Summary
คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย จับมือพันธมิตรส่งเสริมให้นักดนตรีรุ่นใหม่ได้พัฒนาศักยภาพดนตรี เดินหน้าสานโครงการปีที่ 4 THE POWER BAND 2024 SEASON 4 “อยากชนะเป็นศิลปินต้องทำยังไง” กรรมการยืนหนึ่งมาตลอดคือ เป้ – ไพสิฐ คำกลั่น ยอมเปิดเผยให้ฟังแล้วนะ!!! อ่านเรื่องราวชีวิตจากบทความนี้แล้ว จะพบว่า แต่ละ “ก้าว” ที่เขากล่าวถึง…น่าสนใจไม่น้อยเลย
ขอบคุณภาพจากคุณไพสิฐ
“ผมแอบฟังรุ่นพี่สอนเพื่อนเป่าแซกโซโฟน”
เหตุเพราะไปสมัครวงโยธวาทิตช้าไป ตำแหน่งแซกโซโฟนเต็มหมดแล้ว “พอเพื่อนซ้อมเสร็จก็จะไปวิ่งเล่น เตะบอลตามประสา ผมก็แอบหยิบแซกของมันมาฝึกเป่าบ้าง”
เป้ – ไพสิฐ คำกลั่น ในวัยมัธยมต้องทำแบบนั้น เพราะภาพมือแซกโซโฟนช่างเท่โดนใจ ถ้าได้เล่นคงจะพอมีคนหันมาสนใจบ้าง “ตอนประถมไม่มีใครจำเราได้เลย พอมัธยมผมก็อยากเป็น someone บ้าง”
“สิ่งสำคัญ…นักดนตรีต้องสร้างความสุขได้
บางทีไม่ต้องเล่นดี ไม่ต้องเก่ง ไม่ต้องร้องดีมาก
แต่ปลายทางคือ ได้ดูคนนี้แสดงแล้วมีความสุข”
เป้ – ไพสิฐ คำกลั่น
Music Director ค่าย Melodic Corner
ขอบคุณภาพจากคุณไพสิฐ
แอบเรียนแซกโซโฟนทั้งๆ ที่สังกัดตำแหน่งทรอมโบนอยู่หนึ่งเทอมเต็มๆ จนวันหนึ่งเพื่อนมือแซกโซโฟนลาออกจากวง เพราะอยากไปทำอย่างอื่นมากกว่าเป็นนักดนตรี
“ผมรีบถือแซกวิ่งไปเป่าให้อาจารย์ดู” เป้เล่าพร้อมหัวเราะลั่น “อาจารย์ก็…เอ่อ…โอเค…ถ้าเป้เป่าได้ก็ย้ายไปแซกละกัน ผมก็เลยได้เป่าแซกตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา” ประโยคหลังดูภูมิใจไม่น้อย
วีรกรรมสุดเฮี้ยวที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ในวันนั้น ทำให้วันนี้มี ‘Pae Sax’ มี Music Director ของค่าย Melodic Corner และ กรรมการการประกวดดนตรี THE POWER BAND 2024 SEASON 4 ภายใต้คอนเซปต์ “Let The Music Power Your World เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี”
อยากให้มีคนจำได้ ก็เป็นไปได้แล้วจริงๆ เห็นไหม!!
ก้าวข้ามกรอบ
“ผมรู้สึกว่าดนตรีเป็นสิ่งที่ผมไม่ต้องพยายาม”
ประโยคสวยๆ แต่ใช่ว่าเขาจะรู้สึกแบบนี้ตั้งแต่วันแรก เพราะสมัย ป.4 – ป.5 แม่ให้เรียนเปียโน เป้ก็ก้มหน้าก้มตาเล่นไม่ได้เข้าใจทฤษฎีดนตรีอะไรเลย กว่าจะอ่านโน้ตดนตรีได้ก็เป่าแซกโซโฟนไปเกือบ 2 ปี กว่าจะตั้งใจเรียนวิชาทฤษฎีดนตรีจริงจังก็ขึ้น ม.3 ยังดีว่าที่บ้านเป็นครอบครัวที่ชอบร้องเพลงฟังดนตรี แม้ยังไม่รู้ว่ามันจะกลายเป็นอาชีพได้อย่างไรก็ไม่ได้ดับฝันลูก
“เป้…ลองโซโลแซก improvise ดูหน่อยสิ” รุ่นพี่คนหนึ่งเอ่ยพร้อมเล่นเปียโน 12 Bar Blues ให้เป้บรรเลงฝีมือแบบด้นสด “จากถูกวงโยฯ ตีกรอบให้เล่นตามโน้ต วันนั้นเปิดโลกมาก…เฮ้ย!! ดนตรีนี่อิสระขนาดนี้เลยเหรอวะ เราทำอะไรก็ได้นี่นา”
ตั้งแต่ ม.2 ก็เห็นปลายทางว่าอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้านดนตรี ไม่เคยมีวิชาไหนที่ทำให้เขาเปลี่ยนใจได้
ขอบคุณภาพจากคุณไพสิฐ
จากกรรมการทุก SEASON เป้ – ไพสิฐ คำกลั่น
ถึงผู้ประกวด THE POWER BAND
✔ เตรียมตัวมาให้เกินร้อย เพราะขึ้นเวทีจะเหลือร้อยเท่าเดิม
✔ ศิลปินต้องมีฝีมือ เสน่ห์ และความคิดสร้างสรรค์
✔ ไม่ต้องเก่งสุดๆ แต่ต้องสร้างความสุขให้คนฟังได้
✔ อยากเห็นการโซโลเจ๋งๆ จัดมาหน่อย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งแซกโซโฟน)
Suggestion
ก้าวแรกสู่ศิลปิน
ไม่นานนักเป้ก็ได้พบกลุ่มเพื่อนจากการไปเล่นดนตรีตามที่ต่างๆ รวมตัวกันเป็นวง “เริ่มเป็นวง Mild ตอน ม.4 ได้เข้าประกวด Panasonic Star Challenge ปี 2003 สู้จนชนะในปีนั้น ได้เพลงยอดเยี่ยมด้วย” ได้ทำสัญญาเป็นศิลปินฝึกหัดของค่ายดังย่านลาดพร้าว แต่พวกเขาคิดว่ายังไม่พร้อม จึงกลับไปตั้งหลักที่เชียงใหม่ รอให้จบชั้นมัธยม ระหว่างนั้นก็ได้ไปเล่นตามร้านยามค่ำคืนหลายแห่ง
ขอบคุณภาพจากคุณไพสิฐ
“เราได้เล่นที่ Warm up ” แจ้งเกิดในร้านชื่อดังบนถนนนิมมานเหมินท์ “เด็กมหา’ลัยมาเที่ยว แล้วเจอวงเด็กหัวเกรียนอย่างเรา นักร้องนำก็ดู aggressive คนจะมาฟังเพลงร็อก วงเราก็เล่นเพลงป็อปเพลงโซล ก็เลยมีทั้งคนที่ชอบและคนที่ด่า”
กระแสทั้งรักทั้งเกลียดนี้ดันให้วงเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาก็เริ่มเตรียมเพลงที่จะลงในอัลบั้มแรกอย่าง Unloveable อีกนานไหม รักล้นใจ ตั้งแต่อยู่ ม.6 กันเลย
ใช่แล้ว…วง Mild ยังอยู่ในยุคทำเพลงเป็น “อัลบั้ม” อยู่เลย
✔ เตรียมตัวมาให้เกินร้อย
เพราะขึ้นเวทีจะเหลือร้อยเท่าเดิม
ขอบคุณภาพจากคุณไพสิฐ
ก้าวไปไม่เคยหยุด
จบชั้นมัธยม เป้ได้เข้าเรียน Saxophone performance สาขาดนตรีแจ๊ส วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้ออกอัลบั้มวง Mild หลายอัลบั้ม กับค่ายเพลงหลายค่าย คว้ารางวัลใหญ่ๆ หลายรางวัล เช่น ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม Best Band of The Year, Album of The Year, Pop Song of The Year เรียกว่าช่วงประมาณปี พ.ศ. 2550 ยาวมาเป็นสิบปี Mild อยู่แถวหน้าวงการมาตลอด
ได้เป็น someone สมใจ? “เออออ…ผมไม่ได้คิดถึงตรงนั้นอีกเลย พอได้เป่าแซกก็จบความคิดเด็กๆ นั้นไปเลย”
อาจเพราะต้องทำงานหนัก ช่วงที่วงดังมากๆ แทบไม่มีเวลาว่าง “เราไต่ไปถึงจุดที่มีงาน 20 งานต่อเดือน แทบไม่ได้อยู่บ้านซักผ้า ก็เพลงทั้งอัลบั้มมันฮิตหมดเลย” แม้ช่วงนั้นเริ่มนิยมออกเพลงเป็นซิงเกิล แต่ค่ายที่เขาสังกัดก็ยืนยันให้ทำอัลบั้มให้ได้
“ถ้าเป็นตอนนี้มันไม่คุ้มที่จะทำอัลบั้ม ทุกวันนี้คนฟังเพลงใน platform ต่างจากสมัยก่อน เราต้องทำให้เพลงเรามีคนเลือกฟัง ถ้าออกเป็นอัลบั้ม10 เพลง ก็เหมือนปล่อยครั้งเดียวแล้วเขาเลือกแค่ 2 ก็เหมือนเราเสียไป 8 เพลง วงดนตรีที่ยังไม่ดังหรือดังระดับหนึ่งควรทำทีละซิงเกิล ค่อยๆ ปล่อยให้ดังไปทีละเพลง แล้วไปประกอบร่างเป็นอัลบั้มทีหลัง”
ขอบคุณภาพจากคุณไพสิฐ
ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ยุคนี้วงดนตรีน้อยลงและกลายเป็นนักร้องเดี่ยวมากขึ้น “ยุคนี้มันเป็นยุคของไอดอล แต่ต้องเป็นไอดอลที่เก่งนะ ศิลปินหลายคนเก่งในทุกมิติเลย ทั้งร้องดี เล่นดนตรีดี เพอร์ฟอร์เมนซ์ดี หน้าตาดี แสดงดี ใครทำวงดนตรีก็เหนื่อยหน่อย”
ปัจจุบันเป้ต้องทำงานควบตำแหน่ง Music Director ของค่าย Melodic Corner ที่วางตัวตนให้เป็น Pop Jazz ที่มีกลิ่น Soul และ R&B เน้นรายละเอียดดนตรี “เราอยากขับเคลื่อนเพลง Jazz สมัยใหม่ ก็ต้องเข้มงวดเรื่องดนตรีระดับหนึ่งครับ”
แค่ฟังเพลงศิลปินเบอร์แรก “VARITDA” อุ๋ม – วฤตดา ภิรมย์ภักดี ก็น่าจะมองทิศทางออก
✔ ไม่ต้องเก่งสุดๆ
แต่ต้องสร้างความสุขให้คนฟังได้
ก้าวใหญ่ของรุ่นใหม่
“การเป็นนักร้องนักดนตรีฝีมือมันสำคัญ แต่มันไม่ต้อง Top ก็ได้นะ”
ถามคนที่มีหน้าที่มองหาศิลปินที่จะร่วมงานกับค่าย พร้อมรวบคำตอบไปถึงน้องๆ THE POWER BAND เวทีประกวดวงดนตรีสากลคุณภาพระดับประเทศ ที่เป้เป็นหนึ่งในกรรมการคัดเลือก ว่าคุณสมบัติแบบไหนที่จะทำให้ฝันของน้องๆ ‘เป็นไปได้’
ภาพจาก THE POWER BAND Music Camp
“บางคนพยายามทำเหนือกว่าที่ตนเองทำได้ บางคนเก่งมากแต่ไม่พยายามเอาออกมาก็ไม่ดีทั้งคู่ นักดนตรีบนเวทีต้องครบทุกมิติ ผมว่าคนที่เก่งที่สุดคือ คนที่สามารถ balance ทุกอย่างได้เป็นธรรมชาติ บางที…เขาเล่นแค่โน้ตเดียวแล้วมองหน้าคนดู ส่งสายตา…แต่โคตรโดนเลย”
อ้าว หน้าตาดีก็มีผลน่ะสิ “มีผล 100% ครับ มันคือ charisma แต่ต้องประกอบกับอย่างอื่นด้วย ว่ามันสร้างให้เรามีความสุขและอยากฟังไหม ปลายทางของนักดนตรีต้องสร้างความสุขได้ บางทีไม่ต้องเล่นดี ไม่ต้องเต้นเก่ง ไม่ต้องร้องดีมาก แต่ได้ดูคนนี้แสดงแล้วมีความสุข”
นี่กำลังติวข้อสอบคัดเลือกเข้าเป็นศิลปินใช่ไหมนะ
✔ อยากเห็นการโซโลเจ๋งๆ จัดมาหน่อย
(โดยเฉพาะอย่างยิ่งแซกโซโฟน)
Suggestion
ก้าวสู่มืออาชีพ
โอกาสดีของวงที่ชนะการแข่งขัน THE POWER BAND คือจะได้ทำเพลงและ MV ออกมาจริงๆ เป้ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็น Executive Producer เข้าไปช่วยปั้นเพลงของน้องๆ ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีนี้ให้เป็นรูปเป็นร่าง
ขอบคุณภาพจากคุณไพสิฐ
“เริ่มจาก Jazz Passion ผู้ชนะ SEASON 2 วงนี้มีนักเรียนแจ๊สทั้งมหิดลและศิลปากรด้วยเก่งทุกคน แต่ต้องตีกรอบใหม่ ให้เขาเข้าใจมิติของการทำงานแบบ Music Industry เพลงจะแจ๊สจ๋าไม่ได้ มันต้องออกมาแนว Pop Jazz เพื่อให้ขายได้ด้วย ตอนประกวดโชว์ฝีมือเต็มที่ แต่พอทำงานจริงต้องปรับให้ลงตัว ที่เคยโซโลเยอะๆ ก็ปรับให้พอดีกับการฟัง ให้พี่ติ๊ก – กฤษติกร พรสาธิต(วง Playground กรรมการอีกท่าน) มาเกลาเนื้อเพลงให้ แต่น้องต้องเล่นเพื่ออัดเพลงเองแบบศิลปินจริงๆ”
เพลง “คืนสุดท้าย” (Last Time) ของ Jazz Passion จึงออกมากลมกล่อมลงตัว คลิกอ่านเรื่องการทำ MV ของวงได้ที่ (Link Web)
ล่าสุดจาก SEASON 3 วงหน้าโรงเรียน ก็ได้ร่วมงานกับเขาอีกวง “นักร้องสองคนร้องเพลงดีมาก แต่ก็ยังรู้สึกว่าเป็นเพลงประกวดอยู่” ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน เพลงที่ฟังไพเราะกับเพลงที่ขึ้นเวทีประกวดมันแตกต่างกัน ต้องปรับให้ฟังง่ายขึ้น
ขอบคุณภาพจากคุณไพสิฐ
“ถ้าเป็นอาหารก็อร่อยดี แต่ยังขาดมิติบางอย่างที่จะทำให้อาหารจานนี้มันอร่อยยยยจังเลยยย”
เขาให้วงลองปรับเพลงจาก Funky มาใส่ความเป็น City Pop คล้ายๆ เพลงญี่ปุ่นที่ใช้เสียงสังเคราะห์ “เขาไม่รู้ตัวว่ามาทาง City Pop พอปรับไลน์เบสและส่วนต่างๆ ของเพลง mood มันเปลี่ยนไปเลย ออกมาเพราะมากและน่ารักดี”
เพลง “Miss You” ของ หน้าโรงเรียน อร่อยขึ้นทันตา คลิกอ่านเรื่องการทำ MV ของวงได้ที่ (Link Web)
✔ ศิลปินต้องมีฝีมือ เสน่ห์
และความคิดสร้างสรรค์
ก้าว…วันนี้
ถ้าย้อนตัวเขาในสมัยมัธยมมาอยู่ตอนนี้…จะทำอะไร?!?
“ผมจะทำเพลงอย่างเดียวไม่คิดอะไร จะตั้งหน้าตั้งตาทำเพลงซ้อมดนตรี เก็บชั่วโมงการ practice ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้” แปลกนะ เวลามองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกว่า ทำไมสมัยเด็กๆ ถึงมีเวลาเหลือให้ทำตามฝันมากกว่าตอนโต แต่เมื่อตอนที่อายุยังน้อยกลับไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย
“จะไม่ตั้งคำถามอะไรมากมาย จะเก็บประจุบวกให้มากที่สุด แล้วก็เล่นดนตรี”
นี่ก็กำลังติววิชาศิลปิน…ใช่ไหมนะ
ภาพจาก THE POWER BAND Music Camp