เราเริ่มรู้จัก “โบ ธนากร ชินกูล” หรือ “ดีเจโบ” ในบทบาทของนักร้องบอยแบนด์นามว่า “โอโซน” แล้วโบค่อยกลับมาในบทบาทใหม่ คือเป็นดีเจและพิธีกรหน้าใหม่ให้ Five Live ซึ่งเป็นรายการวัยรุ่นชื่อดังแห่งยุค
หลังจากนั้นโบก็ยิงยาวกับการเป็นดีเจและพิธีกรมาตลอด จนเรานึกว่าเขาเจอเส้นทางที่ชอบและเดินตามความฝันสำเร็จแล้ว แต่เรื่องมันกลับช็อตฟิล…พอโบบอกว่า “ผมเป็นคนที่ไม่มีความฝันอะไรเลยมาตั้งแต่เด็ก ไม่มีความถนัดอะไรที่ชัดเจน ไม่รู้ว่าตัวเองควรไปทางไหนด้วยซ้ำ ก็เลยเลือกทางที่คิดว่าน่าจะพอทำได้แบบไม่ฝืนใจตัวเองนัก จริงๆ แล้วสิ่งที่ผมทำอยู่ในปัจจุบันนี้ ผมยังไม่รู้เลยว่ามันเป็นความฝันของผมหรือเปล่า”
แล้วเราก็ต้องทึ่งกับคำตอบของเขาอีกรอบ ตอนที่โบบอกว่า “ผมเป็นเด็กที่ไม่กล้าแสดงออกอะไร ใดๆ เลย ไม่ชอบออกหน้าไปยืนในที่สาธารณะ เพราะผมอายมาก” มาถึงตรงนี้เรื่องของโบน่าสนใจแล้วสิ เพราะถ้าเป็นแบบนั้น การที่โบเดินทางมาถึงทุกวันนี้ได้ คงมีจุดเปลี่ยนและเรื่องราวที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน และเราเชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์กับคนอ่านของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยากเป็นดีเจและพิธีกรมืออาชีพแบบเขาด้วย …เรื่องราวของโบคือตัวอย่างของการได้รับโอกาส และเป็น “พลังแห่งความเป็นไปได้” อย่างแท้จริง
“ใช้โอกาสที่มีให้ดีที่สุด ใช้โอกาสที่ได้รับให้คุ้ม
ถ้าจะไม่ใช้โอกาส ก็ให้ตัดสินใจดีๆ ว่าเราไม่อยากทำจริงๆ
ขอให้คิดเยอะๆ ขอให้ใช้โอกาสให้คุ้มค่าที่สุดในทุกโอกาส”
“ดีเจโบ” – ธนากร ชินกูล
ก้าวเริ่มงานบันเทิงของเด็กชายขี้อาย
โบเล่าประวัติของตัวเองให้ฟัง เริ่มตั้งแต่ตอนเขายังเป็นเด็กชายเลยทีเดียว “ผมเรียนที่สาธิตเกษตรฯ แล้วในงานประจำปีของโรงเรียนจะต้องมีโชว์ ซึ่งตอนมัธยมปลายเขาให้คิดโชว์เอง ให้ตั้งวงดนตรี ขึ้นไปร้องเพลงไปเต้น ผมไม่เคยร่วมด้วยเลย เว้นแต่กิจกรรมที่อาจารย์บังคับ แต่ถ้าเพื่อนทำอะไรกัน เช่น ทำกีฬาสี ผมก็พร้อมจะไปช่วยแปะโน่นทำนี่ ขอไม่ไปยืนบนเวที เพราะผมขี้อายมาก แต่ผมก็มีความบ้าอยู่อย่างหนึ่ง คือคิดว่าถ้าจะต้องทำก็ทำให้มันสุดไปเลย ช่วงมัธยมจะมีละครภาษาไทยเยอะ พอผมออกไปโชว์แล้วเพื่อนหัวเราะหรือทุกคนสนุก ผมเลยรู้ว่ามันเป็นความรู้สึกที่ดีขนาดไหน”
พอเข้ามหาวิทยาลัยโบก็มีโอกาสได้ไปแคสงานต่างๆ และได้แสดงมิวสิกวิดีโอ ตอนนั้นเขาตัดสินใจทำเพราะเห็นว่ามีเวลาว่างจากการเรียนและได้เงินเท่านั้น
แต่นั่นกลับเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เข้าทำงานในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ “พอดีพี่ที่ผมรู้จัก เขารู้จักคนในแกรมมี่ แล้วเขากำลังมีโปรเจกต์จะทำวงโอโซน เขามีนักร้องแล้ว 3 คน ขาดอยู่ 1 คน เขาก็เรียกผม ไปคุย ให้ไปร้องเพลงให้ฟัง วันรุ่งขึ้นผมได้มาเซ็นสัญญาเป็นศิลปินแกรมมี่เลย จะบอกว่าเป็นความตั้งใจก็ไม่ใช่ซะทีเดียว มันก็เป็นการตัดสินใจของผมนั่นแหละ แต่โอกาสมันมาพร้อมกับจังหวะอะไรบางอย่าง ในความไม่กล้าแสดง ออกของผม มันก็มีความ ‘เอาวะ! ลองดูก็ได้’ อยู่ด้วย”
หลังจากออกอัลบั้มเดียวแล้วเงียบ โบเลยกลับไปเรียนต่อ และกำลังจะมองหาเส้นทางใหม่ในชีวิต “ผมกำลังจะกลับไปเรียนที่อังกฤษ แล้วพี่ที่ เอไทม์ มีเดีย ก็โทร.มาหา เพราะช่วงที่อยู่ในวงโอโซนได้ไปสัมภาษณ์รายการวิทยุด้วย ผมเป็นคนชอบเฮฮาอยู่แล้ว พี่เขาเลยชวนมาเป็นดีเจ ตอนปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่เอไทม์เปลี่ยนโฉม มีดีเจเข้าใหม่ 20 กว่าคน ผมก็โชคดีเป็นหนึ่งในนั้น ถ้าเป็นปีอื่น ผมคงไม่มีความสามารถได้เข้าไป ความที่พูดไม่เก่ง ไม่มีความสามารถอะไรเลย แต่เขาคงรู้สึกว่าผมพอฝึกได้ ผมเลยได้มาทำงานในคลื่น EFM แล้วต่อจากนั้นก็ได้มาทำรายการ Five Live เพราะเขาเปลี่ยนพิธีกรจากรุ่นของน้าเน็ก พี่อ้อม พี่เอกกี้ มาเป็น Gen. ใหม่ ผมเลยได้ไปแคส หลังจากนั้นก็ได้ไปเล่นหนังของ GDH เรื่องเก๋าเก๋า เหมือนโอกาสต่อเนื่องมาจากการเป็นดีเจ พอคนเริ่มได้ยินเสียงเราก็ได้ไปอ่านสปอต นั่นคือจุดเริ่มต้นแล้วมันก็ไหลมาจนเป็นโบในทุกวันนี้”
เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกไม้
การเริ่มต้นทำงานในวงการบันเทิงของโบไม่ได้ราบเรียบนัก อย่างที่โบเล่ามาทั้งหมด เขาขี้อาย เขาไม่ได้มีความสามารถอะไร แล้วอะไรล่ะที่ทำให้โบมาถึงวันนี้ได้ “แรกๆ ที่เป็นดีเจมีปัญหาสุดๆ ครับ คนที่สอนผมคือ พี่อ้อม สุนิสา เขาให้ผมไปนั่งดูเขาจัดรายการ เพราะเขาคงทนความแย่ของผมไม่ไหว เวลาอยู่กับเพื่อน ผมก็พูดคุยเก่งนะ แต่เวลาที่ต้องพูดในที่สาธารณะผมใบ้กิน…พูดอะไรไม่ถูกเลย ตอนอยู่หน้าไมค์ก็ไม่ต่างกัน ไม่รู้ว่าเราคุยกับใคร คุยกับไมค์แค่ตัวเดียว มันนึกไม่ออกว่าจะพูดอย่างไรให้สนุก”
ตอนที่เขาเริ่มเป็นพิธีกรก็ไม่ต่างกัน “ผมรู้สึกว่าผมมาเริ่มพัฒนาจริงๆ ก็ตอนที่เป็นพิธีกร Five Live มันเป็นรายการสด ซึ่งจะเห็นทั้งหน้าและได้ยินเสียง ถ้าเจ๊งก็คือเจ๊งเลย หน้ามันจะออก งานวิทยุยังเอาเพลงมากลบได้ ไม่ได้เห็นสีหน้าดีเจ แต่ตอนทำรายการ Five Live ผมเลยรู้สึกว่าตัวเองพัฒนาเร็วมาก ด้วยความที่โดนด่าทุกวัน ก็ยังไม่ได้เก่งนะครับ แค่พัฒนาขึ้น รู้สึกว่ามันค่อยๆ มาเรื่อยๆ”
เมื่อเลือกเดินมาในเส้นทางนี้แล้ว สิ่งที่โบต้องทำก็คือพัฒนาตัวเอง
นี่คือสิ่งที่เขาทำและน่าจะเป็นแนวทางที่ดีให้กับคนอื่นด้วย
• ต้องฝึกบ่อยๆ ทำสิ่งนั้นซ้ำๆ…เพื่อลดความขี้อาย
• พยายามทำให้พื้นที่นั้นเป็น “พื้นที่คุ้นชิน”…สร้างความคุ้นเคยด้วยการไปถึงงานก่อนเวลา คุยกับทีมงาน
• ถ้าทำงานโดยไม่ได้เตรียมตัวจะเสียความมั่นใจ…เหมือนโดน “ดูดพลัง” เวลาปล่อยมุกแล้วคนดูไม่ขำไปด้วย
Suggestion
ความสุขในการทำงาน
เราเห็นโบเป็นดีเจมายาวนาน เราเลยอยากรู้ถึงเสน่ห์ของอาชีพนี้จากเขา “ผมว่าเราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ เมื่อไหร่ที่เราถือไมค์อยู่บนเวที เราสามารถควบคุมอารมณ์ผู้คนได้หมดเลย ผมสามารถทำให้เขาหัวเราะ…ให้เขาซึ้งก็ได้ และผมว่างานแบบนี้ไม่ได้ใช้เวลาในชีวิตเยอะ มันอยู่ที่เราเลือก ถ้าช่วงนี้เราอยากทำงาน เราก็สามารถรับงานได้เต็มที่ ถ้าช่วงไหนเราอยากพักผ่อน เราก็เลือกได้ อันนี้ไม่รู้เป็นเสน่ห์หรือเปล่านะ ตอนที่จีบแฟน ผมก็ใช้การเป็นดีเจนี่แหละจีบเขา ผมเปิดเพลงให้เขา อีกอย่างการเป็นดีเจสามารถสื่อสารกับคนหมู่มากได้ ผมว่ามันก็มีไม่กี่อาชีพที่ทำได้”
อีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากรู้นั่นคือ ทัศนคติในการทำงานแบบโบ “ทัศนคติในการทำงานของผมคือเรื่องของเวลา แต่ก่อนผมเป็นคนที่ไปสายทุกงาน แล้วผมก็ไม่แคร์ด้วยนะว่าผมสาย มันทำให้ผมเสียโอกาสในชีวิตไปเยอะมาก ลูกค้าบางคนที่เคยติดต่อเราตอนนั้นก็หายไปเลย ความรับผิดชอบมันบอกได้ง่ายๆ ด้วยการรักษาเวลานี่แหละ”
ความสุขที่เปลี่ยนไป
จากเด็กหนุ่มที่เป็นศิลปินในวัย 20 ปี มาถึงวัยทำงาน จนถึงวันนี้โบบอกว่าทุกอย่างในชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ “ผมว่าผมแก่แล้ว ไม่อยากยอมรับเลย (หัวเราะ) ตอนนี้ความสุขของผมมันกลายเป็นกลับไปอยู่กับพ่อแม่ ก็ยังอยากอยู่กับเพื่อนอยู่แหละ แต่กลายเป็นว่า ‘เพื่อน + ครอบครัว’ มากขึ้น สมัยก่อนชีวิตจะเป็น ‘ผม + เพื่อน’ แต่ตอนนี้มันกลายเป็น ผม ครอบครัวผม และครอบครัวเพื่อน ผมเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าเรามีโลกของเรา เพื่อนของเราแล้ว บางทีเราก็ต้องไปอยู่ในโลกของภรรยาบ้าง ถ้าเราไม่แก่พอ เราก็จะไม่เอาโลกของคนอื่นเลย ทุกคนต้องมาอยู่ในโลกของเรา เหมือนเรายอมทำในสิ่งที่มันเคยฝืนเราในสมัยก่อนมากขึ้น”
และอีกบทบาทที่เขาเพิ่งได้รับไม่นาน คือ “เป็นคุณพ่อ” นั่นคือความสุขก้อนใหญ่ที่โบได้รับ “จากเดิมผมเป็นคนที่ไม่มีวินัยใดๆ เลย พอมีลูกแล้วมันเปลี่ยนชีวิตของผมมาก ต่อให้เราว่างจากงานเราก็ไม่อยากไปไหน มันเที่ยวไม่สนุก ไหนจะคิดถึงลูกและนึกถึงแฟนว่าต้องเหนื่อยมากๆ แน่ ผมออกมาทำงาน ถ่ายละครเลิกดึก ยังเหนื่อยน้อยกว่าการนั่งดูลูกเฉยๆ อีก เพราะฉะนั้นเราต้องมารีเซ็ตตัวเองใหม่ ตอนนี้เราต้องให้ลูกก่อน ให้เวลาอยู่กับแฟน แล้วเราสร้างความสุขด้วยกัน”
ความรู้สึกจากใจรุ่นพี่
เราเจอโบในการประกวด THE POWER BAND 2022 ซีซั่น 2 จัดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย ที่เขามาเป็นพิธีกรในงานสำหรับปีที่ 2 เขาถ่ายทอดความรู้สึกในฐานะ ‘หนึ่งในสักขีพยานในการแข่งขันวันนั้น’
“ผมตื่นเต้นแทนคณะกรรมการ รู้สึกว่าเด็กเขาเก่งจริงๆ ในอดีตก็มีวงรุ่นน้องที่สาธิตเกษตรฯ ที่เขาชนะประกวดนั้น ชื่อวง อุลตร้า ช้วดส์ ได้ออกอัลบั้ม ได้เห็นรุ่นน้องที่กลายมาเป็นศิลปินจริงๆ ผมเห็นน้องๆ มัธยมมาตลอดเลยรู้ว่าเขาเก่งอยู่แล้วทุกยุคทุกสมัยและเก่งขึ้นเรื่อยๆ พอได้มาเห็นเวทีที่ประกวดอย่างเข้มข้นแบบนี้อีกครั้งเลยดีใจที่ได้เห็นน้องๆ ที่มีฝีมือมายืนอยู่บนเวทีที่ส่งโอกาสให้เขาได้จริงๆ และดีใจที่ผู้จัดเห็นความสำคัญของการส่งเสริมกิจกรรมด้านดนตรีแบบนี้”
โบพูดเสมอว่าเขาขี้อาย ไม่มีความฝัน และไม่มีความสามารถอะไร แต่เขาประสบความสำเร็จแบบวันนี้ได้ เพราะเขาเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา และลงมือทำทุกโอกาสที่เข้ามาให้ดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ด้วยมือของตัวเอง
“วิธีฝึกฝนผมว่ามันก็คือการต้องทำบ่อยๆ ประสบการณ์หนึ่งที่ผมพอจะสอนได้ก็คือความรู้สึกอาย รู้สึกกลัวเป็นตัวบ่อนทำลายความมั่นใจในการอยู่ในที่สาธารณะมากที่สุด สิ่งที่ผมทำทุกครั้งก็คือทำให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่เราคุ้นชินที่สุด สมมติว่าเป็นงานอีเวนต์ ผมจะไปเร็วแล้วไปคุยกับทีมงาน ผมหันไปด้านไหน ผมจะรู้จักทีมงานเกือบทุกคน อย่างน้อยเวลาที่เราเล่นอะไรไปแล้วมีคนยิ้มมีคนหัวเราะ เราจะรู้สึกมั่นใจขึ้นมาเอง
ผมเคยไปแบบไปถึงอ่านสคริปต์แล้วขึ้นเวทีเลย พอเวลาที่เราปล่อยอะไรไปแล้วมันเงียบ มันเหมือนโดนดูดพลังไปเรื่อยๆ ความมั่นใจมันก็จะหายไป ทุกวันนี้ผมไปงานไหน ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ ผมไม่เคยไม่ตื่นเต้น ผมยังเป็นคนเดิมที่ไม่กล้าพูดบนเวทีหรือต่อหน้าคน แต่ผมรู้จักวิธีจัดการตัวเองได้ดีขึ้นเท่านั้นเอง”