“ในใจเราตั้งธงไว้แล้วว่าจะไปทางด้านดนตรีให้ได้ แต่อย่างน้อยก็ขอให้มีวิชาชีพครูติดตัวไว้ด้วย ในใจอยากกลับมาสอนที่โรงเรียนตัวเอง ด้วยความที่ตอนนั้นเราก็ไม่มีใครคอยไกด์” คือความตั้งใจของ คุณอู๋ – ณัฐพงษ์ เกรียงไกรวงษ์ หนุ่มนักดนตรี และคุณครูจากโรงเรียนเลยพิทยาคม และยังรับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมวงดนตรี Huuki Huuda (“ฮูกิ-ฮูดะ”) หนึ่งในวงที่เข้ามาร่วมแข่งขันในรายการประกวด THE POWER BAND 2022 SEASON 2 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย และได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ
การแสดงที่เต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนานของกลุ่มเด็กมัธยม ในนามวง Huuki Huuda ชนะใจคนดูจนได้รับเสียงเชียร์ล้นหลาม และยังได้คะแนนของกรรมการจากผลงานบนเวทีที่บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้น มองออกและมองทะลุสะท้อนไปถึงยังความสำคัญของผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญที่ทำให้ผลงานของเด็กๆ โดดเด่นได้…อย่างผู้คุมวง
เส้นทางของการเป็นครูควบคุมวงดนตรี Huuki Huuda ที่เพียงแค่ได้ยินชื่อก็สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น แต่เนื้อในยังคงมีความเป็นอีสานแท้ๆ
การเข้ามาเป็นครูควบคุมวงดนตรี ก็เริ่มต้นมาจากความรักและความชอบทางด้านดนตรีของตัวเอง ที่พาคุณอู๋เดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร มาศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพยายามผลักดันตัวเองจนมีผลงานเพลง และได้รับรางวัลจากการประกวดดนตรีมากมาย เป็นเรื่องราวชีวิตที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนในวง เพื่อตอกย้ำว่า แพสชันสามารถสร้างงาน เงิน มอบชีวิตที่มีความสุข และมีความหมายได้
“เราอยากให้เป็นความรู้สึกการเป็นวงศิลปิน ไม่ได้เป็นวงดนตรีประกวด
มันมีคำนี้แหละว่าเราไม่อยากเหมือนกับวงอื่น”
ครูอู๋ ณัฐพงษ์ เกรียงไกรวงษ์ (ผู้คุมวง HUUKI HUDAA)
เสียงสัญญาณของเส้นทางดนตรี
“ที่บ้านขายเสื้อผ้าแต่ว่าต้องหาบเร่เป็นรถขาย ก็เลยมีเครื่องเสียงติดรถไว้กระจายเสียง ช่วงเช้าๆ คุณพ่อก็จะเปิดเพลง ผมก็จะชอบไปหาซื้อเทปเพลง เริ่มจากเพลงไทย ยุค 2000 เพลงแดนซ์จะค่อนข้างเยอะ อย่างทาทา ยัง อนัน อันวา”
จากนั้นชีวิตของคุณอู๋ก็ขับเคลื่อนไปพร้อมกับเสียงเพลงมาตลอด เริ่มต้นจากการประกวดดนตรีภายในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้รับรางวัลที่สาม ตั้งแต่วันนั้นก็เป็นเหมือนสัญญาณที่บอกให้คุณอู๋รู้ว่า นี่คือความสุข และอาจเป็นเส้นทางที่ตัวเองเลือกเดินในอนาคต
หลังจากได้รับรางวัลในการประกวดในโรงเรียนแล้ว คุณอู๋และเพื่อนร่วมวงก็พากันเดินสายประกวด เข้ารอบ ได้รับรางวัลมาบ้าง จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จะเป็นโอกาสสุดท้ายในการเข้าร่วมการแข่งขันในรายการ Hotwave Music Awards
“เราเริ่มเซ็ตอัปตั้งแต่สิบโมงเช้า เราขอคุณครูใช้ห้องนาฏศิลป์ อัดเสร็จจริงตีห้า วันนั้นก็เลยต้องลาโรงเรียน เพราะต้องมาตัดต่อ เพื่อนอีกคนก็ไปซื้อตั๋วรถทัวร์ไปกรุงเทพฯ เพราะพรุ่งนี้เป็นวันสุดท้ายในการยื่น เดโม เช้าวันถัดมาก็ไปส่งด้วยตัวเองเลย” ในการประกวดครั้งนี้ทางวงได้รับรางวัลที่สาม ได้รับโล่กลับมาเป็นอีกสัญญาณที่ย้ำว่าเส้นทางนี้ไปต่อได้
ดนตรีกับความเป็นครู
หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา คุณอู๋พาตัวเองเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ สอบติดคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนทางด้านดนตรีโดยเฉพาะ เป็นอีกครั้งที่ชีวิตเปิดโอกาสให้คุณอู๋ได้พบกับดนตรีที่หลากหลายกว่าที่เคย “ตอนนั้นเหมือนเปิดโลกเลย ดนตรีใดๆ ที่เคยรู้จัก แทบจะเป็นเสี้ยวเดียวของดนตรีทั้งหมด มีทั้งดนตรีคลาสสิก แจ๊ส พังก์ ร็อก เมทัล บัลลาด ยิ่งเป็นการหลอมรวมตัวเราเข้าไปใหญ่”
หลังจากจบจากการฝึกสอนที่โรงเรียนหอวัง ที่ปัจจุบันมีลูกศิษย์คุณอู๋มาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่าง ไม้หมอน วชิรวิทย์ จีนเกิด แชมป์ The Voice Thailand ซีซั่น 6 ประสบการณ์เหล่านี้ยิ่งตอกย้ำความรู้สึก และเป็นแรงผลักดันที่ทำให้คุณอู๋สมัครเข้ามาเป็นครูที่โรงเรียนเลยพิทยาคม จังหวัดเลย โรงเรียนเก่าของตัวเอง และยังรับหน้าที่ผู้คุมวง Huuki Huuda ในรายการประกวด THE POWER BAND
Suggestion
“นักเรียนในวงเป็นเด็กในชุมนุม เราเริ่มตั้งวงมาตั้งแต่ปี 2020 จากชื่อ วงฮูกิ ฮูกิ เปลี่ยนเป็น ฮูกิ ฮูดะ ให้มีความเป็นญี่ปุ่นแต่ก็มีความเป็นอีสานอยู่ รุ่นน้องรุ่นนี้ก็เป็นรุ่นที่เคยเห็นการทำงานของรุ่นพี่ แล้วเราก็มาหาเพื่อนใหม่เพิ่ม คอรัส มือพิณที่ไปจีบมาจากวงโปงลาง เราอยากให้ความเป็นอีสานมาผสมอยู่ในวงนี้ของเรา ทั้งเรื่องของภาพและทำนอง” ซึ่งการเป็นผู้ควบคุมวงของคุณอู๋ก็คอยดูแลตั้งแต่เรื่องการเรียน ไปจนถึงการปรับความเข้าใจของผู้ปกครอง
“ผู้ปกครองบางคนไม่เข้าใจ เพราะบางคนลูกเขาไม่ได้มาเพื่อเล่นดนตรี แต่เขาเห็นลูกบนเวที มันก็ทำให้เขาเห็นว่า ลูกเขาไปได้ เขาก็จะมีความเชื่อมั่นในตัวลูกเขามากขึ้น”
ทุกการประกวดคือโอกาส
“ไม่ว่าวงไหนๆ ก็ล้วนตั้งใจอยากชนะทั้งนั้น แต่ด้วยพื้นฐานผมคิดว่าอันนั้นมันเป็นผลพลอยได้” เพราะสิ่งที่การันตีชัดกว่าการลุ้นว่าจะได้รางวัลหรือไม่ คือการรู้ว่านักเรียนได้แสดงความสามารถแล้ว และโอกาสนี้อาจพาตัวพวกเขาไปสู่เส้นทางด้านดนตรีในอนาคตเหมือนคุณอู๋ได้
“เราทำการบ้านกับ THE POWER BAND ปีที่แล้วมาเยอะมาก ครั้งนี้ก็เลยลองเอาความเป็นอีสานผสมญี่ปุ่นมา แต่พื้นฐานเราอยากให้มีความเป็นแบบพังก์ ร็อก ซิตี้ ส่วนอีสานมันจะมาในทำนองและรูปลักษณ์ของเครื่องดนตรีอย่างพิณ” ซึ่งเมโลดี้ความเป็นญี่ปุ่นก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ มู้ดแอนด์โทนของความเป็นญี่ปุ่นที่คุณอู๋นำมาเผยแพร่ให้นักเรียนได้รู้จัก
นอกจากสไตล์เพลงที่ผ่านการคิด เรียบเรียงดนตรี โดยมีประสบการณ์การทำเพลงของคุณอู๋เป็นตัวนำทาง ใช้โปรแกรมทำเพลงและฝึกซ้อมนักเรียน วงฮูกิ ฮูดะ ยังใส่ใจเรื่องของภาพและการแสดงบนเวที ที่เห็นจะโดดเด่นกว่าเพื่อนก็เป็นเสื้อผ้าที่ใช้แสดงบนเวที ที่ถ่ายทอดออกมาผ่านความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน
“โชคดีที่เด็กๆ มีความสนใจด้านแฟชั่น เราก็ไปเลือกเสื้อผ้าที่ตลาดนัดคลองถมกัน เสื้อผ้าแต่ละตัวไม่เหมือนกันเลย แต่สิ่งหนึ่งที่มีคือการคุมโทน เราอยากให้เป็นความรู้สึกการเป็นวงศิลปิน ไม่ได้เป็นวงดนตรีประกวด มันมีคำนี้แหละว่าเราไม่อยากเหมือนกับวงอื่น” ทั้งหมดทั้งมวลนี้มีใจความสำคัญเดียว คือการไขว่คว้าโอกาส แล้วหวังว่าโอกาสที่คว้ามาได้จะพาไปสู่ชัยชนะ แต่หากไม่เป็นอย่างนั้น อย่างน้อยสมาชิกในวงก็อาจพบแพสชันที่ตัวเองมองหา
“ผมจะบอกนักเรียนว่ามันไม่ยากที่จะหาว่าเราชอบอะไร
แต่เรากล้าที่จะตอบตัวเองจริงๆ ไหม ว่าสิ่งที่เราชอบมันสามารถยืนระยะได้ยาวนานแค่ไหน”
Suggestion
แพสชันคือสิ่งที่เราพูดถึงมันได้ดีที่สุด
“การเป็นครูของผมคือ ผมจะเป็นครูไปด้วย เป็นศิลปินไปด้วย ปัจจุบันก็มีผลงานเพลงครบอัลบั้มไปด้วยอยู่ เราก็ชวนนักเรียนทำ” ความสำเร็จของคุณอู๋เป็นเหมือนแรงบันดาลใจชั้นดีให้นักเรียนมีกำลังใจที่จะฝัน เรื่องราวของคุณอู๋ แม้จะรู้ว่าตัวเองรักในเสียงดนตรี แต่ก็ไม่หยุดเพียงเท่านั้น กลับตามหาและไขว่คว้าโอกาส แล้วให้ความสำเร็จเป็นเครื่องย้ำเตือน เป็นเสียงสัญญาณที่บอกว่าตัวเองมาถูกทาง
สำหรับคุณอู๋ ในฐานะการเป็นครูคนหนึ่ง การช่วยนักเรียนตามหาแพสชันในตัวเองก็นับว่าเป็นหนึ่งในงานสำคัญ “ผมมองว่าเรื่องของแพสชันมีสองโลก โลกแรกคือในจินตนาการ อีกโลกคือการจัดการในความเป็นจริง มันมีวิธีในการค้นหาตัวเอง ทั้งฮาร์ดสกิลและซอฟต์สกิล ผมจะบอกนักเรียนว่ามันไม่ยากที่จะหาว่าเราชอบอะไร แต่เรากล้าที่จะตอบตัวเองจริงๆ ไหมว่าสิ่งที่เราชอบมันสามารถยืนระยะได้ยาวนานแค่ไหน”
สำหรับคุณอู๋ นอกจากความรักในเสียงดนตรีที่ฝังรากลึกในตัวจนสามารถจินตนาการถึงเมโลดี้ต่างๆ ที่สามารถนำมาประกอบเป็นบทเพลงอันไพเราะได้แล้ว คุณอู๋ยังมีความรักในการเขียนเล่าเรื่อง ที่เริ่มต้นจากการเขียนบทความและการถ่ายภาพ ทั้งการถ่ายภาพบุคคลและภาพทิวทัศน์ที่สวยงาม มีผลงานส่งภาพเข้าร่วมกิจกรรมลงนิตยสาร Berefoot ในกิจกรรม How are you Thailand?
“ผมชอบบอกเด็กๆ เสมอว่า สิ่งที่เราชอบเราจะอยู่กับมันได้สักพัก
แต่สิ่งที่เรารักจะติดตัวเราตลอดชีวิต”
ตลอดการพูดคุย เราสัมผัสได้ว่าคุณอู๋เป็นอีกหนึ่งคนที่มีแพสชันล้นหลาม และมีความตั้งใจจริงที่จะนำแพสชันมาส่งต่อ สร้างแรงขับเคลื่อนให้กับคนรุ่นใหม่ มีหลายเรื่องในสตอรี่ของคุณอู๋ที่น่าสนใจและชวนให้เรากลับมาถามตัวเองถึงคำว่าแพสชัน บางทีหากมองให้ลึกเข้าไป ทั้งฮาร์ดสกิลและซอฟต์สกิลในตัวอย่างที่คุณอู๋บอก เราอาจพบตัวตนที่อยู่ลึกเข้าไป เพื่อให้เราใช้สิ่งนั้นขับเคลื่อนชีวิตได้ถูกทาง
ผลงานและรางวัลประกวดของคุณอู๋ ณัฐพงษ์ เกรียงไกรวงษ์
• 2553 : รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 HOT(WAVE) MUSIC AWARDS 15
• 2555 : รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 SINGHA MASTER OF THE BAND 2012
• 2561 : ผลงานเพลง ‘แผล’ วง Darwin’s Boys ft. รัฐ TATTOO COLOUR
• ผลงานเพลง ‘ความร้อนของเวลา’ วง Darwin’s Boys ติดชาร์ต Cat Radio
• 2561 : แสดงดนตรีบนเวทีคอนเสิร์ต Single Festival ที่มีศิลปินอย่าง Bodyslam, Palmy, Klear, Cocktail
• แสดงดนตรีในงาน CAT EXPO 5
• 2561-2564 : แสดงดนตรีในเทศกาลดนตรี E-San Music Festival
• 2562 : ครูผู้ควบคุมวงดนตรี ‘ทันสะไหม’ เข้าประกวดในรอบชิงชนะเลิศรายการ HOTWAVE MUSIC AWARDS 2019