เมืองเล็กๆ ที่มีพื้นที่สีเขียวมากมาย ผ่านไปทางไหนก็พบต้นมะพร้าวเรียงราย ถ้าบอกว่า “มะพร้าวเป็นสินค้าสำคัญของจังหวัดสมุทรสงคราม” ไม่ต้องไปหาเหตุผลจากไหนมายืนยันเราก็เชื่อแล้ว
“แต่ที่นี่คนไหลออกเยอะนะครับ” โต้ง-ธนิตศักดิ์ ศรีสัมฤทธิ์ หนึ่งในผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเอ่ยจริงจัง “เด็กรุ่นใหม่ที่เรียนจบมาก็ไม่อยากปีนต้นมะพร้าวหรือสอยมะพร้าวขาย พากันไหลออกไปทำงานในกรุงเทพฯ แล้วปล่อยให้ผู้อาวุโสอยู่ที่บ้าน พื้นที่ดูสวยงามน่าอยู่ แต่จริงๆ แล้วมีแต่คนแก่ๆ”
ราวสิบปีก่อน ครอบครัวของคุณโต้งลุกมาทำวิสาหกิจชุมชนชื่อว่า วิสาหกิจชุมชนเรือนสมุทร จับสินค้าตัวแรกคือน้ำมันมะพร้าว ไปขอแบ่งซื้อเนื้อมะพร้าวจากล้งมะพร้าวหรือกลุ่มชาวบ้านที่ปอกมะพร้าวเพื่อนำเนื้อไปขายตามตลาดและโรงงานกะทิ ตอนนั้นขอซื้อเพียงล้งละ 20 กิโลกรัม คิดแล้วก็เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตในแต่ละล้ง รวบรวมเอาจากหลายๆ ที่เพื่อนำมาทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น
ปัจจุบันเขามีผลิตภัณฑ์กว่า 50 รายการ แม้จะบอกว่าไม่ได้เป็นรายใหญ่ที่สร้างอาชีพให้ผู้คนมากมาย แต่ก็สามารถประกันราคารับซื้อมะพร้าวจากล้งของชาวบ้านได้ กระทั่งในภาวะราคามะพร้าวตกต่ำก็ตาม
“สัปดาห์หนึ่งก็เราใช้มะพร้าวราวๆ 2 ตัน เท่านั้น”
…เดี๋ยว…ตัวเลขนี้ไม่ใช่น้อยๆ เลยนะ!!!
ผลิตภัณฑ์จากเมืองสีเขียว
น้ำมันมะพร้าวของวิสาหกิจชุมชนนี้แรกสุดใช้ชื่อแบรนด์ว่า “เรือนสมุทร” เป็นชื่อของปู่และย่านำมาต่อกัน ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็น “เพลิน” (Plearn) ในภายหลัง ทำการศึกษาวิธีการผลิตน้ำมันมะพร้าวซึ่งปกติจะมีอยู่ 3 วิธี
ถ้าเป็นชาวบ้านเลยจะใช้การหมัก พูดง่ายๆ คือ การนำมะพร้าวมาคั้นเป็นน้ำกะทิแล้วแช่เย็นให้แยกเป็นชั้นน้ำมันแล้วดูดน้ำออก ถ้าขั้นสูงขึ้นมาหน่อยจะเป็นการหีบหรือบีบเอาน้ำมันออกมาจากเนื้อมะพร้าวโดยตรงเลย สองวิธีแรกนี้กลิ่นน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงเร็ว เพลินจึงเลือกใช้วิธีที่สาม คือ การเหวี่ยงด้วยเครื่อง Centrifuge ให้น้ำมันแยกตัวออกมา
“เราคิดว่ามันเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งไม่ได้แปลว่าทำให้สารอาหารในน้ำมันมะพร้าวมันดีที่สุดนะ ทุกวิธีคุณค่าทางอาหารมีเท่าๆ กัน แต่การเหวี่ยงด้วยเครื่องจะทำให้กลิ่นหอมของน้ำมันมะพร้าวค่อนข้างเสถียรที่สุด”
การตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ก็เพื่อให้เกษตรกรตามล้งมะพร้าวมาสมัครเป็นสมาชิก แล้วทำการเก็บมะพร้าวแก่ๆ เปลือกเป็นสีน้ำตาลแล้วมาปอกเปลือกและกะเทาะกะลา นำเนื้อมาขายให้กับโรงงาน โดยจะรับจากล้งใกล้ๆ กับวิสาหกิจชุมชนในเขตอำเภอเมืองสมุทรสงครามก่อน ถ้ามีมะพร้าวไม่พอค่อยข้ามไปติดต่อล้งในพื้นที่อื่นๆ
“จังหวัดนี้เป็นเมืองสีเขียวจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ไม่ได้ โรงงานของเราถือว่ายังเล็กมาก มีคนงานแค่ 7-8 คน แต่พื้นที่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ของสมุทรสงครามเป็นสวนมะพร้าว บ้างปลูกเองเก็บเองและนำเนื้อมาขายเอง บ้างก็ทำอาชีพอื่นแต่ปลูกมะพร้าวทิ้งไว้ แล้วก็จะมีคนจากล้งมะพร้าวไปให้ราคาพร้อมจัดการเก็บลูกมะพร้าวมาปอกนำเนื้อมาขายให้เราแทน”
เริ่มปีแรกก็ออกบูทตามงานแสดงสินค้า แม้จะไม่ได้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าตั้งแต่ครั้งแรกๆ แต่ก็ได้เปิดตัวให้คนรู้จัก พยายามไปวางขายในร้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและรู้จัก “เพลิน” ไปพร้อมๆ กัน
Suggestion
แค่ “ดี” อาจยังไม่พอ
ขายน้ำมันมะพร้าวไปได้ปีกว่า ๆ ผลิตภัณฑ์กลุ่มโลชันบำรุงผิว แชมพู สบู่ ก็ตามมา เขาได้ศึกษาวัตถุดิบและสารต่างๆ ในเชิงลึก แล้วก็มาลองผิดลองถูก มีไปเข้าคอร์สเรียนมาบ้าง จนเริ่มจับทางถูกออกมาเป็นสารพัดผลิตภัณฑ์
“เรื่องกลิ่นผมให้ความสำคัญอันดับหนึ่ง” คุณโต้งเคยทำงานในธุรกิจเกี่ยวกับกลิ่นหอมมาก่อน จึงเข้าใจว่าผู้บริโภคมักมองเรื่องกลิ่นมาก่อนสิ่งอื่น สนใจมากกว่าความดีงามของผลิตภัณฑ์เสียด้วยซ้ำ “ผมจะเบลนด์น้ำมันหอมระเหยหรือน้ำหอมเอง ทดสอบหลายรอบให้ได้กลิ่นที่เป็นของแบรนด์เพลินโดยเฉพาะ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้า ถ้าไม่มีใครเลียนแบบกลิ่นผมได้ เอกลักษณ์นั้นก็จะยังคงอยู่ตลอดไป”
การพัฒนาผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะอ้างอิงเกษตรกรหรือชุมชน เช่น นำมะขามเปียกจากภาคอีสานมาแกะเม็ดออกให้เหลือแต่เนื้อมะขาม ผสมน้ำมันมะพร้าวของสมุทรสงครามและผงสมุนไพรจนได้ “สมุนไพรขัดผิวมะขามผสมน้ำมันมะพร้าว” สำหรับขัดและพอกตัวขายดีแบบติดตลาดไปเลย
คุณโต้งรับซื้อเตยหอมจากชาวบ้าน นำมาเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำมันมะพร้าว โดยทำเป็นน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นผสมเตยหอม เปลี่ยนน้ำมันมะพร้าวแบบที่เรารู้จักให้มีกลิ่นหอมใบเตยโดยไม่ต้องอาศัยกลิ่นสังเคราะห์เลย “ผมชอบแนวคิดแบบคนญี่ปุ่นทำราเมงที่แต่ละร้านก็มีสูตรเด็ดต่างจากร้านอื่น หันมามองน้ำมันมะพร้าวบ้านเรา แต่ละที่ก็เหมือนกันไปหมด ก็ลองคิดว่าเราจะแตกต่างได้ยังไง โดยไม่ต้องไปโจมตีคนอื่นว่าวิธีการผลิตไม่ดี คุณภาพไม่ถึง แล้วค่อยบอกว่าตัวเองดีกว่า”
น้ำมันมะพร้าวที่มีกลิ่นเตยหอมธรรมชาติสามารถกินได้ โดยคุณสมบัติบำรุงผิวและผมยังคงเหมือนเดิม ก็สามารถหาที่ยืนในตลาดได้อย่างไม่ยากเย็น
Suggestion
ออนไลน์…เสี่ยงหรือเลี่ยง
“วันหนึ่งผมก็ลองเข้าไปติดต่อ คิง เพาเวอร์ มีคนเตือนเยอะเลย ว่ามันยาก ต้องมีคอนเน็กชันเยอะแยะ ผมหาเบอร์โทรศัพท์ฝ่ายจัดซื้อในเว็บไซต์แล้วก็โทรไปหาเลย เขาก็ขอดูตัวอย่างและให้ทำราคามาให้ดู แล้วก็ได้เข้าไปขายใน คิง เพาเวอร์” แม้คนอื่นๆ จะบอกว่าการเข้าไปขายในร้านใหญ่ๆ หรือไปวางตามร้านสุขภาพต่างๆ เป็นเรื่องยาก “ผมก็บอกผู้ประกอบการคนอื่นเสมอว่ามันไม่มีอะไร แค่กล้าเข้าไปหา เข้าไปคุยกับเขาดีๆ ก็เข้าใกล้โอกาสเข้าไปเรื่อยๆ”
ในปีแรกๆ ผลิตภัณฑ์ของเพลินจะขายตามร้านค้าหรือการออกบูท 80 เปอร์เซ็นต์ อาศัยช่องทางออนไลน์เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กเริ่มได้รับความนิยม สัดส่วนการขายก็เริ่มขยับ เป็น 40 : 60 ก่อน แล้วค่อยๆ ปรับเป็น 30 : 70 ทุกวันนี้การขายในช่องทางออนไลน์กลายเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของการขายทั้งหมด
เขาคิดมาตั้งแต่แรกแล้วว่าการขายออนไลน์เป็นโอกาสของธุรกิจขนาดเล็กจริงๆ เพราะผู้ผลิตสามารถเข้าถึงตัวผู้บริโภคโดยตรง ในทางกลับกัน ผู้บริโภคก็สามารถเข้ามาคุยกับผู้ผลิตได้โดยตรง บอกความรู้สึก บอกข้อบกพร่อง สามารถรู้ได้จริงๆ ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีสิ่งใดต้องปรับปรุงและมีโอกาสได้ขอโทษลูกค้าหรือผู้บริโภคโดยตรง
ที่สำคัญการขายสินค้าออนไลน์จะสามารถจัดการสต็อกสินค้าได้ง่าย เพราะสินค้าอยู่กับเรา ยอดขายเท่าไรก็สามารถรู้ได้ทันที ไม่ต้องนำของไปฝากขายที่อื่น ซึ่งต้องรอคอยถึงสิ้นเดือนจึงจะเช็กได้ว่าขายได้หรือเหลือสินค้าอยู่เท่าไร
“ผมบอกคนอื่นบ่อยๆ ตั้งแต่ออนไลน์มาใหม่ๆ ว่าให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเพราะอีกไม่กี่ปีเทรนด์จะเปลี่ยน ปรากฏว่าสถานการณ์โควิด-19 มันทำให้เทรนด์เปลี่ยนเร็วขึ้นกว่าเดิมเสียอีก”
แต่เรื่องขายของออนไลน์ต้องใช้ทีมงานที่เข้าใจระบบโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือคนที่อยู่กับโลกออนไลน์มาจนชำนาญ คุณโต้งมองเห็นคนแถวชุมชนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยมาใหม่ๆ จึงได้มอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ “เด็กรุ่นใหม่เขาไม่ปีนต้นมะพร้าวหรือสอยมะพร้าวขายแน่ๆ รู้สึกดีที่น้องเขามาทำงานกับเราแล้วเขาชอบ ตอนนี้เราจ้างเด็กรุ่นใหม่อยู่ 3 คน และก็อยู่กับเรานานมาก 4-5 ปีแล้ว คนอายุ 20 กว่าๆ มีงานทำใกล้บ้าน ได้อยู่กับพ่อแม่ ได้อยู่ดูแลสวน หลายบ้านที่ลูกออกไปทำงานในเมือง พอวันหนึ่งพ่อแม่จากไป ลูกก็กลับมาขายที่ดินทิ้ง นายทุนเริ่มคืบคลานมายึดครองพื้นที่สมุทรสงครามมากเกินไปแล้ว”
ในทีมงาน 7-8 คนของเพลิน มีทั้งเด็กรุ่นใหม่ที่ดูแลการขายออนไลน์ และมีผู้ใหญ่วัยเกษียณที่ยังมีเรี่ยวแรงอยากทำงานอยู่ในสายงานผลิต ทุกคนคือคนในพื้นที่ เป็นการสร้างงานให้คนเริ่มกลับมามีความสุขใน “บ้านเกิด”…อย่างที่เขาตั้งใจ
Suggestion
วิสาหกิจพาเพลิน
ที่ตั้งของวิสาหกิจชุมชนเรือนสมุทรแรกสุดมีพื้นที่เพียงครึ่งไร่ เป็นโรงงานทำน้ำมันมะพร้าวและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว แต่พอมีออร์เดอร์เยอะขึ้น โดยเฉพาะยอดสั่งซื้อจาก คิง เพาเวอร์ ที่เพิ่มขึ้น ก็ได้ขยายเป็นวิสาหกิจชุมชนเรือนสมุทร 2 สร้างโรงงานอยู่กลางดงมะพร้าวพื้นที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
“ที่ตรงนี้ทำอะไรได้หลายอย่าง นอกจากโรงงานเครื่องสำอางแล้ว ถ้าต่อไปจะเพิ่มไลน์เทียนหอมและน้ำมันนวดก็คงใช้ที่นี่ และคิดไว้ว่าอนาคตอาจจะทำเป็นที่ท่องเที่ยว มีคาเฟ่เล็กๆ ที่มีโปรแกรมทำเทียนหอม ทำโลชัน ให้คนที่มาเยือนสมุทรสงครามได้มีกิจกรรมทำเพลินๆ แล้วค่อยไปเที่ยวที่อื่นต่อ”
แค่เริ่มเผยความคิด ก็เดาได้ว่าเขาเตรียมสร้างงานให้คนแถวนั้นอีกแล้ว
ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าวของสมุทรสงครามเท่านั้น แต่ “เพลิน” คือชีวิตของผู้คนในดงมะพร้าว คือโอกาสที่ทำให้คนหนุ่มสาวได้กลับมาอยู่บ้าน และคือจุดเริ่มต้นของการต่อลมหายใจพื้นที่สีเขียวของไทย…ที่นับวันจะเหลือน้อยลงทุกที
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: PLEARN
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา
ปักหมุดจุดเช็กอิน–แชะรูป–ท่องเที่ยวใกล้เคียง
• โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ โครงการที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวอัมพวา ทั้งในเรื่องวัฒนธรรม สืบสานวิถีชีวิต และภูมิปัญญาของคนในพื้นที่สมุทรสงคราม มีสวนเกษตรไว้ให้ศึกษาซึ่งรวมถึงสวนมะพร้าว และการสาธิตการเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าวให้ชมกันสดๆ
• คลองโคน ท่องเที่ยวได้ทั้งแบบสนุกสนานและเชิงอนุรักษ์ เริ่มตั้งแต่ล่องเรือเที่ยวป่าชายเลน ศึกษาระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ สัมผัสชีวิตชาวประมง ห้ามพลาดกิจกรรมสนุกๆ อย่างการถีบกระดานเลนเก็บหอยแครง ถ้าแข็งแรงหน่อยสามารถลองเล่นสกีโคลน พร้อมประสบการณ์นอนค้างคืนบน “กระเตง” หรือบ้านพักกลางทะเลโคลนของคนทำฟาร์มหอย เติมสีสันให้ชีวิตกันสักหน่อย
• ตลาดสดแม่กลอง ถ้าอยากได้ปลาทูแม่กลองของเด็ดของดังแห่งเมืองนี้ แนะนำให้เข้าตลาดสดกันเลย ไปพิสูจน์ด้วยตา ว่าฉายา “หน้างอคอหัก” ของแท้นั้นเป็นอย่างไร และยังมีอาหารทะเลทั้งสด-แห้งให้ซื้อหากันด้วย