Playground

“ฟุตบอลวิถีอิสลาม”
บนสนามสีน้ำเงินแห่งบันนังสตา

ศรัณย์ เสมาทอง 23 Dec 2021
Views: 680

ฟุตบอลมันอยู่ในสายเลือดของคนแถวนี้คำตอบแรกที่ได้ยิน เมื่อเราถามถึงความคลั่งไคล้ฟุตบอลของชาวบันนังสตา และไม่ใช่แค่ในอำเภอนี้เท่านั้น ทั้งจังหวัดยะลาก็ใช่ หรือจะเหมารวมทั้งภาคใต้ก็ไม่ผิด เขายกให้กีฬาฟุตบอลมาเป็นอันดับหนึ่ง เวลาจัดการแข่งขันทีไรไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัดหรือการแข่งขันของทีมเล็กๆ ในชุมชน มีคนพร้อมตบเท้าเข้าชมเกือบเต็มสนามทุกครั้ง

“ปีที่ผ่านมาผมได้เป็นผู้จัดการทีมของบันนังสตา เวลาเดินสายแข่งตามอำเภอต่างๆ ในจังหวัดยะลา คนบันนังสตาก็ตามไปเชียร์ ขนาดแข่งที่อำเภอเบตงห่างออกไปเป็นร้อยกว่ากิโล ก็ยังมีคนตามไปดู” จึงไม่น่าแปลกใจที่ได้ทราบว่าทางภาคใต้นั้นมี Sport Academy ที่สอนฟุตบอลอยู่หลายแห่ง รวมทั้งถึงบันนังสตาก็มี “สถาบันกีฬาโรงเรียนคัมภีร์วิทยา” (Khamphee Academy) เด็กๆ แห่มาสมัครเข้าเรียนปีละเป็นร้อย ทั้งๆ ที่รับได้ครั้งละ 25 คน เท่านั้น

เช็กรายชื่อดูแล้วพบว่าคัมภีร์วิทยาเป็นหนึ่งในโครงการ 100 สนามฟุตบอล สร้างพลังเยาวชนไทย ของ คิง เพาเวอร์ ได้รับสนามฟุตบอลหญ้าเทียมสีน้ำเงินมาตรฐานสากล “หลังจากที่มีสนามหญ้าเทียม เห็นได้ชัดเลยว่านักเรียนมีพัฒนาการสูงขึ้น เวลาส่งเด็กไปซ้อมกับสโมสรอาชีพเขาจะชื่นชมว่านักกีฬาเรามีทักษะดีมาก” ซัลมาน ผดุง ผู้อำนวยการโรงเรียนคัมภีร์วิทยา เอ่ยพร้อมยิ้มอย่างภาคภูมิใจ

รอยยิ้มของ ผอ. ทำให้สงสัย ว่าน่าจะมีอะไรลึกๆ ไปยิ่งกว่านั้น

 

เตะบอลวิถีคัมภีร์วิทยา

เห็นภาพประกาศรับสมัครนักเรียนเข้าโปรแกรมกีฬาของ ผอ.ซัลมาน ในเฟซบุ๊ก มีประโยคโดดเด่นสะดุดตา เล่นฟุตบอลด้วยวิถีอิสลาม มีอิหม่ามอยู่ในใจ แม้ว่าจะทราบแล้วว่าโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำที่นำหลักสูตรอิสลามศึกษามาเป็นส่วนสำคัญในการเรียนการสอน เช่น มีโปรแกรมวิทย์คณิตควบคู่อิสลามศึกษา โปรแกรมท่องจำอัลกุรอาน หรือ ตะฮฟิส อัลกุรอาน โปรแกรมกีฬารวมกับอิสลามศึกษาเป็น ISP (Islamic Sport Program) 

แต่คนที่อยู่ต่างภาคต่างวิถีอย่างเราเกิดสงสัย…มันเป็นอย่างไรกัน

“เราจะเน้นให้นักเรียนเล่นฟุตบอลแบบอยู่ในกรอบของศาสนา สร้างวินัยโดยการเอาหลักศาสนาเข้ามาใส่ในจิตใจ ซึ่งทำให้ผู้ปกครองสนใจที่จะส่งบุตรหลานของเขาให้มาเรียนที่นี่ เพราะว่าลูกเขาจะได้เรียนฟุตบอล และยังได้เรียนเรื่องศาสนาด้วย จบไปจะมีทั้งวุฒิของศาสนา ทั้งวุฒิวิชาสามัญ และถ้าฝีเท้าดีหน่อยก็สามารถเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้”

วิถีที่ชัดเจน คือ นักเรียนกีฬาต้องเรียนอัลกุรอานด้วย ยิ่งเป็นโรงเรียนประจำหลังซ้อมเสร็จจึงมีการเรียนศาสนาในภาคค่ำต่อ  การแต่งกายชุดกีฬาของนักเรียนชายมุสลิมก็ต้องปกปิดสิ่งพึงละอายตามหลักศาสนาตั้งแต่สะดือถึงหัวเข่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักกีฬาจะสวมใส่กางเกงยืดรัดทั้งขาก่อนจะสวมกางเกงฟุตบอลขาสั้น การละหมาด 5 เวลาต่อวันยังคงเคร่งครัด ถ้าฝึกฝนดีๆ แม้มีการแข่งขันใกล้เวลาอันสำคัญนี้ นักเรียนต้องละหมาดโดยไม่ให้กระทบกับการเล่นฟุตบอล

กระทั่งในช่วงถือศีลอด ทุกคนต้องปฏิบัติไปพร้อมกับการเล่นฟุตบอลให้ได้ “ช่วงรอมฎอนเราก็ยังซ้อมอยู่ โค้ชจะลดเปอร์เซ็นต์การซ้อมลง ลดการใช้แรงเหลือประมาณ 50 หรือ 40 เปอร์เซ็นต์ ช่วงเช้าจะงดซ้อม จะซ้อมเฉพาะช่วงเย็น” คงจะแนะนำไปไกลถึงวิธีการกินอาหารด้วย เพราะสถาบันกีฬามีผู้สอนถึง 7 คน มีทั้งนักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักกายภาพบำบัด โค้ชฟุตบอลถึง 4 คน มีโค้ชตำแหน่งประตูด้วย เรียกว่าถ้านักฟุตบอลระดับโลกที่เป็นมุสลิมเขาทำได้…เด็กคัมภีร์วิทยาก็ต้องทำได้

“ในอดีตนักฟุตบอลในโซนภาคใต้มักไม่ตั้งใจเรียน เขาจะเน้นเล่นฟุตบอลอย่างเดียว พอไม่ได้เรียนก็จะหลุดกรอบการเรียนรู้ หลุดกรอบของอิสลามศึกษา จะทิ้งละหมาด ส่วนการมีอิหม่ามอยู่ในใจ คือเราจะปลูกฝังให้นักเรียนมีวินัยมีอยู่ในตัว แม้ว่าจะเล่นฟุตบอลอยู่ที่ไหนก็ตาม จิตใจเราจะยึดเหนี่ยวกับพระเจ้าอยู่เสมอ การจะหลุดไปในอบายมุข ยาเสพติด อะไรประมาณนี้จะน้อยลง” ผู้ปกครองจึงมั่นใจและอนุญาตให้ลูกๆ มาจริงจังกับฟุตบอลได้

สนามนั้นสำคัญไฉน

การเรียนฟุตบอลใน Islamic Sport Program (ISP) มุ่งค้นหาพรสวรรค์ในตัวเด็ก ส่งเสริม พร้อมสร้างวินัย แล้วผลักดันให้นักกีฬามุสลิมก้าวไปถึงระดับอาชีพ แต่สถานที่ซ้อมในอดีตมีเพียงสนามความยาว 80 เมตร สนามเดียว แถมเป็นหลุมเป็นบ่อ เรียนรู้การเล่นโดยภาพรวมได้เป็นหลัก ทักษะส่วนตัวนี่ยากหน่อย เพราะแค่แปลูกไปเบาๆ ลูกบอลก็กระเด็นกระดอนจับทิศทางไม่ค่อยถูกแล้ว

“ด้วยความใจรักและความบ้าคลั่งของทั้งโค้ชทั้งนักกีฬา เราถึงขั้นพานักเรียนไปซ้อมในตัวอำเภอบันนังสตากันทุกวันเลย คือโรงเรียนคัมภีร์วิทยาจะอยู่บริเวณชานเมืองห่างจากตัวอำเภอประมาณ 4 กิโลเมตร แบ่งเวรกันไป วันไหนชั้นเรียนไหนจะเรียนที่สนามของเรา ชั้นเรียนไหนจะไปฝึกทักษะที่ตัวอำเภอ”

แต่พอมีสนามหญ้าเทียมสวยๆ ที่ คิง เพาเวอร์ มอบให้ ก็ไม่ต้องเดินทางไปมา จัดการเรียนการสอนกันที่สนามนี้ได้เลย “หลังจากที่เราได้สนามฟุตบอลของ คิง เพาเวอร์ ช่วยให้เราพัฒนาทักษะได้ดี เพราะว่าเป็นสนามหญ้าเทียมที่เรียบ ทำให้นักเรียนหลายคนสามารถต่อยอดไปสอบหรือไปคัดเลือกกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เปิดคัดตัวนักกีฬาได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ไทยคัพ คัดเลือก excellence center ที่เชียงใหม่ หรือโครงการปั้นนักฟุตบอลอาชีพของสโมสรต่างๆ และส่วนใหญ่เขาจะชื่นชมว่านักกีฬาเรามีทักษะดีมาก”

ช่วงเช้าและเย็นจะเป็นเวลาซ้อมและเรียนรู้ของนักเรียนในสถาบันกีฬา จากนั้นช่วงประมาณ 2 ทุ่ม ไปจนถึง 4 ทุ่ม เป็นเวลาของคนในชุมชนมาเล่นฟุตบอลในสนามสีน้ำเงิน “กลายเป็นว่าชุมชนดูแลสนามดีมาก เขาเป็นห่วงสนามของเขา เวลาน้องๆ หรือนักกีฬายืนพิงตาข่ายเขาจะเข้าไปห้าม เพราะว่ากลัวว่าตาข่ายจะหย่อน คอยเก็บขยะถอนหญ้ารอบสนาม อยากมีสนามดีๆ ให้เล่นได้นานๆ กลายเป็นสนามของชุมชนไปแล้วครับ”

เชื่อแล้วว่าฟุตบอลอยู่ในสายเลือดของคนแถวนี้จริงๆ

 

เด็กคัมภีร์ก็มีดีไม่แพ้ใคร

นักเรียนฟุตบอลกับโค้ชทั้ง 7 ตั้งใจฝึกฝนกันอย่างหนักยังไม่พอ ทางผู้อำนวยการโรงเรียนก็พยายามไปทำข้อตกลงกับสโมสรฟุตบอลอาชีพ อย่าง สโมสรฟุตบอลปัตตานี (Pattani F.C.) สโมสรฟุตบอลนรา ยูไนเต็ด (Nara United F.C.) สโมสรฟุตบอลยาลอ ซิตี้ (Jalor City F.C.) เพื่อส่งนักเรียนของสถาบันที่มีแววไปซ้อมกับพี่ๆ หวังให้มีประสบการณ์และได้ลองรู้จักวิถีการเล่นฟุตบอลแบบมืออาชีพ เผื่อวันข้างหน้าจะได้เติบโตแบบพี่ๆ บ้าง

เกิดนักเตะรุ่นเยาว์ที่มีโอกาสก้าวไกลไปหลายคนแล้ว สดๆ ที่เพิ่งผ่านไปไม่นานก็มี ฟิรดาวส์ เจ๊ะมะ เด็ก ม.5 โปรแกรม Islamic Sport Program (ISP) ได้ไปฝึกซ้อมกับสโมสรฟุตบอลนรา ยูไนเต็ด ภายใต้โครงการ “พัฒนาและส่งเสริมเยาวชนเข้าสู่นักฟุตบอลอาชีพ” และ ซะห์ลัน ซาเบะ น้อง ม.5 ในโปรแกรมเดียวกัน ก็ไปฝึกซ้อมกับสโมสรฟุตบอลปัตตานี  ที่ไปไกลบ้านกว่านั้นก็มี นิฟุตรา หะมะ น้อง ม. 4 ผ่านคัดเลือก 1 ใน 50 คน เพื่อเข้าร่วมโครงการศูนย์บ่มเพาะนักกีฬาฟุตบอลเยาวชนชั้นเลิศ Football Excellent Center ระหว่างวันที่  18 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2564 ณ อัลไพน์ ฟุตบอล แคมป์ เทรนนิ่ง เชียงใหม่ และทำการคัดเหลือ 10 คน เพื่อไปเข้าแคมป์ฝึกต่อที่ประเทศญี่ปุ่น แต่แค่นี้นิฟุตราก็มีโอกาสได้ร่วมในเยาวชนทีมชาติแล้ว

“คนที่มีศักยภาพเราก็จะขอให้เสียสละวันหยุดมาฝึกซ้อมแบบติวเข้มกับโค้ช ตอนนี้มีประมาณ 17 คน ตั้งแต่อายุ 13-18 ปี เผื่อเขาจะก้าวไปได้ไกลกว่านี้ เพราะเราเคยสร้างนักเรียนของเราไปเป็นนักเตะอาชีพในทีมสโมสรฟุตบอลปัตตานี  มาแล้ว”

บางคนที่เคยบอกว่าจะไม่เรียนหนังสือถ้าไม่ได้เตะฟุตบอล พอได้มาเรียนโปรแกรมกีฬานี้ตั้งแต่ ม.1 กลับกลายเป็นว่าทำคะแนนสอบได้ที่หนึ่ง สามารถขอทุนโครงการครูคืนถิ่นได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จนจบออกมาเป็นครูไปแล้ว บางคนก็สอบเข้าเรียนเป็นบุรุษพยาบาลได้ เรียกว่าฟุตบอลเป็นสะพานให้ก้าวข้ามไปต่อยอดสู่อาชีพอื่นๆ ได้อีกด้วย

ทีมฟุตบอลโรงเรียนคัมภีร์วิทยา เคยแข่งขันชนะในจังหวัดยะลา เป็นตัวแทนไปแข่งภาคใต้ตอนล่าง ชนะเป็นตัวแทนภาคใต้ไปร่วมแข่งขันฟุตบอลเยาวชน คิง เพาเวอร์ คัพ 2019/20 รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี มาแล้ว และยังได้เป็นตัวแทนไปแข่งขัน “สพฐ. เกมส์” ที่กรุงเทพฯ ในช่วงก่อนโควิด 19 ระบาด ฟุตซอลก็เคยได้เป็นตัวแทนภาคใต้ตอนล่าง ไปแข่งที่ ย่าโม เกมส์ จังหวัดนครราชสีมาด้วย

ความรัก VS โอกาส

“สมัยก่อนตอนผมเด็กๆ เวทีในการต่อยอดในการเล่นฟุตบอลน้อยมาก เป็นปัญหาที่ประสบมากับตัวเอง ด้วยใจรักและเข้าใจความรู้สึกของเด็กๆ เลยคิดว่าทำยังไงให้เยาวชนที่รักฟุตบอลในแถบนี้มี โอกาสมากกว่าเราในสมัยนั้น พอได้เจอโค้ชที่มีความคิดคล้ายกัน ก็เลยร่วมมือกันสร้างเวทีสร้างโอกาสให้เด็กบันนังสตากัน” 

เข้าใจละครับ ว่าทำไมคัมภีร์วิทยาถึงจริงจังกับฟุตบอลวิถีอิสลามเป็นที่สุด 

 

สถาบันกีฬาโรงเรียนคัมภีร์วิทยา

Facebook: สถาบันกีฬาโรงเรียนคัมภีร์วิทยา – Khamphee Academy

 

บันนังสตาน่าไป

• ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง…ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง ชมทะเลหมอกที่มีตลอดทั้งปี ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,038 เมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภอเบตง ประมาณ 40 กิโลเมตร สามารถเดินทางด้วยรถขึ้นมาได้ถึงเลย เพียงแค่ตื่นเช้าหน่อยเท่านั้นเอง

• ป่าฮาลา-บาลา…ป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของทางใต้ กว้างใหญ่จนมีคนเปรียบเป็น “อเมซอนแห่งเอเชีย” พระเอกของป่านี้คือ นกเงือก ที่มีมากกว่า 10 ชนิด นักเดินทางสายแอดเวนเจอร์ไม่ควรพลาด

• บ่อน้ำร้อนเบตง…แช่น้ำร้อนคลายเครียดในบ่อน้ำร้อนธรรมชาติขนาดใหญ่ อุณหภูมิประมาณ 80 องศาเซลเซียส กลางธรรมชาติสวยๆ รายล้อม  อ้อ…ได้ยินมาว่าน้ำร้อนนี้จะช่วยบรรเทารักษาโรคภัยต่างๆ ได้ด้วย ต้องลองมาสอบถามดู

 

Author

ศรัณย์ เสมาทอง

Author

นักเขียนและผู้ผลิตรายการเชิงสารคดีอิสระ ชอบตะลอนเวิร์กตามที่ต่าง ๆ พร้อมเล่าเรื่องระหว่างการเดินทาง และบ่อยครั้งก็บันทึกประสบการณ์เป็นบทกวี