัวมีส่วนสำคัญ บางบ้านไม่ค่อยสนับสนุนหรือให้โอกาสลูกได้พบปะผู้คน คนตาบอดก็จะไม่มีโอกาสอะไรเลย เด็กบางคนถูกพ่อแม่ขังไว้ในบ้าน ไม่ให้ออกมาพบคนอื่น เขาอาจรักลูกเกินไป หรือเพราะสงสาร”

สิ่งที่จะช่วยเด็กๆ เหล่านั้นในระยะยาว ก็คือเปิดโอกาสให้เขาได้รู้จักโลก ได้เรียนรู้ ทำให้พวกเขาช่วยเหลือตัวเองได้

เช่นที่ครอบครัวของเขาได้ให้โอกาสกับประครอง “ผมก็พยายามดูแลตัวเอง ไม่ได้เป็นเด็กมีปัญหา พยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ สิ่งที่จะทำให้ผมก้าวหน้าได้ก็คือ การเรียน”

ระหว่างนั้น เขายังได้เจอครูดีๆ หลายคนในโรงเรียน ที่ไม่เพียงแต่สอนเรื่องวิชาการ ทว่าช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ชีวิตแง่อื่นด้วย

“พอมาเป็นครู ก็ได้เอารูปแบบบางอย่างที่ครูเคยสอนผมมาสร้างเด็กรุ่นหลัง ผมสร้างเด็กติดทีมชาติกีฬาโกลบอล (Goalball) และได้แชมป์โกลบอลของประเทศไทย ทุกคนให้การยอมรับในด้านการเป็นครูหรือเป็นโค้ช ในวงของนักกีฬาตาบอดเขาก็รู้จักผม เชื่อว่าเราทำได้”

ถ้าหากได้รับโอกาส ความเข้าใจ การยอมรับ และการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะ ครอบครัว ครู โรงเรียน หรือสังคม ทุกคนสามารถเปล่งประกายส่องสว่างได้ แม้ในเส้นทางที่มืดมิดที่สุด

สำหรับ ประครอง บัวใหญ่ ความสำเร็จบนเส้นทางฟุตบอลของเขายังเป็นผลจากการไม่ยอมจำนนต่ออุปสรรค เป็นพลังของความมุ่งมั่นไม่เปลี่ยนแปลง และความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในโลกของกีฬา การวัดความสำเร็จที่แท้จริงไม่เพียงแต่อยู่ที่ผลลัพธ์เท่านั้น

“การแข่งขันกีฬามีวันที่เล่นดี เล่นไม่ดี แต่ตัวเราเองจะรู้ว่า ทำเต็มที่หรือยัง เล่นไม่ดีเราก็เสียใจ แต่ถ้าทำเต็มที่แล้วก็ต้องพยายามบอกตัวเอง ให้กำลังใจเพื่อนร่วมทีม แล้วก็คิดถึงเกมครั้งหน้า

“ผมบอกกับโค้ชตรงๆ ว่า ถ้าผมเล่นไม่ดี โค้ชสามารถด่าว่าหรือตะคอกผมแรงๆ ได้ บางอย่างเราควรจะทำได้ดีกว่านี้ เขาก็จะช่วยกระตุ้น นั่นคือในสนาม พอออกนอกสนามก็จบ

“การเล่นกีฬาอย่างเต็มที่เสมอ ไม่ว่าผลจะออกมาแพ้หรือชนะ มันคือหัวใจของนักกีฬาทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาทั่วไปหรือนักกีฬาคนพิการ”

ภาพจาก Facebook สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย

 

รู้จักฟุตบอลคนตาบอดแบบสังเขป

• นักฟุตบอลฝั่งละ 5 คน รวมผู้รักษาประตู กติกาหลายอย่างคล้ายกับฟุตซอล / ผู้เล่นทุกคนต้องสวมผ้าปิดตา เพื่อความเท่าเทียม / ผู้รักษาประตูเป็นคนสายตาปกติได้ / สนามขนาด 40×20 เมตร ด้านข้างสนามมีแผ่นป้ายกั้น ไม่ให้บอลออกและสะท้อนเสียงเข้าหูนักกีฬา / ไม่มีทุ่มบอล ไม่มีล้ำหน้า / แข่งครึ่งละ 25 นาที พักครึ่ง 10 นาที / ลูกบอลที่ใช้จะมีกระดิ่งติดไว้ / ผู้เล่นทีมรับต้องตะโกนคำว่า วอย (Voy) ขณะเข้าแย่งบอล เพื่อให้ทีมรุกรู้ตำแหน่งของฝั่งตรงข้าม เพื่อป้องกันการปะทะกัน

• ระหว่างการแข่ง ผู้ชมต้องไม่ส่งเสียง ยกเว้นช่วงที่บอลตาย หลังทำประตูได้ หรือช่วงพักครึ่งกับจบเกมแล้วเท่านั้น

• ทำความรู้จากกีฬาชนิดนี้ คลิก

Author

เพ็ญแข สร้อยทอง

Author

เชื่อในพลังของตัวอักษรและการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ นอกเหนือจากบ้านแล้ว ใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ ชอบเที่ยว ชิมอาหาร อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ฟังเพลง แคคตัส และแมว