“เราใช้ชื่อลูกสาวมาตั้งชื่อแบรนด์ ต้องการให้เติบโตไปพร้อมๆ กับเขา”
คำบอกเล่าด้วยน้ำเสียงเต็มเปี่ยมด้วยรักของ เอื้อมพร เลขจิตร ที่มีให้กับ น้องโบ – กัญญาวีร์ สาวน้อยวัยสิบสองปี คือสิ่งยืนยันว่าเครื่องประดับดีไซน์เรียบง่ายแบบไทยประยุกต์ ประดับอัญมณีน้ำงามจากแหล่งค้าอันเลื่องชื่อแห่งอำเภอแม่สอด ได้รับการสร้างสรรค์ด้วยมือของแม่ผู้เติมความอ่อนโยนละมุนละไมในงานทุกชิ้น ให้มีทั้งความอ่อนหวานและเสริมพลังมงคลแด่ผู้สวมใส่มรดกจากคุณยาย สืบสานสู่หลานสาว
คุณเอื้อมเล่าถึงที่มาของ ‘โบกัญญา’ ที่มีต้นกำเนิดมาจากผลิตภัณฑ์ของชุมชน ซึ่งครอบครัวได้ก่อร่างสร้างมาว่า “ประมาณยี่สิบกว่าปีมาแล้ว คุณแม่ (คุณแน่งน้อย มากศรี) ได้ทำสินค้า OTOP ชื่อ ‘แน่งน้อยจิวเวลรี’ อยู่ที่อำเภอแม่สอด ตาก ทำกับพวกญาติๆ แต่ตอนนี้ท่านเสียชีวิตไปแล้วด้วยโรคโควิด แน่งน้อยจิวเวลรีก็เลยไม่ได้ทำแล้วค่ะ”
ด้วยความที่ลักษณะเครื่องประดับรุ่นคุณแม่เป็นแบบดั้งเดิมที่ดูหรูหราสะดุดตา ซึ่งแน่นอนว่าส่วนมากจะมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่เพื่อขับเน้นความงามของพลอย ทั้งไพลินที่ภาษาพม่าเรียกว่า ‘นี่หล่า’ ทับทิมแอฟริกา หรือหยกเนื้อดีต่างสีสันจากพม่า ที่ล้วนแล้วแต่คัดสรรมาอย่างดีเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่เป็นเลิศ แต่สำหรับคุณเอื้อมกลับรู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ อีกทั้งการเรียนด้านศิลปะมาทำให้มีมุมมองแตกต่าง
เจ้าของแบรนด์เรียนไทยวิจิตรศิลป์มาจึงมีรูปแบบการเรียนรวมแบบพาณิชยศิลป์ ในคณะเดียวจะเรียนทั้งจิวเวลรี ออกแบบตกแต่ง ลายไทย จิตรกรรม ปั้น รวมไปถึงออกแบบโปสเตอร์ เธอเคยรับงานฟรีแลนซ์ออกแบบจิวเวลรีให้บริษัทญี่ปุ่น สไตล์ญี่ปุ่นซึ่งเน้นลายเส้นเรขาคณิต ประกอบด้วยการทำงานเกี่ยวกับออกแบบตกแต่งด้วยทำให้มีพื้นฐานเรื่องของเส้น -เรขาคณิต แต่ต้องการนำมาออกแบบใหม่ๆ ให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ด้วย
ไอเดียใหม่นี้เริ่มจุดประกายขึ้นประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นคุณเอื้อมมีครอบครัวและอาศัยอยู่ที่ย่านบางเขน จึงได้เป็นผู้ช่วยคุณแม่เมื่อมีงานแสดงสินค้าโอท็อปที่เมืองทองธานี “คุณแม่มาออกงานก็จะมาพักที่บ้าน เราก็ไปรับไปส่งตลอด ก็จะได้ความรู้จากงาน ซึมซาบมาเรื่อยๆ ที่จริงเมื่อก่อนไม่ได้ช่วยที่บ้าน แต่ก็เห็นสินค้าโอท็อปมาตั้งแต่เด็กๆ ช่วงแรกก็ทำกับคุณแม่ไปก่อน ดูเล็กๆ น้อยๆ ยังไม่ได้ทำการตลาด เพิ่งมาได้ทำเป็นแบรนด์ตอนที่ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว “
‘โบกัญญา’ ยังขยายความถึงช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างเต็มตัวว่าจากแน่งน้อยจิวเวลรี ซึ่งเป็นโอท็อปของแม่สอด คำแนะนำให้โบกัญญามายังกรุงเทพฯ มาจากคุณแม่ เพื่อจะได้มีการค้าขายที่นี่ด้วย เมื่อเห็นเป้าหมาย ‘โบกัญญา’ จึงลงทะเบียนเป็น “โอท็อปของกรุงเทพฯ” โดยใช้ชื่อแบรนด์ที่นำมาจากชื่อเล่นกับชื่อจริงของลูกสาวเธอมาผสมกัน
แต่แรกเลย ‘โบกัญญา’ เป็นสินค้าโอท็อปของ มผช. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน) ก่อน มาเป็นโอท็อปที่เขตบางเขน พอดีกับที่ช่วงนั้นมีงานออกร้านขายภายในเขต นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เล่าย้อนไปถึงวันแรกๆ ของ ‘โบกัญญา’ ในช่วงประมาณปี 2552 แต่มาจดทะเบียนพาณิชย์ปี 2558
เรียบง่าย แต่มากมายด้วยพลังใจ
“ตอนที่เริ่มออกแบบของตัวเอง ได้ไปอบรมตามกรมต่างๆ อย่างที่ศิลปาชีพระหว่างประเทศ เขาจะเน้นอัตลักษณ์ของความเป็นไทย เราก็คิดว่าน่าจะตามแนวนี้ เพราะเราก็รักลายเส้นของความเป็นไทย แต่วัยรุ่นไม่ชอบใส่เครื่องประดับที่มีความเก่าแก่หรือว่าดูแก่ เราเลยทำให้ทันสมัยมากขึ้น เป็นลายเส้นของเอกลักษณ์ร่วมสมัย มีรูปแบบของเรขาคณิต”
ลวดลายไทยเมื่อมาอยู่บนกำไลเรียวเล็กกลับกลายเป็นโดดเด่นดูแปลกตาไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะเมื่อนำหินล้ำค่ามาเป็นส่วนประกอบยิ่งก่อให้เกิดความไม่ธรรมดาทั้งรูปแบบและความหมายโดยนัย
“ตัวเรือนเราทำเป็นเงิน 92.5 อย่างเดียวค่ะ ตอนนี้กำลังเริ่มทำเป็นทองชุบ 24 เค แล้วก็ชุบ Pink Gold เป็นการแนะนำจาก คิง เพาเวอร์ เพราะ Pink Gold กำลังเป็นที่นิยม แล้วก็มีอีกอย่างคือตัวกำไลค่ะ ปกติงานของเราจะไม่มีตัวล็อก คิง เพาเวอร์แนะนำให้ทำแบบติดล็อกได้ตามสากลนิยม จะทำให้ไม่หลุดง่าย”
นอกจากกำไลฝังพลอยน้ำงามเสริมราศีที่เลือกซื้อได้จากเว็บไซต์ของ คิง เพาเวอร์ ‘โบกัญญา’ ยังรังสรรค์เครื่องประดับเพื่อ ‘สายมู’ แนวหวาน อย่างสร้อยข้อมือหยก มีทั้งสีขาวสื่อถึงมีสมาธิและสติปัญญาดี สีเขียวเพิ่มพลัง และสีโอลด์โรส คือมีสุขภาพดี ส่วนสร้อยหยกสีเขียวสลับขาว (กินบ่เซี้ยง) สื่อถึงความมีโชคลาภ เจริญรุ่งเรือง นอกจากนี้ยังมี ‘ไม้กลายเป็นหิน’ ของมงคลหายากอีกด้วย
ไหนๆ จะมูแล้ว ตะกรุดก็ต้องมา คุณเอื้อมเล่าถึงที่มาของการนำเครื่องรางมาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประดับว่ามีความเชื่อและความสนใจที่ขายสินค้าหยกอยู่แล้ว จากสมัยคุณแม่ที่ไม่ได้มีผลิตภัณฑ์ตะกรุด “เวลาไปอบรมเราก็จะได้ไอเดียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาเริ่มที่ว่าตะกรุดกำลังนิยมกัน แต่ยังไม่มีใครทำตะกรุดที่เป็นลายไทย ส่วนมากที่ทำจะมีหัวท้ายแล้วก็มีหลอดตรงกลางที่เป็นพลาสติก ก็คิดว่าหลอดตะกรุดน่าจะทำเป็นรูปลักษณ์ลายไทยให้สวยงามขึ้น ก็เลยลองทำดู”
ความเชื่อเกี่ยวกับตะกรุดที่อยู่คู่กับสังคมไทยข้ามยุคข้ามสมัยมานับร้อยปี จนถึงวันนี้ที่ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ หนุ่มสาววัยทำงาน แต่วัยรุ่นก็ยังนิยมชมชอบพกติดตัวเพื่อเสริมเรื่องการเรียนและการสอบ นับว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่จะมองข้าม “ตะกรุดมีทั้งเสริมโชคลาภ นำโชคดี ทำให้เจริญรุ่งเรือง ป้องกันภัย แล้วก็ทำให้มีสุขภาพดี พกติดตัวเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ ให้มีพลังใจ มีกำลังใจที่จะทำงานให้เจริญก้าวหน้าต่อไป หลักๆ นี่คือ แฟนเอื้อมเป็นคนนครศรีธรรมราช จะไปบูชาตะกรุดตาไข่ที่โด่งดัง นำมาใส่ในเครื่องประดับของเรา แต่ถ้าใครมีผ้ายันต์ แผ่นยันต์ หรือสิ่งปลุกเสกที่เกี่ยวกับครูบาอาจารย์ที่นับถือ ก็สามารถนำมาสั่งทำให้ใส่ในหลอดตะกรุดได้ตามขนาดที่ต้องการค่ะ”
คุณเอื้อมเพิ่มเติมอีกนิดว่าสินค้าความเชื่อนี้ไม่มีขายใน คิง เพาเวอร์ แต่กำลังจะผลิตของใหม่ดีไซน์น่ารักมาให้เลือกแทน “กำลังจะทำสร้อยข้อมือแบบชาร์มที่เป็นห้อยตุ้งติ้ง เป็นรูปช้อนส้อม แก้ว โต๊ะ เก้าอี้ โซฟาด้วย เพราะเราเคยทำงานออกแบบตกแต่งมาก็อยากทำจิวเวลรีแบบนี้ แล้วคิดว่าวัยรุ่นก็น่าจะชอบ คนทำงานก็ใส่ได้”
Suggestion
ทุกขั้นตอนเกิดจากการเรียนรู้
การเดินทางของ ‘โบกัญญา’ ตั้งแต่เริ่มต้นจนโลดแล่นอยู่ในวงการเครื่องประดับกลุ่ม Bangkok Brand ในวันนี้ล้วนเกิดจากการศึกษาหาความรู้ของผู้ก่อตั้งทั้งสิ้น “ในเรื่องการตลาดมีที่ปรึกษาอยู่หลายที่ค่ะ เอื้อมอบรมกับทุกกรมเลย กรมอุตสาหกรรม กรมการค้า ศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ แล้วก็ SME กับ GIT สะสมความรู้มาเรื่อยๆ ที่ได้มาขายกับคิง เพาเวอร์ ตั้งแต่เมื่อสองปีที่แล้วก็มาจากการที่เอื้อมไปอบรม มีอาจารย์ของจุฬาฯ แล้วก็คนของ คิง เพาเวอร์ที่จะให้คะแนน ถ้าใครผ่านจะได้ลงทะเบียนขายสินค้ากับ คิง เพาเวอร์ ค่ะ”
สำหรับขั้นตอนการผลิตนั้น เรียกได้ว่าคุณเอื้อมดูแลเองทั้งหมด นอกจากการออกแบบในคอมพิวเตอร์ ส่งงานให้บริษัทที่มีเครื่องปรินต์ 3D ทำออกมาเป็นตัวชิ้นงาน แล้วส่งต่อไปให้ช่างหล่อเงิน จากนั้นนำกลับมาตกแต่งลวดลายด้วยตัวเอง ส่วนวัตถุดิบต้องคิดตั้งแต่ออกแบบว่าจะใช้พลอยชนิดใดบ้าง “พี่สาวจะเป็นคนคัดเองที่ตลาดพลอยในอำเภอแม่สอดค่ะ ที่นั่นจะมีตลาดกลาง เป็นโรงแรมสยามเก่าที่เขาทำเป็นห้องให้เช่าสำหรับพ่อค้าพลอยที่จะมาเช่าตู้ค้าขายกัน มีพลอยจากพม่า จันทบุรี กาญจนบุรี ตราด”
ด้วยเหตุนี้เครื่องประดับของ ‘โบกัญญา’ จึงเรียกได้ว่าเป็นงานที่ทำด้วยหัวใจของแม่อย่างแท้จริง เริ่มต้นด้วยความรักและเจือด้วยเสน่ห์ของความใส่ใจ จึงดึงดูดให้อยากเข้าไปชมใกล้ๆ “เราไม่มีหน้าร้าน ออกบูทอย่างเดียว กับคิง เพาเวอร์ก็ขายออนไลน์อย่างเดียว ผลตอบรับดีค่ะ บางทีลูกค้ารู้จักมาจากคิง เพาเวอร์ก็ตามมาที่บูท ส่วนใหญ่เป็นคนไทย ถ้าเป็นต่างชาติตอนนี้มีลูกค้าชาวลาว คิดว่าสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้วน่าจะมีเข้ามามากขึ้นค่ะ”
โบกัญญา (BOW KANYA)
ที่ตั้ง : 14/37 เดอะวิลล่า ถ. คู้บอน 27 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10220
Website: BOW KANYA
Facebook: BOW KANYA
Instagram: BOW KANYA
ข้อมูลสินค้าเพิ่มเติมที่ตลาดพลังคนไทย
คลิก: BOW KANYA
สนใจสินค้าพลังคนไทย สามารถสนับสนุนได้ที่คิง เพาเวอร์ทุกสาขา
ปักหมุดจุดเช็กอิน-แชะรูป-ท่องเที่ยวใกล้เคียง
• Mini Zoo ธัญบุรี หรือเขาดิน 2 แม้ที่ตั้งจะอยู่ห่างออกไปในเขตคลอง 6 ปทุมธานี แต่ถือว่าอยู่ในโซนใกล้เคียง และเป็นที่ที่ไม่ควรพลาดสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกตัวน้อย (ดูรายละเอียดได้ใน Facebook : Mini Zoo ธัญบุรี)
• วัดพระยาสุเรนทร์ อยู่ในซอยรามอินทรา 109 แขวงสามวาตะวันตก สักการะบูชาพระธาตุ 5 ประเทศ ไหว้หลวงปู่ทวด (เหยียบน้ำทะเลจืด) องค์ใหญ่ และพระประธานในพระอุโบสถ ลอดโบสถ์เสริมสิริมงคล และเที่ยวชมตลาดน้ำ
• วัดฝอกวงซัน แวะสักการะตำหนักพระแม่กวนอิมมหาโพธิ์สัตว์ ที่เป็นวัดสาขาจากไต้หวัน อยู่ที่รามอินทรา อยู่บนถนนคู้บอนนี่เอง ออกแบบอย่างงดงามวิจิตรตามสถาปัตยกรรมไต้หวันในอาณาบริเวณกว้างใหญ่ตระการตา