Passion

วงกุลสตรี แจ๊สสำนวนอีสาน
ผ้าไทย และหัวใจของนักสู้

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์ 16 Jun 2022
Views: 520

วงกุลสตรี แจ๊สสำนวนอีสาน

ผ้าไทย และหัวใจของนักสู้

เรื่อง ณัฐวิมล เศารยะ / ภาพ Expert Kits

 

บางครั้ง..เป้าหมายบนเวทีประกวดดนตรี อาจจะไม่ได้สิ้นสุดด้วยคำว่า “ชัยชนะ” เสมอไป แต่หากเป็นเสี้ยวหนึ่งของประสบการณ์ชีวิต ที่หลายวงดนตรีได้ขึ้นมาเก็บเกี่ยว เพื่อต่อยอดให้กับเส้นทางเดินของตัวเองในอนาคต

เช่นเดียวกับ กุลสตรี วงดนตรีจากโรงเรียนอนุกูลนารี จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ได้รับโอกาสให้ขึ้นมาเก็บประสบการณ์แข่งดนตรี บนเวทีใหญ่ระดับประเทศ อย่างเวที THE POWER BAND ครั้งแรกที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประกวดวงดนตรีสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 จัดขึ้นโดย คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ร่วมกับ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แม้การแข่งขันใน Class F (รุ่นมัธยมศึกษา) ในเวลานั้น วงกุลสตรีอาจจะยังทำโชว์ได้ไม่ “เฉียบ” ที่สุดในสายตาของคณะกรรมการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแสดงของวงกุลสตรีนั้นเต็มไปด้วย “อัตลักษณ์ทางดนตรี” ที่พวกเขาทั้ง 11 ชีวิต ได้ช่วยกันนำเอากลิ่นอายความเป็นลูกอีสาน ขึ้นไปอวดโฉมบนเวที THE POWER BAND ได้อย่างน่าจดจำ

บ่ายวันหนึ่งในรอบการประกวดครั้งนั้น ขณะที่หลายวงดนตรีจากหลายภูมิภาค กำลังขับเคี่ยวบทเพลงกันอย่างถึงพริกถึงขิง 4 ตัวแทนจากวงกุลสตรี ประกอบด้วย  มิ้ว–รุจิรา นาปัญญา (นักร้องนำ) น้ำหนึ่ง–กนกพรรณ หิรัญเขต (นักร้องนำ) สปาย–รวิพร ยุทธยงค์ (แซกโซโฟน) และ ชมพู่–วรนุช ถิตย์อำไพ (ทรอมโบน) ปลีกเวลามาบอกเล่าแรงบันดาลใจ รวมถึงลำนำบทเพลงแห่งท้องทุ่งภาคอีสานที่พวกเขาเรียกกันว่า “ผญา” (อ่านออกเสียงว่าผะ-หยา แปลว่า คำกลอนในภาษาอีสาน) และ “ผ้าแพรวา” ของดีเมืองกาฬสินธุ์ ที่วงกุลสตรีนำมาโชว์บนเวที เพื่อให้เราได้รู้จักมากยิ่งขึ้น

 

กุลสตรี..วงดนตรีที่ไม่ได้มีแต่ผู้หญิงล้วน

กุลสตรีเป็นวงดนตรีจากโรงเรียนสหศึกษาประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ก่อตั้งขึ้นจากรุ่นพี่รุ่นน้องทำวงสืบทอดต่อๆ กันมา กับการเล่นดนตรีในสไตล์ลูกทุ่ง-หมอลำ ซึ่งนักดนตรีแต่ละรุ่น ต่างมีประสบการณ์ในการเล่นดนตรี และประกวดดนตรีทางภาคอีสานต่างเวทีกันไปในแต่ละปี แต่ปีนี้นักดนตรีของวงกุลสตรีรุ่นปัจจุบัน ประสบความสำเร็จที่สามารถพาวงกุลสตรีทะลุมาถึงรอบการแข่งขันบนเวที THE POWER BAND ที่กรุงเทพฯ ได้สำเร็จ

TP : สไตล์ดนตรีของวงกุลสตรีก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร?

น้ำหนึ่ง : แนวเพลงที่เล่นส่วนใหญ่จะเป็นแนวอีสานค่ะ แล้วก็มีสตริงบ้าง เพราะด้วยความที่เราอยู่ภาคอีสานนะคะ แนวเพลงส่วนใหญ่เวลาเล่นคอนเสิร์ตหรือว่าอะไร ก็เลยจะต้องใช้เป็นเพลงอีสานค่ะ เพราะด้วยสไตล์การฟังของคนที่นั่นด้วยค่ะ”

TP : พอรวบรวมสมาชิกมาประกวดในรูปแบบวงสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ต้องปรับสไตล์การเล่นเยอะไหม?

มิ้ว : ปกติมิ้วจะเป็นคนที่ร้องแนวลูกทุ่ง หมอลำ มาก่อนค่ะ ก็จะออกเสียงไม่ค่อยชัดบ้าง ก็ต้องมีการมาฝึกค่ะ อย่างพวกเพลง คุณครูท่านจะเป็นคนเลือกให้ ท่านก็จะหาเพลงที่เหมาะกับวงเรา เมื่อก่อนหนูจะเป็นคนที่ไม่ฟังเพลงสตริงเลยค่ะ เพราะหนูรู้สึกว่าทำไมมันมีแต่เพลงเศร้า ก็เลยลองเปิดใจ ถึงรู้ว่ามันก็ไม่ได้มีแค่เพลงแนวเดียวนะ ก็เลยลองค่ะ”

TP : ในวงต้องร้องกันสองคน ทั้งน้ำหนึ่งและมิ้วช่วยกันดีไซน์การร้องอย่างไรคะ?

น้ำหนึ่ง : ตอนแรกดีไซน์ผ่านคุณครูผู้ฝึกสอนค่ะ คุณครูก็บอกว่าให้หนูร้องปล่อยออกมาเลย ความเป็นตัวเรามันจะอยู่ในเพลงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะร็อกหรือสตริง ถ้าเราต้องการที่จะให้คนฟังเห็นความเป็นตัวเราจริงๆ เราก็ต้องร้องออกมาจากใจ พวกหนูก็เลยไม่มีการดีไซน์การร้องอะไรทั้งสิ้น ร้องยังไงก็ให้ออกมาจากใจอย่างเดียวเลยค่ะ

มิ้ว : หนูก็ร้องออกมาจากความรู้สึกเลยค่ะ ถ้าเราร้องออกมาจากความรู้สึกกับมันจริงๆ รู้สึกอยากทำ รู้สึกอยากร้องจริงๆ อินเนอร์กับบรรยากาศมันก็จะมาด้วยกันเสมอ

 

เพลงแจ๊สในสำนวนดนตรีอีสาน กับการผสานวัฒนธรรมดนตรีเป็นหนึ่งเดียว

ถือเป็นอีกหนึ่งไอเดียที่น่าทึ่งสำหรับเด็กไทย ที่พวกเขาช่วยกันต่อยอดความคิดทางดนตรีในการเชิดชูวัฒนธรรมพื้นถิ่นให้เกิดขึ้นบนเวทีประกวดดนตรี

TP : แนวดนตรีที่เลือกมาแข่งขันค่อนข้างสะดุดหูทีเดียวในทางแจ๊ส

มิ้ว : เพลงที่ใช้แข่งขันก็ตามเกณฑ์เลยค่ะ เราก็มองว่าจะหาแนวทางอะไรให้เราได้คะแนนได้มากที่สุด ที่จะเก็บได้

น้ำหนึ่ง : เพลงแรก รางวัลแด่คนช่างฝัน เป็นเพลงบังคับ เราก็ใช้ดนตรีแนวแจ๊ส-ฟังก์ ซึ่งจริงๆ ตามระดับมัธยมก็ไม่เคยมีใครเล่นกัน เราก็เลยลองที่จะทำแนวนั้นดูเพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองอะไรใหม่ๆ ส่วนเพลงที่สอง งานเต้นรำในคืนพระจันทร์เต็มดวง (ต้นฉบับของวงค็อกเทล) พวกเราก็ไม่ลืมจะดึงเอากลิ่นอายของดนตรีอีสานเข้ามาใส่ มีการใช้เสียงพิณ เสียงแคนเข้ามาผสมเพื่อให้ดนตรีมีความละมุนมากขึ้น ดึงเสน่ห์ความเป็นอีสานติดเข้าไปด้วย

TP : ทั้งสองเพลงที่นำมาอะเรนจ์ใหม่ ทำให้มันแตกต่างจากต้นฉบับ แต่ก็มีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง?

น้ำหนึ่ง : รางวัลแด่คนช่างฝัน ในเพลงแรกก็จะแหวกไปเลยนะคะ เพราะดนตรีแจ๊สมันจะฟังสนุก ดังนั้นหัวใจของการทำเพลงนี้ก็คือ จังหวะต้องสนุกและคนเล่นก็ต้องสนุกเช่นเดียวกัน ในเรื่องของการทำดนตรี เราก็ได้คุณครูให้คำปรึกษา แล้วก็เอามาปรับใช้กัน บอกเลยว่าเราต้องซ้อมออนไลน์ด้วยค่ะ แกะเพลงกันผ่านออนไลน์ จะเสริมตรงไหน จะผสมยังไงก็จะให้คุณครูแนะนำ แล้วอย่างที่หนูบอกค่ะ แนวดนตรีมันสนุกเราก็ต้องสนุกด้วย

มิ้ว : เพลงที่สองนะคะ มันจะมีจังหวะที่เร็ว แต่ความหมายในเพลง ในความรู้สึกของเรามันไม่เร็ว มันไม่น่าสนุก มันมีความหมายเหมือนจะเศร้า แล้วทีนี้เหมือนกับช่องว่างของเพลงมันมีเยอะ ถ้าเราจะไปใส่เสียงเหมือนต้นฉบับมันก็ยาก แล้วเวลาเราก็มีน้อย ก็เลยมีแนวคิด แล้วก็ถามคุณครูว่า “คุณครูคะ เราลองเอาหมอลำมาใส่ไหมคะ เอาผญามาเพิ่มความหมายในตัวเพลงให้มากขึ้น “เหมือนตัวเพลงมันจะบอกว่า ฉันอยู่คนละภพกับเธอนะ เราไม่สามารถใกล้กันได้” ถ้าเราเอาผญา เอากลอนมาใส่เพิ่ม เหมือนให้มีความหมายว่า “เราทั้งสองตั้งใจที่จะเจอกัน แต่มันเป็นไปไม่ได้” การใช้คำอีสาน อย่างที่บอกค่ะ คำอีสานเป็นคำที่ตรงตัวออก ไม่ต้องไปเรียบเรียงอะไรให้มาก ก็เลยเอาผญามาใส่ เพื่อสื่อความหมายตรงตัวออกไปเลยว่า “ไม่ว่ามันจะไกลแค่ไหน แต่ใจเรามันสัมผัสกันได้”

TP : นอกจากในเรื่องของดนตรี เห็นว่ามีการนำศิลปวัฒนธรรมในเรื่องของผ้าพื้นเมืองมานำเสนอด้วย

มิ้ว : หนูคิดว่าคนแต่ละภาค เขามีตัวตนในแต่ละภาค สำหรับเรา เราก็มีกลิ่นอายที่เป็นตัวตนในแบบอีสานของเรา ก็เลยอยากให้คนมองเห็นกันหลายๆ ด้านค่ะ เราอยากให้คนมองเห็นโลกใหม่ๆ ได้เรียนรู้หลายวัฒนธรรม เพื่อการเข้าสังคมที่ดีมากขึ้น ซึ่งพอเราได้เรื่องดนตรีแล้ว เราก็เลยขอพร็อปค่ะ เพราะถ้ามีหมอลำมันก็ต้องมีพร็อปในการแสดงด้วย

น้ำหนึ่ง : เราก็มาคิดกันว่าจะใช้อะไรล่ะในการแสดง แล้วอะไรที่มันหาง่าย ของที่มันมีอยู่ทุกบ้านก็คือผ้าแพรวา แพรวาก็คือผ้าประจำจังหวัดของคนกาฬสินธุ์ เป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดเรา ถ้าใครมีโอกาสไปกาฬสินธุ์ ก็แวะซื้อหามาไว้สักผืนนะคะ หรือไปเรียนทอผ้าก็ได้ค่ะ (หัวเราะ) เราก็เลยอยากเอาศิลปวัฒนธรรมตรงนี้มาสื่อสารกับบทเพลงของเราด้วยค่ะ

TP : ทีมเครื่องเป่าเป็นกำลังเสริมให้กับเพลงทั้งสองอย่างไรบ้างคะ?

สปาย : เราต้องสื่อจังหวะออกไปให้ชัดค่ะ เรารับคำร้องเขามา เรารับจังหวะเขามา เราก็ต้องสร้างเพาเวอร์ให้พลังมันแน่น เพลงมันจะได้แน่น คนร้องก็จะได้มีพลัง”

มิ้ว : เหมือนตอนขึ้นเพลงมันจะเป็นฟอร์มใหญ่ขึ้นมา เครื่องดนตรีมันต้องดูยิ่งใหญ่ ต้องอลังไปเลย เพื่ออินเนอร์มันจะได้มาอะไรประมาณนั้นค่ะ

น้ำหนึ่ง : อย่างเพลงที่สองที่หนูร้อง ถ้าการใส่ฮาร์โมนีเครื่องเป่า สร้างเพาเวอร์ให้กับเสียงดนตรีมันจะทำให้เห็นถึงความรักในตัวผู้หญิงคนนี้สื่อไปถึงผู้ชายที่เขารัก แต่มันเป็นไปไม่ได้ ถึงมันเป็นไปไม่ได้แต่มันฟังแล้วยิ่งใหญ่ค่ะ

ชมพู่ : แต่ละการเล่นของเครื่องดนตรี มันจะมีช่วงเด่นของเครื่องดนตรีนั้นๆ เครื่องเป่าก็เป็นกำลังเสริมให้ดนตรีมันฟังแน่นขึ้นค่ะ

“แต่ละการเล่นของเครื่องดนตรี มันจะมีช่วงเด่นของเครื่องดนตรีนั้นๆ เครื่องเป่าก็เป็นกำลังเสริมให้ดนตรีมันฟังแน่นขึ้นค่ะ”

ชมพู่–วรนุช ถิตย์อำไพ วงกุลสตรี (ทรอมโบน)

 

“เราต้องสื่อจังหวะออกไปให้ชัดค่ะ เรารับคำร้องมา รับจังหวะมา เราก็ต้องสร้างเพาเวอร์ให้พลังมันแน่น เพลงมันจะได้แน่น คนร้องก็จะได้มีพลัง”

สปาย–รวิพร ยุทธยงค์ วงกุลสตรี (แซกโซโฟน)

 

วิถีการร้องสองแนวทางแต่ผสานกันเป็นหนึ่ง

ถือเป็นการจับคู่การร้องที่มาคนละขั้วอย่างแท้จริง โดยมิ้วเป็นนักร้องนำ ที่ร้องในทางลูกทุ่งอีสานของวงอยู่ก่อนแล้ว แต่ด้วยนักร้องนำอีกคนซึ่งเป็นผู้ชาย ติดเรื่องการร้องในคีย์สูงและปัญหาส่วนตัว ทำให้อาจารย์ผู้คุมวงต้องมองหานักร้องคนใหม่ที่จะมารับหน้าที่นี้แทน น้ำหนึ่งซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เป็นสมาชิกของวงกุลสตรี จึงถูกชักชวนผ่านมือกีตาร์ ให้เข้าวงมาเพื่อเติมเต็ม

TP : พอมาร้องคู่กันต้องปรับตัวกันขนาดไหน?

น้ำหนึ่ง : ตอนแรกหนูกับมิ้ว ร้องเพลงคนละทางกันเลยค่ะ หนูจะร้องพวกเพลงสตริงมาก่อน หนูไม่เคยร้องเพลงอีสานหรือเพลงลูกทุ่งมาเลย หนูจะเป็นสายร็อก ร้องแนวสตริงมากกว่า แต่พอได้มาร้องด้วยกันคือความแตกต่างที่ร้องแล้วลงตัวมากค่ะ (หัวเราะ) ตอนที่ร้องเพลงที่สองก็แอบหวั่นๆ ที่จะมีเรื่องของภาษาอีสาน ตัวหนูก็ร้องไม่ได้ แต่ว่าเพื่อนทำได้มันเลยเติมเต็มค่ะ คือเพลงจะดีมันไม่ได้อยู่ที่คนมีจำนวนเท่าไรใครร้อง แต่มันอยู่ที่ ถ้ามันลงตัวมันจะไปด้วยกันได้ตลอดเลยค่ะ ฟังแล้วมันจะรู้สึกดี เราจะเคลิ้มไปกับบทเพลงได้ง่าย อีกอย่างหนึ่งในความรู้สึกหนู แปลกไม่ได้แปลว่าไม่ดี แตกต่างไม่ได้แปลว่าไม่ลงตัว”

มิ้ว : มิ้วจะเป็นคนร้องลูกทุ่ง หมอลำนะคะ อย่างที่บอก มิ้วลองเปิดใจกับการร้องแนวสตริง เพราะเห็นวงดังๆ หลายวงที่ร้องแนวสตริงแล้วเราเพลงอีสานมาผสมใส่ให้มันดูน่าสนใจมากขึ้น อย่างเพลงที่สองที่เราเอาอีสานมาผสม เพลงมันเศร้าอยู่แล้วก็เอาผญามาเพิ่มให้คนฟังรู้สึกว่ามันเศร้าจริงๆ ให้มันสื่อตรงๆ เลย

TP : อย่างท่อนที่เป็นผญาเราคิดคำกันเองหรือเปล่า?

น้ำหนึ่ง : คุณครูจะเป็นคนคิดค่ะ เพราะภาษามันจะต้องลึกค่ะในตัวผญา มันเป็นคำที่เขาใช้ร้องในพวกกลอนรำ”

มิ้ว : แล้วช่วงสุดท้ายก่อนจะจบเพลง เป็นผญาที่บอกว่า “บ่อยากไกล” (มิ้วร่ายกลอนเป็นสำเนียงอีสาน) เป็นความหมายก็คือเวลามันเดินไปข้างหน้า เราไม่สามารถที่จะหยุด ถึงใจเราจะอยากหยุดแค่ไหน แต่เวลามันไม่รอเราแล้ว

TP : คนหนึ่งมาในทางร็อก คนหนึ่งมาในทางลูกทุ่ง แบ่งท่อนการร้องกันยังไงคะ?

มิ้ว : เอาตรงๆ เลยนะคะ สมมติถ้าร้องขึ้นสูงปุ๊บ มิ้วจะร้องต่ำ ทางหมอลำจะโอ่ โอ่ก็คือต่ำ แล้วน้ำหนึ่งจะร้องสูงได้  ถ้าท่อนแรกสูงนะ น้ำหนึ่งเลย (หัวเราะ) น้ำหนึ่งเขาจะต่อคีย์ให้ก่อนเลย

น้ำหนึ่ง : ครั้งแรกที่ร้องด้วยกัน ถ้าภาษาบ้านหนูก็ “มุนปุ้ยๆ” เลยค่ะ (หัวเราะ) แปลว่ามันไม่เข้ากันเลยถ้าเราร้องพร้อมกัน (หัวเราะ) อุปสรรคหลักๆ ของพวกหนูคือเรื่องการร้องค่ะ เพราะด้วยความที่เรามีโทนเสียงไม่เหมือนกัน อีกอย่างคือคีย์ในการการร้องที่แตะถึงก็ไม่เหมือนกัน แต่เราก็พยายามค่ะ อะไรที่ไม่ได้มันต้องได้สิ มันไม่ลงตัว เราก็ต้องทำให้มันลงตัวสิ

“พอได้จับไมค์แล้ว ซ้อมมายังไงก็ทำอย่างนั้นเลยค่ะ เราถือว่าเราทำดีที่สุดแล้ว เราซ้อมมาดีที่สุดแล้ว เราทำได้เต็มที่ที่สุด”

มิ้ว–รุจิรา นาปัญญา วงกุลสตรี (ร้องนำ)

 

 “คนมันมีฝัน พอได้ทำตามฝัน จะแพ้จะชนะมันไม่สนใจทั้งนั้นค่ะ เอาความสุขของเราไว้ก่อน สำหรับชีวิตหนู หนูอยากเป็นนักร้องจริงๆ สักที”

น้ำหนึ่ง–กนกพรรณ หิรัญเขต วงกุลสตรี (ร้องนำ)

 

เวทีส่งฝันกับพลังของนักสู้

ทุกเวทีแข่งขันต้องมีทั้งคนแพ้และคนชนะเป็นสัจธรรม ถึงแม้วงกุลสตรี อาจจะยังไม่ได้ชัยชนะในเวทีแข่งขัน THE POWER BAND ในปีแรก แต่พวกเขาก็ไม่ใช่นักต่อสู้ที่จะหยุดความฝันของตัวเองเมื่อไม่ได้ไปต่อ

 TP : พอแข่งขันเสร็จ ความรู้สึกเป็นยังไงกันบ้างคะ?

น้ำหนึ่ง : มันปลดปล่อยค่ะ คนมันมีฝัน พอมันได้ทำตามฝัน จะแพ้จะชนะมันไม่สนใจทั้งนั้นค่ะ เอาความสุขของเราไว้ก่อน สำหรับตัวหนูมันเป็นอะไรที่ไม่ค่อยคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้น เพราะว่าชีวิตหนู หนูอยากเป็นนักร้องจริงๆ สักที

ต้องบอกก่อนว่าหนูเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่เคยเรียนร้องเพลงไม่เคยอะไรเลย ไม่เคยอยู่วงมาก่อน คือถ้าอยู่บ้านหนูจะค่อนข้างขี้อาย น้อยคนมากที่จะรู้ว่าหนูร้องเพลงได้ พอได้มาอยู่บนเวทีนี้ หนูรู้สึกว่าเหมือนเราได้เห็นตัวเราในเวอร์ชันที่เราทำความฝันสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง แล้วก็ไม่ใช่เวทีนี้จะเป็นเวทีสุดท้ายที่หนูจะไปแข่ง หรือไปร้อง แต่หนูจะทำทุกๆ เวทีเพื่อเติมฝันให้กับตัวหนูเองด้วยค่ะ

มิ้ว : ความรู้สึกตอนแรกเราอาจจะหวาดกลัว แต่พอได้จับไมค์แล้ว ซ้อมมายังไงก็ทำอย่างนั้นเลยค่ะ เราถือว่าเราทำดีที่สุดแล้ว เราซ้อมมาดีที่สุดแล้ว เราทำได้เต็มที่ที่สุด เราจะไม่เสียใจกับอะไรที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ค่ะ อย่างพวกหนูเป็น กุลสตรี รุ่นสุดท้ายนะคะ การได้มาแข่งขันในครั้งนี้ มันก็จะเป็นประสบการณ์ให้กับน้องๆ ม.4 และ ม.5 ได้ทำกันต่อ เขาก็จะได้เรียนรู้การมาแข่งขัน มาเล่นดนตรีว่ามันจะเป็นแบบนี้นะ

สปาย : ปกติหนูจะเป็นคนที่ไม่ชอบออกกล้องเลย ไม่ชอบพูดอะไรเลย (หัวเราะ) การมาเวทีนี้ก็เลยค่อนข้างที่จะกดดันตัวเองแล้วก็กลัวมากๆ แต่พอได้เห็นคนในวงเขาเต็มที่ก็รู้สึกว่าใจมา ก็เลยรู้สึกว่าเราต้องสู้ไปกับเขาด้วย เวที THE POWER BAND ก็ถือว่าเป็นรายการที่ใหญ่มาก หนูก็เลยอยากจะลองมาเติมเต็มฝันให้กับตัวเองให้มันเพอร์เฟกต์ที่สุดในชีวิตหนึ่ง ว่าเราเคยได้มาถึงจุดนี้ เราได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำแล้ว ก็ค่อนข้างที่จะโอเค ในผลลัพธ์ที่ออกมาค่ะ

ชมพู่ : การได้มาเวทีนี้ หนูก็รู้สึกเป็นเกียรติมากค่ะ เพราะเป็นรายการที่ใหญ่ มีหลายโรงเรียนมาแข่ง แล้วเราก็เป็นโรงเรียนเล็กๆ ในต่างจังหวัดทางภาคอีสานนะคะ ได้มาถึงรอบนี้ก็รู้สึกว่าเก่งมากค่ะ ก็ได้มาหาประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เจอคนใหม่ๆ ได้ซ้อมเพลงยากขึ้นก็ถือเป็นการอัปเลเวลตัวเองค่ะ

แม้โอกาสของผู้กล้าจะยังมาไม่ถึง แต่อย่างน้อยๆ พวกเขาและเธอ ก็ได้พาความตั้งใจอันยิ่งใหญ่ขึ้นไปต่อสู้บนเวที ที่สำคัญกว่านั้น ของดีเมืองกาฬสินธุ์คือจุดขายพิเศษที่วงกุลสตรีอยากแนะนำให้โลกรู้ แน่นอนทั้งสี่สาวไม่พลาดการเชิญชวนให้ไปพวกเราลองแวะไปเที่ยวจังหวัดกาฬสินธุ์ถิ่นฐานบ้านเกิดของพวกเธอดูสักครั้ง

“ถ้ามาเที่ยวกาฬสินธุ์ก็จะได้ชิมอาหารอีสานแท้ๆ เลยค่ะ มาเรียนทอผ้าแพรวา หรือว่าเรียนร้องหมอลำก็ได้นะคะ ก็จะได้รู้ว่าการร้องหมอลำมันไม่ได้ยากเลย แล้วก็จะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ทำให้รู้ว่า กาฬสินธุ์นี่ก็ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวเล็กๆ นะ เรามีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่พูดตรงๆ เลยว่าจังหวัดเรามีความสนุกสนาน แต่ส่วนใหญ่จะถูกลืมไป เพราะด้วยชื่อที่ไม่คุ้นเคย แต่จริงๆ แล้วจังหวัดเรามีประวัติศาสตร์ที่ไม่ธรรมดาสักเรื่องเลยค่ะ มิ้วและน้ำหนึ่ง ช่วยกันปิดท้ายคำชวนด้วยรอยยิ้มสดใส

 

เคล็ดลับสร้างฝันในฉบับ 4 สาวกุลสตรี

มิ้ว : มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตัวเอง เหมือนกับทำพูดที่ว่า “ทำทุกวันให้เป็นรันเวย์ ทำทุกวันให้เหมือนสนามแข่ง” เพื่อเป็นการสร้างวินัย และพยายามคิดเสมอว่า “ถึงแม้พรุ่งนี้ยังไม่ได้แข่ง แต่ซ้อมให้เหมือนพรุ่งนี้เราต้องแข่ง” ถ้ามีความตั้งใจ ทุกอย่างก็จะสำเร็จ

น้ำหนึ่ง : พยายามออกจากเซฟโซนของตัวเอง อย่าไปคิดว่าเรามาจากโรงเรียนเล็กๆ หรือจังหวัดเล็กๆ แล้วเราจะทำไม่ได้ เราจะต้องลองทำก่อน ถ้าไม่ลองทุกอย่างก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าลองทำแล้วเราก็ต้องลองอย่างเต็มที่ ฝึกฝนตัวเองเยอะๆ

สปาย : เมื่อได้มาอยู่ตรงนี้แล้ว ก็จะต้องพยายามก้าวไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ เหมือนเรากำลังผ่านด่านด่านหนึ่ง แล้วเราต้องพยายามสู้เพื่อให้ผ่านอีกด่านต่อไปให้ได้

ชมพู่ : สู้ให้ถึงที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

Author

ณัฐวิมล เศารยะพงศ์

Author

นักเขียนที่นอกจากจะทำตัวเป็นทาสแมวตัวยง ยังชอบเอาเวลาว่างจากการเขียนงานไปเสาะหาเรื่องกิน เรื่องเที่ยว แล้วทำให้เป็นเรื่องเดียวกัน