Summary
เมื่ออดีตนักฟุตบอลเยาวชนทีมชาติฉายา “กองหลังพันธุ์ดุ” แขวนสตั๊ดหวังใช้ชีวิตกับครอบครัวแสนสุข ไกลถึงเชียงแสน แต่ด้วยสัญชาตญาณนักกีฬาและเสียงภายในบอกว่า “มีความรู้ความสามารถแล้วไม่เอามาถ่ายทอดให้คนอื่นก็ไม่รู้จะมีไว้ทำไม” จึงผลักดันให้ โด้ – อานนท์ นานอก ลุกขึ้นมาเป็นโค้ช พร้อมปั้นทีม Chiang Saen Saenphu FC เตรียมออกอาละวาดในวงการฟุตบอลไทย!!
“เป็นโค้ชต้องมีความรับผิดชอบมากกว่านักบอล”
น้ำเสียงของ โค้ชโด้ – อานนท์ นานอก ฟังดูจริงจัง อาจพออนุมานได้ว่าเวลาที่เขาสอนเด็กตัวเล็กๆ เล่นฟุตบอลคงจะเข้มงวดน่าดู
โค้ชโด้เป็นผู้ก่อตั้ง “เชียงแสนแสนภู เอฟ ซี อะคาเดมี” (Chiang Saen Saenphu FC Academy) ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย “เมื่อก่อนใครจะเรียนฟุตบอลต้องไปในตัวเมืองเชียงราย ซึ่งต้องเดินทางไกล จากอำเภอเชียงของไปก็ร้อยกว่ากิโล จากเชียงแสนที่ผมอยู่นี่ก็แปดสิบกว่ากิโล”
เข้าใจ…ว่าพื้นที่แถวนี้คือชายแดนไทย-ลาว ห่างไกลอำเภอเมืองที่มีสนามฟุตบอลดีๆ
แต่ไม่เข้าใจ!!! คนที่นี่เขามุ่งมั่นเรื่องฟุตบอลขนาดนั้นเลยหรือ
ลองกลับไปเซิร์ชหารายชื่อทีมฟุตบอลในจังหวัดเชียงรายก็ได้พบ…เชียงรายยูไนเต็ด…เชียงรายซิตี้…เชียงรายล้านนา…เชียงราย เอฟ ซี อีกทั้งสนามฟุตบอลสีน้ำเงินในโครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย ของ คิง เพาเวอร์ ก็มีที่จังหวัดนี้ถึงสองสนาม คือ ที่อำเภอแม่สายและเชียงแสนนี่เอง “เชียงรายเป็นเมืองบ้าฟุตบอลอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีทีมของเชียงแสนให้ได้เชียร์กัน”
เขาก็เลยตั้งใจสร้างทีมฟุตบอลขึ้นมา
“พรสวรรค์เป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะพรแสวงก็ต้องสร้างไปพร้อมกัน เด็กที่มีวินัยถึงจะเป็นนักกีฬาได้” โค้ชโด้ – อานนท์ นานอก อดีตนักเตะทีมชาติไทย |
ความสุขของอานนท์
“เด็ก 8-10 ขวบ ก็เริ่มเล่นบอลได้ละ สมัยก่อนพวกผมไม่มีที่ฝึกซ้อมแบบนี้ ไม่มีครูสอนมาแนวครูพักลักจำมากกว่า” โค้ชโด้ออกตัว เพราะเขาเริ่มจริงจังกับฟุตบอลก็เข้าอายุ 15 แล้ว แต่ด้วยความมุ่งมั่นก็สามารถใช้คำว่า “ทีมชาติ” ได้ตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ร่วมกับทีมคว้ารางวัลชนะเลิศฟุตบอลอาเซียนเยาวชน อายุไม่เกิน 20 ปี และได้เหรียญทองซีเกมส์ 2003 ที่เวียดนาม
แม้จะเคยเป็นกองหลังตัวแกร่งมาหลายปี พอแขวนสตั๊ดไปตอนอายุประมาณ 34 ก็ใช่ว่าจะลุกมาเป็นโค้ชได้ทันที
“เราไปลงเรียนเพิ่มเติมให้ได้ G license” นั่นคือพื้นฐานความรู้และความสามารถเพื่อสอนนักฟุตบอลอายุ 6-12 ปี ของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) “สอนเด็กอย่างน้อยก็ต้องมี G license แล้วค่อยเรียนต่อให้ได้ C license B license A license ไปจนถึง Pro license มันเกี่ยวกับการทำงาน อย่างไทยลีก T1 เราใช้ Pro license ถ้า T2 อย่างน้อยต้องมี A หรือ B ส่วน T3 ก็ต้อง C เป็นอย่างน้อย”
โค้ชโด้เคยไปเป็นผู้ช่วยโค้ชในสโมสรอื่นมาก่อน มาเริ่มเปิดอะคาเดมีที่เชียงแสน เมื่อปี 2563 เรื่อยมาถึงวันนี้ ทุกวันจันทร์-อังคาร และพฤหัสฯ-ศุกร์ ช่วง 15.00-17.00 น. เขาจะสอนนักเรียนมัธยมของโรงเรียนบ้านแซววิทยาคม “มีราวๆ 40 คนครับ มีนักบอลหญิงอยู่บ้าง ตอนแรกโรงเรียนจะให้ค่าจ้าง ผมขอแลกเป็นการใช้สนามคิง เพาเวอร์ สอนเด็กของเชียงแสนแสนภู เอฟซี อะคาเดมี ช่วง 5 โมงเย็นไปถึงทุ่มแทน” เพราะสนามที่มาตรฐานมีความสำคัญในการฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาแบบยั่งยืนนั่นเอง “หลังจากนั้นก็ให้คนทั่วไปได้มาใช้สนามกันต่อ”
นอกจากนั้น เช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วง 8.00-10.00 น. โค้ชโด้ยังเปิดคลินิกสอนทักษะฟุตบอลขั้นพื้นฐาน ฟรี!! สำหรับเด็กๆ ที่สนใจเรียน ก็ได้ใช้สนามมาตรฐานแห่งนี้ล่ะ
✔ ไม่หยุดพัฒนาตัวเองและส่งต่อทักษะให้คนรุ่นต่อไป
“อยู่ไหนก็ได้ ขอให้มีฟุตบอลผมก็มีความสุข เพราะเราเกิดมาจากกีฬา และบ้านเราก็อยู่ตรงนี้ เรามีความรู้ความสามารถแล้วไม่เอามาถ่ายทอดให้คนอื่นก็ไม่รู้จะมีไว้ทำไม”
ลองเข้าไปดูภาพการซ้อมของเด็กๆ ในเฟซบุ๊ก Chiang Saen Saenphu FC Academy ก็เห็นรอยยิ้มที่มีความสุขของเด็กๆ เต็มไปหมด
Suggestion
นักบอลพันธุ์ดุ
สมัยมัธยมต้น โค้ชโด้เป็นนักวิ่งตัวแทนจังหวัดนครราชสีมา บ้านเกิดของเขามาก่อน ถึงขั้นได้ลงแข่ง “พะยูนเกมส์” การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 29 ที่จังหวัดตรัง ปี 2539 ตอนนั้นเขาเรียนอยู่ ม.2 ก่อนจะย้ายมาเรียนที่บางบัวทอง ตอน ม.3 ช่วยคุณน้าทำงานและเรียนไปด้วย ตอนนั้นเริ่มเข้ามาสู่วงการฟุตบอลในทีมโรงเรียนบางบัวทองและเล่นทีมเยาวชนนนทบุรี
✔ มุ่งมั่น…จนเกิดเป็นความสำเร็จ
“ผมไปคัดโควตาช้างเผือก โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนติดพอดี ก็เลยได้ไปเรียนที่นั่นและเล่นฟุตบอลด้วย” ฝีเท้าของเขาก็เริ่มฉายแววให้คนเห็นมากขึ้น ช่วง ม.6 ก็เข้าคัดทีมชาตินักเรียนไทยครั้งแรก…เริ่มจากตรงนั้น ในทีมเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปี แล้วต่อด้วยซีเกมส์และทีมชาติชุดใหญ่
“มันอยู่ที่ความบ้าของเรา แต่ก่อนคนอื่นซ้อมช่วงเดียว ผมแอบซ้อมมากกว่านั้นถึงติดทีมชาติได้ ตั้งแต่กรุงเทพคริสเตียนแล้ว คนอื่นซ้อมเย็นเสร็จ ผมก็มาซ้อมเองอีกครึ่งชั่วโมง-ชั่วโมง คนอื่นไม่ตื่นวิ่งตอนเช้า…ผมก็ตื่นมาวิ่ง มันก็เลยพัฒนาเร็ว ตอนอยู่ทีมชาติ คนอื่นซ้อมเช้าเสร็จไปกินข้าว ผมก็จะเดาะบอลวางบอลยิงอีกสักครึ่งชั่วโมง กินข้าวเสร็จคนอื่นไปนอน ผมไปเล่นเวทต่อ 10 โมงจนถึงเที่ยง ตอนบ่ายค่อยนอน แล้ว 4-5 โมงค่อยไปซ้อมอีกที”
สิ่งเหล่านี้ เขานำไปบอกเล่าให้กับเด็กรุ่นใหม่ฟังเสมอ
แต่ด้วยลีลาการเล่นที่ค่อนข้างหนักแน่น ผู้ชมถึงขั้นตั้งฉายาให้เขาว่า กองหลังพันธุ์ดุ “หน้าที่เราเล่นกองหลังที่คอยประกบกองหน้า ต้องใช้ความแข็งแรง แข็งแกร่ง เบียด ปะทะ ชน เป็นเรื่องปกติ เหมือนเราเล่นละครก็ต้องเล่นไปตามบท” จะให้กองหลังเรียบร้อยคงเป็นไปไม่ได้
“พอมีชื่อเสียงหน่อยเราเริ่มมีเพื่อน มีรถขับ สนุกจนเจอคดีเมาแล้วขับ!!” เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เขาต้องอำลาทีมชาติ แต่ก็ยังโลดแล่นในวงการฟุตบอลอาชีพทั้งต่างประเทศและในเมืองไทยอีกเป็นสิบปี
“ผมก็สอนเด็กเรื่องการใช้ชีวิตด้วย เราคิดดีทำดี มันก็จะได้ดี สอนไปด้วย บอกไปด้วย”
Technic VS Tactic
การเป็นนักกีฬาอาชีพงานหลัก คือ การซ้อม นอกจากนั้นก็ไม่ได้ทำอะไร…ฟังเหมือนง่าย…มีหน้าที่ไปซ้อมให้ตรงเวลาเท่านั้นเอง
“ถ้า Thai League มีแข่งวันเสาร์ ก็จะซ้อมจันทร์ถึงศุกร์ เสาร์แข่งจบก็จะได้พักผ่อนวันอาทิตย์ ช่วงที่มีลีกนี่แข่งทุกเสาร์ ฤดูกาลหนึ่งอาจจะมี 8 เดือน สมมติว่ามี 18 ทีมก็แข่งเหย้า-เยือนกันไป กว่าจะเตรียมทีมอีกก็ใช้เวลาเกือบปี ตอนนี้ไทยลีก 1 มีประมาณ 16 ทีม ไทยลีก 2 ประมาณ 18 ทีม ไทยลีก 3 นี่เยอะ มีเกือบทุกจังหวัด”
นักฟุตบอลที่ไปซ้อมตรงเวลา โค้ชจะสอนแทคติกให้ รูปแบบการฝึกซ้อมและการแข่งขันของโค้ชแต่ละคนจะต่างกัน อย่างที่โค้ชโด้บอกไว้ว่าโค้ชต้องมีความรับผิดชอบมากกว่านักฟุตบอล เพราะโค้ชต้องทำทุกอย่าง เตรียมอุปกรณ์การซ้อม คิดรูปแบบการซ้อม
“บางครั้งตัวผู้เล่นทีมเราศักยภาพไม่ถึงทีมอื่น เขาอาจมีตัวทีมชาติมาลงด้วย เราก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงถึงจะสู้เขาได้ ต้องวางแผนการซ้อมเพื่อไปแข่งกับเขาในแต่ละแมตช์”
เรียกได้ว่าทักษะหรือเทคนิคเป็นเรื่องส่วนตัวเป็นของนักฟุตบอล แต่แทคติกหรือวิธีการเล่นเป็นของโค้ช
“ปีก่อนผมไปช่วยทำไทยลีก 3 ซึ่งเป็นบอลอาชีพ แต่ช่วงนี้มาสอนบอลเด็ก ซึ่งไม่ได้เน้นแทคติกอะไรเยอะ เด็ก 6-12 ขวบ เราต้องเน้นทักษะ สร้างความสามารถเฉพาะตัวให้เขาเยอะๆ”
โค้ชโด้ยืนยันว่าอะคาเดมีของเขาตั้งใจส่งเด็กไปสู่ความเป็นเลิศ ถ้าเด็กคนไหนมีแววเก่งมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าใกล้ระดับอาชีพก็จะส่งไปเรียนต่อในที่ที่เหมาะสม “ก็ได้ไปเข้าคัดทีมชาติภาคเหนือบ้าง ไปเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เชียงใหม่ ซึ่งมีสโมสรของตัวเอง และไปโรงเรียนท่าข้ามวิทยาคม ของสโมสรแพร่ ยูไนเต็ด บ้างครับ” ที่นั่นก็มีสนามหญ้ามาตรฐานสีน้ำเงินจากคิง เพาเวอร์อยู่ด้วย
ก็ค่อยๆ ขยับตัวจนคนเริ่มมองเห็นเด็กเชียงแสนบ้างแล้ว
“เด็กที่สอนอยู่เกือบร้อย อาจจะมีไม่กี่คนที่จะโผล่ไปติดทีมชาติ…เพราะมันยาก แต่เราช่วยให้เขาอยู่ในเส้นทางได้ ให้ฟุตบอลนำทางเขาไป สามารถไปเล่นกีฬาโรงเรียน เล่นกีฬามหาวิทยาลัย เล่น Youth League อาจไปถึงตัวจริงของของสโมสร แม้ไม่ถึงขั้นทีมชาติ แต่ก็ยังอยู่ในวงการฟุตบอล”
เรียกว่าเป็นสร้างอาชีพให้กับผู้คนก็ไม่ผิดนัก
✔ ส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนสนใจกีฬา
Suggestion
จากกองหลัง สู่ “เบื้องหลัง”การแข่งขันบ้านแซววิทยาคมคัพ ครั้งที่ 1 เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 28 – 29 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา “เราช่วยกันทำเพื่อที่จะหาเงินไว้บำรุงสนามฟุตบอลของโรงเรียนบ้านแซววิทยาคม ต้องใช้ทั้งสนามหญ้าจริงกับสนามหญ้าเทียมแข่งพร้อมกัน”
มีคนมาแข่งเยอะหรือ?!!!“ก็มาจากหลายที่ มีทั้งเชียงแสน เชียงของ เทิง เวียงเชียงรุ้ง แม่ลาว และอำเภออื่นๆ ของเชียงราย จากทางเชียงใหม่ อย่างอำเภอฝางก็มา ถ้ารวมบอลเด็กทั้งหมดมากันเกือบพันคน” เห็นคนรักกีฬากันขนาดนี้ โค้ชโด้จึงอยากเปิดโครงการช้างเผือกเลือกเด็กมากินนอนและสอนฟุตบอลให้ เพื่อสักวัน ทีมเชียงแสนแสนภู เอฟซี จะได้เริ่มเข้าไป Thai League 3 กับเขาบ้าง “อยากสร้างทีมบอลให้คนเชียงแสน ตกเย็นก็ไปเชียร์บอล สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนอยากมาออกกำลังกันเยอะๆ” เป็นโค้ชนี่เหนื่อยเนอะ… |