People

คุยกับนักออกแบบ
“มนัทพงศ์ VARNI Craft”
กับความสุขที่หมุนวน

วรากร เพชรเยียน 10 Jan 2025
Views: 510

Summary

พูดคุยกับคุณนัท – มนัทพงศ์ เซ่งฮวด เจ้าของและดีไซเนอร์แบรนด์ VARNI Craft หรือ ‘กระจูด วรรณี’ …นักออกแบบจากชุมชนทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ผู้พลิกเสื่อกระจูดผืนเก่าสู่ชิ้นงานร่วมสมัย ของใช้และของแต่งบ้าน พางานหัตถกรรมไทยส่งไปสู่ต่างแดน และทำงานร่วมกับแบรนด์ดัง

ตั้งแต่จำความได้จนเรียนจบ ราคาเสื่อกระจูดก็ยังอยู่ที่ราคาเดิม ราคาผืนละ 100-150 บาท กำไรน้อยมาก เราเห็นว่าน่าจะเอาความรู้ด้านศิลปะ การออกแบบมาประยุกต์ สร้างมูลค่าให้มากกว่าเดิมได้

จุดเริ่มต้นของการพัฒนาสร้างแบรนด์ที่ต่อยอด แตกแขนงเรื่อยมาจนเป็นกลุ่มวิสาหกิจวรรณี และ VARNI Craftstay โฮมสเตย์ในชุมชนทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ที่ทุกอย่างนั้นตะโกนคำว่า VARNI Craft ออกมา

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณนัท – มนัทพงศ์ เซ่งฮวด เจ้าของและดีไซเนอร์แบรนด์ VARNI Craft หรือ กระจูด วรรณี พลังคนไทย ผู้เปลี่ยนเรื่องราวเสื่อกระจูดจากชุมชนทะเลน้อย สู่ความหวัง โอกาสใหม่ด้วยมุมมองของนักออกแบบ จนวันนี้ได้ร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำที่มีชื่อเสียง พางานหัตถกรรมชาวบ้านออกสู่สายตาชาวต่างชาติ และสร้างความสุขให้กับทุกคนในชุมชน ซึ่งความสุขนั้นก็หมุนวนมาสู่ตัวคุณนัทเช่นกัน

 

“หัตถกรรมไทยของเราต้องใช้เรื่องการดีไซน์ พึ่งพางานออกแบบ…

ถ้าเราปรับเปลี่ยนนิดเดียวก็สามารถไปสู่ตลาดสากลได้

มนัทพงศ์ เซ่งฮวด
เจ้าของและดีไซเนอร์แบรนด์ VARNI Craft

 

ถอดรหัสความสำเร็จ

จากคุณนัท – มนัทพงศ์ VARNI Craft

1.มีเป้าหมายและเลือกหยิบสิ่งที่อยู่ในความสนใจ
ขึ้นมาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาต่อยอด

2.มองในมุมที่กว้างขึ้นกว่าความสำเร็จของตัวเอง
คือการได้มอบสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่นและคนในชุมชน

3.นอกจากงานดีไซน์แล้ว การพัฒนาระบบ
วางแผนองค์กรหลังบ้านให้ดียังสามารถนำพาไปสู่ความสำเร็จได้

4.ใส่ความทันสมัยเข้ามาในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน
สร้างความแตกต่าง เพิ่มมูลค่าให้ชิ้นงานได้

 

ทลายกรอบเสื่อกระจูดผืนละร้อย

เพราะความสนใจในงานศิลปะ ผนวกกับเห็นคุณแม่วรรณี เซ่งฮวด สานเสื่อกระจูดมาตั้งแต่ยังเด็ก คุณนัทจึงมุ่งศึกษาต่อทางด้านศิลปะ “น่าจะเป็นเรื่องการซึมซับทางวัฒนธรรมด้วยที่เราเป็นครอบครัวทำเกี่ยวกับงานจักสาน หัตถกรรม เดิมทีคุณแม่วรรณีก็สานเสื่อและเป็นอาชีพที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น” คุณนัทจึงเลือกเรียนวิจิตรศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และปริญญาโท ศิลปะประยุกต์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ขณะเดียวกัน งานเสื่อกระจูดที่รุ่นคุณแม่สานก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยมาเช่นกัน โดยคุณแม่ยังได้เป็นครูช่างสอนการสานเสื่อลวดลายต่างๆ ให้กับชาวบ้านด้วย

“ตอนปี พ.ศ. 2542 สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงเสด็จฯ พื้นที่ทะเลน้อย คุณแม่วรรณีก็ได้ร่วมโครงการของพระองค์ท่านที่ส่งครูมาสอนให้เพิ่มเติมด้วย แต่ก่อนชาวบ้านจะสานแค่เสื่อธรรมดา พอมีการสอนก็หันมาสานลวดลายต่างๆ หลังจากนั้นกรมแรงงานก็มาจ้างคุณแม่ให้ไปสอนชาวบ้านต่อ”

แม้จะมีลวดลายที่สวยงามและหลากหลายขึ้น แต่เสื่อกระจูดที่ใช้เวลาสานหนึ่งวันได้หนึ่งผืน กับราคาผืนละ 100-150 บาท ก็ไม่เพียงพอ คุณนัทจึงมองเห็นโอกาสและตั้งใจอยากที่จะกลับมาช่วยพัฒนางานเสื่อกระจูดในชุมชนทะเลน้อย จนเกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจวรรณี แบรนด์ VARNI Craft จากชื่อคุณแม่ และต่อยอดสู่ VARNI Craftstay ที่พักใจให้กับนักท่องเที่ยว

 

สืบสานงานยอดฝีมือจากรุ่น 1 ให้พัฒนาต่อ

 

ใช้งานดีไซน์ออกแบบเสื่อ

เปลี่ยนชุมชนทะเลน้อยให้ทันสมัย

คุณนัทเล่าว่า เสื่อกระจูดแต่ละพื้นที่ก็มีลวดลายและสีสันต่างกัน เสื่อในพื้นที่นิยมใช้สีสันตัดกันอย่าง  สีแดง เหลือง เขียว เริ่มแรกจึงต้องพัฒนาที่การออกแบบลวดลายและสีสันก่อน

“แต่ก่อนจะเป็นลายดอกแก้ว ดอกจันทร์ดูค่อนข้างเชย แต่เราเอามาประยุกต์ให้ดูคลาสสิกขึ้น มีความเป็นกราฟิกมากขึ้น โมเดิร์นมากขึ้น แล้วก็การใช้สีให้โดดเด่นกว่าเดิม สีเอิร์ธโทน สีขาว – ดำ ดูน่าสนใจมากขึ้นและแตกต่าง” สีที่เลือกใช้แต่ละคอลเลกชันก็พัฒนาไปตามเทรนด์ สียอดนิยมในปีนั้นๆ และฤดูกาลเพื่อให้สินค้าไม่น่าเบื่อ

นอกจากเสื่อที่สืบสานต่อยอดกันมาแล้วยังพัฒนาสู่สินค้าประเภทอื่นๆ อย่างกระเป๋า ของใช้ ของตกแต่งบ้านอีกมากมายนำมาสานขึ้นรูป ยังมีการปักเป็นไฮไลต์สำคัญ เป็นการหาโอกาสให้กับใหม่ๆ

“เราพัฒนาลายสานแล้วก็ประยุกต์เพิ่มเติมงานศิลปะ เพิ่มการปักเข้าไป โดยใช้งานฝีมือของชาวบ้านปักลงไปในกระเป๋า ซึ่งเรามีเทคนิคเฉพาะทางที่จะทำให้กระจูดไม่แตกเวลาปักลงไป ลวดลายที่ปักก็มีทั้งที่ออกแบบเองด้วย และจากลูกค้าที่ต้องการด้วย ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าได้ เนื่องจากใช้เวลานานกว่ารูปที่ปักปกติทั่วไป”

 

ถาม-ตอบ

สิ่งน่ารู้จากเจ้าของแบรนด์

Q: อยากเป็นเจ้าของแบรนด์คนใหม่ ทำยังไงให้สำเร็จ?

A: “ต้องมีเรื่องของความตั้งใจ ความรัก ความผูกพันกับงานหัตถกรรม
ที่เราอยากจะทำหรือพัฒนา และเรื่องของดีไซน์ที่เราจะออกแบบ
และสร้างความแตกต่างให้ผลงานมีจุดเด่นได้”

ภาพจาก Varni Craft

คุณนัทตั้งใจที่จะพัฒนาเสื่อกระจูดด้วยอยากทำให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ได้มากขึ้น มีความร่วมสมัยมากขึ้น ส่งผลให้นอกจากได้ลูกค้ามากขึ้นแล้ว ยังดึงดูดให้คนรุ่นใหม่สนใจงานหัตถกรรมไทยมากขึ้นด้วย

“แต่ก่อนคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านไม่ค่อยสนใจ เพราะเห็นว่าราคาเสื่อหนึ่งผืนขายได้น้อย แต่พอเราพัฒนาสินค้า เพิ่มมูลค่า ค่าแรงมากขึ้น คนรุ่นใหม่ก็เข้ามาทำอาชีพนี้มากขึ้น ที่ทำงานกับเราตอนนี้เด็กสุดคืออายุ 18 ปี แต่ก็จะมีเด็กนักเรียนมาทำช่วงปิดเทอม วันเสาร์-อาทิตย์ก็ทำให้เกิดรายได้”

 

รู้จักต่อยอดสิ่งดีๆ

ที่มีอยู่แล้วให้ยิ่งก้าวหน้า

สู่ VARNI Craftstay ที่พักใจในชุมชน

“ความสุขของเรา สิ่งแรกคือเราได้เห็นว่าครอบครัวมีความสุข ถ้านัทเลือกทำงานที่กรุงเทพฯ เราทำงานก็ได้เงินเดือนแล้วช่วยเหลือพ่อแม่ได้บางส่วน แต่นัทเลือกที่จะกลับมาอยู่ที่บ้าน เห็นครอบครัวมีความสุข ได้เห็นเพื่อนบ้าน คนในชุมชนมีรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแล้วเติบโตไปด้วยกัน”

จากผลงานหัตถกรรมฝีมือชาวบ้านในชุมชนทะเลน้อย ความตั้งใจที่อยากพัฒนาเสื่อกระจูดและชุมชนจึงค่อยๆ เกิดเป็น VARNI Craftstay โฮมสเตย์ที่มีกิจกรรมทั้งเวิร์กช็อปงานหัตถกรรม พาชมนก ชมปลา และเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน

ภาพจาก Varni Craft

“แต่ก่อนเวลาไปออกงานในพื้นที่ต่างๆ เรามีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อออกสินค้าให้คนเห็น ย้อนกลับมาเราให้คนข้างนอกเข้ามาพื้นที่ชุมชนเราน่าจะดีกว่า พอเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ก็ค่อยๆ ทำห้องพักขึ้นมาทำละห้อง จนตอนนี้มีทั้งหมด 12 ห้อง”

แต่ละห้องตกแต่งไม่เหมือนกันเลย และมีการหมุนเวียน นำสินค้าที่พัฒนาออกใหม่เข้ามาจัดวางในห้อง เป็นข้าวของเครื่องใช้ เหมือนโชว์รูมย่อยๆ ให้นักท่องเที่ยวเห็นโดยที่ยังดึงดูดใจให้อยู่เที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชนไปด้วย

ปัจจุบันนอกจากห้องพักทั้ง 12 ห้องแล้ว ในกลุ่มวิสาหกิจยังมีคนในชุมชนมาทำงานร่วมกัน มีการทำเวิร์กช็อปให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้งานหัตถกรรมด้วย เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ ตอนนี้ในกลุ่มยังมีช่างปัก 15 คน และช่างสานกว่าร้อยคน ร่วมกันสร้างผลงานใหม่ๆ ให้กับ VARNI Craft

 

บริหารจัดการชุมชนและภายในองค์กรให้ดี

…ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญ

 

พางานเสื่อไทยร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลก

งานของ VARNI Craft ยังได้เข้ามาร่วมจำหน่ายกับ คิง เพาเวอร์ รางน้ำ และที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นด่านหน้าต้อนรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยและยังส่งนักท่องเที่ยวกลับบ้าน มีกลุ่มลูกค้าจากหลายประเทศ รวมถึงได้โอกาสร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลก อย่าง Porsche ทำเป็นกระเป๋าของขวัญช่วงเทศกาลปีใหม่ 2024 กระเช้าปีใหม่ให้แบรนด์ระดับโลกอย่าง Starbucks ในไทย

ภาพจาก Varni Craft

“งานของเราเป็นงานฝีมือและใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เราก็กลับมาเรื่องการบริหารจัดการในองค์กร ถามแม่ๆ ป้าๆ ว่าเรามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน วันหนึ่งทำได้กี่ใบ มีกระจูดเพียงพอหรือเปล่า เราก็เพิ่มกลุ่มเครือข่ายอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างจังหวัดนครศรีธรรมราชมาช่วยผลิตด้วย”

 

ถาม-ตอบ

สิ่งน่ารู้จากเจ้าของแบรนด์

Q: คุณมีมุมมองอย่างไรกับตลาดการแข่งขันสินค้างานหัตถกรรม

A: “มองว่าถ้ามีการแข่งขันเมื่อไหร่มันเป็นโอกาสที่ดีมาก ทุกๆ แบรนด์จะมี
การพัฒนาสินค้า คุณภาพ แล้วเงินก็จะไปสู่ชาวบ้านทั้งหมด เรามองภาพลักษณ์ในเชิงบวก
จะได้พัฒนาตัวเองด้วย ถ้าเราไม่พัฒนาเลย เราก็จะไม่มีออร์เดอร์ ไม่มีรายได้”

 

ด้วยเป็นงานหัตถกรรมชุมชนและปริมาณที่ต้องทำเป็นหมื่นชิ้นกับระยะเวลาจำกัด การจัดการหลังบ้านจึงสำคัญ ซึ่งก็ได้กลุ่มวิสาหกิจในเครือข่ายมาร่วมแรงกันสร้างสรรค์ขึ้น งานนี้นำพามาทั้งความสุข ความภูมิใจและรายได้ให้กับชุมชน

“อันดับแรกเป็นเรื่องของความภูมิใจของชาวบ้านของเรา จากเสื่อธรรมดาที่เราเห็นว่ามันไม่ค่อยมีมูลค่าแต่แบรนด์ใหญ่ๆ มองเห็นคุณค่าของงานและคุณค่าของฝีมือชาวบ้าน มันสร้างความภูมิใจให้กับคนในพัทลุงได้เลย แล้วก็สิ่งสำคัญคือทำให้คนในชุมชนยิ้มได้ มีใช้ มีกินได้”

ภาพจาก Varni Craft

ในมุมของการเป็นนักออกแบบ เจ้าของแบรนด์ พัฒนางานหัตถกรรมพื้นบ้านจนสร้างชื่อ คุณนัทเล็งเห็นว่างานหัตถกรรมไทยมีดีมากๆ ขาดแค่เรื่องเดียวคือ…

“หัตถกรรมไทยของเราต้องใช้เรื่องการดีไซน์ พึ่งพางานออกแบบ ด้วยความเคยชินชาวบ้านก็จะทำแบบเดิมๆ แต่เขาก็ยังมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนการตลาด อยากให้คนรุ่นใหม่ที่จบด้านการออกแบบเข้ามาช่วยชุมชนมากขึ้น เพราะถ้าเราปรับเปลี่ยนนิดเดียวก็สามารถไปสู่ตลาดสากลได้”

 

มองศักยภาพที่มีและมองข้ามไปสู่สากล

เพื่อยกระดับผลงาน

 

วันนี้ผลงานของคุณนัทและ VARNI Craft ไม่ได้อยู่แค่ในสายตาคนไทยแต่ออกสู่สายตาชาวต่างประเทศ ส่งออกหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกาด้วย พาทั้งชื่อเสียงและความภูมิใจมาสู่ชาวชุมชนทะเลน้อย

ภาพจาก Varni Craft

หลังจากได้พูดคุยกับคุณนัท สิ่งที่สัมผัสได้คือความภูมิใจในงานหัตถกรรมที่ฝังอยู่ในตัวและความหวังดีที่จะพาชุมชนเติบโตไปพร้อมกัน นี่น่าจะเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่จะทำให้คนๆ หนึ่งสามารถสร้างสิ่งดีๆ ที่มีคุณค่าออกมาได้ ซึ่งเราคิดว่าสิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นความสุขให้กับทุกคนแล้ว ความสุขก็หมุนวนกลับมาสู่ตัวคุณนัทในท้ายที่สุด

 

ผจญไทย EP.36ทำกระเป๋ากระจูดแสนเก๋ @VARNI Craftstay จังหวัดพัทลุง

Author

วรากร เพชรเยียน

Author

อดีตแอร์โฮสเตสผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้หลงใหลศิลปะและการเดินทาง นิยมการบอกรักประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ

Web Editor

ปิ่นอนงค์ วัชรปาณ

Web Editor

บรรณาธิการเว็บ Thaipower.co อดีตบรรณาธิการบางสำนัก นักข่าวและคอลัมนิสต์จำเป็น โกสต์ไรเตอร์...ผู้รักการเดินทาง หลงใหลกลิ่นกาแฟ และเป็นมูฟวีเลิฟเวอร์

Author

บริษัท ยานแม่ จำกัด

Photographer

เป็นโปรดักชั่น เฮาส์ ที่ไม่ได้คิดนอกกรอบ เเต่คิด...นอกโลก