Summary
พวกเขาคือ “ไฟต์เตอร์” ตัวจริง…รู้จักวง Heritage (อ่านว่า “เฮริเทจ”) จากโรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา อยู่ตีนดอยอ่างขาง ผ่านทางคดเคี้ยวข้ามเขามาตัวเมืองเชียงใหม่ไกลกว่าร้อยโล เข้าประกวดเวทีนี้ 3 ปีซ้อน ผิดหวังแต่ไม่หมดหวัง…ในที่สุดปีนี้พวกเขาผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้แล้ว
ชื่อวงมาจากลายสกรีนเสื้อยืดของเพื่อนสมาชิกในวง วง Heritage มา THE POWER BAND ครั้งแรก ซีซันที่ 2 เป็นวงคอมโบมี 11 คน…ซีซันที่ 3 ประกวดแบบไม่มีเครื่องเป่า มาผ่านรอบโซนนิ่งครั้งแรกในซีซันที่ 4 ด้วยสมาชิกนักดนตรีเดิมกับนักร้องน้องใหม่
ความน่ารักสดใสของวง สะกดผู้ชม THE POWER BAND 2024 SEASON 4 “เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี” เวทีประกวดวงดนตรีสากลคุณภาพระดับประเทศ จัดโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในธีม “Let The Music Power Your World เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี” ในรอบโซนนิ่งสนามเชียงใหม่เจ้า ให้ได้อมยิ้มไปตามๆ กัน ด้วยบทเพลงสนุกสนาน จนได้รับคำชมจากคณะกรรมการ และยังเป็นวงหนึ่งที่มีเสียงเชียร์ดังที่สุด อยากชวนทุกคนมาค้นดู “หลังบ้าน” ของวงสองแรงซัปพอร์ตสำคัญ คือ ครูต้นอ้อ – จุฑามาศ จันทร์ทา และ ครูเจน – ว่าที่ร้อยตรีหญิง บุษกร ยงบรรทม ผู้ผลักดันให้ Heritage คว้าตั๋วเข้าไปรอที่รอบชิงชนะเลิศ ในรุ่นมัธยมศึกษา (High School Class)
จิ๊กซอว์ที่ตามหา
บทสนทนานี้เริ่มต้นด้วยเสียงหัวเราะ ของสองเพื่อนซี้ที่มีความต่าง แต่รวมตัวกันแบบไม่บังเอิญ ครูต้นอ้อเป็นครูประจำวิชาดนตรี ดูแลวงโยธวาทิตและวงสตริงคอมโบ ส่วนครูเจนเป็นครูประจำวิชานาฏศิลป์ ! ใช่ค่ะ ดนตรีสากลกับนาฏศิลป์ อะไรก็เป็นไปได้ในวง Heritage
ครูต้นอ้อเล่าว่า เกิดจากที่ตัวเองสื่ออารมณ์ไม่เก่ง อธิบายด้วยศัพท์ทางดนตรีแล้วเด็กๆ ไม่เข้าใจ แต่ครูเจนสอนการแสดง ทำละครสั้น หนังสั้นอยู่แล้ว “คนนี้แหละช่วยฉันได้… เขาเป็นจิ๊กซอว์ที่มาเติมเต็มให้ครูอ้อ กลายเป็นวงกลมที่สวยงาม” หน้าที่ดูแล performance จึงตกเป็นของครูเจนนับแต่นั้น รวมไปถึงการสื่ออารมณ์ การใช้สายตา คำพูด น้ำเสียง และสำเนียงไทยกลางก็เช่นกัน เนื่องจากเด็กๆ ไม่ค่อยเข้าใจอารมณ์เพลง อาจเป็นเพราะประสบการณ์ยังน้อย ครูเจนต้องช่วยอธิบาย ตีความหมายตามคำร้องก่อน แล้วให้เขาจินตนาการในหัวว่าโลกตอนนี้คือเรื่องราวเดียวกับเนื้อหาเพลง
“เวที THE POWER BAND เป็นเวทีที่ให้โอกาสดีมากๆ และกระจายโอกาสได้ทั่วเลย
เหมือนโปรยลงมาจากเครื่องบิน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะออกมารับโอกาสนั้นได้
ต้องพยายาม ต้องซ้อมหนัก และต้องมีความเป็นศิลปิน”
ครูต้นอ้อ – จุฑามาศ จันทร์ทา
ครูประจำวิชาดนตรี โรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา
ผู้คุมวง Heritage
เคล็ดลับผลักดันศิษย์สู่ความสำเร็จ
ของ ครูต้นอ้อและครูเจน ผู้คุมวง Heritage
• เมื่อเขาคิดและเสนอความคิดนั้นมา เราทำหน้าที่รับฟัง
แล้วช่วยผลักดันพร้อมสนับสนุนเต็มที่
• เปิดโอกาสให้เด็กได้พูด ได้ลอง ได้เลือก
และได้พลาดในสิ่งที่เขาเลือก
• สอนด้วยสถานการณ์ ถ้าล้มต้องลุกได้เอง
เมื่อเขาคิดและเสนอความคิดนั้นมา เราทำหน้าที่รับฟัง
แล้วช่วยผลักดันพร้อมสนับสนุนเต็มที่
• เปิดโอกาสให้เด็กได้พูด ได้ลอง ได้เลือก
และได้พลาดในสิ่งที่เขาเลือก
• สอนด้วยสถานการณ์ ถ้าล้มต้องลุกได้เอง
“บนเวทีพวกเธอไม่ใช่ผู้แข่งขัน เธอคือศิลปิน และนี่คือเพลงของเธอ
เมื่อเขาประกาศชื่อ Heritage ทุกคนต้องเป็นศิลปิน
ข้างหน้าไม่ใช่คณะกรรมการ เขาคือคนดูของเธอ”
ครูเจน – ว่าที่ร้อยตรีหญิงบุษกร ยงบรรทม
ครูประจำวิชานาฏศิลป์ โรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา
ผู้คุมวง Heritage
เส้นทางสายดนตรีของครูต้นอ้อเริ่มในวัยมัธยม ครูต้นอ้อเป็นเด็กล่าฝัน รับหน้าที่เล่นคีย์บอร์ดประจำวง ครูที่โรงเรียนพาวงตระเวนประกวด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจากโรงเรียนไม่มีงบสนับสนุน อีกทั้งเวทีการประกวดแบบ THE POWER BAND (ในเวลานั้น) ก็มีน้อยมาก และจัดที่กรุงเทพฯ ไม่มีการส่งคลิปแบบสมัยนี้
“รู้สึกอยากแก้ปมตรงนี้ของตัวเอง อยากพาเด็กๆ ไปให้ไกลที่สุด อยากให้รู้ว่าเด็กบนดอยก็เก่งนะ” ครูต้นอ้อเลือกเรียนต่อด้านดนตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เคยอยู่วงซิมโฟนิกของมหาวิทยาลัย ครอบครัวไม่ได้สนับสนุนแต่ก็ยอมรับด้วยเหตุผลที่ว่า “ขอเรียนดนตรีเพราะชอบ รู้สึกว่าเราน่าจะอยู่กับมันได้ตลอดชีวิต ขอเลือกอยู่กับสิ่งที่เรารักดีกว่าค่ะ”
ส่วนครูเจน สาวเชียงใหม่ที่ไปเติบโตที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ยังเด็ก เรียนจบด้านนาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ประสบการณ์ด้านดนตรีสากลแทบไม่มี เพราะค้นพบว่าตัวเองใช้ร่างกายเก่งกว่า ขอรำอย่างเดียว “ต้องรำโชว์ไหมคะ” คนในวงสนทนาถึงกับต้องรีบห้าม…ขอพักไว้ก่อนหลังคุย
ครูต้นอ้อ – ครูเจน
สองครูผู้คุมวง Heritage โรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา เชียงใหม่
“ครูต้นอ้อ เฮริเทจ”
“ครูเจน เฮริเทจ”
ผลงานไม่เกินเป้า เพราะไม่ได้ตั้งเป้าไว้แต่แรก
“ตกใจมาก” ครูต้นอ้อพูดถึงความรู้สึกหลังเพลงของ Heritage จบลง “ขออนุญาตใช้คำไม่สุภาพว่า โคตรดี สุดยอดมาก แม้จะมาดูรายละเอียดแบบจับผิด เขาไม่ได้เล่นถูก 100% หรอก แต่เรารู้สึกว่าเขาเป็นศิลปินตัวน้อยของเราแล้ว ภูมิใจในตัวพวกเขามากๆ” ส่วนครูเจนน้ำตายังรื้นอยู่ “ตอนแรกเป็นกังวล แต่พอเล่นจนปุ๊บ โห…จะร้องไห้ค่ะ”
ครูต้นอ้อบอกว่า ขอแค่ให้เด็กๆ รักษามาตรฐานเหมือนตอนซ้อมก็พอ เพราะเขามักจะกดดันตัวเองว่าต้องเล่นให้ถูกอย่างเดียว จนลืมไปว่าต้องมีอารมณ์ร่วมกับเพลงด้วย “อยากให้เขาเล่นดนตรีอย่างมีความสุข เราถึงจะแจกสุขให้คนอื่นได้ ซึ่งวันนี้เราได้เห็นแล้วว่าเขาเป็นซานตาคลอสที่ดี เขาแจกของขวัญซึ่งคือความสุขให้กับผู้ฟังได้รับรู้”
ครูต้นอ้อเล่าว่า ส่งวงเข้าประกวด THE POWER BAND ตั้งแต่ซีซัน 2 แต่มาจบที่สนามเชียงใหม่ตลอด…ยังไม่ได้ไปต่อ ปัญหาช่วงแรกอยู่ที่ intonation ของเครื่องดนตรี พอพี่ๆ รุ่นแรกจบก็เอาส่วนเครื่องเป่าออก ปีต่อมาสกิลเด็กๆ ยังพัฒนาไม่พอ ทำให้ไม่ได้ไปต่อ “ครูอ้อคุยกับเด็กๆ ว่า เราส่งประกวดมา 2 ปีไม่ผ่านสักที ปีนี้เราจะส่งอยู่ไหม เด็กๆ บอกว่าจะส่ง ถ้ายังไม่ผ่านอีก ก็จะส่งอีก เขาสู้กันมากจริงๆ… การมาประกวดทุกครั้ง เราทุกคนเก่งขึ้นค่ะ รอบนี้เราอาจไม่เก่งเรื่องนี้ แต่รอบหน้าเราจะเก่งเรื่องนี้ขึ้นแน่นอน… เราทำการบ้านหนักมาก ทุกครั้งที่มาประกวดจะนำคอมเมนต์ของกรรมการไปปรับปรุงเสมอ และรอฟังว่าเขาจะพูดถึงเรื่องที่เราปรับมาไหม ซึ่งปีนี้ก็ได้คำชมตามที่อยากได้ยิน ดีใจมากค่ะ”
ครูต้นอ้อเล่าถึง performance บนเวทีว่า ครูแค่บรีฟกรอบการสื่ออารมณ์เป็นหัวข้อหลักๆ ในรายละเอียดเด็กๆ ดีไซน์กันเอง ครูเจนเสริมว่า ขอแค่ดึงความเป็นตัวเองออกมาให้มากที่สุด ไม่ต้องเก๊กหล่อเก๊กสวย ปล่อยร่างกายให้สนุก เป็นไปตามธรรมชาติแล้วมันจะดูดีเอง
ในขณะที่ตำแหน่งคอรัสของวงได้รับคำชมจากคณะกรรมการอย่างอาจารย์แป๊ปและพี่ติ๊ก “จริงๆ เขาอยากเป็นนักร้องแต่เนื้อเสียงเขาไม่ได้ เมื่อก่อนร้องผิดคีย์ แต่เขาพยายามมาก เราเห็นความพยายามของเขาในการที่อยากมาอยู่ในวง ให้ทำอะไรก็ได้ ครูอ้อเลยให้โอกาส ให้ลองเพอร์คัชชันแล้วไปร้องคอรัส ครูอ้อไม่ได้สอนแต่เราจะร้องให้เขาได้ยิน เขาเริ่มไปจับทางเอง เริ่มร้องเป็น หลังๆ ขับรถไปส่งเด็กๆ กลับบ้านก็ร้องคอรัสกันทั้งรถ ทำแบบนี้จนเขาทำได้ อย่างรอบนี้เรื่องคอรัส ครูอ้อแทบไม่ได้ยุ่งกับเขาเลย เขานำความรู้จากปีก่อนๆ มาใช้จัดการตัวเองได้ เราเลยหายห่วง”
Suggestion
นักดนตรีที่ดี
ในความคิดของครูต้นอ้อ – ครูเจน
• รักดนตรี อดทน ขยัน มีวินัย รอบคอบ มีสติ – คนเก่งเราไม่กลัว กลัวคนไม่ขยัน
• มีน้ำใจ มีสัมมาคารวะ อ้อนน้อมถ่อมตน
บาลานซ์ชีวิต ทั้งเรื่องดนตรี การเรียน และครอบครัว – ดนตรีไม่ได้ทำให้ใครแย่ มันอยู่ที่เราต้องรู้จักแบ่งเวลา
ภาพจากวง Heritage
วงนี้…บ้านหลังที่ 2
นอกเหนือจากหน้าที่ความรับผิดชอบแห่งการเป็นครูประจำในแต่ละวันแล้ว ยังต้องดูแลสมาชิกวง Heritage หลังเลิกเรียนซึ่งเป็นช่วงเวลาการซ้อมดนตรีจนถึงมืดค่ำแล้วพาไปส่งที่บ้าน ถ้าซ้อมจนเบลอ ครูจะพาเปลี่ยนบรรยากาศไปออกกำลังกาย เล่นเกม ถึงเวลาอาหารครูก็ผันตัวเองไปเป็นแม่ครัว วันหยุดพาไปเที่ยวบ่อน้ำพุร้อน แช่น้ำ เล่นน้ำตกบ้าง ที่ทำมาทั้งหมดนี้เพื่อ “อยากให้เขาสบายใจที่ได้อยู่ตรงนี้”
ขอ 1 คำ ถึง สองครู
ผู้เอ็นดูสมาชิกวง Heritage
• ปริ้นซ์ (นักร้องนำ): สดใส
• มานา (เบส): พี่ใหญ่
• แชมเปญ (คีย์บอร์ด): เรื้อน (ป่วน)
• ชาร์ม (กลอง): จับแมลงสาบด้วยมือเปล่า
• เต็ม (เพอร์คัชชัน / คอรัส): บ้าพลัง
• กรรณ (กีตาร์): มุกตัดบทช็อตฟิล
• โต้ (คีย์บอร์ด): ตลกพยายาม
ครูต้นอ้อเล่าย้อนไปในวันที่พยายามให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วมในการทำเพลง เริ่มจากเลือกมา 10 เพลง แล้วค่อยๆ คัดออกจนสุดท้าย ครูต้นอ้อจะเลือกให้เหมาะสมกับนักร้อง นักดนตรี ความยากง่ายต่อการตีความ คอร์ด และสัดส่วนตัวโน้ต ครูทำงาน 50% ที่เหลือเป็นหน้าที่ของเด็กและรุ่นพี่ช่วยกัน เราให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของทุกคนที่เกี่ยวกับการเล่นดนตรี ถ้ามันเป็นทิศทางเดียวกัน สามารถทำได้ ครูก็พร้อมจะสนับสนุน
“เพลงเข้าข้างตัวเอง (อีกแล้ว) วง ETC. เขาทำไว้ดีมากจนเราไม่ค่อยกล้าจะอะเรนจ์ แต่เด็กๆ ชอบวงนี้มาก เป็นไอดอลของเขา เรียกว่าคลั่งขั้นสุดเลย ตอนนั้นมีคอนเสิร์ต ETC. ที่แม่อาย เราพาเขาไปดู เด็กๆ เกาะหน้าเวที ร้องได้ทุกเพลง จนพี่ๆ ETC. แจกซีดีให้ทุกคน”
“ครูอ้อเป็นคนชอบฟังเพลงค่ะ ชอบเพลงป็อป ป็อปโมเดิร์น ป็อปผสมโซล เพราะโตมากับเพลงป็อปยุค 90 ยุค 2000 ชอบศิลปินหลายคน หนึ่งในนั้นก็มี ETC. ด้วย” คลิกอ่านเรื่องวง ETC. ที่มิวสิกแคมป์
“ครูเจนไม่ค่อยชอบฟังเพลงค่ะ ถ้ามีเวลาจะฟังพวกคดีฆาตรกรรม” แน่นอนว่าช็อตฟิลแล้วหนึ่ง “ใครเปิดอะไรก็ฟังค่ะ จนบางครั้งไม่รู้ตัวว่ารู้จักเพลงพวกนี้ได้ยังไง แถมร้องได้ด้วย” ตรงนี้ครูต้นอ้อเสริมว่าน่าจะได้สกิลเพลงมาจาก TikTok “พอมาอยู่กับเด็กๆ กับครูอ้อก็ฟัง ETC. ทุกวันนี้ฟังเพลงด้วยกันและดูรายการ “ETC. ชวนมาแจม” ชอบที่เขาเอาเพลงนั้นเพลงนี้มาทำใหม่ แปลกไปจากต้นฉบับที่เราเคยได้ยิน เป็นเพลงฟังสบายๆ พอ EP. ใหม่มาเด็กๆ จะส่งมาเตือนให้เข้าไปดู”
ล่าสุดครูและลูกศิษย์กลุ่มนี้พากันไปดูคอนเสิร์ตลำไยไหทองคำ เพราะอยากไปดูการทำงาน ระบบจัดการ และ performance แม้จะคนละแนวเพลงกับที่ชอบ แต่การเปิดกว้างในการฟังเพลงจะทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆ มาปรับใช้กับวงได้
“ดนตรีสำหรับครูอ้อ ณ ตอนนี้คือครอบครัวค่ะ” อยู่ด้วยกันแล้วอุ่นใจ มีดนตรีเป็นตัวเชื่อมให้คนที่แตกต่างกันอยู่ด้วยกันได้ เด็กแต่ละคนคือคนละสีที่ต่างกัน เหมือนจานสีที่สุดท้ายแล้วต่างมารวมกันอยู่ตรงกลาง โดยมีดนตรีเป็นพู่กันมาแต้ม มาคนให้เข้ากัน “เด็กทุกคนจะปรับสีให้เข้าใกล้กับเพื่อนให้มากที่สุดเพื่อที่เราจะอยู่ด้วยกันและเล่นดนตรีด้วยกันอย่างมีความสุข”
ดนตรีสำหรับครูเจนเป็นสิ่งที่ดึงศักยภาพของเด็กออกมาและเป็นสิ่งช่วยเยียวยาจิตใจ “ทุกคนฟังดนตรีเหมือนเป็นของทั่วไป แต่มันเป็นของที่ขาดไม่ได้เหมือนอากาศ ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยดนตรี”
เป็นได้สุด เป็นไปได้ ด้วยพลังแห่งดนตรี
• ครูต้นอ้อ: ถ้าไม่ได้เป็นครูดนตรีในวันนั้น คงไม่มีการประกวดในวันนี้
คือที่สุดแล้ว และรู้สึกว่ายังไปได้สุดกว่านี้อีก
• ครูเจน: พลังดนตรีที่พาครูนาฏศิลป์มาอยู่ในวงดนตรีสากล
นี่คือสิ่งที่แตกต่าง แต่ไม่ได้แปลว่าเข้ากันไม่ได้
ดนตรีพาเราไปได้ทุกที่
ทะเลคือหนึ่งในแรงบันดาลใจในการมาประกวดของเหล่าสมาชิกวง Heritage ครูต้นอ้อบอกว่าเด็กหลายคนไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยว แต่พวกเขาสามารถไปได้ด้วยดนตรี ไปแข่งประกวด ไปรับรางวัล ให้ดนตรีนำพาไปในที่ต่างๆ
ครูต้นอ้อบอกว่า เรายังพากองเชียร์มาด้วยได้เพราะดนตรี ซึ่งทีมกองเชียร์ไม่ใช่ใครอื่น คือสมาชิกวงรุ่นน้องที่ไม่ผ่านรอบ ออดิชันนั่นเอง ทั้งนี้เพราะผู้บริหารในโรงเรียนเห็นความสำคัญ พร้อมเป็นแรงสนับสนุนให้เด็กๆ สานฝันไปได้ไกล “เราอยู่ห่างไกลความเจริญก็จริง แต่ดนตรีก็ยังเข้าถึงได้ ไม่ต้องมีเงินร่ำรวยก็สามารถเล่นดนตรีให้เก่งได้ อยากให้เด็กๆ ภูมิใจที่ตัวเองอยู่ตรงนั้น”
THE POWER BAND 2024 SEASON 4 THE SERIES EP.5 ‘Heritage – The PicLic Band’ เจอแล้วไฟต์เตอร์ตัวจริง!!