ไม่มีใครย่อมรู้อนาคตของตัวเองว่าท้ายสุดจะเดินไปในเส้นทางไหน หลายครั้งที่โชคชะตานำพาให้ไปสู่สิ่งใหม่เสมอ เพื่อเป็นบททดสอบว่าจะตัดสินใจอย่างไร และจากสิ่งที่เคยคิดว่าน่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ชีวิตอยู่รอดได้ จนกลายเป็นสิ่งที่รักอยากจะทำและสนุกไปกับมันในทุกจังหวะชีวิต และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตอย่างแยกไม่ออกไปแล้ว
นี่คือบทสรุปสั้น ๆ ของการทำผ้าบาติกของ คุณพนิตพิชา อาสา เจ้าของแบรนด์ลายเส้นบาติก จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่สามารถนำลวดลายผ้าบาติกสไตล์แฟชั่นออกสู่สายตาคนไทยและต่างประเทศในมุมมองใหม่ โดยใส่ได้ในทุกโอกาสของวันธรรมดา
เริ่มต้นแบบบังเอิญ
จากเด็กเชียงรายที่เรียนสายอาชีพ ด้านคหกรรมผ้า วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย เข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ ได้เป็นพนักงานจัดเบรกหรือของว่างและเตรียมห้องประชุมที่โรงแรม ก็ตัดสินใจมาปักหลักยังหัวเมืองใต้ บ้านเกิดของสามีที่นครศรีธรรมราช จนเมื่อมีลูกเล็ก สามีคิดว่าน่าจะเริ่มต้นใหม่กับการทำงานผลิตผ้าบาติกซึ่งอยู่เพียงอีกฝั่งของถนนบ้านเท่านั้น หลังจากตอนเด็กมีความผูกพันได้เข้าไปช่วยผู้ใหญ่เขียนลวดลายแบบครูพักลักจำมา และได้เริ่มกลับมาทำดราฟท์ลายหรือการคัดลอกลายจากกระดาษมาลงบนผ้าบาติกของตัวเองในวันนี้
“จากวิกฤตเป็นโอกาส ตอนนี้กลายเป็นความรักที่อยากทำให้ศิลปะบนผืนผ้าออกมาแตกต่างและสวยงาม มีความสุขมากที่ออกแบบผ้าบาติกให้คนได้ใส่และเขาชื่นชอบงานของเรา”
พนิตพิชา อาสา เจ้าของแบรนด์ลายเส้นบาติก
พลิกวิกฤตเป็นโอกาส
จากที่เริ่มมีเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศทำให้ออร์เดอร์ผ้าบาติกน้อยลง และเจ้าของก็เริ่มผลิตน้อยลง ทำให้ครอบครัวขาดรายได้ แต่ด้วยวิกฤตกลายเป็นโอกาสให้กับทั้งคู่กล้าเริ่มต้นทำผ้าบาติกเป็นของตัวเอง โดยไปซื้ออุปกรณ์และทดลองทำผ้าบาติกทุกกระบวนการเองทั้งหมด แล้วไปเสนอขายกับร้านที่รับจำหน่าย
แต่แล้วก็พบปัญหาหลังจากทำผ้ามาได้เกือบหนึ่งปี ด้วย “ลายเส้นบาติก” เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ยังเป็นที่รู้จักน้อย เธอเลยต้องทบทวนว่าจะทำอย่างไรให้ผลงานเป็นที่รู้จักให้ได้ ซึ่งต้องเสนอความต่างเพื่อเปิดตลาดใหม่ ลายเส้นบาติกมีช่างดีมีฝีมือ แต่ต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ให้ผ้าบาติกดูเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น หาเนื้อผ้าใหม่ให้ต่างไปจากการตัดชุดเสื้อเชิ้ตของข้าราชการ จึงเลือกใช้เนื้อผ้าที่มีลักษณะทิ้งน้ำหนัก นั่นจึงทำให้เกิดลายเส้นอิสระตามจินตนาการของคนวาดลาย ที่ไม่ใช่เป็นลายดอกไม้หรือทะเลแบบดั้งเดิม
“เรายังใช้ภูมิปัญญาเดิมที่ใช้เทียนวาดลายอยู่ แต่สิ่งที่ใหม่คือเมื่อวาดลายพวกเรากล้าลองให้อิสระปล่อยไปตามอารมณ์ของคนวาดในเวลานั้น หรือการทำเส้นกราฟิก การลงสี การใช้เทียนผสมกับสีมัดย้อมซึ่งถือว่ามีลูกเล่นให้สร้างความแตกต่างที่หลากหลายได้ พิสูจน์จากเสียงตอบรับของลูกค้าเวลาออกบูทที่เมืองทองธานีเป็นจำนวนมาก และหน้างานจะเป็นตัวสอนเราเอง อย่างการดราฟท์ลายผ้าที่ใช้กระดาษไขลอกลาย ทำได้ทีละแผ่น บางครั้งมีออร์เดอร์เสื้อทีมเข้ามาก็ทำงานได้ช้า จึงนำเทคนิคที่กลุ่มคนทำผ้าบาติกประยุกต์วิธีการส่องหนังตะลุงมาใช้วาดลายลงในแผ่นพลาสติกใสไว้ แล้วส่องไฟที่ข้างใต้ ก็สามารถดราฟท์ลายจากแสงที่ลอดมาที่ผ้าจากแผ่นพลาสติกได้เลย”
ลงมือทำ…สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด
ทำไปได้สักระยะเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน แนะนำให้รวมกลุ่มเพื่อพัฒนาเป็นสินค้า OTOP ของ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยต้องสร้างตัวตนและการจดจำของสินค้าให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงเริ่มจดทะเบียนในนามกลุ่มอิสลามบาติกเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป
คุณพนิตพิชา ย้อนเล่าถึงการเริ่มสร้างรูปแบบงานใหม่ว่า หลังจากเริ่มทำสินค้าแฟชั่นเป็นชุดเดรสลายเส้นอิสระหวังสร้างฐานลูกค้าใหม่ ตัดสินใจมาออกบูทที่กรุงเทพฯ และได้รับการตอบรับดีมาก ส่วนหนึ่งเพราะตอนนั้นยังไม่มีคนทำ ทำให้เรามั่นใจว่าน่าจะเดินมาถูกทางแล้ว จึงตัดสินใจลุยเดินหน้าผลิตแบบนี้
Suggestion
อิสระของ “ลายเส้น” ต้องพลิ้วไหวและกลมกลืน
ลายเส้นบาติกไม่เคยที่จะหยุดพัฒนาสินค้า จนได้รับรางวัลสุดยอดเครือข่ายองค์ความรู้จังหวัดดีเด่น KBO ของกรมพัฒนาชุมชน รวมถึงการตีโจทย์ให้แตกต่างก็ยังคงไม่หยุดอยู่กับที่ เพราะคำว่า ลายเส้นคือความอิสระในการวาดเพื่อให้เกิดลวดลายต่างๆ ในแบบเฉพาะตัวที่ยากจะเหมือนกับที่อื่น นั่นคือ ลวดลายและลักษณะของผ้าที่ต้องให้ดูพลิ้วไหว ไม่แข็งทื่อ โทนสีของผ้าก็จะออกแนวสีพาสเทลมากกว่า ซึ่งกว่าจะลงตัวเป็นแบบนี้ เป็นเพราะเธอปรับปรุงจากเสียงตอบรับจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญที่สุด เสื้อทุกตัวที่ออกจากลายเส้นบาติกไปนั้นต้องมีกระเป๋าทุกใบ เพราะนี่คือเสียงเรียกร้องและคำแนะนำจากลูกค้านั่นเอง
“การรองรับลายเส้นที่อิสระได้อย่างกลมกลืนในชุดเดรสแต่ละชิ้นนั้น ต้องใช้องค์ประกอบหลายส่วน ทั้งประเภทผ้าและโทนสี เนื่องจากการวาดเส้นอิสระนี้จะไม่มีแพตเทิร์นหรือการวาดสเกตช์ใดๆ ก่อน อารมณ์เส้นคลื่นจะเป็นไปตามใจความรู้สึกของผู้วาด การลงสีก็เช่นกันที่ต้องให้สอดคล้องกัน และตรงความชอบของลูกค้า ส่วนการออกแบบก็ต้องเป็นแนวแพตเทิร์นสวมใส่แล้วสบาย ใส่ได้ทุกโอกาส และดูแลรักษาไม่ยาก สามารถปั่นเครื่องซักผ้าได้เลย”
ลายเส้นพร้อมโลดแล่นในโลกกว้าง
จนถึงวันที่แบรนด์ลายเส้นบาติกจะได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะได้รับคัดเลือกจากโครงการหาผู้ประกอบการมาเจอกับผู้จำหน่ายของกระทรวงพาณิชย์ ทำให้มีโอกาสเจอกับ คิง เพาเวอร์ จนในที่สุดได้วางจำหน่ายที่ คิง เพาเวอร์ รางน้ำ และแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยสินค้าเป็นประเภทชุดเดรส เสื้อกางเกงที่เป็นเซ็ต หรือชุดจัมป์ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก เพราะมีออร์เดอร์เข้ามาต่อเนื่อง
“ลายเส้นบาติกได้มีโอกาสไปจำหน่ายที่ คิง เพาเวอร์ ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ประมาณ 2 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับทางลายเส้นบาติกได้โดยตรงกับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นต่างชาติในโซนเอเชีย อย่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งชาวจีนที่ให้ความสนใจมาก”
ยืดหยัดความแตกต่างมาตลอด 13 ปี
หลายครั้งที่มองย้อนไปที่วันเริ่มต้น ทำให้เห็นว่า ถ้าไม่กล้าตัดสินใจพลิกวิกฤตในวันนั้นให้เป็นโอกาส ก็จะไม่มีอาชีพที่มั่นคงเหมือนในวันนี้ได้ จากสมาชิกครอบครัว 5 คนที่ต้องช่วยกันดูแลงาน จนตอนนี้มีสมาชิกกลุ่มที่ช่วยให้ลายเส้นบาติกอยู่ได้มาตลอด 13 ปี มีช่างเขียนเทียน ช่างลงสี และช่างเย็บซึ่งทั้งหมดคือทีมงานที่ดี
คุณพนิตพิชามองว่าเหตุที่ทำให้ลายเส้นบาติกอยู่ได้มาอย่างยืนยาว เพราะเธอให้ความสำคัญกับการมองตลาดให้ชัดว่า ใครคือลูกค้าที่ซื้อสินค้า จนเห็นช่องว่างจนทำผลงานได้เตะตาลูกค้า แบบแทบไม่มีสินค้าค้างสต็อกเลย
“ตลอด 13 ปีที่ผ่านมาไม่เคยคิดเบื่อหรืออยากเลิกทำบาติกเลย เพราะผลตอบรับดีมาตลอด ซึ่งมันกลายเป็นแรงใจสำคัญที่ทำให้เรามีพลังในการพัฒนาสินค้าตลอดเวลาเช่นกัน”
Suggestion
ปรับตัวเพื่ออยู่รอด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 ทำให้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เลยเน้นขายออนไลน์ทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่มือใหม่ก็ยังเจอปัญหาการถูกปิดกั้นและเฟซบุ๊กแรกก็โดนแฮกทำให้ต้องสร้างหน้าร้านออนไลน์ขึ้นมาใหม่
“จากก่อนโควิด-19 ที่เน้นทำสินค้าแฟชั่นเป็นหลัก ปัจจุบันมาเน้นฐานลูกค้าที่เป็นหน่วยงานราชการเพราะยังเป็นกลุ่มที่ใส่เสื้อลายผ้าไทยกัน แต่สไตล์ของลายเส้นบาติกก็จะเพิ่มลูกเล่นลวดลายเส้นอิสระไปตามเนื้อผ้า และไม่ใช้โทนสีสดๆ เหมือนทั่วไป ยกเว้นกรณีที่ลูกค้ามีการขอมาโดยเฉพาะ”
เป้าหมายอนาคตที่ต้องไม่เหมือนเดิม
ไม่ว่าจะอาชีพไหน ทำให้ต้องรู้จักปรับตัว และจากคำแนะนำของลูกค้าประจำทำให้เธอได้ลองตีโจทย์ใหม่อยู่เสมอ จนพบคำตอบว่าลายเส้นบาติกจะต้องมีคอลเลกชันใหม่ไปเรื่อยๆ
“การมีคอลเลกชันมากขึ้นเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นว่า ลายเส้นบาติกมีลูกเล่นใหม่อยู่เสมอ อาจเป็นแนวทางการเพิ่มฟังก์ชันให้มากขึ้น มีการสร้างสีสันหรือเพิ่มลูกเล่นหรือลวดลายตามสไตล์ลายเส้นบาติก ให้ลูกค้าได้เลือก ที่สำคัญคือต้องทำให้ออกมาไม่เหมือนใคร”
คุณพนิตพิชาได้อธิบายความรู้สึกที่ไกลเกินฝันให้ฟังว่า วันนี้ลายเส้นบาติกเดินทางมาไกลกว่าที่ตั้งเป้าไว้มาก ตอนแรกต้องการเพียงรายได้มาจุนเจือครอบครัว แต่เพราะ “มีความรักที่อยากจะทำ” ผลงานให้ออกมาสวยงาม การได้เห็นผลผลิตศิลปะบนผ้าที่มีเพียงผืนเดียวชิ้นเดียวได้สวยงาม ได้ภูมิใจที่มีคนตอบรับและชอบในชิ้นงานนั้นๆ ครอบครัวมีความเป็นอยู่มั่นคง มากกว่านั้นก็คือการทำให้คนในชุมชนมีอาชีพได้อีก ซึ่งเธอตั้งใจอยากทำศูนย์เรียนรู้ผ้าบาติกในอนาคตด้วย
…บางครั้งการได้ทำในสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบก็เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่มันจะไม่สำเร็จผลได้ หากไม่ได้มีความมุ่งมั่นหรือตั้งใจอย่างจริงจัง แต่ลายเส้นบาติกกำลังพิสูจน์ให้เราได้เห็นว่า ถ้ารักที่อยากจะทำ ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ทั้งนั้นบนโลกนี้…
แนวคิดการต่อสู้ตลอด 13 ปีของลายเส้นบาติก
• ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะเจอวิกฤตชีวิตที่ไม่มีงาน พอลุกขึ้นมาทำเองช่วงแรกผลตอบรับไม่ดี แต่ก็พร้อมลุกขึ้นสู้จนหาแบบฉบับของตัวเองเจอ
• กล้าที่จะแตกต่าง ไม่กลัวที่จะสร้างความแตกต่าง สุดท้ายทำให้ได้เจอตลาดและฐานลูกค้าใหม่
• ไม่ปิดกั้นสิ่งที่ตัวเองไม่รู้หรือรู้แล้ว แต่เมื่อรู้แล้วก็ต้องให้เข้าใจถึงแก่น ก่อนที่จะนำมาต่อยอดให้เป็นสไตล์หรือคาแรกเตอร์ของตัวเอง
• รักษาตัวตนให้มากที่สุด เมื่อมีการแนะนำความรู้เพิ่มเติม เรียนเพื่อให้เข้าใจ แต่จะไม่โอนเอนไปตามสิ่งที่ผู้สอนทั้งหมด ต้องรู้จักวิธีประยุกต์ใช้กับการผลิตสินค้าของเรา
• ไม่ทิ้งวิถีแบบดั้งเดิมที่ทำกันมายาวนาน อะไรที่ดีอยู่แล้วก็ควรรักษาเอาไว้ ยิ่งปัจจุบันอาชีพเขียนเทียนเริ่มหายาก โดยพยายามจะสร้างคนรุ่นใหม่มาสานต่องานด้านนี้
ลายเส้นบาติก (LAISEN BATIK)
ที่ตั้ง : บ้านโพธิ์เสด็จ 115 ม.8 ต.โพธิ์เสด็จ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 80000
Facebook: LAISEN BATIK
Instagram: LAISEN BATIK
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: LAISEN BATIK
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา