Product

‘วิตตา’ รวมความประณีตคนไทย
บนงานฝีมือสไตล์วินเทจ

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 18 Oct 2024
Views: 616

Summary

หลายคนอาจจะเคยผ่านตางานฝีมือสไตล์วินเทจที่เป็นที่จดจำได้ ตั้งแต่เข็มกลัดบนหมวก เสื้อ พวงกุญแจ กระเป๋า หรือแม้กระทั่งตุ๊กตาที่ร้านกาแฟ เพียงแต่ไม่รู้มาก่อนว่านั่นเป็น “งานทำมือ” ที่รวมเอาการตัดเย็บผ้าและการถักโครเชต์ของวิตตา เพราะแบรนด์นี้มีสินค้ามากกว่า 10 ชนิด และแต่ละชนิดยังมีเฉดโทนสีที่ไล่กันไปอย่างละไม่กี่ชิ้นเพื่อคงคอนเซ็ปต์ความเป็นงานแฮนด์เมดที่มีชิ้นเดียวได้ดี

สวิตตา พูลรักษาคือเจ้าของแบรนด์ที่เริ่มต้นมางานนี้มา14 ปีแล้ว โดยจุดเริ่มต้นของแบรนด์มาจากที่เธอไปซื้อของสำเพ็งแบบขายส่งมาขายตามท้องตลาด แต่เจอสงครามราคาที่แย่งตัดหน้าลดราคากัน ไหนยังจะมีสินค้าทะลักมาจากจีนอีก เธอมาได้ไอเดียตั้งต้นทำผลงานเช่นปัจจุบันจากการเห็นเพื่อนของเธอที่ขายของไม่เหมือนใครและทำราคาขายส่งได้ ท้ายสุดเธอจึงได้คำตอบว่า การผลิตสินค้าเองทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้และตั้งราคาขายได้ไม่เหมือนใครอีกด้วย

 

ความกล้า ดันให้เกิด Vitta

เมื่อเจอปัญหาและรู้ว่าตัวเองรักในการเย็บถักทอเป็นทุนเดิม เพียงแค่อาศัยความกล้าจะเรียนรู้และลงมือทำ จึงทำให้เริ่มศึกษาต้นทุนทุกอย่างในสิ่งประดิษฐ์ต่อชิ้น เช่น ไหมพรม ผ้า…เป็นต้น ว่าวัตถุดิบสำหรับแต่ละชิ้นงานสามารถผลิตผลงานออกมาได้ทั้งหมดกี่ชิ้น พอบวกค่าแรงแล้วขายได้ในราคาเท่าไร ถึงอย่างไรก็จะมีต้นทุนที่ถูกกว่าไปซื้อเขามาขายต่อแน่นอน นอกจากนั้นยังสามารถกำหนดราคาขายสินค้าเองได้ด้วย เพราะสามารถแชร์ต้นทุนไปตามชิ้นงานได้ แถมสินค้าที่ออกมาก็ไม่ซ้ำแบบใครตลาด อีกทั้งขายงานที่ผลิตออกมาเป็นส่วนประกอบแต่ละชิ้นให้คนที่ต้องการนำไปผลิตต่อได้อีก

“จำวันขายของตัวเองครั้งแรกที่องค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐมได้ไม่มีวันลืม งานมีทั้งหมด 15 วัน แต่เราขายของที่ทำมือด้วยตัวเองได้จนเกือบหมดตั้งแต่วันแรก ไม่รู้จะทำอย่างไรกับวันออกร้านที่เหลือ เลยไปซื้อของจากสำเพ็งมาขายต่อเพราะไม่สามารถผลิตได้ทัน แต่ผลตอบรับก็ไม่ดีเท่ากับการผลิตเองเหมือนวันแรก ยิ่งเป็นการตอบย้ำว่า นี่คือคำตอบและทางที่ใช่”

 

ทุก ‘เศษ’ วัสดุเหลือใช้มีค่ากับวิตตา

เพราะเริ่มต้นจากทุนน้อยและเจอสินค้าจีนเข้ามาตีราคาสินค้าเครื่องประดับอย่างกิ๊บติดผม จึงพยายามหากสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับตัวเอง โดยเน้นเอาวัสดุที่เหลือใช้มาแปลงเป็นผลงานศิลปะทำมือ อย่าง กระดุมก็นำมาทำเกสรดอกไม้ เศษผ้าขนาด 1 เซนติเมตรที่ใครหลายคนต้องทิ้งแต่สำหรับเราเอามาแปลงเป็นส่วนประกอบชิ้นงานได้หมด รวมถึงการนำดอกไม้และสิ่งที่เป็นธรรมมชาติมาประยุกต์เป็นชิ้นงาน จนกลายเป็นช่อพฤกษาที่กลายเป็นอัตลักษณ์ของแบรนด์ของเราไป ซึ่งจะถูกนำไปติดอยู่ที่เสื้อ หมวก กระเป๋า พวงกุญแจ หรือสินค้าของเรา โดยมีลายดอกไม้อื่นๆ เพิ่ม เช่น ดอกแก้ว ดอกทิวลิป กล้วยไม้

 

OTOP สู่ชุมชนและคิง เพาเวอร์ฯ

หลังออกงานที่เมืองทองครั้งหนึ่งทำให้ วิตตา ได้รับออเดอร์มาและผลิตไม่ทัน เราจึงเริ่มรวมกลุ่มกับคนในชุมชนที่มีฝีมือการเย็บ ปัก ถักร้อย…มาช่วยกัน จนมีคนแนะนำว่าต้องจดทะเบียนขึ้น OTOP เพราะจะทำให้ได้รับโอกาสที่ดีหลายอย่าง และขอให้หน่วยงานราชการอย่างกรมพัฒนาชุมชน กรมแรงงานช่วยหาคนที่มีฝีมือในการทำงานมือ แบบที่เขาทั้งสามารถช่วยเราได้และเขาก็สามารถแลกเปลี่ยนทักษะหรือสิ่งที่เขามีกับเราได้ โดยที่ทางแบรนด์จะเป็นคนบริหารค่าใช้จ่ายวัตถุดิบและทำการตลาด เนื่องจากหลายคนเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่สะดวกไปขายเนื่องจากต้องคอยดูแลคนที่บ้านหรือดูแลผู้ป่วย

เมื่อจดทำเบียนเป็นสินค้า OTOP ได้ 2 ปี พบกับทาง คิง เพาเวอร์ฯ ผ่านกระทรวงพาณิชย์ และคิง เพาเวอร์ติดต่อ วิตตามาถึง 3 ครั้ง กว่าจะมีการส่งสินค้ากันจริงๆ เหตุผลเพราะเราไม่กล้ารับงานในตอนแรกเนื่องจากมีทุนน้อย แต่จำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูง จึงบอกกับทางคิง เพาเวอร์ฯ ไปว่าขอทำในงบของเราเท่าที่มี ปรากฏว่าขายไปเดือนแรกก็หมดแล้ว กลายเป็นได้รับการออเดอร์เข้ามาเรื่อยๆ และเพิ่งมาหยุดไปสักพักใหญ่ตอนเกิดโควิด-19

เรียนรู้จนเป็นเอกลักษณ์

คิง เพาเวอร์ฯ สอนให้เรียนรู้และรู้จักปรับตัว จน วิตตา มีความเข้มแข็งหลายเรื่อง ที่จำไม่ลืม เมื่อส่งสินค้าไปแล้วแต่พอถึงที่จัดแสดงทางทีมต้องให้เราช่วยไปซ่อมและแก้ไขงานเพราะมีส่วนที่กาวหลุดละลาย ทำให้ตั้งแต่นั้นมาต้องหาวิธีและเตรียมตัวเลือกทุกอย่างที่จะทำให้ชิ้นงานไม่มีวันหลุดและคงทนสภาพในทุกสนามรบของการขนส่ง

เราลองผิดลองถูกมานาน ตั้งแต่เลือกกาวที่ใช้ เลือกผ้าแต่ละเกรดให้เหมาะกับชิ้นงานแต่ละประเภท สีไม่ตก วิธีการเย็บและการออกแบบที่ต้องให้สวยงามแล้ว ยังต้องเอื้อในการขนส่งการจัดแสดงเพื่อให้ทุกอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นทางจนปลายทางสู่ผู้บริโภค ถึงตอนนี้เมื่อต้องซักหรือทำความสะอาดสินค้า ผลงานของวิตตาก็จะไม่มีวันหลุดลุ่ยหรือแยกชิ้นส่วนออกมา เพราะประสบการณ์ทั้งหมดสอนเราให้เลือกและรู้จักเคล็ดวิธีในการเย็บ ความละเอียดและความเป็นระเบียบในแต่ละชิ้นงานที่ไม่เหมือนกันแน่นอน

 

แฮนด์เมดที่ปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์และเทรนด์ของผู้ซื้อ

เป็นปกติที่คนชื่นชอบงานสไตล์แฮนด์เมดจะไม่ชอบงานที่ผลิตเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว วิตตา จึงจำกัดลวดลายไว้ให้ไม่เกิน 50 ลายต่อแบบ โดยลายอาจจะคล้ายกันแต่โทนสีของสินค้าแต่ละชิ้นจะต่างกัน ซึ่งมีผลในเชิงจิตวิทยาทำให้ผู้ซื้อเลือกในแบบเดียวกันแต่คนละสีเพิ่ม จากปกติซื้อ 1 ชิ้น ก็เพิ่มเป็น 2-3 ชิ้น โดยแบบทั้งหมดจะมีการอัพเทรนด์ให้เข้ากับกระแสตลอดเวลา เช่น งานเทศกาลต่างๆ ตรุษจีน ปีใหม่

“เราปรับให้ทันกระแสแต่ไม่ได้วิ่งตามกระแสเพราะจะเหนื่อย โดยไม่ทิ้งความเป็นตัวเรา ปรับให้เข้าตามไลฟ์สไตล์แฟชั่นที่มีการอัพเดทไปเรื่อย แล้วมาประยุกต์กับวิธีแบบเราและให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าจึงทำให้ วิตตา มีสินค้าหลากหลายและแตกย่อยไปได้อีกหลายประเภท เช่น สินค้าแนวเกาหลี สไตล์ใช้ง่าย มีขนาดเล็กๆ ชิ้นไม่ใหญ่ วิตตา ก็จะทำกระเป๋าใบเล็ก ประดิษฐ์เป็นที่ติดตัวอักษรเพื่อทำชื่อ ติดปกหนังสือ หรือที่คั่นหนังสือ ฯลฯ จากเครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ ก็ต่อยอดจนเป็นของกิ๊ฟท์ช็อบ ของชำร่วย และของฝากที่ระลึกต่างๆ”

 

เลียนแบบได้แต่ทำให้เหมือนยาก

ความที่ผลิตชิ้นส่วนประกอบงานแต่ละชิ้นเองตั้งแต่ต้นน้ำ และมีการดีไซน์และบริการการผลิตที่ไม่เหมือนใคร เพราะหนึ่งชิ้นส่วนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบนั้นในความหมายเดียว เช่น กลีบใบไม้ 1 อัน อาจกลายเป็นปีกนกที่ไปวางอยู่บนน้องตุ๊กตา หรือเป็นกลายเป็นปีกผีเสื้อที่ตกแต่งบนกระเป๋าหรือหมวกใบหนึ่งก็ได้

เวลาออกงานแฟร์จะเขียนป้ายที่บูธว่า “รับออกแบบสินค้า” ทำให้ลูกค้าหลายคนที่มาเดินซื้อของสนใจมาให้ช่วยตกแต่งสินค้าที่พวกเขาซื้อมาเพิ่มเติม เช่น กระเป๋ากระจูด ผลออกมาเป็นลูกค้าชอบและเห็นว่าสามารถนำลายที่ทำให้เขานำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้เลย รวมถึงทุกครั้งที่มีการอบรมที่มาช่วยเสริมทักษะจะไม่ปฏิเสธแล้วนำมาประยุกต์และถ่ายทอดกับทีมที่มีอยู่ 12 คน เพราะช่างส่วนใหญ่จะร่วมออกแบบและสามารถดูแลมาตรฐานการผลิตให้เราได้ด้วย เพียงแต่เขามีงานที่ต้องอยู่บ้านดูแลคนอื่นจึงไม่สะดวกในการไปจำหน่าย และกับพี่ๆ ที่เป็นช่างฝีมือ เราอยู่กับแบบพี่น้องจริง อย่างตอนเกิดโควิด-19 วิตตาก็ยังรับชิ้นงานผลิตไว้ เพราะเห็นคุณค่าในฝีมือดีและทำงานที่ละเอียดและจะเสียดายมากถ้าเขาต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น จึงแก้ปัญหาด้วยการ Live ขาย เพื่อเติมสภาพคล่องไปก่อน

 

จาก Vitta สู่ SWT

วิตตา เป็นสินค้าประเภทของประดับและเครื่องแต่งกายที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 14 แบรนด์คิดว่าสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคงเพราะกำลังการผลิตและรูปแบบเริ่มอยู่ตัว และกำลังจะเริ่มขยายไปแบรนด์ของใช้และของที่ระลึกเพิ่มโดยใช้ชื่อว่า SWT (สวิตตา) ซึ่งหลายครั้งที่เห็นงานเราก่อนจะรู้ว่าชื่อแบรนด์อะไร ซึ่งกลับกันสินค้าอื่นที่จำแบรนด์ได้ก่อน จึงทำให้เห็นแล้วว่า อัตลักษณ์หรือตัวตนของเราชัดเจนจากเสียงตอบรับที่ดีของลูกค้าต่างชาติ ซึ่งนอกเหนือจากที่ส่งให้ทาง คิง เพาเวอร์ฯ แล้ว วิตตา เคยส่งสินค้าให้นายหน้ากับน้องที่อาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ปรากฏได้ผลตอบรับที่ดีมาก

รวมทั้งก่อนหน้านี้มีคนเห็นชิ้นงานของ วิตตา ที่คิง เพาเวอร์ดิวตี้ฟรี ของสนามบินสุวรรณภูมิและติดต่อมาว่าอยากให้ทำส่งให้ลูกค้าที่สิงคโปร์กับออสเตรเลีย โดยให้เหตุผลว่าเป็นงานที่ละเอียดประณีตมาก แต่ครั้งนั้น วิตตา ไม่ได้รับมาเพราะยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการติดต่อสื่อสาร และที่สำคัญกำลังพลของแบรนด์ยังมีไม่เพียงพอต่อการผลิตที่ค่อยๆ ฟื้นกลับมา แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งพร้อมก็คงจะเริ่มที่กลุ่มเอเชียก่อน อย่างไรก็ตาม ผลงานของ วิตตา น่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เริ่มต้นจากพลังคนไทยกลุ่มเล็กๆ ที่เอาความประณีต ความละเอียดในการผลิตงานฝีมือแบบไทยมาสร้างสรรค์งานแฮนด์เมดออกสู่สายตาให้เป็นที่รู้จักของต่างประเทศ

 

วิตตา (VITTA)

ที่ตั้ง: 108 หมู่1 ต.หนองปากโลง อ.เมือง นครปฐม 73000

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: VITTA

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่ คิง เพาเวอร์ ทุกสาขา

 

ปักหมุดจุดเช็กอิน – แชะรูป – ท่องเที่ยวใกล้เคียง

• สวนสามพราน พื้นที่กว่า 130 ไร่ ที่แวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่นานาพันธุ์ พื้นที่สวนไม้ดอก ไม้ผล สมุนไพร พร้อมที่พัก บ้านไทย ที่ประชุม จัดเลี้ยง ร้านอาหาร คาเฟ่ รวมถึงแหล่งเรียนรู้และนันทนาการเชิงธรรมชาติและเวิร์คช้อปต่างๆ

• องค์พระปฐมเจดีย์ เจดีย์ใหญ่และสูงสุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครปฐมที่ไม่ได้ไป เหมือนมาไม่ถึงนครปฐม

• วัดไร่ขิง หลวงพ่อวัดไร่ขิงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน ที่เคารพนับถือของคนไทย และวัดอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ และมีของขายให้เลือกซื้อมากมาย

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง