ปิ่นโตเซรามิกรัดด้วยหูไม้วาดลวดลายสีคราม เป็นความแปลกใหม่ที่ดึงความสนใจของคนที่ชื่นชอบงานคราฟต์เมื่อราว 7 ปีที่แล้วได้อย่างดี แต่เพราะความเป็นศิลปะที่อยู่เหนือกาลเวลา ความแปลกตาของดีไซน์และลายเส้นที่บรรจงวาดด้วยพู่กันในแนวทางไม่ซ้ำใครจึงทำให้อยู่ในกระแสมายาวนานต่อเนื่องจนวันนี้
ย้อนเวลากลับไปประมาณ 20 ปีก่อนหน้า กิตต์ กัลยาณพงศ์ บัณฑิตสาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นครูสอนศิลปะที่โรงเรียนรุ่งอรุณอยู่เดิม ได้ลาออกเพื่อไปสอนวิชาศิลปะและ เซรามิกแทนเพื่อนที่โรงเรียนทอสี โดยทักษะการทำเซรามิกของเขามีแค่ “เคยลงเรียน 1 วิชา” อาศัยเพื่อนที่เขาจะเข้าไปแทนเป็นคนสอนวิธีใช้เตาเผาให้ นั่นคือการทำความรู้จักกันอย่างจริงจังระหว่าง กิตต์กับเซรามิก
“การทำเซรามิกต้องทดลองด้วยตัวเอง ผมเลยเช่าบ้านที่นนท์ ซื้อเตาเผามาไว้ที่บ้านนั้น เปิดเป็นโรงเรียนสอนอย่างเดียว ยังไม่ได้ทำของขาย ได้ลองผิดลองถูกที่บ้านหลังนี้แหละครับ ทำอยู่สิบปี เจ้าของบ้านขึ้นค่าเช่าเยอะมาก ก็เลยบอกเลิกแล้วกลับมาอยู่บ้านพ่อที่อยู่ปัจจุบันนี้ ย้ายเตา ย้ายข้าวของมา แต่ไม่ได้ทำที่โรงเรียนแล้วเพราะพื้นที่ไม่เอื้อให้ทำการสอน ก็ได้มาทำโปรดักต์จริงๆ จังๆ ที่นี่”
เริ่มจากทำของที่อยากใช้
“โรงเรียนเป็นเรื่องของการเอามาสอนมากกว่า ทำของนี่ทำใช้เอง เป็นของที่เราอยากใช้ ซึ่งมันเป็นการใช้จริงมากสำหรับเรา มีกินเลี้ยงที่บ้าน อาจารย์มา เพื่อนมา ต้องมีจานมีถ้วย ที่ทำเป็นเรื่องเป็นราวที่สุดน่าจะเป็นถ้วยกาแฟ เพราะกินกาแฟกัน
“ของชุดแรกที่ทำขาย คือจานข้าว ไปออกงานแฟร์ครั้งแรกที่ไบเทคฯ น่าจะประมาณปี 2555 เป็นงานบ้านและสวนแฟร์ กับที่จัดช่วงใกล้ๆ กันอีกงานหนึ่งเป็นของศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ เขาให้ส่งรูปผลงานเข้าไปเพื่อคัดว่าใครจะได้เข้าไปขายในบูทฟรี ของเราก็ส่งผลงานจานอย่างเดียว เพราะผมสอนหนังสือด้วย ไม่ได้มีเวลาเยอะ พอไปออกงานครั้งแรกก็ขายได้เกือบหมดครับ มีคนซื้อทีละหลายๆ ใบอยู่หลายคน น่าจะเป็นเพราะเป็นของที่ตลาดไม่ได้มีใครทำเท่าไร แล้วคนที่เข้าใจงาน throwing เขามองว่าเป็นอะไรที่น่าเก็บ เขาจะรู้สึกว่าพิเศษ คือมันเรียบง่าย แต่มีเสน่ห์ มีรอยมืออยู่บนนั้น
“ชิ้นงานที่ unique คือทำเวลาเดียวกันแต่วาดแต่ละครั้งก็ได้ลายออกมาไม่เหมือนกันครับ นึกภาพง่ายๆ ว่ามันคืองานหัตถกรรมสมัยก่อน ก่อนที่จะมีระบบอุตสาหกรรมมาเปลี่ยน อย่างสมัยสุโขทัยที่มีเตาเผาทำของให้ทุกคนใช้ มีช่างวาด ช่างก็วาดได้ไม่เหมือนกันทุกใบอยู่แล้ว เราก็เลยกลับไปที่อะไรที่เก่ากว่า เรียบง่ายกว่า คือ คนทำด้วยมือ แล้วก็มีเสน่ห์ของคนอยู่ในงาน ถึงได้ชื่อแบรนด์นี้ไงครับ”
Suggestion
มีอีกคนมาช่วย จึงเกิดความหลากหลาย
การเข้ามาของ เพ้นต์ ณปภัช เศรษฐาวงศ์ เป็นช่วงเริ่มต้นแบรนด์พอดี ทั้งคู่รู้จักกันที่โรงเรียนทอสี “เพ้นต์จบครุศาสตร์ ปฐมวัย จุฬาฯ ค่ะ ห่างกับพี่ป่าน (ชื่อเล่นของกิตต์) 4 ปี แล้วไปฝึกสอนที่โรงเรียนทอสี พอดีตัวเองสนใจศิลปะก็เลยได้รู้จักเซรามิกผ่านทางพี่ป่าน ทำให้เปิดโลกศิลปะเพิ่มขึ้น”
แต่ในวันนั้นเพ้นต์ยังไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Lively Ware เพราะหลังเรียนจบ เธอไปทำหน้าที่คุณครูอยู่ที่โรงเรียนปลูกปัญญา เป็นเวลา 2 ปีจึงลาออก “ค้นพบตัวเองว่าอยากทำงานเงียบๆ ไม่พบเจอผู้คนเยอะๆ เลยออกมาทำเซรามิกเต็มตัว ช่วงแรกเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อน ยังไม่รู้ว่าต้องวาดลายยังไง ก็เริ่มจากปั้นของเล็กๆ พวกต่างหู กระดุม ถ้าเป็นของกุ๊กกิ๊กเล็กๆ นี่เพ้นต์ปั้นหมดเลย”
นับได้ว่าเพ้นต์เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแบรนด์ นอกจากจะร่วมคิดผลิตผลที่แตกต่างซึ่งมีความเป็นผู้หญิงเข้ามาช่วยเพิ่มสีสันแล้ว ยังเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการสร้างสรรค์งาน ที่ควรใช้คนมากกว่าหนึ่ง เพราะกิตต์ยังสวมหมวกอีกใบในสถานะ “คุณครูกิตต์” มาตลอดจนถึงตอนนี้ที่สอนศิลปะ สีน้ำมัน และเซรามิกให้เด็กมัธยมโรงเรียนไตรพัฒน์
“ปิ่นโตของเราเอาฟังก์ชันเก่ามานำเสนอใหม่ เดิมเป็นหูทองเหลือง เราทำเป็นไม้สักซึ่งทำที่เชียงใหม่ เป็นลุงกับป้าที่ได้ไม้มาจากเรือนไทย เป็นแกนไม้ซึ่งอบมาอย่างดี ไม่ขึ้นรา คุณภาพส่งนอกได้เลย”
“พระพิฆเนศของไลฟ์ลี่แวร์ออกแนวน่ารักๆ นะคะ ไม่ได้ดูขลังอะไร ตอนนี้ได้แต่ปั้นแจก ยังไม่ได้ขายสักที มีคนจองมาแต่เรายังทำไม่เสร็จ เพราะปั้นแล้วเผาออกมาเกิดร้าวบ้าง ยังไม่ถูกสเปกบ้าง”
กิตต์ กัลป์ยาณพงศ์ (ป่าน) และ ณปภัช เศรษฐาวงศ์ (เพ้นต์)
หัวใจสำคัญของ Lively Ware พูดถึงผลงาน
Suggestion
ทุกชิ้นคือ Passion
แน่นอนในบรรดางานชิ้นสวยตั้งแต่ถ้วย โถ ตลับ ต่างหู พู่กัน ฯลฯ มีชิ้นเด่นเป็นพิเศษที่มีเรื่องราวให้บอกเล่า
ถ้วยกาแฟ – ผลงานชิ้นแรกของกิตต์ที่ทำขึ้นมาอย่างง่ายๆ ด้วยแป้นหมุนแล้วติดหู
“ถ้วยแรกยังไม่มีลายอย่างทุกวันนี้ครับ เป็นลายที่ลองวาดเล่นๆ ดู” ส่วนยุคหลังมีรูปแบบเปลี่ยนไปตามความพอใจของเขาด้วยเหมือนกัน “ถ้วยที่เป็นรูปปลาเป็นแบบไม่มีหูเกี่ยว ใช้จับเอา รู้สึกว่าทรงนี้เราชอบใช้”
จาน – สินค้าชุดแรกที่ทำรายได้ให้ Lively Ware เป็นความภูมิใจที่มีทั้งลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ
“อย่างคนไต้หวันเขาเข้าใจว่างาน throwing ทำยากกว่าปกติเขาก็มาซื้อไปหลายใบ” เพ้นต์เสริมว่า “ของแบบนี้ที่ไต้หวันราคาสูงมาก จับต้องยากมาก แต่ของเราอยู่ในระดับกลางๆ ค่ะ” นอกจากนี้ยังมีลูกค้าชาวยุโรปด้วย “เพื่อนผมเป็นเจ้าของโรงแรม ซื้อจานไปใช้ที่โรงแรม คนอิตาลีที่ไปพักแล้วเห็นจาน ก็มาที่บ้านเลยครับ สั่งยี่สิบกว่าใบส่งไปเดนมาร์ก” กิตต์บอก
ปิ่นโต – แน่นอนว่า ณ เวลานี้คือสินค้าหลักที่ขายดี โดยเฉพาะโครงการทำบุญให้วัดพระบาทน้ำพุที่เพิ่งเริ่มเมื่อต้นปี กิตต์บอกว่า “ลงแจ้งขายแป๊บเดียว ขายหมดเลยครับ เราตั้งราคาปกติ แต่เก็บไว้เฉพาะต้นทุน ค่าวาดนำไปทำบุญ” ซึ่งเขาย้ำว่าสิ่งนี้เป็นการทำตามกำลังเท่าที่จะทำได้อย่างดีที่สุด ส่วนเพ้นต์พูดขำๆ แต่เจือความสุขใจ “เข้าวงการมูแล้วค่ะ เป็นของมงคลที่ทุกคนควรมีไว้ติดบ้าน”
และมีข่าวดีว่าได้วางขายที่ คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรีอีกด้วย กิตต์เล่าถึงที่มาว่า “คิง เพาเวอร์มีโปรเจกต์สนับสนุนงานคราฟต์ของไทย ติดต่อเข้ามาให้สิทธิ์เข้าไปวางขายครับ ผมเสนอไปว่าปิ่นโตเหมาะที่จะขายในสนามบิน ผมทำกล่องใส่ที่พับแล้วล็อกได้พอดี แต่สนามบินปิดช่วงโควิด-19 ก็เลยขายออนไลน์ไปก่อน เพิ่งได้รับแจ้งว่าสนามบินจะเปิด ให้เอาของไปลงครับ”
การทำปิ่นโตมาจากสิ่งที่เขาชอบ ต้องเข้าไปมองดูทุกทีที่เห็น ไม่ว่าจะในพิพิธภัณฑ์หรือที่วางขาย “ปิ่นโตของเราเอาฟังก์ชันเก่ามานำเสนอใหม่ เดิมเป็นหูทองเหลือง เราทำเป็นไม้สักซึ่งทำที่เชียงใหม่ เป็นลุงกับป้าที่ได้ไม้มาจากเรือนไทย เป็นแกนไม้ซึ่งอบมาอย่างดี ไม่ขึ้นรา คุณภาพส่งนอกได้เลย” ส่วนตัวปิ่นโตที่เป็นเซรามิกจ้างทำที่โรงงานที่กระทุ่มแบน ด้วยการซื้อปิ่นโตแบบดั้งเดิมจากสำเพ็งแล้วถือไปที่โรงงาน ให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เข้ากับดีไซน์ของเขา โดยทางโรงงานจะผลิตตัวเซรามิกให้ นำกลับไปวาดลายที่บ้าน แล้วเอากลับไปเคลือบแล้วเผาในขั้นตอนสุดท้ายที่โรงงานอีกครั้ง
แอนท์แพด – ที่รองจานกันมดไม่ให้ขึ้นอาหารเพียงแค่ทาน้ำมันไว้ด้านนอก ชิ้นนี้เป็นไอเดียของรุ่นพี่ที่ทำขึ้นมาจากพลาสติก “ผมไม่ชอบพลาสติกวางบนโต๊ะ เห็นแล้วหงุดหงิด เลยเอามาทำเป็นเซรามิกซะ ทุกชิ้นก็ให้ส่วนแบ่งพี่เขาเป็นค่าไอเดีย”
โหลหมุนไข่ – ตอนนี้เป็นชิ้นโปรดที่สุดของกิตต์ที่กำลังจะวางขายในเร็วๆ นี้ “อย่างหนึ่งที่อยากให้มีในงานของเรามานานแล้วคือความใสของแก้ว เอาฟอร์มของโหลแก้วมาทำเป็นลำโพงบลูทูธ ต่อมือถือเข้าไป แล้วของข้างในมันก็หมุน เป็นของเล่นตั้งไว้เก๋ๆ ในบ้าน”
พระพิฆเนศ – ชิ้นงานใหม่ที่เป็นแรงปรารถนาของเพ้นต์ เกิดจากความศรัทธาแล้วได้แบบอย่างจากการเดินทางไปอินเดีย จึงลองมาปั้นในแนวทางของตัวเอง
“พระพิฆเนศของไลฟ์ลี่แวร์ออกแนวน่ารักๆ นะคะ ไม่ได้ดูขลังอะไร ตอนนี้ได้แต่ปั้นแจก ยังไม่ได้ขายสักที มีคนจองมาแต่เรายังทำไม่เสร็จ เพราะปั้นแล้วเผาออกมาเกิดร้าวบ้าง ยังไม่ถูกสเปกบ้าง”
แต่ถ้าถามถึงของไอเดียตัวเองที่ชื่นชอบ นอกจากต่างหู กระดุม เข็มกลัด ช้อนส้อม พู่กันแล้ว ด้ามปากกาน่าจะนับเป็นชิ้นที่ภูมิใจที่สุด “ส่วนใหญ่มาจากการเดินทางแล้วไปเจอวัตถุดิบ เราชอบเครื่องเขียนอยู่แล้ว ก็ไปเจอหัวปากกาก็ซื้อมาแล้วเอามาต่อด้าม ขายดีมาก แล้วก็ทำยากด้วยค่ะ เพราะความหดของดินไม่เสถียร”
แรงผลักดัน
อาจารย์ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ “อาจารย์สอนภาพพิมพ์ตอนผมอยู่ปีหนึ่ง เคยทำดินด้วยกันอยู่พักใหญ่ ก่อนจะเกษียณจากราชการก็มาขลุกอยู่ที่บ้านแทบทุกวัน มาทำถ้วยด้วยกัน ตอนนี้อาจารย์อยู่เชียงราย (หอศิลป์ศรีดอนมูล) มีเตาเผาทำเซรามิกด้วยเหมือนกัน”
ญี่ปุ่น “ก่อนทำเซรามิกได้ไปญี่ปุ่นมายาวๆ รอบหนึ่ง มีพี่ที่ได้ทุนไปเรียนที่นั่น แล้วครอบครัวที่เป็นโฮสต์ของพี่คนนี้เขามาเมืองไทย ผมก็พาเขาเที่ยว หลายปีต่อมา แม่เขาชวนไปเฮียวโงะ (Hyogo) เขาดูแลหมด ทำทริปพาเซอร์เวย์แหล่งเซรามิกรอบๆ แล้วลงใต้ไปอาริตะ เมืองที่อยู่ติดกับเกาหลี ซึ่งมีการค้นพบดินเกาลินที่ใช้ทำเซรามิกตั้งแต่ 400 ปีก่อน ที่นั่นมีศาลเจ้า ผมก็ขอว่าเราอยากทำงานเซรามิก ขอให้สำเร็จ กลับมาก็ได้ทำเซรามิกจริงๆ”
แนวคิดขายของคนไม่ชอบขาย
ถึงขั้นที่ว่า “เป็นสิ่งท้ายๆ ในชีวิตที่อยากทำ”
• ปรับตัวอย่างหนัก
แต่จากการออกงานแฟร์ครั้งแรก บวกกับทักษะจากการสอนที่ต้องเจอผู้คน ทำให้ได้เห็นเกมชัดขึ้นว่าการขายคืออะไร ได้เข้าใจว่าการ set up หน้าร้านคือการเจอคน คือการ deal order
• เข้าร่วมเวิร์กช็อป
ช่วยเก็บเกี่ยวแนวคิดทางการขาย เช่น การคิดต้นทุน ที่ควรเป็นไปในแบบของตัวเอง ไม่มีทฤษฎีตายตัว
• มีจุดยืนทางการขาย
ที่ไม่ได้เป็นธุรกิจมาก เพราะโดยพื้นฐานเราไม่ใช่พ่อค้า แค่อยากทำของออกมาเท่านั้น
• มองจุดแข็งของตัวเอง
ของมีคุณภาพ แล้วไม่แพง ไม่เหมือน art ตรงที่ไม่ได้ตั้งราคาสูง ฐานลูกค้าใหญ่กว่า art แต่ทำได้ง่ายกว่า แค่รักษาคุณภาพของแต่ละชิ้นให้ดี ก็จะมีงานออกไปได้กว้างๆ คนซื้อได้ง่ายกว่า
• ไม่ทำเกินตัวและไม่กดดันตัวเอง
ลักษณะงานเป็นแบบทำไปได้เรื่อยๆ เพราะทำงานกันแค่ 2 คน วิธีการทำงานจำกัด
LIVELY WARE
ที่ตั้ง : 1/53 หมู่บ้านกฤษดานคร 20 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
Facebook: LIVELY WARE
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: LIVELY WARE
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา