Summary
คุยกับทีมดีไซน์และแบรนด์ดิ้งจาก Multiply by eight (X8) ผู้อยู่เบื้องหลังยาดม Pastel Creative, มหานคร แบรนด์ไลฟ์สไตล์แฟชั่น และโพรดักต์ LCFC ที่ทำร่วมกับชุมชน ถึงงานดีไซน์ของทั้งสามแบรนด์คนไทยที่หลายคนคุ้นเคย…ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานดีไซน์ทั้งหมดจาก “X8”
“It always seems impossible until it’s done. แจมว่าประโยคนี้มันอิมแพ็กกับคนเหล่านี้มาก พี่ๆ ทุกคนรับบทหนักมากในการทำงานที่เหมือนจะเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ มันไม่ใช่แค่การปล่อยโพรดักต์ แต่มันคือพลังกาย พลังใจของทุกคนที่อยากส่งมอบสินค้าดีดีออกไปสู่ตลาด ทุกอย่างที่เป็น X8 ในวันนี้ล้วนเกิดจากคนเหล่านี้ มันคือคน ไม่ใช่สิ่งของ”
เหมือนได้ตอนจบของบทสัมภาษณ์ที่ต้องการทั้งที่เพิ่งเริ่มคำถามไปได้เพียงข้อเดียว
คำถามด้นสดที่หวังละลายพฤติกรรมหนุ่มหัวดีไซน์และแบรนด์ดิ้งทั้งห้าคน (ที่ทางแบรนด์ส่งตัวแทนมาร่วมพูดคุย) และคุณแจม ผู้หญิงหนึ่งเดียวบนโต๊ะสัมภาษณ์ในออฟฟิศ Multiply by eight (X8) ซึ่งเป็นต้นทางของโพรดักต์เจ๋งๆ กับแบรนด์ไทยชื่อคุ้นหูอย่าง ยาดมจาก Pastel Creative, มหานคร แบรนด์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ รวมถึงโพรดักต์ LCFC ที่ไปวางขายไกลถึงเลสเตอร์ซิตี้ และอื่นๆ อีกมากมาย
เช้านั้นมี คุณแจม – วาธิณี สุธาเกียรติสกุล Head of Corporate Branding & Design
และทีมดีไซน์และแบรนด์ดิ้ง อย่าง คุณบิ๊ก – ชวลิต วิรุฬห์ธนวงศ์ Section Manager – Product Design & Develop คุณโอม – นวพร อำนวยพร Art Director คุณหมี – ชานนท์ วิทูรธนไพบูลย์ Specialist – Branding & Creative คุณแบ๊งค์ – พงษ์พิสุทธิ์ ตระกูลวิวัฒน์ Specialist – Branding & Creative และคุณแพ๊ค – ปกรณ์ วงษ์กิตติไกรวัล Specialist – Branding & Creative มานั่งล้อมวงเล่าเบื้องหลังของผลงานที่ผ่านมือ กะเทาะแง่มุมงานดีไซน์ให้เราได้รู้จักพวกเขามากขึ้น
คุณแจม วาธิณี – คุณบิ๊ก ชวลิต
คุณโอม นวพร – คุณหมี ชานนท์
คุณแบ๊งค์ พงษ์พิสุทธิ์ – คุณแพ๊ค ปกรณ์
จากเฮาส์แบรนด์ของ คิง เพาเวอร์ Multiply by eight ออกมาเฉิดฉายเป็นบริษัทของตัวเอง โดยมีคุณวิชัย ศรีวัฒนประภาและครอบครัว เป็นผู้ให้โอกาส และคุณหนาม – รวิ อิทธิระวิวงศ์ CEO of Multiply by eight เป็นหัวเรือใหญ่นำทีมพาเฮาส์แบรนด์ตั้งแต่ช่วงบุกเบิกเริ่มต้นออกมาเติบโต ทำให้คนต่างชาติและคนไทยได้รู้ว่าเมืองไทยมีสินค้าที่ดีและมีคุณภาพอยู่ เป็นสมการคูณอนันต์ที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนโดยมี design และ innovation เป็นแกน
“เราเชื่อว่าดีไซน์มีพลังในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือ category ใหม่ๆ ให้กับโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นทุก แบรนด์เราใช้ดีไซน์เป็นหลัก แล้วเมื่อทุกคนเชื่อเหมือนกัน มันก็จะถูกถ่ายทอดไปสู่ process, touchpoint ในที่สุดความเชื่อของเราก็จะถูกส่งไปถึงลูกค้า” คุณแจมเล่า
ถ้าเช่นนั้นในฐานะคนทำงานบริษัทดีไซน์มีมุมมองกับงานดีไซน์ยังไง และงานที่ขายได้จำเป็นต้องมีอะไร?
“งานดีไซน์ไม่ใช่แค่งานอาร์ตด้วยซ้ำ มันเหมือนงานที่แก้ปัญหา เวลามี pain point ดีไซน์ต้องเอา solution เข้าไปแก้ปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหา” คุณโอมตอบ
“อย่างที่พูดว่าดีไซน์ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา แบรนด์ที่นำเสนอได้สตรองที่สุดน่าจะเป็น Pastel Creative สิ่งที่แจมและทีมได้รับโจทย์จากคุณหนามมา คือใช้ดีไซน์ในการแก้ไขปัญหา” คุณแจมเสริม
ขบคิดประเด็นกับทีม Branding & Design จาก X8
• ก๊อบปี้กับได้แรงบันดาลใจ ต่างกันตรงไหน?
“งานที่ได้ inspire มันอาจจะไม่เหมือนเลย
แต่มีกลิ่นอายเชื่อมโยงกับอะไรบางอย่าง
ส่วนตัวคิดว่างาน original มันไม่มีแล้วหรือหายากมาก
ที่จะคิดอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นเคยทำมาแล้วมีปัญหา
ถึงเอามาต่อยอดให้ดีขึ้น”
คุณหมี Specialist – Branding & Creative
Pastel Creative ยาดมฝาไม่หาย
ยาดมพาสเทลถูกพัฒนาขึ้นในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 แต่แม้จะอยู่ในช่วงโรคระบาด สิ่งที่หลายคนพกกลับไม่ใช่สเปรย์แอลกอฮอล์แต่เป็นยาดม จนในที่สุดก็เจอ pain point ที่ยังไม่มีใครแก้.. คือยาดมที่ฝาไม่หาย
สเกตช์จากคุณหนามกว่า 300 แบบถูกคัดจนได้ดีไซน์นำมาต่อยอดเป็นยาดมสไลด์เปิดฝาไม่หาย “ดีไซน์เพรียวบาง เป็น unisex product และ user friendly มากๆ รูระบายอากาศหน้ายิ้มคุณหนามเป็นคนให้โจทย์ทำยังไงก็ได้ให้ใส่ดีไซน์หน้ายิ้มลงไป สิ่งเหล่านี้มันถูกคิดมาตั้งแต่วันแรกแล้วเราพยายามพัฒนามาเรื่อยๆ จนสุดท้ายกลายเป็นหน้ายิ้มที่เราวาดไว้” คุณแจมเล่า
“หนึ่งโพรดักต์ของทาง Pastel Creative เราพยายามคิดให้ครบ 360 องศา พยายามคิดวนลูปว่ามันสามารถพัฒนาเพิ่มอะไรต่อไปได้บ้าง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต” คุณแบ๊งค์เสริม
สายคล้องคอ แอกเซสซอรีล้วนผ่านการคิดมาตั้งแต่ต้น พลิกมุมมองยาดมคร่ำครึเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ที่คนรุ่นใหม่หยิบใช้ได้ไม่ต้องเขิน ยาหม่องสติ๊กดีไซน์แท่งหมุนฝาไม่หาย โพรดักต์ไลน์ที่แตกแขนง ยาดมอีกกว่า 6 กลิ่น และแบบ Refillable ที่ตอบแนวคิดความยั่งยืน ซึ่งได้รับการรับรองผ่าน อย. แล้วทั้งสิ้น
“ยาดมพาสเทลแบบฝาไม่หายและรีฟิลได้มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นด้วยซ้ำ”
ผลงานสร้างสรรค์ส่วนหนึ่งจาก Pastel Creative
(ภาพจาก Facebook: Pastel Creative)
Pastel Creative (ส่วนที่ครีเอตและผลิตยาดมพาสเทล) ยังแตกไลน์ออกไปเป็น Pastel Creative Wear แบรนด์กระเป๋าผ้าที่เน้นเรื่องฟังก์ชัน น้ำหนักเบา ดีไซน์งานสาน และ Pastel Life Club โพรดักต์เหล่านี้ตอบ 4 Bodies – Spiritual body, Mental body, Emotional body และ Physical body สมดุลชีวิตทั้งสี่ที่อยู่ในตัวเราทุกคน ซึ่งเป็น Core หลักของ Pastel Creative ทั้งหมด
ถ้าหากยาดมสามารถพลิกโฉมได้ด้วยดีไซน์ แล้วกับความเป็นไทยจะสามารถหยิบจับส่วนไหนมาเล่นได้บ้าง เบื้องหลังกว่าจะมาเป็นสินค้าจาก มหานคร แบรนด์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ถูกคิดมายังไง?
Suggestion
เล่า ‘ความไทย’ ในแบบ ‘มหานคร’
ถ้าหากช้าง ยักษ์ มวยไทย คือเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่เข้าใจง่ายของการจำหน่ายสินค้า Souvenir ของมหานคร การทำสินค้าไลฟ์สไตล์ให้คนไทยกล้าใส่ กล้าใช้ โดยไม่รู้สึกเชย ทีมดีไซน์มีวิธีคิดยังไงไม่ให้ซ้ำเดิม อย่างคอนเซปต์มวยไทย?
“นี่แหละคือความชาเลนจ์ว่าจะเป็นมวยไทยในรูปแบบไหน คอลเลกชันแรก เราอยากจะทำกางเกงมวย เราก็ต้องหาคอนเซปต์มาครอบ ใช้เทรนด์ สีสันที่ดูแล้วไทยเลย คอลเลกชันต่อมาอยากให้มีความ Asian Style สีเปลี่ยนเป็นโทนแดง เขียวมินต์ มีน้ำเงินแซมเข้ามาก็จะให้อีกสไตล์หนึ่ง บางทีถ้าในอนาคตเทรนด์ลายพรางมา เราก็อาจจะเอาความเป็นไทยบวกกับเทรนด์ในตอนนั้นไปเรื่อยๆ เราก็ต้องคาดเดาไปเรื่อยๆ” คุณหมีตอบ
มหานคร เน้นคอนเซปต์นำเสนอความเป็นไทย หยิบศิลปะ วัฒนธรรมไทย sub-culture ไทยหรือสถานที่มาใส่ความครีเอทีฟเข้าไป ท่ามกลางคอลเลกชันที่ผ่านมา คุณหมีก็มีคอลเลกชันที่เป็นที่สุดเหมือนกัน
“คอลเลกชัน Descendants of The Dragon ตอนนั้นเราเสพงานซิตี้ป็อปแต่ก็ยังไม่ค่อยเห็นในเมืองไทย ตอนนั้นโจทย์จากมาร์เก็ตติ้ง เขาอยากขายความเป็นมังกร เราก็เอาโจทย์นั้นมาว่าเราจะทำยังไง จะเนียนความเป็นมังกร มีความเป็นจีนและไทยยังไงจนเลือกเป็นเยาวราช สิ่งที่ภูมิใจก็คือผมนั่งเขียนแบบนั้นเอง แล้วมันมีกระแสของลิซ่าพอดี เลยทำให้กระแสของเสื้อตัวนี้ดีไปด้วยเลยรู้สึกว่าเราคิดถูกนะที่เลือกเยาวราช”
ผลงานสร้างสรรค์ส่วนหนึ่งจาก มหานคร เสื้อผ้าแนวสตรีท
(ภาพจาก Facebook: Mahanakhonshop_bkk)
ฟังแล้วยิ่งตอกย้ำแง่มุมของคุณโอมที่ว่า คอนเซปต์ที่ถูกเลือกในแต่ละครั้งล้วนมาจากสิ่งที่ผู้ออกแบบเสพนี่แหละ..
“เวลาที่คนจะออกแบบก็ต้องเสพงานศิลปะ มันก็น่าจะมาจากตัวคนออกแบบเองนี่แหละ ผสมระหว่างความรู้ที่มีที่คิดว่าน่าจะสวยในมุมมองเราผสมกับเทรนด์ในตอนนั้นแล้วออกมาเป็นงานที่ใหม่ขึ้น จุดที่ว่าจะโอเคหรือไม่ก็น่าจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์”
ขบคิดประเด็นกับทีม Branding & Design จาก X8
• ถ้าอยากทำงานในบริษัทดีไซน์ ต้องมีอะไร?
“ถ้าดีไซน์เนอร์ที่อยากมาจอยกับเราต้องมีแพสชัน
อดทนไม่ยอมแพ้ มองโลกในแง่ดี
พี่ๆ เขามีความสามารถในการปรับตัว การมองโลก
มองงานดีไซน์เฉียบขาดมากๆ”
คุณแจม
Head of Corporate Branding & Design
LCFC ทีมดีไซน์กับงานชุมชน
ถ้ามหานครคือการที่จับความเป็นไทยมาเล่าใหม่ให้คนไทยใช้ คอลเลกชัน LCFC ประจำปีในแต่ละปีที่ทำร่วมกับชาวบ้านก็คือการจับหัตถกรรมชุมชนเล็กๆ มาเล่าให้คนต่างชาติเห็นโดยมีกีฬาฟุตบอลเป็นตัวเชื่อมโยง ซึ่งจุดหมายไม่ใช่แค่การเอาฝีมือดีไซน์คนรุ่นใหม่ไปช่วยพัฒนาหมู่บ้าน แต่เชื่อมโยงถึงการท่องเที่ยวในชุมชน และพัฒนาวิถีการทำงานของชุมชน
“เราเอาลายผ้ามาดีไซน์ใหม่หมดแล้วผลักดันให้ชาวบ้านออกจาก save zone เวลาพี่บิ๊กไปก็จะมีลายไปให้ชาวบ้าน เขาก็จะได้ทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ มันเหมือนได้ชาเลนจ์เขา แล้วทำให้รู้สึกว่าเขาสามารถพัฒนาลายผ้าของเขาได้อีก ส่วนเราก็เอาลายผ้าที่เราออกแบบมาดีไซน์ใหม่ให้มันดูแฟชั่นขึ้น” คุณแพ๊คเล่า
ความยากอีกหนึ่งอย่างคือ ระยะเวลาการทำงานที่ทุกงานหัตถกรรมเป็นความลงมือลงแรง
“เวลาทำงานกับชาวบ้านจะใช้เวลานานมากเพราะมันคืองานคราฟต์ ล่าสุดคอลเลกชันบ้านเชียงรายเขาทำได้วันละเมตร แล้วเราทำเสื้อผ้าร้อยตัว เสื้อหนึ่งตัวใช้ผ้าสองเมตรเลยใช้เวลานานมาก แต่พองานของเขาไปวางขายที่อังกฤษ เขาก็จะรู้สึกว่าภูมิใจที่จะร่วมงานกับเรา” คุณบิ๊กช่วยเสริมประเด็น
ส่วนคอนเซปต์ของแต่ละคอลเลกชัน ก็มาพร้อมกับการสร้างสตอรีที่เชื่อมโยงทั้งวิถีชุมชน ภูมิศาสตร์และกีฬาฟุตบอลเข้าด้วยกัน เป็นความท้าทายที่เราเองก็อดชื่นชมคนที่อยู่เบื้องหลังไม่ได้ อ่านเรื่องราวของ LCFC Special Collection ล่าสุด คลิกที่นี่
ผลงานสร้างสรรค์ส่วนหนึ่งจาก LCFC Special Collection
(ภาพจาก www.thaipowermarket.com)
จากความภูมิใจของชาวบ้าน กับคนที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง โมเมนต์ไหนหรืออะไรที่ทำให้แต่ละคนภูมิใจบ้าง?
“ผมทำ LCFC กับพี่บิ๊ก มันคือการที่เราทำให้ผ้านี้มีมูลค่าด้วยดีไซน์ใหม่ๆ มุมมองใหม่ๆ แล้วได้ออกไปสู่ต่างประเทศ ให้ต่างชาติเห็นว่าผ้าไทยสามารถทำอะไรได้มากกว่าผ้าผืนหรือเสื้อผ้าขาวม้า” คุณแพ๊คกล่าว
“แค่เดินตามห้างแล้วเห็นคนใช้แบรนด์ของเรา เราถ่ายรูปไว้เลย แสดงว่ามันประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว แค่นั้นเลย แค่เขาซื้อของเราไป” คุณบิ๊กตอบพร้อมกับเปิดรูปถ่ายในโทรศัพท์ให้ดู เป็นภาพแอบถ่ายกระปุกยาดมพาสเทลฯ
“ถ้าพูดถึงแง่ของความภูมิใจในการทำงานมันคือการได้ใส่ใจรายละเอียดในทุกโพรดักต์ ทุกดีเทล เราใส่ใจและให้คุณค่ากับผลงานทุกชิ้นงานจริงๆ นี่แหละครับความภูมิใจ” คุณแบ๊งค์เสริม
“แจมภูมิใจในตัวพี่ๆ และทีมทุกคนมากกว่า ที่นี่เราเป็นบริษัทดีไซน์ เพราะฉะนั้นเราใช้ดีไซน์ลีด ด้วย timeline ที่มี พวกเขาสามารถทำให้สินค้ามีทั้งคุณภาพ ฟังก์ชัน ดีไซน์ มีทุกอย่างครบ น่าจะเป็นความภูมิใจกับพวกเขาทุกคน”
ตลอดหนึ่งชั่วโมงที่นั่งคุยกัน เราได้เห็นทั้งโมเมนต์ของการขบคิดประเด็นที่มองต่างมุมและเห็นพ้องกันบ้าง เล่างานที่ตัวเองรับผิดชอบบ้างและมีเสียงหัวเราะดังสลับบ้าง เป็นช่วงเวลาที่น่ามองที่ทำให้ได้เห็นมุมหนึ่งของคนที่ทำงานในบริษัทดีไซน์และน่าเสียดายที่ตัวอักษรไม่อาจจรดได้ครบถ้วน ยังมีผลงานสร้างสรรค์อีกหลากหลายในนามของ Multiply by eight โดยสามารถติดตามที่นี่
สุดท้ายเราคิดว่าในวัฏจักรของการทำงานดีไซน์น่าจะเป็นการวนกลับไปถึงคนที่อยู่เบื้องหลัง คนที่มีแพสชันเต็มเปี่ยม หลงใหลในงานอย่างลึกซึ้งและมองไกลกว่าแค่ความชอบที่เป็นปัจเจก คงจะเป็นอย่างที่คุณแจมพูดไว้ตั้งแต่แรกนั่นแหละ
“ทุกอย่างที่เป็น X8 ในวันนี้ล้วนเกิดจากคนเหล่านี้ มันคือคน ไม่ใช่สิ่งของ”