Summary
คุยกับ วัธ จิรโรจน์ ในวันที่กำลังจะวางมือจาก VT Thai หลังพางานฝีมือไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกสำเร็จ และหันมาโฟกัสกับ SC GRAND ในฐานะทายาทรุ่นที่สาม พร้อมปั้น CIRCULAR แบรนด์เสื้อผ้ารักษ์โลก โดยมีเป้าหมายที่จะดูแลครอบครัวให้ดีเหมือนที่ครอบครัวดูแลเขามา
เหตุผลที่ วัธ – จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ เป็นบุคคลที่ Thaipower.co อยากจับเข่าพูดคุยอย่างมาก ไม่เพียงเพราะเขาคือ ผู้บุกเบิก VT Thai (หรือแบรนด์วิถีไทย) www.vtthai.com เว็บไซต์ที่รวบรวมงานหัตถกรรมไทยจากชุมชน แต่ปัจจุบันเขากำลังมุ่งมั่นต่อยอดธุรกิจครอบครัวในฐานะทายาทรุ่นสามของโรงงานปั่นด้ายที่เชี่ยวชาญการรีไซเคิลเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมามากกว่า 50 ปี ภายใต้แบรนด์ SC GRAND หรือ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด
คุณวัธ กล่าวอย่างถ่อมตัวว่า เขาคงไม่ใช่ต้นแบบของคนทำธุรกิจที่ดีนัก แต่ประสบการณ์และความผิดพลาดน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งกับคนหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจ คนที่เชื่อมั่นและฝันอยากจะเห็นสินค้าไทยเฉิดฉายอยู่บนเวทีโลก…นี่แหละคือตัวอย่างของ “พลังคนไทย” อย่างแท้จริง หรือแม้แต่หัวอกทายาทที่ต้องสานต่อธุรกิจครอบครัว
“เราต้องการพิสูจน์ว่างานคราฟต์ของไทยส่งไปยังตลาดต่างประเทศได้จริง ไม่ใช่แค่ของฝากหรือซื้อเป็นที่ระลึก
มันอยู่ที่ดีไซน์และการทำตลาด เรามีลูกค้าจากหลายประเทศ มันพิสูจน์แล้วว่ามีตลาดรองรับอยู่”
จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์
เจ้าของแบรนด์วิถีไทย และ SC GRAND
ธุรกิจที่เริ่มจากแพสชัน
ธุรกิจแรกของคนส่วนใหญ่ 99% มาจากแพสชัน คุณวัธก็เช่นกัน ธุรกิจแรกของเขาคือ Mango Mojito แบรนด์รองเท้า Craftsmanship ที่เริ่มต้นจากความหลงใหลรองเท้า Craftsmanship อย่างมาก จนอยากผลิตรองเท้าคุณภาพดีโดยช่างฝีมือคนไทยในราคาเทียบเท่าแบรนด์ต่างประเทศ
“Mango Mojito น่าจะเป็นแบรนด์รองเท้าสัญชาติไทยแบรนด์แรกๆ ที่วางขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำได้และขายในราคาเทียบเท่าแบรนด์นอก ตอนนั้นผมเพิ่งจบมหาวิทยาลัย เป็นเด็กหนุ่มไฟแรงที่พร้อมกระโดดลงไปทำทุกอย่างที่ท้าทาย ยิ่งมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ได้เห็นงานดีไซน์ที่แปลกตาก็สังเกตว่า แบรนด์ที่คนจดจำจะมีเรื่องราวที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ผมเป็นคนชอบรองเท้าด้วย จึงตัดสินทำแบรนด์รองเท้า Craftsmanship และตั้งเป้าที่จะยกระดับช่างฝีมือไทยให้เทียบเท่าแบรนด์ต่างประเทศ ในราคาที่เข้าถึงได้”
“VT Thai ก็เริ่มต้นจากแพสชันล้วนๆ อย่างที่บอกผมหลงใหลเรื่องงานคราฟต์มากๆ บังเอิญว่า หลังจากที่ Mango Mojito เริ่มอยู่ตัวเป็นช่วงที่มาช่วยที่บ้านดูแล Super Cat ธุรกิจม็อบถูพื้น อุปกรณ์ทำความสะอาด เมื่อก่อนไม่มีชื่อแบรนด์นะ ผมเข้ามาสร้างแบรนด์ ขยายตลาดไปตามต่างจังหวัดและต่างประเทศ ระหว่างนั้นต้องคุยกับยี่ปั๊ว ซาปั๊วบ่อย เลยมีโอกาสเข้าไปในหลายชุมชน พอเห็นงานฝีมือแล้ว ผมรู้เลยว่านี่คือโอกาส”
เขายังบอกอีกว่างานคราฟต์ในต่างประเทศเฟื่องฟูมาก ผู้คนให้คุณค่าและยอมจ่ายในราคาสูง เขายกตัวอย่างเว็บไซต์ ETSY ที่เปิดกว้างให้คนมีของโพสต์งานฝีมือขาย หรือเว็บไซต์ folksy ในประเทศอังกฤษที่สร้างรายได้ให้คนทำงานคราฟต์จนประสบความสำเร็จ
“เรื่องงานฝีมือผมเชื่อว่าคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ละชุมชนก็มีเสน่ห์และอัตลักษณ์ของงานที่ต่างกัน เรื่องเล่าเราก็มีเยอะ แต่ยังขาดความโดดเด่นเรื่องการออกแบบและวิธีทำตลาด ถ้ามีคนกลางที่เป็นสะพานทำให้ของดีและคนที่เห็นคุณค่าได้มาเจอกันล่ะ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมตัดสินใจที่จะสร้าง VT Thai ขึ้นมา เพื่อให้คนทั่วโลกได้เห็นถึงคุณค่างาน Craftsmanship ของคนไทยโดยคนไทย”
Suggestion
5 บทเรียนชีวิตและธุรกิจที่อยากส่งต่อให้คนรุ่นหลัง
1. ปัญหาที่แก้ได้ง่าย ไม่ทำให้เราพัฒนา
2. ทุกครั้งที่เจอปัญหาที่แก้ยาก จงรู้สึกสนุกไปกับมัน
3. วันที่มั่นใจที่สุด คือวันที่อันตรายที่สุด
4. ไม่มีใครอยู่บนจุดสูงสุดได้ตลอด เมื่อไรที่คุณอยู่จุดนั้น นั่นคือช่วงเวลาที่ต้องเตรียมใจ
5. จงโฟกัสกับสิ่งที่ทำให้มากพอ
หาก VT Thai ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างงานหัตถกรรมไทยและคนที่เห็นคุณค่า คิง เพาเวอร์ น่าจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง VT Thai ไปสู่สายตาชาวโลกเช่นกัน คุณวัธ เล่าว่า คิง เพาเวอร์ เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ให้แบรนด์ได้มีพื้นที่แสดงตัวตน โดยเริ่มจากชวนไปออกบูทที่ คิง เพาเวอร์ รางน้ำ นำคนจากชุมชนเจ้าของฝีมือบนผลงาน มาโชว์การเพนต์กระเป๋าได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติอย่างมาก นับเป็น พลังคนไทย พลังแห่งความเป็นไปได้ อย่างแท้จริง หลังจากนั้นก็ได้รับโอกาสให้นำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายใน คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี
“คิง เพาเวอร์ ไม่ได้มอบแค่พื้นที่จำหน่ายสินค้า แต่ผมมองมันเป็นโอกาสเพราะเราได้ส่งออกไปยังประเทศเกาหลี เพราะเขาเห็นสินค้าของเราจาก คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี เลยติดต่อเข้ามา นอกจากนั้นยังคอยให้คำแนะนำเสมอว่า กลุ่มลูกค้าที่มาเป็นใคร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มองหาสินค้าในเรตราคาเท่าไร ทำให้แบรนด์สามารถพัฒนาดีไซน์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายทั้งคนไทยและชาวต่างชาติมากขึ้น ผมว่านี่คือการซัปพอร์ตงานฝีมือคนไทยผ่านการช่วงผลักดันแบรนด์ไทยให้เติบโต”
แพสชันอย่างเดียวไม่พอ…อยากไปต่อต้อง ‘ทุ่มสุดตัว’
ไม่มีข้อกังขาในใจสำหรับเขาเมื่อพูดถึงฝีมือคนไทย แต่คุณวัธบอกว่า เรื่องที่ไทยเสียเปรียบและเป็นกำแพงให้สินค้าชุมชนไปไม่ถึงต่างแดน คือภาษาและการตลาด “การทำตลาดในแต่ละประเทศก็มีข้อบังคับและกฎระเบียบการค้าต่างกัน VT Thai จึงทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการบริหารจัดการสินค้า แล้วให้ชุมชนโฟกัสในงานของเขาก็น่าจะเป็นโอกาสให้กับเมืองไทย”
ช่วงเริ่มต้น คุณวัธลงพื้นที่ชุมชนทั่วไทยกว่า 200 แห่ง เพราะต้องการรู้ว่าแต่ละชุมชนมีปัญหาอะไร ทำไมบางชุมชนเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ บางชุมชนทำงานสเกลใหญ่ไม่ได้ “ผมเลือกชุมชนที่อาจจะยังไม่ค่อยมีใครเข้าไปทำงานกับเขามากนัก แต่ผู้นำชุมชนอยากเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่างานต้องดี มีเอกลักษณ์”
เขาบอกเสมอว่า แพสชันอย่างเดียวไม่พอ ยิ่งพอเป็นธุรกิจสเกลใหญ่ที่ต้องทำงานร่วมกับคนจำนวนมากและมีเป้าหมายอยู่ที่ตลาดต่างประเทศ ถ้าอยากสำเร็จทุ่มสุดตัวก็ไม่พอ ต้องทุ่มสุดใจ
“วิธีทำธุรกิจของเรา คือการวางเป้าหมายเพื่อวางกลยุทธ์ ในปีแรก เราต้องการพิสูจน์ว่างานจักสาน งานฝีมือของชุมชนขึ้นห้างได้ด้วยราคาเทียบเท่าแบรนด์ต่างประเทศ สุดท้ายแล้วคำว่าสินค้าขายตัวมันเองคือเรื่องจริง เราสามารถนำสินค้าเข้าไปขายในรีเทลใหญ่ได้ คนยอมจ่ายเพราะเขาเห็นถึงคุณค่า ดาราและเซเลบ ต่างประเทศซื้อไปใช้และโพสต์โพรโมตเอง เราถือเป็นแบรนด์แรกๆ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสินค้าไทยได้จริง”
“ปีที่สอง เราโฟกัสตลาดขายส่ง เพราะต้องการพิสูจน์ว่างานคราฟต์ของไทยขายส่งไปยังตลาดต่างประเทศได้จริง ไม่ใช่แค่ของฝากหรือซื้อเป็นที่ระลึก มันอยู่ที่การปรับดีไซน์และการทำตลาด เรามีลูกค้าจากหลายประเทศที่พิสูจน์ว่ามีตลาดรองรับอยู่ เข้าปีที่สาม เป็นปีที่เราพัฒนาแพลตฟอร์มจริงจัง เพื่อให้ชุมชนและหลังบ้านของเราทำงานร่วมกันได้ พอเริ่มอยู่ตัวเราก็หันกลับมาสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งขึ้นด้วยการจับมือกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ว่า หากต้องการต่อยอดสินค้าชุมชนกลยุทธ์ต้องทำอย่างไร”
คุณวัธบอกว่า VT Thai ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 7 และกำลังอยู่ในช่วงส่งไม้ต่อให้กับพาร์ตเนอร์ โดยที่เขาจะรับหน้าที่เป็นโค้ชอยู่เบื้องหลัง เหตุผลที่ต้องวางมือจาก VT Thai เพราะยังมีอีก “แพสชัน” ที่ต้องทำให้สำเร็จ
Suggestion
จากจุดเปลี่ยนสู่จุดเริ่มต้น
“สุดท้ายก็ต้องเลือกกลับมาโฟกัสธุรกิจที่บ้านก่อน” แม้ว่า VT Thai กำลังไปได้สวยในเส้นทางที่เขาสร้างไว้ แต่ช่วงวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจครอบครัวเจอศึกหนัก และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาต้องหันกลับมาจริงจังกับการสานต่อธุรกิจครอบครัว
“มีคำถามหนึ่งที่ผุดขึ้นมาว่า เป้าหมายชีวิตของผมคืออะไร คำตอบคือ อยากดูแลครอบครัวให้ดีเหมือนที่ครอบครัวดูแลเรามา ด้วยการทำให้เขาภูมิใจว่า ธุรกิจที่เขาสร้างยังคงเติบโตได้ต่อและเติบโตได้อย่างดี อย่างตอนที่ไปช่วยดูแล Super Cat เพราะเราอยากให้ธุรกิจปรับตัวก่อนที่จะล่มสลาย อยากพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าทุกธุรกิจปรับตัวได้เสมอ”
ปัจจุบันเขานั่งแท่นกรรมการผู้จัดการ SC GRAND พร้อมกับปั้น CIRCULAR แบรนด์เสื้อผ้าที่ผลิตจากเสื้อผ้าเก่าและเศษผ้าเหลือทิ้งที่นำไปคัดแยกสี ปั่นเป็นด้าย ทอเป็นผืน แล้วจึงนำมาเย็บเป็นเสื้อยืด กางเกง เดรส ถุงเท้า และรองเท้า โดยไม่ใช้ฝ้ายปลูกใหม่และปราศจากการฟอกย้อมด้วยสารเคมี
“ธุรกิจเดิมของเราเริ่มตั้งแต่รุ่นคุณตาเมื่อปี พ.ศ. 2508 ทำธุรกิจรับซื้อเศษด้าย เศษผ้า เศษฝ้าย จากโรงงานแล้วมัดเป็นก้อนส่งขายต่างประเทศให้กับลูกค้าโรงงานรีไซเคิล มารุ่นคุณพ่อ (รุ่นสอง) พอเห็นว่าต่างประเทศนำเศษผ้ามัดก้อนเหล่านี้มาทำเป็นเส้นด้ายใหม่ได้ ก็เลยเปิดโรงงานปั่นด้าย ซึ่งด้ายเหล่านี้สามารถนำไปทำเป็นไม้ถูพื้น โรงงานผลิตสายสิญจน์ ไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์”
“ช่วงโควิด-19 เราเจอปัญหาที่ค่อนข้างหนักในครอบครัว ประกอบกับเป็นช่วงขาลงของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ผมจึงตัดสินใจเข้ามาดูแลธุรกิจเต็มตัว ใช้เวลาศึกษาเทรนด์ มองหาโอกาสทางธุรกิจ และเป็นช่วงที่กระแสโลกร้อนกำลังเป็นที่สนใจ และนั่นก็เป็นจุดแข็งของธุรกิจด้วย จึงเปลี่ยนจากผู้ผลิตและจำหน่ายด้ายรีไซเคิล เป็นผู้เชี่ยวชาญที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมแฟชั่นยั่งยืน”
เล่าสั้นๆ SC GRAND เป็นแบรนด์ที่เปลี่ยนเสื้อผ้าจากขยะอุตสาหกรรมให้กลายเป็นเส้นด้ายที่ไม่ผ่านการฟอกย้อม แต่อาศัยการคัดแยกขยะเศษผ้าทำเป็นด้ายหลากสี แล้วจึงนำด้ายส่งให้ชุมชนทอเป็นผืนและนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้าใหม่
“แบรนด์ CIRCULAR เราร่วมงานกับองค์กรต่างๆ อย่างการบินไทย นำชุดแอร์โฮสเตสเก่าหรือ ยูนิฟอร์มเก่ามารีไซเคิลเป็นผลิตเป็นยูนิฟอร์มใหม่”
มองปัญหาให้เป็นเรื่องสนุก
ทุกธุรกิจที่ทำเจอปัญหาหลายรูปแบบ เขาบอกว่า ต่อให้คุณหลงใหลกับสิ่งที่ทำแค่ไหนก็ไม่ช่วยให้อะไรง่ายขึ้น “ต้องค่อยๆ แก้ไปที่ละเรื่อง และต้องย้อนกลับไปจุดแรกว่าทำไมเราถึงมาทำ ผมไม่ใช่คนเก่ง ทำพลาดมาก็เยอะ ความผิดพลาดที่ชัดเจนที่สุดคือ ไม่โฟกัสกับสิ่งที่ทำนานพอ เห็นโอกาสแล้วกระโดดเข้าใส่ คุณยายพูดเสมอว่า ทำธุรกิจอะไรต้องอยู่กับมัน ผมเพิ่งเข้าใจความหมายของมันจริงๆ ก็ช่วง 2 – 3 ปีนี้เอง ว่าเราสามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตขนาดไหนก็ได้ ที่สำคัญคือต้องอยู่กับมันให้นานพอ อย่าประมาท อย่าใจร้อน ต้องรอบคอบ มันถึงจะไปได้ไกลมากๆ”
ผมโชคดีที่มีคุณยายเป็นต้นแบบการทำงานและการใช้ชีวิต ท่านเป็นเหมือนแม่ทัพในครอบครัว ผมเคยถามท่านว่า ทำธุรกิจมีคู่แข่งเยอะไม่กลัวเหรอ ท่านบอกว่า “กลัวทำไม คู่แข่งเยอะสิดี สนุก” เวลาเจอปัญหาหนักๆ ท่านจะบอกผมเสมอว่า “ถ้าไม่มีปัญหาก็ไม่โต มองให้เป็นเรื่องสนุก”
ผมถอดแบบความใจสู้มาจากคุณยาย สมัยก่อนในวงการจะเรียกท่านว่า “หญิงเหล็ก” ท่านจะสอนให้ผมเป็นนักสู้ ไม่ยอมแพ้ มองไปข้างหน้า ต้องรักครอบครัว รักพี่น้อง มันทำให้ตอนนี้เป้าหมายธุรกิจกับเป้าหมายชีวิตสำหรับผมกลายเป็นเรื่องเดียวกัน และการมีเป้าหมายนี่แหละที่ฉุดให้ผมลุกขึ้นได้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร”
คุณวัธยังบอกว่า ไม่จำเป็นว่าเป้าหมายชีวิตของคุณจะต้องเหมือนใคร หลักคิดง่ายๆ คือ ถามตัวเองว่าจุดประสงค์ของการมีชีวิตอยู่คืออะไร อะไรที่คุณทำแล้วมีความสุข อยากเติบโตเป็นแบบไหนในอนาคต ถ้าตอบคำถามเหล่านี้ได้ คุณจะเจอวิธีเดินทางไปหาความสุขนั้นเอง