Passion

พลิษฐ์ บุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์
ผู้พาหัตถกรรมย่านลิเภา
ไปไกลข้ามโลก

บงกชรัตน์ สร้อยทอง 19 Apr 2022
Views: 932

จากความคุ้นเคยที่เห็นคุณพ่อรับซื้องานจักรสานหลายอย่าง โดยเฉพาะย่านลิเภาซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบฉบับของนครศรีธรรมราช

และวันหนึ่งที่ คุณพลิษฐ์ หงสุชน เจเนอเรชัน 2 ของ บุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ เริ่มเห็นความเป็นไปได้และคิดว่าย่านลิเภาสามารถไปได้ไกลกว่าหัตถกรรมไทยแบบเดิม จึงค่อยๆ เริ่มปรับเปลี่ยนการดีไซน์และแตกไลน์ประเภทสินค้าให้เข้าถึงและโดนใจผู้ใช้ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ในยุคปัจจุบันมากขึ้น

เราลองมาดูกันอะไรคือแรงบันดาลใจหรือจุดเปลี่ยนซึ่งทำให้หนุ่มวัย 34 ปีเจ้าของแบรนด์พร้อมจะขับเคลื่อนสิ่งนี้ให้ไปไกลถึงระดับโลก

 

ทำธุรกิจแบบรักในสิ่งที่ทำ

ของพลิษฐ์ บุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์

• ไม่หยุดที่จะปรับวิธีคิด ต่อยอดความคิด และพัฒนาสินค้า

• ต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเสมอ

• ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าคือสิ่งสำคัญสุด มากกว่าการเลือกที่จะตอบโจทย์สิ่งที่ตัวเองชอบ

• อะไรที่ไม่ถนัดก็ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่เชี่ยวชาญกว่าเป็นคนทำ อย่างมีทีมดีไซน์ตามคอลเลกชันโดยเฉพาะ

• มองคู่แข่งคือเพื่อนมากกว่า เพราะจะช่วยกันทำให้ไปถึงเป้าหมายด้วยกันได้

• การรักษาหัตถกรรมไทยเป็นสิ่งที่ช่วยสืบสานสิ่งล้ำค่าจากบรรพบุรุษ ที่ต้องมีการส่งต่อไปทั่วโลกเพื่อให้ย่านลิเภาเป็นที่รู้จัก

 

ย้อนวัยแหล่งตั้งต้นแรงบันดาลใจ

จากที่บ้านทำหลายธุรกิจอยู่แล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่แวดล้อมชีวิตวัยเยาว์ของเขา คือการได้เห็นคุณพ่อรับซื้องานจักรสานชั้นสูงจากชาวบ้านมาเนิ่นนาน ตั้งแต่ไม้ไผ่ กระจูด ต้นกก และย่านลิเภา ซึ่งวัตถุดิบหลังสุดนี้ค่อนข้างนำมาผลิตเป็นสินค้าได้ยากกว่า แต่ก็แฝงไปด้วยเรื่องราวและคุณค่าที่ซ่อนอยู่มากมาย โดยมีหน้าร้านประจำที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้เป็น OTOP ของจังหวัดด้วย

แรกเริ่มแม้เขาอาจจะไม่ได้ปักธงว่าจะต้องมาสานต่อกิจการบุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ แต่สนใจเรียนคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พร้อมตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านการตลาด ที่ประเทศจีน เพราะเห็นว่าภาษาที่ 3 เป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคต เมื่อจบแล้วเพื่อได้ใช้ภาษาที่เรียนมาจึงขอหาประสบการณ์งานทางด้านการศึกษาที่กรุงเทพฯ ก่อน ซึ่งที่บ้านก็ไม่ได้ทัดทานและเปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้โลกกว้างได้เต็มที่ก่อนที่จะกลับมาช่วยที่บ้านในเวลาต่อมา

จุดเปลี่ยนที่ต้องขับเคลื่อน

วันหนึ่งมุมมองที่มีต่อย่านลิเภาของเขาเปลี่ยนไป จากเดิมคิดเพียงว่าเป็นสินค้าที่ใช้กันเฉพาะผู้ใหญ่และใช้ภายในประเทศไทยเท่านั้น เนื่องมาจากเห็นลูกค้าญี่ปุ่นได้มาซื้อกระเป๋าย่านลิเภาด้วยตัวเองแถมยังเป็นการซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง เมื่อประกอบกับภาพที่เคยเห็นเมื่อไปเที่ยวและเห็นคนญี่ปุ่นใช้สินค้าประเภทจักรสานมากมาย ซึ่งความจริงก็มีลักษณะคล้ายกับจักรสานของไทย เลยเป็นข้อสงสัยว่า แล้วทำไมย่านลิเภาของเราส่งไปต่างประเทศได้น้อย

 

บันไดก้าวแรกที่มีพี่เลี้ยง

คุณพลิษฐ์จึงเริ่มทยอยแก้โจทย์พร้อมลองหาคำตอบด้วยตัวเองตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา โดยเขามองว่าคุณพ่อได้วางรากฐานที่เป็นจุดเริ่มต้นได้ดีแล้วกับการร่วมกันทำงานกับหน่วยงานภาครัฐที่พร้อมผลักดันผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาออกสู่สายตาโลกมากขึ้น ตั้งแต่กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่มีออกไปจัดบูทหรือแนะนำสินค้า (โรดโชว์) ที่ญี่ปุ่น จีน การร่วมส่งสินค้าแบบหัตถกรรมไปต่างประเทศนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก

ผลตอบรับช่วงแรก คือมีออร์เดอร์ให้ผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้าญี่ปุ่น (งานโออีเอ็มของแบรนด์) แต่ก็ถือว่าจากจุดนั้นทำให้บุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ สามารถปรับตัวและคอยพัฒนาสินค้าจนสามารถเพิ่มคุณค่า มูลค่า และมุมมองการทำงานแบบใหม่ให้เกิดขึ้นเสมอ เห็นผลชัดเจนหลังร่วมงาน Tokyo Gift Show 2017 ที่มีทีมนักออกแบบไทยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นได้สร้างสรรค์ ‘ลายน้ำไหล’ มาเป็นหัตถศิลป์ลวดลายใหม่บนย่านลิเภา ซึ่งนักออกแบบญี่ปุ่นได้แรงบันดาลใจจากภาพจิตรกรรมของนักวาดญี่ปุ่นด้วย

 

ความแตกต่างกลายเป็นจุดแข็งของบุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์

ออร์เดอร์แบบโออีเอ็มจากลูกค้าญี่ปุ่นตอนนั้นกลายเป็นจุดเริ่มที่ค่อยๆ มาเสริมจุดแข็งให้กับบุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ เพราะความยากของลายน้ำไหล คือการเปลี่ยนมุมมองและวิธีการทำงานของผู้ที่ต้องลงมือสานย่านลิเภา

เนื่องจากงานหัตถกรรมนี้อาศัยประสบการณ์ ผู้สานส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุและเคยชินกับการทำลวดลายหรือแบบฉบับดั้งเดิมที่ทำมาแล้วหลายสิบปี อีกทั้งวิธีการทำลายน้ำไหลมีขั้นตอนที่ยากกว่าเดิม โดยจะต้องพลิกย่านลิเภาตลอดเวลา ซึ่งเป็นเปลือกไม้ที่มีขนาดเล็กแต่แข็งแรงให้สานต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่หัก ประกอบกับรูปทรงของสินค้าที่มีการดีไซน์และผลิตขึ้นใหม่มักจะมีทรงที่แปลกและแตกต่างจากสิ่งที่พวกเขาเคยทำกันมาก่อน ดังนั้นทำให้ขั้นตอนการทำสินค้าที่ออกมาแต่ละชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งปกติ กระเป๋าใบหนึ่งก็ใช้เวลาทำนานถึง 3-5 เดือน

“การเปลี่ยนลวดลายใหม่ที่จะต้องเปลี่ยนวิธีการสานใหม่ จากความคุ้นเคยและทำกันมาหลายสิบปี ย่อมเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร แต่ก็เลือกที่จะสื่อสารเพื่อบอกเขาตรงๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้อยากจะพัฒนาสินค้าให้ดีกว่าเดิมว่า ถ้าเราสามารถผลิตสินค้าให้ตรงกับสไตล์และความต้องการใช้ของลูกค้าที่มีลักษณะไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับวิถีชีวิตประจำวันมากขึ้น ก็เป็นโอกาสที่จะทำให้มีลูกค้ามากขึ้นและมีคนสั่งออร์เดอร์มากขึ้น หากทำแบบเดิมก็ย่อมได้สินค้าในราคาเดิม ถ้าตั้งใจผลิตเต็มที่และเป็นที่พอใจของลูกค้าเขาก็สั่งต่อเนื่อง และผลตอบแทนก็กลับมาอยู่กับพวกเขาเพิ่มเช่นกัน”

“ยากแต่เราเลือกที่จะสื่อสารแบบบอกเขาตรงๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้อยากจะพัฒนาสินค้าให้ดีกว่าเดิมว่า ถ้าเราสร้างสรรค์สินค้าให้ตรงกับสไตล์และความต้องการใช้งานของลูกค้าที่ให้เข้ากับวิถีชีวิตประจำวันมากขึ้น ก็เป็นโอกาสให้มีลูกค้ามากขึ้น เมื่อเป็นที่พอใจ ลูกค้าเขาก็สั่งต่อเนื่อง แต่ถ้าทำแบบเดิมก็ย่อมได้สินค้าในราคาเดิม”

ประตูบานใหญ่เปิดโอกาสพัฒนาสู่เวทีโลก

กระเป๋าย่านลิเภาของบุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ มีอวดโฉมนักเดินทางนานาชาติอยู่ที่ คิง เพาเวอร์ มาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อ แต่สิ่งที่คุณพลิษฐ์พยายามจะผลักดันความตั้งใจนี้ให้เติบใหญ่ต่อเนื่อง นั่นคือ การวางโจทย์การผลิตไว้ว่า “ทำอย่างไรที่เวลานึกย่านลิเภาต้องนึกถึงบุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์”

และคำตอบที่ได้ก็คือ การผลิตงานแต่ละชิ้นไม่ได้ตอบสนองความต้องการของผู้ผลิต แต่ต้องตอบความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด และยังต้องสามารถรองรับกับผู้ใช้ทุกช่วงอายุ ทุกกลุ่ม และทุกเพศวัย ดังนั้นการจะออกแบบดีไซน์ใหม่ขึ้นมาแต่ละครั้งจึงต้องมีการสำรวจการตลาดอย่างแท้จริง

“เราให้ความสำคัญกับการความต้องการของลูกค้าเป็นหลักมากกว่าที่จะผลิตสินค้าตามแบบที่ชอบ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการตอบโจทย์จากผู้ใช้ที่แท้จริง ดังนั้นสินค้าของบุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ จะออกมาสักชิ้นต้องผ่านจากการสอบถามจากลูกค้า จากเพื่อน หรือคนรู้จักในกรุงเทพฯ ว่าชิ้นนี้สามารถตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันมากน้อยขนาดไหน

อีกส่วนหนึ่งก็เป็นการบ้านจากน้องสาวทั้งสองคนที่เข้ามาช่วยดูเรื่องรูปแบบการดีไซน์ เพราะในฐานะผู้หญิงเขาน่าจะเข้าใจความต้องการของผู้หญิงได้ดีกว่าเรา หรือบางครั้งเขาเห็นรูปแบบกระเป๋าใหม่ๆ จากอินสตาแกรมที่สวยๆ ก็มาแนะนำให้ลองประยุกต์มาพัฒนาสินค้าดู”

ความแตกต่างนี้ยังรวมไปถึงการตอบโจทย์ให้กับลูกค้าของทาง คิง เพาเวอร์ ด้วย เพราะสาขาซอยรางน้ำจะเน้นวางจำหน่ายสินค้าที่มีดีไซน์แตกต่างและปรับให้เข้ากับชีวิตประจำวันของผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเสมอ เช่น กระเป๋าสตางค์ย่านลิเภาใส่เหรียญ กระเป๋าย่านลิเภาแบบทรงสี่เหลี่ยมไว้ใส่เอกสารขนาดเอ 4 ได้ กระเป๋าสตางค์ทั้งแบบผู้หญิงและผู้ชาย กระเป๋าใส่ไอแพด หรือกระเป๋าทรงทั้งแบบสั้น/ยาว ที่มีการขายเป็นเซ็ต ส่วน คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ที่สุวรรณภูมิจะเป็นสินค้าที่เป็นหัตถกรรมแบบดั้งเดิมเป็นหลัก

นับว่าการสร้างสรรค์ผลงานที่ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าตรงกลุ่มเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง

 

ไม่หยุดพัฒนาคือหัวใจหลักรุ่นต่อรุ่น

ตลอดกว่า 40 ปีที่มีบุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ สิ่งที่เห็นคุณพ่อทำมาตลอด นั่นคือ “การไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาต่อยอดสินค้า” ครั้งหนึ่งคุณพ่อเคยแตกไลน์สินค้าใหม่ คือการทำเคสของสมาร์ทโฟน โทรศัพท์มือถือไอโฟนและไอแพด ถือเป็นช่วงแรกๆ ที่มีการปรับสินค้าให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันของลูกค้ามากขึ้น จนระยะหลังเมื่อไอโฟนมีการเปลี่ยนรุ่นอย่างรวดเร็วทำให้หยุดผลิตเคสมือถือ ยกเว้นกรณีที่มีลูกค้ามาสั่งให้ผลิตแบบโออีเอ็มโดยเฉพาะ

“บุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนามาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงยึดหลักเดียวกันนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะจะคิดตลอดเวลาว่า จะปรับดีไซน์และรูปแบบสินค้าอย่างไรเพื่อถูกใจลูกค้า และอย่างน้อยภาย 1 ปี ต้องออกคอลเลกชันใหม่ 5 อย่าง หากคิดแบบหลักการดีไซน์ทั่วไปอาจมองว่าเป็นจำนวนที่น้อย แต่เพราะอยากให้ได้รูปแบบที่มีคุณภาพและตรงใจลูกค้ามากที่สุด ดีกว่าเน้นปริมาณออกมามากแต่ไม่รองรับกับไลฟ์สไตล์ที่ลูกค้าต้องการ แล้วทำให้สินค้าค้างอยู่ในสต็อกจำนวนมาก”

“ย่านลิเภาบุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ ต้องเข้าถึงได้ทุกคน ทุกชาติ โดยเอาดีไซน์เป็นตัวนำและให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันผู้ใช้มากขึ้น”

พลิษฐ์ หงสุชน แห่งแบรนด์บุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์

 

โชคดีที่การผลิตโออีเอ็มตามความต้องการของลูกค้า ทำให้บุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ เข้าใจและเห็นเทรนด์แฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปีว่าเทรนด์หรือสีไหนกำลังจะมาจากลูกค้าประเทศฝรั่งเศสเมืองแฟชั่นระดับโกลบอล ดังนั้นการผลิตจะต้องมีการปรับจูนกันว่าเราจะขึ้นโครงแบบไหน โดยที่ลูกค้าจะมีการส่งของตกแต่ง (Accessory) มาให้เพิ่ม เช่น ผ้า หนัง ซึ่งขอแค่เพียงสามารถผลิตกระเป๋าได้ตรงกับเทรนด์แฟชั่นช่วงนั้นเป็นหลัก ซึ่งทำให้ทีมผลิตได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะอยู่เสมอด้วย ส่วนลูกค้าญี่ปุ่นไม่ต้องการดีไซน์ที่หวือหวามาก แต่ขอให้สินค้าที่ผลิตออกมาแต่ละชิ้นต้องเนี้ยบและมีคุณภาพจริงๆ ทำให้ต้องละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบในการทำผลงานให้ออกมาดี

เสน่ห์ย่านลิเภา’ ที่ต้องเล่าตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบ

เป็นที่รับรู้กันว่าย่านลิเภาถือเป็นสินค้าหัตถกรรมที่สูงกว่าทั่วไป เพราะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ส่งเสริมและสนับสนุนการสานย่านลิเภามานานเป็นหลายสิบปี ขณะที่คุณสมบัติของย่านลิเภาที่มีความคงทนแข็งแรงอยู่ได้เป็นสิบๆ ปี ยังเห็นได้ในพิพิธภัณฑ์ที่นครศรีธรรมราช หรือจากที่เป็นมรดกตกทอดกันมาจะมีกระเป๋าย่านลิเภาอายุ 100 ปี ให้เห็นกันอยู่ต่อเนื่อง คุณพลิษฐ์บอกกล่าวเราแบบนั้น

“เสน่ห์ของย่านลิเภานั้นเริ่มตั้งแต่การหาวัตถุดิบย่านลิเภาที่ปกติจะขึ้นในป่าดิบชื้นตามภูเขา แถบ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และต้องเป็นการขึ้นเองจากแหล่งธรรมชาติ ซึ่งย่านลิเภาก็มักซ่อนตัวอยู่ภายใต้ต้นไม้อื่น ไม่ได้โผล่พ้นออกมาให้เห็นโดยทั่วไป ถ้าไม่มีความเชี่ยวชาญหรือผูกพันจริงจะหาเจอคงเป็นเรื่องยาก

หรือแม้บางครั้งอาจพบเจอในป่ายางที่มีความชื้นมาก แต่ก็ต้องรู้วิธีในการนำย่านลิเภามาเป็นวัตถุดิบให้สมบูรณ์ที่สุด เพราะเป็นการนำเอาตรงเปลือกไม้ที่พันกัน แล้วมีวิธีดึงมาโดยไม่ทำให้กรอบ ขาดหรือหักได้ ส่วนการที่จะเพาะพันธุ์ปลูกย่านลิเภาเพื่อการเฉพาะนั้นคงเป็นไปได้ยากเช่นกัน เพราะเป็นพืชที่ไม่ได้ขึ้นได้ง่าย สำหรับขั้นตอนการจะนำมาสานเป็นกระเป๋าได้ก็ต้องมีวิธีการเหลาเปลือกไม้ โดยใช้กระป๋องนมเจาะรูไว้แล้วรูดเพื่อให้ได้เส้นออกมาบางที่สุด”

บุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ จึงพยายามรักษาความเป็นธรรมชาติของย่านลิเภาจากต้นทางไปสู่ปลายทางให้กับผู้บริโภค โดยสินค้าทุกชิ้นจะไม่มีการใช้ส่วนผสมของสารเคมีมาเติมแต่งเด็ดขาด สิ่งที่ทำคือจะเน้นการขึ้นโครงชิ้นงานที่ทำมาจากหวายและใช้เส้นย่านลิเภาในการสานทุกชิ้นก่อน แล้วถึงจะมีการใช้เครื่องประดับต่างๆ เช่น ผ้า หนัง… มาผสมผสานให้เข้ากับดีไซน์และตามออร์เดอร์ของลูกค้าที่สั่งมา

ขณะที่ปลายทางเมื่อถึงมือลูกค้าแล้วสิ่งที่จะรักษาย่านลิเภาให้คงความเป็นธรรมชาติได้ ก็ไม่ได้มีวิธีการที่ซับซ้อนหรือดูแลยากแต่อย่างใด เพียงเอาผ้าชุบน้ำหมาดๆ แล้วตากไว้ให้แห้ง เพียงเท่านี้ความเป็นธรรมชาติก็สามารถอยู่ได้อย่างยาวนานและพร้อมส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป

คุณพลิษฐ์เล่าต่อแบบคนที่รู้จริงว่า “เพราะย่านลิเภาเป็นไม้และผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากชนิดอื่นอย่างชัดเจน จึงตั้งใจและพยายามสืบสานด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของย่านลิเภาตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทางนั้นมีเสน่ห์อย่างไร รวมถึงภูมิปัญญาชาวบ้านที่ยังคงแฝงวิถีชีวิตและธรรมชาติที่สมบูรณ์อยู่ในกระเป๋าแต่ละใบ จนสามารถรักษาและสืบสานจากบรรพบุรุษถึงรุ่นปัจจุบันนี้”

 

อนาคตย่านลิเภาจะเข้าถึงไลฟ์สไตล์คนทุกกลุ่ม

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ปัจจุบันความเป็นไทยได้ถูกการอนุรักษ์และสืบสานต่อมากขึ้น เห็นได้จากการนิยมแต่งชุดไทยหรือใช้ผ้าไทยในงานสำคัญต่างๆ ดังนั้นองค์ประกอบจำเป็นที่ขาดไม่ได้ คือต้องหากระเป๋าที่บ่งบอกความเป็นไทยให้เข้ากับชุดด้วย และเป็นโอกาสดีทำให้หลายคนได้เข้าถึงกระเป๋าย่านลิเภาหลังปรับดีไซน์เข้ากับยุคปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันทำให้มีฐานลูกค้าที่มีช่วงอายุน้อยกว่าเมื่อก่อน เช่น กลุ่มวัยทำงาน

“แม้ตอนนี้ลูกค้าหลักยังเป็นกลุ่มผู้หญิง แต่พอมีพวกกระเป๋าแบบผู้ชายก็ถือว่าได้รับผลตอบรับดีไม่น้อยเช่นกัน จากเดิมที่บุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ มีสัดส่วนลูกค้าผู้ชายน้อยมาก บุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ มีทีมดีไซน์ที่มาช่วยออกแบบให้รูปแบบสินค้าเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้นเป็นคอลเลกชัน เพราะเชื่อว่างานอะไรที่เราไม่ถนัดก็ต้องให้คนที่เขาเชี่ยวชาญมาออกแบบให้ จากเมื่อก่อนคิดว่าต้องเป็นวัยผู้ใหญ่เท่านั้นที่ถือกระเป๋าย่านลิเภา ตอนนี้รู้สึกดีใจและเริ่มเห็นแนวทางว่าอนาคตบุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ จะสามารถตอบโจทย์และรองรับการผลิต ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ทุกกลุ่มอย่างแน่นอน”

ฝันสูงสุดคือก้าวสู่แบรนด์ระดับโลก

จะว่าไปแพสชันหรือแนวคิดของผู้ชายคนนี้ที่นอกจากต้องการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำงานหัตถศิลป์จากย่านลิเภาที่ล้ำค่าและเป็นอัตลักษณ์ของนครศรีธรรมราช จากบรรพบุรุษที่ช่วยกันรักษาและพร้อมส่งต่อไปยังรุ่นหลานนั้น เขายังพร้อมและพยายามขับเคลื่อนให้หัตถกรรมไทยจากย่านลิเภาไปโลดแล่นอยู่บนเวทีโลกให้ได้ด้วย แม้ตอนนี้อาจยังติดขัดกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้กำลังซื้อทั่วโลกได้ชะลอลงอย่างเห็นได้ชัด โดยคุณพลิษฐ์ยังคงยืนยันหนักแน่นที่จะไม่ลบล้างความฝันที่ตั้งใจออกไป

“ผมมั่นใจว่าย่านลิเภายังสามารถไปได้ไกลอีกมาก ในการจะก้าวไปสู่เวทีโลกให้เป็นที่รู้จักของต่างชาติมากขึ้น แต่เราจะทำหรือไปเพียงคนเดียวคงไม่ได้ จึงอยากชวนให้ทุกคนที่มีส่วนในการผลิตย่านลิเภามาช่วยกันทำสิ่งนี้ให้เฉิดฉายบนเวทีโลก สำหรับเขาผู้ที่มีการผลิตย่านลิเภาเหมือนกันไม่ใช่คู่แข่งเลย แต่มองว่าพวกเขาเป็นเพื่อนที่พร้อมจับมือกัน ร่วมกันพัฒนาการดีไซน์และต่อยอดสินค้าโดยมีการควบคุมการผลิตออกมาให้มีคุณภาพดีที่สุด”

 

โควิด-19 กระทบย่านลิเภาแต่ไม่ยอมหยุดอยู่แค่นี้

ก่อนเกิดโควิด-19 สัดส่วนรับผลิตเพื่อส่งออกย่านลิเภาของบุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ ไปต่างประเทศอยู่ที่ 20-30% แต่ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 5-10% ปกติสัดส่วนที่ส่งไปต่างประเทศทั้งหมดคือเป็นการรับผลิตให้กับลูกค้า ที่ก่อนหน้านี้มีไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส แต่ตอนนี้เหลือเพียงญี่ปุ่นกับฝรั่งเศสเท่านั้น โดยที่คุณพลิษฐ์ตั้งใจว่าอนาคตจะเพิ่มแบรนด์สินค้าที่เป็นของบุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์เอง (เฮาส์แบรนด์) มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันส่งได้เพียงตลาดในประเทศเท่านั้น

“เมื่อก่อนความยากในตัวงานคือต้องคิดว่าจะต่อยอดหรือพัฒนาอย่างไรเพื่อให้ออร์เดอร์เพิ่มขึ้น โดยแต่ละปีตั้งเป้าลูกค้าเพิ่มให้ได้ 2-3 เจ้า แต่จากสถานการณ์โควิด-19 แค่ให้ลูกค้าเก่ากลับมาซื้อสินค้ากับเราก็ดีใจแล้ว ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า สินค้าย่านลิเภาจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟื่อยไม่ใช่พวกสินค้าอุปโภคหรือบริโภคที่จำเป็นต้องกินต้องใช้ แต่ก็ทำให้เรารู้จักปรับตัวมาเน้นช่องทางออนไลน์มากขึ้นด้วย

จากเดิมไม่อยากทำอย่างนั้นเลยเพราะกลัวจะมีการก๊อบปี้รูปแบบไป แต่ตอนนี้ไม่กลัวแล้ว เพราะมองว่าถ้าเขาก๊อบเราก็คิดใหม่สร้างใหม่ได้ และวิธีในการผลิตแต่ละรูปแบบไม่ใช่ว่าจะสามารถทำออกมาได้เหมือนกันได้ง่าย”

จากเส้นทางที่ก้าวเดินมาของบุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ ของเจเนอเรชัน 2 ที่มาพร้อมกับความตั้งใจให้ย่านลิเภาเริ่มเข้าไปอยู่ในใจของผู้ใช้ในยุคใหม่มากขึ้น ซึ่งก็เริ่มเห็นผลอย่างที่ตั้งใจไว้จริง แต่เส้นทางนี้ยังไม่สุดปลายทางเพราะเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้หัตถกรรมเหล่านี้ได้ไปบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ บนเวทีระดับโลก และไม่แน่วันหนึ่งอาจจะเห็นแบรนด์บุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ ก้าวไปสู่ร้านค้าชั้นนำในเมืองแฟชั่นระดับโกลบอลก็เป็นได้

 

BOONYARAT THAI CRAFT

ที่ตั้ง : 1385/4 ถ.เนรมิต ต.คลัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 80000

 

Facebook: BOONYARAT THAI CRAFT

 

ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย

คลิก: BOONYARAT THAI CRAFT

 

สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา

Author

บงกชรัตน์ สร้อยทอง

Author

อดีตผู้สื่อข่าวผันตัวเป็นฟรีแลนซ์คอนเทนท์ที่ขอมีวิถีเกษตรควบคู่ไปด้วย มีฝันสร้างคลังอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมองเป็นความยั่งยืนที่แท้จริง