People

กฤษณะพงศ์ กำลังเอก
ผู้ชายหลายหมวก

กฤษณา คชธรรมรัตน์ 28 Mar 2022
Views: 650

กฤษณะพงศ์ กำลังเอก ให้คำจำกัดความตัวเองว่า เป็นนักเขียน บรรณาธิการ คอลัมนิสต์ นักสร้างสรรค์ดนตรีอิสระ และยังเป็นข้าราชการครู หมวกหลายใบที่ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์แตกต่าง ตั้งแต่การสอนดนตรี การประพันธ์เพลง งานสื่อสารมวลชน ไปจนถึงงานที่เกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ ทำให้เราสนใจเหลือเกินว่า “อาจารย์” คนนี้ เขาสลับใส่หมวกทุกใบอย่างแคล่วคล่องราวกับมีเวทมนตร์ได้อย่างไร

 

กฤษณะพงษ์ กำลังเอก…เป็นใคร

• จบการศึกษา…ครุศาสตรบัณฑิต สาขาดนตรีสากล จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
• เป็นหลานชาย…ของพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบกและทหารสูงสุด
• เขามี…เกียรติประวัติในการรับราชการ และประสบการณ์ประกวด (ได้รับรางวัล) มาแล้วไม่น้อย
• นอกจากนั้น…เขายังศึกษาวิชาพิธีกรรมโบราณ จากชมรมโหราศาสตร์ไทย กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
• “โหราเอก”…คือนามปากกาของอาจารย์ท่านนี้
• หนังสือชื่อ “จัดรักให้ลงล็อก “…คือผลงานเล่มหนึ่งจากปลายปากกาของเขา
• เคย…ร่วมออกแบบเสียงและการประพันธ์เพลงภาพยนตร์ เรื่องอุลตราแมน Project Ultraman ณ ประเทศจีน ปี พ.ศ. 2548
• เขายังเป็น…ผู้สร้างสรรค์เพลงประกอบภาพยนตร์ เรื่องขบวนการสปอร์ตเรนเจอร์ ซึ่งออกอากาศทางช่อง 3 ปี พ.ศ. 2549

หมวกแห่งความสุข

เราเจออาจารย์กฤษณะพงศ์ครั้งแรก ในฐานะผู้ควบคุมวงดนตรี 518 Team Project ตัวแทนจากโรงเรียนราชประชาสมาสัย ฝ่ายมัธยม รัชดาภิเษก ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่แหวกกระแสเพลงยอดนิยม ผสมวงดนตรีสตริงและเครื่องเป่า เขย่าออกมาเป็นเพลงโพรเกรสซิฟร็อก เข้าแข่งขันประกวดวงดนตรีรายการ THE POWER BAND ครั้งที่ 1 จัดขึ้นโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย จนทะลุไปถึงรอบรองชนะเลิศ

“ถ้าถามว่าแนวดนตรีของ 518 Team Project เป็นแนวอะไร ก็ต้องบอกว่าแนวเราลูกผสมค่อนข้างเยอะ แต่โดดเด่นที่โพรเกรสซิฟร็อก อย่างเพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน (เพลงโจทย์ในการประกวด) จะใช้แนวทางที่เรียบเรียงแบบ โพรเกรสซิฟร็อก ในศิลปินรุ่นเก่าๆ เช่น Kansas หรือ The Pink Floyd มาผสมกันในดนตรีที่มีสัดส่วนลงตัว แต่นักเรียนของเรายังเด็กอยู่ ก็จะมีความเป็นโอลด์ สคูล

“ผมเลือกเทคนิคใช้โน้ตที่ไม่ยาก เรียงตัวกันเหมือนโน้ตในแบบฝึกหัดที่เขาเล่นกันได้อยู่แล้ว มาผสม…มาจัดสัดส่วนให้มีความซับซ้อนบ้างเล็กน้อย เพื่อที่จะออกมาเป็นลักษณะโพรเกรสซิฟนิดหน่อย

“ตอนนั้นใกล้จะถึงเวลาประกวดแล้วแต่สถานการณ์โควิดต่างๆ ทำให้วงยังไม่ได้ซ้อมเลย ผมมองเห็นแล้วว่าถ้าเราต้องทำเพลงใหม่ จะได้รู้สึกถึงความใหม่มากกว่า เด็กนักเรียนก็ได้เล่นเพลงอยู่ในยุคของเขาอย่างเพลงวันเกิดฉันปีนี้ ของวง Three Man Down ซึ่งพอรู้จักเพลงที่จะแสดง พวกเขาก็สามารถดึงความรู้สึกเอามาใส่กับเพลงนี้ได้ เขามีความเข้าใจ มีความอินมากกว่า

“พอได้โจทย์มาผมก็เอาเพลงมาเรียบเรียง ตอนที่เรียบเรียงผมก็เอามาคิดว่า จะทำออกมาแนวดนตรีอะไรได้บ้าง บางอย่างก็ไม่อยากทำลายเพลงเก่าเขา งานของ 518 Team Project จะไม่ทำลายท่วงทำนองที่เขามีอยู่แล้ว แต่เรามาเรียบเรียงในเรื่องของโพรเกรสซิฟคอร์ดที่อาจมีความซับซ้อนของคอร์ดที่มากขึ้น แล้วก็เซ็ตเพลงนี้ให้มีเครื่องเป่าด้วย ก็คิดว่าออกมาเป็นฟิวชัน ซึ่งมันมีความเชื่อมโยงกับโพรเกรสซิฟอย่างหนึ่งตรงที่มีความซับซ้อน แต่นั่นอาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ใช้กลิ่นของแจ๊สมาผสมด้วยโซล ประมาณนี้”

ทั้งหมดนี้ลูกศิษย์ขอทุ่มเทเพื่อการประกวดที่ยิ่งใหญ่ และพวกเขายังขอสานต่อความหลงใหลที่อาจารย์มีต่อดนตรีอย่างเข้มข้นด้วย

“การประกวดครั้งนั้นถือว่าเป็นรายการใหญ่ที่สุดในการประกวดดนตรีในระดับมัธยมและอุดมศึกษา เป็นการผสมผสานในด้านของแนวคิดที่มุ่งเน้นในเรื่องของศาสตร์และศิลป์ผสมกัน ส่วนในเรื่องของสถานการณ์โควิด รายการประกวดนี้ถือเป็นรายการเดียวที่ฝ่าวิกฤตนั้นมาได้

ถือว่าเป็นเกียรติที่เด็กๆ ได้มาประกวดรายการนี้ด้วย ส่วนเรื่องของผลการแข่งขัน ผมมองว่านักเรียนเขาเล่นก็ในข้อจำกัดที่มีเวลาซ้อมกันน้อย แต่การแสดงก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจ ถ้าจะให้คะแนน…ผมให้คะแนนความตั้งใจเกือบเต็ม อาจจะมีผิดนิดหน่อย ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของการเล่นสดอยู่แล้ว เรื่องของความประหม่าบนเวที ความตื่นเต้นก็มีบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่ก็แทบจะไม่ผิดเลย ถือว่าพอใจที่สุดแล้วในการประกวดมา

“ที่เด็กๆ บอกว่าวง 518 Team Project นี้เป็นแพสชันทางดนตรีของอาจารย์ ผมก็รู้สึกเหมือนเราเป็นแนวทางดนตรี เป็นโลก เป็นประตูที่เขาเปิดเข้ามาแล้ว เห็นประตูหลายๆ ด้านในตัวเรา ผมก็ตั้งใจให้เป็นแบบนั้น ให้เขารู้จักแนวดนตรีหลายๆ ด้าน ให้มาศึกษามาเรียนรู้เพื่อที่จะสามารถสร้างสรรค์แบบไร้ขีดจำกัดได้ แทนที่จะมาขีดแบ่งแนวไหนอย่างชัดเจน มันดีแต่ว่าการเรียนรู้ในระดับมัธยมควรจะรู้จักทั้งฟิวชัน ทั้งโพรเกรสซิฟ ทั้ง ป๊อป โซล อาร์ แอนด์ บี หรืออะไรต่างๆ ที่ควรจะรู้จักและนำมาผสมผสานกันเป็นสิ่งที่เขาจะทำ ณ ขณะนั้นได้

 

✔️ ความสุขหนึ่งของอาจารย์ คือให้ศิษย์ได้ส่งเสริมการเรียนรู้

 

“เหมือนชื่อวง 518 ซึ่งมาจากเลขห้องดนตรีที่เราอยู่กัน เป็นศูนย์รวมนักดนตรีหรือใครก็ได้ที่อยากเล่นดนตรี เราก็สร้าง Project ขึ้นมาเพื่อการประกวดครั้งนี้  เป็นที่มาของ 518 Team Project คือสร้างทีมขึ้นมาเพื่อศึกษาในแต่ละเวทีการประกวด จะได้เรียนรู้ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งไปที่อีกแพสชันของผม คือการพยายามทำให้ลูกศิษย์มีโอกาส มีการเรียนรู้ที่มองเห็นโลกทั้งหมด เพราะว่าในโลกของดนตรีมันต้องมาเจอโรงเรียนต่างๆ มาเจอวิธีการเล่นของที่อื่น อันนี้คือสิ่งที่ตั้งใจจะให้เขามาตรงนี้

“ความสุขของผมอยู่ที่วงมีการประกวด ความสุขของการเป็นครูตอนนี้ก็คือเห็นเด็กๆ มีโปรเจกต์ต่างๆ คือคนนี้ถนัดวงแบบนี้ คือทุกคนจะได้รับการส่งเสริมความถนัดทางดนตรี คนที่มีความสามารถทางดนตรีในโรงเรียนก็จะได้รับการส่งเสริมตามศักยภาพของเขา ใครที่มีความสามารถด้านวงโยฯ ก็จะส่งเสริมให้ได้ไปประกวด เพื่อให้ได้มีเวทีแสดงออก มีการเรียนรู้ วงสตริงเราก็ส่งเสริม เท่ากับว่าเวลาสอนประจำก็จะวางตั้งแต่ต้นปียันปลายปีว่าวงนี้จะต้องทำอะไรบ้าง เช่นว่า เครื่องเป่าควรจะอยู่บนเวทีในระดับประเทศรายการนี้ วงสตริงก็มีรายการไหนที่เราจะสามารถไป ผมเป็นคนที่วางแผนภาพรวมของโรงเรียนทางด้านดนตรีทั้งหมดเลย

ความสุขของการเป็นครูตอนนี้ก็คือเห็นเด็กๆ ได้รับการส่งเสริมความถนัดทางดนตรี

ได้รับการส่งเสริมตามศักยภาพของเขา”

กฤษณะพงศ์ กำลังเอก, ผู้คุมวง 518 Team Project

ความเป็นครูที่เริ่มต้นจากความเป็นคนดนตรี

“ไม่ได้ฝันว่าอยากเป็นครูตั้งแต่เด็ก แต่ความเป็นครูค่อยๆ ซึมซับมาตั้งแต่ตอนที่เป็นนักเรียนที่อยู่ในวงโยธวาทิต เราก็สอนน้อง ดูแลน้อง จนไม่รู้ว่าซึมซับมาอย่างไร แต่โตขึ้นมาดนตรีเป็นสิ่งที่เราคุ้นชินมา ตอนตัดสินใจเลือกเรียน ก็เลยมาเลือกเรียนดนตรี เลือกที่จะทำงานด้านดนตรีหลายๆ อย่าง สุดท้ายความชอบมันไปอยู่ที่ความเป็นครู เพราะมันสงบดี เราไม่ต้องถูกบีบบังคับว่าต้องทำการค้า การตลาดอย่างไร อย่างงานสร้างสรรค์อาจจะต้องฟังลูกค้า ว่าลูกค้าต้องการอย่างไร แต่งานที่เราทำกับเด็ก คืองานที่ไม่มีขีดจำกัด เราสามารถเอาอะไรมาศึกษาได้ เด็กก็จะได้เรียนรู้เพิ่ม

คนมักจะมองว่าศาสนาน่าเบื่อ เพราะเขาไม่ได้เข้าใจว่ามันเป็นสุนทรียศาสตร์” หมวกแห่งความเชื่อและศรัทธา

สำหรับอาจารย์กฤษณะพงศ์ ความว่างเปล่าก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ และศาสนาคือแรงบันดาลใจในการสร้างบทเพลง

“การทำเพลงมันมีเสน่ห์อย่างหนึ่งคือ ความว่างเปล่า ก็อย่างงานเพลงวันเกิดฉันปีนี้ เมื่อตอนประกวด หัวสมองตอนที่เราจะทำเพลงค่อนข้างว่างเปล่า แรงบันดาลใจของผมอาจจะเป็นศาสนา เวลาทำเพลงก็จะอธิษฐานก่อนว่า ‘ในความว่างเปล่านี้ขอไอเดีย’ ซึ่งบางทีก็ไม่รู้ว่าไอเดียมันคืออะไร เราก็นั่งเล่นเปียโนไปเรื่อยๆ จู่ๆ ไอเดียก็มา มันจะมองเห็นความมหัศจรรย์บางอย่าง แทบจะทุกโปรเจกต์ จะเป็นแบบนี้ ลักษณะของการอธิษฐานก็จะเป็นแรงบันดาลใจ สติ เพื่อกลับเข้าสู่ความสงบ ประสาทสัมผัสก็จะเกิดการรับรู้รอบด้านที่เราเรียนรู้มา ดึงส่วนที่เราเคยฟัง เรียนรู้มาแต่เดิมที่เราอาจจะจำไม่ได้ ที่เราเคยผ่านมา มันก็จะหลั่งไหลเข้ามา กลายเป็นการประมวลผลองค์รวม จนกลายมาเป็นเพลงได้

 

✔️ ใช้วิญญาณทางดนตรีเล่นดนตรี

เป็นปรัชญาในการสร้างสรรค์เพลง

 

“สำหรับผมเพลงกับศาสนาไปด้วยกันได้ ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ และแรงบันดาลใจ มีคำพูดอยู่หนึ่งว่า ‘เล่นดนตรีให้มีวิญญาณทางดนตรี’ อะไรที่เป็นนามธรรมเราไม่สามารถที่จะอธิบายด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ เช่น วิญญาณของดนตรีคืออะไร คือการเล่นโน้ตเหมือนกัน แต่ทำไมคนหนึ่งเล่นได้เข้าถึงมัน หรือบางคนเล่นแล้วแบบโลกนี้หายไป เหลือแต่เขากับดนตรี แล้วเขามีความสุขกับมัน ก็เหมือนศาสนาจะช่วยส่งเสริมความสุข และพาให้เราไปสู่จุดนั้น

“คนมักจะมองว่าศาสนาน่าเบื่อเพราะเขาไม่ได้เข้าใจว่ามันเป็นสุนทรียศาสตร์ ไม่ได้เข้าใจว่ามันเป็นเหมือนบทเพลงและความงามบางอย่าง ความงามที่จรรโลงจิตใจ เพราะเขาเข้าใจแค่ว่าศาสนาเป็นเรื่องโบราณ เป็นเรื่องบุญกุศล เพราะเขาไม่ได้ศึกษา คนที่เข้าใจแบบนี้ส่วนใหญ่ไม่เคยอ่านหนังสือศาสนา ไม่มีแพสชันหรือไม่มีคนที่ทำให้เกิดแพสชัน ในการพัฒนาตนเองในด้านของจิตวิญญาณศาสนา ที่จริงนักสร้างแรงบันดาลใจทั้งหลายก็ใช้หลักการทางศาสนามาช่วยส่งเสริม

หมวกแห่งความสร้างสรรค์

ไม่เพียงแค่ร้อยท่วงทำนองเป็นบทเพลง แต่อาจารย์กฤษณะพงศ์ยังถักทอทุกตัวอักษรเป็นงานเขียนหลากหลายแนว

“งานด้านการเขียน งานด้านสร้างสรรค์ทั้งหมด มันเป็นงานในรูปแบบเดียวกัน แค่การถ่ายทอดออกมาใช้เครื่องมือในการถ่ายทอดคนละแบบมากกว่า เช่น งานด้านการเขียนหนังสือ เป็นงานที่เราถ่ายทอดด้วยภาษาชนิดหนึ่งออกไป การใช้ภาษาก็จะมีศิลปะไม่ต่างจากการการแต่งเพลง อย่างการเขียนเนื้อเพลง เราต้องเขียนเรื่องทั้งเรื่องให้จบภายในไม่เกินหนึ่งหน้ากระดาษหรือไม่เกิน 3 วรรค แต่การเขียนหนังสือจะไม่ใช่ จะเป็นการขยายความอย่างมีศิลปะ ดนตรีก็คล้ายกัน เวลาทำเพลงก็จะมีการขยายความ มีการเรียบเรียง แทบจะไม่ต้องแบ่งวิธีการสร้างสรรค์เลย มันไปด้วยกันได้ เรียกว่าสุนทรียศาสตร์มันเป็นศาสตร์เดียวกัน

 

✔️ ทำทุกอย่างที่โอกาสมาถึง สิ่งนั้นจะทำให้เกิดทักษะเพิ่มเติม

 

“ผมทำงานหลายด้าน ผมอยากทำทุกอย่างที่ทำได้ ที่โอกาสมาถึง เช่น ถ้าบ.ก. ให้เขียนหนังสือ โดยที่บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเราจะเขียนได้ดีไหม แต่ปรัชญาที่ผมยึดคือเราจะไม่ทิ้งโอกาสนั้น และเราจะลงมือทำ เมื่อลงมือทำเสร็จเราก็จะมีทักษะเพิ่มเติม

“ผมชอบการเขียน ชอบโหราศาสตร์ ผมเขียนด้านศาสนา ด้านปรัชญา มีบางช่วงก็เขียนนวนิยาย ซึ่งส่วนมากผมเขียนหนังสือในเชิงศาสนา เพราะผมชอบหลักปรัชญาศาสนาต่างๆ ผมนับถือทุกศาสนา เพราะไม่อยากจำกัดตัวเองเหมือนแนวดนตรี ไม่อยากจำกัดตัวเองว่าฉันต้องเป็นอะไร

“ในความคิดอ่านบางทีเอาศาสนาอิสลามมาประยุกต์ใช้ บางอย่างในศาสนาอิสลามก็ดี อย่างในเรื่องการยึดถือ หลักการปฏิบัติ หลักวิธีคิด อิสลามก็มีหลายๆ อย่างคล้ายกับพุทธ กับคริสต์ มีสิ่งที่เรียกว่าการให้อภัยตัวเอง การเดินต่อไปข้างหน้า ผมค่อนข้างที่จะหลงใหลในศาสนา อาจจะเป็นความเชื่อมโยงทั้งงานด้านศาสนา ด้านโหราศาสตร์ ศาสตร์ที่มนุษย์พยายามที่จะติดตามอนาคต พยายามที่จะทำนายอนาคต

“ทั้งหมดเป็นความชอบส่วนตัวที่ไม่ปิดกั้น อาจจะรู้สึกว่าครูสอนดนตรี แต่ทำไมเขียนหนังสือด้วย…มันเริ่มต้นมาจากสิ่งที่เราชอบ แล้วก็คนเปิดโอกาส และเราก็ไม่เคยทิ้งโอกาสตรงนั้นเลย เช่น เจ้าของสำนักพิมพ์เห็นว่าผมชอบด้านโหราศาสตร์ เลยเปิดโอกาสลองเขียนหนังสือโหราศาสตร์

“พอ 7 วันก็เอาต้นฉบับไปส่ง แล้วค่อยปรับแก้กันไป เรื่องสำคัญของการทำงานคือต้องลงมือทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ถ้าเราไม่ทำพอ เขาไม่เห็นต้นฉบับเขาก็แก้ลำบาก หรือตอนไปทำเพลงประกอบภาพยนตร์อุลตราแมน เขาก็ให้โอกาสมา ทั้งๆ ที่ตอนนั้นไม่ได้เก่งทางคอมพิวเตอร์ดนตรีอะไรเลย ไม่ได้เข้าใจทางคอมพิวเตอร์ดนตรีว่าต้องทำอย่างไร สตูดิโอมันต้องยกตามกองถ่าย เราอยากศึกษาก็ไป แล้วก็ได้รับสิ่งกลับมาในเรื่องของประสบการณ์ในด้านคอมพิวเตอร์ดนตรี ตั้งแต่นั้นก็ทำให้ทำอะไรกับเทคโนโลยีดนตรีได้ดี และก็เอามาสอนนักเรียนได้ด้วย

“ผมชอบทุกเพลงที่ทำ แต่ชอบเพลงที่ทำแล้วได้เล่นบนเวที มีลูกศิษย์มาเล่น ถ้าถามนักทำเพลงหรือนักแต่งเพลงว่าชอบเพลงไหนที่สุดน่าจะตอบลำบาก มันเหมือนเรื่องกระบวนการความคิดของเราว่าเวลาทำงานเสร็จแล้วมันจะต้องลืม ต้องไปต่อข้างหน้าตลอด มันจะต้องทิ้ง พอเราทิ้งเราก็จะไม่ได้หลงใหลในสิ่งนั้นแล้ว เราก็จะไปหลงใหลต่อไปเรื่อยๆ มันถึงจะสร้างงานออกมา มันจึงเกิดปัญหา เวลาผ่านไปก็อาจจะชอบอีกแบบ”

 

เราก็มีดนตรีเป็นเพื่อน และเรามักจะเอาดนตรีฝ่าทุกวิกฤตของชีวิต”

ปักหมุดจุดแขวนหมวก

“ปัจจุบันผมเป็นครูที่อยากเปิดโลกให้ลูกศิษย์ แต่ในอนาคตก็อาจมีแพสชัน ใหม่ๆ ในเรื่องอื่นๆ ที่เข้ามา ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ที่แน่นอนคือตอนนี้ขอเป็นครู แล้วก็อยากส่งเสริมเรื่องโพสซิทีฟกับแนวคิดเรื่องของจริยธรรมมากกว่า เหมือนกับเอาหลักศาสนามาใช้ปลูกฝังขั้นตอนในการคิดในเรื่องของการมาแข่งขัน

“วิธีคิดสำหรับผม คือทำดีที่สุดเท่าที่เราดีได้แล้ว เราไม่ต้องเป็นที่หนึ่ง ไม่ต้องชนะ แต่สิ่งที่สำคัญ คือการพัฒนา และอีกสิ่งที่สำคัญคือความเป็นมิตร คือเรามองภาพรวมของประเทศในเรื่องของเยาวชน รอบบ้านเราอยากได้แบบไหนเราก็ควรจะต้องส่งคนออกไปแบบนั้น

 

✔️ สิ่งสำคัญกว่าการเป็นที่หนึ่ง คือการได้พัฒนา

 

“ตอนแรกผมก็ไม่ได้ชอบอาชีพครู ที่บ้านชอบให้เป็นทหาร แต่ตอนเด็กๆ ผมก็ไม่ได้สนใจทางนั้น สนใจแต่ดนตรี ผมไม่ชอบถูกบังคับ เลยรู้สึกชอบดนตรีมากกว่า ตอนแรกก็ไม่ได้เห็นประโยชน์ของมัน แต่ตอนที่ผมมาเรียนปริญญาโทที่มหิดล ผมเรียนกับอาจารย์สุธี มีคำพูดหนึ่งที่อาจารย์เขาสอน บอกว่าเราควรจะสอนเด็กให้เห็นว่าดนตรีเป็นเพื่อนคู่ชีวิตเรา มันก็จริง สังเกตตอนที่เรามีปัญหาที่ทำให้จิตใจเราหดหู่ลง เราก็มีดนตรีเป็นเพื่อน และเรามักจะเอาดนตรีฝ่าทุกวิกฤตของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ในใจ ก็เป็นเพื่อนเราตลอด จนเรามีชีวิตที่ดีขึ้นมาได้

“แทนที่เราจะเป็นเด็กเสียคน เด็กก้าวร้าว เด็กที่เรียกร้องความสนใจ กลายเป็นแบบเป็นคนอ่อนโยน กลายเป็นคนที่สุภาพเรียบร้อยได้ เพราะว่าดนตรีที่เป็นเพื่อนเรา มันก็เลยเห็นประโยชน์ตรงนี้ว่า ถ้าเราสอนเด็กให้มีดนตรีเป็นเพื่อนคู่ชีวิตของเขา ไม่ว่าเขาจะเป็นวิศวะ เป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นคนงาน เป็นอะไร ถ้าเขามีดนตรี เวลาเขาทุกข์ใจเขาหยิบกีตาร์ขึ้นมาเล่น มาเล่นเปียโน มาเป่าขลุ่ย มันก็อาจจะทำให้เขาคลายความทุกข์อะไรไป และอาจทำให้เขาผ่านเรื่องราวต่างๆ ไปได้

“ผมมีความฝันอันสูงสุด คืออยากพัฒนาจิตใจไปถึงโลกุตระ หลุดพ้นจากวัฏจักรของโลก ทุกอย่างที่ทำ ทุกอย่างที่พัฒนาจิตใจไปสู่จุดนั้นจุดเดียว ไม่ได้ปรารถนารวยหรืออะไร เราอาจจะสร้างได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ ถ้าอยากมีโน่นนี่มันคงไม่จบไม่สิ้น ขนาดปัจจุบันที่ผมหาความรู้มาสอนนักเรียน เรียนขนาดไหนก็ไม่หมดสักที มันยิ่งมีข้อมูลเข้ามาในหัวเราเยอะมาก ยิ่งเรียนก็ยิ่งไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดจบ

“พอมาถึงจุดหนึ่งเราอยากเห็นคำว่าจุดจบของการพัฒนาสูงสุดแล้ว ทางจิตวิญญาณแบบนี้ ไม่ได้คิดถึงเรื่องทางโลกแล้ว ถ้าบรรลุนิพพานก่อนที่จะตายไป ทางศาสนาพุทธเชื่อว่าถ้าเราตายไป เรายังไม่ได้โลกุตรธรรมก็ต้องมานั่งฟังอีก ถ้าเราฟังบ่อยๆ เราก็อาจจะจำได้ คนก็มีความแตกต่างกันเรื่องนี้ บางคนฟังธรรมแล้วเข้าใจเลย เหมือนกับคุ้นชินกับสิ่งที่ฟังมา ทั้งๆ ที่แค่ฟังแต่เข้าใจ เขาอาจจะเคยได้ฟังมาตั้งแต่อดีตที่ไกลโพ้น นั่นเป็นความเชื่อ

“ผมเคยคิดว่าถ้าจุดสุดท้าย ถ้ามีความพร้อม คือบวชมี 2 แบบ บวชที่ไม่มีความพร้อม คือบวชหนีความทุกข์ แต่ผมอยากจะบวชตอนที่มีความพร้อม ไม่มีภาระแล้ว ไม่มีหนี้บ้าน หนี้รถ ไม่มีใครให้ห่วง ไปถึงจุดตรงนั้น ถ้าต้องดำเนินชีวิตเพื่อความสุขก็ต้องพยายามทำให้ทุกอย่างมันสมบูรณ์หมดแล้ว  แล้วก็จะได้สละไปสู่จุดที่เราไม่อยากรู้อีกต่อไป”

 

ปรัชญาแบบศิลปินของกฤษณะพงศ์ กำลังเอก

✔️ ความสุขหนึ่งของอาจารย์ คือให้ศิษย์ได้ส่งเสริมการเรียนรู้

✔️ ใช้วิญญาณทางดนตรีเล่นดนตรี เป็นปรัชญาในการสร้างสรรค์เพลง

✔️ ทำทุกอย่างที่โอกาสมาถึง สิ่งนั้นจะทำให้เกิดทักษะเพิ่มเติม

✔️ สิ่งสำคัญกว่าการเป็นที่หนึ่ง คือการได้พัฒนา

Author

กฤษณา คชธรรมรัตน์

Author

นักเขียนที่ให้ความสนใจกับทุกเรื่องบนโลก อย่างละนิดอย่างละหน่อย บ่อยครั้งจึงวาร์ปไปเขียนเรื่องโน้นเรื่องนี้อย่างสนุกสนาน

Author

บริษัท เอ็กเปิร์ดคิด จำกัด

Photographer

การรวมตัวของคนโปรดักชั่น ที่ยังเชื่อในพลังสร้างสรรค์ เราจึงคิดและผลิตงานศิลปะทุกรูปแบบ