Summary
ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือและย้อมด้วยสีธรรมชาติที่โดดเด่น มีส่วนช่วยในการรักษาภูมิปัญญาไทยและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ทั้งยังให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืน
สินค้าที่เกิดขึ้นด้วยการเริ่มต้นนับหนึ่ง จากความหลงใหลในเสน่ห์ของผ้าฝ้ายทอมือและการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ นำไปสู่การเรียนรู้ เติบโต และพัฒนา
10 ปีผ่านไป แบรนด์ “JUTATIP (จุฑาทิพ)” จากจังหวัดขอนแก่น ได้ขยายวงเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายทอมือย้อมด้วยสีธรรมชาติ เพื่อมาเติมสีสันให้กับชีวิตประจำวันของผู้ใช้ พร้อมไปกับสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยมีส่วนช่วยเหลือชุมชนให้มีงานและรายได้ กับความตั้งใจแรงกล้าที่จะดำเนินธุรกิจนี้ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดความยั่งยืน
วันนี้ JUTATIP ยังคงถักทอเส้นใยแห่ง “ความเป็นไปได้” แบบ “เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังคนไทย” เพื่อสร้างสรรค์อนาคตต่อไป
หนอนหนวด ลายผ้าจากฝ้ายที่เหลือ
ผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ จุฑาทิพ (JUTATIP) สร้างสรรค์จากผ้าฝ้ายทอมือ ซึ่งผ่านกระบวนการถึง 18 ขั้นตอน โดยฝีมือช่างในขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง สีที่เป็นเอกลักษณ์เลือกใช้สีธรรมชาติ เช่น สีเทาเข้มจากมะเกลือและหมากคูณ สีน้ำเงินจากคราม สีชมพูจากครั่ง สีเหลืองจากใบสมอหรือขมิ้น สีเทาจากใบยูคาลิปตัส เป็นต้น
ผ้าฝ้ายเหล่านั้นนำมาแปรรูปเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและแอ็กเซสซอรีในสไตล์ร่วมสมัยได้รับความนิยมในหมู่คนรักงานคราฟต์ มีทั้งผู้ใหญ่ วัยรุ่น และหนุ่มสาววัยทำงาน ด้วยคุณสมบัติที่นุ่ม เบา โปร่ง สวมใส่สบาย
การผลิตผ้าฝ้ายทอมือใช้เวลานานและผ่านหลายขั้นตอน ทำให้งานที่ได้ออกมามีค่าเกินกว่าจะทิ้ง แม้เศษฝ้ายเส้นสั้นๆ ยาวๆ ที่เหลือ JUTATIP พยายามค้นคว้าหาวิธีนำมาสร้างสรรค์เป็นลายผ้าใหม่ๆ เช่น ลายผ้าชื่อสุดน่ารักว่า “หนอนหนวด” ที่เกิดมาจากการนำเศษเส้นใยฝ้ายมาแทรกใส่ไประหว่างการทอ เกิดเป็นผืนผ้าเทกเจอร์ใหม่ๆ
หนอนหนวดเป็นการเล่นสนุกกับลายผ้าและเป็นจุดขายที่ได้เสียงสะท้อนกลับจากลูกค้าว่า มีลูกเล่นและความน่ารัก ทางแบรนด์ได้นำไปผลิตเป็นเสื้อผ้าทรงเบสิกที่สวมใส่ง่ายในทุกๆ วัน
ชื่อ “หนอนหนวด” ตั้งขึ้นมาเพื่อทำให้การสื่อสารเข้าใจง่ายกับคนทอผ้า ในด้านหนึ่งจึงเป็นเหมือนโค้ดหรือรหัส เช่นเดียวกับชื่อลายผ้าก่อนหน้านี้ เช่น หนอนสั้น หนอนหยุม เป็นต้น
“ก่อนจะได้ลายผ้าใหม่ ๆ มีการทดลองใส่ความสนุกลงไปในเศษฝ้ายที่เหลือ เป็นการคิดว่าจะทำอย่างไรกับเศษวัสดุที่เหลือ ทั้งยังเป็นการพัฒนาจากรุ่นหนอนอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว ด้วยการตอบรับที่ดีจากลูกค้า
“ปัจจุบันเศษฝ้ายที่เหลือนำไปทอหมดจน บางสีแทบจะต้องตัดฝ้ายดี ๆ มาทำเป็นหนอนหนวด เพราะเริ่มไม่มีเศษฝ้ายแล้ว” คุณจุฑาทิพ ไชยสุระ เจ้าของแบรนด์ JUTATIP เล่า อ่านบทสัมภาษณ์ของเธอ ผู้ยกระดับภูมิปัญญาฝ้ายไทย คลิก
เดรสผ้าฝ้ายเข็นมือ หนึ่งปีมี 6 ชุด
หนึ่งในผลิตภัณฑ์สุดลิมิเต็ดของ JUTATIP เป็นชุดเดรสฝ้ายเข็นมือแบบพิเศษ ที่ในแต่ละปีผลิตออกมาได้เพียงแค่ 6 ชุด!
เดรสนี้ตัดเย็บจากผ้าทอหน้ากว้าง 1 เมตร ต่างจากผ้าปกติที่มีหน้ากว้าง 40-80 ซม. ซึ่งต้องใช้ทักษะและความเชี่ยวชำนาญพิเศษของช่างทอ เมื่อรวมกับกระบวนการผลิตอื่นๆ ทั้งคัดฝ้าย ย้อมสี ทอ และตัดเย็บ ทั้งหมดใช้เวลาค่อนข้างนาน
เดิมทีชุดเดรสนี้ตั้งใจทำออกมาเพื่อตลาดญี่ปุ่น แต่แผนต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากการระบาดของ โควิด-19 ภายหลังมีการปรับเปลี่ยนผ้า ลดขั้นตอนการทำงานลง ช่วยลดเวลาและต้นทุนในการผลิต แต่ยังคงใจใส่อย่างพิถีพิถันในด้านคุณภาพ ก่อนจะนำออกสู่ตลาดในไทย
“การทำงานต้องฟังเสียงลูกค้าด้วย ถ้าเขาอยากได้ของเรา แล้วเขาซื้อไหวที่ราคาเท่าไหร่” การรับฟังความต้องการของลูกค้าอย่างกระตือรือร้นของ JUTATIP นำไปสู่การปรับแต่งผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการส่วนบุคคลในบางรายการสินค้า
“อย่างเช่น ถ้าลูกค้าอยากได้เสื้อผ้าขนาดใหญ่ขึ้น เราก็อาจจะรับทำให้เป็นกรณีพิเศษโดยไม่ได้ชาร์จลูกค้าเพิ่ม ถือว่าเป็นการขอบคุณเขา”
Suggestion
ผลงานการออกแบบ & แฟชั่นยั่งยืน
JUTATIP ให้ความสำคัญกับการออกแบบ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างผลิตภัณฑ์ให้โดนใจลูกค้า การทำงานร่วมกับดีไซเนอร์และโรงงานที่เชี่ยวชาญ ผลลัพธ์คือมุมมองและความคิดใหม่ๆ ที่เพิ่มคุณค่า ยกระดับคุณภาพและงานฝีมือ
ความพยายามที่จะส่งเสริมและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างผ้าฝ้ายทอมือให้คงอยู่ JUTATIP ได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยและความต้องการของคนในปัจจุบัน โดยไม่เสียศิลปะและเอกลักษณ์ของผ้าฝ้ายทอมือจากเดิมไป
การออกแบบของ JUTATIP ยังให้ความสำคัญกับการใช้งานจริงของลูกค้า เพื่อให้สวมใส่สบาย ใช้งานได้หลากหลาย ง่ายต่อการสวมใส่ ใช้งานได้นาน ตามเป้าหมายและแนวคิดของแฟชั่นยั่งยืน “คำว่าแฟชั่นยั่งยืน เรามองไปถึงเรื่องการใช้ง่าย ใช้บ่อย เสื้อผ้าของเราไม่ใช่ว่าใส่งานเดียวแล้วก็เก็บเข้าตู้เลย เราเน้นเรื่องของมิกซ์แอนด์แมตช์ ทำให้ใส่ได้ตลอด”
เส้นใยรีไซเคิล 100 %
นอกจากเส้นด้ายที่เหลือนำไปออกแบบเป็นลายผ้าใหม่ๆ เศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยยังนำไปใช้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้วยความตั้งใจที่จะให้มีขยะเหลือทิ้งน้อยที่สุด
ทางแบรนด์ยังได้ร่วมกับ เอสซีแกรนด์ (SC Grand) ผู้ผลิตผ้ารีไซเคิลนำเศษผ้าหรือเศษด้ายที่เหลือไปทำเป็นเส้นใยใหม่ออกมาใช้ได้อีก หลังจากศึกษาทดลองมา 5 ปีแล้ว ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยรีไซเคิล 100% ของ JUTATIP กลายเป็นลายผ้า 4 ลาย ตัดเย็บออกมาเป็นเสื้อผ้า หมวก และกระเป๋า เปิดตัวครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2567
“เราไม่ต้องปลูกต้นฝ้ายใหม่ ลดพลังงานและการใช้น้ำ ลดกระบวนการจาก 18 ขั้นตอนการทอผ้าออกไป อย่างเช่น การย้อม ผ้าบางชุดไม่ต้องย้อม เพราะว่าเส้นใยมีสีสวยอยู่แล้ว เส้นใยที่ได้ยังมีคุณสมบัติเหมือนเดิม ระบายอากาศได้ดี ผ้าเนื้อนุ่มเบาสบาย”
เศรษฐกิจสีเขียว – ศูนย์กลางเส้นใย
เส้นใยรีไซเคิล 100% ผลิตภัณฑ์ใหม่ของ JUTATIP บ่งบอกว่าแบรนด์ได้ก้าวไปสู่ BCG (Bio-Circular-Green หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) เต็มตัวมากขึ้น
ที่ผ่านมา JUTATIP ได้ศึกษาทดลองเรื่องใช้พลังงานสะอาดและการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ในกระบวนการผลิต รวมไปถึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวัตถุดิบทางเลือก นอกจากฝ้ายแล้ว ยังมีการสำรวจและการทดลองสร้างเส้นใยจากข้าวโพด อ้อย หรือผักตบชวา “เราอยากเป็นฮับในเรื่องของเส้นใยในอนาคต”
ที่สำนักงานของ JUTATIP ในอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เปิดให้ผู้ที่สนใจผ้าฝ้ายทอมือได้ไปศึกษาเรียนรู้ รวมทั้งเวิร์กช็อปการย้อมผ้า การทอ การนำผ้าไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และเผยแพร่วัฒนธรรม
“เป้าหมายหลักคือ อยากให้เขานำความรู้จากเราไปเพื่อประกอบเป็นอาชีพได้”
ผลิตผลมีรางวัลและการยอมรับ
การเดินทางของ JUTATIP แสดงก็เห็นได้ชัดเจนว่า ความสำเร็จที่แท้จริงไม่ใช่แค่รางวัลหรือยอดขายเท่านั้น แต่ยังหมายความรวมถึงผลกระทบต่อชุมชน วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา JUTATIP ได้การยอมรับในวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ คุณภาพและความตั้งใจสร้างสรรค์งานมีรางวัลต่างๆ การันตี เช่น มาตรฐาน Green Production ระดับดีเยี่ยม (ทอง) จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รางวัลการออกแบบ G-mark (Good Design Award) โดยสถาบันการออกแบบของญี่ปุ่น (Japan Institute of Design Promotion)
ผลิตภัณฑ์ของ JUTATIP ครองใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่นและไต้หวัน ซึ่งชื่นชอบในเฉดสี วัสดุที่ย้อมจากธรรมชาติ ลวดลายผ้า รวมทั้งความเป็นงานทำมือที่ชัดเจน
เมื่อมองไปข้างหน้า JUTATIP ยังคงมุ่งมั่นในการขยายฐานลูกค้า “การได้ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ทำให้เราได้รู้จักลูกค้านานาชาติมากขึ้น เป็นประโยชน์อย่างมากในการที่เราจะทำงานเพื่อกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น” คุณจุฑาทิพกล่าว และยังเล่าถึงการที่ผลงานของ JUTATIP มีโอกาสพัฒนาและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าต่างชาติได้
“เป้าหมายแรกของเราเลยคือ คิง เพาเวอร์ แต่ในช่วงแรก เราไม่เก่งเรื่องของการทำเสื้อผ้า” ด้วยข้อมูลความคิดเห็นจาก คิง เพาเวอร์ ที่มีต่อสินค้าทำให้ JUTATIP นำมาปรับปรุงปรับเปลี่ยนรวมทั้งพัฒนาสินค้าใหม่ๆ นำเสนอไม่หยุด
“ตอนแรกทำผ้าพันคอ คิง เพาเวอร์ ก็ช่วยให้ความเห็นที่มีประโยชน์ เราจึงเริ่มผลิตสินค้าอื่นๆ จากที่เคยใช้ซิปพลาสติก ซึ่งทาง คิง เพาเวอร์ ก็คอมเมนต์มา เราก็พยายามไปหาซิปแบบอื่นมาใช้แทน เป็นการให้โอกาสที่ดีมาก เขาก็รู้ว่าเราใหม่ในวงการก็พยายามให้คำแนะนำ”
ด้วยการเติบโต เรียนรู้ และพัฒนาของ JUTATIP ได้แสดงให้เห็นว่า คุณค่าของแบรนด์ที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ตัวผลิตภัณฑ์ซึ่งจับต้องได้เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่น ความพยายาม และการอุทิศตนที่อยู่เบื้องหลัง
ผลิตภัณฑ์ JUTATIP เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการผสมผสานระหว่างมรดกทางวัฒนธรรม นวัตกรรม งานฝีมือ และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้ผู้ครอบครองเป็นเจ้าของเกิดความรู้สึกปลาบปลื้มภาคภูมิใจได้ด้วย
จุฑาทิพ (JUTATIP)
ที่ตั้ง: 1/43 หมู่ 14 ถ.กลางเมือง ต.เมืองเก่า อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น 40000
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: JUTATIP
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่ คิง เพาเวอร์ ทุกสาขา
ปักหมุดจุดเช็กอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง
• พระมหาธาตุแก่นนคร พระธาตุ 9 ชั้นสีทองงามสง่า ตั้งอยู่ภายในวัดหนองแวง โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมตั้งแต่สมัยทราวดี ผสมผสานอินโดจีน จากชั้นบนสุดสามารถมองเห็นวิวเมืองขอนแก่นได้กว้างไกล
• บึงแก่นนคร บึงขนาดใหญ่มีพื้นที่มากกว่า 600 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เป็นแหล่งรวมตัวของชาวขอนแก่น เป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย มีสะพานข้ามบึงและจุดชมวิวกลางน้ำ
• พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น จัดรวบรวม รักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของขอนแก่น รวมทั้งภาคอีสานตอนบน