Playground

รางวัลสำหรับคนกล้าฝัน
THE POWER BAND 2022 รอบตัดสิน

ทีม Writaholic 7 Nov 2022
Views: 1,997

ตลอดการประกวดที่ใช้เวลาครึ่งวัน! เต็มไปด้วยความตื่นเต้นและรอคอยนาทีประกาศผล จนถึงเวลาปิดท้ายเวทีด้วยการแสดงของสามศิลปินที่ช่วยมอบความประทับใจในค่ำคืนที่ผ่านมาได้อย่างเต็มอิ่ม ที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ รางน้ำ คึกคักและอบอุ่นด้วยมวลของความฝัน และผู้คน จากวงประกวดกับบรรดาผู้ชมที่ติดตามมาเอาใจช่วยเชียร์ของแต่ละวงกันถึงขอบเวที ทั้งหมด 26 วงที่ผ่านรอบคัดเลือกของ 5 สนามภูมิภาค ทั้งภาคกลาง เหนือ ใต้ตะวันออก และตะวันตก…เรียกว่ามากันจากทั่วประเทศไทย เพื่อที่จะทำความฝันของพวกเขาให้กลายเป็นความจริง แบบ Dream it, Do it! กล้าฝัน! กล้าทำ!

จริงอยู่ว่าถ้วยรางวัลและเงินรางวัลไม่ได้มอบให้กับทุกคน แต่ “รางวัล” สำหรับทุกคนที่ต่างได้รับคือความสุขจากมิตรภาพกับดนตรีที่พวกเขารักและผูกพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ดีๆ ที่จะนำไปใช้เติมความสามารถในดนตรีที่รักซึ่งหาไม่ได้นอกเวทีการประกวด

ถึงเวลาที่เมล็ดพันธุ์ทางดนตรีคุณภาพซึ่งผ่านมาตรฐานการคัดเลือกอย่างเข้มข้นของ การประกวด THE POWER BAND 2022 ซีซัน 2 …การประกวดวงดนตรีสากลประจำปี 2565 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย มาโดยตลอดหลายเดือนของโครงการจะได้มาเป็นเพชรประดับวงการต่อไป

การแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 Class ด้วยกัน และในรอบ Final ก็มีการคัดเลือกผู้ชนะจากการแสดง 2 เพลงที่ต้องนำมาเรียบเรียงใหม่ในแบบของวงเอง ที่กติกาของแต่ละ Class แตกต่างกันไป โดยการแข่งของ Class B ทำให้เราได้ฟังเพลงที่รู้จักดีอยู่แล้วในแบบสร้างสรรค์ใหม่อีก 1 เพลง

ด้วยการกำหนดเพลงไว้ในสไตล์ของวง บ้างก็ใส่เสียงพิณ บ้างใส่ดนตรีไทยปี่พาทย์ บ้างก็ใส่ลีลาโนราห์ภาคใต้ลงไป บ้างใส่ความเป็นแจ๊ส…เป็นฟังก์ บ้างก็เติมความป็อป และบ้างก็ถ่ายทอดความเป็นร็อกแบบเข้มๆ ในแบบของตัวเองลงไป…โดยให้เลือกจากเพลงบังคับมาเรียบเรียงใหม่ไว้ 10 เพลง ได้แก่ 1.ถ้าเธอไม่ไหว (Tomorrow Will Be Better) 2.จันทร์อังคารพุธพฤหัสศุกร์เสาร์อาทิตย์ 3.กลับก่อนนะ 4.ถ้าฉันเป็นเขา 5.รอยยิ้มที่หัวใจ 6.แพ้ความอ่อนแอ 7.แฟนเก่าคนโปรด 8.ลงใจ 9.Chapter 2 เวลาเธอยิ้ม 10.รักแรกพบ และเรายังได้ฟังเพลงใหม่ที่วงแต่งขึ้นใหม่อีก 1 เพลงด้วย

 

เพลงของเรา…ในสไตล์ของวง

The Piclic Band เลือกเพลง “เจ็บน้อยที่สุด” วงออกแบบให้เพิ่ม “ความเจ็บ” ในเพลงลงไปอีก ครูแตน – ฐิติพงศ์ วงศ์ชัยเอ่ย “มีการเปลี่ยนกรูฟการเล่นคอร์ด เน้นไมเนอร์ให้เศร้าขึ้น ให้เพลงมีอารมณ์ดาร์กๆ ใส่ท่อนแร็ปเข้าไปให้เป็นสีสันของดนตรี” และเพลง “ถ้าฉันเป็นเขา” ซึ่งเป็นเพลงของผู้ชายที่ตีความให้เป็นมุมมองผู้หญิงให้เข้ากับความเป็นวงหญิงล้วน “เราจะพยายามทำให้เพลงออกมาในแบบของเรา แล้วใส่อารมณ์ความอกหักลงไป ให้เป็นเพลงอกหักในแบบผู้หญิง เลยต่างจากต้นฉบับ เปลี่ยนทางเดินของคอร์ด ให้ดนตรีฟังดูแปลกไปเลย”

คนดูมีโอกาสได้ฟังเพลงนี้ถึง 8 ครั้งด้วยกัน ใน 8 การตีความที่แตกต่างกันไป บนเวทีการประกวดรอบตัดสินของ THE POWER BAND 2022 รวม 8 ครั้ง เป็นเวอร์ชันที่(ต้อง)แตกต่างไปจากต้นฉบับของวง INDIGO ในขณะที่เพลง “ถ้าฉันเป็นเขา” ของวง Belebt ตีความแตกต่างไป “พวกเราอยากเซอร์ไพรส์ด้วยดนตรีที่เป็นร็อก เพราะเราอยากท้าทายตัวเองว่าเล่นแนวป็อป อาร์แอนด์บีกันมา แต่เราก็สามารถที่จะเล่นได้หลายแนวเพลง คุณครูก็เอาเพลงไปเรียบเรียงให้ จากนั้นพวกเราก็ปรับตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งการร้องจะใช้เทคนิคมาก จะต่างไปจากการร้องแบบเดิมเลย เสียงมันจะหนาขึ้น ใช้ลมมากขึ้น ซึ่งพวกหนูรู้สึกว่าพอร้องแบบนี้ทำให้เรากลับไปร้องแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ส่วนอีกเพลง… ‘พอเถอะ’ จะต่อยอดมาจากเพลงที่แล้ว เรารู้สึกว่าถ้าเราเอาเวอร์ชันเก่ามามันจะซ้ำ ก็จะเพิ่มกิมมิกลงไปในเพลงนิดหน่อยเพื่อให้มีสีสันมากขึ้น”

หลายๆ วงมาประกวดด้วยความหวังที่จะได้ “นำเสนอผลงานสร้างสรรค์”… “เราอยากมาโชว์งานเพลงของเรา และอยากชนะเพราะผู้จัดการประกวดจะช่วยทำเพลงของเราให้ออกมาเป็นผลงานที่สมบูรณ์จริงๆ” วงภาฬบอกเล่าอย่างนั้น “เรามาแนว Fusion Jazz พยายามปรับเพลงที่ดีอยู่แล้วให้แปลกใหม่ แทรกลูกเล่นที่จะเซอร์ไพรส์คนฟังเป็นระยะๆ ให้คนฟังรู้สึกว่า เออ…วงนี้แปลกดี มีไอเดียที่น่าสนใจ  และ เพลง ‘Sunflower in Winter’ ที่เราแต่งกันเองจะโชว์รายละเอียดดนตรีผสานอารมณ์หม่นๆ ที่ส่งมาจากเนื้อเพลง”

วง I Love Wednesday อาจจะนำเสนอเพลงในแบบอยากให้คนจดจำ “เราปรับอารมณ์เพลงที่เลือกมา จากใสๆ น่ารักๆ ให้มีความกวนๆ เข้ากับคาแรคเตอร์นักร้อง ใส่การเต้นการแสดงเข้าไปเพื่อสร้างอารมณ์ให้กับคนดู เนื้อเพลงบางเพลงมีช่วงที่ให้กำลังใจคนฟัง เราก็แปลเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน เพื่อให้กำลังใจชาติอื่นๆ ที่ได้ฟังด้วย” ในขณะที่ วงหางนกยูง นำเสนอเอกลักษณ์จากบ้านเกิดของพวกเขา “เราใช้สำเนียงร้องโนราห์เข้าไปในช่วงหนึ่งของเพลง อยากให้คนรู้ว่าเรามาจากภาคใต้นะ และยังมีการใส่การขับเสภาแทรกลงไปด้วย เพราะเป็นความสามารถพิเศษของนักร้องวงเรา”

“เราเชื่อว่าทุกคนคงเคยมีความรักหรือเคยอกหักกันมาบ้าง วงของเราเลยเลือกเพลง แพ้ความอ่อนแอ มาทำให้ดุดันขึ้น ส่วนเพลงที่แต่งเองชื่อเพลง แม่เสือสาว

ซึ่งเราพยายามจะหาความแตกต่าง…เพลงนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงแซ่บๆ ร้ายๆ ฉันมันอันตราย เพราะเพลงส่วนใหญ่ในยุคนี้จะเกี่ยวกับความรักหรือเพลงอกหัก ต้องแตกต่างแบบมีเอกลักษณ์ ทั้ง 2 เพลงของเราเลยมาในแนวเข้มๆ ดาร์กๆ”

วง Jazz Passion
รางวัลชนะเลิศ ประเภทบุคคลทั่วไป

อีกบทเพลงที่วงผู้ประกวดเลือกหยิบมาตีความใหม่ อย่างเพลง “Chapter 2 เวลาเธอยิ้ม” ต้นฉบับจาก POLYCAT ที่ถูกร้องต่างสไตล์และอยู่ในการประกวดกันคนละ Class ของวงอย่าง CUT-TO ใน Class B และวงอุดรพิทยานุกูลใน Class A พวกเขาคิดต่างกันและตีความออกมาเป็นบทเพลงที่แตกต่าง CUT-TO ตั้งใจเลือกเพลงที่สวยงามมาเล่าใหม่ในอีกความรู้สึกหนึ่ง

“ด้วยความที่พวกเราเป็นวงแนวฟังก์เราเลยเลือกที่จะอะเรนจ์เพลงนี้ให้เป็นแบบฟังก์ และมองว่า ‘ยิ้ม’ ครั้งนี้เป็นยิ้มในการเจอกันครั้งสุดท้าย และอยากให้เพลงที่เล่นในวันนี้ดูเป็นโชว์มากขึ้นเลยเสริมโน่นนี่เข้าไป เพิ่มโซโลบางอย่างให้ดูเป็นคอนเสิร์ต ส่วนอีกเพลงที่แต่งเองก็เลือกเรื่องที่จะเล่าก่อน ให้เป็นเรื่องที่บางคนต้องอดทนอยู่กับความสัมพันธ์ที่ toxic แล้วตัดสินใจจะไม่ทนแล้ว ไม่ได้เล่าในมุมที่สวยงาม แต่ออกมาจิตใต้สำนึกว่า ไม่เอาแล้ว…ไปแล้วนะ”

ส่วนเพลงนี้ในแบบของวงอุดรพิทยาออกแบบให้เพลงมีความสดใส “เราตั้งใจให้นักร้องหญิงทั้งสองของวงเป็นเมนหลัก โดยพูดถึงความรักในมุมมองที่สดใส เราก็ระดมไอเดียของทุกคนมาใส่ในเพลง เอาเพลงนี้ในหลายๆ เวอร์ชันมาผสมผสานกันให้มีความหลากหลายและสนุกสดใสมากขึ้นด้วย” นับเป็นหนึ่งในสองเพลงที่พวกเขานำมาถ่ายทอดบนเวทีรอบตัดสินนี้

 

 Dream it, (We can) do it!

ในขณะที่วงมอซอใน Class A เลือกหยิบเพลง “ถ้าฉันเป็นเขา” ของ INDIGO มาตีความใหม่เช่นกันและอีกเพลง “มันเป็นใคร” ต้นฉบับโดย POLYCAT มาถ่ายทอดใหม่ในสไตล์ที่ตรงกับเพลงในแนวร็อกของวง แล้ว วงมอซอ ก็คว้าฝันมาทำให้กลายเป็นจริงได้สำเร็จกับรางวัลชนะเลิศของ Class A

“พวกเราภูมิใจในตัวเพื่อนๆ ในวงและยังภูมิใจในตัวเองมากๆ ที่ทำได้ พวกเราดีใจที่ได้มาไกลมาก เรียกว่าช่วงที่ประกาศผลพวกเรานั่งไม่ติดเก้าอี้กันเลย ดีใจมากๆ ที่ได้เราเอารางวัลนี้กลับภูเก็ต พวกเราขอบคุณที่การประกวดได้มอบโอกาส ขอบคุณกองเชียร์วงมอซอที่มาช่วยกันให้กำลังใจพวกเราด้วยปีหน้าพวกเรามาแข่งกันอีกแน่”  นักร้องนำของวงมอซอเล่าความรู้สึกโดยมีเพื่อนๆ ในวงช่วยกันเล่าบ้าง

“มอซอเป็นวงประกวดจากสนามสงขลา ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเพชรมันอยู่ทั่วประเทศไทยจริงๆ ไม่ใช่ว่าจะกระจุกอยู่แค่เมืองหลวงอย่างเดียว”  ติ๊ก – กฤษติกร พรสาธิต ค่าย Home Run Music กรรมการหนึ่งเดียวที่อยู่ในการตัดสินทั้งรอบภูมิภาคกับรอบตัดสินนี้ให้ความเห็น “เราได้เห็นว่าเยาวชนของไทยมีศักยภาพ มีความฝัน มีแพสชันที่จะผลักดันตัวเอง ที่จะทำสิ่งนี้ได้ งานประกวดนี้เป็นการกระจายโอกาสให้กับทุกคนเหล่านี้ มอซอเป็นวงที่ผมประทับใจมาจากสนามสงขลา ผมรู้สึกว่ากราฟของวงนี้พัฒนาได้ดีขึ้นมากๆ วันนี้ก็ทำได้ดีมากๆ ถือเป็นวงหนึ่งที่ผมประทับใจ” คุณกรรมการกล่าวชื่นชม

“สิ่งที่คุ้มค่ากว่าการได้รับรางวัล คือการได้ดูโชว์ของวงอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่จะหาโอกาสง่ายๆ ที่เขาจะมาเล่นกันให้ฟัง ส่วนในแง่ผลงาน…รางวัลที่วงได้รับมาน่าจะมีผลกับการทำงานของวงต่อไป ไม่ว่าจะเป็นความเข้มข้นของดนตรี หรือการมองแนวทางที่ชัดขึ้น เฉพาะการแข่งขันทำให้พวกเราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างในการทำตรงนี้ให้ดีขึ้น”

วง ArtRig
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทบุคคลทั่วไป

“การประกวดนี้ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะพานักร้องนักดนตรีรุ่นใหม่ก้าวข้ามไปสู่สนามสากลได้ และยังเป็นอีเวนต์สำคัญของคนที่สนใจเรื่องดนตรีที่เราจะเฝ้ามองในแต่ละปี” ถ้าถูกถามว่าการตัดสินยากแค่ไหน อาจารย์ดริน พันธุมโกมล รองคณบดีฝ่ายการศึกษา วิชาการและวิจัย หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีแจ๊ส วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สารภาพว่าวงการดนตรีในวันนี้พัฒนาไปอย่างมาก โดยส่วนตัวแล้วการได้มีส่วนร่วม “ผลักดัน” ให้วงการดนตรีพัฒนายิ่งขึ้นเป็นเรื่องที่ยินดี ที่สำคัญ ก่อนหน้าจะหนักใจ กรรมการแต่ละท่านที่ประจำสนามนี้คือ “สนุกกันมาก พวกเราขอบคุณทุกคน ซึ่งผมหมายถึง ทั้งหมด 227 วง… 1,500 กว่าชีวิตที่เข้ามาร่วมในปรากฎการณ์การประกวดครั้งนี้ ที่มาเล่นดนตรีให้ฟังครับ”

กรรมการสำหรับสนามตัดสินนี้ยังมีอีก 2 ท่านด้วยกัน คือ คุณวิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง Genie Records และ Mr.David Stouch Vice President, A&R WMG Warner Music แต่คุณเพิ่มศักดิ์ พิสิษฐ์สังฆการ ผู้บริหารค่าย Move Records เป็นผู้ให้ความเห็นปิดท้าย “อยากให้เดินกันต่อ แค่มาทำตามฝันแล้วเดินต่อและมุ่งมั่น ผมว่าทุกคนมีสิทธิ์ไปถึงความฝันได้เท่าๆ กัน ขอให้สู้ๆ นะครับ”

ก่อนที่ค่ำคืนการประกวดจะจบลง ยังมีการแสดงของ “แชมป์ THE POWER BAND ครั้งที่ 1” จาก ทองเอกและเพื่อนสมาชิกวง Sixth Floor และ สไปทร์ – วรวลัญช์กับวงถุงเท้าแดงไม่แรงได้ไง แล้วถึงยกเวทีต่อให้ศิลปินอาชีพอย่าง BEAN NAPASON ศิลปินหญิงคนเดียวของเวทีนี้ และอยู่กับการประกวด THE POWER BAND 2022 มาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ขึ้นเวทีก่อนใครพร้อมเพลงเพราะๆ ของเธอ ไม่ว่าจะเป็นเพลง “เธอรักเขาตอนเรารักกัน” เพลง “เวลาเธอยิ้ม” เพลง “ไม่อยากเป็นเพื่อนกับแฟนเก่า” และอีกหลายเพลงด้วยกัน ก่อนที่จะร่วมกันร้องเพลง “ถ้าเธอไม่ไหว” เพลงประจำโครงการประกวด The POWER BAND 2022 SEASON 2 กับสามหนุ่มวง SLAPKISS ที่โชว์เพลงสนุกๆ กันอย่างจุใจคนดูเช่นกัน อาทิ เพลง “ล้อเล่นได้ไหม” เพลง “แฟนเก่าคนโปรด” หรือเพลง “อกหักแต่บอกแฟนไม่ได้” ฯลฯ

เวทีของ THE POWER BAND 2022 ปิดท้ายกันด้วยความสนุกสนานขั้นสูงสุด จากการแสดงของ NONT TANONT ศิลปินขวัญใจของหลายๆ คนที่ขนเพลงฮิตมาเพียบๆ ก่อนจะส่งทุกคนกลับบ้านในคืนวันนั้นด้วยความประทับใจ

ตามไปดูภาพบรรยากาศแบบจุใจ ของเวที The POWER BAND 2022 รอบ Final และการแสดงของแต่ละวงผู้เข้ารอบได้ คลิกเลย

 

ผลตัดสินรอบ Final THE POWER BAND 2022 Season 2

Class A (ระดับมัธยมศึกษา) ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ: วง มอซอ รร.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต / รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1: วง The Piclic Band รร.วชิราลัย เชียงใหม่ / รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2: วง Belebt (เบเลบท์) รร.องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เชียงราย / รางวัลชมเชย: วง The Humble รร.มหาวชิราวุธ สงขลา / รางวัลชมเชย: วง อุดรพิทยานุกูล รร.อุดรพิทยานุกูล อุดรธานี

Class B (บุคคลทั่วไป) ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ: วง Jazz Passion กรุงเทพฯ / รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1: วง ArtRig กรุงเทพฯ / รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2: วง CUT-TO ชลบุรี / รางวัลชมเชย: วง Umbrella Down ภูเก็ต / รางวัลชมเชย: วง Paraa เชียงใหม่

Class C ประเภทดนตรีสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ: วง Solar System Band เชียงใหม่ / รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1: วง Anime as Leaders กรุงเทพฯ / รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2: วง DS.RU.BAND กรุงเทพฯ / รางวัลชมเชย: วง Quintarea กรุงเทพฯ / รางวัลชมเชย: วง Symphonic X สมุทรปราการ

รางวัล Outstanding นักดนตรียอดเยี่ยม ได้แก่ Class C: นายสาธุการ ทิยาธิรา มือกีตาร์ วง Solar System Band เชียงใหม่ / Class B: นางสาวสุภัสสรา สีสุด นักร้องนำ วง Jazz Passion กรุงเทพฯ / Class B: นายเอกวุฒิ พรานพิทักษ์ มือเบส วง CUT-TO ชลบุรี / Class A: นางสาวเบญญาภา กองดี ร้องนำ วง มอซอ รร.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต / Class A: นางสาวสุทธิดา พันธ์ศรี มือกีตาร์ วง The Piclic Band รร.วชิราลัย เชียงใหม่

Author

ทีม Writaholic

Author

ทีมมดแห่งวงการนักเขียนและคนทำ content จากแวดวงคนทำมีเดียและหนังสือ มารวมตัวกันแบบตั้งใจบ้างโดยบังเอิญบ้าง รู้แต่ว่า “ขยันเขียน” และ ช่าง “หาเรื่อง”

Author

อำพน จันทร์ศิริศรี

Photographer

ช่างภาพอิสระมากว่า 30 ปี...ที่คร่ำหวอดกับการถ่ายภาพรายการทีวีต่างๆ เช่น The Voice, The Rapper, The Stars Idol เป็นต้น และถ่ายภาพคอนเสิร์ตต่างๆ