ตอนตัดสินใจหันหลังให้กรุงเทพฯ เพราะพิษเศรษฐกิจวิกฤติต้มยำกุ้งปี ’40 ในอดีตทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ไหว วันนั้นเธอไม่เคยคิดเลยว่าชื่อของ “ฅญา” จะแจ้งเกิดและมีผลงานโด่งดังไปถึงระดับอินเตอร์ได้ในเวลาต่อมา…และจนทุกวันนี้
ช่วงที่อยู่กรุงเทพฯ นิต–ชนันญา ดรเขื่อนสม เคยทำธุรกิจตัดเย็บและขายเสื้อผ้าแถวประตูน้ำ ผู้ประกอบการสายอาชีพเรียนหนังสือจบเพียงระดับชั้นประถม แต่เธอมีความสร้างสรรค์ประกอบมุมมองธุรกิจและไอเดียไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ ในวันที่ “แพ้” ต้องยอมตัดขาดเลิกกิจการอันเป็นรายได้สำคัญแทนที่จะขาดทุนต่อไปเรื่อยๆ
เธอไม่ได้ยอมแพ้ แต่เลือกมุ่งหน้ากลับไปตั้งหลักที่อำเภอปักธงชัย นครราชสีมา…บ้านเกิด ด้วยเงินติดมือก้อนสุดท้ายที่มีอยู่หมื่นห้าเท่านั้น “กลับมาบ้านเราก็ตั้งต้นใหม่จริงๆ” เธอเปิดหน้าบ้านของตัวเองทำอาชีพที่ถนัดอีกครั้ง คือรับจ้างตัดเสื้อผ้า ขณะเดียวกันเธอยังเลือกเพิ่มเติมทักษะจากความสนใจพื้นฐานเกี่ยวกับผ้าของตัวเอง โดยไปร่วมอบรมอาชีพเสริมของหน่วยงานรัฐที่ทำให้เธอได้เรียนรู้ศิลปะในการทำผ้าบาติกติดมือกลับมา
✓ มองหาพื้นฐานความถนัดของตัวเอง
ต่อยอดสิ่งที่ถนัด…ด้วยทักษะใหม่ๆ
“ตอนนั้นเรากลับจากกรุงเทพฯ มาคนเดียวก่อน เริ่มที่จะฝึกอบรม เรียนทำผ้าบาติก ทำผ้าเช็ดหน้า” ชนันญาย้อนความทรงจำกลับไปเมื่อราวยี่สิบปีที่แล้ว “แต่ไม่นานแฟนก็ต้องตามกันกลับมา เพราะเขาถูกเลิกจ้าง พอเราเรียนแล้วก็มาถ่ายทอดให้เขาด้วย หาลายมาให้เขาช่วยวาด ถึงจะต้องปรับตัวอย่างแรงกับสิ่งที่เราอยากให้เขาทำ เพราะเขาเคยทำงานด้านเขียนแบบ อยู่ในหน้าที่ consult…ตรวจงานโครงการก่อสร้าง มีลูกน้องเป็นร้อยๆ และสั่งงานจบเป็นวันๆ ไป แต่เขาก็เขียนลายบนผ้าให้ด้วยความที่ตามใจเรา” ชนันญาหมายถึงสำรอง ดรเขื่อนสม สามีผู้นับได้ว่าร่วมก่อตั้งกิจการทำผ้าบาติกนี้มาด้วยกัน
✓ เริ่มต้นธุรกิจด้วยการทดลองตลาด…ลงทุนจากน้อย
ชนันญาเริ่มต้น “ธุรกิจ” ใหม่ด้วยการเขียนลายบาติกบนผ้าผืนเล็กๆ อย่างผ้าเช็ดหน้า นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่มาผนวกกัน ไม่แน่ใจว่ากำลังสร้างสรรค์อะไร แต่กำลังสร้างความมั่นใจบางอย่างให้กับตัวเอง ผ้าเช็ดหน้าบาติกของเธอผืนละ 35 บาท แต่ขายได้ถึง 500 ชิ้นทำให้เธอได้ฝึกทักษะในการ “ทำผ้า” และการเขียนลายบาติกไปด้วย…เธอไม่ได้หยุดอยู่ที่ตรงนี้
Suggestion
ผ้าไหม + ลายบาติก = เพิ่ม Value
เมื่อแรกหาว่าจะนำอะไรมาช่วยขับเคลื่อนให้เกิด “สินค้า” ใหม่ๆ ได้บ้าง เธอเริ่มมองวัตถุดิบซึ่งเป็นงานฝีมือท้องถิ่นชั้นดีอย่างผ้าไหมปักธงชัยที่เธอยังต้องการวาดลวดลายบาติกเติมลงไปอีก เพื่อให้ยิ่งเกิดความพิเศษสำหรับชิ้นงาน
✓ เพิ่มเติมทักษะต่อยอดสิ่งที่ทำเพื่อสร้างสรรค์สิ่งเฉพาะตัว
ประเดิมด้วยผ้าไหมของลูกค้ารายหนึ่งที่มาตัดเย็บชุดกับเธอ “ชิ้นแรกทำอย่างประณีตมาก และถือว่างานชิ้นนั้นของลูกค้าเป็นครูของเราเลยค่ะ วันที่เขาสวมชุดที่เราใช้ผ้าไหมวาดลายบาติกมาตัดเย็บให้ ลูกค้าบอกว่าพอใส่ชุดของเราเดินเข้าสำนักงานแล้วคนมาฮือฮากันทั้งสำนักงาน ถามว่าไปทำชุดแบบนี้จากที่ไหน และนั่นจึงเป็นต้นทางของ ‘งานผ้าไหม’ ของเรา ซึ่งนับจากนั้นงานที่เข้ามาก็เยอะขึ้น”
แต่เพราะผ้าไหมมีราคาแพง…เป็นต้นทุนราคาสูง เธอจึงลงมือ “สำรวจตลาด” ด้วยการทำสิ่งที่เป็นไอเดียอยู่ในหัว ออกมาเป็นผ้าคลุมไหล่จำนวนจำกัดแค่ร้อยชิ้น ซึ่งขายหมดเกลี้ยงได้ภายในเดือนเดียว! เธอจึงเชื่อว่าตัวเองมาถูกทาง
ตีความบาติก(รูปแบบ)ใหม่
ผลงานของชนันญาเป็นผ้าบาติกที่สะท้อนความเป็นพื้นถิ่นอีสาน ในขณะที่บาติกแบบดั้งเดิมซึ่งมีจุดกำเนิดอยู่ทางภาคใต้นั้นถ่ายทอดเรื่องราวที่ต่างไป รวมทั้งรูปแบบของลายบาติกบนผืนผ้าก็ต่างไปด้วยเช่นกัน เพราะเป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากทางชวาและอินโดนีเซีย
“ปกติแล้วบาติกจะถูกสร้างสรรค์ได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปั๊มเทียนหรือเขียนเทียน แต่แบรนด์ของเราสร้างสตอรี่ที่เรื่องของความเป็นอีสาน ความเป็น ‘ฅญา’ ที่ต้องใช้เวลาในการยอมรับตรงนี้มาร่วมสิบกว่าปี” เธอหมายถึงการใช้กาววาดลวดลายที่ต้องการลงไปก่อนที่จะลงเทียนในช่องดังกล่าว นับเป็นแนวคิดดั้งเดิมด้วยไอเดียใหม่
✓ มองหาสิ่งที่จะมาเป็นตัวเพิ่มคุณค่าของสินค้าได้
บาติกยุค “กาวนวัตกรรม” ช่วยให้งานแฮนด์เมดนี้ลดทอนขั้นตอนยุ่งยากในการสร้างลายลงสีนั้นให้เร็วขึ้น สร้างโอกาสในการเพิ่มจำนวนชิ้นงานได้ดี นอกจากนั้นเมื่อผ้าที่ถูกเขียนลายสวยๆ เสร็จและถูกนำไปย้อมสีที่ต้องการเรียบร้อย กาวที่ถูกล้างออกยังทำให้ลายเกิดลักษณะ crack หรือมีรอยแตกกระเทาะ ซึ่งเชื่อมโยงกับความแห้งแล้งของผืนดินอีสานได้ดีด้วย
Suggestion
ผ้าไหมไทยลายบาติก
เมื่อสร้างความเฉพาะตัวให้กับ “ฅญา” ได้แล้วด้วยผ้าไหมบาติก บาติกไหมไทยจึงค่อยได้รับการสร้างแบรนด์ขึ้นมาในชื่อของ Kaya… “ฅญา” ซึ่งแปลว่าเศรษฐีในภาษายาวีนั้น แท้จริงมีที่มาจากคำว่าพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทั้งยังหมายถึงความรู้แจ้งเห็นจริงที่ชนันญาใช้เป็นหลักในการทำงานด้วย
“เรามีความสุขทุกชิ้นงานที่เราได้สร้างลวดลายเหล่านั้นลงไปนะคะ…บาติกเป็นงานที่เป็นฟรีฟอร์มและ ‘ฅญา’ ยังขายความเป็นงานเขียนลายจริงๆ 1 ชิ้นก็คือ 1 ลาย มี 100 ชิ้นก็ 100 ลาย ความเป็น ‘ฅญา’…จะสื่อความเป็นธรรมชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเราจะจับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองออกมาเวลาทำงานแต่ละชิ้นด้วย” แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ลวดลายบาติกลงบนผืนผ้าของ “ฅญา” มักได้มาจากธรรมชาติและความเป็นพื้นถิ่นของอีสาน ไม่ว่าจะเป็นลายใบไม้ ลายเครื่องปั้นดินเผาโบราณ หรือแม้แต่ลายฟอสซิลรูปปลา ต่างช่วยสร้างชื่อให้แบรนด์ยิ่งโด่งดังในหลายเวทีการประกวดด้วย
✓ จัดทำผลิตภัณฑ์หลากหลาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย
และขยายช่องทางสู่ตลาดต่างประเทศ
เมื่อได้รับโอกาสวางขายงานในดิวตี้ฟรีของสนามบิน ชนันญายังได้รับคำแนะนำจาก คิง เพาเวอร์ เกี่ยวกับช่องทางการจำหน่าย โดยเฉพาะเกี่ยวกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยว จึงพัฒนาสินค้าในกลุ่มของฝากออกมาเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมอนรองคอ ซึ่งได้รับความนิยมมากไม่แพ้ผลงานผ้ารู้จักกันไปทั่วโลก
ชนันญาและผู้คนในแบรนด์ของเธอใช้ใจ..ที่มุ่งมั่น กับหัวใจที่ถ่ายทอดลวดลายบนบาติกผ้าไหม ผลิตภัณฑ์หลากหลายที่ผ่านการสร้างสรรค์จาก “ฅญา” ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า เสื้อผ้า ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ หมอนอิง กระเป๋าคล้องมือ…ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังนับเป็นความภาคภูมิใจของเธอ ที่มีส่วนได้ทำให้ต่างชาติรู้จัก “ของดี” ของอีสานบ้านในนาม “Kaya” นั่นเอง
ถอดรหัสธุรกิจ “ฅญาบาติก”
✓ มองหาพื้นฐานความถนัดของตัวเอง
✓ เริ่มต้นธุรกิจด้วยการทดลองตลาด…ลงทุนจากน้อย
✓ เพิ่มเติมทักษะต่อยอดสิ่งที่ทำเพื่อสร้างสรรค์สิ่งเฉพาะตัว
✓ มองหาสิ่งที่จะมาเป็นตัวเพิ่มคุณค่าของสินค้าได้
✓ จัดทำผลิตภัณฑ์หลากหลาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย และขยายช่องทางสู่ตลาดต่างประเทศ
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: KAYA BATIK
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา
ชม-ชิม-ช้อป ปักธงชัย
• ชม…เขื่อนลำตะคอง ชมวิวธรรมชาติ แวะแชะรูปกับวิวเขาโอบล้อมด้วยผืนน้ำแถวสันเขื่อน ที่มองเห็นกังหันลำตะคองด้วย
• ชิม…หมี่โคราช จะกินหมี่โคราชแบบคนที่นั่นต้องกินกับส้มตำ อาจแวะตลาดปักธงชัย มีของกินหลากหลายตามวิถีของคนที่นั่นให้ติดตาม
• ช้อป…ผ้าไหมปักธงชัย จากแหล่งผ้าไหมชั้นดีมีคุณภาพ ทออย่างดีมีเอกลักษณ์ สีสวยงาม ของฝากอื่นๆ ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน กุนเชียง หมูยอ หมูหยอง เส้นหมี่โคราช