People

“หยิบเบสครั้งนั้น…ยังไม่ได้วางอีกเลย”
วิโรจน์ สถาปนาวัตร
J-PAP มือเบส INFINITY

ศรัณย์ เสมาทอง 15 Nov 2024
Views: 509

Summary

หลายคนอาจรู้จัก ‘อาจารย์แป๊ป’ ในฐานะกรรมการ THE POWER BAND แต่ชื่อของ วิโรจน์ สถาปนาวัตร เป็นที่รู้จัก…เป็น “ตำนาน” ในฐานะมือเบสคนเก่งของวง Infinity และเราอาจไม่รู้ว่าเขาอยู่เบื้องหลังศิลปินหลายคนในยุคที่มีการ ‘ออกเทป’ ผลงานบางชุดอาจเป็นผลงานการเล่นเบสของเขาโดยที่ไม่มีใครรู้เลยก็ตาม ลองทำความรู้จักอาจารย์กันสักหน่อยไหม

“เสียงมันจะไปกระทบคนฟัง เป็นสิ่งที่จะสร้างความพึงพอใจ มันต้องคุยกันทั้งวงว่าจะเล่นโทนไหน โดยเฉพาะเบสกับกลองถ้ามันไปด้วยกันได้จะ perfect”

 

เปิดฉากคุยกันเรื่อง ‘เสียง’ ก่อนเลย เพราะตลอดหลายปีในการประกวดดนตรี THE POWER BAND ‘อาจารย์แป๊ป’ วิโรจน์ สถาปนาวัตร หรือหลายคนคุ้นในชื่อ J-PAP หนึ่งในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของโครงการที่ตระเวนไปตามสนามคัดเลือกทั่วประเทศ จะมีคำชมและคำแนะนำเรื่องการเลือกใช้เสียงของนักดนตรีทั้งหลาย และยังได้ยินเขาบอกกับนักร้องบ่อยๆ เรื่องการดึงระยะระหว่างไมโครโฟนกับปากระหว่างการร้องเพื่อให้ได้เสียงที่สุนทรีย์ และอีกหลายๆ คอมเมนต์จากประสบการณ์เล่นดนตรีที่มีประโยชน์กับผู้เข้าประกวด

“ผมจะสนใจที่โทนและฟิลลิ่งก่อนเลย ไม่ใช่แค่เล่นตัวโน้ตให้ถูก…โน้ตถูกก็ดีแล้ว แต่โน้ตถูกแล้วมันเล่าเรื่องราวได้ไหม มันบอกอารมณ์เพลงได้ไหมสำคัญกว่า”

เคยมีงานคอนเสิร์ตหนึ่ง อาจารย์แป๊ปไปทำการซาวนด์เช็กก่อนวันเล่นจริงหนึ่งวัน ปรับอย่างไรก็รู้สึกว่าโทนรวมทั้งหมด โดยเฉพาะของ Rhythm section คือ กลองกับเบส – เครื่องมือประจำของเขายังแปลกๆ

ไม่มีการปล่อยผ่าน!!!

“เราตกลงกันว่าพรุ่งนี้จะมาเช้ากว่าปกติ เพื่อมาจูนหนังกลอง…จูนกันใหม่หมดเลย ลองตีกระเดื่องแบบนี้สิ เสียงเป็นยังไง เสียงกลองทอมเป็นยังไง…จูนใหม่ คือ เราจะเล่นเพลงของ The Impossibles อยากให้โทนเป็นลักษณะของวงดิอิมพอสซิเบิลอย่างที่มันควรจะเป็น จูนกันไป 2 – 3 ชั่วโมง จนทุกคนรู้สึกตรงกันว่า เนี่ยใช่ละ”

มืออาชีพเขาคิดกันแบบนี้ บอกเลย

“เบสแต่ละตัวคาแรกเตอร์และเนื้อเสียงต่างกัน

ผมจะเลือกตัวที่เหมาะกับแนวเพลง

ผมใส่ใจในโทนเสียงที่เราจะนำเสนอ”

“อาจารย์แป๊ป” วิโรจน์ สถาปนาวัตร
อาจารย์พิเศษ สาขาวิชาดนตรีสมัยนิยม
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เล่นดนตรีเพราะสนุก

ไม่แน่ใจว่าครั้งนั้นที่ยอมไม่ได้ เพราะเป็นการเล่นเพลงของ The Impossibles วงโปรดของอาจารย์แป๊ปหรือเปล่าก็ไม่รู้ เขาชอบถึงขั้นเคยนำเพลง ‘ไหนว่าจะจำ’ ไปยืนร้องหน้าชั้นเรียนตอนมัธยม

“ตอนเด็กฟังทั้ง ดิอิมพอสซิเบิล ทั้งเพลงลูกทุ่ง เพลิน พรหมแดน มาเริ่มเล่นกีตาร์ตอนอายุ 13 ไปดูหนัง ‘วัยอลวน’ ในหนังมีเล่นกีตาร์ เลยเกิดอยากเล่นบ้าง เดินไปขอตังค์แม่ซื้อกีตาร์ แม่ก็พาไปซื้อที่เวิ้งนาครเขษม เป็นกีตาร์ตัวเล็กๆ ราคา 350 บาท

ก็มาหัดตีคอร์ดร้องเพลงไปตามเรื่องตามราว จนถึงอายุ 15 เรียนชั้น ม.ศ. 2 (เทียบเท่า ม.3 แผนการศึกษาปัจจุบัน) มีเพื่อนมาถาม…ตั้งวงกันไหม “เราก็ตอบว่า เอาดิ แต่มันบอกต้องเล่นเบสนะ เพราะขาดมือเบส…อ้าว…ดันรับปากไปแล้ว ก็เลยต้องหัดเล่นเบสด้วยกีตาร์โปร่งนั่นล่ะ” และแน่นอนที่สุด อาจารย์แป๊ปหัดเองไม่ได้ไปเรียนดนตรีที่ไหนเลย

เพลงยุคแรกที่เล่น ‘Sailing’ (Rod Stewart) ‘Le Freak’ (CHIC) ‘Stay’ (Jackson Browne) ใช้วิธีแกะเทป!! นักดนตรีเจเนอเรชันใหม่อาจไม่คุ้นกับคำนี้

“เครื่องเล่นคาสเซ็ตเทปจะมีเทคนิคนิดหนึ่ง ถ้าเราฟังเบสไม่ออก จะกด play ไปครึ่งหนึ่ง stop ครึ่งหนึ่ง เสียงมันจะ double ขึ้นไป 1 octave เสียงเบสหรือเสียงต่ำๆ ที่เราไม่รู้ว่าเป็นโน้ตอะไรจะได้ยินเป็นตัวๆ เลย แต่สปีดมันจะเร็วขึ้นเยอะเลยนะ ต้องฟังแล้วมาเล่นความเร็วปกติ”

ด้วยความคลั่งไคล้เรื่องโทนเสียง จากเล่นเบสธรรมดาๆ ก็เริ่มหาตำแหน่งในการกดสายเบสใหม่ให้ได้โน้ตเดิมแต่อารมณ์หลากหลายขึ้น “อย่างเสียง G สายเปล่าของเบสสาย 1 พอไปจับ G ที่ช่อง 5 สาย 2 โทนก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ไปจับช่อง 10 สาย 3 มันก็จะทุ้มมากขึ้น จับช่อง 15 สาย 4 เสียงมันยิ่งใหญ่เบ้อเร่อเลย โน้ตตัวเดียวกัน แต่อารมณ์มันต่างกัน”

การเรียนรู้ด้วยตัวเองล้วนๆ แต่พอจบมัธยมปลายก็เลิก

“มันไม่อยากเล่นแล้ว ไม่รู้จะเล่นไปทำไม ขายเบสทิ้งหมดเลย เลิกจริงๆ หันไปฟังเพลงวัยรุ่น เริ่มไปเที่ยวเธค เที่ยวกลางคืน คือสนุกแบบเป็นคนฟัง ไม่ได้เป็นคนเล่น”

THE POWER BAND 2024 SEASON 4 สนามขอนแก่น

THE POWER BAND 2024 SEASON 4 สนามขอนแก่น

THE POWER BAND 2024 SEASON 4 สนามนครปฐม

THE POWER BAND 2024 SEASON 4 สนามสุราษฎร์ธานี

 

จับเบสอีกครั้ง

อาจารย์แป๊ปเข้าเรียนคณะบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เลิกเล่นดนตรีเปลี่ยนเป็น ‘ผู้ฟัง’ อยู่หลายปี วันหนึ่งเพื่อนที่เคยเล่นดนตรีด้วยกันมาตามให้ไปช่วยเลือกซื้อเบส เพราะมือเบสในวงของเขายังไม่มีเครื่องมือ “ก็ไปที่เวิ้งนาครเขษมที่เดิม เราก็ชี้บอกมัน…เอาตัวนี้ดีเชื่อดิ เพราะเราเคยเล่นก็รู้ว่ามันดี ราคาก็ไม่ได้แพงเวอร์ และไม่ได้ดูมูลค่าต่ำเกินไป เพื่อนก็ซื้อเลย พอมาส่งบ้านก็ฝากไว้ที่ผมก่อน มันจะไปธุระ”

รับฝากไว้แบบไม่คิดอะไร 2 วันต่อมา เพื่อนนำแอมป์เล็กๆ มาให้ “มันบอกว่ามือเบสแกะเพลง Tarzan Boy ไม่ได้ ฝากแกะให้หน่อย ก็ยังไม่ได้คิดอะไร แกะให้เพื่อนไป”

แต่สุดท้าย มือเบสคนนั้นก็มาเล่นไม่ได้ เพื่อนจึงชวนอาจารย์แป๊ปไปเล่นเองเลย “ด้วยความรักเพื่อนก็เลยกลับมาเล่น จากนั้นก็ต้องไปเล่นเพลงแนว Fusion Jazz เพลงบรรเลง ที่กำลังดังในช่วงนั้น พวก Rio Funk (Lee Ritenour) เพลงของญี่ปุ่น Casiopia หรือ Masayoshi Takanaka แต่ว่าการเล่นเพลงพวกนี้ก็ไม่ได้ง่าย”

เพลงทั่วไปเปิดฟังก็แกะได้เลย แต่แนว Fusion Jazz จะหาโน้ตเจอเป็นเรื่องยากอยู่ อาจารย์แป๊ปถึงขั้นต้องหยุดเล่นแล้วฟัง ฟังอย่างเดียวเป็นเดือนเพื่อให้มันซึมซับเข้าไปเสียก่อน จึงหยิบเบสขึ้นมาแกะเพลง

“หยิบขึ้นมาครั้งนั้น จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่ได้วางอีกเลย”

“เวลาคนเราฟังอะไรเนี่ยเราฟังน้ำเสียง

ว่ามันสื่ออารมณ์แบบไหนมาถึงเรา

ผมให้ความสำคัญมากกว่าเล่นถูก – ผิดอีก

“อาจารย์แป๊ป”  วิโรจน์ สถาปนาวัตร
อาจารย์พิเศษ สาขาวิชาดนตรีสมัยนิยม
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

นักดนตรี VS มือปืนรับจ้าง

ผ่านการเล่นดนตรีอีกหลายที่ หลายวง มีช่วงที่จบมหาวิทยาลัย  อาจารย์แป๊ปก็ได้ไปเรียนการ Arrange เพลง เพราะคิดว่าดนตรีมันมีอะไรมากกว่าการมานั่งแกะเพลงเล่น เขาต้องการไอเดียที่จะเรียบเรียงเพลง เรียบเรียงเสียงประสาน

วันหนึ่งก็มีโอกาสได้ลองเข้าไปทำงานในสตูดิโอ คุณอาของเพื่อนนักดนตรีให้เขาไปอัดเสียงเบสให้กับเพลงของวงหนึ่ง “ถ้าจำไม่ผิด อัดเสียงที่ศรีสยาม เป็นครั้งแรกที่เข้าห้องอัดที่เป็นสตูดิโอจริงจัง” ชื่อศรีสยามในยุคหนึ่งการันตีความมืออาชีพได้

“เขาจะมีคอร์ดเมื่อวางให้ แล้วก็เปิดเพลงฟังตรงนั้นเลย สิ่งที่เราเจอแบบไม่คาดคิดแบบนี้ เราสามารถที่จะ handle มันได้หรือเปล่า เราไม่มีสิทธิ์บอกว่าตรงนี้ผมเล่นไม่ได้ขอกลับไปซ้อมก่อน ถ้ามีจุดที่รู้สึกว่ามันยากสำหรับเรา สิ่งที่ต้องทำคือคิดแก้ไขยังไงให้มันกลมกล่อมขึ้น ให้โพรดิวเซอร์รู้สึกว่าโอเค เมื่อเราทำได้มันก็จะมีครั้งต่อไป ถ้าเราคว้าไม่ได้มันก็จบแค่ครั้งนั้น”

ถ้าใครที่ไม่ทันยุคนั้น ต้องทำความเข้าใจสักนิดว่ามือปืนรับจ้างที่ทำงานในห้องอัดมีอยู่จริง บางเพลงจะใช้นักดนตรีที่สามารถสร้างสีสันของเพลงให้สัมผัสใจคนมาเป็นผู้บันทึกเสียงให้ แล้วตัววงดนตรีจะแกะงานตัวเองเล่นอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งนักร้องที่ออกมาเป็นศิลปินเดี่ยว ในการบันทึกเสียงลงเทปหรือซีดี บางทีอาจมีอาจารย์แป๊ปเป็นคนเล่นเบสก็ได้

“ก็รับทำดนตรีในสตูดิโอกับสอนเบสอยู่ในโรงเรียนสอนดนตรี จนได้มาทำเพลงอัลบั้มแรกให้ โก้ Mr.Saxman แล้วเขาชวนเล่น Back up โก้คุยไว้ 4 คน มี อั๋น – มือคีย์บอร์ดวงบางกอกคอนเนกชัน หนึ่ง – มือกลองวงบางกอกคอนเนกชัน ต้น – มือกีตาร์ ชื่อในวงการคือ กัปตันโลมา ทุกคนบอกโก้ว่า ถ้าอีก 3 คนที่เหลือเล่นก็จะยอมเล่น”

เนี่ย…ก็ชอบวัดใจกันแบบนี้สินะ

“สุดท้ายก็มาเล่นหมดทุกคน”

ขอบคุณภาพจากอาจารย์แป๊ป

 

 “PAP Infinity”

ช่วงนั้นมีเทศกาลดนตรีแจ๊สบ่อยมาก ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองชายทะเล อาจารย์แป๊ปก็ได้ไปโลดแล่นอยู่เสมอๆ จนมาวันหนึ่งมือกีตาร์วง Infinity ติดต่อมา “วงเขาพับไปแล้วแต่อยากจะมารวมใหม่โดยมีสมาชิกแค่ 4 คน ตอนเรียนมหาวิทยาลัยวงที่ผมเล่นเคยไปเล่นงานเปิดตัวนิตยสาร The Quiet Storm พอเล่นเสร็จ วง Infinity ก็เล่นปิดท้าย รู้จัก infinity จากตรงนั้น ผมรู้สึกว่าการทำงานกับวงนี้มันเป็นสเกลใหญ่สำหรับผม แต่ถ้าพี่กล้าชวน…ผมก็กล้าเล่น”

ก็ต้องตระเวนอัดเสียงดนตรีจากสี่ภาคทั่วประเทศ เพื่อทำอัลบั้ม Four Colors ในช่วงปี ค.ศ. 2005 จากนั้นเวลาใครพูดถึง อาจารย์แป๊ปก็จะต่อด้วยมือเบส Infinity ต่อท้าย เป็นอันรู้กัน

ขอบคุณภาพจากอาจารย์แป๊ป

 

จากใจอาจารย์

การเป็น ‘อาจารย์แป๊ป’ จริงจังเกิดขึ้นเมื่อ รองศาสตราจารย์ ดร. สุกรี เจริญสุข ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชวนมาสอนที่นี่ มาร่วมสร้างนักดนตรีฝีมือดีด้วยกัน ประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานจึงได้ถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นใหม่

และเมื่อ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย จับมือพันธมิตร ซึ่งมีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เป็นหนึ่งในนั้น สร้างสรรค์โครงการ THE POWER BAND เวทีประกวดวงดนตรีสากลคุณภาพระดับประเทศ ส่งเสริมให้นักดนตรีรุ่นใหม่ได้พัฒนาศักยภาพดนตรี อาจารย์แป๊ปก็ได้ร่วมงานในฐานะกรรมการตัดสินในรอบคัดเลือก เดินสายไปสนามต่างๆ ทั่วไทยถึง 5 จังหวัด ได้เจอเด็กๆ ที่มีฝันแบบเดียวกับเขามากมาย

“คนที่เล่นสมวัยก็มี เก่งเกินวัยก็มี ยังต้องปรับปรุงก็มี มันก็ผสมๆ กันไป ถ้าบอกได้ก็จะบอกเขาว่า ความรู้สึกที่เราได้ฟังสิ่งที่เขาแสดงออกมามันเป็นยังไง อันไหนที่ดีอยู่แล้ว อันไหนถ้าต่อยอดบางอย่าง ปรับบางอย่างมันจะเพอร์เฟกต์” อ่านมุมมองของกรรมการตัดสินภาคสนามทั้ง 3 คนได้ที่

นักดนตรีรุ่นใหม่ๆ หยิบงานของคนรุ่นก่อนๆ มาเป็นแบบแผน อาจารย์แป๊ปก็ไม่ได้ติดอะไร ความชอบในกลิ่นอายดนตรีบางยุคมันมีได้  “แต่ควรจะมีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเอง ต้องเบลนด์ให้เข้ากับตัวเองให้ได้”

วงที่เข้ารอบชิงชนะเลิศที่มาร่วม THE POWER BAND MUSIC CAMP ปีนี้มีความพิเศษอย่างหนึ่ง คือ เขาให้เด็กขึ้นเล่นดนตรีสดๆ แล้วโค้ชก็จะไปเดินบนเวทีดูกันใกล้ๆ เพื่อแนะนำเป็นรายคนไปเลย “ตอนเป็นกรรมการ เรานั่งฟังเด็กจาก PA แต่ว่าใน workshop เนี่ยเราจะไปเดินเตร่อยู่บนเวที เราจะไปดูเลยว่าพวกคุณทำอะไรกันบ้าง ตามประสบการณ์ของกรรมการแต่ละคนเวลาเราขึ้นเวทีเราจัดอะไรตรงไหน เล่นแบบไหนแค่ไหน เราก็จะแนะนำกันตรงนั้นเลย” ติดตามการเป็นวิทยากรของอาจารย์แป๊ปในหัวข้อ Band Coaching และบรรยากาศแคมป์ดนตรีของ THE POWER BAND ซีซัน 4 คลิก

เรียกว่าติวกันเข้มมาก หวังใจไว้เลยว่าอนาคตดนตรีไทยต้องดีขึ้น

“ผมว่ามันโอเคมาตั้งนานแล้ว ดนตรีมียุคที่หัวทิ่มบ้าง เฟื่องฟูบ้าง สลับกันไป”

เด็กรุ่นใหม่มีความมุ่งมั่นกันมากขึ้น นักดนตรีรุ่นเก๋าในวงการหลายคนยังเอ่ยปากว่า ตอนอายุเท่านี้เขายังไม่เก่งเท่าเด็กเลย แสดงว่าเราวงการดนตรีของไทยน่าจะมีความหวัง

“ผมยังเชื่อในคำว่า วิวัฒนาการ ครับ” โทนเสียงของ อาจารย์แป๊ป ให้ความรู้สึกว่ามีความหวังจริงๆ

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ