Passion

คุยกับ จอย ฐิตาภา ‘Stories of Silver’
ในวันที่ค้นพบวิธีสร้างผลงานจากสติและความเพียร

อลิษา รุจิวิพัฒน์ 28 Apr 2025
Views: 538

Summary

ออกเดินทางค้นหาตัวตนของแบรนด์ ‘Stories of Silver’ กับ คุณจอย – ฐิตาภา ตันสกุล ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้ง แบรนด์ ที่นำไปสู่การค้นพบพื้นที่ความสงบทางใจ แพสชันใหม่ และการก่อร่างเป็นภารกิจครั้งใหญ่ด้วยการเชื่อมโยงโลกความงามให้กับคนตาบอด

ขอบคุณภาพจากคุณฐิตาภา

สำหรับ คุณจอย – ฐิตาภา ตันสกุล เจ้าของแบรนด์ Stories of Silver การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักผ่านเครื่องเงินกะเหรี่ยง โดยชาวกะเหรี่ยง หมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ยังไม่ยากเท่า ‘การรู้จักตัวตนที่แท้จริงของแบรนด์’

เธอสารภาพว่า “หลงทางมาเป็น 10 ปี เข้าใจมาตลอดว่าจุดเด่นของเราคือ เครื่องเงินกะเหรี่ยงทำมือ จนกระทั่งมีลูกค้าเดินมาบอกว่าชอบงานเรานะ แต่พอหยิบขึ้นมามันไม่ใช่งานเรา นั่นเป็นจุดที่ทำให้กลับมาคิดว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเป็น ไม่ใช่ตัวตนของแบรนด์”

ขอบคุณภาพจากคุณฐิตาภา

“การทำงานกับชุมชนตลอด 12 ปี สอนเรื่องการดำเนินชีวิต

ด้วยสติและความเพียร สอนให้เราหยุดพักท่ามกลางโลกที่วุ่นวาย

แล้วหันกลับมาดูใจตัวเอง นี่คือสิ่งที่คนยุคนี้ต้องการ”

ฐิตาภา ตันสกุล
เจ้าของแบรนด์ Stories of Silver

 

ตัวตนของฉัน

“อยากทำแบรนด์ตั้งแต่เรียนจบเลยค่ะ” เธอฝันอยากทำงานด้านดีไซน์มาตั้งแต่เด็ก ถึงขั้นสอบเข้า มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ “แต่คุณพ่ออยากให้เรียน BBA ที่ธรรมศาสตร์ จบมาเลยไปทำงานเป็นนักวิจัยการตลาด” ดีที่เมล็ดพันธุ์ความฝันยังงอกงาม ระหว่างทำงานเธอจึงลงเรียน Interior & Product Design จาก Accademia Italiana ซึ่งเป็นหลักสูตรที่รับรองโดย University of Wales ประเทศอังกฤษ ควบคู่ไปด้วย

“มีวิชาหนึ่งพูดเรื่อง ‘Sustainable Design’ คนมักคิดว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องของธรรมชาติเท่านั้น แต่อีกสาขาคือเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรม ทำอย่างไรให้ชุมชนมีความยั่งยืน จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้โฟกัสสิ่งนี้”

ขอบคุณภาพจาก Stories of Silver

เธอตัดสินใจชวน ลูเซีย แปราโก นักออกแบบชาวสโลเวเนีย อดีตอาจารย์ของเธอเองมาเป็นหุ้นส่วน “เริ่มแรกมองธุรกิจที่ขายออนไลน์ได้ เข้าถึงต่างชาติได้ ขนส่งง่าย และต้องเป็นงานคราฟต์ที่สามารถสร้างสิ่งดีๆ ให้กับชุมชน จนกระทั่งมีคนแนะนำให้รู้จักกับหมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม “เราชอบความดิบของเครื่องเงินกะเหรี่ยงที่เน้นผิวสัมผัส ไม่ขัด ไม่เคลือบ ไม่ชุบ เป็นสัจจะวัสดุ การทำงานกับชุมชนปีแรกๆ เป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราเข้าไปในฐานะผู้ที่ขอเรียนรู้วิธีการทำงานของเขา เพราะไม่ว่าอย่างไร ดีไซเนอร์ไม่มีทางรู้ดีเท่ากับช่างฝีมือ ผลงานช่วงแรกมันจึงเหมือนงานทดลอง”

เธอยังเล่าต่อว่า ช่วงแรกโฟกัสงานดีไซน์เป็นหลัก แม้จะพยายามดึงอัตลักษณ์เครื่องเงินกะเหรี่ยงของชุมชนมาเป็นพระเอก แต่กลับลืมว่า “ทุกแบรนด์คิดไม่ต่างกัน เหมือนเป็นกับดัก ซึ่งคนที่จะตัดสินว่าแบรนด์เรามีตัวตนที่ชัดเจนหรือไม่ ก็คือลูกค้า”

 

คำถามสำคัญ ‘ทำไมถึงเลือกชุมชนพระบาทห้วยต้ม’

“จุดเปลี่ยนที่พาเราไปพบตัวตนที่แท้จริงของแบรนด์คือ ตอนเข้าร่วม ‘โครงการพอแล้วดี The Creator’ เราได้กลับมาถามคำถามสำคัญคือ ทำไมถึงเลือกชุมชนนี้? เขามีอัตลักษณ์ที่ต่างจากคนอื่นยังไง? และอะไรที่เราอยากส่งต่อให้กับลูกค้า?”

ขอบคุณภาพจาก Stories of Silver

“คำตอบที่ได้คือ ที่นี่เป็นหมู่บ้านมังสวิรัติแห่งเดียวของไทย ทุกคนปฎิณาณตนว่าจะกินมังสวิรัติ จากความศรัทธาต่อหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านแห่งนี้ คนที่นี่จึงดำเนินชีวิตด้วยความศรัทธา พอใจกับชีวิตที่เรียบง่าย อยู่ร่วมกันอย่างสงบร่มเย็น

ทุกวันพระ ทุกคนจะหยุดทำงานเพื่อไปเข้าวัด เหนือสิ่งอื่นใด การทำงานกับชุมชนตลอด 12 ปี สอนเรื่องการดำเนินชีวิตด้วยสติและความเพียร สอนให้เราหยุดพักท่ามกลางโลกที่วุ่นวาย แล้วหันกลับมาดูใจตัวเอง นี่คือสิ่งที่คนยุคนี้ต้องการ มันคือคุณค่าทางจิตใจที่ชุมชนแห่งนี้เป็น

นี่คือสิ่งที่เราอยากส่งต่อพลังดีๆ ที่มาจากความเพียรเป็นเครื่องเตือนให้ทุกคนใช้ชีวิตด้วยสติ ให้เครื่องเงินของเราเป็นสิ่งที่ช่วยดึงเข้ากลับมาในพื้นที่ที่สงบ ไม่ว่าจะสุขหรือเศร้า”

 

“การตีเงินของคนในชุมชนด้วยเครื่องมือน้อยชิ้น
สะท้อนให้เห็นสัจธรรมที่ว่า
ไม่ว่าใครก็สร้างสิ่งสวยงามได้จากสติและความเพียร”


ความงามที่สรรค์สร้างจาก ‘สติและความเพียร’

ถ้าให้ไล่เรียงคอลเลกชันที่สื่อถึง ‘สติและความเพียร’ เพียงหน้ากระดาษเดียวคงไม่พอ เลยขอให้เธอยกตัวอย่างคอลเลกชันที่ถ่ายทอดจิตวิญญาณของชุมชนและตัวตนของแบรนด์ได้ชัดเจนที่สุด

“คอลเลกชัน ‘Genesis’ น่าจะชัดเจนที่สุด และยังเป็นคอลเลกชันที่ได้รางวัลรางวัลชนะเลิศ International Craft Creation Concept Award 2023  จากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ด้วย”

ขอบคุณภาพจาก Stories of Silver

Genesis: Malai สร้อยมาลัยเงิน เป็นชิ้นงานที่ครูช่างได้แรงบันดาลใจมาจากพระเจดีย์ศรีเวียงชัย ซึ่งเป็นศูนย์ร่วมความศรัทธาของคนในชุมชน โดยหยิบเอาวิถีของคนในชุมชนเวลาสวดมนต์จะนับลูกประคำ 108 เม็ด มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำเม็ดเงิน 108 เม็ด อีกทั้งนำรูปทรงของเจดีย์ศรีเวียงชัยมาเป็นแรงบันดาลใจในการขึ้นรูป โดยมีวงแหวน 3 วง วงกลางแทนทางสายกลางเพราะเรียบที่สุด อีกวงผิวขรุขระ ส่วนอีกวงแหลมคม ต่อมาคือการดีไซน์พู่ห้อยให้เป็นเลข 8 แทนการนับแปดให้เดินทางด้วยกันเพื่อไปสู่ความสุข และสุดท้ายคือ ตะขอเป็นรูปตา สื่อให้มองด้วยตาไม้

“จริงๆ ทุกชิ้นจะมีกิมมิกที่สามารถหมุนไปมาได้ เหมือนเป็นเครื่องเตือนใจให้เราหาทางกลับมาอยู่กับปัจจุบัน”

คอลเลกชันที่ทำงานร่วมกับสมาคมคนตาบอด ก็จะมีสิ่งที่สื่อสอดแทรกไปในงานดีไซน์ อย่างคอลเลกชัน Reflection ที่ร่วมออกแบบกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย นำอัญมณีหินสีมาผสานกับเครื่องเงิน

ขอบคุณภาพจาก Stories of Silver

“เมื่อก่อนเคยคิดว่าเครื่องประดับคนตาบอดไม่จำเป็นต้องมีสีสันก็ได้ แต่ความจริงแล้ว คนตาบอดมีหลายขั้น บางคนเห็นเลือนลาง บางคนเคยเห็นมาก่อนแล้วเพิ่งจะตาบอด สีสันมันเลยกลายเป็นตัวแทนความรู้สึก นอกเหนือไปจากรูปทรงของหิน”

“กลายเป็นว่าตอนนี้ สัญลักษณ์ของเราจะมีสองส่วน ส่วนหนึ่งจะสื่อถึงชุมชน พุทธศาสนาที่แฝงด้วยคติและคำสอน อีกส่วนเป็นงานที่ทำเพื่อคนตาบอด เพราะทุกคอลเลกชันที่ทำร่วมกับสมาคมฯ จะบริจาค 19% ให้กับทางสมาคมฯ”

 

ความงามที่ไม่ต้องมองด้วยตา  

ผลลัพธ์จากการค้นหาตัวตนของแบรนด์ ไม่เพียงพาเธอพบกับพื้นที่สงบของใจ แต่ยังต่อยอดไปสู่ ‘แพสชันใหม่’ ที่กำลังก่อร่างเป็น ‘ภารกิจใหญ่’ ด้วยการเชื่อมโยงโลกความงามให้กับคนตาบอด

“กลางปีที่แล้วเราจัดนิทรรศการ Love is not blind เพื่อให้คนตาบอดได้มีโอกาสชมงานศิลปะเหมือนกับคนตาดี เป็นการต่อยอดจากโพรเจกต์ ‘Touching beauty, silvery nights’ ที่ทำร่วมกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เรารู้สึกว่าทำไมคนตาบอดกับคนตาดีถึงอยู่ในมิวเซียมเดียวกันไม่ได้ ทั้งๆ ที่ศิลปะเป็นสิ่งที่หลอมรวมผู้คนไว้ด้วยกัน แต่ตอนนี้ศิลปะกลับทำหน้าที่ขวางกั้น เวลาเข้ามิวเซียมมีป้ายตั้งไว้ว่า ‘ห้ามจับ’ แล้วคนตาบอดจะเข้าถึงยังไง เท่ากับเราไม่มีพื้นที่ให้พวกเขา การจัดนิทรรศการ คือก้าวแรกของการมอบพื้นที่ให้คนตาบอดได้เข้าไปมิวเซียม ขณะเดียวกันคนตาดีจะได้มีความเข้าใจโลกของคนตาบอดมากขึ้น”

ขอบคุณภาพจาก Stories of Silver

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแพสชันให้เป็นจริง ‘ต้นทุน’ ก็สำคัญ นิทรรศการปีที่แล้วเธอใช้ทุนตัวเอง แต่ปีนี้เธอตัดสินใจขอทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ซึ่งเป็นทุนที่มุ่งต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรม ยกระดับคุณค่าทางสังคม ผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตามนโยบายขับเคลื่อน soft power ของรัฐบาล และใช่! เธอได้รับทุน

“โครงการที่จะดำเนินการไม่เกี่ยวอะไรกับเครื่องเงินของแบรนด์เลยค่ะ ในมุมธุรกิจอาจเรียกว่าเป็นการสร้าง Branding ในมิติของการส่งต่อความงามที่มากกว่าสิ่งที่เห็นด้วยสายตา ซึ่งเราจะทำงานร่วมกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยเหมือนเดิม”

เงินทุนที่ได้ส่วนหนึ่งจะนำไปทำหนังสือนิทานที่เขียนโดยนักเขียนตาบอด “เราเพิ่งจัดทริปพาคนตาบอดไปที่หมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม ให้เขาไปสัมผัสความรู้สึกต่างๆ ด้วยตัวเองเพื่อมาเขียนเป็นนิทาน จะมีทั้งนิทานภาพวาดระบายสีเพื่อฝึกสติและนิทานภาพนูนสำหรับคนตาบอดชื่อว่า ‘เรื่องเล่าจากหมู่บ้านแห่งแสง’ ตั้งใจจะบริจาค 90 เล่มให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ ที่เหลือจะขายแล้วนำรายได้มอบให้กับ ‘ศูนย์พัฒนาคนตาบอด’”

ขอบคุณภาพผลงานจาก Stories of Silver

“นอกจากนี้เราตั้งใจจะจัดนิทรรศการเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตด้วยสติและความเพียรให้กับเด็กๆ ภายในนิทรรศการจะมีการจัดแสดงผลงานของศิลปินพันธมิตร ศิลปินคนตาบอด และคนในชุมชน     พระบาทห้วยต้ม โดยจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ ที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ”

เธอบอกว่าทุนที่เหลือจะนำไปจัดนิทรรศการหมุนเวียนที่สมาคมฯ หรือไม่ก็ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด และที่สุดท้ายคือหมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม “พอเราเห็นคุณค่าของชุมชนชัดขึ้น เราก็อยากที่จะช่วยให้คนในชุมชนภูมิใจในตัวตนของพวกเขาด้วย เราจ้างเด็กรุ่นใหม่ในชุมชนให้เขาได้มีส่วนร่วมในการจัดงานครั้งนี้ รวมถึงกลุ่มช่างฝีมือและช่างทอผ้า”

“สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำ ก็หวังที่ให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ต่อให้มันเป็นแค่ประกายไฟเพียงน้อยนิดก็ตาม”

 

เป้าหมายชีวิตของเราคือ
การเดินทางที่สามารถพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ
เพื่อไปสู่ความสุขที่เราเชื่อมั่น

ขอบคุณภาพจากคุณฐิตาภา


ว่าด้วยเรื่องของพันธมิตรที่นำไปสู่พันธกิจ Pay it forward

น่ายินดีที่ประกายไฟเล็กๆ นั้นสว่างพอที่จะทำให้คนที่เห็นและเชื่อในสิ่งเดียวกันร่วมมือกัน “รู้สึกไม่เดียวดาย” เธอหัวเราะก่อนจะเล่าว่ามีศิลปินหลายท่านตอบรับทันทีที่รู้ว่าเธอแบรนด์มีแนวคิดอะไร หรือกำลังจะทำโพรเจกต์ใด ไม่ว่าจะเป็นการคอลแลบส์กับแบรนด์ Taki ในคอลเลกชัน ‘Flow’ ที่มีความรักในเครื่องเงินกะเหรี่ยงและทำให้เครื่องเงินจากภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่สูญหายเหมือนกัน

“เป้าหมายปีนี้ไม่ใช่เรื่องกำไรหรือการเติบโตทางธุรกิจ แต่มองการเติบโตทางจิตใจของตัวเองรวมไปถึงการผลักดันให้นิทรรศการเกิดขึ้นตามที่คิดไว้ เราคิดเสมอว่างานของเราจะส่งต่ออะไรให้คนในวงกว้างได้บ้าง และจะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมได้อย่างไร การที่ศิลปินมาเข้าร่วม มันสะท้อนว่าเขาก็เชื่อมั่นในสิ่งเดียวกันเรา เมื่อประตูบานแรกมันเปิดเราเชื่อว่าบานต่อไปก็ไม่ยาก”

ขอบคุณภาพจากคุณฐิตาภา

 

แรงบันดาลใจ

ในการหล่อเลี้ยงเป้าหมาย

• ถามตัวเองอยู่เสมอว่าความตั้งใจแรกในการทำสิ่งนั้นคืออะไร

• หาเวลาออกเดินทางเพื่อเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ

• อ่านหนังสือ “มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า ‘เห็น’
เป็นบันทึกประจำวันที่เขียนโดย พลอย-สโรชา นักเขียนตาบอด
อ่านแล้วรู้สึกว่าเราไม่ต่างอะไรกับคนตาบอดเลย
เพราะน้องกลับมองเห็นในสิ่งที่เรามองไม่เห็น”
กลับชาร์จพลังที่หมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม

 

พื้นที่แห่งโอกาส

แม้เธอจะบอกว่าเป้าหมายใหญ่ไม่ใช่ผลกำไรทางธุรกิจ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นต้องบาลานซ์ธุรกิจให้ไปได้ต่อด้วยเช่นกัน บทเรียนธุรกิจที่เธอได้เรียนรู้จนทำให้เธอขับเคลื่อนธุรกิจได้ไม่ใช่แค่ในประเทศแต่เติบโตไปต่างแดนก็คือ “อยู่ในถูกที่ ถูกเวลา”

เธอเล่าว่า ปีแรกๆ ตั้งใจขยายตลาดและกลุ่มลูกค้าให้กว้างที่สุด สุดท้ายก็พบว่า ไม่ต่างอะไรกับการหว่านแหโดยที่ไม่รู้ว่าปลาที่ต้องการอยู่ในทะเลนี้หรือเปล่า

“ช่วงที่ไปออกงานแฟร์ทำให้เห็นเลยว่าเรากำลังอยู่ในตลาดที่แข่งขันกันด้วยราคา ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ ปีหลังๆ เริ่มหาตลาดที่เขาให้คุณค่ากับงานคราฟต์และให้คุณค่ากับการใช้ชีวิตอย่างมีสติ เริ่มมองหางานที่เกี่ยวกับความยั่งยืนมากขึ้น สุดท้ายเราก็เจอลูกค้าของเรา เจอที่ทางที่ถูกต้อง”

ขอบคุณภาพผลงานจาก Stories of Silver

ร่วมไปถึงการเลือกพาร์ตเนอร์ด้วยเช่นกัน เธอบอกว่า จะเลือกพาร์ตเนอร์ที่ให้คุณค่ากับเรื่องราวหรือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังตัวงาน “บางที่สนใจแค่ดีไซน์เราก็ไม่ไป แต่ถ้าที่ไหนชอบที่มาที่ไปของชิ้นงาน เห็นพ้องกับสิ่งที่เราทำและทิศทางที่เราจะไป มีพื้นที่ให้เราสื่อสารความเป็นตัวเรา เราก็ยินดีที่จะทำงานร่วมกัน อย่าง คิง เพาเวอร์ ชัดเจนเลยว่าให้พื้นที่เล่าเรื่องราวของเราเต็มที่ เราเองเห็นสิ่งที่ คิง เพาเวอร์ ทำมาตลอด นั่นคือการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์ไทยและความสามารถของคนไทยให้ทั่วโลกได้เห็น”

 

บทบาทสำคัญของ “พลังคนไทย”

ปัจจุบัน Stories of Silver วางจำหน่ายที่ King Power City Boutique ที่ One Bangkok และอีกหลายๆ แห่ง (ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเพจของแบรนด์)

“เรามี Shop อยู่ที่สโลเวเนีย ส่วนที่สวิตเซอร์แลนด์ จะเป็นลักษณะของการรับไปขายร่วมกับแบรนด์ของเขา หรือที่สหรัฐอเมริกา สินค้าเราไปอยู่ใน Mingei International Museum (ที่ซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย)  เป็นมิวเซียมเกี่ยวกับงดงามของสิ่งของในชีวิตประจำวันทั่วโลก”

ขอบคุณภาพผลงานจาก Stories of Silver

“การพาตัวเองออกไปข้างนอกมันไม่ใช่แค่การมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการขยายธุรกิจ แต่เรามองว่าเรากำลังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับคนในชุมชมพระบาทห้วยต้ม ไม่ว่าจะแข่งขันการประกวด การเข้าโครงการ หรือไป Milan Design Week ที่อิตาลี ตราบใดที่มีพื้นที่ให้แสดงตัวตนของแบรนด์เราก็จะไป เพื่อให้คนในชุมชนเขาภูมิใจว่าผลงานของเขามีชาวต่างชาติให้คุณค่านะ เราเชื่อว่าทุกแบรนด์ที่ออกไปข้างนอก ส่วนหนึ่งคือต้องการนำเสนอความเป็นไทย ให้เขารู้จักตัวตนที่แท้จริงของคนไทย”

 

การทำงานท่ามกลางคนที่เห็นในคุณค่าเดียวกันและช่วยกันผลักดันให้มันเกิดขึ้น
มันทรงพลังมาก ถึงจะเหนื่อย หรือเครียด แต่ก็มีความสุข

 

ความสุขเกินร้อยความภูมิใจเต็มเปี่ยม

อดไม่ได้ที่จะถามว่าทุกวันนี้ความสุขและความภูมิใจที่สุดในการทำงานคืออะไร ไม่แปลกใจที่เธอจะตอบว่า “มีความสุขในทุกขั้นตอนเลยค่ะ”

“ตอนสวมหมวกนักออกแบบ ตัวตนของเรามันอยู่ลงไปในงานแล้วคนชอบ มันเติมเต็มคุณค่าในตัวเราและพอตัวงานมันส่งคุณค่าด้านอื่นไปด้วย ทั้งเรื่องสติและความเพียร มันก็เติมเต็มความสุขคูณสอง และเมื่อสิ่งที่เราทำมันไปจุดประกายให้คนอื่นความสุขมันก็คูณสาม และเมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกค้าใส่งานเราแล้วเขารู้สึกได้แรงบันดาลใจคราวนี้คูณสี่เลย มันคูณไปเรื่อยๆ จากความสุขเล็กๆ หลายๆ สุขมาร่วมกัน”

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ความสุขคือการได้เห็นจุดที่ตัวเองยืน เห็นทางที่เราจะไปอยู่ชัดเจน และเห็นตัวตนจากงานที่เราทำชัดขึ้นเรื่อยๆ ฝากถึงคนที่กำลังลังเลว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ หมั่นคุยกับตัวเองเรื่อยๆ เพราะระหว่างทางมันมีอุปสรรคมากมาย ถ้าเรายังไม่เข้าใจตัวเองจริงๆ มันอาจจะเขวไปเขวมา ต้องให้เวลา แล้วทุกอย่างจะค่อยๆ ชัดเจนขึ้น

ขอบคุณภาพจาก Stories of Silver

Author

อลิษา รุจิวิพัฒน์

Author

มนุษย์ที่ชอบทำงานตามโจทย์แต่ชอบใช้ชีวิตตามใจ หวั่นไหวกับของเล่น การ์ตูน ร้านหนังสือ ดิสนีย์แลนด์ และฝันว่าสักวันจะได้ไปเยือนสวนสนุกทั่วโลก

Web Editor

ปิ่นอนงค์ วัชรปาณ

Web Editor

บรรณาธิการเว็บ Thaipower.co อดีตบรรณาธิการบางสำนัก นักข่าวและคอลัมนิสต์จำเป็น โกสต์ไรเตอร์...ผู้รักการเดินทาง หลงใหลกลิ่นกาแฟ และเป็นมูฟวีเลิฟเวอร์