บนสังเวียนการต่อสู้ของเหล่านักรบทางดนตรีที่มารวมตัวกันล่าฝัน ASAP หรือที่อ่านออกเสียงว่า เอ-แซ้ป เป็นอีกหนึ่งวงดนตรีจากโรงเรียนเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่แบกความฝันของพวกเขาขึ้นไปประลองชัย บนเวที THE POWER BAND การประกวดดนตรีสากลสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 จัดโดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย
พวกเขาเป็นเสมือนเมล็ดพันธุ์ดนตรี ที่เติบโตอยู่ในสายอาชีพดนตรีโดยตรง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อยากจะแสวงหาประสบการณ์การเล่นดนตรี จากเวทีประกวดต่างๆ เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป เพื่อเติมสีสันและเป้าหมายให้กับชีวิต และด้วยความมุ่งมั่นหมั่นฝึกฝนที่มาพร้อมต้นทุนทางดนตรีที่ดี ทำให้ ASAP รวมกันสร้างโชว์ที่เต็มไปด้วยพลังจนเข้าตากรรมการ และสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศควบรางวัลเรียบเรียงดนตรียอดเยี่ยม ประเภท Class F ระดับมัธยมศึกษา บนเวทีประกวด THE POWER BAND มาครองได้ในที่สุด
จากความสำเร็จที่ได้รับ ทำให้เราไม่พลาดที่จะพาไปล้วงลึกในเส้นทางประกวดของ ASAP พร้อมการจุดแรงบันดาลใจดีๆ ผ่านตัวแทนสมาชิกวง 3 คน คือ ภูมิ-ณัฐภัทร พรหมสว่าง(โปรดิวเซอร์), มิกซ์-ศุภวิชญ์ วรรณเชษฐ์ (อัลโต แซกโซโฟน, นักร้องแร็ป) และ มะปราง-ณภัทร เรืองไวทย (นักร้องนำ) แต่ก่อนจะไปทำความรู้จักกันให้มากกว่านี้ เรื่องราวเบื้องต้นของ ASAP เริ่มกันตรงที่…
ชื่อวง ASAP นั้นย่อมาจากคำว่า As Soon As Possible ! เป็นคำพูดติดปากของอาจารย์ชาวอังกฤษ มักใช้เรียกนักเรียนที่ชอบทำผิดระเบียบให้เข้าพบ ไม่ผิดไปจากนี้ – เหล่าสมาชิก ASAP ชอบโดนเรียกกันประจำ! แต่ความหมายอีกนัยหนึ่งของชื่อ มันคือการสื่อให้เห็นถึงคาแรคเตอร์ซนๆ ของชาววงนั่นเอง แต่เหนืออื่นใด กับชัยชนะที่ได้มาบนเวที THE POWER BAND จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากพวกเขาขาดผู้คุมวงที่ดีอย่างอาจารย์ ปิญชานันท์ ใจประสงค์ ผู้หนุนนำวงจนไปถึงฝั่งฝัน
“การประกวดครั้งนี้มีอะไรมากกว่านั้นนะคะ
มีมิตรภาพ แล้วเราได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น
ได้มีความรู้มากขึ้น มันเป็นประสบการณ์ใหม่”
มะปราง วง ASAP (นักร้องนำ)
WE’RE TEAM!
เพราะ ASAP เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเหล่านักเรียนดนตรีแขนงต่างๆ สไตล์วงจึงเต็มไปด้วยการผสมผสานทุกเอกลักษณ์ทางดนตรีเข้ามา ภายใต้การทำงานของสมาชิกจำนวน 11 คน โดยแต่ละคนจะมีความแข็งแรงในพาร์ตการเล่นเครื่องดนตรีของตัวเอง เมื่อมารวมกันเป็นทีมบนเวทีประกวด ASAP คือทีมดนตรีที่แข็งแกร่ง
TP: แนวทางดนตรีของ ASAP เป็นอย่างไร?
มิกซ์: มันจะมีสไตล์ที่แปลกใหม่จากดนตรีปกติครับ
มะปราง: ด้วยความที่เราเป็นเด็กดนตรีค่ะ เหมือนกับว่า เราทำอะไรกันมาเยอะ เราจะมีไอเดีย มีความรู้ทางดนตรี หรือถ้ามีความคิดแปลกๆ ขึ้นมา เราก็จะเอาทุกอย่างมารวมกันให้เป็นหนึ่งเดียว โดยที่มีคำถามว่า เราจะทำยังไงให้ความคิดพวกนี้มันรวมกันได้แล้วเป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ
ภูมิ: สไตล์การเล่นของวงเรา น่าจะไม่มีคำจำกัดความนะครับ แต่เราขอเรียกว่าเป็น ‘ฟิวชัน’ แล้วกัน เดิมทีพวกเราก็เรียนดนตรีอยู่แล้ว แต่ละคนก็จะมาจากหลายๆ สาขา บางคนมาจากแจ๊ส บางคนมาจากคลาสสิคัล บางคนมาจากดนตรีไทย บางคนมาจากแขนงป๊อปอะไรอย่างนี้ เราก็เลยคิดว่าแนวดนตรีแบบไหน ที่เราจะสามารถดึงเอกลักษณ์ของเพื่อนๆ ในวงออกมาได้ เราก็นึกถึงดนตรีฟิวชัน เพราะมันสามารถนำดนตรีทุกอย่างมาผสม มามิกซ์ให้มันลงตัวจนออกมาเป็นแนวแบบนี้ครับ
“สไตล์การเล่นของวงเรา…นึกถึงดนตรีฟิวชัน
เพราะมันสามารถนำดนตรีทุกอย่างมาผสม
มามิกซ์ให้มันลงตัวจนออกมาเป็นแนวแบบนี้ครับ”
ภูมิ วง ASAP (โปรดิวเซอร์)
TP: จุดเด่นที่สื่อความเป็น ASAP ทีเห็นได้ชัดละคะ?
ภูมิ: “อยู่ที่การเรียบเรียงดนตรีครับ ในเมื่อเรามีคนมาจากหลายแขนงดนตรี เพราะฉะนั้นเราต้องทำแนวดนตรีที่มันไม่ได้สโคปจนเกินไปว่าเป็น แจ๊ส ป๊อป หรือ คลาสสิคัล มิวสิก การเรียบเรียงดนตรีของพวกเรามันก็จะมีเอกลักษณ์บางอย่าง เช่น จะเป็นเรื่องของจังหวะ ท่วงทำนอง หรือพวกเสียงประสาน ถ้าฟังก็จะรู้เลยว่านี่คือ ASAP”
ก้าวสู่เวทีแข่งขันที่ต้องขุดวิชาเรียนออกมาใช้อย่างเต็มที่ !
ด้วยลีลาการร้องเข้าฝักระดับน้องๆ ดีวาจากมะปรางนักร้องนำหญิงคนเดียวของวง รวมถึงท่วงทำนองจากสองบทเพลง ที่นำมาใช้ในการแข่งขัน คือ “รางวัลแด่คนช่างฝัน” (ศิลปิน/จรัล มโนเพ็ชร) และ ไม่มีเธอ ไม่ตาย (ศิลปิน/วิชญาณี เปียกลิ่น) ก็ถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ในสไตล์ฟิวชันที่ฟังแล้วอิ่มหู นั่นคือสิ่งที่ ASAP เปิดศักยภาพทางดนตรีที่ร่ำเรียนมาให้ทุกคนได้เห็น
TP: กติกาการแข่งขันที่ต้องเอาเพลงต้นฉบับมาเรียบเรียงให้มีเครื่องดนตรีชนิดเครื่องเป่าผสม วงมีการวางแผนทำเพลงตรงนี้ยังไงบ้าง?
ภูมิ: เพลงแรกที่เป็นเพลงบังคับ คือเพลงรางวัลแด่คนช่างฝันนะครับ แล้วเพลงที่สองที่เลือกมาคือเพลง ไม่มีเธอ ไม่ตาย ของคุณแก้ม วิชญาณี ในส่วนของผมที่เป็นโปรดิวเซอร์ เพลงแรกผมตั้งใจที่จะอะเรนจ์หรือเรียบเรียงใหม่ให้มันโชว์เกี่ยวกับความเป็นแบนด์…ความเป็นดนตรีของวงครับ เพราะฉะนั้นเพลงที่สองเราเลือก เราอยากจะโชว์นักร้อง เลยคิดว่าถ้าใช้เพลงของ คุณแก้ม วิชญาณี น่าจะตอบโจทย์ ก็เอาเพลงนี้มารีอะเรนจ์ดนตรีใหม่ เพราะมันจะมีท่อนร้องที่โชว์สกิลเลย ด้วยเพลงนี้เราเริ่มอะเรนจ์ขึ้นมาจากการร้องก่อน ก็ต้องมาคิดว่า ทำยังไงให้นักร้องโชว์พลังการร้องให้ได้มากที่สุดครับ
มิกซ์: “ผมมองว่า เรื่องของการอะเรนจ์ จริงๆ น่าจะเป็นเรื่องของภาพจำนะครับ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านของซาวนด์ หรือการเพอร์ฟอร์มของพี่มะปรางนักร้องนำเอง ก็น่าจะทำให้ทุกคนจดจำได้ว่านี่คือ ASAP ครับ”
“จะได้เปรียบ ก็คงเป็นเรื่องความเข้าใจทางดนตรี ถ้าเป็นเรื่องประสบการณ์ จริงๆ เราก็ไม่ได้เป็นสายแข่ง แต่เป็นสายเพอร์ฟอร์แมนซ์มากกว่า”
มิกซ์ วง ASAP (อัลโต แซกโซโฟน, นักร้องแร็ป)
TP: คุณได้นำวิชาที่ร่ำเรียนมาส่งเสริมการทำเพลงประกวดมากน้อยแค่ไหน?
มะปราง: หนูเรียนมาทั้งการร้องคลาสสิก ทั้งมิวสิคัล เธียเตอร์เลยค่ะ เพลงที่สอง ไม่มีเธอ ไม่ตาย เราใช้เทคนิคร้องคลาสสิกในท่อนเสียงสูง มันก็ทำให้ขึ้นง่ายค่ะ แล้วเรื่องอารมณ์เพลง เรื่องการแอ็กติ้งก็จะได้มาจากการเรียนเธียเตอร์ เวลาอยู่บนเวทีก็สามารถแอ็กติ้งกับคนดูได้เต็มที่
TP: การอยู่ในตำแหน่งนักร้องนำหญิงคนเดียวของวง ถือเป็นภาระหนักมั้ยคะ?
มะปราง: ไม่ยากค่ะ (หัวเราะ) เหมือนพวกเราคุยกันรู้เรื่องอยู่แล้ว ด้วยความที่เรียนดนตรีมาด้วยกัน พูดอะไรไปเพื่อนๆ ก็จะเข้าใจเราเลย เราคุยภาษาเดียวกันอยู่แล้ว แต่อาจจะมียากนิดหนึ่งเพราะเป็นผู้ชายทั้งหมด แล้วหนูเป็นผู้หญิงคนเดียวในวง มันก็เลยต้องเออๆ ตามกันไปอะไรอย่างนี้ค่ะ (หัวเราะ)”
มิกซ์: มะปรางเขาก็ไม่ได้เชิงหญิงจ๋าขนาดนั้นครับ (หัวเราะ) ก็มีความลุยๆ บ้าง
Suggestion
กว่าจะขึ้นรูปทรงให้เป็นวงดนตรีที่สมบูรณ์แบบไม่ใช่เรื่องง่าย
การจะพากันเดินไปสู่ความสำเร็จคงเป็นไปได้ยาก หากสมาชิกวงแต่ละคนต่างคนต่างเดิน ฉะนั้นการเป็นทีมเวิร์กที่ดีในฉบับ ASAP อยู่ที่การสร้างความกลมกลืนให้เกิดขึ้นในแต่ละตำแหน่งการเล่น แล้วปั้นให้วงเป็นเสมือนมวลพลังทางดนตรีลูกใหญ่เพื่อพุ่งไปชนเป้าหมายข้างหน้า
TP: อุปสรรคของการทำงานแบบทีมอยู่จุดไหนเยอะที่สุด?
มิกซ์: นัดซ้อมให้ไม่สาย น่าจะมีแค่เรื่องเดียวนี่แหละครับ (หัวเราะ)
ภูมิ: ใช่ครับ เพราะแต่ละคนก็มาจากต่างที่ด้วย ทำให้เวลาการมาถึงของแต่ละคนไม่เท่ากัน
TP: แต่เหมือนทุกอย่างดูง่ายขึ้น เมื่อวงมีโปรดิวเซอร์เอง?
ภูมิ: ต้องบอกก่อนว่าเรามีอาจารย์ผู้คุมวง เป็นคนมอบหมายให้ผมมาทำหน้าที่โปรดิวเซอร์ร่วมกับอาจารย์นะครับ โดยเรามีความคิดเหมือนกันในการทำดนตรีประกวด ไม่ใช่ทำดนตรีโชว์ เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องดึงศักยภาพในสิ่งที่เราเรียนทุกวันอยู่แล้วให้มันสูงขึ้น เพื่อสำหรับใช้ในการประกวด จากนั้นเราก็ยึดแนวคิดนั้นแล้วก็ทำการอะเรนจ์ดนตรีออกมาครับ
Suggestion
เมื่อต้องแบกสถานะวงเจ้าบ้านขึ้นเวทีประกวด กับบางสิ่งที่ได้มามากกว่าประสบการณ์ชีวิต
เมื่อเวทีประกวดดนตรี เป็นเสมือนสนามประลองสอบให้กับประสบการณ์ชีวิต คนที่รักในการเล่นดนตรีส่วนใหญ่จึงมีความฝันไม่ต่างกัน ในการแสวงหาเวทีที่สามารถต่อเติมความฝันของพวกเขาให้งอกเงย แต่ความตามหาความฝัน พร้อมกับแบกหน้าตาของสถาบันไว้กลายๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
TP: ในฐานะเป็นวงเจ้าบ้าน มีความกดดันกับการแข่งขันครั้งนี้มากน้อยแค่ไหนคะ?
มะปราง: กดดันมากค่ะ (หัวเราะ) ด้วยความที่เวลาซ้อมก็น้อย แล้วก็แบกรับความเป็น เตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์อยู่เนี่ยค่ะ (หัวเราะ) พอเรามีเวลาน้อย เราก็เลยพยายามจะทำอะไรที่ดี แต่ก็ไม่ทำยากเสียจน โอ้โห.. คนเข้าไม่ถึง ซึ่งเพลงก็จะมีการนำมาอะเรนจ์อะไรใหม่ด้วย ก็จะมีความกดดันนิดหนึ่ง (หัวเราะ)
TP: คิดว่าวงของเราได้เปรียบกว่าคนอื่นไหม ในแง่ที่เราเป็นนักเรียนดนตรี?
มะปราง: ก็น่าจะมีนิดหนึ่งนะคะ (หัวเราะ) แต่หนูว่าคนที่มาในวันนี้ เขาก็อาจจะมีมากกว่าเราด้วยซ้ำ แพสชันเขาอาจจะยิ่งกว่าเรา เพราะด้วยความที่บางคนก็อยู่ต่างจังหวัดหรือโรงเรียนต่างๆ แต่ถึงเราจะเป็นนักเรียนดนตรี เราก็ยังมีแพสชันอยู่ เราก็เริ่มมาจากศูนย์เหมือนคนอื่นแล้วค่อยพัฒนาเป็นสิบ ยี่สิบ หนูว่ามันอยู่ที่เราพยายามฝึกฝนตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าค่ะ
ภูมิ: ต้องบอกว่าพวกเวทีประกวด การแข่งขันก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับโรงเรียนเราเหมือนกันครับ
มิกซ์: ถ้าเกิดจะได้เปรียบ ก็คงเป็นเรื่องความเข้าใจทางดนตรี ถ้าเป็นเรื่องประสบการณ์ ความเจนสนามนะครับ จริงๆ เราก็ไม่ได้เป็นสายแข่ง แต่เป็นสายเพอร์ฟอร์แมนซ์มากกว่าครับ
TP: ได้รับอะไรกลับมาอีกไหม นอกจากประสบการณ์บนเวทีแข่งขัน?
มะปราง: หนูคิดว่าการประกวดครั้งนี้มันมีอะไรมากกว่านั้นนะคะ มีมิตรภาพ แล้วเหมือนเราได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น ยิ่งพอได้มาทำงานกับเพื่อนก็เหมือนได้เรียนรู้ ได้ซึมซับเข้าไป ได้มีความรู้มากขึ้น มันเป็นประสบการณ์ใหม่ หนูชอบค่ะ
มิกซ์: ผมเริ่มปลีกตัวจากนักดนตรีมาเป็นแร็ปเปอร์ ช่วงประมาณปลายๆ ม.6 ครับ เอาจริงๆ ผมก็แอบท้อเพราะผมเห็นเพื่อนเล่นแจ๊สเก่งมากเลย แต่ละคนค่อนข้างที่จะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ทั้งที่ผมก็เริ่มมาพร้อมเพื่อน แต่ผมไปช้ากว่าคนอื่น ผมก็เลยหาทาง อะ มาแร็ปนี่แหละ ผมก็เลยลองไปแข่งรายการโน้นรายการนี้มาบ้าง ซึ่งมันก็ให้ประสบการณ์ในมุมที่ผมเริ่มเขียนในสิ่งอยากจะพูด ในสิ่งที่เราไม่สามารถพูดออกมาได้จากปากเปล่าได้ นั่นทำให้ได้เพื่อนใหม่เยอะเลยครับ”
TP: ถ้าพูดถึงวง ASAP อยากให้ทุกคนเห็นอะไรในนั้น?
มิกซ์: “ความรักและความสามัคคีของพวกเราครับ แล้วก็ความแปลกใหม่ในทางดนตรีในการแข่งขันครับ”
มะปราง: พวกเรามีไอเดียที่มันแปลกใหม่ขึ้น อย่างการอะเรนจ์เพลง ก็จะอะเรนจ์ที่ไม่เหมือนเดิม ไม่ค่อยมีคนทำกัน แปลกๆ อะไรอย่างนี้ค่ะ
ภูมิ: ในมุมของผมนะครับ สมมติถ้ามีโอกาสที่ศิลปินได้มาดูเทปของพวกเรานะครับ อยากจะบอกว่าเยาวชนสมัยนี้กำลังตามรอยพวกคุณอยู่ ช่วยสนับสนุนและอยากให้ติดตามดูเยาวชนไทยต่อไปครับ ว่าพวกเรากำลังพยายามที่จะเป็นศิลปินรุ่นใหม่อยู่ครับ
Suggestion
ดนตรีที่มาพร้อมพลังพิเศษ… หลายคนใช้ดนตรีผ่อนคลายอารมณ์ บางคนใช้ดนตรีบำบัดชีวิต และคนอีกไม่น้อยใช้ดนตรีแสดงพลังของตัวเองออกมา ก็เพราะดนตรีคือท่วงทำนองแห่งความสุนทรีย์ที่สามารถต่อเติมความฝันให้กับชีวิตของเราได้
ไม่แน่ว่าในอนาคต ภูมิอาจจะได้เป็นโปรดิวเซอร์อย่างที่เขาฝัน มะปรางอาจไปเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียง พร้อมสถานะครูสอนร้องเพลงให้กับเด็กๆ สมความตั้งใจ หรือมิกซ์จะพาฝันตัวเองไปสู่การเป็นนักสร้างหุ่นยนต์ได้สำเร็จ สุดท้ายแล้วหนุ่มสาวทั้งสามทิ้งท้ายกับเราว่า พวกเขาจะยังใช้ดนตรีนำทางชีวิตเสมอ…
ส่งต่อพลังสู่เส้นชัยในแบบ ASAP
• พยายามฝึกฝนตัวเองในด้านดนตรีที่ถนัดอยู่เสมอ
• พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายเราจะเป็นคนที่เก่งและดีสำหรับตัวเองและผู้อื่น
• ถ้าชีวิตมีความฝัน จงอย่าหยุดฝัน
ตามติดผลงานเพลง “ไม่มีเธอ ไม่ตาย” (แก้ม วิชญาณี) ในฉบับของวง ASAP จากขอบเวที THE POWER BAND โดยเฉพาะ ได้แล้วที่ YouTube : Kingpower Thaipower พลังคนไทย 🎵