People

‘สะเลเต’ เคารพภูมิปัญญาชุมชน
เชื่อว่าความรื่นรมย์คือเมล็ดพันธุ์ของงานสร้างสรรค์

อลิษา รุจิวิพัฒน์ 13 Dec 2024
Views: 595

Summary

สะเลเต แบรนด์กระเป๋าอายุ 4 ขวบปีที่นำ ‘ผ้าไหม’ มา ‘เล่าใหม่’ โดยหยิบทักษะของอินทีเรียดีไซน์มาครีเอต ‘รูปทรง’ ให้ต่าง…จนทัชใจคนรุ่นใหม่ โดย คุณนงนุช บํารุงกุล อดีตมัณฑนากรที่หันหลังให้ความมั่นคง เพื่อเดินหน้าสร้างความมั่งคั่งยั่งยืนให้กับชุมชน และไม่ยอมให้มรดกทางวัฒนธรรมถูกลืมเลือน

ขอบคุณภาพจากคุณนงนุช

“ตอนตัดสินใจทิ้งเงินเดือนประจำแล้วออกมาทำธุรกิจเต็มตัวนี่แหละ ยากที่สุด” คุณนงนุช บํารุงกุล ผู้ก่อตั้ง ‘สะเลเต’ แบรนด์กระเป๋าสุดชิคที่นำ ‘ผ้าไหม’ มาเล่าใหม่โดยหยิบเอาทักษะของ   อินทีเรียดีไซน์มาสร้างสรรค์ ‘รูปทรง’ ให้แตกต่างจนทัชใจคนรุ่นใหม่ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ในวันที่โควิด-19 กำลังระบาด…เธอสร้าง “ความเป็นไปได้” ด้วยสองมือ ทั้งยังเป็นตัวอย่างของ “พลังคนไทย” ที่สร้างสรรค์

“เปิดแบรนด์ปุ๊บก็โควิดเลย โชคดีที่ตอนเริ่มต้นยังไม่ได้ออกจากงานประจำ ใจหนึ่งก็กลัวเรื่องความไม่แน่นอน เพราะตั้งแต่เรียนจบสถาปัตย์ฯ ก็เป็นมัณฑนากรมาตลอด งานดี เงินดี ชีวิตอยู่ในคอมฟอร์ตโซน แต่เรื่องธุรกิจและผ้าไหมไทยเป็นแพสชันในตัวมาตลอด ตัดสินใจเริ่มทำควบคู่ไปกับงานประจำ จนถึงจุดหนึ่งที่มั่นใจ  ก็เลยลาออกมาทำธุรกิจเต็มตัว”

 

“เวลาพูดถึงสะเลเต เราอยากให้เขาเห็นภาพของแบรนด์ที่เติบโตไปพร้อมกับชุมชน

เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตามเทรนด์โลก แต่จะเลือกเทรนด์ที่ดีต่อโลกอย่าง Zero Waste”

คุณนงนุช บํารุงกุล ผู้ก่อตั้งและเจ้าของแบรนด์ ‘สะเลเต’

ขอบคุณภาพจากคุณนงนุช

✔ ประสบการณ์และสิ่งที่เรียนรู้วันนี้

จะเกิดประโยชน์ในวันหนึ่งต่อไป

 

เริ่มด้วยคำถาม…ไปสู่ความเป็นไปได้

เธอเล่าว่าสะเตเลเกิดจาก “Connect the dots” เริ่มจากชอบเรื่องผ้าไหมและทุกอย่างที่ข้องเกี่ยวกับหัตถกรรมไทยอยู่ในความสนใจของเธอหมด เชื่อมโยงกับความหลงใหลเกี่ยวกับวัสดุผ้า ไม้ หนัง…ไปจนถึงเรื่องเฉดสี ผนวกกับทักษะสถาปัตย์ฯ และอาชีพตกแต่งภายในด้วยก็เป็นได้

“เริ่มจากเรียนตัดกระเป๋าหนังเป็นงานอดิเรก ระหว่างเรียนก็เกิดคำถามว่า จะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงและใช้ผ้าไทยง่ายๆ ได้ทุกวัน เลยลองเอาผ้าไหมมามิกซ์กับหนังแท้และดีไซน์รูปทรงให้ดูทันสมัย แมตช์ได้กับทุกลุค น่าจะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจผ้าไหมมากขึ้น พอทำออกมาเพื่อนเห็นก็ชอบ ก็เริ่มขอสั่งซื้อ จนเราเห็นความเป็นไปได้เลยตัดสินใจทำแบรนด์”

ขอบคุณภาพจากคุณนงนุช

 

ข้อคิดพิชิตอุปสรรคสไตล์ นงนุช บํารุงกุล

• อย่ารอให้พร้อมแล้วค่อยทำ
แต่ให้ทำไป เรียนรู้ไป

• ทุกปัญหามีตัวช่วยเสมอ
แค่ต้องเปิดใจให้กว้างแล้วคุณจะหาเจอ

• มองข้อผิดพลาดเป็นครู ทุกความผิดพลาดจะกลายเป็นบทเรียน

• บางอย่างที่ควบคุมได้ก็ต้องควบคุม
แต่ถ้าเมื่อไหร่มันผิดพลาด แปลว่าอยู่เหนือการควบคุม

• อย่าจมกับข้อผิดพลาด มองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ
บางทีมันเป็นของเล็กๆ น้อยๆ ที่เรามองผ่าน

ขอบคุณภาพจากคุณนงนุช

‘ผ้าไหม’ อัตลักษณ์ความเป็นไทยที่ทั่วโลกรู้จัก

“ทำไมต้องเป็นผ้าไหม?” คุณนงนุชบอกว่า ส่วนหนึ่งคือความชอบ แต่มากไปกว่านั้นเธอมองว่าหัตถกรรมไทยมีความหลากหลาย จะอธิบายให้สากลเข้าใจทั้งหมดคงยาก ในขณะที่ผ้าไหมแทบไม่ต้องอธิบาย เพราะทั่วโลกรู้ว่านี่คือหัตถกรรมพื้นบ้านของไทย

“คิดมาตลอดว่าอยากให้ผ้าทอไทยซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมไม่หายไปตามยุคสมัย ซึ่งผ้าไหมเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถต่อยอดไปสู่สากลได้ง่าย และที่เริ่มต้นจากผ้าไหมของอีสานชอบลวดลายและอัตลักษณ์ที่ต่างกันไปในแต่ละชุมชน ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งรอบตัว จากวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ทำให้แต่ละผืนมีเรื่องราวและเรื่องเล่า”

 

ดีไซน์ที่ดี
คือดีไซน์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน


ใช้การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ทลายกำแพง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเด่นของแบรนด์คือรูปทรงของกระเป๋าที่ดูทันสมัย แมตช์ได้กับทุกลุค ใช้ได้ทุกวัน กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ใครเห็นก็รู้ว่านี่คือกระเป๋าของสะเลเต

ภาพจากแบรนด์ Salete

“ด้วยความรู้ที่เรียนมาและงานที่ทำมาตลอดจึงดีไซน์สินค้าด้วยมุมมองที่แตกต่าง นำทรวดทรงเรขาคณิตเข้ามาใช้ แต่ที่ลืมไม่ได้เลยคือต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งาน เวลาออกแบบจะมีภาพของผู้ใช้งานขึ้นมาในหัวเสมอเลยว่า กระเป๋าใบนี้ออกแบบมาเพื่อใคร ใช้โอกาสไหน แต่งตัวแบบไหน” เธอยกตัวอย่าง Tube กระเป๋ารุ่นฮิตที่สามารถปรับดีไซน์เพื่อเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานได้ จึงใช้ได้ทุกวัน

“ต่อให้ดีไซน์ ว้าว แค่ไหนแต่ลูกค้าใช้แล้วไม่ตอบโจทย์ ก็ไม่ถือว่าเป็นงานดีไซน์ที่ประสบความสำเร็จ หรือการนำผ้าไหมมาเป็นวัสดุหลักของแบรนด์ โจทย์คือต้องทำให้คนรุ่นใหม่อยากใช้และลบภาพว่าผ้าไหมแก่ เชย หรือ Pain Point ที่ว่าผ้าไหมใช้ยาก ซื้อแล้วกลัวใช้ไม่คุ้ม ปรากฎว่ามีคนรุ่นใหม่ซื้อใช้จริงๆ งานดีไซน์มันทลายกำแพงนี้ เพราะลูกค้าที่ซื้อไปสามารถใช้ได้ทุกวัน และเราอยากให้เขาซื้อสินค้าที่คุ้มค่าที่สุด จึงเลือกใช้หนังแท้”

 

✔ ต้องเคารพทั้งตัวตนของเรา

และอัตลักษณ์ของชุมชน

ขอบคุณภาพจากคุณนงนุช

ภาพจากแบรนด์ Salet

 

มากกว่าดีไซน์…ยังต้องเคารพภูมิปัญญาชุมชน

“เวลาทำงานกับชุมชน ต้องคิดเสมอว่า เราเข้าไปในฐานะดีไซเนอร์ที่ช่วยต่อยอดสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว เพราะสิ่งที่พวกเขาทำออกมามันเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรม คือความภูมิใจ ถ้าจุดประสงค์จริงๆ ของเราคือต้องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม” ขณะเดียวกันแบรนด์ก็ควรมองหาวิธียกระดับโดยยังคงรักษาอัตลักษณ์ของงานด้วย

“สิ่งแรกที่ควรทำคือ ‘เคารพภูมิปัญญาของพวกเขา’ ไม่ใช่ไปบอกว่าต้องทำลวดลายแบบนี้นะ เทรนด์กำลังมา หรือบอกให้เขาปรับตามไอเดียของเรา มันจะทำให้เขาไม่มีความสุขในการทำงาน เราอยากให้เขาเลี้ยงชีพได้ด้วยงานหัตถกรรม ไม่ใช่ทำเพราะจำใจต้องทำงานตามออร์เดอร์”

อย่างมากที่สุดก็ไกด์เรื่องสี “ช่วยไกด์ในสิ่งที่เขาสามารถปรับได้โดยไม่กระทบวิธีการทำงานของเขา อย่างผสมสีแค่นิดหน่อยก็ได้เฉดสีที่ต่างออกไป หรือวิธีจัดเรียงสียังไงให้ดูทันสมัยขึ้นโดยยังคงเป็นลวดลายเดิมของชุมชน ตอนนี้ผ้าที่ชาวบ้านทอออกมาโทนสีสวยมากและดูทันสมัย หลายชุมชนมีทักษะการผสมสีมากขึ้น ตอบโจทย์เทรนด์สีมากขึ้น กลายเป็นชุมชนก็มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เราก็ภูมิใจ เพราะอยากให้เขาจะยังคงเป็นตัวเองได้โดยที่ก้าวไปพร้อมกับโลกและเติบโตไปพร้อมกับเรา”

ภาพจากแบรนด์ Salete

คนทำธุรกิจที่ดี ต้องรับผิดชอบต่อชุมชนและโลก

คุณนงนุชบอกว่า สำหรับเธอการทำงานกับชุมชนคือพันธกิจในใจที่เธออยากทำให้ดี เพราะถ้าชุมชนอยู่รอด มีรายได้จากสิ่งที่ทำและต่อยอดได้ไม่สิ้นสุดมันจะทำให้งานหัตถกรรมไทยคงอยู่ต่อไปเช่นกัน

“แล้วโลกล่ะ? ทำไมถึงคิดว่าคนทำธุรกิจต้องมีส่วนรับผิดชอบ” เราถาม เธอตอบว่า “แบรนด์ก็คือ ‘คนหนึ่งคน’ คุณค่าของคนที่อยู่ที่การกระทำ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เราตัดสินคนจากความดีที่เขารวมถึงคุณค่าจากงานที่ทำ จึงเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่อยากจะแบรนด์ให้มีคุณค่าต่อโลกและสังคม”

“เวลาพูดถึงสะเลเต เราอยากให้เขาเห็นภาพของแบรนด์ที่เติบโตไปพร้อมกับชุมชน ซึ่งการจะเติบโตบางทีเราก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตามเทรนด์โลก แต่จะเลือกเทรนด์ที่ดีต่อโลกอย่าง Zero Waste เป็นจังหวะดีที่เราได้มีโอกาสไปร่วมงานเทศกาลออกแบบเมื่อต้นปี มีโจทย์คือผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนผลกระทบของปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเราใช้ผ้าจากภาคอีสานเลยหยิบเอาปัญหาแม่น้ำโขงที่กำลังส่งผลเสียต่อคนลุ่มน้ำ ไม่สามารถทำการเกษตรและประมงได้ และยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเปิดเขื่อนที่ลาว จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ก็ต้องทำให้พวกเขามีรายได้จากงานหัตถกรรมทอผ้า เราเลยทำกระเป๋าผ้าฝ้ายที่ใครก็ใช้ได้ในสไตล์ของสะเลเต ผลตอบรับดีมาก นอกจากจะเป็นวิธีสนับสนุนชุมชนแล้ว ทุกครั้งที่ใช้กระเป๋ามันช่วยเตือนให้เขานึกถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม”

ขอบคุณภาพจากคุณนงนุช

 

✔ อย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว เปิดรับสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่
เพราะสิ่งสร้างสรรค์มันคือความรื่นรมย์ในชีวิต จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรามีความสุข

 

คะแนนความสำเร็จของแบรนด์อายุ 4 ขวบ

“ถือว่ามาไกลมากแต่ก็ยังต้องเดินทางไปอีกไกล เราเริ่มต้นจากแบรนด์เล็กๆ ขายออนไลน์ แนะนำกันปากต่อปาก ช่วงที่เริ่มต้นเศรษฐกิจก็ไม่ดี แต่ในวิกฤตมันเป็นโอกาส ถือเป็นช่วงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดและสะสมลูกค้ามาเรื่อยๆ

พอโควิดเริ่มซา เริ่มไปออกงานแสดงสินค้าและมีโอกาสได้พบกับ คิง เพาเวอร์ คงเพราะมีความตั้งใจที่จะยกระดับคนไทยและความเป็นไทยเหมือนกัน เลยได้รับโอกาสวางขายสินค้าใน คิง เพาเวอร์…เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ”  คุณนงนุชยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันและล่าสุดได้เป็นหนึ่งในแบรนด์ไทยไปร่วมงาน ‘The Slow Hand Design 2024 by DITP’ ที่มิลาน ประเทศอิตาลี

ขอบคุณภาพจากคุณนงนุช

“การไปแสดงงานที่มิลานพิสูจน์ว่า งานดีไซน์คือสะพานเชื่อมให้คนที่ไม่รู้จักงานหัตถกรรมไทยได้รู้จักง่ายขึ้น บางคนเดินเข้ามาเพราะความยูนีคของดีไซน์ แต่พอฟังเรื่องราว แนวคิด ที่มาของงานหัตถกรรมไทย เขายิ่งประทับใจในฝีมือของคนไทย บอกเลยว่างานคราฟต์ของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

เวลางานไทยไปโชว์ ไม่จำเป็นต้องมีลายไทย แต่ความเป็นไทยมันมีซิกเนเจอร์ มีความสดใส มีชีวิตชีวาแบบไทย สนุกสนาน เป็นเสน่ห์ไทยๆ ดังนั้นถ้าใครคิดจะพาแบรนด์ไทยไปเวทีโลกทำได้แน่นอน คนไทยโชคดีที่เกิดในประเทศที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดีมากๆ  อาจจะเสียเปรียบในเรื่องภาษา การทำแบรนดิ้งและการทำ Storytelling ประเทศอื่นงานหัตถกรรมเขาสู้เราไม่ได้ แต่การนำเสนอเขาเก่งกว่า แบรนด์ไทยต้องปรับปรุงเรื่องนี้”

ขอบคุณภาพจากคุณนงนุช

 

ขวบปีต่อไปและเป้าหมายใหม่ที่ไกลกว่าแดนสยาม

“วันแรกที่เริ่มต้นทำธุรกิจ เราอยากเพิ่มดีมานด์ในการใช้ผ้าไหมเพื่อให้ความต้องการนี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน นี้คือสิ่งที่เขียนไว้ในวันแรกที่ทำธุรกิจนี้ ตอนนี้เป้าหมายของเราก็คือ ไปสู่ระดับสากล อยากบุกตลาดต่างประเทศ อยากมี Flagship Store และคงไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นแค่แบรนด์กระเป๋า เพราะเราจะปั่นให้สะเลเตเติบโตเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ โดยสินค้าทุกชิ้นจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนได้ อาจจะเป็นผ้าม่าน ของแต่งบ้าน รองเท้า ผ้าปูที่นอน มันคือการขยายความเป็นไปได้ที่มากขึ้น กว้างขึ้น และหมายถึงโอกาสที่ความเป็นไทยจะไปสู่เวทีสากลมากขึ้นด้วยเช่นกัน”

ภาพจากแบรนด์ Salete

Author

อลิษา รุจิวิพัฒน์

Author

มนุษย์ที่ชอบทำงานตามโจทย์แต่ชอบใช้ชีวิตตามใจ หวั่นไหวกับของเล่น การ์ตูน ร้านหนังสือ ดิสนีย์แลนด์ และฝันว่าสักวันจะได้ไปเยือนสวนสนุกทั่วโลก